//www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000038453การเกิดของทีวีดิจิตอลที่ล้นตลาดความต้องการของคนดูในขณะนี้ ไม่ได้ช่วยให้ตลาดแรงงานด้านนิเทศศาสตร์เติบโตขึ้นอย่างที่คิด เพราะสำหรับนักศึกษาจบใหม่ แต่ขาดประสบการณ์ก็ยังไม่ได้เป็นที่ต้องการเท่าใดนักเมื่อเทียบกับผู้ที่มีประสบการณ์มาแล้ว มันคือการแข่งขันด้านเนื้อหาที่ต้องการคนมีความสามารถไปช่วยสร้างรายได้หรือคืนทุนให้เร็วที่สุด
เมื่อเห็นตัวเลขการวิเคราะห์ผลกำไรของทีวีดิจิตอลด้วยแล้ว บอกได้เลยว่ายากมากที่เขาจะขยายกิจการโดยการรับเด็กจบใหม่ไปทำงานที่มีภาวะความเสี่ยงเรื่องรายได้ขนาดนี้ แม้ต้นทุนจะถูกกว่าคนมีประสบการณ์ก็ตาม แต่ทุกวินาทีคือการแข่งขัน ช้ากว่าหนึ่งก้าว นั่นหมายถึงรายได้ที่สูญเสียไป และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา
บางสื่อทำแต่สิ่งพิมพ์มาตั้งแต่ต้นตระกูล ริจะทำโทรทัศน์ เพราะคิดว่าตัวเองมีฐานคนอ่านในระดับหนึ่ง แต่คนที่ชอบอ่านหนังสือ โดยธรรมชาติเขาก็ไม่ได้ชอบดูโทรทัศน์อยู่แล้ว แล้วยังไงล่ะทีนี้ เมื่อทำโทรทัศน์ไม่ได้กำรี้กำไรสักที ก็ต้องกลับไปมาขึ้นราคาหนังสือหรือนิตยสารในเครือแทน โดยอ้างว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น แท้จริงแล้ว อาจจะเอาไปชดเชยกับต้นทุนที่ลงไปกับสื่อโทรทัศน์เสียมากกว่า
บางสื่อโลภมาก ประมูลช่องเดียวไม่เอา จะเอาสอง แล้วยังไงล่ะทีนี้ หมุนเงินไม่ทัน ประธานและกรรมการบริษัทรวยอยู่บนยอดหอคอย พนักงานจนอยู่ใต้ดิน จะไปไหนก็ไม่ได้ง่ายๆ เพราะที่อื่นก็ขยับตัวไม่ค่อยได้พอๆกัน
หลายๆ สถานี แม้จะเอามืออาชีพเข้าไปบริหาร หรือใช้มืออาชีพเป็นแม่เหล็กดึงดูดช่องแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนใจจากช่องเดิมๆ ที่อยู่กับเขามากว่าครึ่งค่อนชีวิต ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น ที่จะยืนอยู่บนเส้นทางนี้ต่อไปได้
กล่องดิจิตอลก็ใช่ว่าจะใช้ดูได้จริง ไหนจะมีข่าวว่ากล่องไร้คุณภาพอีก แล้วทำไมเพิ่งมาเป็นข่าวเพิ่งมาตรวจสอบ ปล่อยให้ขายให้แลกได้มาครึ่งค่อนปี ใครคือผู้เสียประโยชน์บ้าง?
ไม่ใช่แค่รอกำไรอย่างเดียว แต่หากถึงเวลาที่ต้องประสบกับคำว่า "ขาดทุน" ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตลจนเจ็บตัว ผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการทีวีทั้งหลายก็อาจถึงคราวตกงานได้เช่นกัน
ความหวังที่นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์จะพึ่งพิงทีวีดิจิตอลเริ่มริบหรี่ลงทุกที ถึงเวลาที่เราอาจจะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับบริษัทโปรดักชั่นเล็กๆ อีกครั้งแล้วสินะ