วันที่ 10 มีนาคม 2562 ได้มีโอกาสไปไหว้พระธาตุอิงฮัง เมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว มา เลยถือโอกาสเอาภาพและเรื่องราวมาเผื่อแผ่กันันครับ .... ในวันที่ 9 มีนาคม 2562 คุยกันกับคนใกล้ตัวว่า เราเคยได้ยินชื่อพระธาตุอิงฮัง ที่สะหวันนะเขตมานาน และเป็นพระธาตุเก่าแก่มีตำนานคู่กันกับพระธาตุหลายๆแห่งในภาคอีสานของประเทศไทย จากนั้นก็เตรียมการโดยเช็ควิธีการข้ามด่านไปที่ตั้งพระธาตุ ว่าจะไปกันอย่างไร ... บางเวบก็บอกให้นั่งรถบัสอินเตอร์ข้ามไปแล้วไปเช่ารถสกายแล๊ป (สามล้อเครื่อง) ที่โน่น หรือจะเช่ารถตู้ข้ามไปซึ่งก็ต้องจ่ายมากเหมือนกัน (เหมือนว่าประมาณ 2800 บาท/วัน เขาจะพาไปที่พระธาตุอิงฮัง และพระธาตุโพนด้วย) เพราะเราไปกันแค่ 2 คน .... จึงไลน์ไปถามหลานชายที่ทำงานเป็นวิศกรอยู่บริษัทเอกชน เมืองสะหวันนะเขต พอดีหลานว่างเลยจะข้ามมารับและพาไป  ในเมืองสะหวันนะเขต การเดินในวันถัดมาในวันที่ 10 มีนาคม เราออกจากขอนแก่นแต่เช้ามืดไปที่ จ.มุกดาหาร เอารถไปจอดที่จอดรถเอกชน เหมือนว่าจะเป็นของสะหวันเวกัสรีสอร์ท อยู่ก่อนจะถึงด่านซึ่งมีโรงจอดแบบมีหลังคา จอดรถได้เป็นร้อยๆคน กว้างมาก จ่ายค่าจอดวันละ 100 บาทต่อคันจากเวลา 08.00-22.00 น. ถ้าเกินนั้นเก็บ 150 บาท/วัน ใกล้ๆกันนั้นมีที่จอดของทางการเหมือนกัน แต่ไม่มีหลังคา เป็นลานจอดโล่งๆค่าจอดฟรี (แต่จะเต็มตลอด) หลานชายเอาบัตรประชาชนเราไปทำใบผ่านแดน ซึ่งก็ไม่ยุ่งยากมาก จ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเหมือนจะมีการจัดเก็บดังนี้ มีการจัดเก็บดังนี้ หนังสือเดินทาง (Passport) วันธรรมดา 20 บาท วันหยุด 40 บาท หนังสือผ่านแดน (Borderpass และ Temporary Borderpass) วันธรรมดา 50 บาท วันหยุด 100 บาท ... จากนั้นก็ขับไปยื่นที่ด่าน ตม. (รถต้องมีพาสปอร์ตรถสีม่วงด้วย) จัดการเรื่องข้าม เรื่องใช้สะพานเสร็จ ก็ข้ามสะพานซึ่งเป็นแบบเลนเดียวสวนกันบนสะพาน ไปถึงฝั่งลาวก็ลงไปยื่นเอกสารอีก ทั้งเรื่องขอใช้รถในฝั่งลาว และค่าเหยียบแผ่นดิน ..... จากนั้นก็ชับชิดขวาไปตามเส้นทางสาย 9W >>> ... สะพานมิตรภาพไทยลาว (แห่งที่ 2) เป็นสะพานที่เชื่อมต่อแขวงสะหวันนะเขด ในประเทศลาว กับ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 1,600 เมตร มีความกว้าง 12เมตร และมีช่องการจราจร 2 ช่อง ตัวสะพานเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2547 สะพานเปิดให้สาธารณะใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2550 สะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงจากทางตะวันออกคือ เมืองดานัง (เวียดนาม) ข้ามแม่น้ำโขงฝั่งลาวที่บริเวณบ้านนาแก เมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต และข้ามมาประเทศไทยที่บริเวณบ้านสงเปือย ตำบลบางทราย จังหวัดมุกดาหาร และผ่านไปยังฝั่งตะวันตกที่ชายแดนไทย-พม่า ที่อำเภอแม่สอดและเมืองเมียวดี ก่อนไปสิ้นสุดที่เมืองมะละแหม่งของพม่า  เส้นทางหมายเลข 9 (สะหวันนะเขต - ลาวบาว)  ที่สะหวันนะเขตมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง (ดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และกำลังจะก่อสร้างอีก 1 แห่ง)   ถึงหน้าวัด...มาซื้อบัตรผ่านที่นี่ก่อน  ประตูเข้าสู่พระธาตุ พระธาตุอิงฮัง พระธาตุอิงฮัง หรือ ธาตุอิงฮัง ตามประวัติ การสร้างธาตุอิงฮัง สร้างในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร ประมาณ พ.ศ.๔๐๐ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม สูง ๒๕ เมตร คำว่า “อิงฮัง”มาจากคำว่า “พิงรัง”หรือพิงต้นรังนั่นเองครับ ด้วยเป็นพระธาตุคู่แฝดของพระธาตุพนมแล้วเมื่อค้นประวัติของพระธาตุพนมพบว่า มีส่วนสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ตามตำนานพระธาตุพนมในอุรังคนิทานกล่าวว่า “สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระอานนท์ได้เสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์เมือง รุกขนคร(นครพนม)และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้า หนึ่งคืน รุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขงไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง แล้วกลับมาทำภัทกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ” ภูกำพร้าที่กล่าวถึงปัจจุบันก็คือที่ตั้งของพระธาตุพนม ตรงตำแหน่งที่ต้นรังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จพักรับบาตรที่เมืองศรีโคตรบูรนั้น ต่อมาได้มีการสร้างเป็นธาตุกู่ในสมัยพระเจ้าสุมิตราช ภายหลังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนกระดูกสันหลังมาประดิษฐานไว้ในกู่ธาตุหรือพระธาตุอิงฮังนั้นเองครับ🙏 ที่มา : https://laos-travel.blogspot.com/2013/10/phathatinghang.html  พระธาตุอิงฮัง  ซื้อขันหมากเบ็งไปไหว้พระธาตุ การมานมัสการพระธาตุนั้น คนลาวนุ่งซิ่นไปไหว้พระธาตุกัน มีบทสวดมนต์เป็นภาษาลาวสำหรับไหว้พระธาตุ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาก็ต้องนุ่งซิ่นด้วยเหมือนกันครับ ถึงจะเข้าไปไหว้พระธาตุได้ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงครับกับเรื่องการนุ่งผ้าถุง เพราะที่นี่เขาได้จัดเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวแล้วครับ สาวไทยที่นุ่งกางเกงเอวต่ำเอวสูงไม่มีสิทธิเข้าไปกราบนอกจากจะซื้อบัตรผ่านแล้วไปเอาผ้าถุงมาใส่ทับกางเกงเข้าไป ซึ่งเขามีบริการสุภาพสตรีครับ ค่าบัตรผ่านก็ราคา 5,000 กีบครับ คิดเป็นเงินไทยก็ 20 บาทครับ   เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก  พระธาตุอิงฮังด้านฐานล่างเหมือนปราสาทในศาสนาฮินดู แต่ยอดบนเป็นเจดีย์แบบลาว  สิมที่อยู่ข้างๆพระธาตุ  หมาสรวง หรือ สิงห์ที่อยู่ข้างๆสิม หมาสรวง หรือสิงห์ ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศรกมหาราช ตั้งอยู่ด้านข้างสิม (สังเกตุขาได้ต่อขึ้นมาใหม่) .... ตามตำนานกล่าวว่าหมาสรวง หรือ สิงห์ ตัวนี้ได้คอยเก็บกวาดที่ฉันอาหารของพระพุทธเจ้าในครั้งกะโน้น ... ต่อมาเมืองที่ตั้งพระธาตุนี้ได้เกิดโรคระบาดขึ้น ผู้คนล้มตายลง และมีพระภิกษุองค์หนึ่งทำนายว่าเป็นเพราะหมาสรวงตัวนี้ จึงให้ตัดขาออกแล้วจับหันหน้าเข้าป่าเพื่อเป็นเคล็ดลับเพื่อให้โรคระบาดไม่มากวนอีก.  ศาลาด้านเหนือ   ชาวไทยที่มาถวายทีถังรองตะเกียงจุดน้ำมันสแตนเลสวันนี้  พระพุทธรูปรอบกำแพงแก้ว  วิหารด้านนอกกำแพงแก้ว  ขากลับเราแวะทานมื้อเที่ยงที่ร้านลาวเฮ้าส์ (Loahouse) ซึ่งอยู่ในเมืองสะหวันนะเขต บนถนนสาย 9W ซึ่งอยู่เลยวงเวียนไดโนเสาเข้าไปหน่อย (ปัจจุบันเมืองสะหวันนะเขตได้เปลี่ยนการบริหารเป็นมหานคร พร้อมๆกับ ปากเซ ท่าแขก แล้ว) ข้างร้านอาหารมีร้านขายของที่ระลึก ซึ่งมีทั้งผ้าแฮนด์เมด เหล้า บุหรี่ และอื่นๆอีกมากมายครับ .... หลังมื้อเที่ยง เราขับออกจากหน้าร้านลาวเฮ้าส์ตัดไปสู่ถนนทางออกไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 และเดินทางกลับบ้าน. มาแวะทานอาหารในเมืองสะหวันนะเขต และซื้อของฝากที่่ร้านข้างๆ  แผนที่การเดินทาง การเดินทาง -
จากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ไปตามถนนสาย 9W (เป็นถนนเชื่อมลาว-เวียตนาม จากสะหวันนะเขต> ลาวบาว > ดองอา) 2.2 กม. จะถึงวงเวียนไดโนเสา -
จากวงเวียนไดโนเสา ไปตามถนนสาย 9W อีก 6 กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปที่พระธาตุ (มีป้ายขนาดใหญ่ที่ปากทาง ถนนดี) อีก 3.6 กม. ถึงลานจอดรถ ปล. ส่วนการข้ามไป สปป.ลาว ก็คือการเดินทางไปต่างประเทศ สามารถใช้พาสปอร์ตที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปได้ หรือจะใช้บัตรผ่านแดนได้ ซึ่งบัตรผ่านแดนจะไปได้แค่แขวงสะหวันนะเขตเท่านนั้นและอยูได้ไม่เกิน 3 วัน 2 คืน (บัตรผ่านแดนทำได้ที่ด่าน ใช้เพียงบัตรประชาชนและค่าธรรมเนียม) ... ส่วน passport จะไปได้ทั่วประเทศลาวและอยู่ในลาวได้ไม่เกิน 30 วันครับ ... ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.mukdahannews.com/c-karmlaos.htm  ลาด้วยภาพพระธาตุอิงฮังภาพนี้ครับ |
ดีงามตรงที่มีคนในพื้นที่พาเที่ยวนี่ล่ะค่ะ