Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

2558 05 16 เอกซเรย์ แค่ไหนปลอดภัย เส้นทางจักรยาน

 วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ  โรคที่พบบ่อย
- เอกซเรย์ แค่ไหน ปลอดภัย ?
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
- เส้นทางจักรยาน (เลนจักรยาน) จำเป็นหรือไม่ ?
๓. ข่าวสาร การจัดงานโน่นนี่นั่น ในบ้านเรา
วันเสาร์ที่ ๑๖ พค.๕๘ เวลา ๑๘.๐๐ น. สนามชากังราวริมปิง  เชิญชม และ เชียร์ ทีมบอลบ้านเรา สโมสรกำแพงเพชร เอฟซี  บอลนอกเชียร์สุดแรง .. บอลกำแพง เชียร์สุดใจ  ^_^

อีกหนึ่งโครงการดีๆ  และ ฟรี  ... จัดโดย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
- ในวัน ศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2558 เวลา 9.00 -16.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 คณะวิทยาการจัดการ มรภ.กพ
ขอเรียนเชิญผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้สนใจเป็นเถ้าแก่ในวันหยุด และผู้สนใจทุกท่าน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและเรียนรู้ร่วมกัน เรื่อง "การสร้างเครือข่าย SME และวิสาหกิจชุมชน สู่ ASEAN"
พร้อมการรับคำปรึกษาทางธุรกิจ ที่พร้อมแบ่งปันความคิดแก่ผู้ประกอบการทุกราย โดยวิทยากรชั้นนำผู้มากด้วยประสบการณ์ทางธุรกิจ
- คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED)
- คุณวีระ เจียรนัยพานิชย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาด ลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย

***ด่วน!!! รับจำนวนจำกัด (ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น)***
***ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่เบอร์ 092-919-6561***
Link Marketing KPRU fanpage : https://www.facebook.com/pages/Marketing-KPRU/223808007709906?fref=nf

- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
- ท่องเที่ยวเทศบาลเมืองฯ ด้วยรถไฟฟ้า  จุดขึ้นรถบริเวณลานโพธิ์ ไม่ต้องจองล่วงหน้า  และ ฟรี   
รอบเช้า ๐๙.๐๐ น.  เส้นทางบุญ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเขตเทศบาลเมืองฯ ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง
รอบบ่าย ๑๖.๐๐ น.  เส้นทาง เล่าเรื่องชมเมืองชากังราว ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองกำแพงเพชร (ในเวลาราชการ) โทร ๐๕๕ – ๗๑๘ ๒๐๐ ต่อ ๓๒๒
- ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โทร ๐๙๔ – ๖๓๖ ๖๓๖๙






๑. ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย  
- เอกซเรย์ แค่ไหน ปลอดภัย ?
ปัจจุบันการถ่ายภาพรังสี หรือ การเอกซเรย์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและทำกันบ่อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการให้บริการโดยเอกชนและผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไป ก็มีความต้องการที่จะเอกซเรย์ร่างกายส่วนต่าง ๆ โดยที่อาจเป็นความเข้าใจผิด หรือ อาจไม่ทราบว่ามีผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับรังสีจากการเอกซเรย์โดยไม่จำเป็น  
ในบางครั้ง เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ก็มักจะขอให้แพทย์เอกซเรย์ให้ ถ้าแพทย์ปฏิเสธก็จะไม่พอใจ ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจว่าทำไมแพทย์จึงไม่ยอมเอกซเรย์ให้ ซึ่งแพทย์เองก็มีเหตุผล เพราะว่าการเอกซเรย์ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย โดยขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งถ้ามีปริมาณรังสีมากเกินไปก็จะเกิดผลเสียได้
ปริมาณรังสีที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ ตำแหน่งร่างกายที่เอกซเรย์ จำนวนครั้งที่เอกซเรย์ในหนึ่งปี การใส่เครื่องป้องกันรังสีเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายส่วนอื่นได้รับรังสี เป็นต้น
ปริมาณรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์ตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายมีดังนี้
เอกซเรย์ปอด            จะได้รับรังสีประมาณ  10 มิลลิแรมต่อครั้ง
เอกซเรย์กระดูกศีรษะ        จะได้รับรังสีประมาณ  40 มิลลิแรมต่อครั้ง
เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนคอ    จะได้รับรังสีประมาณ  50 มิลลิแรมต่อครั้ง
เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนอก    จะได้รับรังสีประมาณ 240 มิลลิแรมต่อครั้ง
เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนเอว    จะได้รับรังสีประมาณ 130 มิลลิแรมต่อครั้ง
เอกซเรย์นิ่วในไต        จะได้รับรังสีประมาณ 450 มิลลิแรมต่อครั้ง
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง     จะได้รับรังสีประมาณ 200 มิลลิแรมต่อครั้ง

สำหรับประชาชนทั่วไป และ หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ปริมาณรังสีที่ได้รับทั้งหมด แล้วอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือ 500 มิลลิแรมต่อปี ( 0.5 R/ปี หรือ 0.01 R/สัปดาห์) เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณรังสีที่จะได้รับในการเอกซเรย์แต่ละตำแหน่งก็จะพบว่าใน 1 ปีสามารถเอกซเรย์ตำแหน่งที่พบได้บ่อย อย่างปลอดภัย เช่น
ปอด 50 ครั้ง
กระดูกสันหลังส่วนเอว 4 ครั้ง
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง 2 ครั้ง

ค่า MPD ของ organ ต่าง ๆ และ ICRP ได้กำหนดปริมาณรังสีสำหรับบุคคลต่าง ๆ ดังนี้
อวัยวะ (organ)                 MPD rem/ปี
- อวัยวะสืบพันธุ์, เลนซ์ตา, ไขกระดูก        5
- มือ แขน ขา                    75
- ผิวหนัง, ไทรอยด์                30
- อวัยวะอื่น ๆ                    15

จะเห็นได้ว่า จำนวนครั้งที่จะเอกซเรย์ อย่างปลอดภัยใน 1 ปีนั้นไม่มากนัก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของท่านเอง ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วก็ไม่ควรจะเอกซเรย์เพราะมีแต่ผลเสีย ที่อาจเกิดขึ้นตามมาเช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่เอกซเรย์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงใน หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารก หรือ ทำให้แท้งบุตร ได้ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงจะไม่มากนักแต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรเสี่ยงกับผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
25 เร็ม    มีเลือดขาวต่ำกว่าปกติเล็กน้อย
50 เร็ม    เกิดมีรอยแผลของผิวหนัง เม็ดเลือดขาวต่ำชัดเจนขึ้น
100 เร็ม คลื่นใส้อาเจียน ผมร่วง มีอัตราการเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในระยะยาว
200-600 เร็ม     เลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง มีเลือดออกในร่างกาย มีโอกาสเสียชีวิต 50 %
600-1000 เร็ม     เม็ดเลือดขาว และ ระบบทำงานของลำไส้ถูกทำลาย มีโอกาสเสียชีวิต 80-100%
มากกว่า 1000 เร็ม เสียชีวิตใน 1-14 วัน
โดยทั่วไป แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์ เมื่อต้องการข้อมูลที่จะได้จากเอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยให้แน่นอนเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าการวินิจฉัยโรคสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องการการตรวจเพิ่มเติม แพทย์ก็จะไม่ส่งตรวจเอกซเรย์เพราะมีแต่ผลเสีย แล้วถ้าจำเป็นแพทย์ก็จะส่งตรวจให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
ดังนั้น การที่ท่านได้รับการส่งตรวจมาก ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านได้รับการรักษาที่ดี แต่อาจจะหมายความว่าท่านได้รับการตรวจทั้งที่ไม่จำเป็น ซึ่งทำให้ท่านต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาและได้รับรังสีมากเกินไป …



๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
    โครงการส่งเสริม และพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ "โครงการ ปั่นทั่วไทย Bike for all " เป็นโครงการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้สถานที่เล่นกีฬาออกกำลังกาย ส่งเสริมให้มีวิถีชีวิตอย่างพอเพียงและประหยัด สร้างความอบอุ่นให้กับสังคมและครอบครัว นำมาซึ่งความรักความสามัคคีในระดับชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนระดับประเทศชาติดังเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป
อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) โดยให้มีช่องทางขี่จักรยานให้เป็นสถานที่เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ฝึกซ้อมกีฬา และจัดกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งกำหนดรูปแบบของเส้นทางจักรยาน ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบ A ในเขตเมืองและเขตชุมชน (ครอบครัว) แบบ B ในพื้นที่สาธารณะ (การท่องเที่ยว) และแบบ C เส้นทางตามแนวถนนเลียบทางหลวง (สุขภาพ กิจกรรม และการแข่งขัน)
ที่นำเรื่องเส้นทางจักรยานมาคุยกันอีกรอบ เนื่องจากได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจาก คุณปริษา ปานพรหม ท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางจักรยาน โดยจัดทำเส้นทางจักรยาน เริ่มจาก สวนสิริจิต ริมปิง –ชุมชนอนัตสิงห์ – สภอ.เมือง- กำแพงเมืองเก่าคูเมือง-ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง-ร.ร.กพ-วท.-ถนนกะโลทัย-วัดคูยาง-ร้านอาหารกิตติโภชนา-ตลาดไนท์-สวนสิริจิต  รวมระยะทาง ๙ กิโลเมตร

ทางจักรยาน จำเป็นแค่ไหน
10 พฤศจิกายน 2557
เรื่อง: กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ในไทยเราขณะนี้ เมื่อถามคนที่ใช้จักรยาน ไม่ว่าจะเป็นนักจักรยานที่ปั่นเพื่อออกกำลังและท่องเที่ยว หรือชาวบ้านที่ใช้จักรยานเดินทางไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน หรือคนที่ยังไม่ได้ใช้จักรยาน แต่อยากจะใช้กับเขาด้วยเหมือนกัน ว่า “ต้องการอะไร” ในการขี่จักรยาน ส่วนใหญ่ที่สุดให้คำตอบที่ตรงกันคือ “ทางจักรยาน”

ทำไมต้องการทางจักรยาน? ก็เพื่อให้ขี่ได้ปลอดภัยและสะดวกน่าขี่น่ะสิ ถามต่อว่าปลอดภัยจากอะไร? ก็ปลอดภัยจากการถูกยานยนต์ทั้งหลายชนเอา สะดวกน่าขี่อย่างไร? ก็เป็นทางที่เรียบ ร่มรื่น ขี่ได้ต่อเนื่องไร้อุปสรรค

ดังนั้น “ทาง” ที่ทำให้จักรยาน แต่ไม่ทำให้คนขี่ปลอดภัยจากการถูกชน เช่น เป็นแค่การ “ทาสีตีเส้น” บนถนนที่ไม่ได้เพิ่มการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ใช้จักรยาน หรือมีการประกาศเป็น “ทางจักรยาน” ตามกฎหมาย แต่ไม่มีการบังคับใช้จริงจัง และ ในทางปฏิบัติก็ไม่อาจแยกจักรยานออกจากยานยนต์ได้ และเป็นทางที่ไม่เรียบ มีหลุมบ่อตะแกรงท่อระบายน้ำ มีป้าย เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ป้อมตำรวจ พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ฯลฯ กีดขวาง ขี่ไม่ได้ต่อเนื่อง และร้อน ไม่มีต้นไม้หรือสิ่งใดมากันแดด ก็ไม่ใช่ “ทางจักรยาน” ในความต้องการของคนใช้จักรยานที่ทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะออกมาขี่จักรยานเดินทางเป็นประจำด้วยความเต็มใจ ดังนั้นจึงไม่มีผลในการทำให้คนออกมาใช้จักรยานมากขึ้น

การทำทางให้ประชาชนขี่จักรยานได้ปลอดภัยและสะดวกน่าขี่จึงต้องเป็นข้อพิจารณาสำคัญของผู้บริหารบ้านเมืองหากจะส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงคำพูด หรือตัวหนังสือบนกระดาษ หรือการทำแบบขอไปที

มาตรการส่งเสริมการใช้จักรยานอื่นๆ ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่บทเรียนจากประสบการณ์จริงและการศึกษาอย่างเป็นระบบทั่วโลก แม้กระทั่งในทวีปยุโรปที่หลายประเทศมีสัดส่วนคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันค่อนข้างสูง ให้ผลตรงกันว่า มาตรการอื่นๆ จะช่วยให้คนออกมาขี่จักรยานประจำกันได้ราวร้อยละ 10 หรืออย่างมากที่สุดก็ร้อยละ 15 ถ้าจะให้มากไปกว่านั้นจะต้องมีระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยานที่ดี สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF)เสนออย่างชัดเจนตรงไปตรงมาเลยว่า นี่เป็นสิ่งแรกที่รัฐต้องทำและลงทุนมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในประเทศที่วัฒนธรรมการใช้รถยนต์ยังครอบงำ คนใช้จักรยานอยู่น้อย และต้องการส่งเสริมให้คนใช้จักรยานมากขึ้น

ระบบและโครงสร้างสำหรับการใช้จักรยานที่ดีนั้น นอกจากจะมี “ทาง” ที่ทำให้ใช้จักรยานได้อย่างมีหลักประกันความปลอดภัยและสะดวกน่าขี่ ซึ่งดีที่สุดคือ ช่องทางจักรยานที่แยกออกมาจากถนนที่ยานยนต์ใช้(และทางเดินเท้าด้วยจะดีที่สุด) อย่างเป็นทางการ มีเครื่องหมายและสัญญาณจราจรเป็นของตนเองและประสานเชื่อมโยงกับสัญญาณจราจรของยานยนต์เมื่อทางจักรยานกับถนนทับซ้อนกัน เส้นทางเรียบ ไม่มีอุปสรรค และร่มรื่น หรือกระทั่งเป็น “ทางลัด” ในการเดินทาง มีเครื่องอำนวยความสะดวก ทำให้น่าขี่ ดังที่กล่าวมาแล้ว ทางจักรยานยังต้องเชื่อมโยงกันเป็น “เครือข่ายทางจักรยาน” ที่ประชาชนสามารถขี่ไปยังจุดหมายในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นที่พวกเขาทำงาน ไปศึกษา ไปติดต่อราชการ ไปจับจ่ายซื้อของ ไปกินอาหาร ไปพักผ่อนหย่อนใจ หรือออกกำลังกาย ฯลฯ

การศึกษาพบว่า การลงทุนแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” กึ่งดิบกึ่งดี โดยเท่าแต่ทาสีตีเส้นบนถนนหรือบนทางเท้า หรือมีทางจักรยานแยกต่างหากจากยานยนต์ แต่เป็นเส้นที่โดดเดี่ยวแยกจากทางจักรยานอื่น หรือไม่พาผู้ใช้จักรยานไปยังจุดหมายประจำวัน อาจเพิ่มคนใช้จักรยานตามทางนั้นได้สักร้อยละ 5 เท่านั้น และยังพบด้วยว่า การมีผู้ใช้จักรยานเพิ่มขึ้นในจำนวนไม่มากในสภาพที่ระบบและโครงสร้างยังอ่อนด้อยเช่นนี้ หลายแห่งนำไปสู่การที่ผู้ใช้จักรยานสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น (ซึ่งมักจะเป็นข่าวใหญ่โต) ส่งผลลบย้อนกลับทำให้คนที่ยังไม่ได้ใช้จักรยานอยู่เกิดความกลัวไม่ออกมาใช้

ในขณะที่การสร้างเครือข่ายทางจักรยานที่ปลอดภัยคือแยกจากยานยนต์ และมีการสร้างความปลอดภัยเพิ่มในส่วนที่ต้องใช้พื้นที่ถนนร่วมกัน เช่น มาตรการจำกัดความเร็วยานยนต์ อาจเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานได้ถึงร้อยละ 40 โดยรวม และผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับตอบแทนจากการลงทุนที่ดูเหมือนว่าจะมากในขณะที่ผู้ใช้จักรยานยังมีน้อยในเบื้องต้นนั้น จะตอบแทนกลับมาเป็นทวีคูณในระยะยาว ด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน การรักษาสุขภาพประชาชน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การมีชุมชนเข้มแข็ง และเมืองทั้งเมืองก็จะเป็น “เมืองน่าอยู่” อย่างที่ใครๆก็อยากเห็น

แนวทางส่งเสริมการใช้จักรยาน จัดเป็นแคมเปญรณรงค์ เช่น “ ปั่น กิน เที่ยว “
๑. เส้นทาง Bike lane หรือ ใช้ร่วมกับรถยนต์ สี ป้ายสัญญาลักษณ์ จุดจอดจักรยาน (มีหลังคา จุดล๊อกล้อ)
๒. แผนที่เส้นทางปั่น ( bike lane ) จุดที่น่าสนใจ วัด วัง โบราณสถาน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่พักโรงแรม รีสอร์ต (ที่มีจักรยานให้เช่าถูกหรือฟรี) ชุมชน บ้านเก่า ต้นไม้ (ต้นสักต้นโพธิ์) จุดจอดจักรยาน
๓. การจัดกิจกรรมเสวนา
๔. กิจกรรม เปิด เมือง ปั่น ( car free day ) ทุกวัน ตอนเย็น
๕. กิจกรรม ท่องเที่ยวโดยจักรยาน วันเสาร์สุดท้าย กลุ่มเล็ก ๆ
๖. การจัดอบรม การขับขี่จักรยาน หรือ การดูแลจักรยานเบื้องต้น
๗. หน่วยงานราชการ ที่สนับสนุนการปั่นไปทำงาน (จัดสถานที่ อุปกรณ์ ห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์ ที่จอดจักรยาน ฯลฯ) เช่น โรงพยาบาลกำแพงเพชร ที่ว่าการอำเภอเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฎฯ ร.ร.กำแพงเพชรพิทยาคม วิทยาลัยเทคนิค ร.ร.วัชรวิทยา ร.ร.ชากังราววิทยา วิทยาลัยภักดีฯ ธนาคาร บริษัท
๘. โครงการปั่นจักรยานไปเรียน
๙. ร้านซื้อขายแลกเปลี่ยนจักรยาน อุปกรณ์ ร้านซ่อม
๑๐. ป้ายทะเบียนจักรยาน
๑๑. ประกวดภาพถ่าย จักรยานกับการท่องเที่ยว
๑๒. โปรแกรมแพคเกจ ท่องเที่ยวด้วยจักรยาน





Create Date : 25 กันยายน 2558
Last Update : 25 กันยายน 2558 21:30:22 น. 0 comments
Counter : 558 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]