Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

2558 09 19 วันมหิดล Carfreeday2015 ตอน2

 วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ : ๒๔ กันยายน วันมหิดล ร่วมรำลึกถึง “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน”
https://www.facebook.com/phanomgon/media_set?set=a.531606393521708.145417.100000170556089&type=3

๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา :
กรอบแนวทางการขับเคลื่อน ของจังหวัดและ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบจ. เทศบาล อบต.) ในการส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรด้วยรถจักรยาน ตาม มติคณะรัฐมนตรีฯ
Car Free Day 2015 เปิดเมืองปั่น 2015 @ กำแพงเพชร บ้านเรา “เดินทางร่วมกัน วันพาหนะส่วนรวม“ https://www.facebook.com/phanomgon/media_set?set=a.1162093070473034.1073742133.100000170556089&type=3
สองล้อเพื่อน้อง ของขวัญเพื่อโลก" @ กำแพงเพชรhttps://www.facebook.com/phanomgon/media_set?set=a.1133734349975573.100000170556089&type=3

๓. ข่าวสารการจัดงานในบ้านเรา :  
-วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กย.๕๘ Car Free Day 2015 จุดรวมตัวลานอนุรักษ์ฯ สวนสิริจิต ริมปิง เริ่มปั่นเวลา ๗.๐๐ น.
https://www.facebook.com/phanomgon/media_set?set=a.1162093070473034.1073742133.100000170556089&type=3

-วันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ กย.๕๘  โครงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๕๘ ณ รพ.กำแพงเพชร
เวลา ๗.๓๐ น. พิธีทำบุญตักบาตร (ข้าวสาร อาหารแห้ง) พระสงฆ์ ๒๔ รูป ณ บริเวณหน้าอาคารผู้ป่วยนอก ๖๐ ปี
เวลา ๘.๓๙ น. พิธีถวายราชสักการะ และ พิธีเปิดฯ ณ ห้องประชุมประธานกาญจนาลัย ชั้น ๔ อาคารผู้ป่วยนอก ๖๐ ปี
เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. การบรรยายผลงานวิชาการดีเด่นของโรงพยาบาลกำแพงเพชร
หมายเหตุ เวลา ๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. เชิญ ร่วมบริจาคโลหิต เพื่อถวายพระราชกุศลฯ ณ ห้องรับบริจาคโลหิต ตึก ๓ ชั้น ๒

- วันที่ ๑๒ - ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ( ๑๐ วัน ๑๐ คืน ) งานประเพณี “สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ประจำปี 2558  ณ บริเวณลานโพธิ์ สนามหน้าเมืองกำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์ วัดพระแก้ว  ต้นกล้วยไข่ยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.749777355145794.1073741894.146082892181913&type=3
- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.625007547622776.1073741882.146082892181913&type=3
- ท่องเที่ยวเทศบาลเมืองฯ ด้วยรถไฟฟ้า จุดขึ้นรถบริเวณลานโพธิ์ ไม่ต้องจองล่วงหน้า และ ฟรี   
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.611450205645177.1073741877.146082892181913&type=3

๑. ความรู้สุขภาพ : วันมหิดล
พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์ จาก เวบมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
“ วันมหิดล ” ตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ และทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ สมเด็จพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีพระนามเดิมว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ” ทรงเป็นต้นสกุล “ มหิดล ”
เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และเสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศเยอรมัน โดยในปีสุดท้ายได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาการทหารเรือแทน และสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งในปีสุดท้ายนี้ทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำด้วย ทรงได้รับยศเป็นนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน และได้รับพระราชทานยศจากเมืองไทยเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีไทยเมื่อพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ พระองค์จึงได้ลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน และเสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท ต่อมาจึงทรงลาออกจากประจำการ เนื่องจากมีทรงอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้
ครั้นต่อมา สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองและผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ขณะนั้นทรงพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนแพทย์ของไทยอยู่ในฐานะล้าหลังมากเมื่อเทียบกับทางยุโรป จึงตกลงพระทัยจะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่มีอุปสรรคคือ หาผู้มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงกราบทูลวิงวอนสมเด็จพระบรมราชชนกให้ทรงช่วยจัดการเรื่องการแพทย์ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้รับทราบถึงความขาดแคลนต่างๆในด้านการแพทย์ และการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ศิริราช จึงตกลงพระทัยจะทรงช่วย โดยเสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขและเตรียมแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งในระหว่างศึกษาต่อนี้ พระองค์ยังได้พระราชทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ อีกด้วย และที่สำคัญคือยังมีนักเรียนพยาบาลอีก ๒ คนที่ได้รับทุนจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ในขณะนั้น) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนของพระองค์อย่างดี ทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า “ เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินราษฎรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นพวกเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ”
ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว สังวาลย์ ตะละภัฎ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก่อนเสด็จกลับไปศึกษาต่อ จนสำเร็จการศึกษาสาธารณสุข ได้รับประกาศนียบัตร C.P.H. เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๔ จากนั้นได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาประทับอยู่ที่เอดินเบอร์ก แต่เดิมที่เสด็จยุโรปครั้งนี้ ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ แต่เนื่องจากทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) กอปรกับอากาศที่อังกฤษหนาวชื้น ไม่เหมาะกับโรค จึงได้เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งเมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๖ และรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระองค์ท่านเป็น อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ต่อมาได้ทรงสอนวิชาว่าด้วยกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และวิชาประวัติศาสตร์แก่นักเรียนเตรียมแพทย์
ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาและพระธิดา และในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้ศึกษาต่อวิชาแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระหว่างปีสุดท้ายทรงใช้เวลาและพลกำลังมากไปเกินเหตุ จนเป็นให้อาการพระโรคกำเริบขึ้น คณะแพทย์คิดว่าพระอาการจะไม่ฟื้นดีขึ้น จึงถวายคำแนะนำมิให้ทรงตรากตรำเข้าสอบไล่ แต่ต่อมาพระอาการดีขึ้น จึงทรงเข้าสอบจนสำเร็จได้เกียรตินิยม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omega Alpha ก่อนเสด็จนิวัติถึงพระนครเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ในครั้งนั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการไม่อาจสนองพระราชประสงค์ได้ เนื่องจากติดเรื่องพระอิสริยยศและราชประเพณี เป็นเหตุให้ไม่พอพระราชหฤทัย จึงทรงเปลี่ยนความตั้งพระทัยเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่แทน โดยเสด็จถึงเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๒ และทรงอยู่ร่วมกับครอบครัวดร.อี.ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิคในครั้งนั้น ทรงมีมหาดเล็กรับใช้เพียงคนเดียว และทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญคนหนึ่ง แม้ว่าสุขภาพจะไม่อำนวย แต่ทรงมีความสุขเป็นอันมากกับการมีโอกาสเป็นหมออย่างเต็มที่ ชั่วเวลาไม่นาน กิตติศัพท์ของพระองค์ก็แพร่หลายไปทั่วว่ามีแพทย์เป็นเจ้าฟ้ามาทรงปฏิบัติงานอยู่ที่นี่ ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาโรคที่โรงพยาบาลครั้งนั้น จึงขนานนามพระองค์ท่านว่า “ หมอเจ้าฟ้า ” เป็นที่น่าเสียดายว่าทรงประทับอยู่เชียงใหม่ไม่ถึงเดือนก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช จากนั้นทรงประชวรหนัก และได้เสด็จทิวงคตด้วยพระอาการบวมน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด) และพระหทัยวาย เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รวมสิริพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย

จะเห็นได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไพศาล โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และพระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อการแพทย์ไทยอย่างมากมายเกินกว่าจะกล่าวได้ นับตั้งแต่ทรงจบการศึกษาวิชาการทหารเรือและทรงรับราชการในกองทัพเรือ จนเมื่อทรงประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ต้องลาออก แต่ด้วยพระหฤทัยมั่นที่จะทรงเกื้อกูลประเทศชาติ ประกอบกับทรงสนพระหฤทัยในกิจการแพทย์ ก็ทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาก็ได้เสด็จกลับและทรงปฏิบัติงานร่ามกับกรมสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดเข้มแข็ง ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช ประทานเงินส่วนพระองค์จัดสร้างตึกคนไข้ จัดหาที่พักสำหรับพยาบาลได้อาศัย ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นทุนไว้สำหรับส่งนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลออกไปศึกษาต่อ ต่างประเทศ ประทานเงินจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับปฏิบัติการในโรงพยาบาล ทรงเป็นผู้แทนติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเล่อร์ให้ดำเนินการช่วยเหลือการแพทย์และพยาบาลไทย โดยปรับปรุงการศึกษา และวางมาตรฐานจนสามารถรับรองกิจการแพทย์ของประเทศได้ดังปัจจุบัน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”
นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆก็ได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช และในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ นักศึกษาแพทย์ก็ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ และต่อมาทางคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ก็มีความเห็นพร้องต้องกันว่าให้ยึดเอาวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันน้อมระลึกถึงพระองค์ โดยให้ชื่อว่า “ วันมหิดล ” และจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ และเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพ
องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๑ กองทัพเรือก็ได้ขอพระราชทานพระยศ “ จอมพลเรือ ”
ขอเชิญชวนให้ประชนชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์ที่จะเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท พระองค์ทรงกล่าวเสมอว่า “ อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรประกอบอาชีพอื่น ” 
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา :
กรอบแนวทางการขับเคลื่อน ของจังหวัดและ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบจ. เทศบาล อบต.) ในการส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรด้วยรถจักรยาน ตาม มติคณะรัฐมนตรีฯ
จากหนังสือสั่งการ จาก ผู้ว่าราชการ จ.กพ ถึง สนง.ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบจ. เทศบาลฯ)
กรอบแนวทางแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๔ กพ.๕๘ และ วันที่ ๒ มิย.๕๘ แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ดำเนินการ ดังนี้
๑. ด้านคน
๑.๑ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจังและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และ การขับขี่โดยประมาท
๑.๒ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ข้อปฏิบัติของผู้ขับขี่รถจักรยาน เพื่อความปลอดภัย ผ่านทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง
๑.๓ ให้พิจารณาสนับสนุนส่งเสริมการขับขี่รถจักรยานยนต์และการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เพื่อสร้างจิตสำนึก ความเอื้ออาทรในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

๒. ด้านรถ
ให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ใช้จักรยานตรวจสอบสภาพรถจักรยานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและมีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยให้พร้อม อาทิ สวมหมวกนิรภัย ติดแถบสะท้อนแสงที่หมวก สวมเสื้อผ้าสีสดใสหรือสีสะท้อนแสง เป็นต้น
๓. ด้านถนน
๓.๑ ให้กำหนดเส้นทาง หรือ ช่องทาง หรือ พื้นที่เฉพาะ ที่มีความปลอดภัยสำหรับการขับขี่รถจักรยาน เพื่อการสัญจร และ สันทนาการ
๓.๒ ให้ตรวจสอบและปรับปรุงผิวจราจร จุดเสี่ยง จุดอันตราย สิ่งกีดขวางข้างทางและไหล่ทาง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้จักรยาน
๔. ด้านสภาพแวดล้อม
ให้ตรวจสอบและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณข้างทาง และ จัดให้มีป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเครื่องหมายจราจร และ ไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนน และ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีโรงเรียนในสังกัด ขอให้พิจารณาส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กนักเรียนปั่นจักรยานไปโรงเรียน มีการเรียนรุ้เรื่องความปลอดภัยในการใช้จักรยานและมีการจัดการความปลอดภัยหน้าโรงเรียน





Car Free Day 2015 เปิดเมืองปั่น 2015 @ กำแพงเพชร บ้านเรา
กำแพงเพชร Car Free day วันอาทิตย์ วันที่ 20 กันยายน 2558  “ เดินทางร่วมกัน วันพาหนะส่วนรวม “
เวลา 6.00-6.30 น. รับเสื้อ
เวลา 7.00 น. กล่าวเปิด
เวลา 7.10 น.ล้อหมุน
จุดรวมตัว ลานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สวนสิริจิตร


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่เฟส เสือชากังราว(กำแพงเพชร) https://www.facebook.com/groups/201230529908351/
.......................
แนวคิดนี้ ของจังหวัดชัยนาท ก็น่าสนใจนะครับ  
"ชัยนาทเมืองจักรยาน 12 เดือนแห่งการปั่น"
//www.chainat.go.th/sub/gov_office/bike/index.html
.....................
สองล้อเพื่อน้อง ของขวัญเพื่อโลก" @ กำแพงเพชร
"""""""""""""""""""""""""""""""
โครงการสองล้อเพื่อน้อง ของขวัญเพื่อโลก โดย บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ร่วมกับตัวแทนศูนย์ประสานงานภาคและเครือข่ายจิตอาสาประจำจังหวัด ขอเชิญชวนร่วมสร้างปรากฏการณ์ระดมพลังทางสังคม เปลี่ยนจักรยานเหลือใช้ ให้เป็นโอกาส ซ่อมสภาพผุพังให้พร้อมใช้งาน รวมพลังจิตอาสาเป็นธารน้ำใจ ส่งมอบของขวัญให้เด็กๆ ในชนบท พื้นที่ขาดแคลน ทั้งโรงเรียนในระบบและนอกระบบทั่วประเทศ
จังหวัดกำแพงเพชร สามารถบริจาคจักรยาน ได้ที่ ...  อ. ชูชาติ โดรณ  โทร ๐๘๑ ๗๐๗ ๓๔๔๓
FB @Choochart Drones https://www.facebook.com/choo.dron
.................................

Choochart Drones ศูนย์ประสานงานและเครือข่ายจิตอาสาภาคเหนือ จ.กำแพงเพชร ส่งมอบจักรยานจากการรับบริจาค จำนวน ๖ คัน ให้กับโรงเรียนบ้านคลองปลาสร้อย อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
ผลงานที่ 1 ของโครงการสองล้อเพื่อน้องฯ ศูนย์กำแพงเพชรครับ รับมอบจริงส่งมอบเด็กยากจนจริง




Create Date : 25 กันยายน 2558
Last Update : 25 กันยายน 2558 22:03:49 น. 0 comments
Counter : 532 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]