รักตัวเอง

 
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
21 กุมภาพันธ์ 2557
 

'รักแท้' ท่ามกลางมรสุมโรคร้าย

มรสุมของคู่ชีวิตคู่นี้ เมื่อฝ่ายชายสูญเสียความสามารถในการสื่อสาร ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ฝ่ายหญิงจะดูแลอย่างไร

ไมเคิล เฟรนช์ เคยเป็นผู้ชายในแบบฉบับที่ผู้หญิงมากมายหลายคนใฝ่ฝัน เขาฉลาด ขยัน แข็งแรง มีมารยาทและจิตใจงดงาม แต่สำหรับคู่ชีวิต เขาได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายเหลือเกินในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะเงิน ไม่ใช่เพราะกิเลส หากแต่เป็นเพราะโรคสมองเสื่อม

เขาค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการสื่อสารและความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปอย่างช้า ๆ และในที่สุด เขาไม่พูดกับภรรยาอีกเลย แม้ในระหว่างรับประทานอาหารมื้อเย็นด้วยกัน

 “ในช่วงปี พ.ศ. 2549 ฉันรู้สึกว่าเขากลายเป็นคนอีกคนที่ฉันแทบไม่รู้จัก ตอนนั้นฉันคิดจะยุติปัญหาด้วยการหย่า” นางรูธ เฟรนช์ วัย 66 ปี กล่าวเปิดใจ “แต่พอฉันรู้ว่าเขาป่วย ฉันไม่เคยคิดถึงเรื่องแยกทางกันอีกเลย เขาไม่ได้อยากจะไม่พูดกับฉัน เขาแค่พูดไม่ได้”

  ความผูกพันระหว่างคนทั้งสองเคยแน่นแฟ้นแนบแน่น ทั้งคู่ครองรักกันมานานกว่า 30 ปีและเคยสัญญากันในวันแต่งงานว่า "จะอยู่เคียงข้างกันไม่ว่าจะยามสุขหรือยามทุกข์"

  “ฉันร้องไห้อย่างหนักในวันที่รู้ว่าเขาป่วย ฉันขอโทษเขาครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะฉันตีความการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาผิดไปหมด” นางเฟรนช์ กล่าว

 ในช่วงวัย 50 ปีปลาย ๆ  นายเฟรนช์เริ่มมีพฤติกรรมแปลกแยกจากคนอื่น จนเป็นเหตุให้เขาต้องเปลี่ยนงานครั้งแล้วครั้งเล่า กระนั้นก็ตาม ด้วยประวัติการทำงานที่ดีเยี่ยมในสมัยวัยหนุ่ม ส่งผลให้เขาหางานใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้เสมอ จนถึงวันที่เขาโดนไล่ออกจากงานครั้งสุดท้ายในวัย 66 ปี

  "ฉันได้ยินหัวหน้าของเขากรี๊ดอย่างหัวเสียเลยตอนที่โทรมาไล่เขาออก” นางเฟรนช์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อห้าปีก่อน
 ในวันนั้นเอง นายเฟรนช์ตัดสินใจใช้ชีวิตแบบคนวัยเกษียณและเริ่มปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท เพื่อตรวจหาสาเหตุการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

  “พอหมอบอกว่าสมองของเขาฝ่อ ฉันยืนยันกับเขาทันทีว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะผ่านมันไปด้วยกัน ฉันจะอยู่ข้าง ๆ เขาเสมอ” นางเฟรนช์กล่าวถึงคำมั่นสัญญาที่เธอมอบให้กับชายซึ่งอยู่ในดวงใจของเธอเสมอมาในวันที่มืดมนที่สุดวันหนึ่งของคนทั้งคู่

  ในช่วงแรก ชีวิตของทั้งคู่มิได้ยากลำบากมากนัก เพราะอาการของนายเฟรนช์มิได้ทรุดลงทันที ทั้งคู่ยังคงพูดคุยกันบ้างถึงการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ เพื่อรอรับมือกับสิ่งที่จะเดินทางมาถึงในวันข้างหน้า บ่อยครั้งนายเฟรนช์ยังจะเดินไปรอรับภรรยากลางทางเมื่อเธอเดินทางกลับจากการสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ที่สนใจเรียนภาษานี้เป็นภาษาที่สอง
 “เวลาฉันเห็นเขาเดินตรงมาหาฉันแล้วยิ้ม ฉันจะรู้สึกว่าเขาหล่อจังเลย ทุกครั้งที่ฉันเห็นเขา ฉันคิดอย่างนี้ตลอด” นางเฟรนช์บอกเล่าความรู้สึก

  ทว่า หัวใจรักของเธอมิอาจพิชิตได้ทุกอุปสรรค เพราะผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมมีพฤติกรรมหลายอย่างที่คาดเดาไม่ได้ วันหนึ่งเธอกลับมาบ้านและพบว่าเขากำลังอยู่ที่เตาโดยที่ไม่รู้ตัวว่าถุงมือกันความร้อนของเขากำลังเริ่มติดไฟ

  “ฉันหัวเสียมากจนตีเขาไปหลายที อะไรจะเกิดขึ้นกับเขา ถ้าฉันกลับมาไม่ทันและฉันก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าฉันจะทำอะไรได้บ้าง” นางเฟรนช์กล่าว “หมอให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยรายอื่นมาบ้าง แต่ผู้ป่วยโรคนี้แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป”
 ฝันร้ายของเธอเกิดขึ้นจริงในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2552 เมื่อวันหนึ่งในขณะที่เธอออกจากอพาร์ทเมนท์ไปทำงาน สามีของเธอประสบอุบัติเหตุตกบันไดจนเป็นเหตุให้กระโหลกศีรษะร้าว นับตั้งแต่นั้นมา เขาต้องอยู่ในรถเข็นตลอดเวลาและสุขภาพของเขาก็อ่อนแอลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองอีกเลย

  แม้นางเฟรนช์จะตัดสินใจจ้างผู้ช่วยมาคอยดูแลเขาอีกแรง แต่ผู้ช่วยก็มิได้ทำงานเต็มเวลา ดังนั้น ภาระส่วนใหญ่ในการดูแลผู้เป็นสามีจึงยังคงตกอยู่ที่เธอ

 เธอแปรงฟันให้เขา เธอพาเขาขึ้นเตียงเพื่อนอนหลับ เธอป้อนอาหารเขาและปรนนิบัติผู้เป็นสามีอย่างเต็มความสามารถ แม้ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงรูปร่างบอบางที่มีปัญหาอย่างมากกับการเคลื่อนย้ายผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า
 นางเฟรนช์ข้อมือเจ็บ มีแผลในกระเพาะอาหาร เครียดจนคุมการขับถ่ายปัสสาวะของตัวเองไม่ได้และน้ำหนักลดอย่างน่าใจหาย

 แต่สิ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจและจำใจส่งตัวสามีเข้าสถานดูแลผู้ป่วยแบบค้างคืนในที่สุด คือ อุบัติเหตุภายในห้องน้ำในคืนหนึ่ง อันที่จริงคืนนั้นกำลังดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น เธอแปรงฟันให้เขาและหันไปเก็บแปรงของเขาอย่างเรียบร้อยแต่แค่ในช่วงเวลาพริบตาเดียวนั้นเองที่เธอหันหลัง เขากลับพลัดตกจากรถเข็นลงไปในอ่างอาบน้ำและเธอต้องกระเสือกกระสนอย่างหนัก เพื่อหาทางยกตัวเขาออกจากอ่าง

 ในคืนนั้นเองที่เธอเริ่มคิดอย่างจริงจังว่า ชีวิตของทั้งคู่อาจกำลังตกอยู่ในอันตรายและเธอจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงมันเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

  “ทุกครั้งที่ฉันพูดกับเขาเรื่องสถานดูแลผู้ป่วย ฉันจะร้องไห้ ฉันแน่ใจว่าเขารู้ว่าฉันไม่เคยอยากส่งตัวเขาออกไปจากบ้าน" นางเฟรนช์กล่าว

 ในวันที่เธอเอ่ยปากบอกสามีเรื่องการเตรียมย้ายเขาไปสู่สถานดูแลผู้ป่วย นายเฟรนช์ตอบกลับว่า "เธอทำดีที่สุดแล้ว”
 แม้จะเป็นเพียงประโยคสั้น ๆ แต่ทุกถ้อยคำมีความหมายกับนางเฟรนช์เหลือเกิน เนื่องจากเธอรู้ดีว่าโรคสมองฝ่อได้กัดกินสมองในส่วนที่ควบคุมความสามารถทางการใช้ภาษาของสามีไปแล้ว

 "เขาจะต้องใช้ทุกพลังที่เขามีอยู่ในตัวเพื่อจะเอ่ยถ้อยคำเหล่านั้นออกมา” นางเฟรนช์กล่าว

 แม้นายเฟรนช์จะย้ายไปอยู่สถานดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่ความรักระหว่างคนทั้งคู่มิได้สิ้นสุดลง เธอยังคงมาเยี่ยมเขาเกือบทุกวันและใช้เวลากับเขาวันละหลายชั่วโมง เธอยังคงเป็นคนโกนหนวดให้เขาและมักจะปีนขึ้นเตียงไปนอนงีบกับเขาด้วย

 แพทย์เคยบอกกับนางเฟรนช์ว่า สามีของเธอมิได้สูญเสียความทรงจำอย่างที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เป็น"เขาจะยังคงรู้จักคุณ" แพทย์อธิบายถึงสายใยที่นางเฟรนช์ยังคงรู้สึกได้ในยามที่สามียิ้มมาครั้งหนึ่ง นางเฟรนช์ลองถามชายผู้เป็นดั่งดวงใจของเธอว่า “เธอเก็บหัวใจของฉันไว้ที่ไหน”
  นายเฟรนช์ยิ้มตอบและเอามือมาแตะบริเวณหัวใจของตัวเอง

home 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10




Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2557 14:30:29 น. 0 comments
Counter : 1076 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Hiomardrid
 
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Hiomardrid's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com