In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง

เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าตลอดชีวิตคนเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง

ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันจะใช้จ่ายเงินไปกับที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือ ราว 22% ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดชีวิต (ได้แก่ ค่าซื้อบ้าน ค่าเช่าบ้าน รวมทั้งภาษีที่เกี่ยวข้อง)


ส่วนค่าอาหารนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ตามด้วยค่าขนส่ง ได้แก่ ค่าน้ำมันรถ ค่าซื้อรถยนต์ หรือค่าโดยสารต่างๆ รวมกันประมาณ 13%


ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกันชีวิต และเงินสมทบบำนาญต่างๆ นั้น มีมูลค่ารวมกันประมาณ 11% ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ได้แก่ ค่าหมอ ค่ายา ค่าประกันสุขภาพ นั้น รวมกันประมาณ 6%


ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส และค่าโทรศัพท์ รวมกันประมาณ 6% ค่าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวทั้งหลาย 3.4% ดูเหมือนคนอเมริกันส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจซื้อของแบรนด์เนมเท่าไรนักนะครับ


ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องบันเทิงและสันทนาการต่างๆ เช่น ทีวี เครื่องเสียง ตั๋วหนัง ตั๋วคอนเสิร์ต รวมกันประมาณ 3% ส่วนที่เหลือจากนี้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา


จะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตคนเราจ่ายเงินไปกับที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือ ราว 1 ใน 5 ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกันมากกับตัวเลขที่สำรวจได้ ในประเทศจีนและอินเดีย (สำรวจโดย Credit Suisse) อาจกล่าวได้ว่า คนทั่วโลกใช้จ่ายไปกับค่าที่อยู่อาศัยมากที่สุดประมาณ 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายตลอดชีพ


ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคาดตามความคิดส่วนตัวของผม คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งสูงพอๆ กับค่าอาหารเลยทีเดียว ผมว่าถ้าหากรัฐจัดหาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและราคาประหยัดให้กับพลเมืองได้ จะเป็นวิธีเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของพลเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว ในขณะที่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้นกลับเป็นรายจ่ายที่ไม่มากนักของคนเราโดยทั่วไป


ผมไม่มีตัวเลขเหล่านี้สำหรับคนไทยโดยเฉลี่ย แต่หากดูจากตัวเลขที่สำรวจทั่วโลกโดยธนาคารโลกจะพบว่า ยิ่งคนมีรายได้น้อยเท่าไรก็จะยิ่งใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ไปกับอาหารและที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนที่มากเท่านั้น ชาวโลกที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อปี (หรือที่ธนาคารโลกจัดว่าเป็นคนยากจน) จะหมดเงินไปกับค่าอาหารมากกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่ 14% อย่างคนอเมริกันโดยเฉลี่ย


ในช่วงเวลาที่ราคาอาหารพุ่งสูง คนที่เดือดร้อนมากที่สุดจึงได้แก่คนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกด้วย


ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนค่าใช้จ่ายของคนเราจะเปลี่ยนไปเมื่อเรามีรายได้สูงขึ้น คนที่ยิ่งมีรายได้สูงเท่าไรก็จะยิ่งใช้จ่ายไปกับสามหมวดต่อไปนี้ ได้แก่ เรื่องสุขภาพ สันทนาการและค่าเดินทางในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมากขึ้นเท่านั้น (เรื่องนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสุขภาพเป็นของฟุ่มเฟือยมากกว่าของจำเป็น เพราะยิ่งคนมีเงินมากเท่าไรก็จะยิ่งจ่ายเงินเพื่อสุขภาพมากเท่านั้น หรือแปลว่าคนเราเลือกที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้)


ค่าเดินทางที่สูงขึ้นของคนรวยนั้นมาต้นเหตุมาจากค่าขนส่งทางอากาศเป็นสำคัญ เพราะยิ่งคนเรารวยเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะขึ้นเครื่องบินบ่อยเท่านั้น และการเดินทางด้วยเครื่องบินก็เป็นรูปแบบการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และยังปลดปล่อยคาร์บอนในอัตราที่สูงมากด้วย


บทวิเคราะห์การลงทุนของโกลด์แมน แซคส์ ยังแนะนำด้วยว่า ถ้าคุณกำลังมองหาหุ้นอุปโภคบริโภคเพื่อการลงทุนในระยะยาว ลองมองหาหุ้นของบริษัทชั้นนำที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร การรักษาสุขภาพ และพวกนิวมีเดียต่างๆ เพราะชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้เงินในกระเป๋าของคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ เทมายังสินค้าและบริการในหมวดเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20110810/403862/เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง.html


Create Date : 10 สิงหาคม 2554
Last Update : 10 สิงหาคม 2554 14:34:17 น. 0 comments
Counter : 521 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.