Tokyo . Sora ฟ้ายังมองเรา
Tokyo . Sora ฟ้ายังมองเรา
พล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 12 มีนาคม 2549
พ้นจากอาคารบ้านเรือนขึ้นไปคือท้องฟ้ากว้างไกลไร้ขอบเขต ราวกับว่าฟ้าได้ครอบคลุมและคุ้มครองทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่เบื้องล่าง
ท้องฟ้าเหนือกรุงโตเกียวก็เช่นกัน...
หญิงสาว 6 คน ซึ่งเราแทบไม่รู้จักชื่อของพวกเธอ ต่างคนต่างดำเนินชีวิตผ่านพ้นแต่ละวันท่ามกลางความเงียบ ความเหงา โปร่งเบาเลื่อนลอย ราวกับริ้วเมฆลอยลม
เดินทางผ่านฟากฟ้าอย่างเงียบเชียบไร้จุดหมาย
หญิงสาวคนแรกเป็นนักเรียนชาวไต้หวันที่ยังพูดญี่ปุ่นไม่เป็น ชีวิตประจำวันของเธอคือการไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ทำงานเป็นนางแบบในชั้นเรียนศิลปะ ซึ่งบางครั้งต้องเปลื้องเปลือยต่อหน้าคนแปลกหน้า ชีวิตประจำวันอีกอย่างหนึ่งคือการนั่งปล่อยเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ในร้านซักผ้า
ในระหว่างการรอคอยอันน่าเบื่อหน่าย ชายหนุ่มคนหนึ่งมาซักผ้าในร้านเดียวกัน เขานั่งรอพร้อมกับอ่านหนังสือเล่มสีฟ้า หญิงสาวมองเขา มองหนังสือที่เขาอ่านด้วยความตั้งใจ หลายวันต่อมาเธอจึงรู้ว่าหนังสือชื่อว่าอะไร เธอหาซื้อมาเปิดอ่าน แต่เธอจะเข้าใจได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นภาษาญี่ปุ่น
อย่างน้อยระหว่างนั่งรอในร้านซักผ้า หนังสือสีฟ้าได้ช่วยให้ชายหนุ่มหันมาสนใจพูดคุยกับเธอ
ชีวิตใช่ว่าจะว่างเปล่าเลื่อนลอยตลอดเวลา...เธอคงคิดเช่นนี้
หญิงสาวคนที่สอง พักอยู่ห้องข้างๆ หญิงสาวคนแรก เธอทำงานเป็นคนแจกสินค้าตัวอย่างหลายชนิด บางครั้งเธอต้องแต่งตัวรัดรูป กระโปรงสั้น ยืนต่อหน้ากลุ่มชายที่เป็นนายจ้าง ให้พวกเขาเพ่งพิศพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์เธอว่าดูดีหรือไม่ ก่อนจะส่งเธอไปแจกสินค้าเหมือนทุกครั้ง
พูดและหยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างให้แก่คนแปลกหน้าที่เดินผ่านไปคนแล้วคนเล่า
เมื่อกลับมาถึงห้องพัก เรามักได้ยินเสียงโทรทัศน์ดังตลอดเวลา เธอนั่งมองมันราวกับเพื่อนแก้เหงาคนหนึ่ง
หญิงสาวคนที่สามเป็นนักเรียนศิลปะ คลาสที่เธอเรียนอยู่เป็นคลาสวาดรูปคนเหมือน มีนางแบบสาวคนหนึ่งมายืนให้เธอเพ่งมองและนำเรือนร่างนั้นมาจัดวางไว้บนกระดาษในรูปของลายเส้นและแสงเงา
เมื่อคลาสมาถึงการวาดรูปเปลือย เด็กสาวสนใจกับลายเส้นส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ เธอก้มมองหน้าอกของตัวเองราวกับว่าไม่เคยใส่ใจมันมาก่อน
ช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อนชายร่วมชั้นคนหนึ่งแสดงความสนใจตัวเธอ เขาขอวาดรูปโดยให้เธอเป็นแบบ เธอจึงหาซื้อฟองน้ำเสริมมาใส่ เมื่อเธอคบกับเขา เขามักขอเธอจูบ และดูเหมือนว่าฝ่ายชายจะต้องการมากกว่านั้น
หญิงสาวคนที่สี่เป็นพนักงานเสิร์ฟในคอฟฟี่ช็อปซึ่งแทบไม่มีลูกค้า เธอแอบรักนายจ้างหนุ่ม ช่วงเวลาว่างๆ ในร้านกลายเป็นช่วงเวลาที่เธอกับเขาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
บางครั้งเรื่องที่เขาเล่าทำให้หญิงสาวหัวเราะเริงร่า แต่บางคราเรื่องเล่ากลับทำให้เธอร้องไห้
หญิงสาวคนที่ห้าชื่อ โยโกะ ทำงานในบาร์ เธอบอกกับลูกค้าว่าชื่อของเธอแปลว่าใบไม้
โยโกะมีความตั้งใจจะเป็นนักเขียน เมื่องานเขียนชิ้นหนึ่งของเธอเข้ารอบสุดท้ายในการประกวด นำพาบรรณาธิการหนุ่มเข้ามาในชีวิตเธอ เขาคอยให้คำแนะนำปรึกษา แต่งานเขียนชิ้นต่อมากลับยังทำได้ไม่ดีนัก
สิ่งที่โยโกะต้องการถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือคือเรื่องราวของ ยูกิ ตัวละครที่เธอสร้างขึ้นจากชื่อของหญิงสาวที่ทำงานในบาร์เดียวกับเธอ เธอพยายามสร้างยูกิให้เป็นอีกโลกหนึ่งของตนเอง เป็นโลกที่สดใส สวยงาม ซึ่งเธอไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน จนบรรณาธิการบอกว่าเรื่องของเธอขาด ความมืด...ซึ่งเธอยอมรับ
หญิงสาวคนที่หกเป็นสาวบาร์ชื่อยูกิ เธอบอกกับลูกค้าว่าชื่อของเธอแปลว่าหิมะ
นอกจากทำงานในบาร์แล้ว ยูกิเป็นช่างสระผมในร้านเสริมสวยหรูหรา เธอพยายามเรียนรู้การตัดผม แต่กลับไม่เคยได้รับโอกาส
ชีวิตของเธอไม่ได้สดใสสวยงามอย่างที่โยโกะสร้างแรงบันดาลใจจากชื่อของเธอ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองได้มาพบกัน พูดคุยทำความรู้จักและทำความเข้าใจในชีวิตของแต่ละคน จนราวกับว่าต่างคนต่างได้เพื่อนเข้ามาเติมเต็มชีวิต
แต่โชคร้าย เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดกับยูกิ ทำให้โลกสวยงาม สดใส ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของโยโกะต้องพังทลายลง
พ้นจากอาคารบ้านเรือนขึ้นไปคือท้องฟ้ากว้างไกลไร้ขอบเขต ราวกับว่าฟ้าได้ครอบคลุมและคุ้มครองทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่เบื้องล่าง
ท้องฟ้าเหนือกรุงโตเกียวก็เช่นกัน...
หญิงสาวต่างแหงนมอง...บางสิ่งบางอย่างอาจผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ท้องฟ้ายังคงอยู่ตรงนั้นเสมอ
Tokyo . Sora เป็นหนังญี่ปุ่นปี 2002 กำกับโดย อิชิกาวา ฮิโรชิ ผู้กำกับหนังโฆษณาที่หันมาจับงานหนังเป็นครั้งแรก
หนังมีบทสนทนาน้อยมาก ไร้พล็อตเรื่องให้จับต้อง ตกแต่งด้วยดนตรีประกอบเพียงน้อยนิด แต่แทนที่ด้วยเสียงบรรยากาศรายรอบไม่ว่าจะเป็นเสียงรถรางแล่นกึงกัง เสียงโทรทัศน์ เสียงพัดลม ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความเงียบเหงาของตัวละครยิ่งขึ้น
หนังดำเนินเรื่องด้วยภาพชีวิตของหญิงสาวทั้ง 6 คน ตัดสลับไปมา ให้เราได้เฝ้ามองความเป็นไปของพวกเธอ ความนิ่งเงียบไร้พล็อตนี่เองที่อาจทำให้ต้องใช้ความอดทนพอสมควรกว่าจะผ่าน 2 ชั่วโมงมาได้ อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพที่ใช้องค์ประกอบแบบงานโฆษณาช่วยให้หนังมีเสน่ห์ให้ค้นหา และดูไม่ราบเรียบน่าเบื่อ
ฟ้าคือสัญลักษณ์ที่หนังบอกกล่าวไว้ตั้งแต่ในชื่อเรื่อง ฉากภายนอกเราจึงเห็นท้องฟ้าเป็นองค์ประกอบตลอดเวลา ส่วนฉากภายใน หลายครั้งหนังใช้แสงฟุ้งจากหน้าต่างเป็นตัวแทนของท้องฟ้า จนรู้สึกเหมือนกับว่ามีท้องฟ้าอยู่ทุกหนทุกแห่ง บางฉากทำให้นึกไปถึง All about Lily Chou-Chou ของชุนจิ อิไว ซึ่งว่าด้วยความเปลี่ยวเหงาสับสนคล้ายๆ กัน
ดูหนังเรื่องนี้อาจทำให้เหงายิ่งขึ้น แต่บทจบของเรื่องราวก็ทำให้อุ่นใจได้ว่าชีวิตไม่ว่างเปล่าเกินไปนัก
Create Date : 19 กันยายน 2549 |
|
5 comments |
Last Update : 19 กันยายน 2549 3:38:12 น. |
Counter : 3222 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: unwell 19 กันยายน 2549 10:58:33 น. |
|
|
|
| |
โดย: ดาริกามณี IP: 125.24.129.183 20 กันยายน 2549 19:00:55 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]
|
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................
พญาอินทรี
ศราทร @ wordpress
|
|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
แม้มนุษย์จะไม่ต้องการความเหงา แต่ความเหงาก็ทำให้มนุษย์รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร