In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
วิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยตนเอง ตอนที่1: หุ้นดี คุณอยู่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนมักจะอธิบายว่า ความสำเร็จในการลงทุนจะเกิดขึ้นได้ นักลงทุนจะต้องมีวินัยอย่างมากในการค้นหาข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลของหลักทรัพย์เป้าหมาย
ซึ่งจำเป็นจะต้องกระทำอย่าง มีกระบวนการ ผู้ลงทุนควรจะต้องทราบวิธีการค้นหาบริษัทจดทะเบียนเป้าหมาย ซึ่งอาจมีได้หลายวิธี และจำเป็นต้องมีความรู้ในการประยุกต์ใช้ ถัดจากนั้นจะเป็นการวิเคราะห์เพื่อคัดสรรหาบริษัทจดทะเบียนเป้าหมายที่ดี

1.1 การค้นหาบริษัทจดทะเบียนเป้า หมาย

จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ธุรกิจต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของการระดมทุนในตลาดทุน การเข้ามาจดทะเบียนของธุรกิจต่างๆ เริ่มมีประเภทของธุรกิจอุตสาหกรรม ที่หลากหลายมากขึ้นเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ตนเองสนใจและสอดคล้องกับความเสี่ยงและผลตอบแทนในลักษณะที่ตนต้องการ

การค้นหาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนสามารถทำได้ง่ายดาย โดยเฉพาะที่ตลาดหลักทรัพย์ซึ่งธุรกิจนั้นเข้าไปจดทะเบียน เนื่องจากเป็นหน้าที่หนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ที่จะกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นต้องนำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและข้อมูลทางการเงินเข้ามาเป็นประจำที่ตลาดหลักทรัพย์ เช่น ในลักษณะของรายงานประจำปี งบการเงิน เป็นต้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ นักลงทุนทุกคนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

แต่เนื่องจากจำนวนบริษัทจดทะเบียน มีมาก ดังนั้นนักลงทุนจึงควรเรียนรู้เทคนิคในการคัดสรร (Screening) เพื่อให้ได้หลักทรัพย์ที่อยู่ในเกณฑ์การลงทุนของ นักลงทุน ซึ่งจะได้อธิบายเพิ่มเติมในภายหลัง จนถึงขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า นักลงทุนสามารถเข้าไปค้นหาศึกษาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ เว็บไซต์ของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก่อนที่จะก้าวไปสู่การวิเคราะห์ในขั้นต่อไป

1.2 แนวคิดในการวิเคราะห์เป้าหมาย

เราจะพยายามค้นหาหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีความเข้มแข็ง (Strongest Candidates) โดยใช้หลักการที่ว่า บริษัท ที่เข้มแข็งจะมีโอกาสที่จะสามารถอยู่รอดได้มากกว่า ภายใต้หลักการนี้ เราจะตัดหรือกวาดเอาบริษัทที่อ่อนแอออกไป ทำให้จากจำนวนบริษัทเป้าหมายมากๆ เหลือน้อยลงมาเรื่อยๆ

1.3 เทคนิคในการคัดสรรแบบเร่งด่วน

เพื่อคัดสรรหลักทรัพย์เป้าหมายจำนวนมากให้เหลือน้อยลง ถ้าเราใช้วิธีการวิเคราะห์อย่างละเอียดจะเป็นการเสียเวลามาก เราอาจหาเทคนิคในการคัดสรรแบบเร่งด่วน (Quick Prequalify) ซึ่งมีแนวทางดังนี้

-ตรวจสอบภาพรวมของอุตสาหกรรมและของบริษัท

เริ่มต้นโดยตรวจสอบว่าบริษัทอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอะไร และเป็นประเภทที่เราให้ความสนใจหรือไม่ แนวโน้ม (โอกาส อุปสรรค) ของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ความสามารถในการแข่งขัน (จุดอ่อน จุดแข็ง) ของบริษัทเป็นอย่างไร เพื่อให้ประเมินเบื้องต้นได้ว่า เรามีความพอใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือหลีกเลี่ยงบริษัทหรืออุตสาหกรรมเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบ้านจัดสรรในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะรุ่งเรืองเมื่อแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยลดลง และตกต่ำเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น การคาดการณ์ในอนาคตของเราเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้ จะมีแนวโน้มอย่างไร ทำให้เรามีเหตุผลประกอบที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าไปลงทุน หรือไม่ เป็นต้น

-ตรวจสอบมูลค่าของหลักทรัพย์

มูลค่าของหลักทรัพย์จดทะเบียน (Market Capitalization) หมายถึง มูลค่าของกิจการโดยวัดจากราคาตลาดของหุ้นสามัญของบริษัทคูณด้วยจำนวนหุ้นสามัญของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราสามารถนำมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์มาจัดกลุ่ม บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงมาก ปานกลาง และน้อย และเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า Large-Caps, Mid-Caps และ Small-Caps ตามลำดับ

เราคงไม่อาจกล่าวได้ว่าขนาดของมูลค่าตลาดแบบใดดีหรือไม่ดี แต่ละกลุ่มก็จะมีลักษณะพิเศษ ซึ่งอาจส่งผลทางบวกและลบ ซึ่งต้องพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยง โดยทั่วไปบริษัทในกลุ่ม Large-Caps จะมีความมั่นคง (Safer) ส่วนบริษัทที่มีขนาดเล็กลงมาจะมีจุดเด่นในเรื่องการเติบโต (Growth Potential) การตัดสินใจว่าสนใจหุ้นกลุ่มใดเป็นพิเศษทำให้เราตัดบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอื่นออกไปได้ ทำให้จำนวนหลักทรัพย์ที่เราจะพิจารณาอย่างจริงจังเหลือน้อยลง

-ตรวจสอบอัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่า

อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการประเมินมูลค่า (Valuation Ratios) บางตัว เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) หรือราคาต่อขาย (P/S) สามารถใช้เป็นตัวกำหนด หรือพิจารณาว่านักลงทุนในตลาดมองแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงาน (ยอดขายหรือกำไร) ของบริษัทอย่างไร บริษัทมีอัตราส่วนเหล่านี้สูง แสดงว่า 1 บาทของกำไรหรือยอดขาย นักลงทุนในตลาดให้ความสำคัญมาก มองว่าบริษัทนั้นจะเติบโตต่อไปได้อย่างมาก ราคาของหุ้นบริษัทนั้น ในวันนี้จึงมีค่าสูง หลักทรัพย์ที่มีค่าอัตราส่วนประเมินมูลค่าสูง ถูกพิจารณาว่าเป็น Growth Stock ในขณะที่หลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนในการประเมินมูลค่ามีค่าน้อย จะถูกพิจารณาว่าเป็น Valued Stock เนื่องจาก 1 บาทของกำไรหรือยอดขาย นักลงทุน เห็นว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการขยายตัว ของกิจการ ราคาหลักทรัพย์ในตลาดจึงไม่สะท้อนมากนัก การแบ่งกลุ่มของหลักทรัพย์เป็น Growth หรือ Valued Stock สามารถใช้เป็นเทคนิคคัดสรรหุ้นให้เหลือกลุ่มเป้าหมายจำนวนน้อยลงได้

-ตรวจสอบปริมาณการซื้อขาย

ปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) คือ จำนวนเฉลี่ยของหุ้นที่ซื้อและขาย ต่อวัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ถ้าค่าเฉลี่ยของปริมาณการซื้อขายต่อวัน มีค่าน้อยสะท้อนว่าหลักทรัพย์นั้นไม่ค่อยมีสภาพคล่องการซื้อขายซึ่งเป็นอุปสรรคในการลงทุน

-ตรวจสอบจำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขาย

จำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขาย (Float) คือ จำนวนหุ้นของบริษัทที่อยู่ในมือของ นักลงทุนโดยไม่รวมจำนวนของผู้บริหารและกรรมการซึ่งอยู่ระหว่างการห้ามนำออกมาขายแก่สาธารณชน (Silent Period) จำนวนหุ้นที่เรียกว่า “Float” แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนมือในการซื้อขายประจำวัน (Daily Trading) การพิจารณาจำนวนหุ้นที่ Float นี้ เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การเลือกหรือค้นหาหลักทรัพย์เป้าหมายด้วย นักลงทุนบางคนค้นหาบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจและมีจำนวนหุ้นที่ Float ไม่มากนัก เนื่องจากถ้ามีข้อมูลในทิศทางบวกของบริษัทเหล่านี้ และซื้อเอาไว้ก็จะมีโอกาสได้กำไรสูง ในขณะที่นักลงทุนบางคนก็สนใจหลักทรัพย์ของบริษัทที่มี Float มาก เพราะมีแนวโน้มของสภาพคล่องในการซื้อขายสูง โอกาสเข้าหรือออกจากตลาดในการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นก็จะทำได้ง่าย

-ตรวจสอบกระแสเงินสดของกิจการ

การคัดสรรหลักทรัพย์อาจพิจารณาจากกระแสเงินสดของกิจการ โดยเฉพาะกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน (Cash Flow From Operation ) ซึ่งได้จากกำไรสุทธิ และกระแสเงินสดสุทธิอื่นๆ ที่ได้จากการดำเนินงาน และเราสามารถดูได้จากงบกระแสเงินสด ในงบการเงินของกิจการ กระแสเงินสดที่กล่าวถึงนี้ ใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นที่จะบอกว่าบริษัทเป้าหมายมีฝีมือในการบริหารงานจากธุรกิจหลักของตนเองอย่างไร เช่น ในการขายสินค้าบริการ เราสามารถใช้เกณฑ์ เช่น ถ้าบริษัทใดมีกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานติดลบ เราจะตัดออกไปจากการเป็นหลักทรัพย์เป้าหมาย

-ตรวจสอบประวัติการเติบโตของยอดขายและกำไรในอดีต

เกณฑ์อันหนึ่งที่เราใช้พิจารณาว่าหลักทรัพย์นั้นน่าสนใจหรือไม่ คือการติดตามดูประวัติการเติบโตของยอดขายและกำไรในอดีต บริษัทที่น่าสนใจจะมีขนาดและอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้นและมีความต่อเนื่อง

-ตรวจสอบความล้าสมัยของผลิตภัณฑ์ของกิจการ

ในการคัดสรรหลักทรัพย์ต้องพิจารณาด้วยว่าสินค้าและบริการของกิจการที่เป็นที่นิยมอยู่หรือไม่มีความล้าสมัยหรือมีแนวโน้มที่จะล้าสมัยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้กระทบต่อโอกาสการเติบโตทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ ยอดขายและกำไรของหลักทรัพย์เป้าหมาย ซึ่งถ้าพบว่าผลิตภัณฑ์ของกิจการล้าสมัย เราสามารถใช้เป็นเกณฑ์ตัดหลักทรัพย์ของกิจการเหล่านั้นออกจากการพิจารณาได้

รายงานโดย :กฤษฏา เสกตระกูล
//www.posttoday.com/stockmarket.php?id=71353


Create Date : 13 ตุลาคม 2552
Last Update : 13 ตุลาคม 2552 15:19:57 น. 0 comments
Counter : 585 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.