แผนผุดทางรถไฟสยามสู่จีน สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงเมกะโปรเจ็กต์

วิภาวี จุฬามณี



ร.5 เสด็จฯ ทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว สำหรับกิจกรรม "สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา" ครั้งนี้ทำเอาโถงกลางมติชนอคาเดมีดูเล็กลงไปถนัดตา เมื่อนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเชิญ 2 กูรู มาพูดคุยเกี่ยวกับ "แผนที่โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 กับการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ของไทยปัจจุบัน"

ท่านแรก ไกรฤกษ์ นานา นักเขียนและนักสะสมเอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์จากการสืบค้นรูปและแผนที่ จนนำไปสู่การค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครพูดถึง

ท่านต่อมา คือ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้รู้ลึกรู้จริงเรื่องรถไฟไทย และมีแฟนคลับติดตามมาฟัง วิสัยทัศน์อย่างเหนียวแน่น

เปิดเวทีในช่วงเช้าโดยอาจารย์ไกรฤกษ์ มาพร้อมกับแผนที่เก่าที่เพิ่งค้นพบ 3 ฉบับ ตีแผ่เบื้องหน้า เบื้องหลัง ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงคิดทำแผนที่เมืองไทย "ฉบับแรก"

โครงการทางรถไฟสยามสู่จีน มีจริงหรือ? และเบื้องหลังโครงการ "คอคอดกระ" สมัยรัชกาลที่ 5

ว่ากันไปทีละประเด็น เรื่องการขุดคอคอดกระนี้ อ.ไกรฤกษ์ ประมูลแผนที่ต้นแบบและแผนภูมิคอคอดกระ ฉบับของ นายฟรังซัวส์ เดอลองก์ (Francois Deloncle) วิศวกรชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 5 ให้สำรวจคอคอดกระอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2424

จากแผนที่นี้ อ.ไกรฤกษ์สืบค้นต่อไปจนทราบว่า ที่มาที่ไปโยงไปได้ถึงกรณี "คลองสุเอซ" ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอียิปต์ เชื่อมระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย ช่วยย่นระยะทางเดินเรือ ทำให้ไม่ต้องอ้อมตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

กล่าวคือ นายเดอลองก์เป็นตัวแทนของ นายแฟร์ดีนองด์ เดอ เลส์เซปส์ (Ferdinand de Lesseps) นักการทูตชาวฝรั่งเศส ผู้ขุดคลองสุเอซสำเร็จ

ขณะนั้นฝรั่งเศสมองเห็นว่า จุดศูนย์กลางของเอเชียคือจีน ดังนั้น เมื่อฝรั่งเศสยึดเวียดนามได้ จึงมีแนวคิดจะขุดคอคอดกระ เพื่อเลี่ยง เส้นทางที่อังกฤษผูกขาดอยู่แล้วคือ เกาะปีนัง และสิงคโปร์

ในแผนที่นี้ปรากฏข้อความ "Canal Project" พร้อมเส้นลากที่จะขุด "คลองกระ" เชื่อมแม่น้ำปากจั่น (กระบุรี) กับแม่น้ำชุมพร

แต่จนแล้วจนรอด โครงการนี้ก็ต้องล้มเลิกไปด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือรัชกาลที่ 5 ทรงเกรงจะเสียพระราชอาณาจักร

 






 

 

 

 

 

 

 

 

 

กล่าวถึง "แผนที่สยาม" อ.ไกรฤกษ์ ให้ความรู้ว่า เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เป็นการสำรวจและวาดอย่างหยาบๆ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 แผนที่สยามก็ยังวาดโดยชาวยุโรปแทบทั้งหมด แม้รายละเอียดจะมากขึ้น แต่ตำแหน่งที่ตั้งก็ยังเป็นแค่การกะประมาณ เพราะยังมิได้สำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง

สิ่งที่ อ.ไกรฤกษ์ นำมาแสดงคือ "แผนที่เมืองไทยฉบับแรกของนายแม็กคาร์ธี" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1888 เพื่อประกอบรายงานการสำรวจของชาวอังกฤษคนนี้ ภายใต้การว่าจ้างของรัฐบาลสยาม และใช้เวลาจัดทำนานถึง 6 ปี

อ.ไกรฤกษ์อธิบายว่า ที่มาของแผนที่ฉบับนี้ เริ่มจากปี ค.ศ.1875 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทำแผนที่ โดยให้ นายเฮนรี อลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) อดีตรองกงสุลอังกฤษที่ลาออกมารับราชการในราชสำนักสยาม เป็นหัวหน้า

ไม่นานหลังจากนั้น รัฐบาลอังกฤษได้ทำเรื่องขออนุญาตรัฐบาลสยามในการสำรวจและทำแผนที่ฉบับนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า จะต้องมีคนอังกฤษเข้ามายุ่มย่ามในเขตพระนคร ในหลวงทรงทราบเรื่องก็ทรงวิตกอย่างยิ่ง เกรงฝรั่งจะมารุกรานตีเมือง แต่ถ้าทรงห้ามปรามก็อาจกระทบความสัมพันธ์

นายอลาบาสเตอร์จึงถวายคำแนะนำว่า ควรจะอนุญาต เพราะสยามจะได้ประโยชน์ในการสำรวจไม่น้อยไปกว่าอังกฤษ และในอนาคตอันใกล้สยามจำเป็นต้องทำแผนที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ดี

นอกจากนี้ยังแนะนำให้ดึงตัวคนอังกฤษที่ขออนุญาตคราวนี้ เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างรัฐบาลสยามเสียทีเดียว ชาวอังกฤษที่นายอลาบาสเตอร์ได้ทาบทามก็คือ นายเจมส์ แม็กคาร์ธี (James McCarthy ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระวิภาคภูวดล)

ปี พ.ศ.2428 ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแม็กคาร์ธี เดินทางไปทำแผนที่ร่วมกับกองทัพที่ยกไปปราบจีนฮ่อทางภาคเหนือ ก่อนยกกองทำแผนที่ตามลำน้ำโขงไปถึงหลวงพระบาง แล้วลงมาเมืองอุตรดิตถ์ สุโขทัย เมืองพิชัย และกรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมจัดพิมพ์แผนที่สยามทั่วทั้งประเทศ

ลักษณะสำคัญของแผนที่ฉบับนี้ คือรวบรวมจากแผนที่ที่กรมแผนที่ทำ กับแผนที่ของอังกฤษและฝรั่งเศส ดังนั้นจะเห็นแถบสีเหลืองอยู่ตามรอยต่อกับประเทศต่างๆ หมายถึงเป็นเขตแดนที่ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้

 


1.แผนที่สยามฉบับของนายแม็คคาร์ธี
2.ภาพไปรษณียบัตรขบวนรถไฟสายแรกในสยาม
3.แผนที่ต้นแบบและแผนภูมิคอคอดกระ
4.แผนที่แสดงเส้นทางรถไฟเขียนโดยนายฮอลเล็ต





 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แผนที่สยามประเทศตีพิมพ์ขึ้นเป็น "ฉบับแรก" ณ กรุงลอนดอน ในปี พ.ศ.2430 และทางราชการได้ใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนคำถามที่ว่า ในอดีตโครงการทางรถไฟสยามสู่จีนมีจริงหรือ

อ.ไกรฤกษ์ ไขข้อข้องใจนี้ โดยแสดงแผนที่ประเทศสยาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายงานการค้นพบ ของสมาคมนักสำรวจแห่งสหราชอาณาจักร เขียนโดย นายโฮลต์ เอส. ฮอลเล็ต นักสำรวจชาวอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 5

แผนที่ดังกล่าวนี้ แสดงแนวที่จะตัดเส้นทางรถไฟระหว่างพม่ากับจีน จากมะละแหม่งเลียบแม่น้ำสาละวิน ผ่านเชียงตุง เชียงรุ้ง ไปเชื่อมกับจีนที่ยูนนาน

และอีกเส้นทางจากมะละแหม่ง ผ่านเมืองระแหง หรือจังหวัดตากในปัจจุบัน ไปยังจังหวัดแพร่ เชียงราย เชียงแสน ถึงชายแดนพม่า และเลียบแม่น้ำโขงไปที่เมืองซูเมาก่อนเข้ายูนนาน

อ.ไกรฤกษ์เล่าว่า จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อรัฐบาลอังกฤษจะขอสร้างทางรถไฟดังกล่าว รัชกาลที่ 5 เสนอข้อแลกเปลี่ยนว่าขอให้ตัดทางรถไฟไปจากกรุงเทพฯ ด้วย และไปเชื่อมกันที่เมืองระแหง ซึ่งถ้ารัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นตกลง ทั้งเมืองท่าปีนังและสิงคโปร์จะลดความสำคัญลงทันที และสยามจะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม แห่งใหม่

แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ถูกระงับไป เนื่องจาก ร.5 ทรงมีดำริว่า จักรวรรดิตะวันตกไม่ได้หวังดีต่อสยามอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องการเชื่อมรถไฟระหว่างภูมิภาคนี้กับจีนนั้น มีมานานแล้ว

"อุษาคเนย์เป็นดินแดนแห่งผลประโยชน์ เป็นแหล่งทรัพยากรมหาศาล ดังนั้นเราจะไม่ถูกทิ้งอย่างแน่นอน เพียงแต่เราจะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามามากน้อยแค่ไหน

การทำสัญญาหรือเอ็มโอยูต่างๆ ควรศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยว่า บรรพบุรุษพยายามรักษาผืนดินนี้มาอย่างไร บทเรียนจากประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลปัจจุบันหันมาสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น" อ.ไกรฤกษ์กล่าว

พูดถึงเส้นทางรถไฟไทยในมุมมองของประวัติศาสตร์แล้ว วงเสวนาในช่วงบ่าย อดีตรัฐมนตรีชัชชาติเล่าต่อถึงภาพรวมของรถไฟไทย ปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน และการแก้ไขที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต

มีผู้ฟังการเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างคึกคัก โดยในประเด็นที่แผนเมกะโปรเจ็กต์ยุคปัจจุบันเชื่อมโยงกับจีนนั้น อดีต รมว.คมนาคมกล่าวว่า หากดูแนวเส้นทางที่กำลังจะสร้างขณะนี้จะเห็นว่าเน้นขนสินค้าจากจีนมายังไทย ผ่านออกไปต่างประเทศที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่านมีรายได้แค่ค่าผ่านทางเท่านั้น

ดังนั้น หากกำหนดระดับความเร็วที่ 160 ก.ม.ต่อช.ม. แผนพัฒนารถไฟฟ้ารางคู่มาตรฐานกว่า 7 แสนล้านบาท อาจใช้ไม่คุ้มค่า เพราะเน้นใช้ขนสินค้าจากจีนผ่านไทย ไม่มีผลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่างจากไฮสปีดเทรน ที่เน้นขนคนน่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งจะช่วยสร้างเมืองใหม่ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเกิดประโยชน์ต่อภาพรวม

ดังนั้น รัฐจึงต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า จะเกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากกว่าไฮสปีดเทรนที่วิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 250 ก.ม.ต่อ ช.ม.อย่างไร ทั้งต้องคิดให้รอบคอบว่ารถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วแค่ 160 ก.ม.ต่อช.ม. ช้าเกินไปหรือไม่ ถ้าจะขนส่งคนแข่งขันกับเครื่องบินโลว์คอสต์

หลังตอบทุกประเด็นข้อสงสัย อดีตรัฐมนตรีหนุ่มฝากถึงผู้ที่จะมาดูแลงานของกระทรวงคมนาคมต่อไปว่า โครงการด้านคมนาคมไม่ใช่โครงการที่จะดำเนินการได้เสร็จภายใน 1-2 ปี แต่ต้องทำต่อเนื่องกันเป็นสิบๆ ปี ส่วนไหนที่ดีอยู่แล้วขอให้ดำเนินการต่อ ส่วนไหนที่มีเหตุผลต้องปรับปรุงขอให้ปรับปรุง โดยมองถึงภาพรวมเป็นหลัก และกำหนดแผนให้ชัดเจน เพื่อจะดึงความร่วมมือจากเอกชนด้วย

นอกจากนี้ โครงการที่กำหนดไว้แล้วว่า ปีหน้าต้องเสร็จ ขอให้เสร็จตามแผน เพราะสิ่งที่มีค่าที่สุดคือเวลา แต่เราไม่ค่อยดูแลสิ่งมีค่านี้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาระความรู้ที่รวมอยู่ด้วยกันในสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนาครั้งที่ 2 ที่แน่นอนว่าจะต้องมีครั้งต่อไป

ส่วนใครที่สนใจเกี่ยวกับภาพถ่ายเก่า แผนที่และข้อมูลประวัติศาสตร์สนุกๆ ในแบบฉบับของ อ.ไกรฤกษ์ สำนักพิมพ์มติชนรวบรวมไว้ให้อ่านแล้วหลากหลายเล่ม ติดตามได้ตามแผงหนังสือทั่วไป

หน้า 21


ขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์

คุณวิภาวี จุฬามณี

สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ




Create Date : 08 กันยายน 2557
Last Update : 8 กันยายน 2557 9:11:27 น.
Counter : 1332 Pageviews.

0 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด