รักตัวเอง

<<
มีนาคม 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
17 มีนาคม 2557
 

นักบริหาร VS นักลงทุน โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

                ผมเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง   และในขณะนี้ผมเลิกเป็นผู้บริหารและกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัวมาได้หลายปีแล้ว   เมื่อมองย้อนกลับไป   ผมคิดว่าการเป็นนักบริหารนั้น   ผมต้องมีคุณสมบัติ   หรืออย่างน้อยต้องทำเป็นว่าผมมีคุณสมบัติหลาย ๆ  อย่างที่แตกต่างจากการเป็นนักลงทุนเพื่อที่ว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตการงานได้ดี      ผมคงมีคุณสมบัติในการที่จะเป็นนักบริหารที่ดีไม่พอ  ดังนั้น  ผมจึงเลือกที่จะเป็นนักลงทุนซึ่งผมคิดว่าผมมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกว่า   และต่อไปนี้คือความแตกต่างระหว่างนักบริหารและนักลงทุน

          ข้อแรกก็คือ  นักบริหารนั้นต้องมีความคิดแบบ Active มีความกระตือรือร้นคิดทำโน้นทำนี้ตลอดเวลาหยุดไม่ได้   นักบริหารที่นั่งคิดใจเย็น ๆ  ในร้านกาแฟหรือในสนามกอล์ฟนั้น    แม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะเป็นประโยชน์ต่องานของบริษัทอย่างใหญ่หลวงแต่ก็จะถูกมองจากเจ้านายหรือคนที่เกี่ยวข้องว่าเป็นคนที่ไม่มี  “ไฟ”  ในการทำงาน   ไม่มี  “ความคิดใหม่ ๆ”  หรือเป็นคน  “ขี้เกียจ”   ซึ่งมีคุณค่าต่ำในสายตาของคนที่เกี่ยวข้อง     ในขณะที่นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  Value Investor นั้น   การทำอะไรที่รวดเร็ว  ตื่นเต้น  และมี Action ตลอดเวลานั้น  ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวมากกว่าที่จะได้ผลดี    นักลงทุนนั้นจะต้อง  “นิ่ง”  และใช้ความคิดอย่างรอบคอบโดยที่ไม่ต้องแสดงให้คนเห็น    และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะต้องตัดสินใจทำ   และนั่นก็อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่เขาต้องทำอย่างรวดเร็ว   แต่หลังจากนั้นแล้ว   เขาก็จะกลับมาใช้ชีวิตที่  “สงบ”  ต่อไปอีกนานก่อนที่จะมีรายการลงทุนใหม่ซึ่งอาจจะเป็นเดือนหรือปีข้างหน้า

          ข้อสอง   นักบริหารนั้น  มักชอบสิ่งที่  “ท้าทาย”  ชอบต่อสู้แก้ปัญหา   นักบริหารที่ประสบความสำเร็จสูง ๆ  ทั่วโลกต่างก็เป็นคนที่เคยฝ่าฟันอุปสรรค   ต่อสู้กับคู่แข่ง  และฟื้นฟูกิจการที่มีปัญหาให้กลับมาดีขึ้นได้   นักบริหารไม่ชอบทำอะไรง่าย  ๆ   ที่ดูเหมือน  “ไม่ต้องใช้ฝีมือ”   แต่จะชอบทำอะไรที่สลับซับซ้อนที่ดูแล้ว   “น่าทึ่ง”  ธุรกิจอะไรที่ดูแล้ว   “น่าเบื่อ”   ไม่ต้องใช้หรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์มักจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางของนักบริหารไฟแรงที่มีความทะเยอทะยานสูง    ตรงกันข้าม   นักลงทุนนั้น   ไม่ชอบที่จะต่อสู้กับใคร   นักลงทุนนั้น   เมื่อเจออุปสรรค   นั่นก็คือ  เจอหุ้นที่  “เลวร้าย”   หรือบริษัทที่ลงทุนอยู่มีปัญหา   เรามักจะ   “หนี”   คือขายหุ้นทิ้ง    ว่าที่จริง   สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ   พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เจอกับอุปสรรคตั้งแต่แรก   นั่นก็คือ  เลือกลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่มีปัญหาทั้งในปัจจุบันและอนาคต    วอเร็น บัฟเฟตต์  เคยพูดว่า  ความสำเร็จของเขานั้น  ไม่ใช่การฆ่ามังกรแต่เป็นการหลบหลีกมันให้พ้น

           ข้อสาม   นักบริหารที่จะประสบความสำเร็จนั้น   มักจะต้องตามกระแส   ไม่ว่าจะมีเทคนิคหรือแนวทางอะไรที่   “มาใหม่ถอดด้าม”   โดยเฉพาะจากกูรูการบริหารชื่อดังจากต่างประเทศที่มักจะมาทุก  3-4  ปี  ไล่ตั้งแต่ยุค  In Search Of  Excellence  หรือตามล่าหาความเป็นเลิศ   มาถึง  Six Sigma  มาถึง  Balance Score Card  และล่าสุด   กลยุทธ์  Blue Ocean  หรือทะเลสีคราม     นักบริหารที่ดีจะต้องพยายามนำมาประยุกต์ใช้เพื่อไม่ให้ “ตกเทรนด์”      แต่สำหรับ   Value Investor  แล้ว   เรามักยึดหลักการเดียวที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง   เรามองหาคุณค่าในราคาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน   เราไม่ตามแฟชั่นหรือหุ้นกลุ่มใหม่ ๆ  ที่กำลังมาแรง   เราไม่ตาม  Momentum  หรือ  “กระแส”  ของหุ้นหรือของตลาดหลักทรัพย์

           ข้อสี่  ซึ่งน่าจะเกี่ยวพันกับข้อสามก็คือ    นักบริหารที่ดีนั้น   มักจะต้อง  “เข้ากับคนอื่น” ได้ดี   ซึ่งนั่นอาจจะหมายความว่า   นักบริหารจะต้องฟังคนอื่นเป็นและแสดงความเห็นสอดคล้องกับคนอื่นมากกว่าที่จะคัดค้าน    นักบริหารจะต้องมีความคิดเป็นบวกและเอาใจใส่ต่อคนอื่นมากกว่าปกติ    พูดง่าย  ๆ   ก็คือ   นักบริหารที่จะประสบความสำเร็จต้องจัดการ  “เรื่องของคน” ได้ดี    ในขณะที่นักลงทุนนั้น   ไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้อง  “เก่งทางด้านคน”    ว่าที่จริง  คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ   เขาจะต้องมีความคิดที่เป็น “อิสระ” จากคนอื่นค่อนข้างมาก    เขาจะต้องไม่ใช่คนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป   เช่นเดียวกับที่ไม่มองอะไรที่เป็นลบไปหมด    เขาต้องมีใจ  “เป็นกลาง”   คือไม่มีความลำเอียงกับสิ่งที่เขากำลังพิจารณาถึง   ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ   นักลงทุนที่ดีจะต้องเป็นเหมือน   “กรรมการ”   ที่  “ตัดสิน”  คุณค่าธุรกิจต่าง   ๆ   อย่างยุติธรรมที่สุด

          สุดท้ายก็คือในมุมมองของเรื่องความเสี่ยง     ผู้บริหารนั้น   มักจะเป็นคนที่  “ชอบเสี่ยง”  หรือกลัวความเสี่ยงน้อยกว่านักลงทุน    ประเด็นก็คือ   ผู้บริหารจะตัดสินใจทำอะไรต่าง  ๆ  โดยมักจะ  “เล็งผลเลิศ”   ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเขามักจะมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่าความเป็นจริง   อีกส่วนหนึ่งก็คือ   ถ้าเขาประสบความสำเร็จ   เขาก็จะได้ผลตอบแทนมาก    แต่ถ้าเกิดความเสียหาย   ผลก็มักจะตกอยู่กับบริษัทและเขามักจะ  “โทษ”  สถานการณ์หรือองค์ประกอบอื่น  ๆ   ได้ไม่ยาก     ตรงกันข้าม   นักลงทุนนั้นกลัวความเสี่ยง    เพราะถ้าเขาพลาด  ความเสียหายทั้งหมดจะตกอยู่กับเขา   และเขาไม่สามารถโทษใครได้เลย

          ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของความแตกต่างระหว่างนักบริหารกับนักลงทุนที่ผมสังเกตเห็นและประสบกับตัวเอง   ผมเองประสบความสำเร็จจากการเป็นนักลงทุนมากกว่าการเป็นผู้บริหารมากด้วยเหตุผลที่ว่า    คุณสมบัติและนิสัยของผมนั้นอาจจะเหมาะกับการเป็นนักลงทุนมากกว่า    ตรงกันข้าม   คนที่มีคุณสมบัติของการเป็นนักบริหารมากนั้น   ผมเองขอสนับสนุนให้เขาเป็นนักบริหารมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุน   เพราะผมเชื่อว่า  คนเราควรที่จะใช้จุดแข็งของตนในการ  “แข่งขัน”  เพื่อชีวิตมากกว่าที่จะพยายามต่อสู้จากจุดที่อ่อนแอซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ยาก        




Create Date : 17 มีนาคม 2557
Last Update : 17 มีนาคม 2557 18:41:35 น. 0 comments
Counter : 336 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Hiomardrid
 
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Hiomardrid's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com