In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

ความเชื่อที่อันตรายของ VI

VI จำนวนไม่น้อยที่ผมได้พบเห็น โดยเฉพาะตามเว็บไซต์ต่างๆ มักมีศรัทธา หรือความเชื่อที่ยึดมั่นใน "แนวทาง VI" อย่างมั่นคง

จนผมรู้สึกว่า "มากเกินไป" ส่วนหนึ่งของความเชื่อนี้ อาจเป็นเพราะ "ความสำเร็จของ VI" ทั้งในระดับโลกอย่าง วอร์เร็น บัฟเฟตต์ และปีเตอร์ ลินช์ และ "เซียน VI ไทย" จำนวนมากในช่วงเร็วๆ นี้  ที่เสนอแนวทางแบบ VI อย่างกว้างขวางและภาคภูมิ จนทำให้แนวทางอื่นในเรื่องการลงทุนกลายเป็นเรื่องที่อาจไร้สาระ หรือตลกในสายตาของ VI ที่ติดตามศึกษาทฤษฎี VI อย่างเข้มข้น และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก  

แน่นอน ความเชื่อเหล่านี้ เป็นสิ่งดีที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้เราไขว้เขวไปจากแนวทางที่ถูกต้อง แต่ถ้ายึดมั่นเกินไป บางครั้งอาจเป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะจะไม่ยืดหยุ่น และถ้าเกิดความผิดพลาด ความเสียหายจะมากกว่าปกติ ลองดูว่าความเชื่อ หรือศรัทธาเรื่องไหนที่ผมเห็นว่าเราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เรื่องแรกคือ เชื่อว่าเราสามารถคำนวณ Intrinsic Value หรือมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้แม่นยำ และผิดพลาดมากในระดับทศนิยม และถ้าราคาหุ้นต่ำกว่านั้นมาก ทำให้เรามี  Margin Of Safety (MOS) มากพอ เราก็จะซื้อหรือถือหุ้นไว้ไม่ว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร หลายคนพร้อม "ตีแตก" ถ้า  MOS  สูงลิ่ว

ประเด็นคือ มูลค่าที่แท้จริง ถ้าจะคำนวณจริงๆ ต้องมีสมมุติฐานสำคัญคือ ต้องรู้ว่ากำไรของบริษัทในอนาคตระยะยาวมากเป็นอย่างไร เงินสดหรือปันผลที่เราจะได้เท่าไร และจะโตอย่างไร นอกจากนั้น ต้องรู้ถึงต้นทุนของเงินทุนในตลาดด้วย ทั้งหมดนั้น ถ้าเปลี่ยนแปลงผิดจากที่คาดไว้ แม้เพียงเล็กน้อย มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย  

หลายคนอาจใช้สูตรง่ายๆ แบบหยาบๆ เช่น ใช้ค่า PE ว่า กิจการควรมีค่า PE 15 เท่า ถ้ารู้ว่ากำไรปีนี้จะเป็นเท่าไร ก็หามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้ แต่นี่ไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริงแน่ๆ ยกเว้นว่า กำไรของบริษัทปีต่อๆ ไปอีกยาวนาน ในอนาคตไม่ลดลง และค่า PE ยังเป็น 15 เท่า ไม่ใช่ 7 เท่า 

ในความคิดของผม มูลค่าที่แท้จริงที่เราคิดไว้ จะเป็นช่วงที่กว้างไม่ใช่เลขตัวเดียว ที่จริงผมสนใจเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ต่ำที่สุดที่ผมคำนวณได้ ส่วนมูลค่าหุ้นที่สูงที่สุด ผมแทบไม่สนใจที่จะคำนวณ เหนือสิ่งอื่นใด มูลค่าหุ้นเติบโตและลดลงได้ตามเวลาที่ผ่านไป

เรื่องที่สองคือ  VI จำนวนมากไม่เชื่อเรื่อง  Efficient Market หรือตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาคิดว่า "นายตลาด" ผิดพลาดเสมอ นายตลาดเป็นคนที่ "คุ้มดีคุ้มร้าย" ตามที่เบน เกรแฮม บอกไว้ เขาให้ราคาหุ้นที่ไม่มีเหตุผล บางครั้งก็สูงเกินพื้นฐานมาก บางครั้งก็ต่ำกว่าพื้นฐาน เราสามารถฉกฉวยประโยชน์โดยซื้อหุ้นที่มีราคา "ถูมากๆ" หรือขายหุ้นที่มีราคา "แพงมากๆ" ได้

ผมก็เชื่อว่าหุ้นบางตัว และตลาดหุ้นบางสถานการณ์ มีหุ้นที่มีราคาแตกต่างจากมูลค่าพื้นฐานจริงๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ถูกละเลยไม่มีคนสนใจ และเป็นหุ้นขนาดเล็ก แต่หุ้นที่มีขนาดใหญ่ หรือหุ้นที่มีคนซื้อขายและติดตามมากๆ หรือเป็นหุ้น "ยอดนิยม" ราคาหุ้นอาจจะสะท้อนพื้นฐานได้ใกล้เคียง  

พูดง่ายๆ ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยเหมาะสม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำกำไรได้สูงมากๆ แบบง่ายๆ ได้ ดังนั้น "นายตลาด" ก็คือคนทุกคนที่มาเล่นหุ้นตัวที่เรากำลังเล่นอยู่  บางครั้งอาจจะเห็นว่าคนอื่น รู้น้อยกว่าเรา จำนวนมากเล่นหุ้นโดยไม่เคยวิเคราะห์ด้วยซ้ำไป 

แต่อย่าลืมว่า มีคนอื่นอีกหลายคน ที่อาจรู้มากกว่าเรา ที่สำคัญ พวกเขามี "น้ำหนัก" หรือเม็ดเงินสูงมาก ถ้าคำนวณแล้ว อาจมีฝีมือ หรือความรู้ในตัวหุ้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว ผลคือ ที่คิดว่าเรา "แน่" นั้น ที่จริงเราเป็น "หมู" อย่าลืมว่าแม้แต่ เบน เกรแฮม ก่อนตายยังยอมรับว่า ตลาดหุ้นอเมริกาได้พัฒนาจน "มีประสิทธิภาพ" ไม่เหมือนสมัยที่เขาเสนอแนวการลงทุนแบบ VI ย้อนหลังไปหลายสิบปี

เรื่องที่สามคือ ความเชื่อที่ว่า ถ้าต้องการทำผลตอบแทนการลงทุนที่สูงต่อเนื่องยาวนานได้ ต้องซื้อหุ้นที่ Undervalue หรือหุ้นถูก และขายหุ้นที่ Overvalue หรือ Fair Value หรือหุ้นที่แพง หรือเต็มมูลค่า ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ได้ผลตอบแทนปีละ 30-40% หรืออาจมากกว่านั้นได้ในระยะยาวอาจเป็นสิบๆ ปี ด้วยวิธีนี้  เราอาจถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยไม่เกินหนึ่งปี   

การที่ได้ผลตอบแทนสูงแบบนี้ได้ เพราะหุ้นแต่ละตัว เมื่อมีราคาถูก เป็นหุ้น VI จะมีโอกาสมี  Rerate หรือการปรับราคาใหม่ คือมีช่วงที่หุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วๆ บางทีเป็นเท่าตัว หรือหลายเท่าตัว เมื่อมีคนมาพบและ "แห่" เข้ามาซื้อ ทำให้ราคาขึ้นไปแรงมาก ทำให้หุ้นอาจไม่ Undervalue ต่อไป จึงต้องขายทำกำไรไปหาหุ้นตัวอื่น พวกเขาคิดว่า การซื้อแล้วถือไว้ยาวนาน จะไม่มีทางทำกำไรได้มาก เพราะระยะยาว แม้แต่หุ้นระดับ "ซุปเปอร์สต็อก" มักมีกำไรเติบโตไม่เกิน15-20% ต่อปี ซึ่งราคาหุ้นจะวิ่งไปตามผลกำไร คือปีละประมาณไม่เกิน 15-20%

เหตุที่ผมคิดว่า ความเชื่อนี้อันตรายอยู่ที่ว่า ทำให้เรามีแนวโน้มเป็น Trader หรือนักเก็งกำไรแทนจะเป็นนักลงทุน ในระยะสั้นๆ ช่วงตลาดหุ้นบูม การเทรดหุ้นอาจทำกำไรได้ดีปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ติดต่อกันบางที 3-4 ปี แต่ระยะยาว ถ้าช่วงตลาดไม่ได้เอื้อ การทำกำไรแบบนั้นเป็นเรื่องยาก การที่ถือหุ้นที่เป็นบริษัทยอดเยี่ยมและทำกำไรปีละ 15-20% ต่อเนื่องยาวนานจะปลอดภัยกว่า และผมเชื่อว่าโดยรวมจะให้ผลตอบแทนดีกว่า

สุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงคือ ความเชื่อที่ว่า หุ้นที่มีค่า  PE และ PB  ต่ำมาก คือหุ้นที่มีราคาถูกและเป็นหุ้น VI แน่นอนโดยไม่ได้พิจารณาลึกซึ้งถึงพื้นฐานของกิจการ อันตรายของความเชื่อคือ ประการแรก ค่า B หรือมูลค่าทางบัญชีของบริษัท เป็นมูลค่าอดีตที่บริษัทลงทุนไปในรูปการซื้อทรัพย์สินเช่น โรงงาน อุปกรณ์ แต่มูลค่าที่แท้จริง หรือราคาตลาดของทรัพย์สิน อาจน้อยกว่ามาก 

ตัวอย่างคือมูลค่าโรงงานและเครื่องจักรสิ่งทอของบริษัทเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ ตอนที่ต้องปิดกิจการ ราคาขายเท่ากับเศษเหล็ก ดังนั้น PB ที่ต่ำต่อเนื่องจึงอาจไม่มีความหมาย ต่อมาเมื่อค่า PE ลดลงต่ำมากเช่นกัน แต่นี่อาจเป็นเพราะกำไรในปีนั้นดีขึ้นมาก เพราะภาวะอุตสาหกรรม เช่น ราคาสินค้า หรือวัตถุดิบที่เป็นโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น หรือลงชั่วคราวที่ทำให้กำไรของบริษัทกระโดดขึ้นเพียงปีหรือสองปี  

หลังจากนั้นค่า PE อาจกลับมาสูงอย่างเดิม ดังนั้น ค่า PE ที่เห็นว่าต่ำ ก็ไม่มีความหมายเช่นเดียวกัน สรุปแล้ว แม้หุ้นจะมีทั้งค่า  PE และ PB ที่ต่ำมาก ก็ไม่ได้เป็นหุ้นถูก ถ้าเราเข้าไปลงทุน และคิดว่าเรากำลังเจอหุ้นที่เป็นสุดยอด VI เราอาจขาดทุนได้มากอย่างไม่น่าเชื่อได้

//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120925/471304/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-VI.html




 

Create Date : 27 กันยายน 2555    
Last Update : 27 กันยายน 2555 20:43:52 น.
Counter : 1089 Pageviews.  

วิถีของ Zappos

Zappos.com คือ ร้านขายรองเท้าและเสื้อผ้าออนไลน์ ที่เริ่มต้นจากศูนย์ในปี1999 และภายในเวลาแค่สิบปี บริษัทก็ทำยอดขายได้สูงถึง

หนึ่งพันล้านดอลลาร์ต่อปีโดยอาศัยงบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายน้อยมาก

วิธีดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจนประสบความสำเร็จอย่างสูงของZappos ได้ "เข้าตา" ร้านค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง อเมซอน และทำให้ อเมซอน ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ Zappos ด้วยการแลกหุ้นมูลค่ารวม 1.2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2009

Tony Hsieh ผู้ร่วมก่อตั้ง Zapposเป็นคนที่เชื่อในเรื่องการสร้างความแตกต่างด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็น อย่างมาก เขากล่าวว่า ถ้าหากเราทำให้บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีเยี่ยมแล้ว ข้อได้เปรียบอย่างอื่นๆ ก็จะตามมาเอง เขาใช้การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นเครื่องมือที่ทำให้พนักงานบริการลูกค้า อย่างดีที่สุด และกระตุ้นไอเดียใหม่ๆ ในการปรับปรุงองค์กร จนได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก และทำให้ Zappos ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูนให้เป็นองค์กรที่น่าทำงานมากที่สุด ลำดับที่ 6 ของสหรัฐ ในปี 2011

ถ้า Hsiehไม่เชื่อเรื่องคุณภาพของคนและไม่ได้เลือกใช้มันเป็นเครื่องมือในการสร้าง ความแตกต่างทางธุรกิจตั้งแต่แรก Zappos ก็อาจเป็นเหมือนกับร้านค้าออนไลน์อีกจำนวนมากที่ผุดขึ้นมาในยุคหลังๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะล้วนพยายามแข่งขันกับรายใหญ่ๆ ด้วยการลดต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งนั่นคือ เกมที่รายใหญ่ที่ทำมาก่อนนานแล้วได้เปรียบเป็นอย่างมาก

ต่างกับการเลือกสร้างความแตกต่างโดยใช้วัฒนธรรมองค์กร อันเป็นเรื่องที่องค์กรขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้เปรียบองค์กรเล็กเสมอไป มันจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่องค์กรขนาดเล็ก จะสามารถใช้เอาชนะองค์กรขนาดใหญ่ได้อย่างดี

Zappos มีนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลหลายอย่างที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทให้เวลากับกระบวนการคัดเลือกพนักงานมากกว่าบริษัท ทั่วไป (ทั้งที่บริษัทต้องรีบโต) การที่ ผู้บริหารทำงานใกล้ชิดกับพนักงานระดับล่างทำงานแบบเดียวกับลูกน้องได้ คอยกระตุ้นให้พนักงานเสนอไอเดียใหม่ๆอยู่เสมอ และให้รางวัลกับคนที่เสนอไอเดียใหม่ทั้งที่ทำแล้วพลาด ตลอดจนการเขียนคู่มือวัฒนธรรมองค์กรประจำบริษัท ขึ้นมาจากการรวบรวมข้อเขียนสั้นๆ โดยพนักงานแต่ละคน เป็นต้น Zappos ยังเลือกที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานในระดับล่างในอัตราที่สูงกว่าค่า เฉลี่ยของตลาด แต่จ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานระดับบนในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เพื่อลดช่องว่าง ระหว่างพนักงาน

การที่วัฒนธรรมองค์กรต้องอาศัยกิจกรรมหลายๆอย่างในการสร้างขึ้นมา จึงทำให้มันเป็นข้อแตกต่างที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก และทำให้เลียนแบบได้ยากโดยคู่แข่งขันด้วย

ในบรรดาไอเดียเกี่ยวกับการคัดสรรบุคลากรหลายอย่างของ Zapposมีไอเดียหนึ่งที่เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมาก คือ การที่พนักงานใหม่ของ Zappos ทุกคนจะต้องเข้าคอร์สฝึกอบรมที่ยาวนานและเข้มข้นก่อนจะได้บรรจุงานจริง โดยได้รับทั้งความรู้ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตลอดจนได้มีส่วนรวมในการปฏิบัติงานจริงกับพนักงานปกติของบริษัทเป็นช่วงระยะ เวลาหนึ่งด้วย

ทีเด็ดของเรื่องนี้อยู่ตรงที่หลังจากจบคอร์สฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว ในวันสุดท้ายของการอบรมบริษัทจะเสนอเงินก้อนจำนวนหนึ่ง (ราว 4,000ดอลลาร์ หรือประมาณ 1.2 แสนบาท) ให้กับพนักงานใหม่ทุกคนที่ยินดีลาออกจากบริษัทเดี๋ยวนี้เลย เพื่อไปหางานใหม่

การเสนอเงินรางวัลดังกล่าวก็เพื่อลดต้นทุนให้กับพนักงานใหม่ที่ค้นพบตัว เองว่าเข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท แต่ก็ยังเลือกทำงานอยู่กับบริษัทต่อไป เพราะว่าไม่อยากตกงาน หรือต้องหางานทำใหม่ การเพิ่มเงินรางวัลนี้ช่วยทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในเวลาเดียวกัน คนที่ปฏิเสธเงินดังกล่าว เพราะอยากได้ทำงานต่อกับบริษัทย่อมแสดงว่า การได้ทำงานที่นี่เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับพวกเขาจริงๆซึ่งโดยสถิติแล้ว มีพนักงานใหม่ที่เลือกรับเงินก้อนดังกล่าวราวๆ 2% ของพนักงานใหม่ที่เข้าอบรมทั้งหมด

การยอมเสียทั้งเวลาและเงินจำนวนมากไปกับกระบวนการคัดสรรพนักงานนั้น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะการที่เรารับพนักงานที่ดีคนหนึ่งเขาทำงาน เขาจะทำสิ่งดีๆให้กับบริษัทอีกนับเป็นพันๆ อย่าง หลังจากนั้น ในขณะที่ การรับพนักงานที่ไม่ดีเข้าทำงานหนึ่งคน เขาอาจสร้างปัญหาให้บริษัทต้องตามแก้ได้อีกมากมายไม่รู้จบหลังจากนั้น

สำหรับองค์กรแบบ Zappos แล้วยังไงก็คุ้มครับ




 

Create Date : 26 สิงหาคม 2555    
Last Update : 26 สิงหาคม 2555 21:25:05 น.
Counter : 2602 Pageviews.  

งานแรกของ 9 มหาเศรษฐีวอลล์สตรีท

ใครๆ ก็อิจฉาความสำเร็จของมหาเศรษฐีวอลล์สตรีท แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า "งานแรก" ของ 9 นักลงทุนขั้นเทพเริ่มต้นจากอะไร

ผู้คนมักมองหน้าฉากความสำเร็จของเหล่ามหาเศรษฐีโลก ลืมมองเบื้องหลังว่ากว่าจะขึ้นมาถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง มหาเศรษฐีวอลล์สตรีทหลายคนก็ไม่ได้เริ่มต้นงานแรกในแวดวงการเงิน แต่เป็นงานส่งหนังสือพิมพ์ เด็กรับรถ กระทั่งเร่ขายหมากฝรั่ง ก้าวแรกเล็กๆ ในวัยเด็กมีทั้งเพื่อหาเงินไว้กินขนม นำไปจ่ายค่าเล่าเรียน และใช้ในการดำเนินชีวิต

9 เซียนวอลล์สตรีทผู้ยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นจากงานเล็กๆ ได้แก่ 1."วอร์เรน บัฟเฟตต์" เจ้าของอาณาจักรเบิร์กไชร์ แฮททาเวย์ ผู้ติดอันดับต้นๆ ของมหาเศรษฐีโลก คุณปู่บัฟเฟตต์เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ในฐานะพ่อค้าหมากฝรั่ง เขายังซื้อสินค้าไปขายต่อให้ลูกค้าโดยตรง ซึ่งรวมถึงนิตยสารและโค้ก ไม่รวมงานส่งหนังสือพิมพ์ ในขณะที่เด็กน้อยคนอื่นๆ ยังวิ่งเล่นกันอยู่

ประธานและซีอีโอของเบิร์กไชร์ฯ วัย 81 กะรัต เป็นหนึ่งในนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จมากสุด และติดอันดับมหาเศรษฐีในทำเนียบฟอร์บสที่มีทรัพย์สินมากถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์

2."แซนดี้ เวลล์" อดีตซีอีโอของซิตี้กรุ๊ป ย้อนกลับไปในช่วงกลางยุค 1950 เวลล์ทำงานขายสมุดหน้าเหลืองในนิวยอร์กซิตี้ แม้จะใช้เวลายาวนานกว่านั้นไปกับการเล่นเกมในร้านเกมตู้ หลังจากนั้นโชคชะตานำพาเขาเข้าสู่แวดวงวอลล์สตรีทในตำแหน่งงานสนับสนุนประจำบริษัทโบรกเกอร์

เวลล์ ไต่เต้าขึ้นถึงตำแหน่งซีอีโอและประธานบริษัทซิตี้กรุ๊ป ทั้งยังได้ฉายา "บิดาของแนวคิดแบงก์แบบครบวงจร" หรือแบงก์ที่มีธุรกรรมหลากหลายคล้ายซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ไม่นานมานี้เวลล์ออกมาส่งเสียงให้แยกงานในแบงก์ขนาดใหญ่ๆ

3."ที. บูน พิกเกนส์" นักลงทุนด้านน้ำมันชื่อดัง เริ่มต้นงานแรกในช่วงวัยรุ่นด้วยการส่งหนังสือพิมพ์ เขาสามารถเพิ่มยอดขายจากการขยายเส้นทางจัดส่ง ผ่านการควบรวมกิจการของเด็กส่งคนอื่นๆ

ปัจจุบัน พิกเกนส์เป็นประธานบริษัทบีพี แคปิตอล แมเนจเมนต์ ซึ่งเน้นลงทุนด้านพลังงาน นิตยสารฟอร์บสประเมินความร่ำรวยของพิกเกนส์อยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์

4."จูเลียน โรเบิร์ตสัน" อดีตผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์มือทอง ทำงาน 2 ปีในกองทัพเรือสหรัฐหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา ชาเปล ฮิลล์ เขาเริ่มต้นงานในแวดวงการเงินที่บริษัทคิดเดอร์ พีบอดี้ แอนด์ คอมปะนี ในตำแหน่งพนักงานขายฝึกหัด ก่อนจะก่อตั้งไทเกอร์ แมเนจเมนต์ คอมปะนี กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ประสบความสำเร็จมากสุด แม้จะต้องปิดตัวไปในปี 2543 โดยฟอร์บสประเมินความมั่งคั่งของโรเบิร์ตสันอยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์

5."เรย์ ดาลิโอ" นักธุรกิจที่มีชื่อติดทำเนียบ 100 ผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์ในปีนี้ เข้าสู่โลกแห่งการทำงานตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยเป็นแคดดี้ในสนามกอล์ฟที่บรรดาผู้คนในแวดวงวอลล์สตรีทนิยมเข้าไปใช้บริการ เขาเก็บหอมรอมริบค่าจ้างที่ได้เพื่อนำไปซื้อหุ้น ดาลิโอเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่ "บริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอตส์" และถูกขนานนามให้เป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในโลก ฟอร์บสคำนวณความรวยของดาลิโอไว้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์

6."ลอยด์ แบลงค์ไฟน์" ซีอีโอและประธานของโกลด์แมน แซคส์ ในช่วงวัยรุ่นเขาหาเงินพิเศษด้วยการเป็นนายหน้าขายสัมปทานธุรกิจในสนามแยงกี้ สเตเดียม และเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางน้ำ ค่าตอบแทนโดยรวมของแบลงค์ไฟน์ในปี 2554 อยู่ที่ 16.1 ล้านดอลลาร์

7."ไมเคิล บลูมเบิร์ก" เศรษฐีและนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 3 สมัย เคยทำงานเป็นเด็กรับรถในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ เพื่อหาเงินเป็นเค่าเล่าเรียน

เขาเริ่มต้นงานในแวดวงการเงินที่โซโลมอน บราเธอร์ส เมื่อปี 2509 กระทั่งถูกเลย์ออฟในปี 2524 ก่อนจะก่อตั้งบริษัทของตัวเองจนกลายเป็นอาณาจักรสื่อยักษ์ใหญ่ "บลูมเบิร์ก" ฟอร์บสประเมินความรวยของเขาอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์

8."จอห์น สตัมฟ์" นายธนาคารชื่อดังที่เริ่มต้นงานแรกด้วยการทำขนมปังในร้านเบเกอรี่ หลังจากได้เกรดย่ำแย่เมื่อครั้งเรียนมัธยมจนต้องเลิกไปในที่สุด เขาเป็นลูกหม้อที่ร่วมงานกับธนาคารเวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค ยาวนาน 30 ปี จนไต่เต้าขึ้นมาเป็นซีอีโอและประธาน เขาได้ผลตอบแทน 19.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2554

9."ชาร์ลส ชวาบ" ขายวอลนัทเป็นงานแรกในชีวิต ก่อนจะกลายเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานบริษัทชาร์ลส ชวาบ คอร์ปอเรชั่น บริษัทโบรกเกอร์ชื่อดัง ฟอร์บสประเมินว่าชวาบมีทรัพย์สินราว 3.5 พันล้านดอลลาร์

//bit.ly/QbpV4A




 

Create Date : 26 สิงหาคม 2555    
Last Update : 26 สิงหาคม 2555 20:53:04 น.
Counter : 1427 Pageviews.  

เงินคือพระเจ้า

ถ้าให้ผมจัดลำดับแนวความคิด หรือสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่สุดในโลก ที่ทำให้โลกนี้เจริญก้าวหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าหนึ่งในนั้น คือ "เงิน"

ดังนั้น คำพูดที่ว่า "เงินคือพระเจ้า" น่าจะมีความเป็นจริงอย่างยิ่ง นี่เป็นเรื่องที่พูดโดยรวม เป็นการพูดระหว่างเงินกับมนุษยชาติ ถ้าไม่มีเงิน มนุษยชาติก็ยังล้าหลัง และเราทุกคนที่อ่านบทความนี้ ก็จะลำบากกว่าที่เป็นอยู่นี้มาก ตัวผมเอง ก็คงต้อง "อดมื้อกินมื้อ" เพราะความสามารถที่จะไป "ทำมาหากิน" ดูจะน้อยกว่าคนอื่น ผมน่าจะทำเก่ง หรือทำเป็นเฉพาะอย่าง ส่วนอย่างอื่นรวมถึงอาหาร ผมต้อง "ซื้อมากิน" และการซื้อ ต้องใช้เงินเป็นหลัก  สำหรับผมแล้ว "เงินคือพระเจ้า" แน่นอน

ก่อนที่จะมีเงินเกิดขึ้นในโลก มนุษย์มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน นี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้คนแต่ละคน สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง ซึ่งทำให้เขามีประสิทธิภาพสูงขึ้น  แทนที่คนสองคนต่างก็ปลูกข้าวและผลไม้เพื่อเอาไว้กิน ก็ให้คนหนึ่งปลูกข้าวและอีกคนหนึ่งปลูกผลไม้ แล้วเอาข้าวครึ่งหนึ่งมาแลกกับผลไม้ครึ่งหนึ่ง แบบนี้ทั้งคู่จะได้ข้าวและผลไม้มากขึ้น เพราะแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในการปลูกมากกว่าต่างคนต่างปลูก การแลกเปลี่ยนสินค้า มนุษย์เราทำมานานเป็นหมื่นปี นับจากที่เราเริ่มเป็นเกษตรกร และน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดมนุษย์ขึ้นในโลกด้วยซ้ำ เพียงแต่เมื่อมนุษย์ตั้งถิ่นฐานแล้ว การแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้นมากมาย เพราะเราสามารถผลิตอาหารได้มากเกินกว่าการบริโภคส่วนตัว จึงต้องนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่นจากคนที่หันไปทำอาชีพอื่น สังคมของการแลกเปลี่ยนดำรงอยู่เป็นพันๆ ปี

การเกิดขึ้นของเงิน น่าจะมาจากความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้า ที่เป็นรายการเล็กๆ ที่ทำให้การใช้สินค้ามาแลกกันไม่สะดวก ดังนั้น ก้อนโลหะ ที่หายาก จึงเริ่มถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว  ซึ่งเกิดขึ้นในย่านตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์ ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมแรกๆ ของโลก ต่อมาช่วง 2,500-2,700 ปีที่ผ่านมา โลหะ เช่น บรอนซ์ เงิน และทองถูกนำมาใช้เป็นเงิน โดยการขึ้นรูปเป็นแบบต่างๆ เช่น ทำเป็นรูปมีด หรือพลั่ว ในจีน และเป็นเหรียญ ในตุรกี เป็นต้น โดยแต่ละแบบมีค่าแตกต่างกัน แม้แต่ในไทย เมื่อ 200 ปี  เรา ใช้เงินพดด้วง ซึ่งจะมีคุณลักษณะคล้ายๆ กัน ในการเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนสินค้า
เงินที่เป็นกระดาษ หรือ "แบงก์" เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่เกิน 1,000 ปี ในจีนตามที่มาร์โคโปโลได้เขียนบันทึกไว้ เมื่อเขาเดินทางมาเมืองจีน ดูเหมือนว่าเงินกระดาษที่ว่านั้น ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก คงคล้ายๆ กับเงิน "กงเต๊ก" ค่าที่ว่าคุณภาพของกระดาษคงจะแย่มากจนมันขาดวิ่นได้ง่ายๆ เมื่อใช้ผ่านไปไม่กี่มือ ส่วนเงินกระดาษยุคใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ซึ่งก็คือ "ใบรับฝากทอง" ที่คนเอามาใช้แลกสินค้าแทนทองและโลหะต่างๆ และนี่คือ สิ่งเดียวที่ผมรู้จัก และใช้เมื่อผมยังเป็นเด็ก 

บัตรเครดิตเป็นนวัตกรรมของเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะซื้อขายแลกเปลี่ยนของผู้คนข้ามประเทศและทั่วโลก แนวความคิดบัตรเครดิต เริ่มในสหรัฐอเมริกา โดยคนที่ออกบัตรแรกๆ คือ ธุรกิจที่เห็นผลประโยชน์ที่จะให้เครดิตแก่ลูกค้าที่มาซื้อของ นั่นคือ  ลูกค้าจะชอบ และกลับมาซื้อของอีก เพราะ "ซื้อเชื่อ" ได้ ต่อมามีร้านค้ามากขึ้น ที่เข้ามาร่วมเป็น "ชมรม" โดยการรับบัตรเครดิตของบริษัทอื่นๆ เมื่อลูกค้ามาซื้อของที่ร้าน แนวความคิดและการเริ่มใช้บัตรเครดิต เพิ่งจะเริ่มไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง แต่บัตรเครดิตที่เป็นทางการ หรือเป็นบัตรที่ใช้ได้ทั่วไปอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ เพิ่งเริ่มเมื่อปี 1950 หรือประมาณ 60 ปีมานี้เอง โดยบริษัท ไดเนอร์สคลับ ต่อมาบริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส ได้ออกบัตรเครดิตที่ใช้ได้ทั่วโลกในปี 1958 และนี่คือ บริษัทที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์  ได้ซื้อหุ้นจำนวนมากแบบ "ตีแตก" ในช่วงต้นๆ ของชีวิตการลงทุนของเขา

ถ้าจะพูดถึงบทบาทของเงิน นอกจากจะเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญมากอีกสองสามเรื่อง  เรื่องแรก คือ เป็นเครื่องมือเก็บสินค้า หรือข้าวของต่างๆ ที่เราทำได้มากเกินกว่าที่เราจะใช้ได้หมด นั่นคือ เราแปลงเป็นเงินแล้วเก็บรักษา และลงทุนให้งอกเงยขึ้น เพื่อในอนาคต เมื่อเราไม่มีแรงที่จะทำงาน หรือทำมาหากิน ก็เอาเงินที่เราเก็บไว้ มาใช้ซื้อสินค้าที่เราต้องการได้ นอกจากนั้น เงินจะเป็นตัวบอกถึงความมั่งคั่งที่เรามี ทำให้รู้ว่า เรามีศักยภาพที่จะใช้สินค้าต่างๆ ได้เท่าไร ซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าเรา มี "อิสรภาพ" ในการอยู่ได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องทำมาหากินได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ในสังคมที่ไม่มีเงิน หรือมีเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น สังคมที่ยังใช้แลกเปลี่ยนสินค้า หรือใช้เงินที่เป็นเหรียญโลหะอยู่ จะไม่สามารถทำได้ ลองนึกถึงมนุษย์ยุคหิน ที่ยังต้องหาของป่าล่าสัตว์อยู่ว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าคุณเกิดมาไม่แข็งแรง หรือคุณเจ็บป่วย หรือแก่ตัวลงไม่สามารถหากินได้?

เงินทำให้คนทำงานหนัก เพื่อเก็บสะสมสิ่งที่จะต้องใช้ในวันข้างหน้าไว้ เงินทำให้คนทำงานที่มีประโยชน์ หรือมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ เงินทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งที่มนุษย์ต้องการ และสร้างความก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติ   เพราะงานเหล่านั้น "ทำเงิน" มากกว่างานอื่น  แน่นอน  งานบางอย่าง อาจไม่ได้สร้างคุณค่าแต่ก็ทำเงินได้มาก เพราะเป็นเรื่องของการหลอกลวงและเอาเปรียบคนอื่น งานบางอย่างดูเหมือนว่าจะทำได้อย่างสบายๆ แต่ได้เงินมาก ขณะที่งานบางอย่างต้องทำอย่าง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" แต่คนทำกลับได้เงินน้อยแทบไม่พอกิน ความแตกต่างกันของความมั่งคั่งที่เกิดจากการทำงานบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีนักในสังคม โดยเฉพาะการคิดว่าคนที่มีเงินมาก มี "ความโลภ" มีเงินแล้วไม่รู้จักพอ หรือเห็นเงิน เป็น "พระเจ้า" หรือต้องทำทุกอย่างเพื่อเงิน เป็น "ทาส" ของเงิน แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกคนต้องพึ่งเงิน อยากมีเงินมากขึ้น

ในฐานะของคนที่เคยเป็นคนที่แทบจะไม่มีเงินเลย และกลายเป็นคนที่มีเงินเหลือเกินพอ และในฐานะของคนที่เคยทำงานแบบอาบเหงื่อต่างน้ำ แต่ได้เงินน้อยมาก และกลายเป็นคนที่ทำงานอย่างที่ดูเหมือนว่าแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ได้เงินมากมาย ผมอยากบอกว่า เงินนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ที่จริงช่วย "นำทาง" ให้รู้ว่าเราควรทำอะไรได้มากมาย การทำอะไรโดยไม่คิดถึงเงินเลย ผมคิดว่าไม่ยั่งยืน แต่ก็เช่นเดียวกัน การทำอะไรคิดถึงแต่เรื่องเงินอย่างเดียว ผมคิดว่าก็ไม่ยั่งยืน และจะนำไปสู่หายนะได้

สิ่งสำคัญที่สุดในประเด็นของเรื่องเงิน คือ อย่าไปคิดว่าเงินกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน เงินจะซื้อความสุขได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว เงินที่มากเกินก็ไม่สามารถซื้อความสุขเพิ่มขึ้นได้ ที่จริงอาจกลายเป็นความทุกข์ได้ ถ้าเราหมกมุ่นกับมันมากเกินไป ดังนั้น เวลาคิดถึงเงิน คิดถึงว่ามันคือ "พระเจ้า" แต่เราจะต้อง "บูชา" อย่างถูกต้อง

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR





 

Create Date : 09 สิงหาคม 2555    
Last Update : 9 สิงหาคม 2555 22:15:56 น.
Counter : 989 Pageviews.  

เล่นบอล-เล่นหุ้น

ผมเองไม่ใช่ "คอบอล" ที่จะยอมอดหลับอดนอน เพื่อดูการแข่งขันนัดสำคัญอย่างฟุตบอลยูโรที่กำลังเล่นอยู่ระยะนี้


ผมคิดว่าเกมและกติกาเกี่ยวกับฟุตบอล สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นได้ อย่างน้อยก็สองเรื่องดังต่อไปนี้

ข้อแรก คือ เรื่องการพนันบอล หรือ "แทงบอล" กับเจ้ามือที่เป็นบริษัทรับพนันบอลชั้นนำที่อยู่ในต่างประเทศ ผมไม่เคยเล่นพนันบอล แต่รู้ว่า เราสามารถเล่นพนันว่า ทีมไหนจะชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลหลังจากจบการแข่งขัน ในการพนัน แน่นอน "เซียน"  หรือคนที่ติดตามการแข่งขันฟุตบอลมาตลอด จะรู้ว่าทีมไหนที่เก่ง หรือมีฝีเท้าดี และมีโอกาสที่จะได้แชมป์มากกว่าทีมอื่น

ดังนั้น  โอกาสที่เขาจะทายถูกก็จะสูงกว่าคนที่ไม่รู้อะไรมากนักอย่างผม ดังนั้น ถ้าเขาแทงทีมที่โดดเด่นสัก 3-4 ทีม โอกาสจะถูกก็คงมีสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับการที่ผมจะแทง เซียนบอลที่ว่า อาจจะไม่ได้กำไรจากการเล่นพนันบอล เหตุผลเพราะการแทงบอล เขามี "อัตราต่อรอง" สำหรับแต่ละทีมที่เข้าแข่งขัน อัตราต่อรองนี้ ทำให้การแทงทีมที่เราคิดว่าเป็นทีมที่เก่งกาจ เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าได้ 


ตัวอย่างเช่น ถ้าทีม A เป็นทีม "เต็งหนึ่ง" ที่คนในวงการบอลมองว่า มีฝีเท้าดีเยี่ยม อัตราการต่อรองจะต่ำ เช่น ถ้าแทงว่าทีม A จะชนะด้วยเงิน 1 บาท  และทีม A ชนะจริง เราอาจจะได้เงินรางวัลเพียง 2 บาท แต่ถ้าทีม B เป็น ทีม "รองบ่อน" โอกาสชนะน้อย อัตราการต่อรองจะสูง เช่น แทง 1 บาท ถ้าทีม B ชนะจริง เราอาจได้ถึง 10 บาท


ในการตั้งอัตราการต่อรอง ผมคิดว่าบริษัทรับพนันคงมี "ผู้เชี่ยวชาญ" ในการตั้งที่จะทำให้บริษัทได้กำไรเมื่อจบการแข่งขัน แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ว่า นอกจากจะ มี "เซียนบอล" แล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ "นักคณิตศาสตร์" ที่คอยคำนวณว่ามีใครแทงบอลทีมไหนเท่าไร และบริษัทจะต้องจ่ายเท่าไรถ้าทีมนั้นชนะ และบริษัทจะได้เงินเท่าไรจากคนที่แทงผิด ประเด็นสำคัญ คือ เขาต้องทำให้รายได้จากคนที่แทงผิดสูงกว่ารางวัลที่ต้องจ่ายให้กับคนแทงถูก แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น เขาจะไปปรับอัตราการต่อรองใหม่จนสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าทีมไหนจะได้ถ้วยรางวัล บริษัทจะกำไรเสมอ


หุ้นมีลักษณะคล้ายๆ กับการพนันบอลเหมือนกันใน แง่ "เซียนหุ้น" อาจรู้ว่า บริษัทไหนดีเยี่ยม หรือมีกำไรเติบโตโดดเด่น แต่หุ้นมี "อัตราต่อรอง" เช่นเดียวกัน นั่นคือ ถ้ากิจการดีเยี่ยม ราคาหุ้น อาจ "แพง" มาก นั่นคือ  ค่า PE  อาจสูงกว่าปกติมาก จนทำให้ไม่คุ้มลงทุน ราคาหุ้นที่แพง หรืออัตราการต่อรองที่ต่ำ ในเรื่องหุ้นไม่มีใครมาเป็นผู้กำหนด แต่เกิดจากคนในตลาดหุ้นเองมาซื้อๆ ขายๆ ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าจะพูดอีกทางหนึ่ง คือ อัตราการต่อรองของหุ้น กำหนดโดยคนที่เข้ามาเล่นหุ้นเองทุกคนในตลาด และถ้าคนเหล่านี้ สามารถกำหนดอัตราการต่อรองได้ถูกต้อง นั่นคือ ถ้าบริษัทดี ราคาหุ้นก็แพง หรือ PE สูง บริษัทไม่โดดเด่น ราคาหุ้นก็ถูก หรือ  PE ต่ำ โดยนัยนี้ การซื้อ หรือ "แทง" หุ้นตัวที่มีผลประกอบการดี อาจไม่คุ้มค่าก็ได้


ข้อสรุปของทั้งเรื่องบอลและเรื่องหุ้น ก็คือ อย่าสักแต่ดูว่าทีม หรือหุ้นจะเป็นทีม หรือหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่นเท่านั้น ต้องคิดถึงอัตราต่อรอง หรือราคาหุ้นด้วยว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่เหมาะสม เช่น อัตราต่อรองต่ำ หรือราคาหุ้นแพงเกินไป ก็ไม่คุ้ม และเราอาจขาดทุนได้ถ้าเข้าไปเล่น


ข้อที่สอง คือ กติกาการนับคะแนน  ที่ตอบแทนให้กับผลการเล่น เรื่องฟุตบอล ทีมที่แพ้จะได้ 0 คะแนน ทีมที่เสมอจะได้ 1 คะแนน ขณะที่คนชนะจะได้ 3 คะแนน แปลว่าชนะ 1 ครั้งได้คะแนนเท่ากับเสมอ 3 ครั้ง เป็นการบอกว่าการเสมอ มีประโยชน์น้อย คุณต้องพยายามเอาชนะให้ได้ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ เรื่องของหุ้น ผมคิดว่า ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เราต้องพยายามเลือกบริษัทที่จะ "ชนะ" ซึ่งจะ ได้ "คะแนน" สูงกว่าบริษัท ที่ "เสมอ" มาก และแน่นอน เราต้องหลีกเลี่ยงบริษัทที่จะ "แพ้" ความหมายของการชนะ คือ บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเรื่อยๆ บริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง และบริษัทมีส่วนแบ่งมากที่สุด และทิ้งห่างอันดับสองมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตของบริษัทสดใสขึ้นมากกว่าคู่แข่ง ส่วนบริษัทที่แพ้ ก็เป็นอะไรที่อยู่ตรงกันข้าม เมื่อเวลาผ่านไปนาน บริษัทที่แพ้อาจจะสูญหายไป หรือหมดศักยภาพในการแข่งขันและอยู่ๆ ไปอย่างนั้นเอง


ประเด็นคือ บริษัท ที่ "เสมอ" นี่คือ บริษัทที่ไม่ชนะและก็ไม่แพ้ บริษัทสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ยอดเยี่ยมและ "ทรหด" ผลัดกันแพ้และชนะ แต่ก็ไม่มีใครทิ้งห่างใคร ฝีมือและความสามารถในการแข่งขันพอๆ กันตลอดเวลา ขนาดของกิจการก็ไม่ทิ้งห่างจนทำให้แข่งขันกันไม่ได้ ตัวอย่างที่พอจะมองเห็นได้ เช่น ธุรกิจ  ธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารขนาดใหญ่ 3-4 แห่ง สามารถแข่งขันกันได้ และมีขนาดใกล้เคียงกันมานานหลายสิบปี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายที่มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งทางการตลาดสลับไปมาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และยังไม่รู้ว่าใครจะชนะจริงๆ ในอนาคต เป็นต้น


บริษัท ที่ "ชนะ" ในทางธุรกิจ จะได้ผลตอบแทนมหาศาล จริงๆ ผมคิดว่าอาจ มากกว่า "3 คะแนน" เมื่อเทียบกับบริษัท ที่ "เสมอ" ความหมายของผม คือ ถ้าบริษัทชนะ พวกเขามักจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่าอันดับสองมาก อาจเป็นเท่าตัว กำไรของบริษัทมักจะมากกว่าอันดับสองเกิน 2 เท่า มูลค่าตลาดของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะสูงกว่าอันดับ 2 หลายเท่า ส่วน ผู้ "แพ้" มักจะแทบล้มหายตายจาก หรือไม่มีกำไร ประเด็น คือ บริษัท ที่ "เสมอ" ซึ่งมักจะอยู่ในอุตสาหกรรมบางประเภท ส่วนใหญ่จะมีกำไรตามอัตภาพ แต่ความเสี่ยงของการประกอบการจะสูง เพราะการแข่งขันที่เข้มข้นที่เกิดตลอดเวลา ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัท แค่รักษาไว้ก็ยากแล้ว และจะใกล้เคียงกับคู่แข่ง มูลค่าตลาดของหุ้นในตลาด ก็เพิ่มขึ้นช้าๆ และมีโอกาสปรับลงได้ตลอดเวลาขึ้นกับสถานการณ์ขณะนั้น การ "เสมอ" ในทางธุรกิจ ก็เป็นได้แค่บริษัทที่ดี แต่ไม่ใช่ซูเปอร์สต็อก


นักลงทุนที่จะทำกำไรได้งดงาม ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องยาวนาน ต้องพยายามหาให้ได้ก่อนคนอื่นว่า หุ้นตัวใด "กำลัง" จะชนะ เพราะนั่นคือ ช่วงเวลาที่หุ้นกำลังจะเริ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องรู้ว่าหุ้นตัวใดชนะแล้ว แต่ ยัง "ชนะเพิ่มขึ้น" ซึ่งสัญญาณที่สำคัญ คือ การที่ยอดขายและกำไรยังเติบโตแข็งแกร่ง พร้อมๆ กับความได้เปรียบของการแข่งขันที่ยังเพิ่มขึ้นโดยที่ "ภัยคุกคาม" ที่จริงจัง ยังมองไม่เห็น การลงทุนในหุ้น ที่ "เสมอ" บางทีก็ไม่เลวนักถ้าราคาหุ้นต่ำ อาจจะเนื่องจากสถานการณ์ชั่วคราวเช่นเรื่องภาวะตลาด หรือเศรษฐกิจที่ไม่ดี หุ้นที่พึงละ เลี่ยง แม้ราคาจะต่ำมากคือ หุ้น ที่ "แพ้" เพราะระยะยาว ยากที่จะทำกำไรให้กับเราได้


โลกในมุมมองของ Value Investor///ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ฉ.วันที่ 26 มิ.ย. 55

 //www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120626/458422/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5-%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99.html




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2555    
Last Update : 26 มิถุนายน 2555 20:30:06 น.
Counter : 1216 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.