Happily Ever After เทพนิยาย ชู้รัก และจอห์นนี่ เดปป์



Happily Ever After
เทพนิยาย ชู้รัก และจอห์นนี่ เดปป์


พล พะยาบ

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 2 เมษายน 2549


วลี “มีความสุขตราบนี้นานเท่านาน” ซึ่งเราคุ้นเคยกันตั้งแต่ยังเด็ก ในนิทานหรือเทพนิยายต่างๆ ถูกนำมาตีความกล่าวถึงอีกครั้งในหนังฝรั่งเศสปี 2004 เรื่อง Happily Ever After(Ils se marierent et eurent beaucoup d’enfants โดยบางแห่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า ...And They Lived Happily Ever After) ว่าด้วยชีวิตคู่ของชาย-หญิงวัยสี่สิบ บนความจริงกับความฝัน นำเสนอด้วยอารมณ์ขัน เพลงไพเราะมากมาย และความวุ่นวายของเรื่องราว

เรียกว่าเป็นหนังฝรั่งเศสจ๋า...ในแนวทางที่คุ้นเคยอีกเรื่องหนึ่ง

Happily Ever After เป็นผลงานของ อีวอง อาตาล หนุ่มใหญ่นักแสดงที่หันมาจับงานกำกับฯเป็นเรื่องที่สอง ต่อจาก My Wife Is an Actress เมื่อปี 2001 โดยทั้งสองเรื่องเขาแสดงคู่กับ ชาร์ลอตต์ เกนสเบิร์ก ดาราสาวชาวอังกฤษ ผู้เป็นภรรยาของอีวองในชีวิตจริง

แวงซองต์(อีวอง อาตาล) เซลส์ขายรถวัยสี่สิบผู้มีภรรยาแสนสวยดีพร้อมอย่าง กาบริแอลล์ (ชาร์ลอตต์ เกนสเบิร์ก) กับลูกน้อยวัย 5 ขวบ กำลังหวั่นไหวสับสนกับชีวิตคู่แสนสุขสันต์ของตนเอง บางทีเขาอาจจะคิดว่ามันราบเรียบเกินไปก็ได้

แวงซองต์กับเพื่อนสนิทอีก 2 คนคือจอร์จและเฟรด มักจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องสถานภาพที่ไม่น่าพอใจของตนเอง จอร์จกำลังเบื่อภรรยาที่ชอบเจ้ากี้เจ้าการและแสดงอำนาจของผู้หญิง ขณะที่เฟรดเป็นหนุ่มโสดที่มีสาวมาติดพันยุ่งเกี่ยวไม่ซ้ำหน้า แต่กลับอิจฉาชีวิตครอบครัวอันเพียบพร้อมของเพื่อนทั้งสอง

แม้ต่างคนต่างไม่พอใจสถานภาพของตนเอง แต่จอร์จและเฟรดก็ยังใช้ชีวิตเช่นเดิมต่อไป มีเพียงแวงซองต์คนเดียวที่หาทางออกโดยแอบไปมีเมียน้อย แล้วปิดเป็นความลับไม่ยอมบอกแม้แต่เพื่อนสนิท

อย่างไรก็ตาม กาบริแอลล์รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น เธอเลือกที่จะเงียบ ไม่โวยวายหรือแสดงออกให้แวงซองต์รับรู้ อาจเพราะเธอหวังว่าสักวันสามีจะกลับมาเป็นคนเดิมของครอบครัว...


เพราะเรื่องราวของหนังอ้างถึงเทพนิยาย ซึ่งเป็นเรื่องชวนฝัน เกี่ยวพันกับจินตนาการและการหลีกเร้นจากโลกแห่งความจริง หนังจึงอุดมไปด้วยเทคนิควิธีการนำเสนอที่สื่อไปในทางนั้น รวมทั้งเรื่องราวในหนังเองก็รองรับแก่นสารนี้อยู่หลายจุด

หลายภาพหลายฉากใช้วิธีถ่ายตัวละครผ่านกระจกใสซึ่งมีเงาสะท้อนทาบทับ หรือถ่ายตัวละครในเงาสะท้อนในกระจกใส บางครั้งไม่ใช่กระจก แต่เป็นวัสดุโปร่งแสงที่สามารถมองเห็นตัวละครอยู่ด้านหลัง ไม่ว่าจะเป็นกระจกร้านอาหาร กระจกลิฟต์ พลาสติกใสกั้นทางขึ้น-ลงรถเมล์ ม่านพลาสติก ฯลฯ

ภาพเงาเหล่านี้บางครั้งสวยงาม บางครั้งหม่นมัว แต่ทุกภาพล้วนแต่ไม่ได้เป็นความจริงแท้ให้มองเห็น แต่เป็นความจริงที่ถูกอาบเคลือบ เป็นอีกด้านหนึ่งของความจริง

เหมือนกับตัวละครทุกตัวที่ไม่พอใจกับชีวิตตนเอง ต่างหลงใหลกับจินตนาการและความคิดฝันอยู่ตลอดเวลา

นอกจากสัญลักษณ์อย่างกระจกแล้ว เทคนิคที่หนังใช้บ่อยคือการตัดต่อแบบเฟด-อิน และเฟด-เอาท์ ให้ภาพซ้อนเหลื่อมนุ่มนวล รวมทั้งวิธีปล่อยภาพให้จางจนเป็นสีขาวราวหลงเข้าไปในความฝัน

ตัวละครกาบริแอลล์คือคนที่หลีกเร้นจากโลกความจริงมากที่สุด เนื่องเพราะเธอยอมทนกับเรื่องที่สามีนอกใจ โดยหวังว่าตอนจบของชีวิตคู่ยังสวยงามเสมอ เราจึงได้เห็นเธอในเงาสะท้อนของกระจกบ่อยกว่าตัวละครอื่น

นอกจากนี้ เรื่องราวยังแสดงให้เห็นว่ากาบริแอลล์เลือกที่จะหลีกเร้นตนเองจากโลกแวดล้อมอยู่เสมอ เช่น การไปตากอากาศต่างจังหวัด เป็นต้นคิดเรื่องย้ายบ้านไปอยู่ชนบท...สถานที่ในอุดมคติของชีวิตเงียบสงบ

หรือการปล่อยให้ตนเองหลงเข้าไปในความคิดฝัน ในฉากที่เธอพบกับหนุ่มหล่อในร้านขายซีดีชื่อ “เวอร์จิ้น” ทั้งสองยืนอยู่ข้างกัน ฟังเพลงเดียวกัน ยิ้มให้กัน ราวกับโลกนี้มีเพียงเธอและเขา

ทั้งที่ความเป็นจริงเธอไม่ได้อยู่ในโลกอัน “บริสุทธิ์” ...และยังมีลูกกับสามี(ที่กำลังนอกใจ) รอเธออยู่

หนังตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับชีวิตคู่ ทั้งความสุขและการครองรักยาวนานควรจะเป็นอย่างไร ชีวิตคู่ควรจะเริ่มต้นและดำเนินไปสู่จุดใด ต้องประกอบด้วยการแต่งงาน มีบ้าน มีรถ มีลูก เช่นนั้นหรือไม่

การที่หนังให้แวงซองต์-กาบริแอลล์ ตัวละครสามี-ภรรยา คนหนึ่งเป็นเซลส์ขายรถ อีกคนเป็นตัวแทนขายบ้าน จึงมีความหมายโดยตรงถึงสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นครอบครัว(ขณะที่จอร์จซึ่งกำลังเบื่อภรรยา ทำงานโรงแรม)


มาถึงตรงนี้คงสงสัยกันว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับจอห์นนี่ เดปป์?!

ก่อนอื่นขอเล่านิดนึงว่าเทศกาลหนังกรุงเทพฯที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ดูหนังฝรั่งเศสเรื่อง Housewarming(2005) ตัวหนังไม่น่าประทับใจนัก แต่ในฉากสุดท้ายหนังเผยทีเด็ดจนผู้ชมในโรงพร้อมใจกันร้องฮือด้วยความแปลกใจ

เซอร์ไพรส์นั้นก็คือ ฮิวจ์ แกรนต์ โผล่หน้ามาให้เห็นโดยไม่รู้ล่วงหน้า

แม้ไม่ได้ชื่นชมเป็นพิเศษ แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้เมื่อเห็นดาราดังปรากฏตัวในฉากเล็กๆ ในหนังต่างชาติต่างภาษา ซ้ำยังเหมือนไม่ได้เครดิต

สำหรับ Happily Ever After ด้วยเหตุที่ผู้เขียนไม่ได้อ่านรีวิวจากที่ใดมาก่อน แม้กระทั่งบนกล่องดีวีดี จึงถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์ในลักษณะเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้เป็น จอห์นนี่ เดปป์

เดปป์ในมาดสวมสูทเนี้ยบ ใส่แว่น ไว้หนวด แสดงเป็นหนุ่มหล่อในร้านเวอร์จิ้น และปรากฏตัวอีกครั้งในฉากสำคัญฉากสุดท้าย

แฟนพันธุ์แท้ป๋าเดปป์ดูจบคงแฮปปี้ เอ็นดิ้ง กันถ้วนหน้า




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2549
1 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 2:26:52 น.
Counter : 7070 Pageviews.

 

นึกออกละค่ะ
ว่าเคยดู ตอนเทศกาล

นึกออกก้อเพราะจอนนี่ เดปป์เนี่ยล่ะค่ะ
ที่มาแว๊บ ในร้านเทป

 

โดย: renton_renton 30 สิงหาคม 2549 22:19:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
17 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.