Der Untergang อวสาน‘ไรช์ที่ 3’ และความตายของฮิตเลอร์



Der Untergang
อวสาน‘ไรช์ที่ 3’ และความตายของฮิตเลอร์

- พล พะยาบ -

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 28 ส.ค.และ 4 ก.ย.2548


งานออสการ์ต้นปี 2005 มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้นเมื่อหนังต่างชาติ 2 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยประวัติชีวิตของอดีต “ศัตรู” ของสหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกให้เข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในรายชื่อหนังชิงรางวัล

หนึ่งคือ เออร์เนสโต “เช” เกวารา ในวัยเยาว์ จากเรื่อง The Motorcycle Diaries ของบราซิล ที่ได้เข้าชิงรางวัลบทภาพยนตร์ และเพลงประกอบยอดเยี่ยม สุดท้ายหอบรางวัลหลังกลับบ้านไป

อีกเรื่องคือ Der Untergang หรือ Downfall หนังจากเยอรมนี เกี่ยวกับบทอวสานของอาณาจักรไรช์ที่ 3 และช่วง 10 วันสุดท้ายของ “ท่านผู้นำ” อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งพลาดรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมให้กับ The Sea Inside ของสเปน

แน่นอนว่า “หนังดี” สมควรได้รับการยกย่อง แต่การปรากฏตัวของเชและฮิตเลอร์บนเวทีเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันอันทรงอิทธิพลอย่างออสการ์ ในยุค “โค่นซัดดัม ล่าตัวบิน ลาเดน”

ยุคที่ประธานาธิบดีประกาศว่าถ้าชาติใดไม่สนับสนุนสงครามก่อการร้ายถือว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม

จึงอาจเป็นการช่วยส่งเสริมภาพพจน์สหรัฐว่ายังเป็นดินแดนแห่งการให้โอกาสเสมอ เพราะขนาดเรื่องราวของคนที่เคยเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาสหรัฐ ก็มีสิทธิได้รับเกียรติเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

ฉะนั้นในอนาคต เมื่อกาลเวลาผ่านพ้น ทั้ง “ซัดดัม” กับ “บิน ลาเดน” ก็อาจได้พะยี่ห้อออสการ์กับเขาบ้างเหมือนกัน


เมื่อพิจารณาในรายละเอียด ทั้ง The Motorcycle Diaries และ Der Untergang มีส่วนที่เหมือนกันคือ เป็นการนำเสนอตัวบุคคลในด้านที่คนทั่วไปสัมผัสได้ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องราวของพวกเขาถูกเคลือบด้วยมายาคติบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความลึกลับแบบนักรบกองโจรของเช หรือความโหดร้ายราวอสูรกายของฮิตเลอร์

มายาคติดังกล่าวถูกส่งเข้ากระบวนการ “ทำให้เป็นมนุษย์” ตามขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ จนทำให้ผู้ชมมองเห็นและทำความรู้จัก-เข้าใจพวกเขาในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง

เช เกวารา ในภาพชายมาดเข้มไว้หนวดเคราครึ้ม ดูเหี้ยมเกรียม จึงเปลี่ยนเป็นหนุ่มละอ่อน แววตาอ่อนโยน ทั้งยังจิตใจไหวอ่อนเมื่อเห็นผู้ตกทุกข์

ส่วนชายในชุดทหารประดับตราสวัสติกะ ดวงตาถมึงทึง กราดเกรี้ยว ก็กลับกลายเป็นชายสูงวัยผู้อมทุกข์เพราะโรคร้ายและเจ็บช้ำใจที่ต้องเห็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา

วิธีที่จะเข้าถึงด้านที่เป็นมนุษย์ธรรมดาของบุคคลทั้งสองได้อย่างชัดเจนที่สุด ก็คือคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิดนั่นเอง โดยหนังทั้ง 2 เรื่องต่างเขียนบทขึ้นด้วยการดัดแปลงหนังสือบันทึกเรื่องราวชีวิตของบุคคลเป้าหมาย ผ่านสายตาคนใกล้ตัว

เรื่องแรกเป็นเพื่อนสนิทที่ขี่มอเตอร์ไซค์ท่องแดนละตินไปกับเช ส่วนเรื่องหลังเป็นคำบอกเล่าของเลขานุการส่วนตัว ซึ่งรับใช้ฮิตเลอร์จนถึงวันสุดท้าย


ความคล้ายคลึงกันอีกประการระหว่าง The Motorcycle Diaries และ Der Untergang คือเวลาซึ่งเป็นฉากหลัง แม้จะเป็นช่วงวัยที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง คือคนหนึ่งอยู่ในวัยหนุ่ม ยังไม่ได้ประกอบวีรกรรมสร้างชื่อใดๆ ขณะที่อีกคนผ่านจุดสูงสุดและกำลังจะพบจุดจบ

แต่เหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงปีใกล้เคียงกัน นั่นคือเรื่องของเชเกิดขึ้นในปี 1952 ส่วนเรื่องของอิตเลอร์จำหลักไว้ในปี 1945

แม้คิดส่วนต่างได้มากถึง 7 ปี แต่หากนับเป็นช่วงเวลาก็ถือว่าเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นหมุดหมายสำคัญของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ยืนอยู่ในฐานะมหาอำนาจผู้แข็งแกร่ง ท่ามกลางหายนะเพราะผลแห่งสงครามของชาติยิ่งใหญ่อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และโซเวียต

และเป็นปฐมบทแห่งสหรัฐอเมริกายุคใหม่ที่ใหญ่คับโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ถ้าจะยกย่องเรื่องราวของอดีตบุคคลต้องห้ามของสหรัฐ ไม่มีช่วงเวลาฉากหลังช่วงไหนจะเหมาะไปกว่านี้อีกแล้ว

กล่าวสำหรับ Der Untergang นอกเหนือจากการได้สัมผัสตัวตนของฮิตเลอร์แล้ว ความน่าสนใจอีกประการของหนังคือการนำเสนอภาพวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์อย่างละเอียด ทั้งการกระทำ สภาพจิตใจ และเหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ โดยปราศจากการชี้นำหรืออคติ ซึ่งที่ผ่านมาจุดจบของฮิตเลอร์เคยเป็นปริศนาและก่อให้เกิดข่าวลือกระทั่งว่าเขารอดมาได้หลังสงครามสิ้นสุด

อันที่จริง การเสียชีวิตด้วยเหตุอันไม่สมควรของบุคคลสำคัญหลายต่อหลายคน ล้วนแต่ถูกนำไปเข้าขั้นตอนสร้างเสริมเติมแต่งกันเป็นเรื่องปรกติ ไม่ว่าจะเป็นการตายของเช ของฮิตเลอร์ หรือแม้แต่มาริลิน มอนโร, เอลวิส เพรสลีย์ หรือเคิร์ต โคเบน

ฉะนั้น ภาพจุดจบของฮิตเลอร์ใน Der Untergang โดยถ่ายทอดจากปากคำพยาน ประกอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผ่านการนำเสนอแบบไม่โน้มเอียงจึงมีคุณค่าเทียบเท่ากับสารคดีจำลองเหตุการณ์จริงเพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้


หนังเริ่มต้นด้วยภาพหญิงชรากล่าวถึงความหลังที่เธอได้ร่วมเป็นพยานรู้เห็นการก่อกรรมทำเข็ญของอดีตผู้นำสูงสุดของเยอรมนี หญิงชราบอกว่าเธอน่าจะตระหนักถึงสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น เธอควรจะปฏิเสธตั้งแต่แรก ไม่ปล่อยให้โชคชะตาพาเธอไปยังที่ที่เธอไม่ต้องการไป กระทั่งยากที่จะให้อภัยตนเอง

หญิงชราผู้นี้ก็คือ เทราด์ล ยุงเงอ(Traudl Junge) เลขานุการส่วนตัวของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ช่วงปี 1942-1945 หรือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงวันสุดท้ายของท่านผู้นำ ภาพดังกล่าวเป็นคลิปการให้สัมภาษณ์ในสารคดีเรื่อง Blind Spot : Hitler's Secretary ปี 2002 ขณะอายุ 81 ปี ไม่นานก่อนที่เธอจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

ภาพต่อมา หญิงสาวกลุ่มหนึ่งถูกพาเข้าพบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เพื่อสมัครเป็นเลขานุการส่วนตัว หนึ่งในนั้นคือ เทราด์ล ยุงเงอ แสดงอาการดีอกดีใจเมื่อฮิตเลอร์รับเธอเข้าทำงาน

จากนั้นหนังพามายังเหตุการณ์วันที่ 20 เมษายน 1945 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 56 ปีของฮิตเลอร์ กรุงเบอร์ลินถูกปืนใหญ่รัสเซียถล่มอย่างหนักหน่วง ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่านับจากวันนี้คือช่วงเวลาสำคัญที่นำไปสู่ตอนจบของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารกองทัพแดงของโซเวียตยาตราเข้าสู่เบอร์ลินในวันที่ 21 เมษายน และยึดเบอร์ลินได้อย่างเด็ดขาดในวันที่ 2 พฤษภาคม

โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 30 เมษายน ฮิตเลอร์ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมร่วมกับอีวา โบรน(Eva Braun) ภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกัน

ช่วงเวลานั้น ฮิตเลอร์ปักหลักอยู่ในกองบัญชาการใต้ดิน หรือ Fuhrerbunker ในเบอร์ลิน โดยไม่ยอมฟังคำแนะนำให้หลบหนีไปของบุคคลใกล้ชิด สภาพจอมทัพผู้เกรียงไกรกลับกลายเป็นชายสูงวัยผู้หมดสิ้นหนทาง ซ้ำยังป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน เสียงระเบิดจากด้านบนฐานทัพใต้ดินที่ดังสนั่นหวั่นไหวอยู่ตลอดเวลา กับข่าวคราวจากกองทหารรอบนอกเบอร์ลินที่มีแต่การพลาดท่าเสียที ยิ่งทำให้ฮิตเลอร์ตกอยู่ในอาการเซื่องซึม และเริ่มคิดวางแผนปลิดชีวิตตนเอง

หลังเที่ยงคืนวันที่ 30 เมษายน ฮิตเลอร์เข้าพิธีแต่งงานอย่างเรียบง่ายกับอีวาน โบรน หญิงสาวผู้เป็นชู้รักมาเนิ่นนาน จากนั้นเขาให้ยุงเงอพิมพ์พินัยกรรมส่วนตัวและใบมอบอำนาจทางการเมือง

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ฮิตเลอร์และอีวากล่าวลาสมาชิกในกองบัญชาการใต้ดิน ทั้งรัฐมนตรี นายทหาร รวมทั้งยุงเงอ ก่อนจะปลีกตัวอยู่ตามลำพังในห้องพัก

เวลาประมาณ 15.30 น. เสียงปืนดังลั่นจากภายใน เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าฮิตเลอร์และอีวา โบรน จบชีวิตตนเองแล้ว

ทหารรับใช้เป็นคนเข้าไปตรวจศพและนำร่างคนทั้งสองไปเผานอกบังเกอร์ตามคำสั่งสุดท้ายของฮิตเลอร์

ส่วน ดร.โจเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีโฆษณาชวนเชื่อ กับภรรยา หลังจากวางยาพิษลูก 6 คนแล้ว ทั้งสองให้ทหารยิงและจุดไฟเผาศพเช่นเดียวกับผู้นำที่พวกเขาจงรักภักดี


นี่คือเหตุการณ์วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์จากการประมวลคำบอกเล่าของพยานและหลักฐานต่างๆ จนได้เป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งหนัง Der Untergang ของผู้กำกับฯ โอลิเวอร์ เฮิร์ชบีเกล(Oliver Hirschbiegel) นำมาถ่ายทอดอย่างไม่ผิดเพี้ยน โดยยึดอิงจากหนังสือ 2 เล่ม คือ Inside Hitler's Bunker : The Last Days of the Third Reich ประวัติศาสตร์วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์โดย โจอาคิม เฟสต์ และ Until the Final Hour : Hitler's Last Secretary บันทึกเรื่องราวฮิตเลอร์โดย เทราด์ล ยุงเงอ เลขาฯส่วนตัว

กระนั้น ความน่าสนใจของหนังไม่ได้อยู่ตรงเหตุการณ์หลักๆ ดังกล่าว แต่อยู่ที่รายละเอียดของเรื่องราว และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ทั้งฮิตเลอร์, ยุงเงอ, อีวา โบรน และบุคคลแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งเกร็ดต่างๆ ซึ่งผู้ชมสามารถเก็บเกี่ยวได้หากค้นคว้าประวัติศาตร์และประวัติบุคคลเพิ่มเติม

รายละเอียดที่น่าสนใจเช่น หนังนำเสนอเหตุการณ์ที่ฮิตเลอร์เรียกแพทย์ทหารมาพบเพื่อปรึกษาเรื่องการใช้ยาไซยาไนด์และวิธียิงตัวตาย เนื่องจากฮิตเลอร์ซึ่งป่วยเป็นโรคพาร์กินสันเกรงว่าจะถือปืนไม่มั่นคงจนยิงพลาด จึงตั้งใจว่าจะกัดแคปซูลไซยาไนด์พร้อมกับเหนี่ยวไก

เหตุที่รายละเอียดตรงจุดนี้น่าสนใจก็เพราะมีการถกเถียงกันภายหลังว่า “สาเหตุการตาย” ที่แท้จริงคืออะไร ยาพิษหรือกระสุนปืนกันแน่ที่ปลิดชีวิตฮิตเลอร์ ข้อสันนิษฐานที่ขัดแย้งกัน เช่น นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งค้านว่าประตูห้องพักของฮิตเลอร์หนาเกินกว่าจะได้ยินเสียงปืนจากภายในตามที่พยานหลายคนกล่าวอ้าง ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า การระบุว่าฮิตเลอร์ยิงตัวตายอาจเป็นความพยายามสร้างภาพ “การตายอย่างสมเกียรติ” โดยให้ฮิตเลอร์ลั่นไกปลีดชีพตนเองด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว แทนที่จะตายอย่างขี้ขลาดด้วยยาพิษ

ประเด็นนี้หนังไม่ได้ให้คำตอบไว้ชัดเจน เพียงแต่ยืนยันคำกล่าวอ้างของยุงเงอว่าเธอได้ยินเสียงปืนดังก้องจากห้องพักของฮิตเลอร์

เมื่อพิจารณาที่บทหนัง แม้หนังจะอิงจากมุมมองของเลขานุการสาวเป็นหลัก แต่เพื่อให้ครอบคลุมเหตุการณ์ทั้งภายนอก-ภายในกองบัญชาการใต้ดิน รวมทั้งสะท้อนสภาพชาวเยอรมันที่ต้องรับเคราะห์กรรมเพราะการนำพาประเทศของฮิตเลอร์ บทหนังจึงถ่ายเทมุมมองไปยังอีก 2 ตัวละคร

คนแรกเป็นเด็กชายที่ร่วมรบกับกองทัพเยอรมันด้วยศรัทธาในตัวผู้นำ แต่สุดท้ายเขากลับต้องสูญเสียครอบครัว อีกคนเป็นแพทย์ทหารผู้มองเห็นคุณค่าของชีวิตคนมากกว่าอำนาจของผู้ปกครอง

ทั้งสองตัวละครคือตัวแทนของชาวเยอรมันที่ต้องแบกรับความเลวร้ายของสงครามที่ผู้นำประเทศก่อขึ้น ซ้ำยังอ้างว่าความเจ็บปวดทุกข์ยาก แม้กระทั่งความตาย เป็นชะตากรรมของชาวเยอรมัน จึงปฏิเสธทางออกที่จะช่วยเหลือประชาชนของตนเอง


ขณะที่ชาวเยอรมันส่วนหนึ่งต้องทุกข์ร้อนแสนสาหัส หนังได้นำเสนอภาพกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ยังคงเคารพศรัทธาในตัวฮิตเลอร์ไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นยุงเงอเอง ที่ไม่ยอมไปจากเบอร์ลินตั้งแต่แรก หรือสามี-ภรรยาเกิบเบิลส์ที่อุทิศชีวิตตนและครอบครัวให้แก่อุดมการณ์นาซี ทำให้เกิดการถ่วงดุลด้านดี-ร้ายของฮิตเลอร์ในระดับสมเหตุสมผล ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

อีกจุดหนึ่งซึ่งผู้เขียนชอบคือการใส่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้ในเรื่องราวหรือการกระทำของตัวละคร ซึ่งถ้าใครเคยรู้หรือได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์และประวัติบุคคลเพิ่มเติมก็จะได้รายละเอียดเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเรื่องราวหลักของหนัง

เช่น การสูบบุหรี่ของตัวละครภายในกองบัญชาการใต้ดิน สามารถบ่งบอกภาวะความตึงเครียดในนั้นได้อย่างดี เพราะฮิตเลอร์เป็นคนต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างรุนแรง ทำให้ทุกคนเมื่อพ้นสายตาฮิตเลอร์มักจะจุดบุหรี่สูบทันทีด้วยความอยาก

ฉากสำคัญที่พยานหลายรายกล่าวไว้ตรงกันคือ เมื่อมีคำยืนยันว่าฮิตเลอร์เสียชีวิต คนในกองบัญชาการใต้ดินต่างจุดบุหรี่ขึ้นสูบโดยพร้อมเพรียง ทั้งยังพ่นควันเป็นทางยาวราวกับการถอนหายใจ

หรือเกร็ดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฮิตเลอร์กับยุงเงอ ตอนที่เธอมาสมัครเป็นเลขาฯ ทันทีที่ฮิตเลอร์ทราบว่ายุงเงอมาจากมิวนิค เขาเรียกเธอเข้าไปทดลองงานทันที สาเหตุที่เมืองมิวนิคสะดุดใจฮิตเลอร์ก็เพราะเป็นเมืองเกิดของอีวา โบรน หญิงสาวคนรักของเขานั่นเอง

เกร็ดเหล่านี้ไม่รู้ก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าค้นพบและเข้าใจก็จะทำให้หนังประวัติศาสตร์หนักอึ้งกลายเป็นหนังที่ดูสนุกมากยิ่งขึ้น

นอกจากคุณค่า-ความงามที่หนังมีอยู่แล้วเต็มเปี่ยม>




 

Create Date : 28 มิถุนายน 2549
7 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 2:25:24 น.
Counter : 4481 Pageviews.

 

อยากดูค่ะ
คิดว่าต้องสนุกและดีแน่ๆ
เพราะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากรีวิวนี้
ไปประกอบกับการดู
.
.
จะไปหามาดูให้ได้ค่ะ

 

โดย: octavio 30 มิถุนายน 2549 6:22:51 น.  

 

 

โดย: octavio 1 กรกฎาคม 2549 18:54:33 น.  

 

มาเป็นแขกประจำค่า

 

โดย: เช้านี้ยังมีเธอ 2 กรกฎาคม 2549 14:00:52 น.  

 

เราจะได้อยู่ดูหนังประวัติบินลาเดนหรือซัดดัมมั้ยเนี่ย

 

โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ 3 กรกฎาคม 2549 1:13:22 น.  

 

อาณาจักรไม่น่าล่มสลายเลย

 

โดย: ปิงปอง IP: 117.47.40.229 13 กุมภาพันธ์ 2551 19:39:35 น.  

 

จะต้องหามาดูให้ได้ อยากดูจัง

เขียนดีมากๆค่ะ ขอบคุณ

 

โดย: (_Ecalos_) IP: 217.128.60.111 17 กุมภาพันธ์ 2551 8:36:26 น.  

 

น่าสงสารคนที่อยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จัง

 

โดย: 2356 IP: 117.47.164.210 24 เมษายน 2551 14:45:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
28 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.