In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
บทเรียนจากการเงินเชิงพฤติกรรม (1)

เท่าที่ผู้เขียนสังเกต วิชาที่มืออาชีพเปิดรับการค้นพบใหม่ๆ อย่างเชื่องช้าที่สุดน่าจะมีวิชาการเงินติดอันดับต้นๆ

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ นักการเงินส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า ทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ (efficient markets hypothesis) ซึ่งครอบงำความคิดและวิถีปฏิบัติของวงการการเงินทั่วโลกมานานกว่าครึ่งศตวรรษนั้น ได้รับการพิสูจน์โดยนักวิชาการสมัยใหม่ที่ศึกษาพฤติกรรมของผู้คนมากกว่าคิดค้นสมการแล้วว่า ไม่อาจจำลองโลกจริงได้อย่างครบถ้วน หรือพูดอีกอย่างคือ ตลาดในโลกจริงไม่เป็นไปตามทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก โดยเฉพาะถ้าไม่มองระยะยาวชนิดยาวจริงๆ คือ 10-20 ปี


ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหลักที่ช่องว่างยังกว้างเป็นเหวลึกระหว่างข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์กับวิถีปฏิบัติของมืออาชีพ ไม่ได้อยู่ที่ว่านักการเงินส่วนใหญ่เป็นคนดื้อรั้นและคิดว่าตัวเองถูกเสมอ (ถึงแม้ว่าหลายคนก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ) แต่คือส่วนผสมระหว่างการที่นักการเงินมืออาชีพต้องเร่งรีบทำงานตลอดเวลาจนไม่มีเวลาหาความรู้เพิ่มเติม และการที่นักการเงินในโลกวิชาการส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดในทฤษฎีดั้งเดิมราวกับเป็นพระคัมภีร์ ไม่เปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ เท่าที่ควร


วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าสู่กันฟังถึงข้อค้นพบสำคัญๆ ของวงการ “การเงินเชิงพฤติกรรม” (behavioral finance) ซึ่งได้กลายเป็นสาขายอดฮิตในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง (ไม่ใช่ในไทย) แต่คนนอกรั้วมหาวิทยาลัยยังไม่ค่อยรู้จัก


วิชาการเงินเชิงพฤติกรรมถือกำเนิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อนักจิตวิทยาเริ่มศึกษาพฤติกรรมการลงทุนของมนุษย์ ต่อมานักการเงินกระแสรองก็มาร่วมมือทำงานด้วย มองว่าการค้นพบจากแขนงใหม่นี้มีน้ำหนักมากพอที่วิชาการเงินควรนำไปใช้ในฐานะ “ทางเลือก” หรือ “ส่วนเติมเต็ม” ของทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ การเงินเชิงพฤติกรรมมาฮิตติดลมบนหลังจาก ดาเนียล คาห์เนแมน นักจิตวิทยาผู้บุกเบิกการเงินแขนงใหม่ ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2002 (อ่านประวัติศาสตร์และงานวิจัยชิ้นสำคัญๆ ของการเงินพฤติกรรมได้ที่เว็บ //history.behaviouralfinance.net/)


นักการเงินพฤติกรรมชี้ว่า ตลาดจริงมีลักษณะหลายประการที่ไม่ตรงกับคำพยากรณ์ของทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ เช่น ราคาหลักทรัพย์ผันผวนกว่าราคาตามทฤษฎี คนซื้อขายกันในปริมาณมากกว่าตามทฤษฎี ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างราคาหุ้นกับหลักทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) อยู่สูงกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว (นักเศรษฐศาสตร์เรียกปริศนานี้ว่า equity premium puzzle) นอกจากนี้ดูเหมือนว่าเราจะพยากรณ์ผลตอบแทนในอนาคตได้อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งจากอดีต เช่น การประกาศจ่ายเงินปันผล ฯลฯ


การเงินเชิงพฤติกรรมคืออะไร? ตอบอย่างสั้นที่สุดคือ การเงินเชิงพฤติกรรมบอกว่านักลงทุนทุกคนล้วนมี “อคติการรับรู้” (cognitive bias) ไม่มากก็น้อย อคติการรับรู้คือข้อบกพร่องในการรับรู้ความเป็นจริงของคนเรา ตัวอย่างง่ายๆ คือ พระจันทร์ตรงเส้นขอบฟ้ามักจะดูกลมโตกว่าตอนที่ลอยสูงเหนือหัว อคติการรับรู้ที่นักการเงินเชิงพฤติกรรมชี้ว่าแพร่หลายที่สุดมีดังต่อไปนี้


การทำบัญชีในใจ (mental accounting) คนส่วนใหญ่มองเงินปันผลไม่เหมือนกับมองกำไรจากการขายหุ้น แม้จะเป็นเงินจำนวนเท่ากัน โดยมองว่าเงินปันผลเป็นส่วนหนึ่งของ “รายได้” แต่มองว่ากำไรเป็น “ผลพลอยได้” (ดังนั้นจึงมีแนวโน้มจะเอากำไรไปใช้อย่างสิ้นเปลืองมากกว่า)


การคาดหวังที่มีอคติ (biased expectation) คนส่วนใหญ่รวมทั้งมืออาชีพมีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นมากเกินไปในคำพยากรณ์ของตัวเอง ถ้าหากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เชื่อมั่น 80% ว่าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะขึ้น พวกเขาจะพูดถูกประมาณ 40% (แทนที่จะเป็น 80%) งานวิจัยพบว่าระหว่างปี 1973-1990 นักวิเคราะห์ในอเมริกาพยากรณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนผิดพลาดประมาณ 25-65% ของกำไรที่แท้จริง (น่าจะมีใครทำงานวิจัยนี้ในเมืองไทยบ้าง จะได้พอมองออกว่านักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทยมีอคติมากน้อยเพียงใด)


การพึ่งพาจุดอ้างอิง (reference dependence) การตัดสินใจลงทุนก็เหมือนกับการตัดสินใจเรื่องอื่นในชีวิต คือไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจาก “จุดอ้างอิง” (reference point) ที่ใกล้เคียงที่สุดของเรา ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ตัวอย่างในชีวิตประจำวันเช่น เวลาที่เราไปร้านอาหาร เราอาจรู้สึกว่า “อร่อยจังเลย” ถ้าหากเราเพิ่งซมซานออกมาจากป่าหลังจากที่หลงอยู่หลายวันโดยไม่มีอะไรตกถึงท้อง แต่อาจรู้สึก “งั้นๆ แหละ” ถ้าหากเมื่อวานเราเพิ่งทานอาหารประเภทนี้ในร้านที่อร่อยอันดับโลก


ในตลาดหุ้น สมมติว่าหุ้นตัวหนึ่งเคยพุ่งขึ้นไปถึง 100 บาท ต่อมาตกฮวบลงมาเหลือ 10 บาท และตอนนี้อยู่ที่ 50 บาท การตัดสินใจของนักลงทุนมักจะขึ้นอยู่กับว่าล่าสุดเขาซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคา 100 บาท หรือ 10 บาท มากกว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อราคาหุ้นจริงๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจ (ถ้านักลงทุนเคยซื้อหุ้นตัวนี้ที่ 10 บาท เขาก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าหุ้นตัวนี้ “แพงไป” และไม่อยากซื้ออีก แต่ถ้าเคยซื้อที่ 100 บาท ก็จะรู้สึกว่า 50 บาท “ถูกจังเลย” และซื้อเพิ่มเข้าพอร์ต)


จุดอ้างอิงที่ “กูรู” การลงทุนทั้งหลายชอบใช้คือจุดอ้างอิงที่ทำให้ตัวเองดูเก่งกาจ ได้ผลตอบแทน (บนกระดาษ) สูงกว่าคนอื่น ผู้เขียนคิดว่าวิธีแยกแยะระหว่าง “กูรู” (ตัวจริง) กับ “กูรู้” (ตัวปลอม) วิธีหนึ่งซึ่งใช้ได้ค่อนข้างดีคือ ลองสังเกตดูว่าเขาอธิบายช่วงเวลาที่ตัวเองเล่นหุ้นอย่างไร - แสดงผลตอบแทนรายปีและผลตอบแทนสะสมทุกปีติดกันให้ดู หรือเลือกหยิบเฉพาะบางปีหรือบางเดือนมาโม้ให้เราฟังเท่านั้น


ตัวแทนในศึกษาสำนึก (representativeness heuristic) คือแนวคิดสำคัญในสาขาจิตวิทยาการรับรู้ คำคำนี้หมายความว่าคนเรามักจะมอง “เหตุการณ์ ก.” ว่าเป็นไปได้มากกว่า “เหตุการณ์ ข.” เมื่อ ก. ดูจะเป็นตัวแทน (ความจริง) ได้ดีกว่า ข. ทั้งที่ ข. ใกล้เคียงกับความจริงมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะนึกว่าคนไทยที่พูดเก่งและพูดภาษาอังกฤษชัดเป็นคน “ฉลาด” ทั้งที่มีคนฉลาดมากมายที่พูดไม่เก่งและพูดภาษาอังกฤษไม่ชัด กรณีตัวแทนในศึกษาสำนึกที่พบบ่อยที่สุดในตลาดทุนคือ ความเข้าใจผิดว่า “บริษัทที่ดี” เท่ากับ “หลักทรัพย์ที่ดี” (น่าซื้อ) ทั้งที่ในความเป็นจริง บริษัทที่มีผลประกอบการดีและแนวโน้มสดใสมักจะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง คนแห่กันซื้อหุ้นจนดันราคาให้สะท้อนมูลค่าเต็มหรือเกินมูลค่าไปแล้ว จึงไม่ใช่หุ้นที่น่าซื้อเท่าไรนัก


อคติการรับรู้ในตลาดทุนอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบบ่อยคือ ความอิดออดไม่อยากบันทึกผลขาดทุน นักลงทุนส่วนใหญ่มีปัญหาในการยอมรับกับตัวเองว่าเคยตัดสินใจผิดพลาด ไม่ยอมขายหุ้นขาดทุนถึงแม้จะรู้ว่าราคามันจะดิ่งลงเรื่อยๆ (เช่น เพราะเป็นหุ้นปั่นที่เจ้ามือเลิกสนใจแล้ว) และถ้าไม่ขายตอนนี้จะขาดทุนมากกว่าเดิมในอนาคต


ข้อค้นพบของการเงินพฤติกรรมสำคัญอย่างไรสำหรับนักลงทุน และแปลว่าอะไรสำหรับทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ? เราจะมาว่าเรื่องนี้กันในตอนต่อไป

//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/sarinee-achavanuntak/20110725/401155/บทเรียนจากการเงินเชิงพฤติกรรม-(1).html


Create Date : 26 กรกฎาคม 2554
Last Update : 26 กรกฎาคม 2554 0:27:25 น. 0 comments
Counter : 807 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.