จาก Fire, Earth สู่ Water ไตรภาคแห่งธาตุ ความแปลกแยกแห่งอินเดีย



จาก Fire, Earth สู่ Water
ไตรภาคแห่งธาตุ
ความแปลกแยกแห่งอินเดีย

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 14 และ 21 พฤษภาคม 2549


(1)

ดีปา เมห์ทา เป็นผู้กำกับฯหญิงเชื้อสายอินเดียชาวแคนาดา เธอเกิดที่อมริตสาในอินเดียเมื่อปี 1950 เติบโตและร่ำเรียนจนจบมหาวิทยาลัยในนิวเดลี ก่อนจะพบคู่ชีวิตชาวแคนาเดี้ยน และย้ายมายังแคนาดาในปี 1973

เริ่มต้นงานด้านภาพยนตร์ด้วยการเขียนบทหนังสำหรับเด็ก จากนั้น ขยับมาทำสารคดีทั้งเขียนบท ตัดต่อ และกำกับ กระทั่งได้ทำหนังยาวเรื่องแรก Sam&Me ในปี 1991 ว่าด้วยมิตรภาพของหนุ่มมุสลิมอินเดียอพยพกับชายสูงวัยชาวยิวในแคนาดา ซึ่งได้รับรางวัลพิเศษที่เมืองคานส์

ความสำเร็จของหนังเรื่องแรกส่งให้ดีปาได้กำกับฯเรื่อง Camilla(1994) ที่มีนักแสดงจากฮอลลีวู้ดอย่าง บริดเจ็ต ฟอนดา และเจสสิก้า แทนดี้ นำแสดง และยังถูก จอร์จ ลูคัส ชวนไปกำกับหนังชุดทางโทรทัศน์เรื่อง The Young Indiana Jones Chronicles 2 ตอน คือตอนที่เกี่ยวกับเมืองพาราณสี ในอินเดีย และกรีซ

งานไตรภาคอันโด่งดังของดีปา เมห์ทา เริ่มต้นในปี 1996 ด้วยเรื่อง Fire ซึ่งเธอเขียนบทเอง ตามติดด้วย Earth ในอีก 2 ปีต่อมา ก่อนจะเว้นวรรคทำหนังเรื่องอื่นอีก 2 เรื่อง แล้วจึงปิดท้ายไตรภาคด้วยเรื่อง Water เมื่อปีที่แล้ว

ทั้งสามเรื่องเรียกขานรวมกันว่า ไตรภาคแห่งธาตุ หรือ Elements Trilogy


ไตรภาคชุดนี้มีเรื่องราวแยกต่างหากจากกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือมีฉากหลังเป็นประเทศอินเดีย เนื้อหาว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ชนชั้นวรรณะ หรือศาสนา อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งและแตกต่างของผู้คนในสังคม นอกจากนี้ ยังมีจุดร่วมสำคัญอีกประการคือ มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิง ดีปาจึงมักจะถูกกล่าวถึงในฐานะนักสร้างหนังเฟมินิสต์ด้วย

Fire เป็นเรื่องราวร่วมสมัย ใช้ฉากในกรุงนิวเดลี เล่าถึง สิตา หญิงสาวที่ถูกจับคลุมถุงชน ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวฝ่ายชาย และมีฐานะไม่ต่างจากผู้ปรนนิบัติรับใช้สามีไปตลอดชีวิตตามธรรมเนียมของอินเดีย ที่แย่กว่านั้นคือสามีของเธอมีคู่รักอยู่แล้วและไม่เคยไยดีเธอ ขณะที่ ราดา สะใภ้อีกคนในบ้านต้องทนทุกข์กับชีวิตอับเฉามาเป็นสิบปี เพราะเธอมีลูกให้สามีไม่ได้ ส่วนสามีก็เอาแต่ปฏิบัติธรรมเพื่อขจัดกิเลส

ความเหงา ความใกล้ชิด และความเข้าใจในกันและกัน ทำให้หญิงสาวทั้งสองซึ่งไม่ได้รับการดูแลใส่ใจจากสามีหันมาปลอบโยนกันอย่างใกล้ชิดแนบแน่น จนก่อเกิดความรัก และวางแผนจะหนีไปจากบ้านอันเสมือนกรงขังนี้ด้วยกัน

ไฟตามชื่อหนังหมายถึง กิเลส ความปรารถนา และยังหมายถึงพลังแห่งความรัก หนังใช้เรื่องรามเกียรติ์ ตอนสีดาลุยไฟ อันกล่าวถึงพระรามที่สงสัยในความบริสุทธิ์ของนางสีดาหลังจากพ้นมาจากทศกัณฐ์ นางสีดาจึงขอลุยไฟเพื่อพิสูจน์ตนเอง เมื่อนางเดินลงในเปลวไฟกลับมีดอกบัวผุดขึ้นรองรับทุกย่างก้าว

เรื่องราวดังกล่าวนอกจากจะใช้สื่อถึงอำนาจแห่งรักอันพิสุทธิ์แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเนื้อหาของหนัง ยังสื่อได้ถึงสถานะของเพศหญิงที่ถูกกดขี่ตีค่าโดยเพศชาย เป็นความเชื่อและค่านิยมดั้งเดิมซึ่งสะท้อนอยู่ในวรรณคดีคลาสสิกเรื่องรามเกียรติ์หรือมหากาพย์รามายณะ ที่ยังอยู่ในชีวิตประจำวันของคนอินเดียมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะในรูปแบบของละครโทรทัศน์หรือนาฏกรรมพื้นบ้าน

หนังใช้ส่าหรีสีส้ม-แดงของตัวละครสื่อถึงเปลวไฟ โดยเฉพาะยามที่มันปลิวพลิ้วลม และการถ่ายภาพ-จัดแสงโทนร้อน ราวกับว่าตัวละครหญิงถูกรายล้อมด้วยเปลวไฟทางสังคมอยู่ตลอดเวลา

เนื้อหาเรื่องราวของ Fire ที่ขัดหลักศาสนา ทั้งยังมีท่าทีต่อต้านค่านิยมเก่าแก่ของอินเดีย สร้างความโกรธแค้นแก่ชาวฮินดูหัวอนุรักษ์โดยเฉพาะผู้ชายเป็นอย่างมาก บางแห่งเกิดความรุนแรงถึงขั้นเผาโรงหนัง ในที่สุดหนังเรื่องนี้ถูกห้ามฉายในอินเดียและปากีสถาน

สำหรับเรื่อง Earth ดัดแปลงจากหนังสือนิยายกึ่งอัตชีวประวัติเรื่อง Cracking India ของ พาพสี สิทธวา(Bapsi Sidhwa) นักเขียนหญิงชาวปากีสถาน ใช้ฉากหลังเป็นเมืองลาฮอร์ ในรัฐปัญจาบ ช่วงปี 1947 ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่ออังกฤษตัดสินใจมอบเอกราชแก่อินเดีย และตั้งประเทศปากีสถานเพื่อหวังจะยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดู มุสลิม และสิกข์ ซึ่งตนเองเป็นผู้สุมเชื้อมาตลอดเวลาที่ปกครองอินเดีย


หนังเล่าผ่านมุมมองของ เลนนี่ เด็กหญิงชาวปาร์ซี(กลุ่มคนที่นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ในอนุทวีปอินเดีย) ขาพิการ ที่รับรู้เหตุการณ์จลาจลและประหัตประหารกันอย่างโหดเหี้ยมระหว่างชาวมุสลิม ฮินดู และสิกข์ ในช่วงเวลาที่รัฐปัญจาบจะถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน

ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ นั้น พี่เลี้ยงสาวชาวฮินดูของเลนนี่เกิดไปรักกับหนุ่มชาวมุสลิม ทั้งสองวางแผนหนีไปยังต่างเมือง กระนั้น ความคั่งแค้นที่รุมล้อมอยู่โดยรอบดูจะเป็นอุปสรรคที่ยากเกินกว่าความรักครั้งนี้จะหยัดยืนฝืนต้าน

ดินตามชื่อหนังหมายถึงแผ่นดินของชาวอินเดียต่างศาสนาที่อยู่ร่วมกันมาช้านาน กำลังจะถูกแบ่งแยกและลุกเป็นไฟ หนังนำเอาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาตีแผ่อย่างตรงไปตรงมา โจมตีอังกฤษที่เป็นต้นเหตุ และตำหนิเนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียในตอนนั้น ที่ลังเลและตัดสินใจทำตามแผนการของอังกฤษในที่สุด

จากความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศในสังคมครอบครัวในเรื่อง Fire ซึ่งมีสเกลเล็ก มาถึงเรื่อง Earth ดีปานำเสนอประเด็นเรื่องราวและฉากหลังกว้างขึ้นใหญ่ขึ้น โดยกล่าวถึงความแตกต่างขัดแย้งระหว่างศาสนาในสังคมอินเดีย ซึ่งเธอทำออกมาได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

เรื่องสุดท้าย Water จากบทหนังที่ดีปาเขียนขึ้นเอง ย้อนกลับไปในปี 1938 ที่เมืองพาราณสี ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ชุญา เด็กหญิงวัย 8 ขวบ กลายเป็นแม่หม้ายเมื่อสามีสูงวัยเสียชีวิต เธอถูกส่งตัวไปยังสถานที่เฉพาะของแม่หม้าย ต้องตัดผมสั้น ห่มขาว อยู่ภายใต้ข้อบังคับ-ข้อห้ามสารพัด และไม่สามารถกลับบ้านได้ นั่นหมายถึงชุญาต้องอยู่ที่นี่ไปตลอดชีวิต

ในคุกขังแม่หม้ายแห่งนี้ ชุญาได้รับการดูแลจากสกุณตลา หญิงวัยกลางคน มีเพื่อนชื่อ กัลยาณี สาวสวยผู้ได้รับอนุญาตให้ไว้ผมยาว ความจริงที่รับรู้ทั่วกันคือ กัลยาณีถูกมาธุมาศ หญิงชราร่างใหญ่ที่ตั้งตนเป็นผู้ปกครองสถานที่แห่งนี้บังคับให้ขายตัว

ช่วงเวลาเดียวกัน กัลยาณีพบรักกับ นารายณ์ หนุ่มนักศึกษากฎหมายฐานะดีผู้เลื่อมใสศรัทธาในตัว มหาตมะ คานธี แต่ด้วยจารีตของสังคมที่ห้ามหญิงหม้ายแต่งงานใหม่ และห้ามผู้ชายแต่งงานกับหญิงหม้าย ทำให้ความรักครั้งนี้เป็นเรื่องต้องห้ามและดูจะเป็นไปไม่ได้

คือความรักต้องห้ามภายใต้เงื่อนไขทางสังคม ไม่ต่างจากความรักใน Fire และ Earth



(2)

ความเชื่อ-วิถีชีวิตดั้งเดิมและวิถีของโลกสมัยใหม่ คือองค์ประกอบอันแตกต่างที่อยู่ร่วมกันในสังคมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หรือหลังจากได้รับเอกราช กระทั่งดำเนินไปท่ามกลางโลกเสรีมาถึงปัจจุบัน จึงถือเป็นเรื่องปกติที่จะได้เห็นความแตกต่างดังกล่าวในหนังอินเดียหรือหนังที่ใช้ฉากหลังเป็นประเทศอินเดีย

ดังนั้น หากหนังเรื่องหนึ่งมุ่งหมายจะแสดงความแตกต่างดังกล่าวออกมาในทางขัดหรือแย้ง ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก เช่นในเรื่อง Fire ที่มีทั้งมหากาพย์รามายณะ และหนังฉาวอย่าง Basic Instinct อยู่ในบ้านเดียวกัน


ความเชื่อ-วิถีชีวิตดั้งเดิมซึ่งมักจะมีกรอบเคร่งครัด เมื่อใส่ความต้องการในฐานะปัจเจกบุคคลเข้าไป กรอบดังกล่าวจะกลายสภาพเป็นกรงขังเสรีภาพทันที ในฐานะผู้ชมที่ไม่ได้อยู่ในสังคมอินเดียย่อมเอนเอียงเข้าข้างความต้องการของปัจเจกผ่านตัวละครได้ไม่ยาก แต่ชาวอินเดียส่วนหนึ่งซึ่งยังยึดถือจารีตดั้งเดิมย่อมเห็นแตกต่าง โดยมองว่าทัศนคติที่หนังนำเสนอเป็นพิษภัยและบ่อนทำลาย เช่นที่เกิดกับไตรภาคแห่งธาตุของดีปา เมห์ทา

ใน Water เรื่องราวการปฏิบัติต่อหญิงหม้ายเสมือนเป็นวรรณะต่ำต้อย มีบัญญติอยู่ในพระมนูศาสตร์อันเป็นรากของกฎหมายฮินดูในสังคมอินเดียโบราณ จนกลายมาเป็นจารีตที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เด็กหญิงจะถูกจับแต่งงานตั้งแต่ยังเล็กๆ ชาวฮินดูเชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้วชีวิตของผู้หญิงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสามี ดังนั้น เมื่อสามีเสียชีวิตไป ภรรยาจึงเสมือนไร้ตัวตนในสังคม ต้องอยู่ในบริเวณจำกัด อยู่ภายใต้ข้อบังคับ-ข้อห้ามราวกับคนผิดบาป ถูกรังเกียจจากผู้คน

หนังแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในปี 1938 ภายใต้การปกครองของชาวตะวันตก หญิงหม้ายยังต้องอยู่ภายใต้จารีตและความเชื่อดั้งเดิม โดยไม่ได้ล่วงรู้เลยว่าไม่มีกฎหมายลงโทษหากพวกเธอฝ่าฝืน นอกเสียจากกฎทางสังคมที่ขึงกรอบไว้อย่างแน่นหนา

นอกจากนี้ หนังยังสรุปผ่านคำพูดของตัวละครชื่อนารายณ์ ซึ่งเป็นนักศึกษากฎหมายและศรัทธาในมหาตมะ คานธี ว่า เหตุที่ผู้หญิงถูกปฏิบัติเยี่ยงคนวรรณะต่ำเพียงเพื่อให้ครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่าย

บทที่หมิ่นเหม่เช่นนี้แน่นอนว่าต้องสร้างความไม่พอใจแก่ชาวอินเดีย เช่นที่เคยเกิดกับเรื่อง Fire มาแล้ว การต่อต้านเริ่มจากถูกระงับไม่ให้ใช้สถานที่ในเมืองพาราณสีก่อนกำหนดการถ่ายทำเพียงวันเดียว ทั้งยังถูกชาวบ้านบุกเข้าไปทำลายฉากที่ทีมงานเตรียมไว้ เผาและโยนทิ้งข้าวของลงไปในแม่น้ำคงคา

ดีปา เมห์ทา พยายามประนีประนอมด้วยการแก้ไขบท แต่ปัญหาของเธอถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมือง เธอจึงยกเลิกการถ่ายทำในอินเดีย และยกกองไปถ่ายทำแบบลับๆ ในศรีลังกา ด้วยทีมนักแสดงใหม่ภายใต้ชื่อ River Moon กระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นแม้ต้องล่าช้าไปหลายปี


การที่ ดีปา เมห์ทา เป็นชาวอินเดียที่โยกย้ายตนเองไปอยู่ในดินแดนตะวันตกกว่า 30 ปี อาจจะทำให้เธอถูกมองว่าไม่ใช่คนอินเดียแล้ว รวมทั้งทัศนคติที่เธอสื่อผ่านหนังน่าจะมีอิทธิพลของโลกตะวันตกอยู่เต็มเปี่ยม กระนั้น ไตรภาคแห่งธาตุของเธอไม่ได้ถ่ายทอดผ่านมุมมองและความเข้าใจที่โปร่งเบาหรือผิดเพี้ยนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ดีปาถ่ายทอดทัศนคติของเธอที่มีต่ออินเดียได้ลึกและจับต้องได้ อย่างคนที่รู้จักอินเดียอย่างแท้จริง

นอกจาก Earth ที่สะท้อนเรื่องราวสะเทือนใจของอินเดียในช่วงได้รับเอกราชเป็นเรื่องเดียวที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์แล้ว อีก 2 เรื่องคือ Fire และ Water ดีปาเขียนบทเองทั้งสิ้น จุดที่ดีปาทำได้ดีคือ เธอเลือกหยิบ “ความเป็นอินเดีย” มาส่องสะท้อน-เปรียบเทียบอย่างได้ผลและตรงจุด เช่น นำเอามหากาพย์รามายณะตอนสีดาลุยไฟมาใช้ในเรื่อง Fire

หรือใน Water ชื่อของมหาตมะ คานธี ถูกกล่าวถึงทั้งด้วยความเลื่อมใสศรัทธาและต่อต้านคัดค้านตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องจนเป็นเสมือนตัวละครสำคัญ เมื่อคานธีปรากฏในฉากจบอันนำไปสู่ทางออกอันมีความหวังของตัวละคร ผลลัพธ์ของเรื่องราวนี้จึงมีพลัง ทั้งยังมีมิติที่ลึกและน่าเชื่อถือ

ช่วงเวลานั้น มหาตมะ คานธี ได้รับการเคารพยกย่องเลื่อมใสศรัทธาจากชาวอินเดียแล้ว และหนึ่งในอุดมการณ์ของคานธีคือเขาต้องการให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ต้องการยกเลิกระบบวรรณะ รวมทั้งยกเลิกจารีตประเพณีที่เกี่ยวกับหญิงหม้าย

คานธีจึงไม่เพียงเป็นตัวละครสำคัญ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนและตรงต่อแก่นสารของหนัง นั่นคือ การต่อต้านวิถีดั้งเดิมที่จำกัดสิทธิของสตรีอินเดีย ซึ่งหนังได้อ้างไว้ตอนท้ายว่ายังคงมีหญิงหม้ายจำนวนมากต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมายเหมือนเช่นเมื่อ 2,000 ปีก่อน

ฉากเมืองพาราณสีก็เช่นเดียวกัน เรื่องราวที่มุ่งแสดงท่าทีขัดแย้งต่อจารีตฮินดูที่ฝังรากลึก ดูจะเหมาะเจาะกับฉากหลังเมืองพาราณสีซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู ทั้งยังเป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังคงวิถีดั้งเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปร

ส่วนแม่น้ำคงคาคือสัญลักษณ์ “น้ำ” ตามชื่อหนัง เชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องหนทางของการหลุดพ้นและการเกิดใหม่ ดังที่หญิงหม้ายมุ่งหวังที่จะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแม้จะไม่ใช่ในชาตินี้ก็ตาม


นอกจากแม่น้ำคงคาแล้ว ยังมี “น้ำ” ในลักษณะต่างๆ ปรากฏในหนัง ซึ่งล้วนแต่สื่อถึง “ชีวิตใหม่” ที่ตัวละครมุ่งหวัง เช่น น้ำที่กัลยาณีเผลอสาดใส่นารายณ์ ชายผู้เป็นความหวังของเธอ หรือสายฝนที่โปรยปรายในวันที่กัลยาณีรู้แน่แก่ใจว่าตนเองมีความรัก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการถ่ายภาพ-จัดแสงโทนเย็นเหมือนสีของสายน้ำ เป็นบรรยากาศที่ครอบคลุมอยู่ในหลายๆ ฉาก

แม้ไตรภาคแห่งธาตุจะมีเรื่องราวแยกต่างหากจากกัน แต่เมื่อนำมาวางทาบเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าทั้ง 3 เรื่องมีโครงสร้างของเรื่องราวใกล้เคียงกัน กล่าวคือ การให้ตัวละครหญิงอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม ก่อนที่เงื่อนไขทางสังคมนั้นจะบีบรัดมากยิ่งขึ้นเมื่อเธอมีความรัก จากนั้นตัวละครหญิงและคนที่เธอรักจะวางแผนหนีไปให้พ้นจากสังคมนั้น

โครงสร้างที่ใกล้เคียงกันดังกล่าวทำให้ไตรภาคชุดนี้มีเอกภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากจุดร่วมตรงเนื้อหาที่ว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ชนชั้นวรรณะ หรือศาสนา อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งและแตกต่างของผู้คนในสังคม รวมทั้งมีตัวละครหลักเป็นผู้หญิง

ในฐานะงานไตรภาคของอินเดีย Elements Trilogy ของดีปา เมห์ทา อาจจะเทียบเคียงความยิ่งใหญ่กับ The Apu Trilogy ของสัตยาจิต เรย์ ไม่ได้ แต่หากเทียบกับงานไตรภาคที่ได้รับการยกย่องบนเวทีหนังโลกในปัจจุบัน ผู้เขียนถือว่าไตรภาคแห่งธาตุชุดนี้งดงามไม่เป็นรองใคร

หากจะด้อยกว่าก็ตรงกล่าวถึงประเด็นที่จำเพาะเจาะจงเกินไปเท่านั้นเอง




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2549
9 comments
Last Update : 14 ธันวาคม 2549 18:57:38 น.
Counter : 8693 Pageviews.

 



ถึงขั้นเผาโรงหนังเลยเนี่ย แสดงว่าไม่
ธรรมดาแน่ๆ

ส่วนใหญ่มักมีโอกาสได้ดูหนังอินเดียร่วมสมัยซะมากกว่าแบบ มอนซูน เวดดิ้ง หรือ เดฟดาส

อาปูเคยดูค่ะ แต่ยังดูไม่ครบไตรภาค

 

โดย: renton_renton 25 สิงหาคม 2549 7:26:05 น.  

 

คือมีเพื่อนเฟมมินิสต์ของฉัน

พูดถึงหนังเรื่องwaterให้ฟัง
แค่ฟังเธอเล่า ฉันก็อยากดูแล้วล่ะ

ก้อเพิ่งจะรู้จากนี้นี่แหละว่าเป็นไตรภาค
โอ้..ฉันอยากดูจังเลยhttps://www.bloggang.com/emo/emo3.gif
https://www.bloggang.com/emo/emo3.gif

 

โดย: น้ำใส IP: 203.156.40.210 16 ธันวาคม 2549 10:57:17 น.  

 

น่าดูมากๆครับ ทั้งสามเรื่องเลย
จะมีวาสนาได้ดูมั้ยนะผม 55+

เมื่อผมลองเทียบกับกรณี "ฮิญาบ" ของอิหร่านแล้ว ผมมองว่าระบบวรรณะและกฎเกณฑ์ที่เหมือนกับ "ขังคุก" คนคนหนึ่งไว้ตลอดชีวิตของอินเดียเหมาะจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความไม่เท่าเทียมทางเพศและสังคมมากกว่า "ฮิญาบ" ของมุสลิมมากเลย

กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านเท่าที่อ่าน(และพอรู้มาบ้างเล็กๆน้อยๆ)ก็มีแค่ผู้ชายที่ได้เปรียบ และเหล่าชุมชนคนวรรณะสูง

อาจารย์สอนพระพุทธศาสนาคนหนึ่งของผมเคยวิพากษ์การตายของมหาตมะ คานธีว่า คนยิงเป็นชาวฮินดูวรรณะศูทร ที่ไม่พอใจในความคิดอนุรักษ์นิยมของคานธี เพราะคานธีนั้นปลดปล่อยอินเดียจากอังกฤษ แต่ไม่ได้คิดจะปลดปล่อยคนอินเดียจากวรรณะทางสังคมที่กีดกันผู้คนให้ติดอยู่กับสิ่งที่ติดมาตั้งแต่เกิดโดยที่แก้ไขอะไรไม่ได้

เมื่อลองมาคิดดูทีหลังก็จริง...

อีกกรณีหนึ่งที่ผมนึกออกคือกรณีของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ที่แต่เดิมเป็นชาวฮินดูแต่อยู่ในวรรณะจัณฑาล ที่โชคดีได้รับความกรุณาจากอาจารย์วรรณะสูงท่านหนึ่งช่วยเหลือจนเรียนจบเป็นดอกเตอร์ และได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวอินเดียนับถือศาสนาพุทธ (ข้อมูลตรงนี้จำไม่ได้ชัดเจนนัก แต่จำได้แค่ว่าดร.เอ็มเบ็ดการ์เคยอ้างถึงศาสนาพุทธว่าไม่มีการแบ่งแยกกัน) --- แต่ว่าใครจะโชคดีเหมือน ดร.เอ็มเบ็ดการ์ไปเสียทุกคนกัน...

สุดท้าย ก็ยังคงไม่อาจรู้ว่าภารกิจของดร.เอ็มเบ็ดการ์สำเร็จหรือเปล่า ในเมื่อสังคมอินเดียยังมีชาวฮินดูที่เคร่งครัดในระบบสังคมแบบเก่าๆอยู่มากขนาดนี้

 

โดย: nanoguy (nanoguy ) 6 มกราคม 2550 0:26:17 น.  

 

มีโอกาสได้ดูภาพยนต์เรื่อง WATER ขอแสดงความรู้สึกหน่อยนะครับ

…………บัวขาว…………
ชูก้านยาวเหนือตมที่ถมต้น
ผลิกลีบดอกปอกคราบที่สาปตน
และหลุดพ้นอย่างท้าทายกลางสายธาร

คงคาหรือชำระเจ้า
จนดอกขาวงามสะพรั่งอวดสังขาร
หรือน้ำทิพย์หลั่งรินในวิญญาณ
ช่วยชีพมารล้างบาปตราบเป็นพรหม

…………บัวขาว…………
ครั้งหนึ่งเธอคือสาวผู้ขื่นขม
กรอบวรรณะตีล้อมไม่ยอมจม
สลัดตมที่ตรึงอยู่สู่เสรี

ศาสดาธรรมชาติ
ตรัสประกาศสัจธรรมล้ำวิถี
ดอกบัวขาวตรัสรู้สู้ราคี
ล้างโลกีย์ลุมรรคผลด้วยตนเอง


ช่วยติชมหน่อยนะครับ











 

โดย: เบียร์ IP: 203.154.187.177 22 กุมภาพันธ์ 2550 12:50:43 น.  

 

ยังไม่ได้ดูเลย เรื่องนี้

 

โดย: คนขับช้า 13 สิงหาคม 2552 23:30:13 น.  

 

อยากดูเรื่องน้ำมากเลยค่ะจะหาดูได้ที่ไหนคะช่วยบอกหน่อยนะคะ ขอบคุณมากคะnotty_2028@hotmail.com

 

โดย: notty IP: 124.121.163.25 3 มกราคม 2553 19:29:31 น.  

 

ได้ดูแค่เรื่อง WATER อีกสองเรื่องแทบพลิกแผ่นดินหาแล้วครับ อยากดูมาก หาซื้อได้ที่ไหนครับ

 

โดย: ต่อ IP: 115.87.213.37 11 กรกฎาคม 2553 3:05:51 น.  

 


^
^
เรื่อง fire ผมซื้อวีซีดีของแมงป่องนานแล้ว
แต่ลองเสิร์ชคำว่า "fire ไฟปรารถนา" ในกูเกิลดูครับ จะเจอร้านออนไลน์ขายอยู่

ส่วน earth (และ water) ลองดูที่นี่ //homepage.mac.com/vanvdo/Main.htm (ติดต่อ vanvdo@mac.com)

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 11 กรกฎาคม 2553 5:55:29 น.  

 

จะดูเรื่องwaterได้จากเว็บไหนนะช่วยบอกทีค่ะ

 

โดย: อยากดู IP: 171.99.2.220 3 กรกฎาคม 2556 23:32:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.