Heading South มองหนัง‘หลังอาณานิคม’



Heading South
มองหนัง‘หลังอาณานิคม’

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 14, 24, 28 มกราคม 2550


*(1)

ดูหนังฝรั่งเศสเรื่อง Heading South(Vers le sud) แล้วให้นึกถึงหนังที่ได้ดูช่วงปีที่ผ่านมาอีก 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ The House of Sand(Casa de Areia) หนังบราซิลของ แอนดรูชา แวดดิงตัน กับ The White Masai(Die Weisse Massai) ของ แฮร์มิเนอ ฮุนท์เกบวร์ท จากเยอรมนี โดยทั้ง 3 เรื่อง ออกฉายในปีเดียวกันคือปี 2005

เหตุที่ชวนให้นึกถึงคือ หนังจากต่างชาติต่างภาษา 3 เรื่องนี้ ล้วนแต่เล่าเรื่องราวของตัวละครหญิงผิวขาวที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายหนุ่มผิวสีในดินแดนของฝ่ายชาย

ใน The House of Sand หม้ายสาวผิวขาวหลงค้างในดินแดนทรายสีขาวแห่งบราซิล ต้องดิ้นรนเอาชีวิตตนเองกับลูกเล็กๆ ให้รอด เธอยินยอมรับความช่วยเหลือจากชายชาวพื้นเมือง กระทั่งเข้าไปเป็นครอบครัวเดียวกับเขา(อ่านเพิ่มเติมใน The House of Sand สัมพัทธภาพวิมานทราย )

The White Masai หลังจากเดินทางไปท่องเที่ยวที่เคนยา สาวชาวสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจทิ้งแฟนหนุ่มไปใช้ชีวิตอยู่กับหนุ่มนักรบชาวเผ่ามาไซในเขตป่าที่สงวนไว้สำหรับชนดั้งเดิม

ส่วน Heading South เกี่ยวกับกลุ่มหญิงวัยกลางคนชาวอเมริกันไปเที่ยวหาความสำราญยังชายหาดแห่งเฮติ โดยโปรแกรมหลักของทริปนี้คือการจ้างหนุ่มท้องถิ่นรุ่นกระทงไว้เป็นเพื่อนข้างกาย

นอกจากจะว่าด้วยตัวละครหญิงผิวขาวมีปฏิสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายหนุ่มผิวสีในดินแดนของฝ่ายชายดังที่กล่าวแล้ว หนังทั้ง 3 เรื่อง ได้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายหญิงต่างพึงพอใจไปจนถึงขั้นหลงใหลในเพศรสที่ได้รับ โดยชายหนุ่มผิวสีซึ่งต่างเป็นคนท้องถิ่นล้วนแต่มีร่างกายกำยำแข็งแรง และมอบความสุขในแบบที่หญิงสาวไม่เคยได้รับมาก่อน

ฉากอัศจรรย์ที่แสดงถึงชั่วขณะแห่งอารมณ์เปี่ยมสุขของฝ่ายหญิงจึงขาดไม่ได้ในหนังกลุ่มนี้

ข้อสังเกตคือ นี่ไม่ใช่เรื่องรักระหว่างหญิงผิวขาวกับชายผิวสีอันเป็นพล็อตว่าด้วย “รักต้องห้าม” เช่นที่เห็นในหนังฮอลลีวู้ดยุคหลังอย่าง Save the Last Dance (โธมัส คาร์เตอร์-2001) หรือ Far from Heaven(ท็อด เฮย์นส์-2002) ทั้งยังมีตัวอย่างคู่รักแบบนี้ในหนังอีกหลายเรื่อง เช่น คู่ตัวละครใน Cruel Intentions(โรเจอร์ คัมเบิล-1999) ซึ่งพล็อตหรือคู่ตัวละครดังกล่าวได้ขยับขึ้นมาเป็นเรื่องราวที่ “รับได้” ในสังคมปัจจุบัน จากที่เคยเป็นเรื่องชั่วร้ายต้องห้ามที่ไม่มีทางได้ปรากฏบนจอภาพยนตร์เมื่อครั้งอดีต

แต่หนัง 3 เรื่อง ข้างต้นไปไกลกว่าด้วยการกล่าวถึง “ความใคร่” ที่ฝ่ายหญิงพึงพอใจ แม้ไม่ใช่เป้าหมายแรกของความสัมพันธ์ระหว่างเธอและเขาก็ตาม โดยเฉพาะ Heading South ไปไกลที่สุดด้วยการให้ฝ่ายหญิงตั้งใจจับจ่ายซื้อความสุขจากชายหนุ่มผิวสี

ถ้าเป็นเมื่อก่อน เรื่องลักษณะนี้ย่อมเป็นสิ่งน่าอายเกินกว่าจะนำเสนอ เป็นสิ่งต้องห้ามที่ผู้สร้างต้องถูกประณามหยามหมิ่น แต่ในโลกปัจจุบันที่สิทธิสตรีถูกยกระดับ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศลดน้อยลง เสรีภาพในการแสดงออกมีมาก ช่องทางจึงเปิดกว้างจนแทบจะเป็นทางสะดวก

ที่สำคัญคือ หนังทั้ง 3 เรื่อง ไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ด แต่เป็นหนังจากประเทศยุโรปที่มีขอบเขตในการนำเสนอกว้างขวางภายใต้รูปแบบของการสร้างงานศิลปะ หรือในส่วนของ The House of Sand ซึ่งเป็นหนังบราซิลก็สร้างขึ้นเพื่อป้อนตลาดยุโรปหรือตลาดหนังอาร์ต เรื่องราวลักษณะนี้จึงไม่ใช่ความผิดแปลกเท่าใดนัก


อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ การที่หนังกำหนดโดยตรงให้ตัวละครหญิงผิวขาวเข้าไปในดินแดนของตัวละครชายชาวท้องถิ่น ได้พบกับเรื่องราวและประสบการณ์แปลกใหม่ ทั้งยังตื่นตะลึงในเพศรสที่ไม่เคยสัมผัส โดยที่ดินแดนของฝ่ายชายล้วนแต่เป็นพื้นที่เฉพาะซึ่งไม่อาจเข้าไปได้โดยง่าย ดังเช่นดินแดนทรายสีขาวอันมีสภาพแห้งแล้งตัดขาดจากโลกภายนอกใน The House of Sand เขตสงวนสำหรับชนดั้งเดิมในป่าเคนยาใน The White Masai และบ้านเมืองภายใต้เผด็จการทหารช่วงปลายทศวรรษ 70 ของเฮติใน Heading South

ดินแดนดังกล่าวนอกจากจะทำให้ตัวละครตื่นเต้น-ตื่นตระหนกไปกับสิ่งที่ได้พบเจอแล้ว ภาพและเรื่องราวที่นำเสนอได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดินแดนที่ปรากฏในหนังต่างมีสภาพป่าเถื่อน ล้าหลัง ไปจนถึงไร้อารยธรรมตามบรรทัดฐานของโลกอารยะ ความแปลกประหลาดหรือที่เรียกว่าอาการ “เอ็กโซติก” ที่เกิดขึ้นต่อผู้ชมจึงเสมือนโปรแกรมทัวร์ที่แถมมากับภาพยนตร์

ในเมื่อหนังถ่ายทอดผ่านมุมมองหรือเรื่องราวของตัวละครหญิงผิวขาวเป็นหลัก ตัวละครดังกล่าวจึงเหมือนเป็นตัวแทนของผู้ชมในโลกที่หนังเรื่องนั้นๆ สามารถเดินทางไปถึง(แน่นอนว่าไม่ใช่ดินแดนแบบในหนัง) ขณะเดียวกัน แม้จะถูกหยิบยกมานำเสนอ แต่ฐานะของผู้คนหรือสถานที่ล้าหลังดั้งเดิมนั้นไม่ได้ถูกยกระดับขึ้นมาแต่อย่างใด หากเป็นเพียงสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นหวือหวาชั่วครั้งคราวเช่นที่ตัวละครหญิงได้รับสัมผัสในเพศรสนั่นเอง

ข้อสังเกตสุดท้าย...เห็นได้ว่าหนังทั้ง 3 เรื่อง เกี่ยวข้องกับสถานภาพของชาติอาณานิคมและเจ้าอาณานิคมในอดีต ทั้งในส่วนของเนื้อหาและงานสร้าง เริ่มจาก The White Masai เป็นเรื่องของสาวชาวสวิสก็จริง แต่ผู้กำกับฯเป็นชาวเยอรมัน และเคนยาคืออดีตอาณานิคมของเยอรมนีตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19

Heading South ใช้ฉากประเทศเฮติซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยผู้กำกับฯเรื่องนี้เป็นชาวฝรั่งเศส ขณะที่ตัวละครเป็นหญิงวัยกลางคนชาวอเมริกันไปหาความสำราญที่เฮติ เมื่อเปิดประวัติศาสตร์ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จะพบว่าสหรัฐอเมริกาเคยยึดครองเฮติตั้งแต่ปี 1915 ถึง 1934

สำหรับ The House of Sand อาจจะไม่ชัดเจนเท่า 2 เรื่องแรก แต่นี่คือหนังบราซิลจากฝีมือผู้กำกับฯผิวขาวที่เกิดในบราซิล แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเขามีเชื้อสายโปรตุเกสซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของบราซิลหรือไม่(หรืออาจเป็นชาวอังกฤษที่เข้ามามีบทบาทช่วงหนึ่ง) แต่ที่แน่นอนคือเขาไม่ใช่ชนพื้นเมือง

ข้อสันนิษฐานคือ การที่ชาวผิวขาวอดีตเจ้าอาณานิคมหยิบเรื่องราวเอ็กโซติกของดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมมาสร้างเป็นหนัง โดยที่ผู้คนและดินแดนนั้นๆ ยังอยู่ในฐานะด้อยกว่า ถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าอาณานิคมที่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดความรู้สึกของชาวตะวันตกผิวขาวหรือไม่

หนังในกลุ่มนี้ที่บ่งชี้ถึงข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ชัดเจนที่สุดคือ Heading South นั่นเอง




(2)

อาจไม่ใช่เรื่องแปลก หากหนังจากสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปจะมีเนื้อหากล่าวถึงดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคม และมีมุมมองต่อดินแดนนั้นในทางต่ำต้อยด้อยกว่า(โดยสภาพความเป็นจริง) เช่น หนังเกี่ยวกับอินเดียเรื่อง City of Joy(1992) ของ โรแลนด์ จอฟเฟ่ ผู้กำกับฯชาวอังกฤษ หนังฝรั่งเศสว่าด้วยเวียดนามเรื่อง Indochine(1992) ของ เรชีส์ วาร์นิเยร์

หรือจะเป็นหนังที่มีเนื้อหาในทาง “ช่วยเหลือ” หรือ “เห็นอกเห็นใจ” ต่อผู้คนในดินแดนอดีตอาณานิคม เช่นหนังว่าด้วยความโหดร้ายของธุรกิจข้ามชาติที่กระทำต่อประเทศในแอฟริกาอย่าง The Constant Gardener(เฟอร์นานโด เมเรลเลส, 2005) และ Blood Diamond(เอ็ดเวิร์ด ซวิก, 2006)

แต่ขบวนแถวของหนัง 3 เรื่อง ที่ออกฉายในปีเดียวกันอย่าง The House of Sand, The White Masai และ Heading South มีความแตกต่างออกไปตรงที่มีการเปิดเปลือยถึงประโยชน์หรือความพึงพอใจที่คนผิวขาวได้รับจากการเข้าไปอยู่ร่วมกับชนพื้นเมือง โดยสะท้อนผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ลึกซึ้งและสรีระของชายหนุ่ม

คือการสรรเสพความดีงามของดินแดนอาณานิคมโดยกลับขั้วกับท่าทีในอดีต แทนที่จะเป็นตัวละครฝ่ายชายตักตวงจากฝ่ายหญิงซึ่งจะกลายเป็นภาพด้านลบให้ความรู้สึกราวกับการรุกรานเอาเปรียบ คราวนี้เมื่อฝ่ายหญิงได้รับความสุขจากฝ่ายชายเสียเองจึงเสมือนเป็นการยกย่อง(สรีระและความแข็งแกร่งของเพศชาย) และยอมรับในสภาพแท้จริง(ชนพื้นเมืองผิวสี) ต่อดินแดนที่เคยอยู่ใต้อาณัติ

ทั้งที่จริงๆ แล้วท่าทีดังกล่าวได้ซ่อนแฝงแนวคิดที่แสดงความเหนือกว่าในฐานะคนผิวขาวชาติตะวันตกหรืออดีตชาติเจ้าอาณานิคมอยู่นั่นเอง

เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างสรรค์ผ่านมุมคิดของชาติตะวันตกเองแล้ว พื้นที่และวิธีในนำเสนอไม่ว่าจะเป็นตลาดในยุโรป หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เน้นความแปลกประหลาดของผู้คนหรือดินแดนล้าหลังดั้งเดิมอันเป็นฉากหลังของเรื่องราวที่ตัวละครหญิงเข้าไปค้นหา กระทั่งนำมาซึ่งความตื่นเต้นหวือหวากระตุ้นให้อยากเข้าไปสัมผัส ล้วนแต่เอื้อให้เห็นว่าหนังกำลังสื่อสารในหมู่พวกเดียวกัน มีความเข้าใจตรงกัน และมีมุมมองต่อเนื้อหาเรื่องราวใกล้เคียงกัน โดยผู้คนหรือดินแดนล้าหลังดั้งเดิมที่ถูกอ้างถึงนั้นไม่ได้รับการยกระดับขึ้นมาแต่อย่างใด

อันที่จริง ลัทธิ “อาณานิคม” ของชาติตะวันตกดำรงตลอดมาอยู่แล้ว ผ่านงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม สถาปัตยกรรม หรือการตกแต่งภายใน และผู้เขียนไม่มีข้อมูลสนับสนุนใดที่จะช่วยชี้ชัดลงไปว่าเหตุใดอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมจึงถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ต่างชาติต่างภาษา 3 เรื่อง ได้แก่ The House of Sand, The White Masai และ Heading South ด้วยเนื้อหาเรื่องราวใกล้เคียงกันในช่วงเวลาเดียวกันเช่นนี้ นอกจากสรุปแบบง่ายๆ ไปก่อนว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญเท่านั้น

หลังจากพิจารณาความเหมือนกันแล้ว มาดูความแตกต่างของหนัง 3 เรื่องนี้กันบ้าง โดยเฉพาะระดับท่าทีที่ต่างกันของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของชนพื้นเมืองโดยตัวละครหญิงผิวขาว

เริ่มจาก The House of Sand ตัวละครหญิงต้องการดิ้นรนให้ตนเองและลูกสาวตัวน้อยอยู่รอด เธอจึงยอมตกเป็นของหนุ่มพื้นเมืองชาวประมงผู้เป็นความหวังเดียวของเธอ ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวฝ่ายชาย เมื่อเวลาผ่านพ้นไปหลายปีความผูกพันได้ก่อตัวขึ้นระหว่างเธอกับเขา

ระดับท่าทีในหนังเรื่องนี้จึงเป็นการหาประโยชน์ในเบื้องต้น ก่อนจะอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในท้ายที่สุด

*ใน The White Masai สาวชาวสวิสยอมทิ้งแฟนหนุ่มไปอยู่กับชาวเผ่ามาไซด้วยความรักใคร่อย่างแท้จริง ตอนแรกเธอพยายามเรียนรู้วิถีชีวิตของเขา แต่ต่อมาหญิงสาวกลับนำวิถีเมืองเข้าไปโดยคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวเผ่า แน่นอนว่าความรักใคร่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ และจุดแตกหักคือความต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง

สำหรับ Heading South สาววัยกลางคนชาวอเมริกันสวมบทนักท่องเที่ยวเข้าไปหาความสำราญยังชายหาดเฮติ พวกเธอจ่ายเงินให้ชายชาวพื้นเมืองเพื่อเป็นเพื่อนข้างกาย แม้ตัวละครหญิงผิวขาวตัวหลักของหนังจะมีถึง 3 คน และต่างคนต่างความต้องการ แต่ไม่ว่าคนใดก็ล้วนแต่อยากเสพสุขกับหนุ่มพื้นเมืองในฐานะที่เป็นรสชาติแปลกต่างและอยู่ห่างไกลจากบ้านของพวกเธอทั้งสิ้น

ระดับท่าทีของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนพื้นเมืองโดยตัวละครหญิงผิวขาวใน Heading South จึงเป็นไปเพื่อความสุขสำราญและความพึงพอใจส่วนตัวชั่วครั้งคราว และน่าจะแสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมชัดเจนที่สุด(จนแทบจะเป็นการวิพากษ์ตนเอง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองไปยังเนื้อหาและสัญลักษณ์ที่หนังสื่อออกมา

หนังใช้ฉากเฮติช่วงปลายทศวรรษ 70 ซึ่งยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของตระกูลดูวาลิเยร์ เริ่มต้นด้วยการมาถึงของ เบรนด้า(คาเรน ยัง) แม่บ้านสาวใหญ่ชาวอเมริกันวัยใกล้ 50 ก่อนจะเข้าพักในรีสอร์ตริมทะเล ความต้องการลึกๆ ของเบรนด้าคือ เธออยากพบ เลกบา(มีโนธี ซีซาร์) เด็กหนุ่มผิวสีผู้เคยทำให้เธอ “ถึง” ครั้งแรกในชีวิตเมื่อ 3 ปีก่อน

เอลเลน(ชาร์ลอตต์ แรมปลิง) ครูสอนภาษาฝรั่งเศสจากบอสตัน วัย 55 ปี และ ซู(หลุยส์ พอร์ทัล) สาวใหญ่ร่างอวบอ้วนก็พักในรีสอร์ตนี้เช่นกัน เบรนด้าผูกมิตรกับเอลเลนและซู ได้รับรู้ว่านักท่องเที่ยวทั้งสาวน้อยสาวใหญ่ที่มาที่นี่ล้วนแล้วแต่จ่ายเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อแลกกับความสุขจากชายหนุ่มชาวพื้นเมืองทั้งนั้น ปัญหาคือเด็กหนุ่มคนโปรดของเอลเลนคือเลกบา ความขัดแย้งเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของระหว่างเบรนด้ากับเอลเลนจึงเกิดขึ้น

อีกตัวละครซึ่งเป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์เรื่องนี้คือ อัลแบรต์(ลีส แอมโบรส) หัวหน้าบริกรสูงอายุ ผู้ก้มหน้ารับใช้คนผิวขาวชาวอเมริกัน ทั้งที่พ่อกับปู่เป็นพวกเกลียดสหรัฐเข้ากระดูกดำตั้งแต่เฮติถูกรุกรานในปี 1915

นอกจากความขัดแย้งระหว่างเบรนด้ากับเอลเลนเพื่อแย่งเลกบาแล้ว เลกบาเองก็มีปัญหาส่วนตัวจากการเข้าไปเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจ และอาจทำให้เขามีอันตรายถึงชีวิต

จากเนื้อหาเรื่องราวดังกล่าวมีรายละเอียดมากมายที่สะท้อนถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคม ทั้งด้วยบทสนทนา การกระทำของตัวละคร

หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มค็อกเทล...




(3)

ประเทศเฮติซึ่งเป็นฉากหลังของ Heading South เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน เยื้องลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 กระทั่งประกาศอิสรภาพสำเร็จในปี 1804

ปี 1915 ความระส่ำทางการเมืองและเศรษฐกิจนำพาให้สหรัฐรุกรานและยึดครองเฮติ ประเทศถูกเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งทางการเมืองและสังคม สู่รูปแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและการรวมศูนย์อำนาจ เกิดกบฏกองโจรชาตินิยมต่อต้านสหรัฐ แม้สหรัฐจะถอนตัวไปในปี 1934 แต่รัฐบาลเฮติสืบต่อมานับแต่ปี 1950 ที่เกิดการรัฐประหาร จนถึงยุคเผด็จการทรราชตระกูลดูวาลิเยร์(1957-1986) ซึ่งมีทหารให้การสนับสนุนนั้น เชื่อกันว่าล้วนแต่มีสหรัฐอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น และเวลาอันเป็นฉากหลังของ Heading South ที่ว่าด้วยหญิงสาวชาวอเมริกันมาหาความสำราญในเฮติก็อยู่ในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังจะกล่าวถึงเฮติในช่วงปลายทศวรรษ 70 ซึ่งสหรัฐชักใยผู้นำเผด็จการอยู่ แต่บทบาทของสหรัฐในเฮติไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น ในปี 1994 สหรัฐในยุคคลินตันได้เปิดฉากรุกรานเฮติรอบใหม่โดยอ้างความวุ่นวายทางการเมืองเช่นเดิม เรื่อยมาจนถึงปี 2004 ที่บุชจูเนียร์ส่งทหารเข้าไปประจำการในเฮติแบบรวดเร็วทันใจ หลังจากบีบให้อดีตประธานาธิบดี ฌอง แบร์ทรองด์ อริสตีด ลงจากอำนาจและออกนอกประเทศ ซึ่งนายอริสตีดนี้ก็คือบุคคลเดียวกับที่สหรัฐพากลับสู่บัลลังก์หลังจากโดนรัฐประหารเมื่อปี 1994

หนังปี 2005 เรื่อง Heading South จึงเป็นเหมือนภาพเปรียบเทียบถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่มีอิทธิพลเหนือเฮติตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ศตวรรษ ทั้งในหน้าประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัย โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวของตัวละครหญิงชาวสหรัฐที่โหยหาต้องการเด็กหนุ่มผิวสีชาวพื้นเมือง จะต่างไปตรงที่วิธีที่พวกเธอใช้ในการยึดครองหาใช่กำลังทหารหรืออำนาจบาตรใหญ่ หากคือ “ดอลลาร์อเมริกัน”

ฉากหลังกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ที่เต็มไปด้วยทหารถืออาวุธ มีตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวระรานชาวบ้าน ท่ามกลางความยากจนข้นแค้นอยู่กันอย่างแออัดของผู้คน กับภาพหาดสวรรค์ของนักท่องเที่ยวชาวผิวขาวที่นอนอาบแดดพูดคุยอย่างมีความสุข โดยมีคนพื้นเมืองผิวสีคอยรับใช้ เป็นภาพขัดแย้งที่หนังวางไว้เป็นหลัก ก่อนจะค่อยๆ สมทบด้วยเรื่องราวรายละเอียดของตัวละครตอกย้ำให้เห็นว่า “คุณค่า” ของเฮติในสายตาคนผิวขาวเป็นเช่นไร

ตัวละคร เบรนด้า สาวใหญ่วัย 45 ชาวจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่อาจลืมรสสัมผัสของเลกบา เด็กหนุ่มอายุ 15 เมื่อ 3 ปีก่อน ได้ย้อนกลับมาหาเขาอีกครั้ง หลายครั้งที่เธอแสดงให้เห็นว่าตนเองรักและห่วงใยเลกบาราวกับคนพิเศษ ซื้อเสื้อผ้าทันสมัยให้ใส่จนเด็กหนุ่มดูแปลกต่างไปจากคนพื้นเมืองคนอื่น ทั้งยังร้องไห้คร่ำครวญเป็นห่วงเป็นใยยามที่เขาตกอยู่ในอันตราย นอกจากนี้ เบรนด้ายังบอกว่าเธอไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลยเมื่ออยู่ที่บ้านเกิด

ส่วน เอลเลน ครูสอนภาษาฝรั่งเศสวัย 55 ปี ผู้เชื่อว่าไม่มีที่สำหรับผู้หญิงอายุเกิน 40 ปี ในบอสตัน เธอจึงมาพักผ่อนที่เฮติช่วงปิดภาคเรียนติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว เอลเลนพักที่รีสอร์ตแห่งเดิมเสมอเพราะติดใจในความสวยงาม ความสะอาด กระทั่งรู้สึกว่าที่นี่เหมือนบ้าน ขณะเดียวกัน เธอกลับพูดถึงปอร์โตแปรงซ์และเฮติว่าเหมือนกองมูลหรือคอกสัตว์ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กหนุ่มผู้งดงามอย่างเลกบา

ขณะที่ ซู สาวออฟฟิศร่างอ้วนมาที่เฮติด้วยความรู้สึกราวกับเป็นผีเสื้อ มีอิสระ มีชีวิตชีวา ต่างจากที่สหรัฐที่แม้แต่การมีความสัมพันธ์กับใครสักคนกลับเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วน ซูบอกว่าเธอรักชายผิวสีซึ่งเป็นเพื่อนข้างกายของเธอ ทั้งย้ำว่าชายผิวสีที่สหรัฐมีตั้งมากมาย แต่ไม่ดึงดูดใจเธอเท่าที่นี่


จากมุมมองของ 3 สาว เห็นได้ว่าพวกเธอรู้สึกกับเฮติเสมือนเป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างจากบ้าน เป็นสถานที่ที่พวกเธอสามารถตักตวงความสุขได้เต็มที่ด้วยการจับจ่ายซื้อหา ที่สำคัญ เฮติที่มีคุณค่าในสายตาของพวกเธอมีขอบเขตเพียงแค่ชายหาดงดงามราวสวรรค์แห่งนี้เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงความทุกข์ยากหวาดกลัวหรือความแร้นแค้นของผู้คนที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ทั้งที่ความทุกข์รายล้อมนี้สาหัสสากรรจ์กว่าเรื่องทุกข์ใจที่ผลักดันพวกเธอมาที่นี่ด้วยซ้ำ

แม้สถานะของสถานที่และผู้คนที่ต่ำต้อยด้อยกว่าจะถูกให้ความสำคัญ แต่ในเมื่อคุณค่าที่ถูกเลือกหยิบขึ้นมานั้นเป็นแค่เพียงความสุขสำราญชั่วครั้งคราว ไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างถาวรหรือให้จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นคุณค่าทางเพศรสที่ตอกย้ำว่าเด็กหนุ่มผิวสีไม่ต่างจากเครื่องประดับของหญิงผิวขาว ทั้งหมดนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ยังหลงค้างอยู่นั่นเอง

อาการ “ติดใจ” เด็กหนุ่มจนต้องย้อนกลับมาของเบรนด้า หรือความรู้สึกราวกับเป็นบ้านจนต้องเดินทางมาทุกปีของเอลเลน เปรียบเทียบได้โดยตรงกับสหรัฐที่ไม่เคยละมือไปจากเฮติ ไม่ว่าจะด้วยการแทรกแซงแบบลับๆ หรือชักแถวเดินเข้ามา “ควบคุม” โดยตรง ด้วยยังมองเห็นผลประโยชน์บางอย่าง

ส่วนเงินดอลลาร์ซึ่งสาวๆ ใช้ล่อใจชาวเฮติให้ตกเป็นเบี้ยล่างและตักตวงความสุขให้ตนเอง หมายถึงระบอบทุนนิยมที่สหรัฐเข้ามาหว่านเพาะในเฮติตั้งแต่การรุกรานครั้งแรก หรืออาจจะรวมไปถึง “การปกป้องทุน” อันเป็นเป้าหมายแฝงเร้นของการให้ท้ายเผด็จการแล้วแทรกแซงประชาธิปไตยในประเทศอเมริกากลางและอเมริกาใต้ของสหรัฐมาโดยตลอด (เช่นที่ปรากฏในงานเขียนของ นอม ชอมสกี้)

การเชื่อมโยงเรื่องสหรัฐกับเฮติดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากมาจากตัวละคร อัลแบรต์ ซึ่งอธิบายตนเองว่าครอบครัวของเขาเกลียดชังสหรัฐยิ่งนัก โดยร่วมรบกับกลุ่มกองโจรชาตินิยมระหว่างที่สหรัฐยึดครองเฮติในปี 1915 แต่วันนี้ตัวเขากลับต้องมาคอยรับใช้ชาวสหรัฐที่ใช้เงินดอลลาร์ก่อความเน่าเฟะให้แก่แผ่นดินเกิด

นอกจากมุมมองและเรื่องราวของตัวละครสาวใหญ่ชาวอเมริกันจะสะท้อนถึงสถานะของคนผิวขาวชาวตะวันตกและลัทธิอาณานิคมแล้ว บทสนทนาและการกระทำของตัวละครได้แสดงนัยยะเกี่ยวกับอาณานิคมเช่นกัน เช่นในฉากที่เอลเลนบอกเลกบาว่าเครื่องดื่มที่เขาละเลียดอยู่นั้นคือ “เตกีล่า ซันไรส์” แล้วอธิบายความหมายของคำว่า “ซันไรส์” เป็นภาษาฝรั่งเศสอีกทีหนึ่ง

คำว่า “พระอาทิตย์ขึ้น” นี้ ชวนให้นึกถึงประโยคว่า “จักรวรรดิซึ่งพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” อันเป็นสโลแกนที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดินิยมในอดีต เริ่มใช้โดยสเปน อังกฤษ จนมาถึงปัจจุบันซึ่งสหรัฐได้อ้างประโยคนี้เช่นกันในฐานะชาติมหาอำนาจหนึ่งเดียวที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก

หรือในฉากที่เอลเลนถ่ายภาพเลกบานอนเปลือยคว่ำหน้าอยู่บนเตียง เลกบาถามว่าไม่ให้เขานอนหงายหรือ เอลเลนตอบว่า “ฉันอยากเห็นแค่ใบหน้าเธอยามหลับกับบั้นท้ายของเธอ” ประโยคดังกล่าวสามารถตีความเชื่อมโยงได้ถึงท่าทีของสหรัฐที่ต้องการให้เฮติอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสงบ ระหว่างที่สหรัฐย่องเข้ามาแทรกแซง

Heading South ดัดแปลงจากเรื่องสั้น 3 เรื่องของ ดานี ลาเฟริแยร์ นักเขียนผิวสีชาวเฮติผู้อพยพลี้ภัยมาอยู่แคนาดาในช่วงที่เฮติอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลดูวาลิเยร์ งานเขียนของเขาจึงสะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับสหรัฐและเฮติในยุคเผด็จการได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าในเมื่อหนังเรื่องนี้แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ฝังแน่นในทัศนคติของชาวตะวันตกผิวขาว แต่ขณะเดียวกันกลับมีนัยยะสื่อถึงการรุกรานของสหรัฐต่อเฮติอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ท่าทีดังกล่าวไม่ขัดแย้งกันเองหรือ

คำตอบคือไม่...ทั้งนี้เพราะ Heading South เป็นหนังสัญชาติฝรั่งเศส โดยผู้กำกับฯชาวฝรั่งเศส ถ้าหากจะทำหนังว่าด้วยเฮติซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของพวกเขามาก่อนโดยให้สหรัฐรับบทผู้ร้าย

...ย่อมเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว







หมายเหตุ : บทความนี้ทดลองใช้กรอบของแนวคิดสกุล Postcolonialism หรือ “หลังอาณานิคม” มาวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ ไม่ได้ลงลึกยังรายละเอียดของทฤษฎี

อ่านบทความเกี่ยวกับแนวคิด “หลังอาณานิคม” ได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทนำเพื่อทำความเข้าใจ ลัทธิหลังยุคอาณานิคม โดย สมเกียรติ ตั้งนโม แปลและเรียบเรียง

บทบรรยายเรื่อง Post Colonial Criticism การวิจารณ์ศิลปะ-วรรณกรรมแนวหลังอาณานิคม โดย นพพร ประชากุล

และบทความเรื่อง แนวคิดสกุล "หลังอาณานิคม" (Postcolonialism) โดย นพพร ประชากุล ใน "สารคดี" ฉบับที่ 191 มกราคม 2544



Create Date : 13 พฤษภาคม 2550
Last Update : 13 พฤษภาคม 2550 0:44:36 น. 4 comments
Counter : 4183 Pageviews.

 

โห ... ลึกซึ้งมากๆเลย
มุมมอง เรื่องราว รวมถึงบทสนทนาและการกระทำของตัวละคร
ล้วนแต่สะท้อนและแสดงนัยยะเกี่ยวกับเรื่องอาณานิคม
โอ ... พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินจริงๆนะเนี่ยย

ปล.
บอส หนูเคยอ่านข่าว เห็นเค้าว่ากันว่า ตอนนี้อ่ะหนุ่มไทยร่างใหญ่กำยำ ผิวสีแทน ตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆเช่นภูเก็ต
กำลังเป็นที่นิยมของสาวใหญ่สาวน้อยทั้งฝรั่งและญี่ปุ่นจำนวนมาก
ยังผลให้เค้าก็เริ่มมีอาชีพรับจ้างมีความสัมพันธ์กับใครสักคนแบบหนุ่มที่เฮติทำเลยแหละ

เฮ้อออ แต่เรื่องนี้ไม่รู้ว่าถ้าเอาไปสร้างเป็นหนังแล้วเราจะตีความกับมันยังไงได้มั่งเนาะ
เพราะชาติเราก็ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมใครเขา (เอ ... หรือว่าจริงๆเราก็กำลังตกเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรมชาติต่างๆเหล่านั้นเค้าอยู่หว่า)



โดย: LunarLilies* วันที่: 13 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:24:27 น.  

 
บทความนี้อ่านได้ประโยชน์โลดดด
วันก่อนก็มีพี่คนนึงได้ดู heading south
แกก็มาแนะนำ

มาอ่านบทความพี่เอ้ ความอยากดูทวีคูณขึ้น

แนวคิดหลังอาณานิคมนี่น่าสนใจมากเลยพี่

เคยดู the sheltering sky ของ Bernardo Bertolucci ที่ 2 สามีภรรยา ไปท่องอยู่ดินแดนอัฟริกาดูแล้วงงๆ

แต่คิดว่าถ้าเอาแนวคิดหลังอาณานิคมมาจับกับหนังเรื่องนี้นี่น่าจะถูกเผงได้เยอะเลย

ป.ล.กลัวพี่ว่างเลยขอเอา 50 tag มาแปะส่งต่อ



โดย: tistoo วันที่: 13 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:45:29 น.  

 
ตามไปอ่านบทบรรยายเรื่อง Post Colonial Criticism ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมา
(วิชาการมั่กๆ เล่นเอาคิ้วขมวดเลยอ่า )
แต่โอววว...สุดยอดดดเลยนะ วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งงงซะจริงๆ
รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นกบในกะลา ที่ผ่านมาไม่เคยรู้เลยว่ากำลังถูกครอบงำ
และอะไรที่ดูเหมือนจะเท่าเทียม แต่จริงๆแล้วซ่อนแฝงไปด้วย hierarchy
โห...คิดได้งัยอ่า ยากเกินกว่าจะรู้เท่าทัน

ปล.บอสเก่งจังงง วิเคราะห์หนังแบบอ่านแล้วเข้าใจง่าย ได้ประเด็นตามกรอบของแนวคิดหลังอาณานิคมเลยทีเดียว เจ๋งจริงๆ


โดย: G IP: 203.113.76.72 วันที่: 15 พฤษภาคม 2550 เวลา:0:02:31 น.  

 
คุณป้า


โดย: renton_renton วันที่: 18 พฤษภาคม 2550 เวลา:4:26:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2550
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
13 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.