จิตรกรรมฝาผนัง-สมุดไทย บันทึกมรดกวัฒนธรรมล้ำค่า

ปฤษณา กองวงค์




จิตรกรรมฝาผนัง-สมุดไทย บันทึกมรดกวัฒนธรรมล้ำค่า





1.พุทธประวัติ วัดประตูสาร สุพรรณบุรี
2.ภูริทัตชาดก พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ กรุงเทพฯ
3.มหาเวชสันดรชาดก กัณฑ์นครกัณฑ์ วัดราชสิทธิาราม
4.พุทธประวัติ วัดราชสิทธาราม กรุงเทพฯ

5.สมุดไทยขาวและสมุดไทยดำ
6.โสวัต สมุดสวดพระอภิธรรมย่อสมัยอยุธยา
7.สมุดตำราแมว
8.สมุดไทยบันทึกเรื่องต่างๆ




การจารึกของบรรพบุรุษที่ปรากฏสู่สายตาของอนุชนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือบันทึกผ่านวัตถุต่างๆ ล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า น่าศึกษา ด้วยมักพันเกี่ยวเรื่องวิถีชีวิต เรื่องราวของสังคมในแต่ละยุคสมัย ทั้งยังแฝงคติธรรม ความเชื่อ

ทว่าความงดงามจากฝีมือเชิงช่าง ย่อมเสื่อมสลายตามกาลเวลา หากไม่ดูแลรักษา

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดพิมพ์หนังสือ "วิจิตรศิลป์แผ่นดินทอง : ชาดกและพระประวัติจากจิตรกรรมฝาผนัง" และ "สมุดไทย อักษรศิลป์แผ่นดินทอง"

เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชบูชาในโอกาสมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย" ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา และเผยแพร่บันทึกศิลป กรรมอันมีค่าของชาติไว้เป็นหลักฐาน และหวังว่าจะอำนวยประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์และประชาชนผู้สนใจ

หนังสือ "วิจิตรศิลป์แผ่นดินทอง : ชาดกและพุทธประวัติจากจิตรกรรมฝาผนัง" จัดพิมพ์ 12,000 เล่ม มีเนื้อหาและภาพประกอบเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังสำคัญในประเทศไทย ที่จะช่วยให้ชมความงามของจิตรกรรมฝาผนังได้อย่างเต็มภาคภูมิ อ่านง่าย และสวยงาม

เนื้อหากล่าวถึงชาดกและพุทธประวัติจากจิตรกรรมฝาผนัง และจิตรกรรมฝาผนังของไทย

จิตรกรรมฝาผนังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดรูปแบบ เทคนิคฝีมือเชิงช่างมาแต่โบราณ ทั้งยังสอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัยผ่านการบันทึกด้วยภาพ ถือเป็นหลักฐานสำคัญด้านการศึกษา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี จารีตประเพณี และเป็นสมบัติของชาติที่ควรช่วยกันอนุรักษ์

ทั้งยังกล่าวถึงภาพจิตรกรรมที่มักวาดในศาสนสถานสำคัญ โดยภาพระหว่างช่องประตูหน้าต่าง นิยมเขียนเรื่องชาดกและเรื่องพุทธประวัติ เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไปมักเขียนเรื่องภาพเทพชุมนุม นั่งเรียงแถวกระทำอัญชลีหันหน้าไปทางองค์พระประธาน

หลังพระประธานเขียนเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถึงโลกมนุษย์แล้วทรงแสดงปาฏิหาริย์ "เปิดโลก" ส่วนผนังด้าน หน้าพระประธานนิยมเขียนภาพพุทธประวัติตอนผจญมาร พระพุทธเจ้าประทับเหนือโพธิบัลลังก์ ห้อมล้อมด้วยไพร่พลพญามาร

เบื้องล่างของโพธิบัลลังก์ ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นน้ำท่วมท้นจนเหล่ามารพ่ายแพ้ ทั้งยังแฝงด้วยปริศนาธรรมให้ขบคิด

สําหรับชาดกจากจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า โดยจะกล่าวถึงการบำเพ็ญบารมี

ประเทศไทยแบ่งชาดกเป็น 2 ประเภท คือ "นิบาตชาดก" เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก

และ "ชาดกนอกนิบาต" ซึ่งที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่มีผู้แต่งขึ้นภายหลัง และอ้างว่าเป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ไทย ลาว กัมพูชา

ที่รู้จักแพร่หลายคือ "ปัญญาสชาดก" ส่วนชาดกที่จิตรกรไทยนิยมนำมาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังคือ "มหานิบาตชาดก" ได้แก่ "เรื่องทศชาติ" หรือ "พระเจ้าสิบชาติ"

ส่วนพุทธประวัติจากจิตรกรรมฝาผนัง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันตั้งแต่ก่อนประสูติ จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ดำเนินเรื่องตามคัมภีร์ปฐมสมโพธิ เนื้อหาเป็นพุทธประวัติโดยละเอียด เดิมเป็นภาษาบาลี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์แปลเป็นร้อยแก้วเรียกว่า พระปฐมสมโพธิกถา มีเนื้อ หาทั้งสิ้น 29 ปริเฉท

อีกเล่มที่เผยแพร่พร้อมกันคือ "สมุดไทย อักษรศิลป์แผ่นดินทอง" ออกแบบและพิมพ์ที่บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด เล่าที่มาของ "สมุดไทย" แต่โบราณการประดิษฐ์อักษรและการบันทึกของคนสมัยก่อนผ่านศิลาจารึก จารลงใบลาน และเขียนลงใน "สมุดไทย"

แต่เนื่องจากสมุดไทยผลิตขึ้นใช้ในภาคกลาง ทำจากเนื้อเยื่อเปลือกต้นข่อย จึงเรียกว่า "สมุดข่อย"

"สมุด" หมายถึง "หนังสือ" สมุดไทยหมายถึงหนังสือแบบไทย รูปแบบและรูปเล่มของหนังสือไทย ที่ปรากฏในปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือของชาติตะวันตก คือมีสันปก เปิดจากด้านขวามือไปทางซ้ายมือ เดิมเรียกว่า "สมุดฝรั่ง"

ส่วนหนังสือรูปแบบเฉพาะของไทย มีลักษณะพับกลับไปกลับมาเป็นกลีบๆ เปิดจากด้านล่างขึ้นไปหาด้านบน เรียกว่า "สมุดไทย"

สมุดไทย หากเรียกตามสีของกระดาษคือ สมุดขาวและสมุดดำ หากจำแนกตามสีชนิดของวัสดุที่เขียน สมุดไทยดำจะมีพื้นผิวของกระดาษเป็นสีดำ วัสดุที่ใช้เขียนจึงต้องมีสีขาวหรือสีอ่อน เช่น สีเหลือง สีส้ม ได้แก่ ดินสอ รง และหรดาล

ดังนั้นสมุดไทยดำจึงมีทั้งสมุดดำเส้นดินสอ สมุดดำเส้นรงและสมุดดำเส้นหรดาล ส่วนสมุดไทยขาว พื้นผิวกระดาษสีขาวหม่น วัสดุที่เขียนมักสีดำ เช่น หมึกจีน เรียกว่า สมุดขาวเส้นหมึกจีน นอกจากนี้ยังมีการปิดทองตัวอักษร เรียกว่า เส้นทอง

สมุดไทยทำหน้าที่บันทึกภาพจิตรกรรม อาจเป็นภาพประกอบคำอธิบาย หรือแทรกภาพเรียกกันว่า "สมุดภาพ" จะใช้สมุดขาว ในที่นี้จำแนกสมุดภาพตามเนื้อหาสาระที่ปรากฏในเล่ม แบ่งเป็น 2 ลักษณะได้แก่

1. สมุดภาพประเภทตำรา บันทึกเกี่ยวกับความรู้และสรรพตำราต่างๆ เช่น ตำราพิชัยสงคราม ตำรานกเขา ตำราแมว สมุดภาพปริศนาธรรม สมุดภาพไตรภูมิ สมุดตำราพระคชลักษณ์ ตำราม้า ตำราโหราศาสตร์ ฯลฯ

2. สมุดภาพประเภทหนังสือสวด เนื้อหาหลักจะเป็นบทสวด

โดยหยิบยกเรื่องสมุดภาพหลายเรื่องที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมของไทย และศิลปินในการสร้างงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ ที่สอดรับกับเนื้อหาดังกล่าว อาทิ "สมุดภาพไตรภูมิ" ที่มีคติสอนเรื่องกฎแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด

ไตรภูมิของไทยมีหลายฉบับที่เก่าที่สุดคือ เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง และไตรภูมิโลกวินิจฉย กถา หรือไตรภูมิฉบับหลวง

ถัดมา "สมุดภาพพระมาลัย" ซึ่งมีผู้ศรัทธานิยมเผยแพร่ตามความเชื่อว่า จะเป็นอานิสงส์ที่นำไปสู่การอุบัติในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย

ซึ่งสมุดภาพหนังสือสวดเรื่องพระมาลัยนี้ ภาพที่ปรากฏมักมักเป็นภาพ ตอนชายเข็ญใจถวายดอกบัวแก่พระมาลัย ตอนพระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรยพร้อมด้วยเทพบริวาร กำลังเหาะไปบูชาพระเจดีย์จุฬามณี

ตอนพระอินทร์กำลังสนทนากับพระมาลัย ตอนพระมาลัยโปรดนรกขุมต่างๆ ภาพดังกล่าวมีเนื้อหาใกล้เคียง ต่างกันด้านฝีมือช่าง

สมุดภาพหนังสือสวดพระอภิธรรมย่อ เนื้อหาของสมุดไทยประเภทนี้ เป็นบทสวดพระอภิธรรมย่อ เขียนด้วยตัวอักษรขอมไว้ตอนกลางของหน้าสมุด ด้านซ้ายและด้านขวาของหน้าสมุดมีภาพจิตรกรรมประกอบ เป็นหนังสือสำหรับพระสงฆ์ 4 รูปสวดหน้าศพเรียกว่า "สวดพระอภิธรรม"

มักเขียนเป็นภาพเทวดา เช่น พระอินทร์ พระพรหม นางฟ้าและวิทยาธร ในอิริยาบถนั่งหรือเหาะประนมมือบูชา บางตอนเป็นภาพสัตว์หิมพานตŒ พันธุ์พฤกษาและสัตว์ในธรรมชาติ

บางฉบับเขียนภาพพระภิกษุกำลังปลงอสุภกรรมฐาน หรือพิจารณาซากศพ เพื่อให้เกิดธรรมสังเวชเห็นแจ้งในความไม่เที่ยงของสังขาร

สุดท้าย "สมุดภาพปริศนาธรรม" เป็นภาพจิตรกรรมที่ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนข้อธรรมในทางพระพุทธศาสนา มีคำอธิบายเขียนด้วยอักษรขอม

สมุดไทยถือเป็นเครื่องบันทึกสรรพตำรา เรื่องราวแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

ท่ามกลางเทคโนโลยีด้านหนังสือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนมาถึงยุคไอแพด-แท็บเล็ต เราจึงไม่ควรลืมรากเหง้าอย่าง "สมุดไทย" มรดกล้ำค่าของแผ่นดิน

หน้า 21


ขอบคุณ
ข่าวสดออนไลน์
คุณปฤษณา กองวงค์


สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ



Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2555 17:59:07 น.
Counter : 4125 Pageviews.

0 comments
ตลาดเช้า, สถานีรถไฟพินอูลวิน สายหมอกและก้อนเมฆ
(18 เม.ย. 2567 17:06:42 น.)
几度花落时( จี่ตู้ฮวาลว่อสือ) by 任光 (เหยินก่วง)​ ปรศุราม
(5 เม.ย. 2567 10:45:31 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 14 : กะว่าก๋า
(26 มี.ค. 2567 04:51:34 น.)
เว็บระบายสีออนไลน์ ฟรี! ไม่ต้องโหลดแอป ฝึกสมาธิ ผ่อนคลาย สมาชิกหมายเลข 8002347
(25 มี.ค. 2567 03:00:46 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด