รักตัวเอง

<<
พฤษภาคม 2557
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
31 พฤษภาคม 2557
 

กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

หัวใจของคนเราที่มีขนาดเท่ากำปั้นมืออยู่ภายในกลางทรวงอกค่อนไปทางด้านซ้ายนั้น ประกอบไปด้วย กล้ามเนื้อซึ่งพันกันไปมามีรูปร่างดูภายนอกคล้ายๆ ดอกบัวตูม  ภายในแบ่งออกเป็นห้อง 4 ห้อง

หัวใจห้องด้านล่างซ้าย ซึ่งสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนของอวัยวะต่างๆ  นั้นมีเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมาก เพราะมีหน้าที่ปั๊มเลือดออกจากหัวใจให้ได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

กล้ามเนื้อของหัวใจนี้ คล้ายๆ กับกล้ามเนื้อที่อยู่ตามแขนขา ต่างกันตรงที่ต้องทำงานหดรัดตัวเป็นจังหวะตามสัญญาณกระแสไฟที่มากระตุ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาได้พักผ่อนเหมือนที่แขนขา กล้ามเนื้อเหล่านี้ต้องมีความแข็งแกร่ง (คือ ทำงานได้อย่างต่อมาก เพราะสามารถทำหน้าที่สูบฉีดเลือดออกจากหัวใจได้มากถึง    5 – 7 ลิตรต่อนาที  ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณมากโขอยู่สำหรับอวัยวะเล็กๆ เท่ากำปั้นมือ

มีโรคหลายๆ ชนิดของหัวใจซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ได้ตามปกติ  คือ อ่อนแรงลง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกไปได้ตามความต้องการของร่างกาย  ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา…..

…..เมื่อไม่นาน..คนไข้รายหนึ่งมีปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้รับการวินิจฉัยมาจากที่อื่นแล้ว แต่ผู้ป่วยต้องการมาปรึกษาเพราะหมอคนเดิมที่รักษาอยู่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางเรื่องโรคหัวใจ ไม่สามารถหาสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงที่เกิดขึ้นได้

คนไข้มีประวัติเพิ่มเติมว่า ปกติแข็งแรงดี อายุเกือบ 50 ปี อยู่ๆ มาวันหนึ่งขณะที่ไปประชุมในต่างประเทศอากาศเย็นจัด ขณะที่กำลังเดินช๊อปปิ้งอยู่ เกิดมีอาการเหนื่อยหอบขึ้นอย่างกระทันหันโดยที่ไม่มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกร่วมด้วยจนต้องกลับไปนอนพักที่โรงแรม และเมื่อพักสักระยะหนึ่งอาการดีขึ้นบ้างแต่ยังรู้สึกเพลียและไม่ค่อยมีแรงจึงไม่ได้ออกไปเที่ยวต่อ…. ทนอยู่อีกวันสองวันจนได้กลับมาเมืองไทยก็สังเกตว่าอาการเหนื่อยนั้นไม่ดีขึ้น ยังมีอาการเหนื่อยง่าย บางครั้งเดินออกกำลังเพียงแค่ระยะทางสั้นๆ ก็ต้องหยุดพัก  ซึ่งไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน  และก่อนที่จะพบกัน 5 – 6 วัน เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบกลางดึกหลังจากเข้านอนไปแล้ว เมื่อลุกขึ้นนั่งก็รู้สึกอาการดีขึ้น

คนไข้รายนี้ ไม่มีประวัติไขมันในเส้นเลือดสูง  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง หรือประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ  แต่มีประวัติสูบบุหรี่ค่อนข้างจัดมาหลายสิบปี

ก่อนพบผมสองวัน คนไข้ไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง ได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงซึ่งเมื่อได้รับประทานยาขับปัสสาวะ อาการต่างๆ ก็ดีขึ้นบ้างเหลืออาการเหนื่อยหอบอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ยังนอนราบไม่ค่อยได้

ผมได้ทำการตรวจร่างกายพบว่า หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติเล็กน้อย 104 ครั้ง / นาที แต่สม่ำเสมอดี  ความดันโลหิต 110 / 80 มิลลิเมตรปรอท  การตรวจฟังเสียงปอดไม่พบว่า มีน้ำคั่งในปอดหรือภาวะบวมตามขาทั้งสองข้าง ซึ่งอาจจะพบได้ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว  แต่อย่างไรก็ดีผลเอ็กซ์เรย์ปอดและหัวใจพบว่า   เงาหัวใจค่อนข้างโต การตรวจ Echo Cardiogram หรืออัลตร้าซาวด์ของหัวใจก็ยืนยันว่า หัวใจโตและมีการบีบตัวของหัวใจลดน้อยลงมาก ค่าความแรงการบีบตัวของหัวใจคนทั่วๆ ไปจะอยู่ประมาณ 50 – 70% แต่ในรายนี้มีค่าการบีบตัวของหัวใจเพียง  30% เท่านั้น

ผมจึงอธิบายให้คนไข้ทราบว่า เขามีภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจริงตามที่เขาได้รับการตรวจมานั้นถูกต้องแล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลงนั้นอาจเกิดได้หลายสาเหตุจากการตรวจแค่นี้ยังไม่สามารถบอกได้

สาเหตุที่พบบ่อยในผู้ชายอายุขนาดนี้ คือ ภาวะของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตายหรืออ่อนแรง การบีบตัวของหัวใจจึงเบาลงตามไปด้วย

อีกสาเหตุหนึ่งของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง คือ ภาวะขาดวิตะมินบีบางประเภท โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ดื่มสุราจัด หรือผู้ป่วยบางรายที่ดื่มสุราแล้วแพ้สุรา ก็จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลงจากสุราโดยตรงได้ (Alcoholic Cardiomyopathy) ได้    ภาวะต่อมไทรอยด์ (อวัยวะที่เป็นก้อนอยู่บริเวณคอ) เป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (คือ ตรงข้ามกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ) ทั้งสองชนิดนี้อาจจะทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลงได้ เช่นเดียวกับภาวะติดเชื้อไวรัสบางประเภทซึ่งมีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อหัวใจ        เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส (Virus Myocarditis) ก็จะทำให้หัวใจอ่อนแรงลง

นอกจากนี้ สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงอื่นๆ ซึ่งอาจพบได้นานๆ ครั้งหนึ่ง เช่น ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของกล้ามเนื้อ โรคกล้ามเนื้อบางประเภทหรือผลข้างเคียงจากการรักษาจากยารักษาโรคมะเร็งบางชนิดก็อาจมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้

แต่ในคนไข้รายนี้เป็นผู้ชายอายุเกือบ 50 ปี มีประวัติสูบบุหรี่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งน่าจะเป็นต้นเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงมากที่สุด คือ

เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัยดังกล่าว พร้อมกับประเมินความรุนแรงของโรคด้วย ผมจึงได้ทำการฉีดสีเอ็กซเรย์ดูหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด คือ พบหลอดเลือดหัวใจตีบทั้ง 3 เส้น จึงได้แนะนำให้ทำการผ่าตัดบายพาส (Bypass) เพื่อที่จะแก้ไขภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหวังว่ากล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะกลับทำงานขึ้นมาได้ดีอีกครั้งหนึ่ง!!

คนไข้ค่อนข้างดื้อ กลัวการผ่าตัดมาก ไม่อยากมีแผลยาวๆ ที่กลางหน้าอก และไม่อยากเสี่ยงต่อการดมยาสลบ จึงปฏิเสธการผ่าตัดและขอให้รักษาด้วยการขยายหลอดเลือด โดยใช้ขดลวดชนิดพิเศษซึ่งมียาเคลือบแทน เนื่องจากขดลวดพิเศษชนิดนี้ สามารถลดโอกาสตีบซ้ำใหม่ของหลอดเลือดหัวใจลงไปได้เหลือน้อยกว่า 1% ที่ระยะเวลาประมาณ 1 ปี (ซึ่งดีกว่าผลของการผ่าตัด!! แต่ทำไม่ได้ในทุกรายไป)

เมื่อคุยเข้าใจผลดีและผลเสียของการรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ผมจึงได้ใส่ขดลวดเคลือบยาให้ไปในหลอดเลือดทั้งสามเส้นพร้อมทั้งแนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ด้วย  ซึ่งคนไข้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีรวมทั้งยังได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออีก (เพราะกลัวตาย!!……) หลังจากกลับบ้านไปได้สองเดือนเศษ ก็กลับมาเพื่อให้ผมดูผลการรักษาที่ทำไป ผลการตรวจพบว่า การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้นจนเกือบปกติแล้ว (ยังไม่ปกติ) และสามารถออกกำลังกายโดยการวิ่งเบาๆ ได้เป็นเวลา 30 นาทีทุกวัน

ผมเลยไม่แน่ใจว่า คนไข้ดีขึ้นจากผลการขยายหลอดเลือดหรือเพราะปฏิบัติตัวดี คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและเลิกสูบบุหรี่??   ……..หรือเพราะทั้งสองอย่าง!!……….

นิธิ มหานนท์





Create Date : 31 พฤษภาคม 2557
Last Update : 31 พฤษภาคม 2557 9:37:37 น. 0 comments
Counter : 3526 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Hiomardrid
 
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Hiomardrid's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com