All about My Mother เรื่องของบาดแผล และแม่ของผม



All about My Mother
เรื่องของบาดแผล และแม่ของผม

- พล พะยาบ -

คอลัมน์ดูหนังในหนังสือ Starpics Movie Edition ฉบับที่ 523 10 เมษายน 2543


“ชีวิตที่ผ่านไปแต่ละวัน เหมือนกับการเปลี่ยนผ้าพันแผลในหัวใจ” ถ้อยคำในนิยายของ ยูกิโอะ มิชิม่า นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น แล่นเข้ามาในความคิด เมื่อได้ชม All about My Mother จบลง

คงใช่...ไม่มีใครไม่มีบาดแผล และวิธีการเยียวยาบาดแผลนั้นให้ทุเลาเบาบางลงของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป บางคนอาจหาสิ่งเบนความสนใจไปจากเรื่องร้ายๆ บางคนใช้วิธีเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตเดิมๆ เพื่อหวังกลบกลืนบาดแผล หรือกระทั่งบางคนตัดสินใจสิ้นสุดชีวิต เพราะบาดแผลนั้นเกินจะทานทน

ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด สิ่งที่คนส่วนใหญ่กระทำเพื่อการเยียวยาบาดแผลในใจคือ การถอยห่างจากความเป็นจริง หรือสร้างความจริงใหม่ขึ้นมาทดแทน เสมือนเป็นเกราะกำบังบาดแผล ใช้ชีวิตยึดอิงไขว่คว้าภาพสมมุติจนต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง

แต่สุดท้าย บาดแผลนั้นก็มิอาจจางหายไปจากใจได้ นอกจากทุเลาลงกลายเป็นแผลเป็น และพร้อมเสมอที่จะสะกิดให้เกิดความเจ็บปวดในบางครั้งบางคราว

ดังเช่นตัวละครใน All about My Mother ที่หลงอยู่ในโลกเสมือนจริงอันฉาบฉวย ผิวเผิน ประคองความเจ็บปวดให้ผ่านไปแต่ละวัน แต่สุดท้ายทุกคนก็พบว่าการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายได้ในที่สุด

All about My Mother(1999) เป็นผลงานของ เปโดร อัลโมโดวาร์ ผู้กำกับ-เขียนบทชาวสเปน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “นักตีแผ่แรงปรารถนาเบื้องลึก” ด้วยผลงานหนัง 12 เรื่องก่อนหน้านี้ ที่ได้นำเสนอความวิปริตแปรปรวนทางเพศ จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะในหนังของเขา และส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากผู้ชมเฉพาะกลุ่ม

“เซ็กซ์” ในความหมายของอัลโมโดวาร์ไม่เคยถูกเจาะจงว่าเป็นความสัมพันธ์ลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือชายกับหญิง และไม่ได้หมายถึงเพียงกิเลสตัณหา หากแต่ “เซ็กซ์” ของอัลโมโดวาร์คือ “เครื่องมือ” ที่จะนำไปสู่จุดหมายหนึ่ง และจุดหมายนั้นก็ต่างกันไปในหนังแต่ละเรื่อง

เช่นใน Matador(1985) ตัวละครใช้เซ็กซ์เพื่อปลดเปลื้องแรงปรารถนาในความรุนแรงและความตาย Tie Me Up! Tie Me Down!(1989) เซ็กซ์เป็นดั่งคำปลอบประโลมและความเห็นใจ High Heel(1991) เซ็กซ์เป็นเครื่องพิสูจน์สุดท้ายสำหรับการเลียนแบบ Live Flesh(1997) เซ็กซ์ใช้แก้แค้น


สำหรับ All about My Mother ผลงานลำดับที่ 13 ของอัลโมโดวาร์ แม้ในส่วนเนื้อหาจะหนักหน่วงซับซ้อนตามสไตล์ของเขาไม่เปลี่ยนแปลง แต่โทนหนังค่อนข้างคลี่คลายมากขึ้น เพราะขณะที่หนังเรื่องก่อนๆ นำเสนอเหตุปัจจุบันของเซ็กซ์ All about My Mother กลับเป็นผลลัพธ์ที่ตามมาของเซ็กซ์ที่ไร้การควบคุม

ด้วยเหตุนี้ All about My Mother จึงไม่มีฉากเซ็กซ์ ความวิปริตแปรปรวนทางเพศยังมีอยู่ แต่ถูกวางไว้เป็นเพียงพื้นหลังของเนื้อเรื่อง สิ่งที่แต่งเติมลงไปคือความละเมียดละไมทางอารมณ์แทนที่ความหนักหน่วงรุนแรงซึ่งเคยทำให้ผู้ชมพิศวงหม่นหมอง จนไม่มีใครลืมลง...แม้บางคนไม่ต้องการจำ

All about My Mother เริ่มเรื่องที่ มานูเอลล่า(ซิซิเลีย ร็อธ) พยาบาลในแผนกปลูกถ่ายอวัยวะของโรงพยาบาลในมาดริดที่เลี้ยงดูลูกชาย เอสเตบาน(เอลอย อาโซริน) เพียงลำพัง แต่แล้วในวันเกิดครบรอบปีที่ 17 ของเอสเตบาน มานูเอลล่าต้องสูญเสียลูกชายไปเพราะอุบัติเหตุ ขณะที่เขาวิ่งตามไปขอลายเซ็นของฮิวม่า(มาริสา ปาเรดีส) นักแสดงสาวใหญ่

มานูเอลล่าตัดสินใจเดินทางไปบาร์เซโลน่า เมืองที่เธอจากมาพร้อมลูกในท้องเมื่อ 18 ปีก่อน เพื่อบอกข่าวแก่พ่อของเอสเตบานที่ไม่เคยรู้ว่าตนเองมีลูก(เอสเตบานก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นพ่อ) ที่สำคัญเขากลายเป็นลอล่า(โทนี่ แคนโต้) และไม่ใช่ผู้ชายเต็มตัวมานานแล้ว

ลอล่าไม่อยู่ในบาร์เซโลน่า แต่มานูเอลล่าได้พบอากราโด้(แอนโตเนีย ซานฮวน) กะเทยโสเภณีซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ได้ช่วยเหลือโรซ่า(เพเนโลปี ครูซ) แม่ชีผู้ตั้งท้องกับลอล่า และติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งไม่สามารถเข้ากับแม่ที่มีจิตใจคับแคบได้(โรซ่า มาเรีย ซาร์ดา)

นอกจากนี้ มานูเอลล่ายังได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของฮิวม่า ผู้เป็นต้นเหตุให้เอสเตบานเสียชีวิต ที่มาแสดงละครเรื่อง A Streetcar Named Desire ในบาร์เซโลน่า โดยมี นีน่า(แคนเดล่า พีน่า) นักแสดงสาวติดยา คู่ขาของฮิวม่าคอยสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อน

อัลโมโดวาร์สร้างตัวละครหลากหลายบุคลิกเหล่านี้มาโยงใยถึงกันโดยมีมานูเอลล่าเป็นศูนย์กลาง นอกจากความสัมพันธ์อันซับซ้อนของตัวละครแล้ว อัลโมโดวาร์ดูจะสนุกสนานกับการเติมรายละเอียดลงไปมากมาย ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่ช่วยเสริมให้เห็นว่าตัวละครกำลังหลงอยู่ในโลกเสมือนจริงที่ตนเองยึดติด จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งในส่วนของรายละเอียดเองก็สามารถเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน โดยน่าจะเป็นความตั้งใจของอัลโมโดวาร์


All about Eve : มานูเอลล่า-เอสเตบาน

มานูเอลล่าเป็นหญิงสาวที่ทุ่มเทเลี้ยงดูเอสเตบานโดยไม่ปริปากบอกความจริงเกี่ยวกับพ่อของเขาเลย นับตั้งแต่ 18 ปีที่แล้วที่เธออุ้มท้องพาลูกน้อยจากบาร์เซโลน่าสู่มาดริด

แน่นอน...มานูเอลล่าย่อมมีบาดแผลที่เกิดจากพ่อของเอสเตบาน วิธีที่เธอใช้เยียวยาบาดแผลคือการหนีห่างจากสภาพชีวิตเดิมๆ สู่สถานที่ใหม่เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

ในคืนก่อนวันเกิดครบรอบปีที่ 17 ของเอสเตบาน เขาและมานูเอลล่าดูหนังเรื่อง All about Eve ด้วยกัน เอสเตบานสังเกตชื่อหนังที่แปลเป็นภาษาสเปน เขาบอกมานูเอลล่าว่า All about Eve ในภาษาสเปนที่ถูกต้องควรจะเป็นอีกคำหนึ่ง แต่มานูเอลล่ากลับบอกว่าไม่ว่าคำไหนก็เข้าใจเหมือนกัน

นี่คือความต่างเบื้องต้นที่เรารับรู้ระหว่างแม่-ลูกคู่นี้ ขณะที่เอสเตบานต้องการได้ข้อเท็จจริง มานูเอลล่ากลับเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่สิ่งจำเป็น ถ้าสิ่งที่มา “ทับซ้อน” พอ “ทดแทน” กันได้ ก็ไม่น่ามีปัญหา

ดังเช่น อีฟ แฮร์ริ่งตัน ที่สามารถก้าวขึ้นมา “ทดแทน” ความสำเร็จของ มาร์โก้ แชนนิ่ง ใน All about Eve


ทรูแมน คาโพที : พ่อ-เอสเตบาน

มานูเอลล่าให้เอสเตบานดูรูปถ่ายในอดีตเมื่อครั้งอยู่ในคณะละครสมัครเล่น รูปถ่ายนั้นถูกฉีกหายไปครึ่งหนึ่ง นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดในบาดแผลให้เอสเตบาน เป็นบาดแผลอันเกิดจากฐานะของลูกที่ไม่รู้จักพ่อ ซึ่งเพียงแต่ถูกเยียวยาด้วยความรักอันทุ่มเทของมานูเอลล่าที่เฝ้าเพียรหาสิ่ง “ทดแทน” ส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตของลูก เช่น การมอบ Music for Chameleons หนังสือของ ทรูแมน คาโพที นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นของขวัญวันเกิดแก่เอสเตบาน

คาโพทีเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักเขียนชายผู้มีบุคลิกคล้ายผู้หญิง เป็นพวก “ลักเพศ” เช่นเดียวกับพ่อของเอสเตบานที่มานูเอลล่ารู้อยู่แก่ใจ(แต่เอสเตบานไม่รู้) นอกจากนั้น คาโพทีในวัยเด็กก็อยู่กับแม่ตามลำพัง และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนเหมือนเอสเตบาน

เอสเตบานขอให้มานูเอลล่าอ่านบทนำของหนังสือเล่มนี้ให้ฟัง เมื่อเธออ่านไปถึงประโยคที่ว่า “เมื่อพระเจ้ามอบของขวัญให้เธอ ท่านได้เฆี่ยนเธอด้วยแส้ไปพร้อมกัน” เธอหยุดอ่าน

ความพยายามหาสิ่งทดแทนให้เอสเตบานกลายเป็นการสะกิดบาดแผลในใจของมานูเอลล่าเอง เพราะประโยคดังกล่าวทำให้เธอเห็นว่าชีวิตจริงของเธอเป็นเช่นนั้น

มานูเอลล่าได้รับของขวัญชิ้นพิเศษคือเอสเตบาน แต่กลับต้องเจ็บปวดเพราะบาดแผลที่พ่อของเอสเตบานฝากไว้ชั่วชีวิต


A Streetcar Named Desire : มานูเอลล่า-เอสเตบาน-พ่อ-ฮิวม่า

วันรุ่งขึ้น เอสเตบานไปดูมานูเอลล่าแสดงเป็นภรรยาผู้สูญเสียสามีและเหลือเพียงลูกชาย ในสถานการณ์สมมุติประกอบการสัมมนาเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ จากนั้น ทั้งสองไปดูละครเวทีเรื่อง A Streetcar Named Desire

ขณะที่เอสเตบานยืนคอยฮิวม่า นักแสดงสาวใหญ่ผู้รับบท บลานช์ ดูบัวส์ เพื่อขอลายเซ็น เขาได้ทราบว่าแม่เคยแสดงเป็นสเตลล่า น้องสาวของดูบัวส์ในละครเรื่องดังกล่าวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยมีพ่อของเขาแสดงเป็นสแตนลีย์ โควาลสกี้ เอสเตบานขอให้แม่เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับพ่อให้เขาฟัง มานูเอลล่ารับปากว่าจะเล่าให้ฟังเมื่อกลับไปถึงบ้าน

แต่เอสเตบานไม่มีโอกาสได้รับรู้ เพราะเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะวิ่งตามไปขอลายเซ็นฮิวม่า เรื่องราวของพ่อและแม่ซึ่งควรถูกร้อยเรียงเป็นหนังสือเพื่อส่งแข่งขันชิงรางวัลตามความตั้งใจของเอสเตบานจึงไม่มีวันได้เกิดขึ้น

เมื่อนำละครเรื่อง A Streetcar Named Desire มา “ซ้อนทับ” กับชีวิตจริง, ดูบัวส์(ฮิวม่า) จึงกลายเป็นผู้สร้างบาดแผลให้มานูเอลล่าเป็นครั้งที่สอง เพราะดูบัวส์คือตัวแปรสำคัญทำให้สเตลล่า(มานูเอลล่า) ต้องอุ้มลูกน้อยหนีโควาลสกี้ เฉกเช่นในชีวิตจริงเมื่อ 18 ปีที่แล้วที่มานูเอลล่าอุ้มท้องพาลูกน้อยหนีจากบาร์เซโลน่าสู่มาดริด


ความจริงแท้-ความจริงประดิษฐ์
จากตาม “หัวใจ” สู่บาร์เซโลน่า


เฉพาะฉากแรกในมาดริด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนที่เอสเตบานตาย เราจะได้เห็นถึงความจริงแท้กับความจริงประดิษฐ์ที่ถูกลากมาให้ “ซ้อนทับ” กันอยู่

เช่น คาโพทีเป็นพวกลักเพศเหมือนพ่อของเอสเตบาน, คาโพทีในวัยเด็กอยู่กับแม่เพียงลำพังเหมือนมานูเอลล่าและเอสเตบาน, มานูเอลล่าพาลูกน้อยหนีสามีเหมือนตัวละครใน A Streetcar Named Desire รวมทั้งภาพสถานการณ์สมมุติในการสัมมนายังคล้ายกับเรื่องจริงที่มานูเอลล่าสูญเสีย(ตัดขาด) สามี เหลือเพียงลูกชาย

สำหรับมานูเอลล่า เธอตกอยู่ระหว่างความจริงแท้กับความจริงประดิษฐ์ที่เธอดึงมา “ซ้อนทับ” ความจริงนั้น ซึ่งนอกจากไม่อาจ “ทดแทน” กันได้แล้ว ยิ่งเธออยู่ในโลกแห่งความจริงประดิษฐ์หรือความจริงที่ถูกสร้างขึ้นทดแทนมากเท่าไร เธอกลับยิ่งเจ็บปวดเพิ่มขึ้นเท่านั้น

กระทั่ง มานูเอลล่าได้อ่านบันทึกหน้าสุดท้ายของเอสเตบาน ที่เขียนไว้ว่า “ชีวิตของเขาหายไปครึ่งหนึ่ง เหมือนรูปถ่ายในอดีตของแม่” มานูเอลล่าจึงตัดสินใจเดินทางไปบาร์เซโลน่า เมืองที่เธอจากมาตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว เพื่อตามหาและบอกข่าวแก่พ่อของเอสเตบาน

โดยก่อนหน้านั้น มานูเอลล่าตามไปดู “หัวใจ” ของลูกชายว่าไปอยู่ในร่างของใคร หลังจากที่เธอยินยอมมอบอวัยวะของเอสเตบานให้โรงพยาบาล

ทั้งการเดินทางกลับไปบาร์เซโลน่าและการตามไปดูหัวใจของเอสเตบาน เป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้ากับความจริงที่แสนเจ็บปวด มานูเอลล่าค่อยๆ ปลดเปลื้องสิ่งที่เธอสร้างขึ้นมาปกปิดบาดแผล

ที่บาร์เซโลน่า นอกจากเธอต้องรักษาบาดแผลของตนเองแล้ว เธอกลับต้องกลายเป็นผู้ช่วยปลดเปลื้องเกราะกำบังบาดแผลให้ใครต่อใครด้วย


A Streetcar Named Desire-All about Eve : ฮิวม่า-นีน่า-มานูเอลล่า

ฮิวม่า นักแสดงสาวใหญ่ในคณะละคร มีท่าทีเย่อหยิ่ง สร้างภาพลักษณ์สูงส่งอยู่เสมอ ทั้งที่ชีวิตจริงนั้นแสนเจ็บปวด เรียกได้ว่าบุคลิกของฮิวม่าถอดแบบมาจาก บลานช์ ดูบัวส์ ตัวละครใน A Streetcar Named Desire แม้กระทั่งบางคำพูดที่เธอใช้นอกเวทียังหยิบยืมมาจากบทพูดของดูบัวส์

นอกจากนี้ นิสัยติดบุหรี่ของฮิวม่าก็เป็นการเลียนแบบ เบ็ตตี้ เดวิส นักแสดงสาวชาวอเมริกันผู้โด่งดัง ที่แสดงใน All about Eve

การหลงอยู่ระหว่างการแสดงกับชีวิตจริงของฮิวม่า เปรียบได้กับความจริงกับความจริงเสมือนที่ถูกดึงมา “ซ้อนทับ” กันจนแยกไม่ออก จนเธอถูกมานูเอลล่าแขวะเอาว่า ในฐานะนักแสดง ฮิวม่าเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยม แต่ในฐานะคนคนหนึ่ง ฮิวม่ามีแต่ข้อผิดพลาด

เช่นเดียวกับนีน่า คู่เลสเบี้ยนของฮิวม่าที่รับบทสเตลล่าใน A Streetcar Named Desire นอกเวทีเธอติดเฮโรอีนจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้

ด้วยเหตุนี้ มานูเอลล่าจึงมีโอกาสได้แสดงเป็นสเตลล่าในค่ำคืนหนึ่ง และเหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่ามานูเอลล่าสามารถแยกแยะความจริงแท้กับความจริงประดิษฐ์ได้ เห็นได้จากการที่เธอได้รับคำชื่นชมมากมายในการแสดงครั้งนี้ แต่เธอก็ไม่ยอมแสดงอีก

นอกจากนี้ เธอยังลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยของฮิวม่า...ต่างจากอีฟที่เป็นผู้ช่วยและโดดเด่นแซงหน้ามาร์โก้ ในหนัง All about Eve


เอลซัลวาดอร์-มาร์ก ชากัล-อาร์เจนติน่า : โรซ่า-แม่โรซ่า-ลอล่า

สำหรับ โรซ่า แม่ชีผู้ตั้งท้องกับลอล่า และติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งไม่ถูกกับแม่ที่มีจิตใจคับแคบ ทีแรกโรซ่าตั้งใจหนีเรื่องเลวร้ายนี้ไปทำงานในเอลซัลวาดอร์ แต่เมื่อเธอได้รู้จักมานูเอลล่า มานูเอลล่าได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้เธอ อีกทั้งย้ำให้โรซ่ายอมรับในตัวผู้เป็นแม่ เพราะไม่ว่าแม่จะทำร้ายจิตใจอย่างไรก็ยังเป็นแม่ของเราอยู่ดี (แม่ของโรซ่าเป็นนักเลียนแบบภาพเขียนของ มาร์ก ชากัล จิตรกรชาวรัสเซียน)

บทเรียนที่มานูเอลล่าได้รับจากเอสเตบาน ทำให้เธอบอกโรซ่าให้ยอมรับความจริงเรื่องแม่ ทั้งยังย้ำให้โรซ่าเล่าทุกเรื่องราวให้ลูกฟัง เพราะรู้แล้วว่าการปิดบังจะสร้างบาดแผลให้ลูกมากแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้ ลอล่าที่หนีไปอยู่อาร์เจนติน่า เมื่อกลับมาจึงได้พบหน้าลูกที่เกิดกับโรซ่า อีกทั้งได้รู้ว่าเขา(เธอ) มีลูกชายอีกคนที่เกิดกับมานูเอลล่าเมื่อ 18 ปีก่อน

แม้ว่าลอล่าจะไม่ได้เห็นหน้าของเอสเตบาน แต่ก็ได้รู้ว่าลูกยอมรับเขา ไม่ว่าเขาจะมีสภาพเช่นไร



ชาแนล : อากราโด้

ในขณะที่ตัวละครทุกตัวที่กล่าวมาทั้งหมดใช้ชีวิตถอยห่างความเป็นจริงเพื่อปกปิดบาดแผล แต่กลับต้องได้รับความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น อากราโด้ กะเทยโสเภณีกลับเป็นตัวละครเพียงคนเดียวที่อยู่ในโลกเสมือนจริงได้อย่างไม่เจ็บปวด แม้ว่าตัวอากราโด้เองก็มีบาดแผล แต่เธอก็รู้ว่าการทำใจยอมรับจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น เหมือนกับที่เธอไม่สนใจว่าเสื้อผ้ายี่ห้อชาแนลที่เธอใช้เป็นของปลอม

อากราโด้บอกว่าจริงหรือไม่จริงนั้นอยู่ที่ใจ และยิ่งคนเราเหมือนในสิ่งที่ตนเองฝันมากเท่าไร ก็ยิ่งสร้าง “ความจริงแท้” ให้แก่ตนเองมากเท่านั้น

แก่นสารใน All about My Mother จึงมุ่งให้ทุกคนรู้จักการเผชิญหน้าและการยอมรับ ถ้าไม่อาจหนีพ้นความจริง หรือเมื่อสิ่งที่นำมา “ซ้อนทับ” ไม่สามารถ “ทดแทน” ความจริงอันเจ็บปวดได้ ก็ต้องทำใจยอมรับและเผชิญหน้าความจริงนั้นให้ได้

หรือถ้าเลือกยอมอยู่ในความจริงเสมือนที่ตนเองสร้างขึ้น ก็ต้องอยู่โดยไม่สับสนจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อจะได้ไม่เจ็บปวดเมื่อบาดแผลแห่งความจริงถูกสะกิดขึ้นมา

เหมือนที่อากราโด้ไม่แคร์ ถ้ามีใครบอกว่าเธอใส่ “ชาแนล” ปลอม


ทรูแมน คาโพที-เทนเนสซี่ วิลเลี่ยมส์
เฟรเดอริโก้ การ์เซีย ลอร์ก้า-เปโดร อัลโมโดวาร์


อัลโมโดวาร์เขียนบทตลอดจนถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง โดยให้ทุกรายละเอียดถูกเชื่อมร้อยกับเนื้อหาและแก่นเรื่องได้อย่างลงตัว ไม่ถูกอ้างถึงลอยๆ แบบไร้ความหมาย

แต่ละรายละเอียดยังสามารถโยงใยถึงกันได้อย่างน่าทึ่ง เช่น ทรูแมน คาโพที เป็นเพื่อนสนิทกับ เทนเนสซี่ วิลเลี่ยมส์ เจ้าของบทละคร A Streetcar Named Desire (ก่อนที่จะเลิกคบหากัน เพราะคาโพทีเขียนหนังสือสุดอื้อฉาว Answered Players แฉเรื่องราวความลับคนดัง รวมทั้งวิลเลี่ยมส์) คาโพทีเป็นชาวนิวออร์ลีนส์ สถานที่ซึ่งเป็นฉากในละครเรื่องนี้ อีกทั้งมีตัวละครตัวหนึ่งใน A Streetcar Named Desire เป็นโฮโมเซ็กช่วล

อีกรายละเอียดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ละครเรื่องใหม่ที่ฮิวม่าแสดงเป็นงานของ เฟรเดอริโก้ การ์เซีย ลอร์ก้า กวี-นักเขียนบทละครชาวสเปนที่ผลงานส่วนใหญ่มีผู้หญิงเป็นบทเด่น เช่นเดียวกับผลงานหลายๆ เรื่องของอัลโมโดวาร์เอง

อีกทั้งคาโพที, A Streetcar Named Desire, All about Eve, มาร์ก ชากัล รวมทั้งชาแนล (หรืออาจจะรวมเอลซัลวาดอร์และอาร์เจนติน่าที่ตัวละครใช้เป็นสถานที่หลบหนี) ล้วนมาจากนอกสเปนทั้งสิ้น ขณะที่ลอร์ก้าเป็นรายละเอียดเดียวที่มีสัญชาติสเปน และถูกหยิบยกมาอ้างถึงในยามสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว


ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย รวมถึงงานด้านโปรดักชั่นอื่นๆ ทั้งการแสดง(โดยเฉพาะซิซิเลีย ร็อธ ในบทมานูเอลล่า) การถ่ายภาพ และเพลงประกอบ ซึ่งล้วนส่งให้ All about My Mother เป็นดั่งจิ๊กซอว์ของอัลโมโดวาร์ที่ประกอบขึ้นมาได้ทั้งความสนุกสนานในการชม หรือถ้าจะซึมซับความละเมียดละไมในทางดราม่าแล้ว ต้องนับว่าไม่ผิดหวัง

และเพราะความดีงามของ All about My Mother ทำให้สามารถคว้ารางวัลจากหลายสถาบันมาได้ โดยเฉพาะที่เมืองคานส์ นอกจากจะได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมแล้ว อัลโมโดวาร์ยังคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมอีกด้วย ก่อนจะปิดท้ายด้วยออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จมากมายจากหนังเรื่องนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเสียงวิจารณ์และคำครหาในผลงานหนังเร่าร้อนหนักหน่วงแบบติดเรตเรื่องก่อนๆ ของเขา

หรืออัลโมโดวาร์จะมองเห็นวิธีเยียวยาบาดแผลให้ตนเอง!




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2549
5 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 3:52:52 น.
Counter : 5843 Pageviews.

 

ชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ

 

โดย: renton_renton 14 สิงหาคม 2549 19:17:27 น.  

 

1 หนังในดวงใจที่กำกับโดยป้านี่แหละ

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 15 สิงหาคม 2549 12:00:29 น.  

 

ชอบมากๆๆๆ

 

โดย: เช้านี้ยังมีเธอ 15 สิงหาคม 2549 16:14:28 น.  

 

เปโดร อัลโมโดวาร์

 

โดย: ด้ IP: 119.42.67.195 2 กุมภาพันธ์ 2551 17:28:49 น.  

 

บังเอิญได้ดูหนังฉบับภาษาสเปน บรรยายอังกฤษ สำหรับผมเป็นหนังที่ดูยากมากเลยครับ ไม่ค่อยรู้เรื่องเลย แต่ได้อ่านรีวิวก็ดีขึ้นนะครับ จะพยายามกลับไปดูอีกรอบ

 

โดย: มาร์ช IP: 61.19.198.35 11 เมษายน 2551 11:57:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
14 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.