In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
'โสรัตน์ วณิชวรากิจ' ตำรารวย 'เซียนหุ้นพันล้าน'

เจาะลึกเทคนิคพิชิตหุ้น 'หลักปฏิบัติ 8 ข้อ' โสรัตน์ วณิชวรากิจ หุ้นทุกตัวที่ลงทุนต้องสามารถนำมา 'ต่อยอด' ธุรกิจของครอบครัว

ภายใต้คำจำกัดความ 'Value Business Synergy'

หลังจากเจ๊งหุ้นไป 2 รอบ การกลับ "ครั้งที่สาม" โสรัตน์ มีสไตล์การลงทุนซึ่งไม่ต่างไปจากการ "เล่นหุ้นแบบพ่อค้า" นำเอาแนวคิดของ "นักลงทุน" และ "นักธุรกิจ" มาผสมผสานกัน

เขามองว่าหุ้นทุกตัวที่ลงทุนควรสามารถนำมา "ต่อยอด" ธุรกิจของครอบครัวได้ ภายใต้คำจำกัดความ Value Business Synergy โสรัตน์ อธิบายคำจำกัดความสไตล์การลงทุนของตัวเองว่า เป็นการลงทุนแบบ Value Investor (วีไอ) บวกกับ Business Synergy แตกต่างจากสมัย "วัยรุ่น" (ลงทุนครั้งแรก) ที่เน้นเล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นๆ อย่างเดียว ขณะที่ "วัยทำงาน" (กลับมาครั้งที่สอง) จะเล่นแบบแวลูอินเวสเตอร์

โมเดลการลงทุนแบบ Value Business Synergy ของโสรัตน์ คือ การเข้าไปถือหุ้นในบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ "ธุรกิจกำลังเติบโต" ในจำนวนหุ้นที่ "มากพอสมควร" หลังจากนั้นก็งัดบทบาทของนักธุรกิจไป "ปิดการขาย" สินค้า (แผ่นอะครีลิค) ของตนเองในฐานะ "พันธมิตรทางธุรกิจ" นี่คือ "Win-Win Game" ที่ต่างคนต่างได้

"เมื่อเราขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว ผมก็จะพยายามนำธุรกิจของตัวเองไป "Synergy" กับเขา เพราะนอกจากต้นทุนของบริษัท (ที่เข้าไปซื้อหุ้น) จะลดลงแล้ว เพราะผมคงไม่ขายสินค้าให้เขาแพง ส่วนบริษัทครอบครัวของผมก็จะได้งาน (มียอดขาย) มากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างกรณี RS ผมก็ขายแผ่นอะครีลิคให้เขา (เฮียฮ้อ) นำไปใช้ในงานด้านต่างๆ" โสรัตน์ อธิบาย ซึ่งก็รวมถึงหุ้น SAMART และ HTECH ที่ใช้กลยุทธ์ Business Synergy ด้วย

อย่างไรก็ตาม โสรัตน์ก็ไม่ได้ทิ้งแนวทางการลงทุนแบบ Value Investor โดยมีบุคคลต้นแบบคือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และบุคคลต้นแบบทางฝั่ง Business Synergy คือ ทวีฉัตร จุฬางกูร เจ้าของพอร์ตหุ้น "หลายพันล้านบาท" ทายาทอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้าน "ซัมมิทกรุ๊ป"

"ตอนนี้ผมมีบุคคลต้นแบบการลงทุนอยู่ 2 คน ซึ่งผมจะนำเทคนิคต่างๆ มาผสมผสานกัน ฝั่ง Value Investor ต้องยกให้ ดร.นิเวศน์ ส่วนใหญ่จะนำมุมมองเกี่ยวกับกิจการต่างๆ มาใช้ในการลงทุน โดยเฉพาะวิธีการตีมูลค่าหุ้น ที่สำคัญจะนำหลักการความอดทน และความมีวินัยทางการเงินมาใช้...ผมบอกตัวเองเสมอว่า ห้ามใช้มาร์จินเพื่อเบิล (เพิ่ม) พอร์ตเด็ดขาด เข็ดไปจนตาย ส่วนฝั่ง Business Synergy ผมมี ทวีฉัตร จุฬางกูร เป็นแบบอย่าง"

จากการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นพบว่า โสรัตน์ ถือหุ้น RS อันดับ 2 สัดส่วน 13.70% เป็นรองแค่ "เฮียฮ้อ" สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เจ้าของบริษัทเพียงคนเดียว ถือหุ้น HTECH อันดับ 2 สัดส่วน 10.52% รองเพียง พีท ริมชลา ถือหุ้น SALEE อันดับ 3 ของบริษัท สัดส่วน 6.87% ถือหุ้น SAMTEL อันดับ 5 สัดส่วน 1.84% ถือหุ้น SAMART อันดับ 8 สัดส่วน 3.59% ถือหุ้น PREB อันดับ 5 สัดส่วน 5.01% ถือหุ้น SVI อันดับ 16 สัดส่วน 0.52% และถือหุ้น PTL อันดับ 5 สัดส่วน 1.22%

โดยหุ้น PTL โสรัตน์จะใช้วิธี "เทรด" ขายไป..แล้วซื้อกลับ โดยเจ้าตัวบอกว่าปัจจุบันพอร์ตลงทุนมีมูลค่าระดับ "พันล้านบาท" แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าการกลับมา "ครั้งที่สาม" จากเงินที่ไประดมทุน (ยืม) จากญาติพี่น้องมาอีก "ร้อยล้านบาท" ภายในระยะเวลา 2 ปี พอร์ตโตขึ้นมาเป็นระดับ "พันล้าน" ได้อย่างไร

นักลงทุนหนุ่มใหญ่วัย 38 ปีรายนี้ ยอมที่จะเปิดเผยเหตุผลการเข้าซื้อหุ้นบางตัว กรณีหุ้น RS เข้าลงทุนช่วงกลางปี 2553 วิเคราะห์ว่าอาร์เอสกำลัง "มูฟ" ตัวเองไปสู่ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ทางธุรกิจที่กำลังมาแรง และมีอนาคต

"ผมมองว่าเฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) เป็น "คนเก่ง" มีอะไรเหนือคู่แข่งหลายอย่าง คิดดูสิ! เขาสามารถผ่านจุด “เกือบเจ๊ง” มาได้ (เหมือนที่ผมเคยผ่านมาได้) จากนั้นเขาก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ผมมองอนาคต 3 ปีข้างหน้า (2554-2556) ธุรกิจของอาร์เอสจะสวยงามมากในแง่ของกำไรสุทธิ น่าจะเติบโตได้ปีละ 30%" โสรัตน์ ออกโรงเชียร์

เขาบอกว่า ตอนแรกตั้งใจจะซื้อหุ้น RS แค่ 10 ล้านหุ้น พอได้ศึกษาเห็นว่าธุรกิจดีเกินคาดเลยอดใจไม่ไหวเก็บมาเรื่อยๆ ตอนนี้มี 120.94 ล้านหุ้น ถามว่าจะซื้อเพิ่มอีกหรือไม่..? ถ้ามีจังหวะก็จะเก็บเพิ่ม ส่วนตัวมองว่าวันนี้ราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐาน แต่ซื้อยังไงก็ไม่ให้เกินหน้าเฮียแน่นอน (ปัจจุบันเฮียฮ้อถือ 202 ล้านหุ้น สัดส่วน 22.89%)

"จริงๆ ผมสนิทกับเฮียฮ้อมากเหมือนเราผูกพันกันมานาน เราจะคุยกันทุกเดือน ฉะนั้นต่อให้ราคาหุ้น RS ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้..ผมก็คงไม่ขายง่ายๆ ส่วนเหตุผลที่ซื้อหุ้น SAMTEL กับหุ้น SAMART ก็จะคล้ายๆ กับหุ้น RS คือผมสนิทกับเจ้าของบริษัท คุณวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ เรียกได้ว่าเข้ากันได้ดี"

กลุ่มสามารถของคุณวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ช่วงปี 2540 เขาก็ "เกือบตาย" เหมือนกัน (กับผม) หนี้สินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านมันมาได้วันนี้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นมาก อย่างในปี 2554 กำไรสุทธิน่าจะโต 50% เพราะได้ธุรกิจ 3จี หนุน

“ตอนนี้ราคาหุ้น SAMART ยังไม่ถึงเป้าหมาย เพราะในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง ต้นทุนหุ้นตัวนี้ผมได้มาประมาณ 8 บาท ตอนนี้มีอยู่ 40 ล้านหุ้น”

การพิชิตหุ้นด้วย 'หลักปฏิบัติ 8 ข้อ'

สำหรับหลักการพิชิตหุ้น โสรัตน์ กล่าวว่า ก่อนจะลงทุนหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง (หนักๆ) จะมีหลักปฏิบัติอยู่ 8 ข้อ ดังนี้คือ 1.เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจให้มากที่สุด ผมจะเปิดพอร์ตลงทุนกับ 5 โบรกเกอร์ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารในแต่ละวัน รวมถึงบทวิเคราะห์หุ้นตัวที่อยากได้ 2.คุยกับนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้มากที่สุด ไม่เลือกค่าย รวมทั้งคุยหาข้อมูลกับนักลงทุนกลุ่มแวลูอินเวสเตอร์ (วีไอ) ด้วย รวมทั้งค้นหาข้อมูลของบริษัทมาประกอบการลงทุน 3. เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว (ทั้งอ่านและคุยกับผู้เชี่ยวชาญ) จะนั่งคนเดียว 3-4 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อทบทวนข้อมูลที่หามาได้

หลักการพิชิตหุ้น 3 ข้อแรกของโสรัตน์ เป็นการค้นหา "ข้อมูลจากภายนอก" (บทวิเคราะห์+ผู้เชี่ยวชาญ) ทำให้เขามีหุ้นเป้าหมายอยู่ในใจแล้ว หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการ "ค้นหาข้อมูลจากภายใน" ผ่านการทำ Company Visit (สัมภาษณ์+เยี่ยมชมกิจการ) ด้วยตนเอง

4.เมื่ออ่านข้อมูลแล้วโอเค ผมก็จะเริ่มเข้าไปคุยกับฝ่าย IR (นักลงทุนสัมพันธ์) หรือผู้บริหารของบริษัทนั้น เอานักวิเคราะห์ประจำตัวไปด้วย 5.หลังกลับมาจากการเยี่ยมชมกิจการ ผมก็จะคุยกับนักวิเคราะห์ต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงว่าหุ้นตัวนี้โอเคหรือไม่โอเค

6. "ถ้าชอบ" ก็จะถามนักวิเคราะห์ว่าพอมีลูกค้า (รายใหญ่) ที่ซื้อหุ้นตัวนี้อยู่แล้วหรือเปล่า ถ้ามีจะขอนัดเข้าไปคุยด้วย 7.เมื่อมั่นใจ (สุดๆ) ก็จะทยอยเก็บหุ้นตัวนั้นทันที "ไม่รอช้า" 8. ข้อสุดท้าย..เมื่อซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วจะนัดหมายเข้าเยี่ยมชมกิจการ (คุยกับผู้บริหาร) ของบริษัท "ไตรมาสละ 1 ครั้ง"

โสรัตน์ บอกว่า ในขั้นตอนการ "สะสมหุ้น" (ขั้นที่ 7) ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการทยอยเก็บหุ้นเพื่อให้ได้จำนวนตามเป้าหมาย "ไม่เกิน 2 สัปดาห์" ขณะที่กระบวนการคัดสรรหุ้นทั้งหมดจะใช้เวลาค่อนข้างนานประมาณ 2-3 เดือนเพื่อให้มั่นใจที่สุดว่า "เลือกหุ้นไม่พลาด"

"การเล่นหุ้นของผมไม่นิยมดูกราฟ ไม่เคยคิดจะดู เพราะไม่มีความชำนาญ แต่จะพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว เพราะผมเติบโตมาจากการทำธุรกิจ ไม่ได้มาจากสายมาร์เก็ตติ้ง”

ก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหนักๆ (เป็นร้อยล้านบาท) โสรัตน์จะใช้เวลาอยู่เงียบๆ คนเดียว ก่อนจะซื้อ มักเดินทางไปต่างจังหวัด 2-3 วัน ไป "ทบทวนสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำ" ว่าคิดดีแล้วหรือยัง เพราะเงินที่จะซื้อเป็นเงินจำนวนมาก

"ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่านิสัยการลงทุนที่ดีเกิดจากมีพฤติกรรมที่ดี ผมจะบอก(เตือน)ตัวเองเสมอว่า เราต้องมีหลัก "5 วิ" เสมอในการลงทุนหรือทำธุรกิจ คือ วิจัย, วิเคราะห์, วินัย, วิริยะ (ความเพียร) และ วิมังสา (ความพิจารณา) หากเราพิจารณาดีแล้ว หุ้นตัวนั้นต้องสร้างผลตอบแทนที่ดี และในแง่ธุรกิจต้องพึ่งพิง (Synergy) กันได้”

กฎเหล็กซื้อขายหุ้น 10 ประการ

โสรัตน์ หยิบกระดาษโน้ตบนโต๊ะทำงานที่เตรียมไว้ เพื่อบอกเล่า “กฎเหล็กซื้อขาย 10 ประการ” ของตนเอง โดยขอเริ่มจาก "กฎการซื้อหุ้น 5 ข้อ"

หุ้นแบบไหนที่ผมจะซื้อ ข้อ 1 ดูว่าบริษัทนั้นมีความสามารถ และความยั่งยืนเพียงใด โดยจะวิเคราะห์จากอุตสาหกรรมว่า "เทรนด์ธุรกิจ" กำลัง "ขึ้น" หรือ "ลง" ธุรกิจนั้นมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งหรือเปล่า! ฐานะการเงินเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในแง่ของหนี้สินต้องไม่สูง กำไรธุรกิจต้องดี สินทรัพย์ต้องไม่เยอะจนเกินไป

ข้อ 2 ผมจะดูว่าบริษัทนั้นมีผู้บริหารเก่งหรือไม่เก่ง ตรงนี้สำคัญ และดูว่าเขามีความสุขในการทำงานมั้ย! ข้อ 3 ธุรกิจนั้นต้องมีผลประกอบการขยายตัวในช่วง 3 ปี เติบโตขึ้นอย่างน้อย 100% ข้อ 4 บริษัทต้องจ่ายเงินปันผล 5% ต่อปี และ ข้อ 5 หุ้นตัวนั้นต้องมีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of safety) หรือ ราคาตลาดถูกกว่ามูลค่ากิจการ ถ้ามีค่าส่วนต่างมากๆ ก็จะทำให้เราสามารถ "ลดความเสี่ยง" ในการซื้อหุ้น และ "เพิ่มโอกาส" ที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูง

"กฎการซื้อหุ้น 5 ข้อ ต้องสอดคล้องกับกฎอีก 2 ข้อ คือ 1.ธุรกิจนั้นต้องสามารถ Synergy กับธุรกิจของครอบครัวได้ และ 2.ธุรกิจนั้นต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ที่ดี ถ้าไม่มีข้อเหล่านี้ก็ไม่เอา"

สำหรับ "กฎการขายหุ้น 3 ข้อ" ของโสรัตน์ คือ ข้อ 1 ถ้าพื้นฐานหุ้นเปลี่ยนจะขายทันที ข้อ 2 ถ้าถึงราคาเป้าหมายจะขายทันที เว้นแต่บางกิจการอาจถือต่อ และ ข้อ 3 หากเจอกิจการที่น่าสนใจกว่าจะขายเพื่อสลับมาซื้อตัวใหม่

ผ่านหลัก 'พันล้าน' วิธีคิดการลงทุนเปลี่ยน

ตอนพอร์ตยังไม่ถึง "พันล้านบาท" โสรัตน์ เล่าว่า รู้สึกหัวใจเต้นแรงตอนพอร์ตกำลังขึ้นหลักพันล้านบาท เมื่อถามถึงเป้าหมายการลงทุนหลังจากนี้ เจ้าตัวบอกว่า วันนี้ไม่เคยฝันว่าอยากมีพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร "มันเลยจุดตื่นเต้นที่สุดมาแล้ว" ตอนนี้มุมมองเปลี่ยนไปว่าหากชอบกิจการตัวไหนจริงๆ จะไม่ขายหุ้นแต่พร้อมจะเติบโตไปกลับเขา แต่ต้องเอาธุรกิจของเราไป Synergy กับเขาได้ด้วย

"ฝันของผมในวันนี้ มันไม่เหมือนตอนอายุน้อยๆ อีกแล้ว สมัยก่อนพอร์ตเราเล็กคิดแต่ว่าทำอย่างไรให้มีเงินในพอร์ตมากๆ คิดว่าพรุ่งนี้จะช้อนหุ้นตัวไหนดี วันนี้ไม่ได้มองตรงนั้นแล้ว พอมีเงินถึงระดับหนึ่งรู้สึกว่าอยากทำอะไรเพื่อสังคมมากกว่า"

"วันนี้ผมไม่ต้องการมีเงินมากๆ และไม่ต้องการขึ้นชื่อว่าร่ำรวยจากตลาดหุ้น แต่อยากขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจมากกว่า บอกตรงๆ (เงิน) เท่าที่มีตอนนี้ก็เพียงพอแล้ว มีทั้งเงินเดือน เงินปันผล เชื่อมั้ย! วันๆ แทบไม่ได้ใช้เงิน ข้าวก็ไม่เคยซื้อกินเองมีแม่ครัวหามาให้ทาน ผมจะต้องการมีเงินไปทำไมอีกเยอะแยะ"

โสรัตน์ วางแผนคร่าวๆ ว่า จะนำเงินที่ได้จากเงินปันผลทุกปีไปลงทุนมูลนิธิ เพื่อหาความสุขทางใจมากกว่า ตอนนี้กำลังหาพันธมิตรมาร่วมกันทำกิจกรรม CSR เพื่อตอบแทนสังคม

เซียนหุ้นพันล้าน ให้แง่คิดทิ้งท้ายว่า คนเราต้องกล้าเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่เราคิดว่าเดินมาถูกทางก็อย่าได้แคร์สายตาใคร ที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ รู้คุณคน และต้องทำความดีทุกวันนิดหน่อยก็ต้องทำ "แล้ววันหนึ่งคุณจะประสบความสำเร็จเหมือนผม"

บัญญัติ 10 ประการในการทำธุรกิจ

เขาเล่าว่า ชีวิตค่อนข้างมีแบบแผน (มีการวางแผนตลอด) โดยเฉพาะการทำงานจะมีบัญญัติ 10 ประการในการทำธุรกิจให้เป็นสุดยอด SME

ข้อแรก ต้องชนะด้วย 5 พลังของผู้นำ คือ ต้องมีแรงกาย, มีแรงใจ, ความคิด, ความรัก และศรัทธา ข้อ 2 ต้องชนะด้วยลูกน้องที่ดี, ที่เก่ง, กล้า และมีความสุข ข้อ 3 ต้องสร้าง Speed Ownership คือ เติบโตแล้วต้องแตกเป็นยูนิต ข้อ 4ต้องใช้ทฤษฎี “ปลาน้ำตื้น“ สินค้าไม่ต้องฮิต แต่ต้องกำไรงาม ไม่เหมือนของใคร

ข้อ 5 ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ข้อ 6 แท็กทีม 360 องศา สินค้าตัวไหนดี เราก็ไปรวมพลังกับคนอื่น ไม่ต้องทำคนเดียว เพราะจะลงทุนมากไม่คุ้ม ข้อ 7 สร้างแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุก ด้วยการมีโปรโมชั่นใหม่ๆ ต่อเนื่อง ออกแนวลั่นกลองรบไม่หยุด ข้อ 8 ทำธุรกิจให้ต้นทุนต่ำที่สุด อย่าติดหรู

ข้อ 9 ต้องมีโครงการดีๆ และ ข้อ 10 ต้องกระจายกำไร เช่น มีกำไร 100% ต้องแบ่งให้พนักงาน 10% ปรับปรุงงาน 10% ทำ R&D 5% ทำ CRM 5% ที่เหลือต้องเก็บเป็นเงินสด เพื่อนำไปลงทุนต่อ หรือใช้ยามฉุกเฉิน

"กฎเหล็กการใช้ชีวิต...ผมก็มีอีกนะ ข้อแรก เราต้องรู้จักตัวเอง จงใช้เวลาคิดทุกเรื่องวันละ 1 ชั่วโมง ถือเป็นงานอย่างหนึ่งที่ต้องทำทุกวัน ข้อ 2 ต้องวางเป้าหมายแบบทำแล้วต้องรู้ผลทันที ข้อ 3 ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน โดยเฉพาะอาหารจานหลัก พวกขนมเรียนรู้นิดหน่อยก็พอ...ผมมีหนังสือที่อ่านประจำในห้องสมุดของออฟฟิศ (ห้องสมุดติดกับห้องทำงานชื่อว่า "แสงเทียน") หนังสือเกี่ยวกับการบริหาร, การลงทุน เช่น หนังสือของ ดร.นิเวศน์, ตำราพิชัยสงคราม, ศาสนา ปรัชญา และสุขภาพ อ่านได้แบบนี้ทุกวันชีวิตก็แฮปปี้"

//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20110705/398298/โสรัตน์-วณิชวรากิจ-ตำรารวย-เซียนหุ้นพันล้าน.html


Create Date : 06 กรกฎาคม 2554
Last Update : 6 กรกฎาคม 2554 2:44:04 น. 1 comments
Counter : 1754 Pageviews.

 
เดี้ยวกลับมาอ่าน bookmark ไว้ก่อน กำลังจะเล่นหุ้นอยู่พอดี


โดย: backhold วันที่: 6 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:57:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.