Still Life ภาพชีวิตจีนยุคใหม่ : เนือยนิ่งจมหายในสายน้ำ
Still Life ภาพชีวิตจีนยุคใหม่ เนือยนิ่งจมหายในสายน้ำพล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 25 กุมภาพันธ์ และ 4, 11, 18 มีนาคม 2550 หากจางอี้โหมวคือนักสร้างหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่โลกจับตามองด้วยความชื่นชมยกย่องตลอดทศวรรษก่อน ผู้ที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ณ เวลาปัจจุบันย่อมเป็น เจี่ยจางเคอ ความคลับคล้ายใกล้เคียงระหว่างจางอี้โหมว เจ้าของผลงานมีชื่ออย่าง Ju Dou(1990) Raise the Red Lantern(1991) และ The Road Home(1999) กับเจี่ยจางเคอ คือทั้งสองต่างผ่านการสู้รบปรบมือกับกองเซ็นเซอร์จีนมาพอสมควร โดยฝ่ายแรกเคยถูกห้ามฉายผลงานในบ้านเกิดและถูกสั่งแก้ไขบทบ่อยครั้ง ขณะที่ฝ่ายหลังเริ่มต้นทำหนังโดยไม่ได้รับการรับรองฐานะเป็นผู้กำกับฯ เพราะเลือกทำงานแบบ ใต้ดิน เพื่อเลี่ยงการเซ็นเซอร์ ความบังเอิญที่มาคล้องจองกันอีกประการหนึ่งคือ ทั้งสองต่างประสบความสำเร็จคว้ารางวัลสิงโตทอง อันเป็นรางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเวนิซ ประเทศอิตาลี ด้วยผลงานลำดับที่ 5 เหมือนกัน(นับเฉพาะหนังยาว) นั่นคือ จางอี้โหมวกับ The Story of Qiu Ju ในปี 1992 ส่วนรุ่นน้องกับผลงานเรื่อง Still Life ในปี 2006 เหตุที่ผู้เขียนอ้างอิงถึงจางอี้โหมวในการเขียนถึงเจี่ยจางเคอไม่ใช่เพียงเพราะสถานะหรือความสำเร็จซึ่งคลับคล้ายกันดังที่กล่าวมา แต่เพราะจางอี้โหมวค่อนข้างเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชมคนไทย(ผลงานล่าสุดที่ฉายในบ้านเราคือ Curse of the Golden Flower) ที่สำคัญคือ ผลงานของทั้งคู่ที่ประสบความสำเร็จอย่างนับเนื่องและเชื่อมต่อกัน เป็นเสมือนบทบันทึกอย่างดีที่สะท้อนให้เราเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของจีนซึ่งกำลังหลั่งไหลรวดเร็วไปตามกระแสโลกปัจจุบัน และไม่มีอะไรมาต้านขวางได้ จากคุณค่าของสังคมจีนดั้งเดิมหรือสังคมชนบทตั้งแต่ยุคปิดประเทศในหนังของจางอี้โหมว สู่ภาพของสังคมดั้งเดิมที่ล่มสลาย คนชนบทกลับกลายเป็นคนเมืองภายใต้วิถีชีวิตสมัยใหม่ในช่วงเวลาที่จีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกไร้พรมแดน ในหนังของเจี่ยจางเคอ ใน The World (2004) ผลงานลำดับก่อนหน้านี้ เจี่ยจางเคอใช้ฉาก เวิลด์ ปาร์ค อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จำลองสถานที่สำคัญทั่วโลกมารวมกันไว้ แล้วให้ตัวละครซึ่งล้วนแต่เดินทางมาจากต่างจังหวัดใช้ชีวิตอยู่ในนั้น เพื่อสื่อให้เห็นว่าคนจีนยุคใหม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลก แต่ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของพวกเขายังตกต่ำมาถึง Still Life หรือ Sanxia haoren หนังเรื่องล่าสุดมี เขื่อนซานเสีย ที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก และว่ากันว่าสามารถมองเห็นจากนอกโลกเป็นฉากหลังอันทรงพลัง พร้อมกับสะท้อนภาพชีวิตของคนมากมายที่ได้รับผลกระทบจากย่างก้าวสู่ความเจริญรุดหน้าในครั้งนี้ หนังพาไปยังเมืองเฟิงเจีย มณฑลเสฉวน บนฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง เมืองที่มีการอพยพโยกย้ายผู้คนจำนวนมากที่สุดเพราะเหตุน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อน ซานหมิง คนงานเหมืองถ่านหินวัยกลางคนล่องเรือมาจากซานซีบ้านเกิดเพื่อตามหาภรรยาที่หนีหายไปตั้งแต่ 16 ปีก่อน และลูกสาวที่เขาไม่เคยพบหน้า ปัญหาคือสถานที่อันเป็นที่อยู่ของภรรยาตามที่เขียนทิ้งไว้บนซองบุหรี่เก่าคร่ำ บัดนี้จมอยู่ใต้น้ำเสียแล้ว ซานหมิงสอบถามจากผู้คนที่ยังหลงเหลือ กระทั่งได้พบพี่ชายของภรรยาและได้ข้อมูลว่าเธอล่องเรืออยู่ที่อี๋ชาง อาจจะ 1-2 เดือนจึงจะกลับมา ระหว่างการรอคอยซานหมิงทำงานเป็นคนงานทุบตึกในเมืองร้างที่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมในอนาคต และเข้าพักแรมในห้องเช่ารวมราคาถูกร่วมกับคนงานคนอื่นๆ นอกจากเรื่องราวของซานหมิงแล้ว ยังมี เสินฮง นางพยาบาลผู้เดินทางมายังเมืองเหนือเขื่อนเพื่อตามหาสามีที่ห่างหายกันไป 2 ปี ดูจากสีหน้าท่าทางแล้วเหมือนว่าเธอต้องการให้เขากลับมาหาเธอ ข้อมูลที่เสินฮงมีคือเขาเคยทำงานในโรงงานในเขตเมืองเฟิงเจียที่ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว เสินฮงไปขอความช่วยเหลือจากตงหมิง เพื่อนสนิทของสามีซึ่งทำงานเป็นคนขุดหาโบราณวัตถุก่อนจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ หลังจากตระเวนหาอยู่ทั้งวัน วันรุ่งขึ้นเธอก็ได้พบสามี แต่ธุระที่เสินฮงบอกแก่เขากลับกลายเป็นว่าเธอมีคนรักใหม่และต้องการหย่า ณ เขื่อนยักษ์อันเป็นฉากหลัง ในดินแดนที่กำลังสูญสลายและเกิดใหม่ ชายคนหนึ่งมาที่นี่เพื่อตามหาและขอคืนครอบครัวของตนเอง ขณะที่หญิงสาวเดินทางมาเพราะต้องการยุติชีวิตคู่เพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่ หนังของเจี่ยจางเคอไม่ได้เดินตามขนบแบบงานของจางอี้โหมว ไม่มีเค้าโครงให้จับต้องได้มากนัก ขณะที่เนื้อหาเรื่องราวก็เหมือนปล่อยให้คืบเคลื่อนอย่างเชื่องช้าโดยให้ผู้ชมเฝ้าติดตามกันเอง ด้วยภาพเล่าเรื่องจำนวนมาก เน้นการสื่อความหมายและอารมณ์ความรู้สึก กับบทสนทนาซึ่งมีไม่มากนัก ผลคือหนังของเขาไม่ใช่งานที่เดินเข้าหาผู้ชม แต่เป็นงานที่คอยเรียกร้องให้ผู้ชมเข้าหา อย่างไรก็ตาม สำหรับ Still Life ถือว่าเจี่ยจางเคอตะล่อมงานของเขาให้กระชับมากขึ้น เป็นกันเองมากขึ้น ฉากปล่อยยาวหรือ long take แทบจะไม่มีให้เห็น จนหนังมีความยาวประมาณชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ต่างจาก The World ซึ่งยาวถึง 140 นาที เมื่อได้การถ่ายภาพมีมิติงดงามอันเป็นจุดเด่นของเจี่ยจางเคอ การนำเสนอความขัดแย้งแตกต่างด้วยอารมณ์ยั่วล้อ แล้วยังภาพแฟนตาซีเกินจริงที่ใส่แทรกมาให้ตื่นตะลึงท่ามความนิ่งงัน Still Life จึงเป็นงานที่น่าติดตามค้นหาอย่างยิ่ง แล้วหนังเรื่องนี้สื่อถึงอะไร...ถ้าจะบอกว่าสะท้อนผลกระทบของการสร้างเขื่อนยักษ์ก็น่าจะได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดและไม่ใช่ประเด็นหลัก อันที่จริงหนังกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลง การล่มสลาย และการดำรงรักษาคุณค่าบางประการในสังคมจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหนักหน่วง โดยสื่อผ่านสัญลักษณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน สายน้ำ ซากปรักหักพัง ธนบัตร ลูกกวาด ซองบุหรี่ ไปจนถึงโจวเหวินฟะ และเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ซานเสีย : สร้างเพื่อสูญเสีย ซานเสีย หรือเขื่อน 3 หุบเขา (Three Gorges Dam) เป็นเขื่อนขนาดยักษ์ที่กั้นแม่น้ำแยงซีเกียง บริเวณอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย เป็นอภิมหาโครงการที่กินเวลายาวนานนับชั่วอายุคนจากดำริริเริ่มของ ดร.ซุนยัดเซ็น ในปี 1919 เปลี่ยนผ่านผู้นำคนแล้วคนเล่า กว่าจะลงมือสร้างได้ในปี 1994 และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2009 การขวางกั้นแม่น้ำแยงซีเกียงสายใหญ่ทำให้ขนาดของเขื่อนกินอาณาบริเวณกว้าง ก่อความเปลี่ยนแปลงตลอดลำน้ำทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนซึ่งมีจุดสิ้นสุดที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ของแม่น้ำแยงซีเกียงที่พาดขวางตอนกลางของประเทศ เขื่อนยักษ์แห่งนี้จึงราวกับเป็นศูนย์กลางที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วผืนน้ำ คาดกันว่าผู้คนกว่า 1.9 ล้านคนต้องย้ายถิ่นฐานเพราะบ้านเก่าเมืองเกิดจมอยู่ใต้น้ำ โรงงานจำนวนมากปิดตัวลงกลายเป็นปัญหาสังคมจากภาวะว่างงาน การทุจริตของเจ้าหน้าที่ผุดให้เห็นพร้อมกับน้ำที่บ่าท่วม นักเลงอันธพาลระบาดจากกลุ่มผู้รับเหมาที่ต้องการเร่งงาน(เช่น การไล่รื้อ) ให้ทันกำหนด สถานที่ทางประวัติศาสตร์-โบราณวัตถุอายุกว่า 4,000 ปี ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ทั้งหมดนี้ถูกสะท้อนออกมาในหนังเรื่อง Still Life นอกจากฉากหลังของหนังคือเมืองเฟิงเจีย มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นเมืองที่มีสัดส่วนผู้อพยพโยกย้ายเพราะน้ำท่วมหลังสร้างเขื่อนสูงที่สุด และหนึ่งในนั้นคือภรรยาของซานหมิงแล้ว เจี่ยจางเคอไม่ได้นำเสนอผลกระทบด้านลบของการสร้างเขื่อนโดยเน้นย้ำหรือหยิบยกมาเป็นเหตุการณ์ที่มีผลต่อเรื่องราว แต่จัดวางไว้เป็นองค์ประกอบของฉาก เป็นภาพผ่านของตัวละคร เหมือนเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และพบเห็นได้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมจะสังเกตและคิดตามได้มากน้อยเพียงใด เช่น ช่วงท้ายของฉากที่ซานหมิงเดินทางมาถึงจุดที่เคยเป็นหมู่บ้านของภรรยา ก่อนที่ภาพจะตัดไปสู่ฉากต่อไป จู่ๆ คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ชี้ให้ซานหมิงดูจุดที่เรือเฟอร์รี่จอดอยู่แล้วบอกว่าเคยเป็นบ้านของตน ภาพต่อเนื่องในฉากถัดจากนี้คือการมีปากเสียงกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นเพียงองค์ประกอบของฉากสำนักงานจัดหาที่อยู่ใหม่ที่ซานหมิงเพิ่งเดินทางมาถึง ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่มีผลต่อเรื่องราวของหนัง องค์ประกอบของฉาก-ภาพผ่านของตัวละครที่ยกมานี้ คือภาพสะท้อนของผลกระทบด้านลบเกี่ยวกับการสูญเสียถิ่นที่อยู่ และได้รับการเยียวยาจากรัฐไม่ดีพอเพราะการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ อีกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันคือ ฉากที่เสินฮงเดินทางมาถึงโรงงานเก่าซึ่งสามีของเธอเคยทำงานอยู่ มีกลุ่มคนกำลังทะเลาะกับผู้จัดการโรงงานที่เบี้ยวจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เสียแขน ไม่นานจากนั้นเสินฮงได้พบกับเด็กสาววัย 16 ปี ที่มาของานทำ สารที่สื่อผ่านในส่วนนี้คือปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตและการว่างงานนั่นเอง องค์ประกอบของฉากและภาพผ่านของตัวละครลักษณะนี้ยังมีให้เห็นอีกหลายครั้งตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสาวใหญ่ที่ซานหมิงสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับภรรยา หนังบอกเป็นนัยว่าเธอขายตัว หรือ หน่า เด็กหนุ่มเพื่อนสนิทของซานหมิงกับพรรคพวกได้รับการว่าจ้างจาก ลูกพี่ปิน ให้ไปทำร้ายใครบางคน ซึ่งลูกพี่ปินก็คือสามีของเสินฮงที่เป็นหัวหน้าควบคุมการไล่รื้อทุบตึก ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่าผู้รับเหมาที่นี่ใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้าน ขณะที่สาวใหญ่ที่ขายตัวก็เป็นภรรยาของลูกจ้างโรงงานที่เสียแขนและไม่ได้รับชดเชย จึงเป็นไปได้ว่าเธอเลือกอาชีพนี้หลังจากสามีขาดรายได้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการทิ้งร่องรอยให้ผู้ชมสังเกตคิดตามของเจี่ยจางเคอ เผยให้เห็นผลกระทบด้านลบของการสร้างเขื่อนซึ่งมีมากมายและพบเห็นได้ทั่วไป กระทั่งเขื่อนยักษ์ที่ทางการหวังจะใช้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าและป้องกันอุทกภัยมีฐานะไม่ต่างจากเขื่อนผลิตปัญหาดีๆ นี่เอง16 ปี แห่งความหลัง ตัวเลข 16 ปี ถูกซานหมิงเอ่ยถึงบ่อยครั้ง...ความหมายเบื้องต้นของ 16 ปี คือระยะเวลาที่เขาพลัดพรากจากภรรยา บทสนทนาระหว่างซานหมิงกับหน่าบอกให้รู้ว่าซานหมิงซื้อตัวภรรยาผ่านนายหน้าในราคา 3,000 หยวน แต่ระหว่างที่ตั้งครรภ์เธอร้องจะกลับบ้าน เมื่อเรื่องไปถึงตำรวจซานหมิงจึงต้องปล่อยเธอกลับ ตัวเลข 16 ลำดับต่อมา...ที่อยู่ของภรรยาที่ซานหมิงใช้เป็นเข็มทิศนำทางจนมาถึงเฟิงเจียถูกเขียนไว้บนซองบุหรี่ยี่ห้อ มะม่วง ซึ่งซานหมิงพูดอวดให้หน่าฟังว่าเป็นยี่ห้อบุหรี่ที่ดีที่สุดเมื่อ 16 ปีก่อน ในฉากที่ซานหมิงพูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนคนงานที่อาศัยอยู่ร่วมห้อง เพื่อนถามว่าตอนล่องเรือจากซานซีสู่เฟิงเจียเห็นหุบเขาขนาบน้ำซึ่งเป็นหุบแรกจาก 3 หุบ หรือไม่ พร้อมกับหยิบธนบัตร 10 หยวน ที่ด้านหลังมีรูปหุบเขาดังกล่าวให้ซานหมิงดู ซานหมิงเห็นแล้วจึงล้วงธนบัตรมาอวดเพื่อนบ้าง โดยกล่าวโฆษณาว่าเป็นรูปน้ำตกที่แม่น้ำหวงเหอติดกับซานซีบ้านเกิดของเขา หากเปิดดูทำเนียบธนบัตรของจีนจะพบว่าธนบัตร 10 หยวน ที่มีรูปหุบเขาแห่งแยงซีเกียงนั้นเป็นธนบัตรแบบ 5 เริ่มใช้เมื่อปี 1999 จนถึงปัจจุบัน ส่วนธนบัตรรูปน้ำตกแห่งหวงเหอของซานหมิงเป็นธนบัตรแบบ 4 ราคา 50 หยวน เริ่มใช้ปี 1992 แต่จัดอยู่ในรุ่นที่ 2 ของแบบ 4 ที่ออกมาในปี 1990 หรือ 16 ปีก่อนนั่นเอง(นับจากเวลาท้องเรื่องคือปี 2006) ตัวเลข 16 ปี จึงมีความหมายมากสำหรับซานหมิง เพราะเป็นอดีตที่หอมหวาน มีความดีงาม ความภาคภูมิใจ ไม่แปลกที่เขาจะดูแปลกแยกและเข้าไม่ได้กับโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ 16 ปีก่อนยังเป็นปีสุดท้ายของชีวิตครอบครัวซึ่งเขากำลังพยายามหาทางสานต่อ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลข 16 ปี ดูอีกที จะพบว่านั่นเป็นปีแรกหลังการประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 เป็นผลให้สถานการณ์การประท้วงการสร้างเขื่อนซานเสียอ่อนแรงลงไปเมื่อแกนนำถูกจับกุมและจับตาอย่างใกล้ชิด จากวันนั้นจนถึงวันนี้เขื่อนใกล้สร้างแล้วเสร็จ ทอดวางขวางกั้นลำน้ำสายกว้าง แต่สิ่งที่โถมทะลักเข้าใส่ผู้คนคือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของจีนในโลกยุคใหม่ คือความเปลี่ยนแปลงที่ทำลายคุณค่าบางประการ หากแต่ตัวละครอย่างซานหมิงพยายามรื้อฟื้นเพื่อรักษาเอาไว้...แม้ไม่อาจรู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่าความเปลี่ยนแปลงไม่คืนกลับ ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของจีนระบุว่า เครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของคนจีน ประกอบด้วยสิ่งของ 7 ประการ ได้แก่ เชื้อเพลิง ข้าว น้ำมัน เกลือ ซีอิ๊ว น้ำส้ม และชา แต่ในระหว่างที่หนังดำเนินอยู่ มี 4 ครั้งที่มีตัวหนังสือเล็กๆ ปรากฏขึ้นที่มุมภาพ เขียนเป็นคำตรงกับสิ่งของที่เห็นในหนังขณะนั้นว่า บุหรี่ เหล้า ชา และ ลูกอม บุหรี่คือสิ่งที่ซานหมิงใช้แสดงน้ำใจต่อผู้อื่น เหล้าคือของฝากที่ซานหมิงมอบให้แก่พี่ชายของภรรยา ส่วนลูกอม...หน่าเพื่อนรุ่นน้องและภรรยาต่างยื่นให้ซานหมิงกิน ขณะที่ชานั้นต่างออกไป ไม่มีใครหยิบยื่นให้ใคร แต่เป็นหนึ่งในสัมภาระที่สามีของเสินฮงทิ้งไว้ในล็อคเกอร์ที่โรงงานร้างซึ่งเขาเคยทำงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนจะย้ายไปทำงานเป็นหัวหน้าคุมงานทุบตึก จากบทบาทของสิ่งของ 4 อย่างนี้ กล่าวได้ว่า บุหรี่ เหล้า และลูกอม มีสถานะเหมือนเป็นเครื่องบริโภคที่อยู่ในชีวิตประจำวันของตัวละคร ทั้งที่ไม่ได้เป็นของจำเป็นดั้งเดิม 7 ประการที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่ชาซึ่งเป็นของจำเป็นเพียงอย่างเดียวที่ได้ปรากฏในเรื่องราวกลับถูกทิ้งขว้างหลงลืม เมื่อนำสิ่งของเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับตัวละครจะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น โดยบุหรี่ เหล้า และลูกอม ซึ่งเข้ามาแทนที่ คุณค่าดั้งเดิม ได้หมุนเวียนอยู่ในชีวิตของตัวละครที่เป็น เหยื่อ ของความเปลี่ยนแปลง หรือถูก ดูดกลืน ในกระแสปัจจุบัน ส่วนชา...หนึ่งใน คุณค่าดั้งเดิม กลายเป็นสิ่งของที่ตัวละครซึ่ง ไหลตามน้ำ หรือ สบประโยชน์ จากความเปลี่ยนแปลง มองไม่เห็นคุณค่าอีก ยังมี คุณค่าดั้งเดิม ที่ต้องสูญสลายไปอีกอย่างหนึ่งคือ แหล่งประวัติศาสตร์-โบราณวัตถุอายุนับพันปี ตลอดระยะทาง 600 กิโลเมตร แม้ส่วนหนึ่งจะถูกเคลื่อนย้ายไปได้ แต่มีอีกมากมายที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ โดยหนังให้ภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่ตัวละคร ตงหมิง เพื่อนสนิทของสามีเสินฮง ซึ่งกำลังเร่งงานขุดหาโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ฮั่นก่อนสายน้ำจะกลบกลืนไปตลอดกาล เห็นได้ว่า คุณค่าดั้งเดิม ซึ่งหนังยกมาอ้างถึงล้วนแต่มีเรื่องราวความเป็นมายาวนาน แต่บัดนี้ได้ถูกความเปลี่ยนแปลงลบทำลายคุณค่าลง โดยสิ่งที่เป็นต้นเหตุหรือมาแทนที่นั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน อย่างหนึ่งที่เห็นเด่นชัดคือ เขื่อนซานเสีย ที่เดินหน้าเต็มตัวหลังจากการปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ขณะที่สิ่งของ 3 อย่าง คือ บุหรี่ เหล้า และลูกอม หนังได้ระบุย้ำไปที่ ลูกอม ถึง 2 ครั้งจากคำพูดของตัวละครว่าเป็นยี่ห้อ กระต่ายขาว (White Rabbit Brand)ลูกอมยี่ห้อนี้มีแหล่งผลิตที่เซี่ยงไฮ้ เป็นสินค้าส่งออกไปหลายประเทศ มีความเป็นมาพร้อมๆ กับการขึ้นปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949 และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองในหลายเหตุการณ์ เช่น เป็นของชำร่วยในวันชาติปีที่ 10 เมื่อ ค.ศ.1959 และเป็นของกำนัลที่ โจว เอิน ไหล มอบให้แด่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งมาเยือนจีนในปี 1972 เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับฉากเรือท่องเที่ยวที่บรรยายความเป็นมาอันน่าภาคภูมิใจของเขื่อนซานเสียว่าเป็นเป้าหมายของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาหลายสมัย รวมทั้งภาพเหมา เจ๋อ ตุง บนธนบัตรที่ด้านหลังเป็นรูปเขาขนาบน้ำแห่งแยงซีเกียงอันเป็นบริเวณที่มีการสร้างเขื่อน การวิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงของจีนยุคใหม่ที่หนังสื่อออกมาจึงอาจมองได้ว่ากำลังวิพากษ์ผู้นำหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปด้วย แต่ถึงกระนั้น การวิพากษ์ในครั้งนี้ก็ทำได้อย่างแนบเนียนเสียจนไม่มีปัญหาเรื่องโดนเซ็นเซอร์'ทำลาย-รักษา' ภารกิจคู่ขนาน ตัวละครซานหมิงเดินทางมายังเมืองเฟิงเจียเพื่อตามหาภรรยาหลังจากแยกจากกันเมื่อ 16 ปีก่อน เขาต้องการพบหน้าลูกที่เขาไม่เคยพบ ต้องการสร้างครอบครัวขึ้นอีกครั้ง ขณะที่หญิงสาวอย่างเสินฮงเดินทางมาที่นี่เพื่อตามหาสามีที่ขาดการติดต่อเป็นเวลา 2 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อบอกเลิกและขอหย่า นี่จึงเป็นเรื่องราวอันแตกต่างว่าด้วยการ รักษา และ ทำลาย ที่ดำเนินคู่ขนานในหนัง การที่หนังให้ซานหมิงประทับใจหรือรู้คุณค่าในบางสิ่งบางอย่าง เช่น บุหรี่ และธนบัตร(กล่าวถึงในตอนที่แล้ว) โดยมีระยะเวลาย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน ตรงกับช่วงเวลาที่ชีวิตครอบครัวมาถึงจุดสิ้นสุด และเป็น 16 ปีก่อนที่แนบชิดกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน อันนำไปสู่การเดินเครื่องสร้างเขื่อนซานเสียโดยไร้อุปสรรคจากการประท้วงขัดขวาง ความพยายามในการตามหาเพื่อรักษาคุณค่า(ในที่นี้คือครอบครัว) ที่สูญหายไปในกระแสความเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางซากปรักหักพังของเมืองที่กำลังจมน้ำ โดยที่ตัวซานหมิงเองยังต้องทำงานชั่วคราวเป็นคน ทำลาย ตึก จึงเป็นภาพความแตกต่างว่าด้วยการ รักษา และ ทำลาย ที่ตัวละครต้องพบกับความยากลำบาก แต่ก็เห็นความหวังอยู่ปลายทาง สำหรับเสินฮงที่ต้องการ ยุติ หรือ ทำลาย ชีวิตคู่ ฉากหลังของเรื่องราวนี้กลับมีความหมายตรงกันข้าม เพราะส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างของเมืองใหม่ สะพานขนาดใหญ่ประดับไฟงดงาม สถานีผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ อาชีพพยาบาลของเธอยังมีหน้าที่เยียวยา รักษา คนเจ็บป่วย ส่วนตงหมิง เพื่อนสนิทของสามีที่เธอมาขอความช่วยเหลือก็มีหน้าที่ขุดหาโบราณวัตถุเพื่อเก็บ รักษา เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 2 ปีที่สามีของเสินฮงขาดการติดต่อและเปลี่ยนงานเป็นหัวหน้าคุมงานทุบตึก เท่ากับ 2 ปีที่หนังกล่าวถึงหลายครั้งว่าเมืองเฟิงเจียเดิมได้จมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ตัวเสินฮงซึ่งมีพฤติกรรมดื่ม น้ำ ตลอดเวลายังสื่อไปได้ถึงน้ำที่หลากท่วมหลังการมาถึงของเขื่อน กระทั่งกล่าวได้ว่าผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงได้เอ่อท่วมเสินฮงจนเกินกว่าจะเลี่ยงพ้น ดังนั้น แม้สภาพแวดล้อมจะเสกสรรค์ปั้นแต่งให้สวยหรูอย่างไร สำหรับเสินฮงแล้วคุณค่าบางประการย่อมต้องสูญสิ้นลงจากผลต่อเนื่องของความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี จากภาพชีวิตของ 2 ตัวละครจึงพอกล่าวได้ว่า แก่นสารหลักของหนังเป็นการตั้งคำถามว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก เราจะรักษาคุณค่าบางประการไว้ได้หรือไม่ หรือจะปล่อยให้ถูกทำลายไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้นเงินไร้พรมแดน-โลกาภิวัตน์ สารที่เห็นได้ชัดเจนจากหนังของเจี่ย จาง เคอ ตั้งแต่ Platform(2000) Unknown Pleasures(2002) The World(2004) มาจนถึง Still Life คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจีนในโลกสมัยใหม่ การละทิ้งถิ่นที่อยู่ คนชนบทอพยพมาหางานทำในเมือง อิทธิพลของโลกตะวันตก โลกยุคไร้พรมแดน ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวจีน แต่หากกล่าวเฉพาะ The World กับ Still Life หนัง 2 เรื่องหลังสุดที่เจี่ย จาง เคอ เปลี่ยนจากการทำหนังใต้ดินหรือทำหนังโดยไม่ผ่านขั้นตอนของทางการมาทำทุกอย่างโดยถูกต้องตามระเบียบนั้น สารที่นำเสนออย่างต่อเนื่องกันคือความภาคภูมิใจของจีนที่ทำให้ตนยังเป็นเอกในโลกไร้พรมแดน มิใช่เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบที่ถูกโลกภายนอกลากจูงตามแต่ใจ(แม้สภาพความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้น) ฉากเวิลด์ปาร์คซึ่งจำลองสถานที่สำคัญทั่วโลกใน The World สามารถสื่อนัยดังกล่าวได้เด่นชัด เช่นเดียวกับเขื่อนซานเสียใน Still Life ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และมีเสียงบรรยายจากเรือท่องเที่ยวว่า เขื่อนนี้ทำให้โลกหันมามองจีนอีกครั้ง นอกจากกระแสโลกไร้พรมแดนแล้ว ทุนนิยม หรือโลกแห่งเงินตราคืออีกความเชี่ยวกรากที่เจี่ย จาง เคอ สะท้อนออกมาโดยเน้นย้ำอย่างยิ่งในหนังเรื่องล่าสุด ไล่ตั้งแต่การใช้ธนบัตรที่มีรูปหุบเขา 1 ใน 3 หุบ อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบริเวณที่มีการสร้างเขื่อน ทั้งยังเป็นที่มาของชื่อเขื่อน เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าเงินมีอำนาจเหนือกว่า และกำหนดความเป็นไปของทุกสิ่ง เช่นเดียวกับโปสเตอร์หนังที่ใช้ลวดลายของธนบัตรนี้เป็นแบ็คกราวนด์แล้วให้ตัวละครหลักอย่างซานหมิงและเสินฮงอยู่ด้านหน้า เท่ากับว่าตัวละครก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจ เงิน หรือ ทุน เช่นกัน บทบาทของเงินถูกนำเสนอตั้งแต่ฉากแรกที่ซานหมิงเดินทางมาถึงเฟิงเจีย เขาโดนลากไปนั่งดูการสาธิตเสกกระดาษให้เป็นธนบัตรดอลลาร์ ยูโร และลงท้ายที่เงินหยวน ก่อนจะโดนรีดไถค่าวิชา ฉากนี้นอกจากจะสื่อถึงอิทธิพลของเงิน ทั้งเงินหยวนและเงินสากลอย่างดอลลาร์กับยูโรแล้ว เป็นที่รู้กันว่าจีนถูกต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาโจมตีเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มาตลอด การเสกกระดาษให้เป็นธนบัตรดอลลลาร์กับยูโรจึงเป็นมุขเสียดสีตนเองอยู่กลายๆ เพราะแม้แต่เงินยังเสกได้อย่างง่ายดาย โดยให้ตัวละครที่มาไถเงินค่าวิชาจากซานหมิงพูดว่า ไม่รู้จักทรัพย์สินทางปัญญารึไง เงินปรากฏเป็นสัญลักษณ์อีกครั้งในฉากที่ หน่า ผู้คลั่งไคล้โจว เหวิน ฟะ ดูหนังเรื่อง A Better Tomorrow(โหด เลว ดี - 1986) ตัวละครที่โจว เหวิน ฟะแสดง เผาธนบัตรดอลลาร์เพื่อจุดบุหรี่ หน่าลองเลียนแบบฉากนี้บ้างแต่ก็ทำได้แค่เผาเศษกระดาษแทนธนบัตร นอกจาก A Better Tomorrow แล้ว หน่ายังใช้เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือหรือริงโทนเป็นเพลงธีมจากหนังชุด Shang Hai tan(1983) หรือ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ที่โจว เหวิน ฟะ รับบทสำคัญ และด้วยความที่อยากเป็นอย่างลูกพี่โจว ทำให้หน่าทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้และพบจุดจบที่คาดไม่ถึง บทลงท้ายของซานหมิงที่ยอมกลับบ้านไปทำงานหาเงิน 1 หมื่นหยวนมาใช้หนี้นายจ้างของภรรยา เพื่อจะพาเธอกลับไปเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าแม้เงินจะมีอิทธิพลพียงใด แต่สำหรับคนคนหนึ่ง คุณค่าบางอย่างย่อมมีความสำคัญเหนือกว่าย้อนแย้ง-เกินจริง-นิ่งงัน จุดเด่นด้านภาษาภาพของ เจี่ย จาง เคอ มี 3 ลักษณะ หนึ่งคือการเล่นกับความขัดแย้งคู่ขนาน (paradox) โดยหยิบสิ่งที่ต่างกันคนละขั้วมาไว้ในเฟรมภาพเดียวกัน สองคือภาพที่แสดงออกอย่างเกินจริงและเหนือจริง สามคือภาพนิ่งที่เปี่ยมความหมาย ความขัดแย้งคู่ขนานถูกใช้เพื่อสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์โดยตรง เช่น คู่ขัดแย้งระหว่างโลกยุคใหม่กับโลกยุคเก่า วัฒนธรรมใหม่ๆ กับวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือความร่ำรวยกับความยากจน ตัวอย่างเช่นในเรื่อง The World มีภาพระยะไกลสุดของหอไอเฟลจำลอง สักพักมีคนจรจัดหิ้วถุงขยะเดินผ่านด้านหน้าของภาพ หรือใน Still Life มีภาพคนใส่ชุดงิ้ว 3 คน นั่งก้มหน้าก้มตาเล่นเกมกด และภาพซากปรักหักพังของตึกที่โดนทุบ ทำลาย ในอาณาบริเวณของการ สร้าง เขื่อน ฉากที่เสินฮงขอหย่ากับสามีโดยมีเขื่อนซานเสียที่เพิ่งสร้างเสร็จอยู่ด้านหลัง ถือเป็นการใช้ความหมายของเรื่องราวและฉากหลังมาสร้างความขัดแย้งได้เช่นกัน สำหรับภาพเกินจริงและภาพเหนือจริงถูกใช้เพื่อสื่อความหมายคล้ายๆ กับภาพขัดแย้งคู่ขนาน เช่นใน Still Life มีอยู่ 2 ฉากที่ปรากฏเด็กชายคนเดียวกันร้องเพลงที่มีเนื้อหาบรรยายถึงความรัก(เพลงหนึ่งมีชื่อแปลเป็นไทยว่า หนูรักข้าว ของ หยาง เฉิน กัง ซึ่งวงทวินส์เคยนำมาร้องใหม่) ใช่หรือไม่ว่าเพลงรักสำหรับผู้ใหญ่โดยเด็กผู้ชายที่ร้องได้อย่างเต็มอารมณ์เป็นภาพที่ดูเกินจริง การที่เด็กคนนี้ปรากฏทั้งในตอนของซานหมิงและตอนของเสินฮง สองตัวละครที่กำลังตามหาคนรักเหมือนกันแต่ต่างวัตถุประสงค์ จึงราวกับว่าหนังกำลังตั้งคำถามถึง ความรัก ว่ายังมีความหมายต่อผู้คนเพียงใด ส่วนภาพเหนือจริง เช่น การปรากฏของแสงคล้ายยูเอฟโอเหนือท้องฟ้า ภาพสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่(คาดว่าเป็นหอควบคุมเขื่อน) กลายเป็นยาวอวกาศพุ่งทะยานขึ้นฟ้า หรือภาพคนไต่ลวดที่ปรากฏให้ซานหมิงเห็นในฉากสุดท้าย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่สื่อถึงสภาพความแปลกแยกของตัวละครในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินกว่าจะตามได้ทัน สำหรับภาพนิ่งไม่ใช่การหยุดภาพ แต่เป็นการแช่กล้องทิ้งไว้ชั่วอึดใจหนึ่งโดยที่ผู้แสดงหรือตัวละครยืนนิ่งอยู่ ภาพที่ได้นอกจากจะมีองค์ประกอบสวยงามแล้ว ยังสื่อความหมายได้อย่างดี(ชื่อหนัง Still Life หมายถึงภาพหุ่นนิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของงานศิลปะ) ตัวอย่างเช่นภาพตัวละครลูกจ้างโรงงานที่เสียแขนยืนนิ่งอยู่กับน้องสาว มีสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วของโรงงานอยู่ด้านหลัง สังเกตว่ารูปทรงของวัตถุ(คน) กับฉากหลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คนจึงเปรียบเป็นสิ่งของ หมดสภาพ ไม่ต่างจากโรงงานที่ต้องปิดตัวเพราะการสร้างเขื่อน ภาพทั้ง 3 ลักษณะที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังมีภาพหรือฉากให้สังเกตคิดตามอีกมากมายในหนังเรื่องนี้สรุป Still Life คืองานที่ เจี่ย จาง เคอ ขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการหลอมรวมความเป็นศิลปิน นักคิด นักออกแบบ และแสดงออกมาได้ในอย่างงดงามลงตัว ที่สำคัญคืองานของเขาเปี่ยมด้วยประเด็นทางสังคม วิพากษ์อย่างคมคาย มีชั้นเชิง ไม่ฟูมฟายกับปัจเจกหรือไหลเรื่อยกับอารมณ์ความรู้สึก แม้จะยังประนีประนอมกับผู้ชมในวงกว้างได้ไม่ถึงที่สุด ด้วยกรอบการสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากกระแสหลัก แต่นี่มิใช่หรือที่ทำให้งานชิ้นนี้มีคุณค่ายิ่งนักอย่างน้อยที่สุด...หนังทำให้เรารู้จัก จีน ในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นแง่มุมที่ไม่ใช่เพียงผิวเผิน หรือเต็มไปด้วยการคาดเดาเช่นที่ผ่านมา
Create Date : 24 มิถุนายน 2550
5 comments
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 3:16:27 น.
Counter : 2885 Pageviews.
โดย: sak (psak28 ) 24 มิถุนายน 2550 14:40:26 น.
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [? ]
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................select movie / blog ....... --international-- ....... The Walking Dead I Wish I Knew 127 Hours The Expendables vs. Salt No puedo vivir sin ti Bright Star The World is Big and Salvation Lurks Around the Corner Sin Nombre Invictus Afghan Star Moon Gigante The Promotion An Education Up in the Air Snow (Snijeg) Liverpool Tahaan Lion's Den Tulpan Everlasting Moments Absurdistan Topsy-Turvy Ramchand Pakistani The Pope's Toilet Antonio's Secret พลเมืองจูหลิง Flashbacks of a Fool And When Did You Last See Your Father? The Boy in the Striped Pyjamas Gran Torino Departures Gomorra Abouna + Daratt Grace Is Gone The Road to San Diego Into the Wild Slumdog Millionaire The Silly Age The Year My Parents Went on Vacation It's Hard to Be Nice Ben X Caramel The Class Kings จาก Kolya ถึง Empties The Unknown Woman Dokuz Heima Cocalero The Blood of My Brother & Iraq in Fragments 12:08 East of Bucharest Rescue Dawn Mongol 6 : 30 Something Like Happiness To Each His Cinema The Counterfeiters ข้างหลังภาพ Lions for Lambs + Michael Clayton Father and Daughter Possible Lives กอด The Buried Forest รัก-ออกแบบไม่ได้ Lights in the Dusk The Piano Teacher Do You Remember Dolly Bell? Sisters in Law Al Otro Lado A Time for Drunken Horses Zelary Bug The Invasion The Science of Sleep Paris, I love you Still Life The Lives of Others Heading South Renaissance ABC Africa The Death of Mr. Lazarescu Maria Full of Grace The Last Communist Eli, Eli, lema sabachthani? 4 : 30 Late August, Early September The Circle The Cave of the Yellow Dog Italian for Beginners Love/Juice Your Name is Justine The Syrian Bride Dragon Head Reconstruction Eros The Scarlet Letter The Night of Truth Familia Rodante Bonjour Monsieur Shlomi Lantana Flanders Tokyo . Sora The World Whisky Buffalo Boy S21 : The Khmer Rouge Killing Machine Fire, Earth, Water C.R.A.Z.Y. All about My Mother Jasmine Women Battle in Heaven The Day I Became a Woman Man on the Train CSI : Grave Danger Innocence Life Is a Miracle Drugstore Girl Der Untergang The Bow Happily Ever After The Wayward Cloud The House of Sand Or, My Treasure Janji Joni Moolaade Vodka Lemon Angel on the Right Twentynine Palms The Taste of Tea ....... --independent-- ....... Goodbye Solo The Hurt Locker (500) Days of Summer Towelhead Kabluey Three Burials of Melquiades Estrada Titus Chuck & Buck The Woodsman Pollock Last Days The Limey Inside Deep Throat Coffee and Cigarettes Garden State My Name is Joe Sexy Beast Real Women Have Curves The Brown Bunny Before Sunset Elephant Bubble You Can Count on Me 9 Songs ....... --classic-- ....... Memories of Underdevelopment (1968) The Last Laugh The Snows of Kilimanjaro The Cabinet of Dr.Caligari Nanook of the North The Apu Trilogy ....... --หนังมีไว้ให้คิด-- ....... The Schoolgirl's Diary Long Road to Heaven The Imam and the Pastor Maquilapolis ....... --what a film!-- ....... Kabuliwala (1956) Macunaima (1969) Kozijat rog (1972) The Girl and the Echo (1964) Fruits of Passion (1981) Happy Gypsies (1967) ....... --introducing-- ....... Death Race 2000 (1975) ซอมบี้ปากีฯ+ผีดิบมาเลย์+ซูเปอร์แมนตุรกี Zinda Muoi Father and Daughter ....... --directed by-- ....... Ouran (1968) Pierwsza milosc (1974) Salome (1978) 4 หนังสั้น เคียรอสตามี recommended ....... - 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับภาพยนตร์ - เทมาเส็ก พิคเจอร์ส - Heading South - Still Life - The Apu Trilogy - The Day I Became a Woman - จาก Fire, Earth สู่ Water พญาอินทรี ศราทร @ wordpress
1 2
3 4 5 6 7 8 9
10 11 12 13 14 15 16
17 18 19 20 21 22 23
24 25 26 27 28 29 30