In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
Property Rights

ทุนนิยมมีแนวคิดที่ฟังดูประหลาดคือ ถ้าสังคมมนุษย์อยากให้ทรัพยากรถูกใช้คุ้มค่าที่สุดต้องมีการกำหนดให้ปัจเจกเป็นเจ้าของทรัพยากรนั้นอย่างชัดเจน

ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมหวงของของตัวเองมากกว่าของของคนอื่นเป็นธรรมดา เมื่อใดที่สังคมปล่อยให้ทรัพยากรถูกใช้ไปโดยไม่มีการกำหนดให้ใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แน่นอนต่อการหมดสิ้นไปของทรัพยากรเหล่านั้น หรือกำหนดให้ผู้ใช้ทรัพยากรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นคนละคนกัน ทรัพยากรมักจะถูกใช้ไปในแบบที่สิ้นเปลืองมากกว่า


ลองนึกถึงน้ำไฟในออฟฟิศของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ กับน้ำไฟที่บ้านของคุณเอง อย่างไหนคุณมีแนวโน้มที่จะใช้อย่างประหยัดมากกว่ากัน หลักของ Property Rights ยังอธิบายด้วยว่า ทำไมแม่น้ำลำคลองทั้งหลายซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะถึงเสี่ยงที่จะทรุดโทรมได้มากกว่าที่ดินหรือถนนส่วนบุคคล


ถ้าถามคุณว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ ละอง ละมั่ง สมัน เนื้อทราย กูปรี สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ บางคนอาจตอบว่า เป็นเพราะกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าไม่เข้มงวดมากพอ หรือบางคนอาจตอบว่า เป็นเพราะเราขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่ถ้าจะตอบคำถามนี้แบบนักเศรษฐศาสตร์ สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้สูญพันธุ์เป็นเพราะ กฎหมายห้ามมิให้เอกชนครอบครองสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?


เมื่อเราห้ามมิให้เอกชนเป็นเจ้าของสัตว์ป่า พวกมันจึงเป็นสมบัติสาธารณะ ถ้าเราจะห้ามมิให้ใครฆ่ามันเพื่อเอาประโยชน์ เราจะต้องใช้กำลังพลจำนวนมหาศาลคอยอารักขาพวกมันตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่เรายอมให้เอกชนเป็นเจ้าของพวกมันและหาประโยชน์จากพวกมันได้ จะมีบริษัทเอกชนจำนวนมากเปิดฟาร์มเพื่อหาวิธีขยายพันธุ์พวกมัน แล้วขายเนื้อของพวกมันเพื่อเอากำไร พวกมันจึงไม่สูญพันธุ์ แต่จะมีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดว่าสัตว์อย่าง เป็ด ไก่ หมู วัว เป็นสัตว์ที่ไม่มีวันสูญพันธุ์ได้ เพราะกฎหมายอนุญาตให้เอกชนเป็นเจ้าของพวกมันได้


เมื่อ 20 ปีที่ก่อน ช้างป่าในทวีปแอฟริกาลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากการถูกไล่ล่าเพื่อเอางาไปขาย บรรดาองค์กรอนุรักษ์ทั้งหลายพยายามผลักดันให้เกิดการแบนการค้างาช้างทั่วโลกเพื่อช่วยหยุดยั้งการสูญพันธุ์ แต่รัฐบาลของหลายประเทศในแอฟริกากลับไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ดังกล่าว และไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาเหล่านั้น รัฐบาลเหล่านี้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการให้สิทธิพลเมืองท้องถิ่นในการยึดช้างป่าเหล่านี้มาเป็นเจ้าของเพื่อทำประโยชน์เกี่ยวกับการใช้แรงงาน การท่องเที่ยว ฯลฯ แทน ปรากฏว่า ประชากรช้างป่าในประเทศที่เลือกใช้วิธีการนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกัน


ปัญหาโลกแตกบางอย่าง ถ้าเราลองมองในมุมกลับกัน เราอาจพบหนทางแก้ไขปัญหาในแบบที่คาดไม่ถึงก็ได้


Hernando de Soto นักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู ได้แสดงทัศนะของเขาไว้ในหนังสือชื่อ The Mystery of Capital: Why Capitalism Triumphs in the West and Fails Everywhere Else ว่า สาเหตุใหญ่ที่ระบอบทุนนิยมนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีในยุโรปและสหรัฐ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในประเทศกำลังพัฒนาเป็นเพราะ ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีการคุ้มครองสิทธิในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ต่างๆ ให้กับเอกชนได้ดีเท่ากับประเทศตะวันตก ทำให้สังคมขาดแรงจูงใจที่จะใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เขาได้ยกตัวอย่างหลายๆ ประเทศที่ไม่ได้ออกเอกสารสิทธิให้กับที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ในทางปฏิบัติที่ดินเหล่านั้นมีเกษตรกรเข้าไปจับจองเพื่อเพาะปลูกทั้งสิ้น เกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถนำที่ดินที่ครอบครองอยู่ไปขอกู้เงินเพื่อเอามาทำทุนได้เลย เพราะว่าไม่ได้เป็นเจ้าของในทางกฎหมาย เกษตรกรจึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาพัฒนาอาชีพของตัวเองไม่ได้ ต่างกับพ่อค้าซึ่งส่วนใหญ่ครอบครองที่ดินในเมืองที่มีการออกโฉนดให้อย่างแน่นอน พ่อค้าจึงนำที่ดินที่ตนเองเป็นเจ้าของไปจำนองเพื่อกู้เงินมาขยายธุรกิจได้ เป็นต้น


ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศที่ต้องการก้าวไปเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์คือ ประเทศเหล่านั้นจะต้องมีการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาให้แก่ผู้สร้างสรรค์ได้ดีด้วย ถ้าดีไซเนอร์ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สุดกิ๊บเก๋ขึ้นมา แล้วโดนเลียนแบบภายในเวลาไม่ถึงเดือนโดยไม่มีใครว่าอะไร สุดท้ายแล้ว บริษัทที่ผลิตสินค้าที่ขายไอเดียก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะสินค้าที่มีไอเดียมีต้นทุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สูง แต่ไม่สามารถตั้งราคาสูงเพื่อคืนทุนได้ เพราะโดนสินค้าเลียนแบบตัดราคาแย่งลูกค้าไปหมด หรือถ้าสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ แต่ขั้นตอนก็ยืดเยื้อมากจนไม่มีเวลาทำมาหากิน หรือค่าใช้จ่ายสูงมากเสียจนไม่คุ้มที่จะฟ้องร้อง สุดท้ายแล้ว ต่อให้ประเทศมีคนที่มีหัวสร้างสรรค์อยู่มากแค่ไหน คำว่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ก็ไม่มีทางเกิดได้


โดยส่วนตัว ผมได้เจอโปรแกรมเมอร์บ้านเราที่เก่งๆ หลายคนแต่ไม่กล้าเปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมาเพื่อเขียนซอฟต์แวร์ดีๆ ออกมาขาย เพราะรู้ว่ายูสเซอร์บ้านเราส่วนใหญ่ใช้ซอฟต์แวร์ฟรีตลอด ไม่ต้องพูดถึงนักแต่งเพลงหรือวงดนตรีบ้านเราที่เก่งๆ จำนวนมากที่ต้องมีชีวิตที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนในทางเศรษฐกิจ เพราะผลงานที่พวกเขาไม่เคยได้รับการคุ้มครองสิทธิ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็น


นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20100223/101897/Property-Rights.html


Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2553 11:52:44 น. 1 comments
Counter : 483 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:12:22:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.