Buffalo Boy ในกระแสชะตากรรม



Buffalo Boy
ในกระแสชะตากรรม

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 18 มิถุนายน 2549


เอ่ยถึงหนังจากประเทศเวียดนาม ชื่อที่นึกถึงเป็นลำดับแรกๆ คงไม่พ้น The Scent of Green Papaya (1993) ของ ตรัน อาน ฮูง (Tran Anh Hung) กับ Three Seasons(1999) ของ โทนี่ บุย(Toni Bui)

เรื่องแรกแม้จะเป็นตัวแทนเวียดนามเข้ารอบสุดท้ายรางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศ แต่ตัวหนังน่าจะเรียกว่าเป็นหนังฝรั่งเศสมากกว่า เพราะนอกจากจะมีบริษัทสร้างหนังสัญชาติฝรั่งเศสหลายบริษัทอยู่เบื้องหลังแล้ว หนังที่มีฉากหลังเป็นกรุงไซง่อน ประเทศเวียดนาม เรื่องนี้ ยังถ่ายทำในฝรั่งเศสทั้งเรื่องอีกด้วย

ขณะที่ Three Seasons แม้จะถ่ายทำในเวียดนามและใช้นักแสดงในพื้นที่ แต่เป็นที่รับรู้กันว่านี่คือหนังอิสระสัญชาติอเมริกันเรื่องแรกที่ถ่ายทำในเวียดนาม

นอกจากนี้ ผู้กำกับฯทั้ง 2 คนคือ ตรัน อาน ฮูง และโทนี่ บุย คือชาวเวียดนามที่อพยพตนเองไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ยังเล็กๆ โดย ตรัน อาน ฮูง ซึ่งเกิดในปี 1962 ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสตอนอายุ 12 ขวบ ส่วนโทนี่ บุย เกิดปี 1973 ย้ายมาเป็นพลเมืองอเมริกันตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ดูจากช่วงเวลาแล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสองอพยพออกนอกประเทศเพื่อหนีภัยสงครามกลางเมืองก่อนที่เวียดนามเหนือจะยึดครองไซง่อนได้ในปี 1975 นั่นเอง

ดังนั้น แม้จะเกิดในเวียดนาม แต่ก็เป็นคนเวียดนามที่เติบโต เล่าเรียน และใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตกแทบจะตลอดชีวิต


เมื่อ 2 ปีก่อน มีหนังฝีมือผู้กำกับฯชาวเวียดนามซึ่งอพยพไปอยู่ต่างแดนโดดเด่นขึ้นมาในระดับนานาชาติอีกเรื่องหนึ่ง เคยฉายในบางกอกฟิล์มเมื่อปีกลาย และเป็นตัวแทนเวียดนามเข้าชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศเมื่อต้นปี

Buffalo Boy หรือ Mua Len Trau เป็นงานกำกับฯเรื่องแรกของ มีน เหวียน-วอ (Minh Nguyen-Vo) หนุ่มใหญ่ชาวเวียดนามซึ่งอพยพมาอยู่ฝรั่งเศส ก่อนจะไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ จากยูซีแอลเอ สหรัฐ จากนั้นจึงกลับเข้าไปเรียนด้านเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ในสถาบันเดิมอีกครั้งหนึ่ง

มีนเล่าถึงเหตุที่เขาสนใจมาทำหนังเป็นเพราะในวัยเด็กขณะที่ยังอยู่ในเวียดนาม เขาชอบหลีกหนีความวุ่นวายร้ายกาจของสงครามด้วยการเข้าไปอยู่ในโรงหนัง แม้ว่าจะไม่ได้เข้าใจกับเรื่องราวตรงหน้าเท่าไรนัก เพราะหนังทุกเรื่องพากย์ภาษาฝรั่งเศส แต่ภาพเคลื่อนไหวสุดแสนมหัศจรรย์ที่ได้เห็นทำให้เด็กน้อยอย่างเขาหลงใหลประทับใจนับแต่นั้น

มีน เหวียน-วอ เขียนบทหนัง Buffalo Boy โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นชุด Scent of the Ca-Mau Forest ของ ซอน นาม(Son Nam) นักเขียนชาวเวียดนาม ซึ่งมีนอ่านตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ภาพภูมิประเทศในชนบทที่มีน้ำท่วมสูงตลอดระยะเวลาหลายเดือนในหน้าน้ำราวกับเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ รวมถึงภาพชาวนาที่ต้องดิ้นรนอยู่รอดในสภาพเช่นนั้น ฝังแน่นในความทรงจำของมีนตลอดมา กระทั่งถ่ายทอดออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ในที่สุด

หนังจับภาพชนบททางใต้ของเวียดนามโดยย้อนไปยังทศวรรษที่ 40 ขณะที่เวียดนามยังอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส คิม เด็กหนุ่มลูกชาวนาได้รับมอบหมายจากพ่อให้พาควาย 2 ตัวลุยน้ำขึ้นไปยังที่สูงเพื่อหาหญ้าให้ควายกินก่อนที่มันจะอดตาย หลังจากที่น้ำท่วมนาจนไม่เหลือผืนดินให้หญ้าแทรกตัว

คิมอยู่กับพ่อและแม่ผู้แก่เฒ่า หาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาบนที่นาคนอื่น ควาย 2 ตัวคือสมบัติที่มีค่าที่สุดและเป็นเครื่องมือทำกินเพียงอย่างเดียว แม่พยายามยุให้พ่อขายควายทิ้งเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่พ่อกับคิมไม่ยอม ทั้งสองยังหวังว่าน้ำลดเมื่อไรจะทำนาขายข้าวมาใช้หนี้ให้หมด

ระหว่างทาง คิมต้องติดสอยห้อยตามคาราวานคนเลี้ยงควายที่มีลาพเป็นหัวหน้า อาชีพคนเลี้ยงควายว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากแก๊งนักเลง พวกเขาต้องเร่ร่อนไร้หลักแหล่ง คอยระแวดระวังภัยจากคนเลี้ยงควายกลุ่มอื่น บุคลิกของหัวหน้าคนเลี้ยงควายแห่งท้องน้ำอย่างลาพจึงดูน่ากลัวราวกับหัวหน้าโจรสลัดในท้องทะเล อย่างไรก็ตาม กับเด็กหนุ่มที่มาร่วมขบวนอย่างคิม ดูเหมือนลาพจะเก็บงำความลับอะไรบางอย่างไว้


คิมกลับมาบ้านพร้อมควายที่เหลือเพียงตัวเดียว พ่อจึงขายมันทิ้งโดยไม่ฟังคำทัดทานของคิม เมื่อไร้เครื่องมือทำกินและที่อยู่เสียแล้ว ครอบครัวจึงกระจัดพลัดพรากกันไปคนละทิศละทาง

...ราวกับจมหายลงไปใต้ท้องน้ำกว้างใหญ่ที่กลืนกินชีวิตมาแล้วนับไม่ถ้วน

หากเปรียบเทียบ Buffalo Boy กับหนังที่ใช้ฉากหลังเป็นเวียดนามอย่าง The Scent of Green Papaya และ Three Seasons ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว จะพบว่า Buffalo Boy ให้ความรู้สึก “เป็นเวียดนาม” มากกว่า แม้ว่าทั้งสามเรื่องจะเป็นผลงานกำกับภาพยนตร์ของคนเวียดนามที่โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศตะวันตกเหมือนกัน

อะไรคือ “ความเป็นเวียดนาม” ที่พูดถึง...ผู้เขียนยอมรับตามตรงว่าระบุออกมาชัดๆ ไม่ได้ บอกได้แต่เพียงว่าดู Buffalo Boy แล้วสัมผัสได้ถึงชีวิตของชาวเวียดนามมากกว่าอีก 2 เรื่อง อาจเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้ใช้ฉากในชนบท ซึ่งปัจจุบันชนบทของเวียดนามไม่ได้แตกต่างจากในหนังเท่าใดนัก อีกทั้งการนำเสนอภาพชีวิตสามัญธรรมดาด้วยท่าทีซื่อตรงไร้จริต ให้ความรู้สึกจริงใจมากกว่า

หนังถ่ายทำในชนบทในช่วงหน้าน้ำจริงๆ ภาพน้ำท่วมที่ราบลุ่มสูงกว่าศีรษะครอบคลุมบริเวณกว้างนั้น คนไทยที่อยู่ไม่ไกลจากเวียดนามยังไม่เคยสัมผัสพบเห็น ไม่แปลกถ้าฝรั่งจะตื่นเต้นกับหนังเรื่องนี้ ที่สำคัญ ภาพท้องน้ำกว้างไกลเห็นทิวเขาอยู่ไกลลิบ นอกจากจะแปลกตาแล้วยังดูงดงามอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ผืนน้ำที่ขุ่นข้นสูงท่วมศีรษะในบางภาพบางฉากก็ให้ความรู้สึกน่าเกรงขามหวาดหวั่น ช่วยสื่อถึงความเชื่อเรื่องเทวดาฟ้าดินที่หนังกล่าวถึง

นอกจากนี้ ยังมีภาพคาราวานฝูงควายกว่า 200 ตัว เดินลุยน้ำปริ่มปาก โดยมีคนเลี้ยงคอยต้อน กับคนที่เป็นหัวหน้าคอยสั่งการอยู่บนเรือ เป็นอีกฉากหนึ่งที่น่าประทับใจและหาดูยาก เพราะปัจจุบันคนเลี้ยงควายเหลือเพียงกลุ่มเล็กๆ พวกเขาใช้เรือยนต์เป็นพาหนะ ไม่ใช่เรือสำปั้นแบบในหนัง อีกทั้งชาวบ้านหาหญ้าให้ควายได้เองแล้ว จึงไม่ต้องฝากควายให้คนอื่นเลี้ยงอีก

ความดีเด่นน่าประทับใจด้านภาพทั้งหมดนี้ต้องยกความดีความชอบให้แก่ อีฟ คาป์ ผู้กำกับภาพชาวฝรั่งเศส


การที่หนังเล่าเรื่องวิถีดิ้นรนเอาชีวิตให้รอดท่ามกลางท้องน้ำโอบล้อมโดยใช้ฉากหลังเป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสยังยึดครองเวียดนาม ก่อนที่ญี่ปุ่นจะขับไล่ฝรั่งเศสและยึดครองแทน ก็เพื่อเปรียบเทียบกับภาพของคนเวียดนามทั้งมวลที่ต้องยืนหยัดด้วยตนเองไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สภาพปัญหาหรือภาวะกดดันเช่นใด

มีน เหวียน-วอ ผูกร้อยเรื่องราวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของผู้คนและครอบครัว ณ ท้องน้ำแห่งชนบท ได้อย่างงดงาม โดยสื่อถึงกระแสชะตากรรมของผู้คนที่เกาะเกี่ยวกันดั่งสายน้ำ แต่สายน้ำเดียวกันนี้เองได้กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างเช่นกัน ถึงกระนั้น สิ่งที่สูญหายไปในกระแสชะตากรรมใช่ว่าจะหายลับไปตลอดกาล ยังมีช่วงเวลาแห่งการฟื้นคืนรอคอยอยู่ ดังเช่นฤดูกาลที่ผันเวียนเปลี่ยนแปลงทุกรอบปี

เพราะทุกสิ่งผ่านมาแล้วต้องผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ยึดครอง ท้องน้ำ หรือแม้กระทั่ง...ชีวิต




 

Create Date : 01 กันยายน 2549
2 comments
Last Update : 12 ตุลาคม 2549 17:14:34 น.
Counter : 4453 Pageviews.

 

อย่างแรกที่ประทับใจคือวิถีชีวิตของเค๊าที่เหมือนคนไทยอิสานส่วนใหญ่ ที่ต้องเลี้ยงดู+ดูแลควายให้อยู่ดีกินดี ไม่ให้อดอยากเพราะควายเปรียบเหมือนแขนและขาในยามที่ต้องทำนาปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงปากท้องตน

ดูแล้วก็ซึมเศร้าเข้าใจในความเป็นคนยาก และต้องดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้ ไม่ว่าจะต้องแลกกับการสูญเสียสิ่งรัก

อย่างที่สองที่ประทับใจและจิตคือ....ถ่ายทำกันยังไงหนอ น้ำท่วมทุ่งขนาดนั้น ทั้งคนทั้งควายยักแย่อยู่ในน้ำก้อคงยากลำบากน่าดู และภาพน้ำท่วมที่สูงมิดหัว ก็ทำเอาสะท้อนใจ ย้อนคิดว่าถ้าเป็นเรา เราจะทำยังไง

สมัยก่อน ต้องจูงวัวและควายออกไปหาหญ้า
สมัยนี้พัฒนา....มีการปลูกหญ้าสำหรับวัวควายขายกันแล้ว สมัยนี้ คนต้องออกไปซื้อหญ้ามาให้วัวควายกิน (อ้างอิงจากประสบการณ์ตรงที่ไปเจอมา)

 

โดย: renton_renton 2 กันยายน 2549 1:25:01 น.  

 

อยากรู้เหมือนกันว่าเวียตนามสร้างได้ดีแค่ไหน หนังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียก็ดูมาแล้ว หนังเวียตนามเก่าๆก็เคยดู ผมอยากทำหนัง 3 ประเทศร่วมทุนสร้างจริงๆ มี ไทย ลาว และเวียตนาม แต่ก็ได้แค่คิด เพราะตอนนี้เสนอบทไยงไม่มีใครสนใจหนังผมเลย หากจะสร้างเองก็ยังไม่มีกำลังทุนพอ เพราะหลักทรัพย์ทั้งบ้านรวมกันได้แค่ 30 ล้านบาทเศษ เงินสดของพ่อแม่ก็รวมกันได้ 3 ล้านกว่า รวมของทุกคนเกือบหกล้าน ทั้งประสบการณ์ทำหนังยังไม่มากพอ ต้องเรียนรู้อีกหลายอย่าง ใครอยากเสนอความคิดเห็นโทรหากันได้ ที่ 085 4154545

 

โดย: จักรพรรดิ์ วงศ์สุข IP: 125.26.64.104 26 มิถุนายน 2552 22:49:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กันยายน 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
1 กันยายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.