Moolaade เสียงก้องแห่งแอฟริกา



Moolaade
เสียงก้องแห่งแอฟริกา


พล พะยาบ

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 30 เมษายน 2549


หลังจากพาท่องพรมแดนแห่งหนังมาแล้วหลากหลายประเทศ นึกขึ้นได้ว่ายังไม่เคยพาไปเยี่ยมๆ มองๆ แถวทวีปแอฟริกาเลยสักครั้ง เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคนี้ยังจำกัดตัวอยู่ภายในประเทศตนเอง ไม่ใคร่จะมีตัวแทนโดดเด่นออกมาอวดโฉมบนเวทีนานาชาติสักเท่าไร เราจึงหาโอกาสชมหนังจากทวีปนี้ค่อนข้างยาก

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาจจะมีกระแสหนังจากประเทศแอฟริกาใต้ให้ชื่นใจอยู่บ้าง เช่น Yesterday (2004) ของผู้กำกับฯ ดาร์เรล รูดต์ ที่ได้เข้าชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่ Tsotsi(2005) ของเกวิน ฮู้ด จะประสบความสำเร็จ คว้ารางวัลเดียวกันได้ในงานออสการ์ครั้งล่าสุด

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าหากเปรียบเทียบกับทุกประเทศในทวีปแอฟริกา แอฟริกาใต้คือประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุด เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เคยอยู่ในทำเนียบประเทศ “โลกที่ 1” มาแล้ว ขณะที่ประเทศอื่นยังค่อนข้างล้าหลังและยากจนในกระแสทุนนิยม

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่หนังจากแอฟริกาใต้จะโดดเด่นขึ้นมาเหนือกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และคงไม่อาจยกยอดว่าหนังจากประเทศนี้เป็นเสมือนตัวแทนแห่งแอฟริกาได้เต็มปากเต็มคำนัก

ยังไม่นับว่า หนังทั้งสองเรื่องที่กล่าวถึง มีผู้กำกับฯเป็นคนผิวขาว ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยและคุมเศรษฐกิจของประเทศ

เสียงแห่งกาฬทวีปที่แว่วดังครั้งนี้ จึงไม่ได้เปล่งออกมาจากเนื้อแท้ดั้งเดิมซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายของแอฟริกา ไม่ได้เป็นเสียงแห่งชาวแอฟริกันต่างเผ่าพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ทั่วภูมิภาคอันกว้างใหญ่ไพศาล แต่เป็นเพียงเสียงแห่งแอฟริกาซึ่งอำพรางร่องรอยที่ยังหลงเหลือของลัทธิอาณานิคม

อันที่จริง หากมองหาผู้กำกับฯชาวแอฟริกันผิวดำ ซึ่งทำหนังเพื่อสะท้อนภาพที่แท้จริงของแอฟริกา มิใช่เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติเท่านั้น แต่เพื่อสื่อสารกันเองในหมู่ชาวแอฟริกัน ชื่อเดียวที่เป็นคำตอบคือ ออสมาเน่ เซมเบเน่(Ousmane Sembene) นักเขียน-ผู้กำกับภาพยนตร์ ชาวเซเนกัล ผู้ถูกเรียกขานว่าเป็น “บิดาแห่งภาพยนตร์แอฟริกัน”


เซมเบเน่ระหว่างถ่ายทำ Moolaade


เซมเบเน่ซึ่งปัจจุบันอายุ 83 ปี (เกิดปี 1923) ทำหนังมานานกว่า 4 ทศวรรษ เขาเป็นลูกชาวประมงที่เป็นโรคเมาคลื่น เป็นนักเรียนที่โดนไล่ออกเพราะมีปัญหากับครูใหญ่ เป็นนักเคลื่อนไหวโดยเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ของคนงานรถไฟชาวพื้นเมืองที่เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกับคนงานชาวฝรั่งเศส ในปี 1947

หลังจากนั้น เซมเบเน่ย้ายมาฝรั่งเศสโดยทำงานเป็นคนงานท่าเรือ เข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน สหภาพคอมมิวนิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์ หลักคิดของเขาจึงมีแนวทางของสังคมนิยมอยู่เต็มเปี่ยม ถ่ายทอดออกมาในงานเขียนและภาพยนตร์ กระทั่งเป็นเสมือนปากเสียงของชนชั้นที่ถูกกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นคนชนบท ชนชั้นแรงงาน รวมทั้งผู้หญิงแอฟริกัน ซึ่งมีฐานะต่ำต้อยในสังคม และเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ ความยุติธรรม สร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีแก่ชาวแอฟริกันทั้งมวล

ผลงานด้านภาพยนตร์ของเซมเบเน่มีทั้งหนังสั้น สารคดี และหนังยาว โดยเริ่มต้นงานด้านนี้ในปี 1963 หลังจากมีชื่อเสียงพอสมควรในฐานะนักเขียนแล้ว เหตุผลที่เซมเบเน่หันมาสนใจทำหนังตอนอายุ 40 ปี เพราะเขาตระหนักว่างานเขียนไม่อาจเข้าถึงชาวแอฟริกันได้ในวงกว้างและแพร่หลายเท่ากับหนัง

เซมเบเน่กล่าวไว้หลายครั้งว่า แอฟริกาคือ “ผู้ชม” ของเขา ส่วนชาวตะวันตกและที่อื่นๆ เป็นเพียง “ตลาด” นั่นหมายความว่า เขาทำหนังเพื่อสื่อสารกับชาวแอฟริกันโดยตรง ทั้งด้วยท่าทีบอกเล่า ชี้ทาง สร้างความเข้าใจ หรือมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมแอฟริกา ในเรื่องที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ หนังของเซมเบเน่จึงซื่อตรง ชัดเจน ไม่เป็นศิลปะดูยากแบบหนังยุโรป และไม่ล้นเกินจนจับต้องไม่ได้แบบหนังฮอลลีวู้ด ที่สำคัญคือ หนังของเขาใช้ภาษาพื้นถิ่นเป็นหลัก เช่น ภาษาวอลอฟ และดิออรา ซึ่งใช้ในเซเนกัล และภาษาบัมบารา ใช้กันในเซเนกัลตะวันออก มอริทาเนีย มาลี และบูร์กินา ฟาโซ แทนที่จะใช้ภาษาฝรั่งเศสที่เป็นภาษาทางการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าถึงพื้นเพรากเหง้าของชาวแอฟริกันนั่นเอง

หลังจากทำหนังมานานกว่า 40 ปี นับเฉพาะหนังยาวได้ 8 เรื่อง เช่น Mandabi(1968) และ Xala(1974) เซมเบเน่ในวัยล่วง 80 ปี กลับมาทำงานหลังกล้องอีกครั้งในหนังเรื่องสำคัญชื่อ Moolaade(2004) ว่าด้วยผู้หญิงชาวแอฟริกันพื้นเมืองที่ลุกขึ้นแข็งขืนต่ออำนาจของเพศชาย และขัดขวางประเพณีขริบบางส่วนของอวัยวะเพศหญิงตามความเชื่อของมุสลิมแอฟริกาดั้งเดิม


เรื่องราวกล่าวถึงหมู่บ้านชนบทในบูร์กินา ฟาโซ เด็กหญิง 4 คน หนีพิธีขริบอวัยวะเพศมาขอความคุ้มครองจาก โคลเล่ สาวใหญ่ลูกหนึ่งซึ่งเคยไม่ยอมให้ลูกสาวตนเองเข้าพิธีเมื่อ 7 ปีก่อน เธอประกาศใช้ “มูลาเด้” หรือพื้นที่ต้องห้ามตามความเชื่อโบราณแก่เด็กหญิงทั้งสี่ โดยใช้เชือกผูกขวางประตูบ้านไว้ ทำให้ไม่มีใครสามารถเข้าไปนำเด็กออกมาได้

กลุ่มสตรีที่ทำหน้าที่ในพิธีดังกล่าวจึงปรึกษากับคณะผู้ปกครองและผู้นำทางศาสนาซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชาย ได้ข้อสรุปว่าต้องรอให้สามีของโคลเล่ซึ่งไปทำงานต่างเมืองเป็นผู้บอกให้เธอถอนการคุ้มครองนั้น เพราะตามธรรมเนียมที่นี่ ภรรยาต้องทำตามที่สามีบอกทุกอย่าง

ช่วงเวลาเดียวกัน หมู่บ้านกำลังตื่นเต้นกับการกลับมาจากฝรั่งเศสของ อิบราฮิมา ลูกชายของครอบครัวผู้นำชุมชนคนหนึ่ง และเป็นคู่หมั้นของ อมาซาตู ลูกสาวของโคลเล่ แต่เมื่อพ่อของอิบราฮิมารู้ว่าว่าที่ลูกสะใภ้ไม่เคยผ่านพิธีแห่งความบริสุทธิ์นั้นมาก่อน จึงประกาศยกเลิกงานแต่งงานของลูกชาย

เซมเบเน่ใช้เวลาถึง 2 ปีในการเขียนบท ทั้งหาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประเด็นการต่อต้านประเพณีขริบอวัยวะเพศหญิงซึ่งคร่าชีวิตเด็กไปมากมาย และยังคงมีอยู่ในหลายประเทศ อาจจะเป็นแก่นสารหลักของหนังเรื่องนี้ แต่เซมเบเน่ก็ไม่ได้ต่อต้านสังคมไร้อารยะแบบแอฟริกาแต่อย่างใด

เขาเพียงชี้ให้เห็นว่าบางสิ่งบางอย่างควรจะถึงเวลาเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบชนชั้นอำนาจของเพศชาย ทั้งในครอบครัวและทางศาสนา อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเพณีโหดร้ายนั้นยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

ความยอดเยี่ยมด้านบทของเซมเบเน่คือ เขาสร้างสถานการณ์คล้ายคลึงกันจำนวนมากมาวางทับซ้อนกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คน ทั้งด้วยเพศ ฐานะในครอบครัว ฐานะทางสังคม การศึกษา ศาสนา และที่ขาดไม่ได้คือความเหลื่อมล้ำจากการยกย่องชาติตะวันตกอดีตเจ้าอาณานิคม

ความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนมากมายเหล่านี้จึงไม่ต่างอะไรกับพันธนาการจำนวนมาก ทั้งพันธนาการที่สังคมตรึงให้ และการล่ามรัดตนเองให้ขาดไร้เสรีภาพ

ในดีวีดี Moolaade มีบทสัมภาษณ์เซมเบเน่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ยาวกว่า 20 นาที ผู้กำกับฯชาวเซเนกัลในวัย 80 ยังดูแข็งแรง พูดจาฉะฉาน เล่าถึงปัญหาอุปสรรคในการถ่ายทำ ทัศนคติของเขาต่อหนังแอฟริกัน และต่อสังคมแอฟริกาปัจจุบัน

ฟังแล้วน่าชื่นชม และเชื่อว่าเสียงแห่งกาฬทวีปเสียงนี้จะยังคงดังก้องไปอีกนาน




 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2549
2 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 1:25:14 น.
Counter : 3190 Pageviews.

 

โห ... มีหนังมายั่วน้ำลายอีกแล้วว

 

โดย: เช้านี้ยังมีเธอ 21 พฤษภาคม 2549 15:40:15 น.  

 

 

โดย: renton_renton 3 ตุลาคม 2550 21:05:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
21 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.