อัพบล๊อกวันนี้จะพาไปชมพระธาตุยาคู พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ กันครับ ... วันที่เราไปที่พระธาตุนั้นตรงกับช่วงวันมาฆบูชา และเขากำลังมีงาน “มาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง” เราไปรู้จักพระธาตุยาคูกันครับ วัดพระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ️ประวัติวัดพระธาตุยาคู จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าสร้างในสมัยทวารวดี เป็นวัดสำคัญในเมืองฟ้าแดดสงยาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง สมัยอยุธยาพบการบูรณะให้เป็นเจดีย์ในผัง 8 เหลี่ยม และหลังจาก พ.ศ. 2475 ได้ต่อเติมส่วนยอดเจดีย์ให้สูงขึ้น โดยช่างชาวญวน คำว่า ยาคู หรือ ญาคู เป็นคำพื้นถิ่นอีสาน ใช้เรียกพระเถระที่มีจริยาวัตรงดงามน่านับถือ ดังนั้นพระธาตุยาคูจึงอาจจะเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุพระเถระรูปสำคัญ ลักษณะสถาปัตยกรรมพระธาตุยาคูเป็นเจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยม สร้างก่ออิฐไม่สอปูน มีส่วนฐานตอนล่างย่อมุมได้ยี่สิบ ถัดไปเป็นฐานเขียงลดหลั่นกัน 5 ชั้น รับบัวแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นแต่งเป็นมีกลีบบัวประดับที่ฐานโดยรอบ ถัดขึ้นไปเป็นบัวแปดเหลี่ยมขนาดเล็ก 2 ชั้นรับปลียอด รอบพระธาตุยาคูในตำแหน่งทิศทั้งแปด ปักใบเสมาหินทราย จำนวน 11 หลัก บางทิศปักเพียงใบเดียว บางทิศปักซ้อนกัน 3 ใบ มีทั้งเป็นแผ่นเรียบและสลักเรื่องราวพุทธประวัติ ชาดก อาทิ มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก และเตมียชาดก เป็นต้น  แผ่นป้ายจากสำนักศิลปากรที่ 9 ส่วนคันดินล้อมรอบพระธาตุยาคูสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2526 เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทางทิศใต้ของพระธาตุยาคูพบฐานเจดีย์จำนวน 5 ฐาน เรียงกันไปตามแนวทิศเหนือใต้ แต่ละฐานมีส่วนล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นเดียวกัน เหนือขึ้นไปจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น ฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ หรือเป็นขนาดเล็กซ้อนทับให้เหลื่อมกัน เอกลักษณ์ของพระธาตุยาคูคือเป็นเจดีย์สำคัญในเมืองฟ้าแดดสงยาง และฐานเจดีย์รายแสดงให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์สมัยทราวดี เสมาหินทรายที่สลักเรื่องราวพุทธประวัติและชาดก ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะงานประติมากรรมชิ้นเอกสมัยทราวดีในพื้นที่ภาคอีสาน ชาวกมลาไสยแต่งชุดรำถวายในวันมาฆบูชา กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดพระธาตุยาคู ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 3 มกราคม 2480 และกำหดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม 2525 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน ผู้ใดบุกรุกโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย  ตุงหรือ ธุง ที่ประดับหน้าพระธาตุในวันมาฆบูชา ซึ่งจะแขวนประดับไว้จนถึงวันสรงน้ำพระธาตุยาคู ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี การเดินทาง 1. จากขอนแก่น : ใช้เส้นทางหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ยางตลาด) พอถึงแยกยางตลาดให้ตรงไปทางโพนทอง (ถนนหมายเลข 2116) ถึงแยกหนองแปนแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปที่ตั้งพระธาตุอีกประมาณ 3 กม. 2. จาก กทม. : ขับตามถนนมิตรภาพจนถึงก่อนเข้า อ.บ้านไผ่ แล้วออกแยกขวาไปตามทางเลี่ยงเมืองไปมหาสารคาม แล้วขับต่อไปทาง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุื พอถึงแยกทางตลาดแล้วให้เลี้ยวขวาไปทาง อ.โพนทอง ตามทาง 2116 ถึงแยกหนองแปนแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปพระธาตุอีก 3 กม. (มีป้ายบอดกตลอด) |
ทางอีสานมีสถานที่ที่น่าไปเที่ยวเยอะเลยนะคะ
กำไรชีวิตล้วนๆเลยค่ะพี่
ขอบคุณที่พาเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ยังไม่เคยได้ไปเที่ยวเลยสักครั้งค่ะ