In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
เศรษฐศาสตร์ของเมือง

ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนค่าเดินทางและขนส่ง คนสมัยโบราณต้องตั้งรกรากอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบเอาไว้ก่อนเพื่อความประหยัด วัตถุดิบที่สำคัญที่สุด

ในการใช้ชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณ ก็คือ น้ำ ด้วยเหตุนี้เมืองทั้งหลายทั่วโลกจึงมักก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำ


เมื่อมองเข้าไปภายในเมือง จุดที่ไปถึงจุดอื่นๆ ในเมืองได้รวดเร็วและสั้นที่สุด ก็คือ ใจกลางเมือง ดังนั้น คนแรกๆ ที่ตั้งรกรากอยู่ในเมืองย่อมเลือกที่จะตั้งรกรากอยู่บริเวณใจกลางเมืองก่อน เพราะเป็นจุดที่ทำให้ประหยัดค่าเดินทางได้มากที่สุด แต่เนื่องมาจากข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ใจกลางเมืองก็แออัดขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างบ้านเพิ่มเติมไม่ได้อีก คนที่มาตั้งรกรากหลังๆ จึงจำเป็นต้องตั้งรกรากในพื้นที่ซึ่งห่างไกลออกไปจากจุดศูนย์กลางของเมืองมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เมืองต้องขยายตัวออกไป


สำหรับทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ง่าย (mobility สูง) ตัวอย่างเช่น เงินทุน หรือเทคโนโลยี ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนของเมือง คุณก็สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านั้นได้โดยมีค่าขนส่งที่แทบไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านี้จึงได้รับผลตอบแทนไม่ต่างกันด้วยไม่ว่าผู้ใช้ทรัพยากรนั้นจะถูกใช้ ณ ที่ใดในเมือง


แต่ตรงข้ามกับทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ยาก ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ ที่ดิน และแรงงาน (คนงานต้องมีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่งถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ จึงไม่สามารถวิ่งทำงานที่ไหนก็ได้ในเมือง แต่ต้องทำงานใกล้บ้านไว้ก่อนเพื่อลดค่าเดินทาง) ผู้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้จึงประหยัดค่าขนส่งได้มากกว่าถ้าหากทรัพยากรเหล่านี้อยู่ใจกลางเมืองซึ่งมีค่าขนส่งต่ำ เพราะฉะนั้น เจ้าของทรัพยากรเหล่านั้นที่อยู่ในเมืองจึงต้องได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ทั้งราคาที่ดินและค่าแรงบริเวณใจกลางเมืองจึงต้องสูงกว่าชานเมือง (อันหลังนี้หมายความว่า คนที่มีบ้านอยู่ใจกลางเมืองต้องเป็นคนที่ทำงานที่ได้ค่าตัวสูงๆ) และการที่เราสร้างบ้านให้สูงขึ้นไปในอากาศมากๆ ที่บริเวณใจกลางเมืองก็เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะใช้ทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ยากเหล่านี้ให้คุ้มค่ามากขึ้น


และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ด้วย รูปแบบการใช้งานของที่ดินบริเวณใจกลางเมืองกับชานเมืองจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย ที่ดินใจกลางเมืองมักถูกใช้ทำกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงแต่ใช้พื้นที่ไม่มาก เช่น สำนักงานของคนที่ทำงานด้วยความคิดหรือด้วยทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ง่าย เช่น เงิน ความรู้ หรือไอเดีย เป็นหลัก ในขณะที่พื้นที่ชานเมืองจะเน้นใช้งานที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มากแต่กลับต้องใช้พื้นที่เยอะๆ เช่น โรงงานผลิตสินค้าราคาถูก คลังสินค้า นาข้าว เป็นต้น


เมื่อใดก็ตาม ที่ส่วนต่างราคาของที่ดินและคนระหว่างในเมืองกับนอกเมืองสูงกว่าค่าเดินทางที่สามารถประหยัดได้ ผู้ประกอบการก็จะตัดสินใจย้ายสถานประกอบการของตัวเองออกไปนอกเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไร เราจึงมักเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้งานพื้นที่ของเมืองไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของเมืองด้วย


ลองสังเกตดูเมืองในชีวิตจริงเช่น กรุงเทพมหานคร ในจุดที่เมืองเริ่มขยายตัวออกไป เรามักจะพบเห็นธุรกิจเต็นท์รถเป็นอันดับแรกๆ เพราะธุรกิจพวกนี้ใจหนึ่งก็อยากอยู่ในเมืองเพราะอยู่ใกล้ลูกค้า แต่เพราะที่ดินมีราคาแพงและเต็นท์รถเป็นธุรกิจที่ใช้พื้นที่เยอะมาก ธุรกิจเหล่านี้จึงมักเป็นธุรกิจแรกๆ ที่บุกเบิกไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่เมืองเพิ่งจะเริ่มขยายตัวออกไปก่อนเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ยังมีราคาไม่แพงเหล่านั้น


และถ้าหากชานเมืองบริเวณนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด เราจะเริ่มเห็นตึกแถวขึ้นมาแทนที่เต็นท์รถเป็นอันดับต่อไป นั่นแสดงว่า ชุมชนเริ่มขยายตัวไปถึงพื้นที่นั้นแล้ว และที่ดินก็จะขยับราคาขึ้นไปอีก


ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่เราอาจมองเห็นได้ในกรุงเทพมหานคร คือ การที่ปั๊มน้ำมันเริ่มหายไปจากกรุงเทพฯ ชั้นในมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราเดาได้เลยว่า ธุรกิจนี้เริ่มทำกำไรได้น้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงหลังๆ และเนื่องจากพวกมันเป็นธุรกิจที่ต้องการพื้นที่ในการประกอบการค่อนข้างมาก พวกมันจึงต้องพากันอพยพออกไปนอกเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ยังได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนในธุรกิจนี้ต่อไปอยู่


ถ้าเราเอาเศรษฐศาสตร์ของเมือง (Spatial Economics) มาจับ เราอาจคาดการณ์ได้ด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าทั้งหลายที่กำลังขยายเส้นทางออกไปถึงนอกเมืองกรุงเทพฯ ทุกทิศทุกทาง น่าจะทำให้ราคาที่ดินในแถบชานเมืองในช่วงต่อไปนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าใจกลางเมืองยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้ gap ของราคาที่ดินระหว่างชานเมืองกับใจกลางเมืองในกรุงเทพฯ แคบลง เพื่อสะท้อนการเดินทางที่สะดวกขึ้นนั่นเอง (ทั้งนี้ทั้งนั้น สมมติว่าปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อราคาที่ดิน เช่น กฎหมายผังเมือง ฯลฯ ไม่เปลี่ยนแปลงด้วยนะครับ)


การที่ต้นทุนค่าขนส่งในแต่ละจุดของเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (เช่น มีการตัดถนนเส้นใหม่ ทำให้ค่าขนส่งในบริเวณนั้นลดลง) นี้ ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ได้ตลอดเวลา อาจกล่าวได้เลยว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ในโลกนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี) เกิดขึ้นได้จากการหาประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าขนส่งมากกว่าสาเหตุอื่นๆ ใด

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//bit.ly/vPLr1F


Create Date : 14 ธันวาคม 2554
Last Update : 14 ธันวาคม 2554 20:21:19 น. 0 comments
Counter : 535 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.