Janji Joni อินโดนีเซีย พาราดิโซ่



Janji Joni
อินโดนีเซีย พาราดิโซ่


พล พะยาบ

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 26 มีนาคม 2549


หนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหนังมีมาให้เราดูเสมอ เมื่อต้นปีผู้กำกับฯอย่างอังเคิลก็เพิ่งล้อเลียนตนเองกับอุตสาหกรรมหนังไทยใน “วาไรตี้ผีฉลุย” แม้จะไม่เต็มปากเต็มคำนักก็ตาม

ดูที่ฝั่งอเมริกา หนังเกี่ยวกับหนังที่น่าจดจำพูดถึงมีไม่มากเท่าไรนัก ในจำนวนน้อยนี้ล้วนแต่เป็นผลงานของผู้กำกับฯที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีศักยภาพและอิทธิพลในงานของตนเอง เช่น The Player(1992) ของ โรเบิร์ต อัลต์แมน หรือ Full Frontal(2002) ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก

นอกเหนือจากนั้นมักจะเป็นงานอินดี้ของคนทำหนังหน้าใหม่ เช่น Living in Oblivion(1995) ของ ทอม ดิซิลโล และ Barton Fink(1991) เกี่ยวกับนักเขียนบทหนังของพี่น้องโจลและอีธาน โคน เมื่อครั้งยังไม่เป็นขาใหญ่อย่างทุกวันนี้

ข้ามมาทางคนทำหนังฝั่งยุโรปจะเห็นความแตกต่างชัดเจน หนังเกี่ยวกับหนังมีให้ชมไม่ขาด หลายเรื่องเป็นงานขึ้นหิ้ง ไม่ก็เป็นงานของผู้กำกับฯที่มีชื่อเสียง

อาทิ 8 ½(1963) ของ เฟเดอริโก เฟลลีนี งานครูที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังเกี่ยวกับหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง หนังชวนหัวซึ่งแสดงถึงความรักที่มีต่อหนังโดยผู้กำกับฯกลุ่มนิวเวฟฝรั่งเศสอย่าง Day for Night(1973) ของ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ และ A Hundred and One Nights(1995) ของ อักเญส วาร์ดา ขณะที่ผู้กำกับอิตาเลียน แบร์นาร์โด แบร์โตลุคชี่ ก็มีหนังสุดฮือฮาเรื่อง The Dreamers(2003)

Irma Vep(1996) ของ โอลิวิเยร์ อัซซายาส, Bad Education(2004) ของ เปโดร อัลโมโดวาร์ รวมถึงเรื่องอื่นของเขาที่มีตัวละครเป็นคนในวงการหนัง ไม่ว่าจะเป็น Law of Desire(1986) และ Tie Me Up! Tie Me Down!(1990)

เหตุที่หนังเกี่ยวกับหนังทางฝั่งยุโรปมีคุณภาพและจำนวนมากกว่าฮอลลีวู้ด คงเป็นเพราะทัศนคติและสถานะของคนทำหนังชาวยุโรปที่มองว่าหนังเป็นงานศิลปะมากกว่าเป็นสินค้า การนำเสนอความรู้สึกนึกคิด และที่สำคัญคือตัวตนผ่านผลงานจึงเกิดขึ้นเสมอ

...อะไรจะชัดเจนและบ่งบอกถึงตัวตนของคนทำหนังได้เท่ากับการพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับหนัง

ขณะที่สตูดิโอฮอลลีวู้ดซึ่งเป็นนายทุนไม่ได้มองเช่นนั้น หากผู้กำกับฯไม่ใหญ่จริงก็ยากจะมีโอกาส ตัวตนของคนทำหนังอเมริกันที่ต้องการอยู่รอดจึงมักจะถูกเคลือบคลุมบดบังด้วยเปลือกของสินค้าสำเร็จรูป จะมีแค่เพียงสไตล์เฉพาะตัวเท่านั้น(ถ้ามี) ที่ยังพอแสดงออกมาได้


อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่หนังเกี่ยวกับหนังมักจะมีความเป็นส่วนตัวสูง จึงยากเข้าถึงและสร้างความประทับใจแก่คนทั่วไป แต่ก็มีอยู่บ้างที่สามารถข้ามกำแพงดังกล่าวและกลายเป็นหนังเรื่องโปรดของใครหลายคน ดังเช่นหนังอิตาเลียนของ จุยเซปเป้ ตอร์นาโตเร่ เรื่อง Cinema Paradiso(1989)

เรื่องราวย้อนรำลึกความผูกพันระหว่างเด็กน้อยกับคนฉายหนังสูงอายุในโรงหนัง “ซินีมา พาราดิโซ” ดูอ่อนโยน อบอุ่น และให้ความรู้สึกดีๆ จนทำให้ใครต่อใครหลงรักหนังเรื่องนี้ กระทั่งกลายเป็น “หนังอ้างอิง” ให้แก่หนังอีกหลายเรื่องตามมา โดยเฉพาะหนังในคอนเซ็ปต์ “โรงหนังแห่งความทรงจำ”

เช่น โรงหนังหลอนๆ ใน Goodbye, Dragon Inn(2003) ของไฉ้หมิงเลี่ยง และหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อง Electric Shadows(2004) ซึ่งถูกนำไปเทียบเคียงกับ Cinema Paradiso มากที่สุดในด้านอารมณ์ความรู้สึก

ล่าสุด Janji Joni(Joni’s Promise) หนังจากอินโดนีเซีย งานกำกับฯครั้งแรกของ โจโก อันวาร์ เมื่อปีกลาย ทำให้ชื่อ Cinema Paradiso ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง

Janji Joni ไม่ใช่หนังย้อนยุคอบอุ่นอ่อนโยนที่มีตัวละครเป็นเด็กน้อย แต่เป็นหนังเกี่ยวกับหนุ่มนิสัยดีวัย 22 ทำงานพาร์ทไทม์เป็นคนส่งฟิล์มหนัง โดยมีมิตรต่างวัยเป็นคนฉายหนัง

หนังเปิดเรื่องด้วยคำบอกเล่าของโจนี่ ว่าคนส่วนใหญ่แทบจะหายใจเป็นหนัง จากนั้นเขาลำดับเส้นทางของหนังเรื่องหนึ่งๆ ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ไล่ตั้งแต่คนเขียนบท นายทุน จนถึงขั้นตอนฉายในโรงหนัง ซึ่งคนส่งฟิล์มหนังอย่างเขามีความสำคัญยิ่งยวด

เสียงโจนี่อธิบายต่อว่าฟิล์มหนังเรื่องหนึ่งๆ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ม้วนจะใช้ร่วมกัน 2 โรง เขาจึงมีหน้าที่รับฟิล์มจากโรงหนึ่งไปส่งอีกโรงหนึ่งให้ทันโดยไม่ให้หนังขาดช่วงจนทำให้ผู้ชมต้องหงุดหงิดเสียอารมณ์

โจนี่สัญญากับตนเองว่าเพื่อความสุขของคนดูหนัง ไม่ว่าอย่างไรเขาต้องส่งฟิล์มให้ทัน โดยที่ผ่านมาเขาก็ไม่เคยพลาดแม้แต่ครั้งเดียว

แต่ในวันที่เขาเกิดประทับใจสาวสวยคนหนึ่งหน้าโรงหนัง และเธอสัญญาว่าจะบอกชื่อของเธอถ้าเขาส่งฟิล์มหนังเรื่องที่เธอดูได้ทันตลอดทั้งเรื่อง กลับเกิดอุปสรรคมากมายระหว่างส่งฟิล์ม 2 ม้วนสุดท้าย ราวกับเมืองทั้งเมืองรุมกลั่นแกล้ง

จนดูเหมือนว่าสถิติที่ผ่านมาและคำสัญญาของโจนี่จะหมดความหมาย และความรักครั้งแรกของเขาจะต้องจบลงก่อนเวลาเหมือนหนังที่เขาส่งฟิล์มไม่ทัน


งานกำกับฯครั้งแรกของโจโก อันวาร์ เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลด้านสไตล์การเล่าเรื่องแบบหวือหวามาจากกลุ่มผู้กำกับฯหัวก้าวหน้าจากฝั่งอเมริกาและอังกฤษหลายคน เช่น ซีเควนซ์แนะนำตัวที่เป็นเสียงวอยซ์โอเวอร์เล่าเรื่องพร้อมภาพแซมอารมณ์ขัน ทำให้นึกถึงงานแสบๆ อย่าง Three Kings(1999) ของ เดวิด โอ.รัสเซลล์

หรือฉาก “คนดูหนัง 10 ประเภท” ซึ่งเป็น long take หรือถ่ายแบบต่อเนื่อง ประกอบเสียงเพลงอิเล็กโทรนิค คลับคล้ายงานมิวสิควิดีโอของ Fatboy Slim เช่นเพลง Weapon of Choice โดย สไปค์ จอนซ์(Being John Malkovich-1999) ผสมกับ Right Here, Right Now ของ Hammer&Tongs (นามแฝงร่วมของ กราธส์ เจนนิงส์ และ นิค โกลด์สมิธ โดยรายแรกเป็นผู้กำกับฯ The Hitchhiker's Guide to the Galaxy)

ผู้กำกับฯหนุ่มหน้าใหม่กับการลองวิชาเช่นนี้ หากวัดจากผลลัพธ์ที่ทำให้หนังดูน่าสนใจ ก็นับว่าสอบผ่าน

แต่หากดูที่ความราบรื่นของหนังและจังหวะจะโคน จะเห็นว่าหนังยังขาดๆ เกินๆ โดยเฉพาะหนังที่ต้องเล่นกับ “เวลา” เช่นนี้ ถือว่ายังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่หลายจุด

Janji Joni เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก สอดแทรกด้วยมุขตลกจากตัวละครหลากหลาย และเพลงประกอบไพเราะจำนวนมากที่คัดมาสอดคล้องเหมาะเจาะกับอารมณ์ของหนัง

ตัวละครโจนี่ซึ่งแม้เป็นเพียงคนส่งฟิล์ม แต่ก็ภูมิใจและมีความสุขกับงานที่ทำ ที่สำคัญคือตั้งใจทำงานตนเองให้สำเร็จเพื่อความสุขของคนอื่น แม้ว่าต้องพบและฝ่าฟันอุปสรรคขัดขวางมากมาย คือตัวแทนของคนทำหนังที่ต้องต่อสู้กับปัญหานานัปการกว่าที่ผลงานจะออกสู่สายตาผู้ชม

อุปสรรคที่โจนี่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการถูกขโมยมอเตอร์ไซค์เพราะมัวแต่ช่วยคนตาบอดข้ามถนน เป็นกำลังใจให้เมียแท็กซี่คลอดลูก เข้าฉากถ่ายหนังเพราะเห็นแก่นักแสดงหน้าใหม่ และช่วยตีกลองให้วงดนตรีจนผ่านการคัดเลือก จึงล้วนแต่เป็นการเสียสละเพื่อให้คนอื่นมีความสุขทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคหนึ่งที่แตกต่างออกไปและดูว่ายากลำบากที่สุด นั่นคือ เมื่อกระเป๋าฟิล์มถูกขโมยเพื่อให้ศิลปินสติแตกจอมขมังเวทย์ใช้ในการแสดงงานศิลปะชื่อ “ของโจร” เหตุการณ์นี้ผู้สร้างน่าจะต้องการสื่อถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่น่ากลัวกว่าปัญหาอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้มีฉากที่แสดงให้เห็นการลักลอบบันทึกภาพในโรงหนัง

ดูเหมือนว่าแผ่นผีซีดีเถื่อนจะหลอกหลอนคนทำหนังทั่วโลกจนยากจะเยียวยา ไม่แน่ว่าอีกไม่นานคงมีหนังเกี่ยวกับหนังที่สะท้อนปัญหานี้โดยตรง

ถ้าไม่กลัวว่าตนเองจะถูกก๊อปปี้ขายเสียก่อน!




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2549
2 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 2:28:56 น.
Counter : 2652 Pageviews.

 

ได้ดูหนังเรื่องนี้ที่เทศกาล Bangkok Film Festival 2006 หนังมี "เสน่ห์" ในการเดินเรื่องมากครับ ลงทุนน้อยแต่ต่อยหนัก ดนตรีประกอบก็โอเค

Spoiler: ชอบฉากในถังขยะกับฉากจบมากครับ

 

โดย: ตี๋หล่อมีเสน่ห์ 23 พฤษภาคม 2549 13:20:33 น.  

 

ชอบฉากในถังขยะเหมือนกันครับ
น้องผู้หญิงตัวเล็กเลยเศร้าเลย หุหุ

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 24 พฤษภาคม 2549 23:34:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
23 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.