รักตัวเอง

 
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
17 กุมภาพันธ์ 2557
 

คนแคระ ของวิภาส ศรีทอง ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช

จากอดีตสีเทาหม่นสู่นวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ในแวดวงวรรณกรรมได้มากมาย

วันนี้วิภาส ศรีทองได้พิสูจน์แล้วว่า 'คนแคระ' คือความสามารถอันแท้จริงของเขา ด้วยการคว้ารางวัลซีไรต์ 2555

 หลังจากการปรากฏตัวของวิภาส ศรีทองในงานพบปะนักเขียนเข้ารอบซีไรต์เจ็ดเล่มสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คล้ายว่ากระแสสังคม (โดยเฉพาะสังคมนักอ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรม) จะเหลียวมองเขามากขึ้น ทั้งในแง่ดีและแง่ลบ แน่นอนว่าหนังสือของเขาก็สะเทือนวงการมิใช่น้อย เพราะ คนแคระ คือนวนิยายที่มีพล็อตแปลกใหม่ คนไทยไม่คุ้นเคยบวกกลวิธีเล่าเรื่องอันเนิบช้า ผลักดันผู้อ่านให้ละเมียดถึงแก่นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เป็นผู้สังเกตการณ์ต่อทุกการกระทำที่ท้าทายระดับศีลธรรมจรรยาในแต่ละผู้คน

 อย่างที่จุดประกายวรรณกรรมเคยพูดคุยกับนักเขียนคนนี้ว่า เขาบ่มกลั่นคนแคระร่วมสองปี ตั้งแต่เขียนเสร็จในช่วงปีครึ่งและแก้ไขตัดทอนอีกครึ่งปี เหตุผลแรกที่ใช้เวลานาน เพราะเนื้อเรื่องยาวมาก แต่อีกเหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าและเกือบทำให้เขาโยนคนแคระลงถังขยะเพราะ คำวิจารณ์อันหนักหน่วง รุนแรงจากเพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง

 "มีกระแสตอบรับหลายอย่างที่...เอ่อ...ส่งให้เพื่อนนักเขียนหลายๆ คนอ่าน เขาบอกว่าไม่ผ่าน ต้องไปแก้เยอะ ผมต้องตัดไปเยอะ ตัดไปประมาณเกือบร้อยหน้าเอสี่ ซึ่งถ้าเป็นกระดาษมาพิมพ์ก็เกือบๆ สองร้อยหน้า...จริงๆ มีคนบอกให้ไปเขียนใหม่หมดหรือไม่ก็โยนทิ้งไปเลย ผมก็เสียความมั่นใจนะ"

 แต่วิภาสก็ต่อสู้กับสภาวะในใจอันเกิดจากผู้อื่นหยิบยื่นให้ได้สำเร็จ เขาแก้ไขต้นฉบับที่มีปัญหาจนกระทั่งสมบูรณ์ ตีพิมพ์ และสุดท้ายก็ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปีล่าสุดไปครอง

 ซึ่งการประกาศรางวัลมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ณ ห้องเจ้าพระยา ร.ร.แมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานประกาศรางวัล ทั้งนี้ยังมีคณะกรรมการตัดสินรางวัล นำโดย ประภัสสร เสวิกุล อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและเป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัลปีนี้

 โดยคณะกรรมการเล็งเห็นว่ามีนวนิยายถึงสามเล่มคู่คี่สูสีมีดีพอจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

 ประภัสสร เสวิกุล กล่าวว่า "ในปีนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว ก็จะเหลืออยู่สามเล่ม แต่ว่าท้ายสุด เล่มแรกก็คือ ในรูปเงา ของ เงาจันทร์ เล่มที่สอง คือ ลักษณ์อาลัย ของ อุทิศ เหมะมูล และเล่มสุดท้ายคือ คนแคระ ของ วิภาส ศรีทอง"

 แต่ท้ายที่สุดต้องมีเพียงหนึ่งเดียวที่เข้าวิน และคนแคระก็เป็นนวนิยายที่ครบองค์ประกอบมากที่สุด คณะกรรมการมีคำประกาศเกียรติคุณถึงวิภาส ศรีทอง และคนแคระของเขาว่า...

 "คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2555 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง คนแคระ ของวิภาส ศรีทอง ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2555

 คนแคระของวิภาส ศรีทองเป็นนวนิยายที่เสนอปัญหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ เปิดเผยให้เห็นความโดดเดี่ยว อ้างว้างของกลุ่มคนซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมร่วมสมัย โดยสะท้อนให้เห็นการขาดความตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตนเอง และการโหยหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์แต่จำกัดขอบเขตของความสัมพันธ์นั้นไว้ ทั้งหมดนี้ผู้เขียนนำเสนอผ่านตัวละครที่แสดงความเย็นชาต่อชะตากรรมของมนุษย์ และหาทางสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตนเอง

 ผู้เขียนมีกลวิธีการเล่าเรื่องเนิบช้าทว่ามีพลัง มีการสร้างจินตภาพที่ชวนให้เกิดการตีความหลากหลาย มีการนำเสนอตัวละครที่ซับซ้อน แปลกแยกและท้าทายกฎเกณฑ์ของสังคม คุณค่าของนวนิยายเรื่องนี้จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้เกิดการสำรวจภาวะความเป็นมนุษย์ในโลกร่วมสมัย ในขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับมโนสำนึก ความรับผิดชอบชั่วดีและสารัตถะของชีวิต"

 แม้ว่าคนแคระจะเข้าเส้นชัยแล้วแต่จุดเริ่มต้นของนวนิยายซีไรต์เล่มนี้กลับเริ่มต้นจากซอยเล็กๆ ย่านบางลำพู

 "นานมากแล้ว ผมเดินเที่ยวแถวข้าวสารแล้วออกมาจากตรอกแถวๆ บางลำพู มืดๆ ผมก็เห็นคนแคระคนหนึ่ง ก็แต่งตัวดีนะ นั่งอยู่ริมทาง ดูลับๆ ล่อๆ ไม่ค่อยกล้าออกมา ผมก็เดินผ่านไปแล้วสะกิดใจมากๆ เลย ก็ชวนเขาคุย เขาก็คุยดีนะ คุยสนุก ประมาณชั่วโมง ก็ขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ ผมขอเบอร์โทรศัพท์ไว้เพราะกะจะทำหนังสั้น จะเอาคนแคระมาใส่หนังสั้น" วิภาสเล่า

 แต่ในที่สุดโครงการทำหนังสั้นก็ถูกพับไป คนแคระและหนังสั้นถูกกาลเวลาดูดกลืนหายไปไร้ร่องรอย จนกระทั่งวันหนึ่งวิภาสคิดอยากเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับเด็กชนชั้นกลางระดับสูงกลุ่มหนึ่งที่จับคนเร่ร่อนมาขังไว้ดูเล่น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียน เพราะเขาคิดว่าพล็อตเรื่องแรงไป และแทบไม่แตกต่างจากหนังสยองขวัญเกรดบี

 "ผมก็เลยลองเขียนอย่างอื่นแทน เริ่มต้นเขียนโดยไม่คิดอะไรมาก แล้วคนแคระเก่าก็กลับมา จำได้ว่าตอนที่คุยกับเขา เขาบอกว่า ผมเป็นคนต่างจังหวัด ผมมากรุงเทพฯ เพื่อมาหางานทำ ผมอยากทำเกี่ยวกับการแสดง ถ้าเป็นไปได้ แต่ทางบ้านผมเตือนมาว่าพวกคนแคระมักโดนจับ โดนวางยาแล้วจับไปแสดงละครเร่ เขาบอกเป็นเรื่องจริง ผมก็แปลกใจว่ามีอย่างนี้จริง ความทรงจำตรงนั้นก็กลับมาพอดี"

 แต่ด้วยค่าที่เป็นนักเขียน วิภาสไม่เล่าเพียงประเด็นดังกล่าว แต่ต่อยอดไปถึงสภาวการณ์ทางสังคมอีกมากมาย

 "ผมต้องการซ้อนความเหลวแหลกของคนชั้นกลางด้วย และความที่เป็นคนแคระ มันดูไม่โหดเกินไปถ้าจับคนแคระ เพราะคนแคระเป็นอะไรที่สัญญะไม่ชัด ไม่มีสัญญะตายตัว ไม่มีสัญญะสำเร็จรูปของความเป็นมนุษย์ หนึ่ง เด็กหรือผู้ใหญ่ มองแล้วก้ำกึ่ง ให้ความรู้สึกกระอักกระอ่วน เหมือนคนสองเพศน่ะ เพราะฉะนั้นการมองคนแคระมันจับอะไรไม่ได้หรอก น่ามอง แต่ก็น่ารังเกียจไปพร้อมๆ กัน"

 วิภาสยอมรับว่าขณะที่เขียน คนแคระ เขาประหวั่นมาก เพราะจากนิยายอาจกลายเป็นเรื่องสยองขวัญธรรมดาดาดๆ ได้เสมอ อีกประการ เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับการลักพาตัวพบเห็นได้มากในงานของฝรั่ง ทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์ โจทย์ของวิภาส คือ ทำอย่างไรให้ไม่ซ้ำทางกับใคร คำตอบที่เขาให้มา คือ พล็อตต้องไม่เหมือนคนอื่น ต้องเป็นต้นฉบับ ซึ่งคนแคระก็ตอบโจทย์นี้ได้ดี

 จากพล็อตอันแหวกแนว สู่การทำงานแบบวิภาส เขาเลือกใช้กลวิธีเล่าเรื่องเนิบช้า เพื่อสร้างความรู้สึกบางอย่างแก่ผู้อ่าน นับเป็นจุดเด่นอีกประการของคนแคระ ที่นวนิยายเล่มอื่นไม่มี

 วิภาสบอกว่าตั้งใจเล่าอย่างอ้อยอิ่ง เพื่ออธิบายทุกห้วงความรู้สึก ทุกเม็ดไม่มีขาดหาย ซึ่งมีกลิ่นอายคล้ายงานของนักเขียนระดับโลก อาทิ ดี.เอช. ลอว์เรนซ์

 "มันเป็นช่วงที่ผมอ่านงานของดี.เอช.ลอว์เรนซ์จริงๆ ลองไปดูสิ หนาปึ้กเลย พูดถึงความรู้สึกตัวละคร ไปดูสิ ก็โคตรเนิบนาบเลย อีกอย่าง ผมเป็นคนเขียนไดอารี่ จดความรู้สึกตัวเองตลอด เล็กๆ น้อยๆ จะไม่มองข้าม เช่น ความเบื่อคืออะไร เราต้องพยายามรู้สึก เขียนทั้งแง่กายภาพและแง่จินตภาพ บรรยายว่าความเบื่อคืออะไร ความโกรธก็มีรายละเอียดของมันนะ ผมจดไดอารี่ไว้เยอะ เหมือนหมกมุ่นเลยล่ะ ก็เลยเอาตรงนี้มาใช้"

 ทั้งพล็อตและกลวิธีของเขา ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ทอประกายคุณค่าจนเตะตากรรมการได้

 ด้าน ผศ.สกุล บุณยทัต หนึ่งในคณะกรรมการบอกว่า นวนิยายเรื่องนี้สร้างมิติใหม่ทางสังคมอย่างน่าประหลาดใจ

 "นี่คือจุดเด่นที่สุดของนวนิยายในรอบทศวรรษที่สร้างมิติของสังคมใหม่ให้ปรากฏเป็นภาพ สังคมใหม่มีรอยบาดเจ็บมาก ตัวละครมีความซับซ้อน มีความแปลกแยก แต่ละตัวเหมือนจะไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองกระทำ แต่ละตัวเหมือนจะไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสำนึกด้านในที่ปรากฏออกมา ตัวละครทั้งสี่ ทุกคนเป็นโลกแห่งความหมาย ซึ่งเป็นโลกแห่งความเร้นลับในชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน ด้วยฝีมือของวิภาสที่สร้างตัวละครเหล่านี้ให้กลายเป็นกรอบของภาวะสำนึกที่มันเจ็บปวดและขมขื่นและทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นภาวะที่เราได้ประจักษ์ถึงความทบซ้อนของชีวิตในภาวะต่างๆ และทำให้เราหันกลับมามองตัวเองว่าอย่างน้อยที่สุด ในสังคมทุกวันนี้เราก็เหมือนไม่รู้สึกตัวต่อสิ่งที่เราเป็นอยู่เช่นเดียวกัน"

 แต่ถ้าหากใครอ่านจนจบ จะพบว่าช่วงท้ายของเรื่องที่กล่าวถึงประเทศออสเตรเลียนั้นเหมือนเป็นส่วนต่อขยายที่หลายคนมองว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ทว่าคณะกรรมการไม่มองเช่นนั้น เพราะ ส่วนขยายนี้เองที่นำพาผู้อ่านไปสู่จุดสิ้นสุดอันสมบูรณ์แบบ

 "บทที่สี่ไม่ควรจะมีด้วยซ้ำ แต่บทที่สี่นี้เองคือความแปลกแยกชัดเจนที่สุด เนื้อหาและตัวละครที่รู้สึกแปลกแยกจะต้องดำเนินในภาวะแบบนี้ มันมีความหมายมากมาย ภาวะของคนที่ควบคุมอะไรไม่ได้ก็จะแสดงออกแบบนี้แหละครับ เป็นความสับสนในตัวตน เป็นความเปราะบาง แต่ภาพสุดท้ายที่เขารอคอยว่าคนแคระจะปรากฏออกมาหรือเปล่านั้นเป็นส่วนหนึ่ง งานลักษณะนี้อยู่ที่กระบวนการสร้างภาวะสำนึกหรือกระแสสำนึกในขณะนั้นออกมาอย่างไร

 นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายประเด็นให้เห็นว่า แท้จริงคนแคระมีความหมายมาก แท้จริงคนแคระคือใคร แล้วเขาจะปรากฏตัวออกมาไหม ไม่ว่าจะเป็นในโลกกว้างนี้ หรือในจิตวิญญาณของเรา แต่ถ้าเป็น Realistic ภาษาอาจเยิ่นเย้อ ภาษาของกระแสสำนึกย่อมเป็นภาษาของกระแสสำนึก" สกุล กล่าว

 ด้าน ชมัยภร แสงกระจ่าง ก็เป็นกรรมการอีกคนที่เห็นว่าตอนท้ายไม่ใช่ของเกินจำเป็น

 "จริงๆ เวลาเราอ่านถึงตรงนั้นจะรู้สึกว่าล้น จะรู้สึกว่าเกิน มันมีทำไม แต่ถ้าไม่มีที่ออสเตรเลียเรื่องจะไม่จบ เพราะเมื่อไปออสเตรเลียมันจึงไปเจอคนแคระอีกคนหนึ่ง จึงรู้ว่าที่คิดว่าลืม ไม่ได้ลืมเลย จิตสำนึกข้างในมีคนแคระตลอดเวลา คนแคระไม่ได้เป็นภาพผู้กระทำอย่างเดียว เป็นคนแคระจริงๆ เป็นคนแคระเชิงสัญลักษณ์ ในจิตด้วย เพราะฉะนั้นการสร้างฉากต่างประเทศ เป็นความจงใจ ตั้งใจ ผู้เขียนมีความสามารถม้วนเรื่องกลับมาได้"

 รศ.ดร.สรณัฐ ไตรลังคะ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินให้ความเห็นว่า คนแคระเป็นพัฒนาการของวรรณกรรมไทย

 "เป็นงานที่มีความคมแล้วซ่อนความคิดซึ่งกระตุ้นให้เกิดการตีความที่หลากหลายได้ ความรู้สึกที่ได้จากเรื่องนี้มันสะเทือนอารมณ์ ทำให้เราคำนึงถึงสภาพสังคมร่วมสมัยปัจจุบัน ว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง ไม่ว่าจะในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฉาก ของตัวละคร มันบอกอะไรเกี่ยวกับสภาวะสังคมร่วมสมัย และสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ เช่น ประเด็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ ประเด็นความโดดเดี่ยว อ้างว้าง และการพยายามเติมเต็มความอ้างว้างของชีวิต แต่การกระทำนั้นผ่านสิ่งที่ไร้ศีลธรรม ขาดความรับผิดชอบชั่วดี ซึ่งบางครั้งทำให้คิดว่ามันไม่ใช่สภาวะโลกปัจจุบันที่เราเห็นทุกวัน หลายเรื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความไร้ศีลธรรม ไร้ความรับผิดชอบ มนุษย์ทำอะไรลงไปโดยที่ไม่คำนึงถึงผลการกระทำของตัวเอง และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า นวนิยายเรื่องนี้บอกถึงสภาวะที่เป็นวิกฤตของสังคมปัจจุบันนี้ และความที่มันมีลักษณะไม่ชัดเจน มีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ทำให้เรานำไปตีความได้อย่างหลากหลาย มันสอดคล้องกับสิ่งที่เราพยายามกระตุ้นให้เกิดประโยชน์ต่อการอ่านและการครุ่นคิด

 อีกจุดหนึ่งที่มีส่วนต่อพัฒนาการ คือว่า มันอาจพ้นภาวะของมิติพื้นที่ไป มันอาจเกิดที่ไหนก็ได้ ตรงนี้กรรมการรู้สึกว่างานชิ้นนี้มันอาจเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะในสังคมไหนก็ตาม ไม่ว่าจะในภาวะร่วมสมัย ในภาวะของโลกาภิวัฒน์ พื้นที่ไหนที่อาจจะเกิดวิกฤตทางภาวะของมนุษย์ก็ไม่แตกต่างกันมาก งานชิ้นนี้จึงโดดเด่นขึ้นมา"

 ด้านประภัสสร เสวิกุล กล่าวว่า "นิยายเรื่องคนแคระเป็นการหยามหยันเสรีภาพและเสมอภาคของมนุษย์ นิยายเรื่องนี้ข้ามขอบเขตต่างๆ ไม่ว่าจะบรรยากาศของดินแดนใดดินแดนหนึ่ง เรื่องมโนธรรม มโนสำนึก กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย เราถูกจับไปอยู่ในที่ๆ หนึ่ง แล้วคนที่ถูกจับอยู่ในกรงนั้นมองได้สองด้าน อาจจะเป็นคนแคระก็ได้ อาจจะเป็นตัวละครอีกสามตัวก็ได้ หรือมากกว่านั้นคือ เราเองก็ถูกขังในกรงนั้นด้วย ความอึดอัดที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ คือความกดดันที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เราอยู่ท่ามกลางสังคม  แต่เรารู้สึกแปลกแยก รู้สึกโดดเดี่ยว สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมของคนแต่ละคนซึ่งอยู่ในมวลสารใหญ่ แต่แต่ละอณูไม่เชื่อมโยงกัน เป็นภาพของคนในสังคมทุกวันนี้ ที่เรามองผ่านตัวละครในหนังสือเล่มนี้ได้ คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่อ่านเฉยๆ แต่ต้องคิดตาม แล้วมองตาม รู้สึกตามไปด้วย แล้วจะรู้สึกรักเสรีภาพ และรักความเสมอภาคมากขึ้นด้วย"

 แม้คนแคระของวิภาสจะคว้ารางวัลมาได้ด้วยมติขาดลอย 7 ต่อ 0 เสียง แต่ถ้าหากเท้าความไปเมื่อปี 2551 ความผิดพลาดครั้งนั้นกลับมาทิ่มแทงวิภาสจนกระทั่งวันนี้ ซึ่งภายในงานประกาศรางวัลซีไรต์ 2555 จิตติ หนูสุข กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาชิกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ได้แสดงทัศนะว่า ประหลาดใจมากที่ผลออกแบบนี้

 "ผมไม่แน่ใจว่าในรอบคณะกรรมการตัดสินทั้งเจ็ดท่าน ซึ่งทุกท่านเป็นผู้ที่ผมเคารพ หลายท่านเป็นผู้ที่ผมเคารพนับถืออย่างยิ่ง แต่ผมคงต้องขอพูดความในใจ ผมไม่ทราบว่าท่านคณะกรรมการคิดอย่างไรถึงตัดสินให้ผลงานซึ่งแม้จะมีความดีเด่น ล้ำเลิศ ผมไม่สงสัยในคุณภาพของหนังสือเล่มนี้เลย ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้มีความดีเด่น แต่เราทั้งหลายในวงวรรณกรรมก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นักเขียนผู้เขียนผลงานดีๆ ผู้นี้มีความบกพร่องทางจริยธรรม โดยเฉพาะในการส่งประกวดรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2551 นักเขียนผู้นี้ได้ส่งหนังสือรวมเรื่องสั้นเข้ามาประกวด หนึ่งในตัวเรื่องสั้นเล่มนั้นได้ดัดแปลงเรื่องสั้นของนักเขียนต่างประเทศมา ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการตรวจสอบ และพบว่าเป็นความจริง นักเขียนคนนี้พอข่าวฉาวโฉ่ขึ้นมา นักเขียนคนนี้ก็หายหน้าไปจากวงวรรณกรรม 4-5 ปี แล้วปีนี้ ก็ได้บังอาจส่งนวนิยายผลงานเล่มใหม่เข้ามาประกวด กรรมการรอบตัดสินได้คิดเรื่องอะไรเหล่านี้หรือไม่ ผมคิดว่าในบ้านเมืองของเราเดือดร้อนวุ่นวายแสนสาหัส เพราะมีคนบกพร่องทางจริยธรรม และการบกพร่องทางจริยธรรมก็ได้ก้าวมาในวงการหนังสืออีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นระยะๆ ตลอดมา และผมก็คิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าโลกจะแตก"

 หากมองอย่างเข้าใจ เสียงคัดค้านนี้มิได้มีเพียงเสียงเดียว หรือกล่าวร้ายอย่างเลื่อนลอยเท่านั้น จิตติเพียงประสงค์ดีต่อวงการวรรณกรรมและเกรงว่าจะเกิดคำครหาต่อศักดิ์ศรีแห่งรางวัลซีไรต์

 แน่นอนว่าฝ่ายคณะกรรมการย่อมมีเหตุผลชี้แจงถึงกรณีนี้เป็นแน่ ผศ.สกุล บุณยทัต อธิบายว่า วิภาสได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว ตั้งแต่การออกมาพบผู้คนที่งานพบปะนักเขียนเข้ารอบสุดท้ายฯ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 "อยากให้เรามองโลกในแง่งาม ผมเคยบอกว่าถ้าวิภาสไม่ปรากฏตัวที่รามคำแหง นั่นเท่ากับว่าเขาจบบทบาทนักเขียน แต่เมื่อเขาปรากฏ ผมสืบหมดนะครับว่าหนังสือเล่มนี้เขาลอกมาไหม มนุษย์ย่อมมีการกระทำ ดังนั้นในชีวิตไม่มีใครสะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด ซีไรต์ไม่ได้ตัดสินด้วยเวลาระยะชีวิตหนึ่ง ตัดสินด้วยหนังสือเล่มเดียว นี่คือมิติสำคัญที่สุด

 ผมคิดว่าการบกพร่อมทางจริยธรรมในสังคมไทยเป็นสิ่งที่แย่มาก แต่ด้านหนึ่งสำหรับภาวะแบบนี้ เรามองภาวะเป็นภาวะนะครับ ผมได้สรุปให้กรรมการในรอบตัดสินว่าเหตุการณ์ที่ทุกคนก็ทราบ แต่ด้วยนัยยะของการตัดสินแค่เฉพาะหนังสือเล่มเดียว คุณภาพจริงๆ ก็ต้องบอกว่าดี ถึงวันนี้ โลกได้ประจักษ์ สังคมได้ประจักษ์ ขอเพียงให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองผ่านงานวรรณกรรมของเขา หรือผ่านมิติในตัวตนของเขา มิเช่นนั้นสังคมเราก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งแบบนี้ ถ้าเขาไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองครั้งใหม่ เขาต้องตาย สิ่งที่สำคัญที่สุดของการพิจารณาวรรรกรรมอยู่ที่ด้านในของวรรณกรรม"

 ด้านวิภาสเองหลังจากทราบว่าตัวเองได้รับรางวัลก็อดดีใจไม่ได้ ทว่า ยังไม่คุ้นกับชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนไป

 "พอรู้ผลก็ดีใจตามปกตินะ แต่ก็ไม่มีอัตตาเพิ่มขึ้นมา แต่ไม่ค่อยสงบเท่าไร ก็ดีในแง่ที่หนังสือจะได้ขายดีขึ้นด้วย"

 เพราะปกติวิภาสค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัวไม่นิยมออกสื่อ แต่เมื่อรางวัลซีไรต์หยิบยื่นโอกาสอันแปลกใหม่ให้ ก็น้อมรับ เขาบอกว่าพยายามให้โอกาสตัวเองสักช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ตอนนี้ตารางต่างๆ ก็เริ่มผุดพรายแล้ว

 แน่นอนว่านอกจากดอกไม้แล้วยังมีก้อนอิฐที่โถมใส่ วิภาสรับรู้ แต่ไม่แปลกใจที่ถูกขุดคุ้ยประวัติ

"ผมไม่แปลกใจ เพราะประวัติน่ะใช่ มีปัญหาจริง แต่ซีไรต์เป็นการประกวดรางวัลหนังสือ เขาตัดสินกันที่หนังสือ เข้าใจนะว่าสังคมบ้านเรามีจารีต แต่ก็ดีเพราะจะได้มีการวิพากษ์วิจารณ์"




Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2557 18:16:59 น. 0 comments
Counter : 473 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Hiomardrid
 
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Hiomardrid's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com