In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
VI Effect

ปรากฏการณ์เล็กๆ อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงนี้ในแวดวงของ Value Investor คือสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า “VI Effect” คือ

ปรากฏการณ์ที่หุ้นหลายตัวที่กลุ่ม Value Investor “มืออาชีพ” ซื้อลงทุน และมีการกล่าวขานกันในเว็บไซต์หรือสื่อต่างๆ มีราคาปรับขึ้นค่อนข้างเร็วและมาก

ก่อนพูดถึงเหตุผล ต้องทำความเข้าใจถึงความหมายคำว่า “Effect” เสียก่อนว่า หมายถึงอะไรเวลาพูดเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน

คำว่า Effect หมายถึงผลกระทบ หรืออิทธิพลอันเนื่องมาจากการกระทำของคนหรือกลุ่มของนักลงทุนที่มีต่อราคาหุ้น ซึ่งอาจจะไม่นับหรือยังไม่เกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานบริษัท แต่เป็นเรื่องการกระทำของคนหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ส่งผลให้คนทำตามกันมาก ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับขึ้นหรือลงมากกว่าที่ควรเป็น

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีข่าว วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้อหุ้นบริษัทปิโตรไชน่าของจีน ราคาหุ้นปิโตรไชน่าก็พุ่งขึ้นหลายเท่าในเวลาอันสั้น อาจเป็นเพราะนักลงทุนคิดว่าถ้าบัฟเฟตต์ซื้อ หมายความว่าหุ้นตัวนี้คงเป็นหุ้นดีราคาถูก พวกเขาจึงรีบเข้าไปซื้อตาม ก่อนราคาจะ “ขึ้น” หรือขึ้นอีก

นักลงทุนบางคนอาจไม่คิดว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นดีและถูกเท่าไรนัก แต่เขาคิดว่าคงมีคนจะเข้าไปซื้อหุ้นปิโตรไชน่าตามบัฟเฟตต์ ดังนั้นเดี๋ยวหุ้นก็จะขึ้น เขาต้องเข้าไปซื้อดักหน้าไว้ก่อน กระบวนการที่คนต่างรีบเข้าซื้อหุ้นทำให้หุ้นปิโตรไชน่าขึ้นไปเอง ไม่ว่าพื้นฐานจะดีคุ้มกับราคาหุ้นหรือไม่

ลักษณะการขึ้นของหุ้นทันทีที่มีข่าวบัฟเฟตต์เข้าซื้อ เรียกว่า “Buffett Effect” และคงไม่ต้องพูดต่อว่า อิทธิพลของบัฟเฟตต์ต่อราคาหุ้นมากแค่ไหน เพราะหุ้นแทบทุกตัวที่บัฟเฟตต์ซื้อ หลังปรากฏข่าวหรือแม้แต่ข่าวลือมักจะ “วิ่งกระจาย”

Effect หรืออิทธิพลระดับ “โลก” แน่นอนไม่ใช่มีแต่เฉพาะจากบัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นแนวของ Value Investor นักเก็งกำไรอย่างจอร์จ โซรอส ก็มี Effect ไม่แพ้กันหรืออาจมากกว่า ว่ากันว่าถ้าจอร์จ โซรอส เข้าไปเล่นอะไร คนแห่ตามกันเพียบ ตัวอย่างเช่นสมัยมีการเก็งกำไรค่าเงินบาทปี 2540 ที่ทำให้ค่าเงินบาทล่มสลายนั้น คนที่ทำจริงๆ คงเป็น “สาวก” ของโซรอสมากกว่าตัวเขาเอง

ในไทย Effect ก่อนหน้านี้เท่าที่เห็นจะมีเฉพาะที่มาจากนักเก็งกำไรหรือ “นักปั่น” หุ้นรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ สมัยก่อนพอมีข่าวเซียนหรือรายใหญ่กำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้นก็ “วิ่งกันกระจาย” เพราะคนเชื่อว่าต้องรีบซื้อก่อนมันจะวิ่ง พอคนจำนวนมากคิดแบบนั้น หุ้นต้องขึ้นทั้งที่พื้นฐานบริษัทอาจแย่มาก

อย่างไรก็ตาม Effect เนื่องจากขาใหญ่ ระยะหลังเริ่ม “เลือนราง” เนื่องจากคน "ซื้อตาม" จำนวนมาก “หนีไม่ทัน” และมักขาดทุน จึงเลิกเชื่อถือผลคือ Effect เหล่านั้นหมดไปพร้อมกับความนิยมในการเล่นหุ้นเก็งกำไรที่ไม่มีพื้นฐาน และนั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนแบบ Value Investment ที่เริ่มแพร่หลายยอมรับมากขึ้น

กลุ่ม Value Investor ที่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้น ในตลาดหุ้นตั้งแต่หลังวิกฤติปี 2540 มาถึงปัจจุบัน อยากจะพูดว่าเติบโตขึ้นมากแบบก้าวกระโดด และน่าจะกลายเป็นกลุ่มมีพลังและอิทธิพลมากพอสมควร และกำลังสร้างปรากฏการณ์เรียกว่า VI Effect โดยมีเหตุผลต่อไปนี้

ข้อแรกคือ “พลังเงิน” แม้เม็ดเงินในตลาดหุ้นของ VI จะยังน้อยกว่านักลงทุนต่างประเทศหรือนักลงทุนสถาบัน แต่ก็มีนัยสำคัญในตลาด มองคร่าวๆ คิดว่าเม็ดเงินรวมของกลุ่ม VI น่าจะอยู่ในหลัก “หลายหมื่นล้านบาท” ซึ่งเพียงพอจะ “ขับเคลื่อนราคาหุ้น” ของบริษัทขนาดเล็กหรือกลางบางบริษัทได้

ข้อสอง ผลงานและความรอบรู้ในตัวกิจการของ VI ระดับ “เซียน” สามารถสร้างความประทับใจและน่าเชื่อถือกับนักลงทุนอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็น VI ด้วยกัน ดังนั้นเวลาที่ VI ระดับเซียนซื้อหุ้น จึงมักมีคนซื้อตามกันมาก พลังเงินมากบวกตัวหุ้น ที่มักเป็นบริษัทเล็กและมีหุ้นกระจายอยู่ในตลาดน้อย ทำให้หุ้นตัวดังกล่าววิ่งแรงมาก และยิ่งดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น Effect ก็เกิดขึ้น

ข้อสาม พลังของการสื่อสาร คือวิวัฒนาการการลงทุนที่ไม่มีในสมัยก่อน ยุคปัจจุบันการสื่อสารกว้างขวาง รวดเร็ว แพร่หลาย และถูกมาก นักลงทุนส่วนบุคคลสามารถส่งข้อมูลถึงคนอื่นผ่านสื่อต่างๆ ได้ด้วยตนเองและทันที และสามารถผ่านถึงผู้รับทางโทรศัพท์มือถือได้ สื่อทางสังคมเช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือบล็อกส่วนตัวทำให้การตอบสนองของนักลงทุนรวดเร็วและรุนแรง

ข้อสี่ พลังของความคิดและความเชื่อที่คล้ายคลึงกันของ VI นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิด Effect ง่ายขึ้นเข้าทำนอง “สามัคคีคือพลัง” VI จำนวนมากอ่านหรือรับรู้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์เดียวกัน ไปสัมมนาที่เดียวกัน ไปชุมนุมจัดเลี้ยงในกลุ่มเดียวกัน หรืออ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ดังนั้นเวลารับรู้การซื้อขายหุ้นของ “ผู้นำ” หรือ “เซียน VI” และไปศึกษาเพิ่มเติม การตัดสินใจหรือปฏิบัติจึงออกมาในแนวเดียวกัน

ทั้งหมดเป็นเพียงเหตุผลบางส่วนทำให้เริ่มเกิด VI Effect ในตลาดหุ้นไทย ในระยะสั้น VI Effect ยังน่าจะมีต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นผลจาก “Success beget Success” หรือความสำเร็จก่อให้เกิดความสำเร็จตามมา

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด “อิทธิพล” จะยังคงอยู่ได้หรือไม่อยู่ที่ว่าระยะยาวแล้วหุ้นที่เกิดจาก Effect ยังมีราคายืนอยู่และเติบโตได้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าหุ้นขึ้นไปโดยเกิดจากผลกระทบระยะสั้น แต่หลังจากนั้นหุ้นกลับตกเนื่องผลประกอบการบริษัทไม่เป็นอย่างที่คิด สุดท้ายความเชื่อถือจะหมดไป และ Effect ต่างๆ จะหมดไป

อีกด้านหนึ่ง คนที่ซื้อหุ้นตามต้องระวังว่า การซื้อตามนั้นไม่ใช่หลักการของ VI ที่เน้นว่าเราต้อง “คิดเอง” และถ้าเราคิดแล้วมีคนตาม นั่นแปลว่า ฝีมือเราอาจจะก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งและเราน่าจะประสบความสำเร็จสูงขึ้น

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20100622/338856/VI-Effect.html


Create Date : 23 มิถุนายน 2553
Last Update : 23 มิถุนายน 2553 23:40:51 น. 0 comments
Counter : 451 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.