In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
ทศวรรษแห่ง VI

ผมเริ่มเป็นวิทยากรที่พูดเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น แบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investment มานานนับสิบปี

สิ่งที่ผมสังเกตเห็น ก็คือ จำนวนคนที่สนใจเข้าฟัง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแทบจะเรียกว่า "อัดแน่น" ในช่วงหลังๆ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า สังคมการลงทุนของคนไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือประมาณปี 2543 ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และราคาหุ้นตกต่ำถึงพื้น อะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้?


ประการแรก ก็คือ คุณสมบัตินักลงทุน หรือคนที่เข้ามาฟังการสัมมนา ก่อนปี 2540 คนฟังการสัมมนาคือ "คนเล่นหุ้น" คือกลุ่มคนที่กล้าเสี่ยง เป็นคนที่ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งโดยสัญชาตญาณของความเป็นพ่อค้า ย่อมกล้าเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น


กลุ่มต่อมา คือ แม่บ้านที่มีฐานะปานกลาง มีเวลาว่าง และเข้ามาเสี่ยงโชคในตลาดหุ้น บางคนอาจจะชอบเล่นการพนันอย่างอื่น นี่เป็นกลุ่มที่ลงทุนด้วยเงินที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มักจะเป็นผู้ชาย ที่เล่นหุ้นเอาจริงเอาจังมากกว่า


กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มพนักงานตามสำนักงาน โดยเฉพาะคนทำงานในแวดวงการเงิน ที่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นดีกว่าคนทั่วไป และมีข้อมูลมากกว่า พวกเขาเล่นหุ้นเพราะเห็นโอกาส "ทำกำไรง่ายๆ" ที่เขาพบเห็นบางช่วงเวลา


และสุดท้าย คือ "เซียน" หรือกลุ่ม "ขาใหญ่" ที่มีเม็ดเงินมาก และมักทำการซื้อขายนำเพื่อ "ทำราคาหุ้น" บางคนก็ "ปั่นหุ้น" เพื่อทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น


นักลงทุนที่ผมเห็นในที่สัมมนาใน พ.ศ.นี้ ส่วนมากน่าจะเป็นคนทำงานกินเงินเดือนที่เป็นคนชั้นกลาง พวกเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังทำงานเก็บเงินเพื่ออนาคต และคิดว่าการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้น เป็นหนทางที่ดีกว่าการฝากเงินหรือลงทุนอย่างอื่น พวกเขาไม่ใช่คน "ชอบความเสี่ยง" แบบผู้ประกอบการ แต่พร้อมเสี่ยงด้วยเงินจำนวนหนึ่ง


พวกเขาเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ "คุ้มค่ากับความเสี่ยง" และเขารับได้ การได้เรียนรู้และจากประสบการณ์สั้นๆ ช่วยให้พวกเขามั่นใจ ภาพของหุ้นที่เป็นตราสาร "เก็งกำไร" เปลี่ยนไป การลงทุนในหุ้นสำหรับคนจำนวนไม่น้อย เป็นการลงทุน "ทำธุรกิจ" พวกเขารู้และคิดว่าถ้าเราเป็น "IV" น่าจะปลอดภัย และได้ผลตอบแทนที่ดี


กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง คือ เจ้าของกิจการที่มีฐานะร่ำรวยพอสมควร ซึ่งรวมถึงลูกที่เรียนจบและเริ่มทำงาน คนกลุ่มนี้ ตั้งแต่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พวกเขา "รอด" มาได้ และช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลับรุ่งเรือง และมีเงินสดเหลือมากมาย พวกเขาต้องทนฝากเงินกินดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมานาน


เมื่อเห็นราคาหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้นติดต่อกันมานานหลายปี เขาเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เริ่มเรียนรู้ว่าหุ้น ก็คือธุรกิจเหมือนกับที่เขาทำอยู่ ซื้อหุ้นก็เหมือนซื้อธุรกิจ กำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นของพวกเขาที่ผ่านมาไม่กี่ปี ดีและเร็วกว่าธุรกิจของตนเองมาก


ดังนั้นตลาดหุ้นสำหรับพวกเขาจึงไม่ใช่ "แหล่งการพนัน" พวกเขาอาจจะเรียก และคิดว่าตนเองเป็น "IV" ไม่ได้ซื้อหุ้นมั่วๆ ไม่มีพื้นฐาน และนี่ก็คือกลุ่มนักลงทุนที่มีเม็ดเงิน และศักยภาพมหาศาลขับเคลื่อนหุ้น โดยเฉพาะที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนักได้


กลุ่มสุดท้าย ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เป็นแม่บ้าน และผู้ประกอบการรายย่อยจริงๆ ที่เน้นการเล่นหุ้นรายวันและมักอยู่ตามห้องค้า กลุ่มนี้น้อยลงไปมากในห้องสัมมนา สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ พวกเขาหันมาเล่นหุ้น "IV" ตามการเล่นของคนกลุ่มอื่นๆ ประเด็นสำคัญสำหรับกลุ่มนักลงทุนรุ่นดั้งเดิม คือ กลุ่มที่เรียกว่า "ขาใหญ่"ยุคใหม่นี้จำนวนมาก "ล้มหายตายจาก"ไป แต่ที่ยังอยู่และยังร่ำรวย หรือรวยยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไป หลายคนเป็น "IV เต็มตัว"


หลายคนแม้ยังชอบ "เล่นเร็วและไล่ราคา" แต่การทำอย่างนั้น มักจะทำกับหุ้น "IV" พวกเขายอมรับว่า VI เป็น "กระแส" ที่ไม่สามารถฝืนได้ การเล่นหุ้น หรือทำราคาหุ้นโดย "ไม่มีเหตุผล" ด้านพื้นฐานมาสนับสนุนสำเร็จได้ยาก


ถ้าจะพูดว่า "ถนนทุกสายมุ่งสู่ VI" ก็ไม่น่าจะเกินความเป็นจริง และนั่นทำให้หุ้น "IV" ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ หุ้นเหล่านี้ มักเป็นหุ้นตัวเล็ก หรืออย่างมากก็ระดับกลางค่อนไปทางเล็ก แต่เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามาเล่น หรือซื้อหุ้นเหล่านี้ไม่ได้เล็ก นักลงทุนบางคนหรือบางกลุ่มมีพอร์ตการลงทุนที่ซื้อหุ้นได้ทั้งบริษัทอย่างง่ายๆ


ดังนั้น หุ้น "IV" จำนวนมากจึงปรับตัวขึ้น ตัวแรกปรับขึ้นจนราคาสูง อาจ "เต็มมูลค่า" จึงถูกขาย เม็ดเงินที่ได้กำไรจากการขายหุ้นของ VI ที่ "มาก่อน" ก็เข้าไปซื้อหุ้น "IV" ตัวใหม่ ทำให้ราคาหุ้นตัวใหม่ปรับขึ้นไป สิ่งนี้ชักจูงให้เม็ดเงินใหม่จากรายใหม่เข้ามาซื้อ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก ไม่ช้าหุ้น "IV" ก็เริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ จนหมดสภาพเป็นหุ้น "IV"


กระบวนการทั้งหมด แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับดัชนีหุ้น เพราะหุ้นตัวใหญ่ๆ ที่ชี้นำดัชนีได้จริงๆ ไม่ได้อยู่ในสายตาของนักลงทุนที่เป็น "IV" ดังนั้นผลตอบแทนที่ทำได้ของนักลงทุน VI บางคนจึงสูงกว่าดัชนีมาก และหลายครั้งไม่ได้ปรับตัวตามตลาดมากนัก


ความสำเร็จของนักลงทุน VI ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมอยากเรียกว่าเป็น "ปรากฏการณ์" โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นสูงมากกว่า 100% แต่ VI บางคน พวกเขาอาจกำไรมากเสียจน "รวยไปเลย" IV บางคนอายุน้อยมาก และเพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไม่กี่ปี แต่กลับมีเงินหลายสิบล้าน บางคนมีหลายร้อยล้านจากการลงทุน


บางคนเริ่มต้นด้วยเงินจำนวนมากจากธุรกิจที่บ้าน กลายเป็นเศรษฐีพันล้านในเวลาอันรวดเร็ว แม้ไม่พูดถึงคนที่รวยเป็นเรื่องเป็นราว นักลงทุน "IV" รายย่อยที่เป็นคนกินเงินเดือน เก็บเงินจากเงินเดือนมาลงทุน หลายคนกลายเป็นคนที่มีเงินหลายล้านบาท และรู้สึก"แตกต่าง" จากเพื่อนที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้น ข้อสรุปของผม นี่คือยุคทองของ VI และผมอยากเรียกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเป็น "ทศวรรษแห่ง VI"


แต่ยุคแห่งความรุ่งเรือง วันหนึ่งต้องผ่านไป ชีวิตที่ได้เงินมามากและง่าย ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป เพราะคนใหม่ๆ จะเข้ามาทำบ้าง และในกระบวนการ ก็ทำให้วิธีการหาเงินแบบนั้นไร้ผล ผมไม่รู้ว่า "ทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองของ VI" จบสิ้นแล้วหรือยัง เหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นเร็วๆ ชี้ให้เห็นว่า การเป็น "IV" แบบไม่ค่อยได้ศึกษา หรือลงแรงจริงจัง แทนจะกำไรอาจขาดทุนอย่างหนัก แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเป็นอย่างไร VI ก็ยังเป็นแนวคิดและวิธีการที่ดีเสมอตราบที่เราใช้มันอย่างถูกต้อง

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20110906/408050/ทศวรรษแห่ง-VI.html


Create Date : 06 กันยายน 2554
Last Update : 6 กันยายน 2554 11:14:05 น. 0 comments
Counter : 491 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.