All about My Mother เรื่องของบาดแผล และแม่ของผม
All about My Mother เรื่องของบาดแผล และแม่ของผม- พล พะยาบ - คอลัมน์ดูหนังในหนังสือ Starpics Movie Edition ฉบับที่ 523 10 เมษายน 2543 ชีวิตที่ผ่านไปแต่ละวัน เหมือนกับการเปลี่ยนผ้าพันแผลในหัวใจ ถ้อยคำในนิยายของ ยูกิโอะ มิชิม่า นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น แล่นเข้ามาในความคิด เมื่อได้ชม All about My Mother จบลง คงใช่...ไม่มีใครไม่มีบาดแผล และวิธีการเยียวยาบาดแผลนั้นให้ทุเลาเบาบางลงของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป บางคนอาจหาสิ่งเบนความสนใจไปจากเรื่องร้ายๆ บางคนใช้วิธีเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตเดิมๆ เพื่อหวังกลบกลืนบาดแผล หรือกระทั่งบางคนตัดสินใจสิ้นสุดชีวิต เพราะบาดแผลนั้นเกินจะทานทน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด สิ่งที่คนส่วนใหญ่กระทำเพื่อการเยียวยาบาดแผลในใจคือ การถอยห่างจากความเป็นจริง หรือสร้างความจริงใหม่ขึ้นมาทดแทน เสมือนเป็นเกราะกำบังบาดแผล ใช้ชีวิตยึดอิงไขว่คว้าภาพสมมุติจนต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง แต่สุดท้าย บาดแผลนั้นก็มิอาจจางหายไปจากใจได้ นอกจากทุเลาลงกลายเป็นแผลเป็น และพร้อมเสมอที่จะสะกิดให้เกิดความเจ็บปวดในบางครั้งบางคราว ดังเช่นตัวละครใน All about My Mother ที่หลงอยู่ในโลกเสมือนจริงอันฉาบฉวย ผิวเผิน ประคองความเจ็บปวดให้ผ่านไปแต่ละวัน แต่สุดท้ายทุกคนก็พบว่าการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายได้ในที่สุด All about My Mother(1999) เป็นผลงานของ เปโดร อัลโมโดวาร์ ผู้กำกับ-เขียนบทชาวสเปน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น นักตีแผ่แรงปรารถนาเบื้องลึก ด้วยผลงานหนัง 12 เรื่องก่อนหน้านี้ ที่ได้นำเสนอความวิปริตแปรปรวนทางเพศ จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะในหนังของเขา และส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากผู้ชมเฉพาะกลุ่ม เซ็กซ์ ในความหมายของอัลโมโดวาร์ไม่เคยถูกเจาะจงว่าเป็นความสัมพันธ์ลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือชายกับหญิง และไม่ได้หมายถึงเพียงกิเลสตัณหา หากแต่ เซ็กซ์ ของอัลโมโดวาร์คือ เครื่องมือ ที่จะนำไปสู่จุดหมายหนึ่ง และจุดหมายนั้นก็ต่างกันไปในหนังแต่ละเรื่อง เช่นใน Matador(1985) ตัวละครใช้เซ็กซ์เพื่อปลดเปลื้องแรงปรารถนาในความรุนแรงและความตาย Tie Me Up! Tie Me Down!(1989) เซ็กซ์เป็นดั่งคำปลอบประโลมและความเห็นใจ High Heel(1991) เซ็กซ์เป็นเครื่องพิสูจน์สุดท้ายสำหรับการเลียนแบบ Live Flesh(1997) เซ็กซ์ใช้แก้แค้น สำหรับ All about My Mother ผลงานลำดับที่ 13 ของอัลโมโดวาร์ แม้ในส่วนเนื้อหาจะหนักหน่วงซับซ้อนตามสไตล์ของเขาไม่เปลี่ยนแปลง แต่โทนหนังค่อนข้างคลี่คลายมากขึ้น เพราะขณะที่หนังเรื่องก่อนๆ นำเสนอเหตุปัจจุบันของเซ็กซ์ All about My Mother กลับเป็นผลลัพธ์ที่ตามมาของเซ็กซ์ที่ไร้การควบคุม ด้วยเหตุนี้ All about My Mother จึงไม่มีฉากเซ็กซ์ ความวิปริตแปรปรวนทางเพศยังมีอยู่ แต่ถูกวางไว้เป็นเพียงพื้นหลังของเนื้อเรื่อง สิ่งที่แต่งเติมลงไปคือความละเมียดละไมทางอารมณ์แทนที่ความหนักหน่วงรุนแรงซึ่งเคยทำให้ผู้ชมพิศวงหม่นหมอง จนไม่มีใครลืมลง...แม้บางคนไม่ต้องการจำ All about My Mother เริ่มเรื่องที่ มานูเอลล่า(ซิซิเลีย ร็อธ) พยาบาลในแผนกปลูกถ่ายอวัยวะของโรงพยาบาลในมาดริดที่เลี้ยงดูลูกชาย เอสเตบาน(เอลอย อาโซริน) เพียงลำพัง แต่แล้วในวันเกิดครบรอบปีที่ 17 ของเอสเตบาน มานูเอลล่าต้องสูญเสียลูกชายไปเพราะอุบัติเหตุ ขณะที่เขาวิ่งตามไปขอลายเซ็นของฮิวม่า(มาริสา ปาเรดีส) นักแสดงสาวใหญ่ มานูเอลล่าตัดสินใจเดินทางไปบาร์เซโลน่า เมืองที่เธอจากมาพร้อมลูกในท้องเมื่อ 18 ปีก่อน เพื่อบอกข่าวแก่พ่อของเอสเตบานที่ไม่เคยรู้ว่าตนเองมีลูก(เอสเตบานก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นพ่อ) ที่สำคัญเขากลายเป็นลอล่า(โทนี่ แคนโต้) และไม่ใช่ผู้ชายเต็มตัวมานานแล้ว ลอล่าไม่อยู่ในบาร์เซโลน่า แต่มานูเอลล่าได้พบอากราโด้(แอนโตเนีย ซานฮวน) กะเทยโสเภณีซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ได้ช่วยเหลือโรซ่า(เพเนโลปี ครูซ) แม่ชีผู้ตั้งท้องกับลอล่า และติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งไม่สามารถเข้ากับแม่ที่มีจิตใจคับแคบได้(โรซ่า มาเรีย ซาร์ดา) นอกจากนี้ มานูเอลล่ายังได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของฮิวม่า ผู้เป็นต้นเหตุให้เอสเตบานเสียชีวิต ที่มาแสดงละครเรื่อง A Streetcar Named Desire ในบาร์เซโลน่า โดยมี นีน่า(แคนเดล่า พีน่า) นักแสดงสาวติดยา คู่ขาของฮิวม่าคอยสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อน อัลโมโดวาร์สร้างตัวละครหลากหลายบุคลิกเหล่านี้มาโยงใยถึงกันโดยมีมานูเอลล่าเป็นศูนย์กลาง นอกจากความสัมพันธ์อันซับซ้อนของตัวละครแล้ว อัลโมโดวาร์ดูจะสนุกสนานกับการเติมรายละเอียดลงไปมากมาย ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่ช่วยเสริมให้เห็นว่าตัวละครกำลังหลงอยู่ในโลกเสมือนจริงที่ตนเองยึดติด จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งในส่วนของรายละเอียดเองก็สามารถเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน โดยน่าจะเป็นความตั้งใจของอัลโมโดวาร์All about Eve : มานูเอลล่า-เอสเตบาน มานูเอลล่าเป็นหญิงสาวที่ทุ่มเทเลี้ยงดูเอสเตบานโดยไม่ปริปากบอกความจริงเกี่ยวกับพ่อของเขาเลย นับตั้งแต่ 18 ปีที่แล้วที่เธออุ้มท้องพาลูกน้อยจากบาร์เซโลน่าสู่มาดริด แน่นอน...มานูเอลล่าย่อมมีบาดแผลที่เกิดจากพ่อของเอสเตบาน วิธีที่เธอใช้เยียวยาบาดแผลคือการหนีห่างจากสภาพชีวิตเดิมๆ สู่สถานที่ใหม่เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในคืนก่อนวันเกิดครบรอบปีที่ 17 ของเอสเตบาน เขาและมานูเอลล่าดูหนังเรื่อง All about Eve ด้วยกัน เอสเตบานสังเกตชื่อหนังที่แปลเป็นภาษาสเปน เขาบอกมานูเอลล่าว่า All about Eve ในภาษาสเปนที่ถูกต้องควรจะเป็นอีกคำหนึ่ง แต่มานูเอลล่ากลับบอกว่าไม่ว่าคำไหนก็เข้าใจเหมือนกัน นี่คือความต่างเบื้องต้นที่เรารับรู้ระหว่างแม่-ลูกคู่นี้ ขณะที่เอสเตบานต้องการได้ข้อเท็จจริง มานูเอลล่ากลับเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่สิ่งจำเป็น ถ้าสิ่งที่มา ทับซ้อน พอ ทดแทน กันได้ ก็ไม่น่ามีปัญหา ดังเช่น อีฟ แฮร์ริ่งตัน ที่สามารถก้าวขึ้นมา ทดแทน ความสำเร็จของ มาร์โก้ แชนนิ่ง ใน All about Eveทรูแมน คาโพที : พ่อ-เอสเตบาน มานูเอลล่าให้เอสเตบานดูรูปถ่ายในอดีตเมื่อครั้งอยู่ในคณะละครสมัครเล่น รูปถ่ายนั้นถูกฉีกหายไปครึ่งหนึ่ง นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดในบาดแผลให้เอสเตบาน เป็นบาดแผลอันเกิดจากฐานะของลูกที่ไม่รู้จักพ่อ ซึ่งเพียงแต่ถูกเยียวยาด้วยความรักอันทุ่มเทของมานูเอลล่าที่เฝ้าเพียรหาสิ่ง ทดแทน ส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตของลูก เช่น การมอบ Music for Chameleons หนังสือของ ทรูแมน คาโพที นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นของขวัญวันเกิดแก่เอสเตบาน คาโพทีเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักเขียนชายผู้มีบุคลิกคล้ายผู้หญิง เป็นพวก ลักเพศ เช่นเดียวกับพ่อของเอสเตบานที่มานูเอลล่ารู้อยู่แก่ใจ(แต่เอสเตบานไม่รู้) นอกจากนั้น คาโพทีในวัยเด็กก็อยู่กับแม่ตามลำพัง และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนเหมือนเอสเตบาน เอสเตบานขอให้มานูเอลล่าอ่านบทนำของหนังสือเล่มนี้ให้ฟัง เมื่อเธออ่านไปถึงประโยคที่ว่า เมื่อพระเจ้ามอบของขวัญให้เธอ ท่านได้เฆี่ยนเธอด้วยแส้ไปพร้อมกัน เธอหยุดอ่าน ความพยายามหาสิ่งทดแทนให้เอสเตบานกลายเป็นการสะกิดบาดแผลในใจของมานูเอลล่าเอง เพราะประโยคดังกล่าวทำให้เธอเห็นว่าชีวิตจริงของเธอเป็นเช่นนั้น มานูเอลล่าได้รับของขวัญชิ้นพิเศษคือเอสเตบาน แต่กลับต้องเจ็บปวดเพราะบาดแผลที่พ่อของเอสเตบานฝากไว้ชั่วชีวิตA Streetcar Named Desire : มานูเอลล่า-เอสเตบาน-พ่อ-ฮิวม่า วันรุ่งขึ้น เอสเตบานไปดูมานูเอลล่าแสดงเป็นภรรยาผู้สูญเสียสามีและเหลือเพียงลูกชาย ในสถานการณ์สมมุติประกอบการสัมมนาเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ จากนั้น ทั้งสองไปดูละครเวทีเรื่อง A Streetcar Named Desire ขณะที่เอสเตบานยืนคอยฮิวม่า นักแสดงสาวใหญ่ผู้รับบท บลานช์ ดูบัวส์ เพื่อขอลายเซ็น เขาได้ทราบว่าแม่เคยแสดงเป็นสเตลล่า น้องสาวของดูบัวส์ในละครเรื่องดังกล่าวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยมีพ่อของเขาแสดงเป็นสแตนลีย์ โควาลสกี้ เอสเตบานขอให้แม่เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับพ่อให้เขาฟัง มานูเอลล่ารับปากว่าจะเล่าให้ฟังเมื่อกลับไปถึงบ้าน แต่เอสเตบานไม่มีโอกาสได้รับรู้ เพราะเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะวิ่งตามไปขอลายเซ็นฮิวม่า เรื่องราวของพ่อและแม่ซึ่งควรถูกร้อยเรียงเป็นหนังสือเพื่อส่งแข่งขันชิงรางวัลตามความตั้งใจของเอสเตบานจึงไม่มีวันได้เกิดขึ้น เมื่อนำละครเรื่อง A Streetcar Named Desire มา ซ้อนทับ กับชีวิตจริง, ดูบัวส์(ฮิวม่า) จึงกลายเป็นผู้สร้างบาดแผลให้มานูเอลล่าเป็นครั้งที่สอง เพราะดูบัวส์คือตัวแปรสำคัญทำให้สเตลล่า(มานูเอลล่า) ต้องอุ้มลูกน้อยหนีโควาลสกี้ เฉกเช่นในชีวิตจริงเมื่อ 18 ปีที่แล้วที่มานูเอลล่าอุ้มท้องพาลูกน้อยหนีจากบาร์เซโลน่าสู่มาดริดความจริงแท้-ความจริงประดิษฐ์ จากตาม หัวใจ สู่บาร์เซโลน่า เฉพาะฉากแรกในมาดริด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนที่เอสเตบานตาย เราจะได้เห็นถึงความจริงแท้กับความจริงประดิษฐ์ที่ถูกลากมาให้ ซ้อนทับ กันอยู่ เช่น คาโพทีเป็นพวกลักเพศเหมือนพ่อของเอสเตบาน, คาโพทีในวัยเด็กอยู่กับแม่เพียงลำพังเหมือนมานูเอลล่าและเอสเตบาน, มานูเอลล่าพาลูกน้อยหนีสามีเหมือนตัวละครใน A Streetcar Named Desire รวมทั้งภาพสถานการณ์สมมุติในการสัมมนายังคล้ายกับเรื่องจริงที่มานูเอลล่าสูญเสีย(ตัดขาด) สามี เหลือเพียงลูกชาย สำหรับมานูเอลล่า เธอตกอยู่ระหว่างความจริงแท้กับความจริงประดิษฐ์ที่เธอดึงมา ซ้อนทับ ความจริงนั้น ซึ่งนอกจากไม่อาจ ทดแทน กันได้แล้ว ยิ่งเธออยู่ในโลกแห่งความจริงประดิษฐ์หรือความจริงที่ถูกสร้างขึ้นทดแทนมากเท่าไร เธอกลับยิ่งเจ็บปวดเพิ่มขึ้นเท่านั้น กระทั่ง มานูเอลล่าได้อ่านบันทึกหน้าสุดท้ายของเอสเตบาน ที่เขียนไว้ว่า ชีวิตของเขาหายไปครึ่งหนึ่ง เหมือนรูปถ่ายในอดีตของแม่ มานูเอลล่าจึงตัดสินใจเดินทางไปบาร์เซโลน่า เมืองที่เธอจากมาตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว เพื่อตามหาและบอกข่าวแก่พ่อของเอสเตบาน โดยก่อนหน้านั้น มานูเอลล่าตามไปดู หัวใจ ของลูกชายว่าไปอยู่ในร่างของใคร หลังจากที่เธอยินยอมมอบอวัยวะของเอสเตบานให้โรงพยาบาล ทั้งการเดินทางกลับไปบาร์เซโลน่าและการตามไปดูหัวใจของเอสเตบาน เป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้ากับความจริงที่แสนเจ็บปวด มานูเอลล่าค่อยๆ ปลดเปลื้องสิ่งที่เธอสร้างขึ้นมาปกปิดบาดแผล ที่บาร์เซโลน่า นอกจากเธอต้องรักษาบาดแผลของตนเองแล้ว เธอกลับต้องกลายเป็นผู้ช่วยปลดเปลื้องเกราะกำบังบาดแผลให้ใครต่อใครด้วยA Streetcar Named Desire-All about Eve : ฮิวม่า-นีน่า-มานูเอลล่า ฮิวม่า นักแสดงสาวใหญ่ในคณะละคร มีท่าทีเย่อหยิ่ง สร้างภาพลักษณ์สูงส่งอยู่เสมอ ทั้งที่ชีวิตจริงนั้นแสนเจ็บปวด เรียกได้ว่าบุคลิกของฮิวม่าถอดแบบมาจาก บลานช์ ดูบัวส์ ตัวละครใน A Streetcar Named Desire แม้กระทั่งบางคำพูดที่เธอใช้นอกเวทียังหยิบยืมมาจากบทพูดของดูบัวส์ นอกจากนี้ นิสัยติดบุหรี่ของฮิวม่าก็เป็นการเลียนแบบ เบ็ตตี้ เดวิส นักแสดงสาวชาวอเมริกันผู้โด่งดัง ที่แสดงใน All about Eve การหลงอยู่ระหว่างการแสดงกับชีวิตจริงของฮิวม่า เปรียบได้กับความจริงกับความจริงเสมือนที่ถูกดึงมา ซ้อนทับ กันจนแยกไม่ออก จนเธอถูกมานูเอลล่าแขวะเอาว่า ในฐานะนักแสดง ฮิวม่าเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยม แต่ในฐานะคนคนหนึ่ง ฮิวม่ามีแต่ข้อผิดพลาด เช่นเดียวกับนีน่า คู่เลสเบี้ยนของฮิวม่าที่รับบทสเตลล่าใน A Streetcar Named Desire นอกเวทีเธอติดเฮโรอีนจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ มานูเอลล่าจึงมีโอกาสได้แสดงเป็นสเตลล่าในค่ำคืนหนึ่ง และเหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่ามานูเอลล่าสามารถแยกแยะความจริงแท้กับความจริงประดิษฐ์ได้ เห็นได้จากการที่เธอได้รับคำชื่นชมมากมายในการแสดงครั้งนี้ แต่เธอก็ไม่ยอมแสดงอีก นอกจากนี้ เธอยังลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยของฮิวม่า...ต่างจากอีฟที่เป็นผู้ช่วยและโดดเด่นแซงหน้ามาร์โก้ ในหนัง All about Eveเอลซัลวาดอร์-มาร์ก ชากัล-อาร์เจนติน่า : โรซ่า-แม่โรซ่า-ลอล่า สำหรับ โรซ่า แม่ชีผู้ตั้งท้องกับลอล่า และติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งไม่ถูกกับแม่ที่มีจิตใจคับแคบ ทีแรกโรซ่าตั้งใจหนีเรื่องเลวร้ายนี้ไปทำงานในเอลซัลวาดอร์ แต่เมื่อเธอได้รู้จักมานูเอลล่า มานูเอลล่าได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้เธอ อีกทั้งย้ำให้โรซ่ายอมรับในตัวผู้เป็นแม่ เพราะไม่ว่าแม่จะทำร้ายจิตใจอย่างไรก็ยังเป็นแม่ของเราอยู่ดี (แม่ของโรซ่าเป็นนักเลียนแบบภาพเขียนของ มาร์ก ชากัล จิตรกรชาวรัสเซียน) บทเรียนที่มานูเอลล่าได้รับจากเอสเตบาน ทำให้เธอบอกโรซ่าให้ยอมรับความจริงเรื่องแม่ ทั้งยังย้ำให้โรซ่าเล่าทุกเรื่องราวให้ลูกฟัง เพราะรู้แล้วว่าการปิดบังจะสร้างบาดแผลให้ลูกมากแค่ไหน ด้วยเหตุนี้ ลอล่าที่หนีไปอยู่อาร์เจนติน่า เมื่อกลับมาจึงได้พบหน้าลูกที่เกิดกับโรซ่า อีกทั้งได้รู้ว่าเขา(เธอ) มีลูกชายอีกคนที่เกิดกับมานูเอลล่าเมื่อ 18 ปีก่อน แม้ว่าลอล่าจะไม่ได้เห็นหน้าของเอสเตบาน แต่ก็ได้รู้ว่าลูกยอมรับเขา ไม่ว่าเขาจะมีสภาพเช่นไรชาแนล : อากราโด้ ในขณะที่ตัวละครทุกตัวที่กล่าวมาทั้งหมดใช้ชีวิตถอยห่างความเป็นจริงเพื่อปกปิดบาดแผล แต่กลับต้องได้รับความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น อากราโด้ กะเทยโสเภณีกลับเป็นตัวละครเพียงคนเดียวที่อยู่ในโลกเสมือนจริงได้อย่างไม่เจ็บปวด แม้ว่าตัวอากราโด้เองก็มีบาดแผล แต่เธอก็รู้ว่าการทำใจยอมรับจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น เหมือนกับที่เธอไม่สนใจว่าเสื้อผ้ายี่ห้อชาแนลที่เธอใช้เป็นของปลอม อากราโด้บอกว่าจริงหรือไม่จริงนั้นอยู่ที่ใจ และยิ่งคนเราเหมือนในสิ่งที่ตนเองฝันมากเท่าไร ก็ยิ่งสร้าง ความจริงแท้ ให้แก่ตนเองมากเท่านั้น แก่นสารใน All about My Mother จึงมุ่งให้ทุกคนรู้จักการเผชิญหน้าและการยอมรับ ถ้าไม่อาจหนีพ้นความจริง หรือเมื่อสิ่งที่นำมา ซ้อนทับ ไม่สามารถ ทดแทน ความจริงอันเจ็บปวดได้ ก็ต้องทำใจยอมรับและเผชิญหน้าความจริงนั้นให้ได้ หรือถ้าเลือกยอมอยู่ในความจริงเสมือนที่ตนเองสร้างขึ้น ก็ต้องอยู่โดยไม่สับสนจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อจะได้ไม่เจ็บปวดเมื่อบาดแผลแห่งความจริงถูกสะกิดขึ้นมา เหมือนที่อากราโด้ไม่แคร์ ถ้ามีใครบอกว่าเธอใส่ ชาแนล ปลอมทรูแมน คาโพที-เทนเนสซี่ วิลเลี่ยมส์ เฟรเดอริโก้ การ์เซีย ลอร์ก้า-เปโดร อัลโมโดวาร์ อัลโมโดวาร์เขียนบทตลอดจนถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง โดยให้ทุกรายละเอียดถูกเชื่อมร้อยกับเนื้อหาและแก่นเรื่องได้อย่างลงตัว ไม่ถูกอ้างถึงลอยๆ แบบไร้ความหมาย แต่ละรายละเอียดยังสามารถโยงใยถึงกันได้อย่างน่าทึ่ง เช่น ทรูแมน คาโพที เป็นเพื่อนสนิทกับ เทนเนสซี่ วิลเลี่ยมส์ เจ้าของบทละคร A Streetcar Named Desire (ก่อนที่จะเลิกคบหากัน เพราะคาโพทีเขียนหนังสือสุดอื้อฉาว Answered Players แฉเรื่องราวความลับคนดัง รวมทั้งวิลเลี่ยมส์) คาโพทีเป็นชาวนิวออร์ลีนส์ สถานที่ซึ่งเป็นฉากในละครเรื่องนี้ อีกทั้งมีตัวละครตัวหนึ่งใน A Streetcar Named Desire เป็นโฮโมเซ็กช่วล อีกรายละเอียดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ละครเรื่องใหม่ที่ฮิวม่าแสดงเป็นงานของ เฟรเดอริโก้ การ์เซีย ลอร์ก้า กวี-นักเขียนบทละครชาวสเปนที่ผลงานส่วนใหญ่มีผู้หญิงเป็นบทเด่น เช่นเดียวกับผลงานหลายๆ เรื่องของอัลโมโดวาร์เอง อีกทั้งคาโพที, A Streetcar Named Desire, All about Eve, มาร์ก ชากัล รวมทั้งชาแนล (หรืออาจจะรวมเอลซัลวาดอร์และอาร์เจนติน่าที่ตัวละครใช้เป็นสถานที่หลบหนี) ล้วนมาจากนอกสเปนทั้งสิ้น ขณะที่ลอร์ก้าเป็นรายละเอียดเดียวที่มีสัญชาติสเปน และถูกหยิบยกมาอ้างถึงในยามสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย รวมถึงงานด้านโปรดักชั่นอื่นๆ ทั้งการแสดง(โดยเฉพาะซิซิเลีย ร็อธ ในบทมานูเอลล่า) การถ่ายภาพ และเพลงประกอบ ซึ่งล้วนส่งให้ All about My Mother เป็นดั่งจิ๊กซอว์ของอัลโมโดวาร์ที่ประกอบขึ้นมาได้ทั้งความสนุกสนานในการชม หรือถ้าจะซึมซับความละเมียดละไมในทางดราม่าแล้ว ต้องนับว่าไม่ผิดหวัง และเพราะความดีงามของ All about My Mother ทำให้สามารถคว้ารางวัลจากหลายสถาบันมาได้ โดยเฉพาะที่เมืองคานส์ นอกจากจะได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมแล้ว อัลโมโดวาร์ยังคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมอีกด้วย ก่อนจะปิดท้ายด้วยออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จมากมายจากหนังเรื่องนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเสียงวิจารณ์และคำครหาในผลงานหนังเร่าร้อนหนักหน่วงแบบติดเรตเรื่องก่อนๆ ของเขาหรืออัลโมโดวาร์จะมองเห็นวิธีเยียวยาบาดแผลให้ตนเอง!
Create Date : 14 สิงหาคม 2549
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 3:52:52 น.
5 comments
Counter : 6036 Pageviews.
โดย: ด้ IP: 119.42.67.195 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:28:49 น.
โดย: มาร์ช IP: 61.19.198.35 วันที่: 11 เมษายน 2551 เวลา:11:57:39 น.
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [? ]
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................select movie / blog ....... --international-- ....... The Walking Dead I Wish I Knew 127 Hours The Expendables vs. Salt No puedo vivir sin ti Bright Star The World is Big and Salvation Lurks Around the Corner Sin Nombre Invictus Afghan Star Moon Gigante The Promotion An Education Up in the Air Snow (Snijeg) Liverpool Tahaan Lion's Den Tulpan Everlasting Moments Absurdistan Topsy-Turvy Ramchand Pakistani The Pope's Toilet Antonio's Secret พลเมืองจูหลิง Flashbacks of a Fool And When Did You Last See Your Father? The Boy in the Striped Pyjamas Gran Torino Departures Gomorra Abouna + Daratt Grace Is Gone The Road to San Diego Into the Wild Slumdog Millionaire The Silly Age The Year My Parents Went on Vacation It's Hard to Be Nice Ben X Caramel The Class Kings จาก Kolya ถึง Empties The Unknown Woman Dokuz Heima Cocalero The Blood of My Brother & Iraq in Fragments 12:08 East of Bucharest Rescue Dawn Mongol 6 : 30 Something Like Happiness To Each His Cinema The Counterfeiters ข้างหลังภาพ Lions for Lambs + Michael Clayton Father and Daughter Possible Lives กอด The Buried Forest รัก-ออกแบบไม่ได้ Lights in the Dusk The Piano Teacher Do You Remember Dolly Bell? Sisters in Law Al Otro Lado A Time for Drunken Horses Zelary Bug The Invasion The Science of Sleep Paris, I love you Still Life The Lives of Others Heading South Renaissance ABC Africa The Death of Mr. Lazarescu Maria Full of Grace The Last Communist Eli, Eli, lema sabachthani? 4 : 30 Late August, Early September The Circle The Cave of the Yellow Dog Italian for Beginners Love/Juice Your Name is Justine The Syrian Bride Dragon Head Reconstruction Eros The Scarlet Letter The Night of Truth Familia Rodante Bonjour Monsieur Shlomi Lantana Flanders Tokyo . Sora The World Whisky Buffalo Boy S21 : The Khmer Rouge Killing Machine Fire, Earth, Water C.R.A.Z.Y. All about My Mother Jasmine Women Battle in Heaven The Day I Became a Woman Man on the Train CSI : Grave Danger Innocence Life Is a Miracle Drugstore Girl Der Untergang The Bow Happily Ever After The Wayward Cloud The House of Sand Or, My Treasure Janji Joni Moolaade Vodka Lemon Angel on the Right Twentynine Palms The Taste of Tea ....... --independent-- ....... Goodbye Solo The Hurt Locker (500) Days of Summer Towelhead Kabluey Three Burials of Melquiades Estrada Titus Chuck & Buck The Woodsman Pollock Last Days The Limey Inside Deep Throat Coffee and Cigarettes Garden State My Name is Joe Sexy Beast Real Women Have Curves The Brown Bunny Before Sunset Elephant Bubble You Can Count on Me 9 Songs ....... --classic-- ....... Memories of Underdevelopment (1968) The Last Laugh The Snows of Kilimanjaro The Cabinet of Dr.Caligari Nanook of the North The Apu Trilogy ....... --หนังมีไว้ให้คิด-- ....... The Schoolgirl's Diary Long Road to Heaven The Imam and the Pastor Maquilapolis ....... --what a film!-- ....... Kabuliwala (1956) Macunaima (1969) Kozijat rog (1972) The Girl and the Echo (1964) Fruits of Passion (1981) Happy Gypsies (1967) ....... --introducing-- ....... Death Race 2000 (1975) ซอมบี้ปากีฯ+ผีดิบมาเลย์+ซูเปอร์แมนตุรกี Zinda Muoi Father and Daughter ....... --directed by-- ....... Ouran (1968) Pierwsza milosc (1974) Salome (1978) 4 หนังสั้น เคียรอสตามี recommended ....... - 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับภาพยนตร์ - เทมาเส็ก พิคเจอร์ส - Heading South - Still Life - The Apu Trilogy - The Day I Became a Woman - จาก Fire, Earth สู่ Water พญาอินทรี ศราทร @ wordpress
1 2 3 4 5
6 7 8 9 10 11 12
13 14 15 16 17 18 19
20 21 22 23 24 25 26
27 28 29 30 31