แนวพระราชดำริและการเตรียมการเรื่องระบอบประชาธิปไตย ของ ร.๖



แนวพระราชดำริและการเตรียมการ เรื่องระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความต้องการของกลุ่มปัญญาชน ทั้งข้าราชการและประชาชน ที่ต้องการปกครองในแนวประชาธิปไตย พระราชดำริของพระองค์เกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ปรากฏในจดหมายเหตุรายวัน ว่า

การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีข้อดีในการที่อำนาจการปกครองประเทศไม่ตกอยู่กับบุคคลคนเดียว แต่ถ้าจะนำมาใช้ก็มีข้อจำกัด คือประชาชนไม่มีความรู้พอที่จะปกครองตนเองได้ ถ้าให้อำนาจในการตัดสินใจแทน ผู้ปกครองประเทศก็อาจจะเกิดผลร้ายต่อชาติ

นอกจากนี้ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ไม่แน่เสมอไปว่า จะได้คนดีมีความรู้ความสามารถ เนื่องจากประชาชนไม่มีเวลามากพอที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีพระราชวิจารณ์ เกี่ยวกับระบบพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดทุนมากก็อาจจะล่อใจ ให้ประชาชนเลือกพรรคของตน อำนาจจึงตกเป็นของคนกลุ่มน้อย แทนที่จะอยู่ในมือของประชาชน

และการที่พรรคการเมืองผลัดกันเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ไม่ติดต่อกัน การงานล่าช้า และชะงักงัน

สรุปว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเห็นด้วยกับการปกครองระบบประชาธิปไตยที่จะมีมาในขณะนั้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอดแทรกแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของประชาธิปไตยต่อสังคมไทยทุกโอกาส

เช่น พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียนไทยในยุโรป เมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2468 ตอนหนึ่งว่า ก่อนที่จะรับลัทธิการปกครองใด ๆ ว่าเป็นสิ่งดีและน่านิยม ควรจะพิจารณาว่าลัทธิหรือวิธีการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปหรือไม่ สภาพบ้านเมืองของยุโรปกับประเทศไทยไม่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นคุณสำหรับยุโรปอาจเป็นโทษสำหรับประเทศไทยได้

สิ่งที่พระองค์ทรงทำได้ในขณะนั้นก็คือ ทรงใช้วิธีการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้ประชาชนมีความสามัคคี รักชาติ และจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยการพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์ บทละครทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

และพระราชดำรัสในวโรกาสต่าง ๆ เน้นถึงความเหมาะสมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ต่อสภาพของเมืองไทย

ใน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดโครงการเมืองทดลองเรียกว่า ดุสิตธานี ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองตุ๊กตา มีบ้านเล็ก ๆ และถนนที่ย่อส่วน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เลือกมหาดเล็กและข้าราชการเป็นเจ้าของบ้านสมมุติในดุสิตธานี

ดุสิตธานีอยู่ในบริเวณสนามเนื้อที่สองไร่ครึ่ง ระหว่างพระที่นั่งอุดรและอ่างหยกในบริเวณพระราชวังดุสิต พระราชดำริที่จะให้ดุสิตธานีเป็นก้าวแรก ของการเตรียมตัวเพื่อการปกครองตนเองของราษฎร ดังพระราชดำรัสในวันเปิดศาลารัฐบาลของดุสิตธานีว่า

"การงานฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนคราภิบาล ก็ถ่ายแบบมาจากของจริง ทั้งนั้น วิธีการที่ดำเนินไปนี้ เป็นการทดลองว่าจะเป็นประโยชน์เพียงใด เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับธานีให้แน่ชัดเสียก่อน

วิธีการดำเนินการในธานีเล็ก ๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจว่าจะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดังธานีเล็กนี้ ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง …"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนครภิบาลของดุสิตธานี มีการดำเนินการในรูปแบบของการปกครอง มีวาระ 1 ปี ต่อมามีการตั้งตำแหน่งกรรมการในนคราภิบาลสภาขึ้นอีกเรียกว่า เชษฐบุรุษ คือผู้แทนทวยนาครในอำเภอ

การปกครองของดุสิตธานี ไม่ได้นำมาเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศไทยในส่วนรวมเลย ดุสิตธานีจึงเป็นเพียงเมืองสมมุติเท่านั้น อย่างไรก็ดี พระยาราชนกุล (อวบ เปาโรหิต) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต นำพระบรมราโชบายและวิธีการของดุสิตธานี ไปทดลองตามจังหวัดต่าง ๆ

กำหนดทดลองใช้ที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรก โดยใช้พระยาสุนทรพิพิธเป็นผู้ดำเนินการ แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบไปจนสิ้นรัชกาล

อีกประการหนึ่ง มีบทพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องรายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม เป็น "ปฏิกิริยา" ที่พระองค์ทรงมีต่อข้อเรียกร้องของเทียนวรรณ ที่จะให้ประเทศไทยมีรัฐสภาเหมือนกับชาติอื่น ๆ

เทียนวรรณได้เขียนบทความโดยอ้างว่า ได้ฝันไปหรือได้ฝันทั้ง ๆ ที่กำลังตื่นอยู่ ดังนั้นพระราชนิพนธ์รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม จึงเป็นบทความล้อเลียนเทียนวรรณคือ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุบินไปว่า ประเทศไทยมีรัฐสภาแล้ว มีสมาชิกรัฐสภา 2 ท่าน ชื่อ นายเกศร์ ซึ่งอาจเป็น ก.ศ.ร กุหลาบ และนายทวน คงจะเป็นเทียนวรรณเสนอความเห็นในรัฐสภา แล้วเป็นการพูดนอกประเด็น

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงเห็นด้วยในการที่ประเทศไทย จะมีการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์ภุมวาร สิริมานปรีดิ์เกษมนะคะ



Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2554 14:41:51 น.
Counter : 1086 Pageviews.

0 comments
วิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.6) เรื่องคำสุภาพ นายแว่นขยันเที่ยว
(25 มิ.ย. 2568 00:05:44 น.)
"เรื่องที่มักเข้าใจผิด" อาจารย์สุวิมล
(25 มิ.ย. 2568 10:56:08 น.)
กำแพงแสน : นกตบยุงเล็ก ผู้ชายในสายลมหนาว
(12 มิ.ย. 2568 08:52:18 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องเวกเตอร์ นายแว่นขยันเที่ยว
(11 มิ.ย. 2568 06:11:02 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด