In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
เงินเฟ้อ หรือ เงินฝืด (2)

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดย ท่านปลัดศิริพล ยอดเมืองเจริญ ได้แถลงตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Price Index:CPI) หรือ ที่ชาวบ้านเข้าใจกันว่าเป็น "อัตราเงินเฟ้อ" สำหรับเดือน ม.ค.2552 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2551 (หรือเมื่อปีที่แล้ว) พบว่า ลดลง 0.4% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค.2542

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ความเชื่อมั่นว่า "ยังไม่มีสัญญาณเงินฝืด เพราะการใช้จ่ายสินค้าจำเป็นยังมีอยู่ แต่ยอมรับสินค้าที่ไม่จำเป็น มีการชะลอการซื้อขายไปก่อน สาเหตุที่เงินเฟ้อติดลบในเดือนนี้ มาจากราคาสินค้าที่ปรับลดลงมากจากปีก่อนที่ราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติ" ("พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อม.ค.ติดลบ 0.4% ในรอบ 9 ปี" กรุงเทพธุรกิจ 3 ก.พ.2551)



การปรับตัวลดลงของ ดัชนี CPI ในครั้งนี้ ทำให้ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเงินฝืด หรือ Deflation ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกัน ผมจึงขอถือโอกาสทบทวนความหมายคำว่า เงินฝืด หรือ Deflation ให้ท่านผู้อ่านกันอีกสักครั้งนะครับ



ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า "เงินฝืด หรือ Deflation" หมายความว่า "ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อยไป การใช้จ่ายลดน้อยลง ทําให้ราคาสินค้าตก" ในขณะที่คำที่มีความหมายตรงข้ามอย่าง "เงินเฟ้อ หรือ Inflation" หมายความว่า "ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไปทําให้ราคาสินค้าแพงและเงินเสื่อมค่า"



ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินฝืด หรือ Deflation จะมีความหมายอีกความหมายหนึ่งนั่นคือ การปรับตัวลดลงของดัชนีราคา (Price Index) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้ามีราคาลดลง



การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าในภาวะเงินฝืด เป็นภาวะที่ค่อนข้างน่ากลัว เพราะหากผู้บริโภคคาดว่าสินค้ามีแนวโน้มของราคาที่ลดลง ผู้บริโภคก็จะไม่ใช้จ่ายแต่จะกอดเงินเอาไว้เพื่อรอที่จะซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าในอนาคต ซึ่งทำให้ไม่มีผู้คนต้องการใช้จ่าย เศรษฐกิจที่หดตัวอยู่แล้วก็จะหดตัวยิ่งขึ้นไปอีก



คนที่โชคร้ายที่สุดในภาวะเศรษฐกิจที่เป็นเงินฝืดก็คือ คนที่เป็นหนี้ เช่น นาย A เงินเดือน 7 หมื่นบาท กู้เงินมา 3 ล้านบาท (ติดหนี้แบงก์) เพื่อซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง แต่ในภาวะ Deflation ราคาสินทรัพย์ทุกอย่างมีแนวโน้มลดต่ำลง ทั้งค่าจ้าง บ้าน รถยนต์ คอนโด และ GDP สมมุติ กรณีของนาย A ถูกลดเงินเดือนเหลือ 4 หมื่น ทำให้ผ่อนบ้านต่อไม่ไหว นาย A จึงต้องขายบ้าน ที่ซื้อมาที่ราคา 3 ล้านบาท ไปที่ราคา 2.5 ล้านบาท แถมต้องติดหนี้ธนาคารอีก 5 แสนบาท (ถูกลดเงินเดือน เสียบ้าน แถมติดหนี้อีก)

ด้วยสภาพ Deflation นี้ ทำให้ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศต่างเป็นหนี้อย่างสหรัฐอเมริกา กลัวว่าประเทศจะเข้าสู่ภาวะ Deflation เป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ทั้ง ธนาคารกลางของสหรัฐ หรือ FED และ รัฐบาลสหรัฐ พยายามทุกวิถีทางไม่ให้ประเทศตกเข้าสู่ภาวะ Deflation

ช่วงที่ผ่านมา FED ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์ (0 - 0.25%) อัดฉีดเงินเข้าระบบธนาคารเป็นจำนวนมาก ตามนโยบาย Quantitative Easing รวมถึงมีแผนที่จะซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเสมือนกับการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเพื่อแก้ปัญหา หรือ เสมือนกับการเพิ่มปริมาณเงิน (Money Supply) ให้กับระบบ (โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกต่างมีนโยบายลดดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน)

จากภาวะการขาดความเชื่อมั่นในภาวะวิกฤติปัจจุบัน ทำให้ดูเหมือนกับว่าการแก้ปัญหาของ FED ด้วยการพิมพ์เงินออกมาเข้าระบบในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดภาวะ เงินเฟ้อ หรือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคานัก โดยสังเกตจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของราคาเมื่อปีที่แล้วแทบทั้งสิ้น (หากจะเปรียบเทียบ เช่นเดียวกันกับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ธนาคารกลางเยอรมันได้เพิ่มเงินในระบบขึ้นถึง 400% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนต่างเก็บเงินเอาไว้ไม่ใช้จ่ายในยามภาวะสงคราม)
ปัจจุบันยังเกิดข้อถกเถียงกันว่าด้วยมาตรการของธนาคารกลางทั่วโลก จะส่งผลให้โลกของเราจะเผชิญกับปัญหา เงินเฟ้อ หรือเงินฝืด กันแน่ในอนาคตอันใกล้

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของท่านกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการซื้อขาย Gold Futures ที่ซื้อขายกันในตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX ว่า "ถือเป็นจังหวะดีในการเปิดซื้อขาย Gold Futures ในช่วงนี้ ที่นักลงทุนไทยและนักลงทุนทั่วโลกมองหาวิธีการบริหารความเสี่ยง หลังจากที่ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ มีความผันผวนอย่างหนัก ในและภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา ที่ถกเถียงกันมากว่าขณะนี้มีปัญหาเงินเฟ้อ หรือเงินฝืด ความสนใจลงทุนในตลาดนี้น่าจะมีมากขึ้น" (โกลด์ฟิวเจอร์สวันแรกแห่เก็งสั้น 1 เดือน กรุงเทพธุรกิจ 3 ก.พ.2551)

ทั้งนี้ เหมือนอย่างที่หลายท่านล้วนทราบกันดีว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เช่นเดียวกัน กับสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง น้ำมัน หรือ ยางพารา (ในปัจจุบันมีการซื้อขายยางพาราล่วงหน้า หรือ Rubber Futures แล้วในตลาดสินค้าล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET)

แต่ ทองคำเป็นสินค้าที่มีความพิเศษในตัวมันอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ทองคำสามารถทำหน้าที่เป็น เงินตรา (Currency) เหมือนที่ครั้งหนึ่งที่ นายอลัน กรีนสแปน ครั้งหนึ่งเคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “Gold Still Represents The Ultimate form of Payment in The World."

หากทองคำทำหน้าที่เป็นเงินตราแล้ว จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะเงินฝืด ด้วยเช่นกัน อาทิ ช่วง Deflation ในสหรัฐฯ หลังจากจากแตกของฟองสบู่อินเทอร์เน็ต (Internet Bubble) ในสหรัฐ ระหว่างปี ค.ศ.2001 - 2004 ที่ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 267.2 ดอลลาร์ ไปที่ 437.2 ดอลลาร์ต่อออนซ์

การนำสินค้า Gold Futures เข้าซื้อขายใน TFEX ช่วงเวลาเช่นนี้ จึงถือว่าถูกที่ ถูกเวลา สำหรับการเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนในประเทศไทย สำหรับภาวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ หรือ เงินฝืด นอกเหนือไปจากทางเลือกที่นักลงทุนต้องไปต่อแถวซื้อ-ขายทองคำที่เยาวราช หรือ ซื้อกองทุนรวมทองคำอย่างของ TMB หรือ K-Gold

In Step with AFET Futures : ดร.พีรพล ประเสริฐศรี
//www.bangkokbiznews.com/home/news/finance/guru/2009/02/05/news_13564.php



Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 16:50:04 น. 0 comments
Counter : 631 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.