Or, My Treasure ในกรงกรอบของชีวิต



Or, My Treasure
ในกรงกรอบของชีวิต


พล พะยาบ

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 16 เมษายน 2549


เคยตั้งข้อสังเกตเมื่อคราวเขียนถึงหนังอิหร่านว่า ประเด็นปัญหาที่ถูกหยิบมาพูดถึงในประชาคมโลกคือวัตถุดิบชั้นดีที่คนทำหนังหน้าใหม่ควรนำมาสร้างเป็นหนังเพื่อเป็นใบเบิกทางในระดับนานาชาติ

เมื่อต้นปีจึงมี Paradise Now ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนจากปาเลสไตน์ คว้าลูกโลกทองคำและเข้าชิงออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศ โดยหนังกล่าวถึงมูลเหตุที่ชาวปาเลสไตน์ 2 คนยอมพลีชีพในการก่อวินาศกรรมอิสราเอล

เลบานอนซึ่งมีปัญหากับอิสราเอลเช่นกัน ก็เคยมีหนังดังเรื่อง Tayyara men wara หรือ The Kite(2003) เกี่ยวกับหญิงสาวชาวเลบานอนที่ต้องข้ามพรมแดนไปอยู่กับเจ้าบ่าวในอิสราเอล บริเวณที่เคยเป็นของเลบานอนมาก่อน

ฝ่ายคู่กรณีอย่างอิสราเอลนั้นต่างออกไป ในฐานะของผู้กุมความได้เปรียบบนความขัดแย้งยิว-อาหรับ และมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่แข็งแรงกว่าหลายเท่า หนังอิสราเอลปัจจุบันที่ฉายในระดับนานาชาติได้ข้ามพ้นจากประเด็นดังกล่าวมาไกลโข

ความหลากหลายของหนังอิสราเอลมีตั้งแต่หนัง coming-of-age อย่าง Bonjour Monsieur Shlomi (2003) หนังนัวร์ Besame Mucho(2000) หรือหนังรำลึกวันวานซึ่งได้ชื่อว่าเป็นซีนีมา พาราดิโซ่ เวอร์ชั่นอิสราเอล เรื่อง Desperado Square (Kikar Ha-Halomot, 2001)

รวมทั้งหนังดรามาหนักหน่วงสะท้อนปัญหาสังคมอย่าง Or, My Treasure

Or, My Treasure โดยผู้กำกับฯหญิง เคอเรน เยดายา เป็นเจ้าของ 5 รางวัลที่เมืองคานส์เมื่อปี 2004 รวมรางวัลสำคัญอย่าง Camera d’or ซึ่งมอบให้แก่ผู้กำกับฯที่มีผลงานเป็นเรื่องแรก

เรื่องราวเกิดขึ้นในกรุงเทล อาวีฟ เกี่ยวกับ ออร์ เด็กสาววัยรุ่นที่ต้องดูแล รูธี่ แม่ผู้ป่วยกระเสาะกระแสะทั้งทางร่างกายและจิตใจ เธอพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้แม่กลับไปเป็นโสเภณีอีกโดยหางานให้แม่ทำ แต่ดูเหมือนว่าเธอจะดึงแม่ออกมาจากกับดักนั้นได้เพียงชั่วคราว

นอกจากเรียนหนังสือและดูแลแม่แล้ว ออร์ยังต้องทำงานในร้านอาหาร อีกทั้งเก็บขยะจำพวกขวดพลาสติกเป็นรายได้เสริม เธอมีเพื่อนชายที่สนิทกันเป็นพิเศษชื่อ ไอโด เป็นลูกเจ้าของร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่ และความสัมพันธ์กำลังคืบหน้าไปได้ดี

แต่ความจริงอันเลวร้ายอย่างหนึ่งคือ ออร์มีพฤติกรรมทางเพศแบบเสพติด แทบทุกคืนเธอต้องย่องออกจากบ้านเพื่อไปมีอะไรกับผู้ชาย ไม่เว้นแม้แต่คนแปลกหน้าริมถนน

ถึงตรงนี้ ออร์ต่างจากแม่ตรงที่เธอไม่ได้หาเงินจากสิ่งที่เธอทำเท่านั้นเอง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป


แม้เรื่องราวจะเหมาะกับการเล่าเรื่องแบบบีบคั้นอารมณ์ แต่ผู้กำกับฯเลือกที่จะนำเสนอแบบค่อยเป็นค่อยไป ไร้การชี้นำหรือกระตุ้นความรู้สึก ทั้งด้วยการถ่ายภาพโดยตัดต่อแต่น้อย และแทบจะไม่มีเพลงประกอบ

ภาพส่วนใหญ่เป็นการตั้งกล้องทิ้งไว้ให้ผู้ชมเฝ้ามองชีวิตของตัวละครโดยเน้นไปที่ออร์ ว่าเธอต้องทำต้องพบเจอหรือจัดการอะไรกับตัวเองบ้าง หนังไม่แสดงว่าตัวละครกำลังคิดอะไร ไม่มีภาพแทนสายตาตัวละคร ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นหรือตัวละครตัดสินใจทำอะไร เราก็จะได้เห็นเหตุการณ์นั้นๆ โดยไม่รู้ล่วงหน้า

ผลของวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้คือหนังมีความสมจริง หนักแน่นจริงจัง ขณะเดียวกันก็ไม่ฟูมฟาย เร่งเร้า หรือบีบคั้นจนเกินพอดี

แม้การตั้งกล้องทิ้งไว้ทำให้องค์ประกอบภาพขาดความหลากหลาย แต่เนื่องจากภาพที่เรามองเห็นคือภาพตัวละครเคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ไม่หยุดนิ่ง เท่ากับว่าแต่ละฉากจะเต็มไปด้วยองค์ประกอบภาพที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยังสื่อความหมายถึงสถานะของตัวละครได้

เช่นหลายฉากที่ออร์กับแม่อยู่ด้วยกัน แม่มักจะเป็นคนที่อยู่นิ่งภายในกรอบภาพ บางครั้งอยู่ด้านหน้า ขณะที่ออร์จะเคลื่อนที่และถูกผลักไปอยู่ริม อยู่ด้านหลัง บางครั้งหายออกไปจากกรอบภาพ

พื้นที่ว่างที่ออร์มีเพียงน้อยนิด อาจสื่อความหมายได้ว่าเธอไม่มีชีวิตเป็นของตนเอง และถูกกดดันจากผู้เป็นแม่ ขณะเดียวกัน ภาพดังกล่าวก็สื่อว่าเธอกำลังดิ้นรนหาทางออกจากกรงกรอบที่โอบล้อมเธอไว้

หลังจากหนังให้เราเฝ้าดูชีวิตของออร์ จนมาถึงจุดที่เธอเลือกตัดสินใจอะไรบางอย่าง ภาพสุดท้ายที่เธอหันมามองกล้อง สีหน้าเรียบเฉย มีเสียงเฮฮาของผู้ชายกลุ่มใหญ่ดังชัดเจน ก่อนที่ภาพจะกลายเป็นสีดำสนิทเหลือเพียงเสียงหัวเราะที่ดังลอยมา คือครั้งเดียวที่หนังเล่นกับความรู้สึกและทัศนคติของผู้ชม

เหมือนเป็นการสะกิดผู้ชมที่เฝ้ามองออร์มาตั้งแต่ต้นเพื่อถามว่าจะตัดสินเธออย่างไร


ชื่อหนังภาษาอังกฤษว่า Or, My Treasure มาจากคำพูดของแม่ที่บอกว่าออร์เป็นสมบัติมีค่าเพียงอย่างเดียวของเธอ หากมองอีกมุมหนึ่งจะได้ความหมายว่า มรดกจากแม่ที่ออร์ได้รับคือสิ่งที่เธอพยายามเดินหนีมาตลอด

ฉากที่ออร์สระผมแล้วใช้ฟองจากการสระผมมาอาบน้ำและซักผ้าในคราวเดียวกัน โดยมีแม่อยู่ใกล้ๆ นั้น ก็เปรียบเหมือนเรื่องร้ายๆ ที่ออร์ไม่อาจชำระไปได้หมดจดนั่นเอง

เดนา อีฟกี บุตรสาวของ โมเช อีฟกี พระเอกแถวหน้าของอิสราเอล ต้องเปลื้องเปลือยตนเองกับบทออร์ซึ่งค่อนข้างแรง นอกจากฉากอาบน้ำข้างต้นแล้ว ยังมีฉากที่เธอเปลือยต่อหน้าชายสูงอายุอันนำไปสู่บทสนทนาและการกระทำที่ทำให้เราไร้ข้อสงสัยใดๆ ต่องานแรกของเธอ

แม้ว่าหนังจะสะท้อนสภาพชีวิตของผู้หญิงที่ตกเป็นเบี้ยล่างของสังคม แต่หนังก็ไม่ได้หันหลังให้เรื่องการเมืองเสียทีเดียว เห็นได้จากทุกฉากที่เห็นออร์ล้างจานในร้านอาหาร จะมีตัวละครชาวอาหรับคนหนึ่งยืนทำงานอยู่กับที่ใกล้ๆ กันนั้น แม้เขาจะทักทายไถ่ถามทุกข์สุขออร์ แต่ออร์ก็เหมือนถามคำตอบคำแบบเลี่ยงไม่ได้ ราวกับว่าเขาไม่มีตัวตน

ขณะที่อีกตัวละครหนึ่งเป็นอดีตคู่ขาของออร์มาหาเธอที่บ้านเพื่อขอมีอะไรด้วยก่อนจะไปเข้ากองทัพ ลงท้ายออร์ก็ยอมแต่โดยดี

คนหนึ่งเจียมเนื้อเจียมตัว เงียบขรึม ขณะที่อีกคนกระเหี้ยนกระหือรือและเอาแต่ได้ คือภาพเปรียบชาวอาหรับกับชาวยิวที่ค่อนข้างรุนแรง แต่กระนั้นก็ไม่ได้โจ่งแจ้งจนเกินไป

เมื่อคราวเคอเรน เยดายา ขึ้นไปรับรางวัลที่เมืองคานส์ เธอกล่าวว่า “เป็นเรื่องยากสำหรับฉันที่จะบอกว่าตนเองมาจากอิสราเอลซึ่งต้องรับผิดชอบต่อชีวิตชาวปาเลสไตน์ 3 ล้านคน ...”

ถึงแม้ Or, My Treasure จะเป็นหนังจากอิสราเอลที่ไม่ได้หยิบประเด็นปัญหาระดับโลกมากล่าวถึงโดยตรง อย่างไรเสีย นักสร้างหนังที่มีจิตสำนึกทางการเมืองก็ยังหาช่องทางแสดงออกได้อยู่ดี




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2549
1 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 2:28:25 น.
Counter : 2460 Pageviews.

 

อยากดูมากๆ
ทำไงดี

 

โดย: เช้านี้ยังมีเธอ 2 มิถุนายน 2549 11:29:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
1 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.