Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

2558 10 30 ไข้เลือดออก งานกล้วยไข่ ศูษย์การท่องเที่ยว

 วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ : โรคไข้เลือดออก
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา :
งานประเพณี “สารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพง” งานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ที่แอบซ่อนไว้ในงานขายของและคอนเสิร์ต ?
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.574980022625529.1073741868.146082892181913&type=3
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จ.กำแพงเพชร ... ฝัน ที่ยังเป็นแค่ ฝัน ?   
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.775820445874818.1073741897.146082892181913&type=3

๓. ข่าวสารการจัดงานในบ้านเรา : 
- วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ - ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ มหกรรมอาหารพื้นบ้าน เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว เที่ยวเมืองกำแพงเพชร ครั้งที่ ๑๗  ณ ลานวัฒนธรรมสิริจิตอุทยานริมแม่น้ำปิง  อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร  ( พิธีเปิด วันศุกร์ที่ ๓๐ ตค. เวลา ๑๘.๐๐ น.)

- วันที่ ๒๑-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ งานประกวดพระเครื่องจังหวัดกำแพงเพชร ณ ตลาดเคไนท์ นครชุม
https://www.facebook.com/Jun7see/photos/a.790304551051035.1073741829.790118681069622/926603047421184/?type=3&theater

- วันที่ ๒๔ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘  งานประเพณีลอยกระทงธารประทีปกำแพงเพชร เทศบาลเมืองกำแพงเพชร

- วันที่ ๒๗-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ การแข่งขันรถยนต์ออฟโรดชิงแชมป์ภาคเหนือ2015 สนามจังหวัดกำแพงเพชร ณ บริเวณเกาะกลางแม่น้ำปิง
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.266868983436636.59497.146082892181913&type=3

- วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. งานศิลป์ในสวน ซีซั่นสอง ครั้งที่ ๕ ณ สวนสิริจิต โซนเอ เทศบาลเมืองกำแพงเพชร
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1655451221339668.1073741833.1579063952311729&type=3

- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.625007547622776.1073741882.146082892181913&type=3
- ท่องเที่ยวเทศบาลเมืองฯ ด้วยรถไฟฟ้า จุดขึ้นรถบริเวณลานโพธิ์ ไม่ต้องจองล่วงหน้า และ ฟรี  
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.611450205645177.1073741877.146082892181913&type=3


โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
    สถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทย  รายงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 6 ตค. 2558 (สัปดาห์ที่ 39)
จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก 86,460 ราย  จำนวนผู้ป่วยตาย 86 ราย  สูงกว่าปีที่แล้ว 182.91%
อัตราป่วยตาย (ร้อยละ) 0.10 ราย   สูงกว่าอัตราป่วยตายย้อนหลัง 4 ปีที่แล้ว (ร้อยละ 0.08-0.09 ราย)
จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ (คาดว่าในปี 2558 จะมีประมาณ 60,000-70,000 ราย)

การติดต่อ
ไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกสามารถมีชีวิตรอดและเพิ่มจำนวนภายในตัวของยุงลาย
ยุงลายที่เป็นพาหะนี้มีชื่อว่า Aedes aegypti เมื่อยุงลายตัวเมียบินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง เชื้อไวรัสแดงกีจะเพิ่มจำนวนในตัวยุงประมาณ 8-10 วัน (เชื้อไวรัสแดงกี่จะไปที่ผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง) เมื่อยุงกัดคนก็จะแพร่เชื้อสู่คน เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 2-7 วัน จึงเริ่มทำให้เกิดอาการ
ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือน และโรงเรียน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่นยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง
พบการระบาดมากที่สุดในฤดูฝน
ช่วงอายุของคนที่พบว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ คนอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี และ อายุ 5-9 ปี ตามลำดับ ส่วนช่วงอายุ 0-4 ปี และมากกว่า 25 ปี จนถึง 65 ปี เป็นช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนน้อยที่สุด

อาการ
ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเป็นครั้งแรกมักไม่มีอาการ หรืออาจมีเพียงไข้สูง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเบื่ออาหารเท่านั้น แต่ในคนที่ติดเชื้อนี้เป็นครั้งที่ 2 โดย เฉพาะเชื้อนั้นเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงช็อกได้ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะไข้ ระยะช็อก และระยะพักฟื้น
    ระยะไข้ หรือระยะที่ 1 ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หน้าแดง อาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่นๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระสีดำ เป็นต้น โดยอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 7 วัน
    ระยะช็อก หรือระยะที่ 2 ขณะที่ไข้ลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการทรุดลงคือ ซึมลง กระสับกระส่าย เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบา ปัสสาวะน้อย ในบางรายมีอาการปวดท้องมาก ท้องโตขึ้น หายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง บางรายมีเลือดออกมากเช่น เลือดออกในทางเดินอาหารทำให้อุจจาระสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด หรือมีเลือดกำเดาไหล ผู้ป่วยในระยะนี้อาจมีอาการช็อก ความดันโลหิต (เลือด) ต่ำ และถึงแก่ชีวิต (ตาย) ได้ ซึ่งระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1 - 2 วัน แต่ในบางราย ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก หลังจากไข้ลง ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากระยะที่ 1 เข้าสู่ระยะที่ 3 เลย
    ระยะพักฟื้น หรือระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น โดยรับประทานอาหารได้มากขึ้น ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น ในบางรายอาจมีผื่นเป็นวงขาวๆบนพื้นสีแดงตามผิวหนังโดยเฉพาะที่ขาทั้ง 2 ข้าง ผื่นมักไม่คันและไม่เจ็บ

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้จาก “ อาการ “ โดยเฉพาะอาการไข้สูง โดย ไม่มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ หรือท้องเสียร่วมด้วย ร่วมกับมีประวัติโรคไข้เลือดออกของคนที่อาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน หรือมีการระบาดของโรคในขณะนั้น โดยเฉพาะหากแพทย์ตรวจพบตับโต และกดเจ็บร่วมด้วย แพทย์จะทำการทดสอบที่เรียกว่า “Tourniquet test” โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตรัดแขนทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที หากมีจุดเลือดออกบริเวณแขนมากกว่า 10 จุดต่อ 1 ตารางนิ้ว แสดงว่าผลการทดสอบให้ผลบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้
นอกจากนี้ หากส่งตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) จะตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวค่อน ข้างต่ำ และความเข้มข้นของเลือดสูง เพียงเท่านี้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางรายหากอาการ ผลการตรวจร่างกาย และผลเลือดเบื้องต้นดังกล่าว ไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้ ในปัจจุบันในบางโรงพยาบาลสามารถส่งเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อไวรัสเดงกีได้ ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยโรคนี้แม่นยำขึ้น

โรคไข้เลือดออกมีวิธีรักษาอย่างไร?
ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง หากอาการไม่รุนแรงโรคนี้จะหายได้เอง ดังนั้นการรักษาที่มีจึงเป็นเพียงการรักษาตามอาการ และการรักษาภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
ในระยะไข้ หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ยังพอรับประทานอาหารได้บ้าง รู้สติดี ไม่ซึม แพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากไข้สูง และจากการรั่วของน้ำออกนอกหลอดเลือด และให้สังเกตอาการที่บ้าน จากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ
แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ปวดท้องมาก ปัสสาวะออกน้อย กระสับกระส่าย ซึมลง หรือมือเท้าเย็น แพทย์จะให้เฝ้าสังเกตอาการและดูแลรักษาที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะ เพื่อการเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออก ซึ่งนอกจากการตรวจวัดชีพจร และความดันโลหิตอย่างใกล้ ชิดแล้ว แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังการรั่วไหลของน้ำออกนอกหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำลง และเข้าสู่ระยะช็อกได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้เริ่มลดลง ซึ่งใช้เวลาผ่านพ้นระยะนี้เป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมง จากนั้นผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะพักฟื้นซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัย
ในระยะพักฟื้นนี้ ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น ปัสสาวะออกมากขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตปกติ

เมื่อไรจะให้กลับบ้าน
    ไม่มีไข้ 24 ชั่วโมงโดยที่ไม่ได้รับยาลดไข้ ผู้ป่วยอยากอาหาร
    ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน
    ความเข้มของเลือดคงที่
    3วันหลังจากรักษาภาวะช็อค
    เกล็ดเลือดมากกว่า 50000
    ไม่มีอาการแน่ท้องหรือแน่หน้าอกจากน้ำในท้องหรือช่องเยื่อหุ้มปอด

ข้อสำคัญของไข้เลือดออก
    ให้สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกในผู้ที่มีไข้เฉียบพลัน ไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
    หากตับโตจะช่วยสนับสนุนว่าเป็นไข้เลือดออก
    ยาลดไข้ไม่ได้ทำให้ระยะเวลาที่เป็นไข้ลดลง การให้ยาไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ยาลดไข้ที่ใช้มีเพียงชนิดเดียว คือ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) ห้ามใช้ยา แอสไพรินและไอบูโปรเฟน เพราะอาจส่งเสริมให้เกิดภาวะเลือดออกมากขึ้น
    ช่วงที่วิกฤตคือช่วงที่ไข้เริ่มลง หากเกล็ดเลือดต่ำลง ร่วมกับความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นก่อนไข้ลง ให้สงสัยว่าจะเกิดช็อค
    หากเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น 20% แสดงว่ามีการรั่วของพลาสม่า จำเป็นต้องได้รับน้ำเกลืออย่างเหมาะสม แต่ การให้น้ำเกลือก่อนที่ จะมีการรั่วของพลาสม่าไม่เกิดประโยชน์
    การให้น้ำเกลือจะให้เท่ากับพลาสม่าที่รั่ว โดยดูจากความเข้มของเลือดและปริมาณปัสสาวะที่ออก ถ้าให้น้ำเกลือมากเกินไปอาจจะเกิดน้ำท่วมปอด

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
การผลิตวัคซีนกำลังอยู่ในขั้นพัฒนา คาดการณ์ว่าจะสำเร็จและใช้ได้ในอนาคตอันใกล้

การป้องกัน
แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันนี้ คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการควบคุมยุงลายให้มีจำนวนลดลง ซึ่งทำได้โดย การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ การกำจัดลูกน้ำและตัวเต็มวัย และป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด
วิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ได้ผลดี และยั้งยืนต้องเป็นแบบบูรณการโดยการร่วมมือของทุกฝ่าย
ทั้งนี้การป้องกันทำได้ 3 ลักษณะ คือ
1. การป้องกันทางกายภาพ ได้แก่
- ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิด เช่น มีผาปิดปากโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือถ้าไม่มีฝาปิด ก็วางคว่ำลงหากยังไม่ต้องการใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่วางไข่ของยุงลาย
- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สดบ่อยๆ อย่างน้อยทุกๆ 7 วัน
- ปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม อ่างบัวและตู้ปลา ภาชนะละ 2-4 ตัว
- ใส่เกลือลงน้ำในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใส่เกลือ 2 ช้อนชา ต่อความจุ 250 มิลลิลิตร พบว่าสามารถควบคุมลูกน้ำได้นานกว่า 7 วัน

2. การป้องกันทางเคมี ได้แก่
- เติมทรายทีมีฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้และรับรองความปลอดภัย
- การพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีข้อดีคือ ประสิทธิภาพสูง แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพง และเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดพ่นและฉีดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง ควรเลือกฉีดในเวลาที่มีคนอยู่น้อยที่สุดและฉีดพ่นลงในแหล่งที่คาดว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ท่อระบายน้ำ กระถางต้นไม้ เป็นต้น
- การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงในบ้านเรือน ที่ใช้กันมี 2 ชนิด คือ ยาจุดกันยุง และสเปรย์ฉีดไล่ยุง โดยสารออกฤทธิ์อาจเป็นยาในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids), ดีท (DEET, diethyltoluamide) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สารเคมีไม่ว่าจากยาจุดกันยุงหรือสเปรย์ฉีดไล่ยุง ก็มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ ดังนั้นเพื่อลดความเป็นพิษดังกล่าวควรจุดยากันยุงในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัส ส่วนยาฉีดไล่ยุงจะมีความเป็นพิษมากกว่า ดังนั้นห้ามฉีดลงบนผิวหนัง และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด

3. การปฏิบัติตัว ได้แก่
- นอนในมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวด เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ทั้งกลางวันและกลางคืน
- หากไม่สามารถนอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวดได้ ควรใช้ยากันยุงชนิดทาผิวซึ่งมีสารสำคัญที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม (oil of citronella), น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of eucalyptus) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่ามาทาหรือหยดใส่ผิวหนังใช้เป็นยากันยุง แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่า DEET

เครดิต อ้างอิง ..
https://www.facebook.com/dengue.infection
//www.ไข้เลือดออก.com
//www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/102/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81/
//www.thaivbd.org
//www.ato.moph.go.th

งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง ๑๒ - ๒๑ ตค.๒๕๕๘
ที่พูดที่ติ ก็เพราะ อยากให้งานออกมาดี เป็นหน้าเป็นตา เป็นที่ภาคภูมิใจ พูดได้เต็มปากว่าเป็นงานประจำจังหวัดกำแพงเพชร บ้านเรา .. คนกำแพง ที่มาทำงาน เตรียมการแสดง จัดขบวน จัดสินค้าอาหารฯลฯ ทำเต็มที่ เพื่อให้งานออกมาดี ถึงแม้จะต้องรถติด ปิดถนน ค้าขายไม่ได้ ก็ยอม ... แต่ ท่าน ๆ กลับให้ความสำคัญกับ คนที่อื่น มาขายของเอาเงินเอากำไร แล้วก็กลับไปบ้านเขา ทิ้งขยะ และ ทิ้งชื่อเสีย (เสีย) ไว้ให้ มันสมควรแล้วหรือ ?

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตค.๕๘ เวลาประมาณ หนึ่งทุ่ม ผมได้เข้าไปชมงาน สารทไทยกล้วยไข่ และ ของดีเมืองกำแพง แต่เดินแค่ เตนท์ใหญ่ ตรงไปหน้าเวทีกลาง ตลาดย้อนยุคตลาดย้อนรอย และ โซนสินค้าโอทอป เท่านั้นนะคร้บ
ขอแสดงความคิดเห็น เสนอแนะฯ เพื่อช่วยกันปรับปรุงให้ งานนี้ เป็นงานประเพณี ที่เราชาวกำแพงเพชร รู้สึกภาคภูมิใจ และมั่นใจ กล้าชวนคนไกลมาเที่ยวบ้านเรา ^_^
๑. บริเวณทางเข้า มีรถพยาบาล รถตำรวจ รถกู้ภัย ? จอดเต็ม ถ้าเปิดให้โล่ง จะได้ถ่ายภาพ ฉากด้านหน้าทางเข้าให้เห็นได้เต็ม ๆ ผู้ที่ขับรถผ่านไปมา ก็จะได้เห็นความสวยงามของฉากด้านหน้า

๒. ภายในเต็นท์ ปีนี้ มีจำหน่ายกล้วยไข่สุก และ กระยาสารท (ตลาดกล้วยไข่ กระยาสารท) มีการกวนกระยาสารทให้เห็นกันชัด ๆ อีกด้วย
ใครอยากจะมาชิม มาช๊อป ก็มาที่จุดเดียวได้เลย เป็นการปรับปรุงให้สมกับเทศกาล (สารทไทย-กล้วยไข่) ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน
ข้อเสนอ - เพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "กล้วยไข่" เช่น การแปรรูปกล้วยไข่ ทำเป็นอาหาร ขนม ไอศครีม ประกวดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือ งานศิลปะ เป็นต้น

๓. พอเดินออกจากเตนท์ใหญ่ สิ่งที่เห็นก็คือ ร้านค้าเต็มไปหมด ทางเดินคับแคบ มองไม่เห็นเวทีกลาง
ข้อเสนอ - เปิดพื้นที่ตรงกลาง สี่แยกไฟจราจร ให้โล่ง พอออกจากเตนท์ใหญ่ ก็มองเห็นเวทีกลาง ที่นั่ง

๔. ที่นั่งหน้าเวทีกลาง (กินอาหาร+นั่งชมการแสดงบนเวที) จำนวนน้อยและพื้นที่แคบ คนที่จะมาชมการแสดง ก็นั่งไม่สะดวก เดินไปหน้าเวทีก็ลำบาก เสียดายการแสดงที่เตรียมกันมาอย่างดี แต่ไม่ค่อยมีคนชม ?

๕. ร้านอาหาร ตลาดย้อนยุคนครชุม ตลาดย้อนรอยชากังราว จำนวนร้านเยอะมากไปหรือเปล่า ? เพราะจัดร้านเป็น สามแถว ทางเดินแทบไม่มี แถมที่นั่งกินอาหาร ก็ไม่มี

๕. บริเวณร้านค้าโอทอป ปีนี้ ทางเข้า ด้านหน้า ด้านหลัง ทางเดิน สะดวกกว่าปีที่ผ่านมา มีคนเดินผ่านไป-มา พอสมควร
ข้อเสนอ - นำสินค้า ผลิตภัณฑ์โอทอป มาประกอบเป็นอาหารคาวหวาน (โอทอปชวนชิม) เพื่อให้ทดลองชิมรสชาติ ถ้าถูกปากถูกใจ ก็จะได้ซื้อสินค้าโอทอปไปทำเองที่บ้าน น่าจะเป็นจุดดึงดูดให้คนเข้ามาเดินในโซนนี้มากขึ้น

๖. ตัวแทนของผู้ประมูลจัดงานฯ ที่มาเดินเก็บค่าไฟฟ้า น่าจะมีเครื่องหมาย สัญลักษณ์ และ ควรออกใบเสร็จรับเงิน ให้เป็นหลักฐาน แล้วถ้าเป็นไปได้ ตอนมาเก็บเงิน ก็เพิ่มความสุภาพอีกหน่อย

๗. ราคาสินค้า อาหารในบริเวณงาน (ส่วนผู้รับเหมา) ควรมีป้ายและมีการควบคุมกำกับ ไม่ให้แพงเกินไป ( โซนตลาดย้อนยุคตลาดย้อนรอย ราคาปกติ )

๘. ปีนี้ ยังไม่มีใครบ่นเรื่อง การเก็บเงินค่าจอดรถ ริมถนน หรือ หน้าอำเภอเมือง .. น่าจะมีการแก้ไขจัดการ ก็ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

๙. มีข่าวเรื่องการทะเลาะวิวาท มีผู้บาดเจ็บ (เสียชีวิต?) หลังงานคอนเสิร์ต แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลข
ข้อเสนอ - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ รพ.กำแพงเพชร ควรมีการศึกษา การเก็บตัวเลข จำนวนผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตในช่วงการจัดงาน " ๑๐ วันอันตราย "

๑๐. มีการประมูลจัดงาน แล้วนำพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัด มาขาย เงินรายได้ นำออกไปนอกพื้นที่
ข้อเสนอ - สถิติจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ควรมีการศึกษาผลกระทบจากการจัดงานกล้วยไข่ งานนบพระ ในแง่ทางเศรษฐศาสตร์ เช่น จำนวนเงินหมุนเวียนในงาน จำนวนเงินที่ตกอยู่กับคนกำแพง (รายได้ที่ควรจะหมุนเวียนภายในจังหวัด) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการบาดเจ็บ (เสียชีวิต) การปิดถนน ฯลฯ

๑๑. ข้อเสนออื่น ๆ เช่น การจัดแบ่งพื้นที่ (แบ่งโซน) ป้ายประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ก็เหมือนกับ ปีโน้น ปีนู้น สนใจก็แวะไปแจมกันได้

ถ้าให้สรุปสั้น ๆ ก็คือ ถ้าอยากจะมา ก็แนะนำ ช่วง หกโมงเย็น ถึง สองทุ่ม .. เดินชม เต็นท์ใหญ่ (จัดนิทรรศการ) ชมการแสดงเวทีกลาง ชิมอาหารตลาดย้อนยุคตลาดย้อนรอย ชมช๊อปสินค้าโอทอป ... อย่ากลับดึกนะครับ อันตราย เพราะที่อื่น อุปกรณ์ ประกอบการดูคอนเสิร์ต เป็น ป้ายไฟ ส่วนของวัยรุ่นกำแพง แรงกว่าเยอะ มีทั้ง มีด ทั้ง ปืน T_T

ปล. บ่นเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา เดี๋ยว งานนบพระ งานกล้วยไข่ ครั้งหน้า ก็บ่นกันใหม่ ?
- งดแสดงความเห็นเรื่อง คอนเสิร์ต และ ตลาดนัด นะครับ เพราะ ผมถือว่า นั่นไม่ใช่ งานสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพง และผมก็ไม่เคยเข้าไปชมว่าเป็นอย่างไร เลยขอผ่านนะครับ ^_^
- การจัดงาน ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่อาจต้องลองช่วยกันคิดว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมี การประมูลจัดงาน ? คุ้มหรือไม่กับเงินที่ได้มา ? ภาครัฐเอกชนคนกำแพง ร่วมมือทำกันเองดีกว่าหรือเปล่า ?

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ .. งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง ๑๒ - ๒๑ ตค.๒๕๕๘
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.749777355145794.1073741894.146082892181913&type=3 

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จ.กำแพงเพชร ... ฝัน ที่ยังเป็นแค่ ฝัน ?
ประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อการออกแบบศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จ.กำแพงเพชร
โครงการศึกษาออกแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยจังหวัดกำแพงเพชรได้รับการพิจารณาฯ (จากทั้งหมด ๒๔ จังหวัด)
งบในการจ้างบริษัทศึกษาออกแบบและงบก่อสร้างจาก กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

สรุป
๑. งบประมาณ ขึ้นอยู่กับพื้นที่แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ( แบบร่างของ จ.กพ ประมาณ ๔๘ ล้านบาท) จาก กรมท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯ

๒. สถานที่ ยังไม่แน่นอน ?
- ศูนย์ท่องเที่ยว อบจ. (ที่จอดรถไฟฟ้า) ริมปิง ... อบจ. ยังไม่มี หนังสือตอบกลับ ว่าอนุญาตให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ เพราะอะไร ?
- เรือนจำเก่า (ทัณฑสถานวัยหนุ่ม) ... กรมราชทัณฑ์ ทำหนังสือไปขอใช้แต่ ไม่อนุมัติ เพราะจะเตรียมพื้นที่เผื่อไว้ว่าจะทำเป็นเรือนจำหญิง ?
- อาคาร กองการศึกษาฯ ของเทศบาลเมือง ... เทศบาลเมือง แต่ติดปัญหา พื้นที่ไม่เพียงพอ
- ศูนย์ท่องเที่ยว อุทยานฯ หน้าเรือนไทย ... อุทยานประวัติศาสตร์ฯ ติดปัญหาเรื่องของ มรดกโลก และ พื้นที่เมืองเก่าฯ
- เกาะกลางน้ำ ... เทศบาลเมือง แต่ ติดปัญหาเรื่อง การขอใช้พื้นที่ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

๓. เคยมีข้อมูลการศึกษา ของ อพท. ๒๕๕๗ โครงการศึกษาเพื่อออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการจัดตั้งศูนย์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติบริการเกาะกลางน้ำในเขตเมืองกำแพงเพชร
เสนอให้นำมาเป็นข้อมูลประกอบ

๔. มีการแสดงความเห็นเรื่อง รูปแบบการตกแต่ง การออกแบบใช้พื้นที่ ฯลฯ แต่เนื่องจาก ยังไม่

ปล. ความเห็นส่วนตัวของผม เกี่ยวกับ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จ.กำแพงเพชร

๑. ทุกที่ทุกแห่ง เป็นของราชการ แต่ไม่ใช่ของราชการ พื้นที่ เป็นของประชาชน คนกำแพงเพชร (ราชการ อปท. เป็นผู้ดูแล ไม่ใช่เจ้าของ)
จึงอยากให้ส่วนราชการ อปท. ช่วยกันหาหนทางผลักดันให้เกิดการพัฒนาฯ ในภาพรวม ซึ่งเชื่อว่า ถ้าจะทำกันจริง ๆ ก็มีหนทางที่ทำได้โดยถูกระเบียบถูกกฏหมาย ปัญหาเหลือเพียงแค่ ตั้งใจ จะทำให้ได้หรือเปล่า ?

๒. พื้นที่เหมาะที่สุดสำหรับการก่อสร้าง คือ ศูนย์ท่องเที่ยว อบจ. (ที่จอดรถไฟฟ้า) ริมปิง
เนื่องจาก ขนาดพื้นที่เพียงพอ การเดินทางสะดวก มีที่จอดรถ บรรยากาศสภาพแวดล้อมสวยงาม และ น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด
(ซึ่งถ้าได้ก่อสร้างศูนย์ท่องเที่ยวฯ ก็จะมีการออกแบบและก่อสร้างโรงจอดรถไฟฟ้า ทดแทน)

ก็ต้องฝาก นายก อบจ. คณะผู้บริหารฯ และ สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ชมรมเครือข่ายการท่องเที่ยว และ ประชาชนคนกำแพงเพชร ช่วยกันผลักดัน ให้โครงการนี้เกิดขึ้น ด้วยนะครับ

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จ.กำแพงเพชร ... ฝัน ที่ยังเป็นแค่ ฝัน ?
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.775820445874818.1073741897.146082892181913&type=3




Create Date : 30 ตุลาคม 2558
Last Update : 30 ตุลาคม 2558 16:10:08 น. 0 comments
Counter : 720 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]