In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
ระบบค่าจ้างในระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและแข่งขันได้ (2)

ปัจจุบันค่าจ้างของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 3 ระบบใหญ่ๆ

1. ระบบค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างในสถานประกอบการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีและการประกาศบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน เดิมระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในจังหวัดของตัวเอง


2. ระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการ คือ ค่าจ้างที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนตามผลงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในสถานประกอบการหลายแห่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือ การไม่มีความแตกต่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องการให้เป็นเพียงค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในระยะแรกของการทำงานไม่ใช่ค่าจ้างของลูกจ้างที่ทำงานมาหลายปีจนมีทักษะฝีมือแล้ว


3. ระบบค่าจ้างรายชิ้น เป็นระบบค่าจ้างที่จ่ายให้ตามจำนวนชิ้นงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการผลิต ใช้กับแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งค่าจ้างถูกกำหนดโดยผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาของ ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ และ นภาพร อติวานิชพงศ์ พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับเมื่อคำนวณตามชั่วโมงการทำงานแล้วต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน และโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างรายชิ้น ยกเว้นในกรณีมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูงมีความจำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเร่งผลิต อำนาจต่อรองของลูกจ้างรายชิ้นจึงสูงขึ้น


โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษที่ผ่านมา จนทำให้กำลังแรงงานนอกภาคเกษตรมีสูงถึง 23 ล้านคน ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพโดยที่มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท ทำให้ลูกจ้างในภาคเอกชนเหล่านี้ต้องดิ้นรนในการทำงานนอกเวลาโดยทำงานกันวันละ 10-14 ชั่วโมง จึงพอมีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย แต่แรงงานเหล่านี้มักไม่มีเงินออม (ส่วนใหญ่จึงมีภาระหนี้สิน) และไม่มีเวลาในการดูแลครอบครัว (นำมาสู่ปัญหาสังคมพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก)


ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 กองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันตนทั้งหมดจำนวน 9.7 ล้านคน หรือร้อยละ 25.53% ของกำลังแรงงานที่มีงานทำ 38,498,713 ล้านคน หมายความว่า มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากกว่าร้อยละ 25 ของกำลังแรงงานที่มีงานทำ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการพื้นฐานของระบบประกันสังคมและจำนวนมากก็อาจไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำเพราะไม่มีอำนาจต่อรองอะไร กลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมประกอบไปด้วย แรงงานในภาคเกษตรกรรม และแรงงานในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการหรือแรงงานนอกระบบ (Informal Economy) หรือประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อย เช่น กรรมกรก่อสร้างอิสระ รับจ้างทั่วไป หาบเร่แผงลอย ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น


การหยิบยื่นความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ให้กับผู้มีรายได้น้อยและคนยากจน เป็น การช่วยเหลือที่ทำให้ผู้รับความช่วยเหลืออ่อนแอลง ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างเงินเดือน การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง


หากสามารถจัดการบริหารเงินเฟ้อได้ การขึ้นค่าแรงย่อมกระตุ้นอำนาจซื้อ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก กำลังซื้อของเศรษฐกิจภายในของไทยคิดร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง หากยกระดับกำลังซื้อนี้ ด้วยการเพิ่มค่าจ้างได้ ก็จะมีผลไปต่อแรงงานนอกระบบสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย


จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป และคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต พบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันโดยกำหนดให้ค่าจ่ายอื่นๆ คงที่จะพบว่าสัดส่วนค่าจ้างและแรงงาน ต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั่วประเทศจะปรับเพิ่มจากร้อยละ 17.06 เป็นร้อยละ 23.48 หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.42 โดยเฉลี่ย ส่วนสัดส่วนค่าจ้างและเงินเดือนต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ จะปรับเพิ่มจากร้อยละ 14.14 เป็นร้อยละ 20.48 หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.34 โดยเฉลี่ย


จากการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 70,355 ราย และวิสาหกิจขนาดใหญ่จำนวน 3,576 ราย พบว่าค่าจ้างและเงินเดือนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศมีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 17.06 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ส่วนค่าจ้างและเงินเดือนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 14.14 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด


จากการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่า จ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ที่มีต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตย่อย 5 อันดับแรกที่มีสัดส่วนค่าจ้างและเงินเดือนต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมด สูงที่สุดได้แก่ (1) การผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.59 (2) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.44 (3) การผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งรถพ่วง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.36 (4) การพิมพ์โฆษณา การพิมพ์ และการทำสำเนาสื่อบันทึก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.12 (5) การผลิตสิ่งทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.00 กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างมากสุดโดยรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเป็นพิเศษ


ดร. ยศ อมรกิจวิกัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ศึกษาเพิ่มเติมอีกพบว่า สัดส่วนค่าจ้างและเงินเดือนต่อ ต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) น้อยที่สุด ได้แก่ (1) การผลิตผลิตภัณฑ์ถ่านโค้ก ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงปรมาณู เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.58 (2) การผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ การวัดความเที่ยง และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ นาฬิกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.14 (3) การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.62 (4) การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชี และเครื่องคำนวณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.64 (5) การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.75


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม. รังสิตพบอีกว่า ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะได้รับกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ซึ่งวิสาหกิจในประเทศจะได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับขนาดของวิสาหกิจ ประเภทของอุตสาหกรรมการผลิต ตลอดจนภูมิภาคที่วิสาหกิจมีฐานการผลิต


แต่ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว อาจจะไม่ส่งผลให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการลงตามที่มีการคาดการณ์กันของหลายๆ ฝ่าย อาทิเช่น สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เนื่องจากสัดส่วนค่าจ้างและเงินเดือนต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ จะมีเพิ่มขึ้นแค่เพียงร้อยละ 6.42 และ ร้อยละ 6.34 ตามลำดับ ซึ่งตามปกติแล้ววิสาหกิจต่างๆ สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยค่าแรงและเงินเดือนที่สูงขึ้น


นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน อาจส่งผลถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของแรงงาน เนื่องจากผู้ประกอบการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาจจะมีการลดขนาดแรงงานลง เพื่อควบคุมต้นทุนค่าจ้างและเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างผู้ใช้แรงงาน หรือลูกจ้าง


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะมีมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ พอเพียงและราคาถูก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ต้องลงทุนอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (Labor Productivity) ขจัดต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันติดสินบน ธุรกิจไทยก็สามารถแข่งขันได้บนเวทีเศรษฐกิจภูมิภาค


ส่วนเรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวนั้นผมเห็นว่า จะทำให้แรงงานมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานน้อยลง แรงงานได้อยู่กับครอบครัว ปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมน่าจะลดลง อีกด้านหนึ่ง การกำหนดอัตราเดียวอาจทำให้โรงงานและธุรกิจอุตสาหกรรมย้ายฐานไปยังจังหวัดที่ห่างไกลหรือพื้นที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจน้อยลง เนื่องจากไม่มีปัจจัยเรื่องต้นทุนแรงงานราคาถูกจูงใจ หากจะใช้นโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ ต้องมีมาตรการจูงใจการลงทุนอื่นเสริม เพื่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ห่างไกลหรือจังหวัดที่ยังไม่มีการพัฒนาดีนัก


ค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลทำให้การว่างงานอาจเพิ่มขึ้นได้ จากงานวิจัยของ ดร. โฆษะ อารียา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต พบว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1% มีผลทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.16% นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงอาจจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นบ้างแต่ไม่มีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ขณะนี้ อัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมากเพียงแค่ 0.7% และยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมจนต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน


ประเทศควรจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการผลิตสินค้าราคาถูกด้วยแรงงานราคาถูก มาเป็นยุทธศาสตร์ผลิตสินค้ามูลค่าสูงด้วยแรงงานคุณภาพ หากไม่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้ทันกับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้แรงงานฝีมือของไทยย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าครับ


ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "พลวัตเศรษฐกิจ"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/anusorn/20110822/405635/ระบบค่าจ้างในระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและแข่งขันได้-(2).html



Create Date : 22 สิงหาคม 2554
Last Update : 22 สิงหาคม 2554 15:20:14 น. 0 comments
Counter : 677 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.