In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
บทเรียนจากการเงินเชิงพฤติกรรม (จบ)

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงบทเรียนโดยสรุปบางบทจากการเงินเชิงพฤติกรรม (behavioral finance) - การเงินแขนงใหม่ถอดด้าม

ซึ่งกำลังเริ่มส่งอิทธิพลในภาคการเงินและภาคธุรกิจจริง หลังจากที่ฮิตติดลมบนในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะยังไร้วี่แววในแวดวงวิชาการไทย


ข้อค้นพบหลักๆ ของการเงินพฤติกรรมเผยให้เห็นว่ามนุษย์บ่อยครั้งไม่ได้ทำอะไรๆ อย่างมีเหตุมีผลเท่ากับที่เราเคยเชื่อ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ลักษณะของ “ความไร้เหตุผล” หลายเรื่องเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ล่วงหน้า ไม่ใช่ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และในเมื่อมันคาดเดาได้ ก็แปลว่าเราสามารถออกแบบนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น เมื่อเรารู้ว่าคนไม่ชอบออมเงินเพราะสายตาสั้นเป็นธรรมชาติ เห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าระยะยาว มาตรการบังคับออมส่วนหนึ่งของรายได้จึงน่าจะส่งผลดีต่อประชาชนมากกว่าให้ออมโดยสมัครใจอย่างเดียว


ประเด็นหนึ่งซึ่งบางคนมองว่าเป็น “ข้อพิสูจน์” ว่าการเงินพฤติกรรม “ด้อยกว่า” ทฤษฎีการเงินกระแสหลัก คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้จัดการกองทุนโดยรวมยังสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดอย่างเป็นระบบไม่ได้ มิหนำซ้ำกองทุนกองไหนที่ทำผลตอบได้เหนือตลาดในปีที่แล้วก็มักจะทำไม่ได้อีกในปีนี้ (แปลว่า ผลตอบแทนในอดีตใช้พยากรณ์ผลตอบแทนในอนาคตไม่ค่อยได้) - ข้อเท็จจริงข้อนี้สะท้อนว่าถึงแม้ตลาดจะมีความไม่ปกติ และอาจถูกครอบงำด้วย “จิตวิทยามวลชน” ตามข้อค้นพบของการเงินพฤติกรรมจริง โดยรวมมันก็ดูจะยังเป็นตลาดที่ “มีประสิทธิภาพ” ตามทฤษฎีการเงินกระแสหลักอยู่ดีมิใช่หรือ


คำตอบคือ ตลาดโดยรวมอาจมีประสิทธิภาพ (ในแง่ที่เอาชนะยาก) ก็ได้ ถึงแม้ว่าจะเต็มไปด้วยนักลงทุนที่ไร้เหตุผลสมบูรณ์แบบ (ซึ่งนักการเงินพฤติกรรมเรียกว่า พวก “กึ่งมีเหตุมีผล” หรือ quasi-rational) ก็ตาม ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกการเงินพฤติกรรม เสนอการทดลองทางความคิดในบทความเรื่อง “จุดจบของการเงินพฤติกรรม” (The End of Behavioral Finance) ปี 1999 ว่า -


“สมมติว่าตลาดมีนักลงทุนสองประเภท คือ นักลงทุนมีเหตุมีผล ซึ่งทำตัวเหมือนกับสัตว์เศรษฐกิจในตำราเศรษฐศาสตร์ และนักลงทุนกึ่งมีเหตุมีผล ซึ่งพยายามตัดสินใจลงทุนอย่างดีที่สุดแต่ทำพลาดในทางที่เราคาดเดาได้ สมมติด้วยว่าตลาดนี้มีสินทรัพย์สองชนิด คือ X กับ Y ซึ่งมีค่าเท่ากันแต่แลกอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ สมมติต่อไปว่านักลงทุนกึ่งมีเหตุมีผลคิดว่า X มีค่ามากกว่า U ซึ่งเป็นความเห็นที่เปลี่ยนแปลงได้ (นักลงทุนประเภทนี้มักจะเปลี่ยนใจ) ขณะที่นักลงทุนที่มีเหตุมีผลรู้ดีว่า X กับ Y มีค่าเท่ากัน มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จำเป็นต่อการสร้างสภาพตลาดที่ X กับ Y มีราคาเท่ากัน ดังที่มันเป็นถ้าโลกนี้มีแต่นักลงทุนแบบมีเหตุมีผล?”


คำถามของเธเลอร์ค่อนข้างซับซ้อน แต่ถ้าเราลองค่อยๆ คิดตาม เงื่อนไขสำคัญๆ ก็น่าจะมีดังต่อไปนี้คือ หนึ่ง ตลาดนี้มีนักลงทุนแบบกึ่งมีเหตุมีผลมากเกินไปไม่ได้ (เพื่อให้นักลงทุนแบบมีเหตุมีผลยังมีอิทธิพลอยู่) สอง ตลาดจะต้องยอมให้นักลงทุนขายชอร์ตโดยไร้ต้นทุน (ถ้าหากราคาพุ่งสูงเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก นักลงทุนแบบมีเหตุมีผลจะได้กดราคาลงได้) สาม มีเพียงนักลงทุนแบบมีเหตุมีผลเท่านั้นที่ขายชอร์ตได้ (ไม่อย่างนั้นนักลงทุนกึ่งมีเหตุมีผลจะชอร์ต Y เมื่อ X กับ Y มีราคาเท่ากัน เพราะพวกเขาเชื่อว่า X มีค่ามากกว่า Y)


ในเมื่อเงื่อนไขเหล่านี้ยากมากที่จะเกิดครบทุกข้อ ความเชื่อของนักลงทุนกึ่งมีเหตุมีผลที่ว่าสินทรัพย์บางอย่าง “ถูกเกินไป” จึงอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ ซึ่งจะระเบิดทันทีที่นักลงทุนประเภทนี้เปลี่ยนใจ (ยกตัวอย่างเช่น หุ้นบริษัทอินเทอร์เน็ตในทศวรรษก่อนปี ค.ศ. 2001)


ความแตกต่างระหว่างการเงินพฤติกรรมกับการเงินกระแสหลักแปลว่ามันเข้ากันไม่ได้เหมือนน้ำกับน้ำมันหรือเปล่า? คำตอบคือไม่ ผู้เขียนคิดว่าคนที่สรุปประเด็นนี้ได้ดีที่สุดคือ เมียร์ สแตทแมน (Meir Statman) นักการเงินพฤติกรรมชั้นนำและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ซานตา คลารา ในสหรัฐอเมริกา -


“ประสิทธิภาพของตลาดมีสองความหมาย สำหรับบางคน ประสิทธิภาพของตลาดแปลว่าไม่มีวิธีใดๆ ที่จะเอาชนะตลาดอย่างเป็นระบบ สำหรับคนอื่น มันแปลว่าราคาหลักทรัพย์ต่างๆ นั้นมีเหตุมีผล นั่นคือ ราคาสะท้อนแต่ลักษณะ “พื้นฐาน” หรือ “อรรถประโยชน์นิยม” เช่น ระดับความเสี่ยง ไม่สะท้อนลักษณะ “ทางจิตวิทยา” หรือ “คุณค่าทางจิตใจ” เช่น อารมณ์ความรู้สึก ...ผมเสนอว่านักวิชาการด้านการเงินและนักการเงินมืออาชีพควรยอมรับว่าตลาดมีประสิทธิภาพจริงในแง่ของการเอาชนะตลาด (ยาก) แต่ปฏิเสธว่ามันมีประสิทธิภาพในแง่หลัง คือราคาล้วนมีเหตุมีผล


...คนเรา “มีเหตุมีผล” ในการเงินกระแสหลัก แต่ “ปกติ” ในการเงินพฤติกรรม คนที่มีเหตุมีผลใส่ใจกับลักษณะเชิงอรรถประโยชน์นิยมเท่านั้น ไม่สนใจลักษณะเชิงคุณค่าทางจิตใจ คนที่มีเหตุมีผลไม่เคยรับรู้ข้อมูลอย่างผิดพลาดสับสน ควบคุมตัวเองได้สมบูรณ์แบบ ไม่ชอบความเสี่ยง และไม่เคยไม่ชอบความเสียดาย คนปกติไม่ได้มีพฤติกรรมเหล่านี้เลย


...การเงินกระแสหลักขอมากไปเมื่อมันบอกว่าตลาดมีประสิทธิภาพในแง่ของความมีเหตุมีผล และนักการเงินมืออาชีพก็ขอมากไปเมื่อพวกเขายืนกรานว่า ประโยชน์หลักของการเงินพฤติกรรมอยู่ที่ถ้ามันช่วยให้พวกเขาเอาชนะตลาดได้


...การยอมรับว่าตลาดมีประสิทธิภาพในแง่ของการเอาชนะ (ยาก) และปฏิเสธว่ามันมีประสิทธิภาพในแง่ของความมีเหตุมีผล จะช่วยให้นักวิจัยทางการเงินถามคำถามดีๆ เกี่ยวกับบทบาทของนักการเงินมืออาชีพซึ่งไปไกลกว่าบทบาทการเอาชนะหรือไม่ชนะตลาด นักการเงินมืออาชีพเป็นสมาชิกของคนหลายกลุ่ม และเราต้องทำความเข้าใจกับประโยชน์ที่พวกเขามอบให้ ทั้งประโยชน์เชิงอรรถประโยชน์นิยมและเชิงคุณค่าทางจิตใจ”


แน่นอนว่าในอนาคต นักการเงินพฤติกรรมจะผลิตข้อค้นพบใหม่ๆ อีกมากมาย เนื่องจากพวกเขาทำงานอยู่ตรง “พรมแดนความรู้” ของวิชาการเงิน แต่ไม่ว่าข้อค้นพบใหม่ๆ เหล่านั้นจะเป็นอะไร ข้อค้นพบเท่าที่เราได้ในวันนี้ก็เป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในตลาดทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่มักจะหลงตัวเองหรือตื่นตระหนกจนขาดสติ ข้อค้นพบของการเงินพฤติกรรมจะช่วยให้ “รู้จักตัวเอง” มากขึ้น ไม่หลงคารมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุน และโบรกเกอร์ซึ่งอาจมี “อคติการรับรู้” อย่างแน่นหนากว่าคนทั่วไป ความที่ถือตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ


ส่วนนักการเงินมืออาชีพเหล่านี้ก็ควรฟังคำแนะนำของสแตทแมน ไม่มองการเงินพฤติกรรมว่าจะมอบ “เคล็ดลับ” ให้เอาชนะตลาดได้ แต่ควรมองว่ามันช่วยได้มากมายในการทำความเข้าใจกับความเชื่อและแรงจูงใจของลูกค้า จะได้ปรับปรุงคำแนะนำและวิธีให้บริการอย่างเหมาะสม

สฤณี อาชวานันทกุล
คอลัมนิสต์ : รู้ทันตลาดทุน
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/sarinee-achavanuntak/20110808/403539/บทเรียนจากการเงินเชิงพฤติกรรม-(จบ).html


Create Date : 09 สิงหาคม 2554
Last Update : 9 สิงหาคม 2554 0:09:43 น. 1 comments
Counter : 887 Pageviews.

 
ขอบคุณ ครับ


โดย: nangjai1 วันที่: 9 สิงหาคม 2554 เวลา:4:42:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.