In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
คุณภาพการศึกษา

ทุกวันนี้ ภาครัฐมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาในบ้านเราเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การกำหนดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการศึกษาภาคบังคับไปจนถึงการให้เงินเรียนฟรี ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีเสียงท้วงติงตามมาอีกว่าอยากเห็นรัฐมีบทบาทในแง่การพัฒนา "คุณภาพการศึกษา" ด้วย นอกเหนือจากเรื่องของปริมาณอย่างเช่นที่ผ่านมา


คุณภาพการศึกษาถือเป็นปัญหาโลกแตกปัญหาหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากว่า ต้นตอของปัญหานี้ของบ้านเรามันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ บางคนบอกว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงินเดือนครูให้มากๆ บางคนบอกว่าจะต้องกำจัดโรงเรียนกวดวิชาให้หมดไป ต่างคนก็ต่างความคิด ผมเองก็ไม่ทราบคำตอบที่ชัดเจนของปัญหานี้เหมือนกัน แต่อยากจะนำเสนอมุมมองที่ค่อนข้างจะแหวกแนวของ มิลตัน ฟรีแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้สักหน่อย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักพัฒนาการศึกษาทุกท่านนะครับ


ก่อนอื่นเลย ฟรีแมน มองว่า การที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการวงการการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอยู่ (ซึ่งแตกต่างจากมุมมองในด้านอื่นๆ ของเขาที่มักสนับสนุนกลไกตลาดอย่างเต็มที่) เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่มี Neighborhood Effect สูงในทางเศรษฐศาสตร์ หมายความว่า เวลาที่คนหนึ่งคนได้รับการศึกษานั้น ไม่ใช่เฉพาะตัวเขาเองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่สังคมก็ได้ประโยชน์ด้วยจากการที่เขาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้น อาชญากรรมลดลง การพึ่งพารัฐในแง่สังคมสงเคราะห์ลดลง การตัดสินใจทางการเมืองดีขึ้น (ซึ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่น สังคมประชาธิปไตย) ภาคธุรกิจก็สรรหาแรงงานที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ผลพลอยได้เหล่านี้ สังคมเป็นผู้ได้รับ บุคคลจึงไม่ได้นำมาคิดเวลาตัดสินใจเลือกรับการศึกษา บุคคลจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกรับการศึกษาน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหากปล่อยให้การ ศึกษาเป็นเรื่องของกลไกตลาดล้วนๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีเหตุผลที่รัฐจะเข้ามาอุดหนุนและกระตุ้นให้บุคคลเลือกรับการศึกษาให้มากขึ้น


สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การอ่านออกเขียนได้ นั้น ฟรีแมนมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพลเมืองทุกคนในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เสรี ดังนั้นรัฐอาจจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทอย่างสูงเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนจะได้รับการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน ในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เอกชนจะสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร แล้วอยู่รอดในทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงมีหน้าที่สร้างโรงเรียนให้ทั่วถึงรวมไปถึงการให้เงินเรียนฟรีสำหรับ ครอบครัวที่ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้เองด้วย


แต่ฟรีแมนก็เตือนว่า การอุดหนุนใดๆ นั้นมีจุดอ่อนเสมอคือ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา จึงไม่ควรเอาความคิดนี้ไปใช้อย่างสุดโต่งอย่างในบางประเทศถึงกับมองว่าการ ศึกษาขั้นพื้นฐานควรเป็นของรัฐทั้งหมด เพราะข้อเสียของระบบราชการคือ เป็นระบบที่ให้รางวัลหน่วยที่ทำได้แย่ที่สุดโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น ยิ่งหน่วยงานบริหารงานได้แย่ที่สุดจนอยู่ไม่ได้เท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐให้อยู่รอดได้มากเท่านั้น ต่างกับภาคเอกชนที่ต้องแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดได้


ฟรีแมนจึงเสนอว่า แทนที่จะอุดหนุนการศึกษาด้วยการให้งบประมาณอุดหนุน "โรงเรียน" ของรัฐ รัฐควรหันมาอุดหนุนที่ "การศึกษา" โดยตรงแทน ด้วยวิธีแจก "คูปอง" เรียนหนังสือให้กับประชาชน แล้วให้ประชาชนตัดสินใจเองว่า จะเอาคูปองนี้ไปสมัครเรียนที่โรงเรียนไหน (รัฐหรือเอกชนก็ได้) วิธีนี้ยังอุดหนุนการศึกษาเหมือนเดิม แต่โรงเรียนทุกแห่งจะต้องพัฒนาตัวเองด้วย มิอาจนอนใจได้เหมือนเดิม เพราะประชาชนจะไม่เลือก วิธีนี้ก็จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาได้ บางคนแย้งว่า โรงเรียนไม่เหมือนกับสินค้าอย่างอื่น จะปล่อยให้มีการแข่งขันกันแบบเอกชนไม่ได้ แต่สิ่งที่เห็นอยู่ในความเป็นจริงก็คือทุกวันนี้สถาบันการศึกษาในสหรัฐ ที่ได้รับการยอมรับกันว่ามีคุณภาพล้วนแต่เป็นสถาบันของเอกชนเป็นส่วนใหญ่


ในส่วนของการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป เช่น อาชีวะหรือมหาวิทยาลัยนั้น ฟรีแมนมองว่ามีเหตุผลน้อยกว่าที่รัฐจะอุดหนุนอย่างเต็มตัว เพราะการศึกษาเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการหารายได้ในอนาคตของผู้เรียน ดังนั้นแทนที่รัฐ จะให้เงินอุดหนุนสถาบันการศึกษาเหล่านี้เพื่อให้ค่าเทอมถูกลงซึ่งกลายมาเป็น ภาระของผู้เสียภาษีทุกคน รัฐควรเป็นแค่ผู้ให้เงินกู้เพื่อการศึกษาเท่านั้น เพราะหลังเรียนจบ บุคคลจะหารายได้ได้มากขึ้น บุคคลย่อมมีความสามารถในการใช้คืนเงินกู้ได้ การอุดหนุนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐโดยตรงนั้น ส่งผลเสียในแง่ที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่าง สถาบันของรัฐและเอกชน น่าจะปล่อยให้ทั้งสองภาคส่วนได้แข่งขันภายใต้พื้นฐานเดียวกันจะพัฒนาคุณภาพ การศึกษาได้ดีกว่า แต่เหตุที่รัฐยังต้องเข้ามาปล่อยเงินกู้การศึกษาแทนสถาบันการเงินของเอกชนนั้นเป็นเพราะ สินเชื่อการศึกษาอาจให้ผลตอบแทนต่ำเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเมื่อเทียบกับสินเชื่อธุรกิจอื่นๆ ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันชัดเจน การปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ปล่อยกู้การศึกษาจึงอาจได้ผลน้อย

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20110420/386960/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2.html




Create Date : 10 พฤษภาคม 2554
Last Update : 10 พฤษภาคม 2554 9:50:24 น. 0 comments
Counter : 477 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.