In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
กบในน้ำอุ่น

ในบ่อเลี้ยงกบสองบ่อ บ่อแรกถ้าลองเอาน้ำเดือดเทลงไป กบจะตกใจรีบตะกายหนีออกจากบ่อทันทีเพราะความร้อน

ในขณะที่บ่อที่สอง ถ้าเราค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิของน้ำในบ่ออย่างช้าๆ จนไปถึงจุดเดือด กบจะอยู่เฉยๆ เพราะไม่รู้สึกว่าน้ำกำลังร้อนขึ้น กว่าจะรู้ตัวอีกทีอุณหภูมิก็ใกล้ถึงจุดเดือดแล้ว กบจะกระโดดหนีออกจากบ่อไม่ทัน และตายในที่สุด


พฤติกรรมของกบบอกอะไรเราหลายอย่างเกี่ยวกับการพัฒนา


สมัยเด็ก สิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับว่ามีผลต่อผลการเรียนของผมอย่างมาก คือ สภาวะกดดันภายในโรงเรียน โดยบุคลิกส่วนตัวแล้วผมไม่ใช่คนที่ชอบดิ้นรนเท่าไรนัก แต่เพราะการได้อยู่ในโรงเรียนที่มีการเข้มงวดกวดขันสูง เพื่อนๆ ก็แข่งกันเรียน ทำให้ผมพลอยขยันเรียนไปด้วยเพื่อเอาตัวรอด (และเป็นการทำตัวให้กลมกลืน) สุดท้ายแล้วมันก็เกิดเป็นนิสัย และช่วยผลักดันให้เรานำศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่


เจ้านายที่ทำงานเก่าของผมคนหนึ่งเคยพูดกับผมว่า เคล็ดลับในการบริหารคนของเขา คือ ต้องคอยสร้างแรงกดดันในระดับที่เหมาะสมให้กับลูกน้องอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากไม่มีแรงกดดันในการทำงานเลย คนเราจะหย่อนยานลงเรื่อยๆ โดยธรรมชาติ แต่ถ้ากดดันมากเกินไป งานก็จะออกมาแย่มากเหมือนกัน เคล็ดลับคือจะต้องสร้างแรงกดดันให้ลูกน้องแต่ละในระดับที่เหมาะสม คือ รู้สึกกดดัน แต่ไม่มากจนเกินไป งานของทุกคนก็จะออกมาดีที่สุด ผมรู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หลังจากนั้น เมื่อผมไปทำงานที่ไหนแล้วผมรู้สึกว่า สภาวะแวดล้อมของที่ทำงานนั้นสบายเกินไป ผมจะหาโอกาสลาออก เพราะถ้าอยู่ต่อไปนานๆ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตัวเองค่อนข้างมาก


ในทางเศรษฐศาสตร์มีคำคำหนึ่ง ว่า Dutch Disease (โรคของชาวดัตช์) หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากๆ มักจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตน้อยลง เหตุเพราะการขายทรัพยากรธรรมชาติกิน ช่วยทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างง่ายๆ เลยไปลดแรงจูงใจที่จะพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่า เมื่อเวลาผ่านไป ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มลดน้อยถอยลง ประเทศจะหันกลับมาแข่งขันด้านการผลิตก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตถูกปล่อยให้ล้าหลังลงอย่างมาก คำคำนี้มีที่มาจากการค้นพบบ่อก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 1959 ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถด้านการผลิตของประเทศที่ตกต่ำลงอย่างมากในเวลาต่อมา ทุกวันนี้ หลายประเทศในตะวันออกกลางก็ประสบปัญหาในการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากรายได้มหาศาลจากน้ำมันทำให้ภาคธุรกิจในประเทศขาดแรงจูงใจ ที่จะพัฒนาความสามารถด้านการผลิต


ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างกระจายตัวมาก เนื่องจากเป็นภูมิประเทศแบบขั้วโลก ฟินแลนด์จึงไม่สามารถเดินสายโทรศัพท์ให้ทั่วถึงทั้งประเทศได้ เนื่องจากจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อุปสรรคตรงนี้ได้กลายมาเป็นแรงผลักดันให้ฟินแลนด์พัฒนาการสื่อสารแบบไร้สายได้ดีกว่าประเทศอื่น เพราะมีความจำเป็น ในที่สุด ฟินแลนด์ก็กลายมาเป็นประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านการสื่อสารแบบไร้สายของโลกได้ เป็นเรื่องแปลกที่หลายประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบางอย่างได้เพราะความไม่มี ไมเคิล อี.พอร์เตอร์ กล่าวไว้ว่า ประเทศหนึ่งๆ จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมใดๆ ในระดับโลกได้ ตลาดภายในประเทศของประเทศนั้นจะต้องมีการแข่งขันที่สูง และผู้บริโภคในประเทศก็ต้องมีความคาดหวังต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในระดับที่สูงด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้บริษัทมีการพัฒนา และทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ในเวลาที่บริษัทออกไปแข่งขันในตลาดโลก


เวลาพูดถึงการพัฒนาประเทศ เรามักนึกถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ ถ้าอุตสาหกรรมไหนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรมักถูกอธิบายว่า เป็นเพราะรัฐบาลยังไม่ได้ให้การสนับสนุนที่มากพอ รัฐบาลจะต้องเทเงินลงมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล่านั้นให้มากขึ้นอีก หรือมิฉะนั้น ก็ต้องออกนโยบายอุดหนุนต่างๆ มาช่วยผู้ประกอบการในวงการนั้นๆ ให้ลืมตาอ้าปากได้ เช่น ต้องยกเว้นภาษี ต้องปล่อยสินเชื่อให้เป็นกรณีพิเศษ ต้องพาไปโรดโชว์ฟรีๆ หรือต้องออกมาตรการกีดกันการค้าต่างๆ เพื่อช่วยสกัดคู่แข่งต่างชาติ เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ดูผิวเผินแล้วเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จึงน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในเวลาเดียวกันมัน คือ การลดแรงกดดันในการแข่งขันของบริษัทลง ทำให้บริษัทขาดแรงจูงใจที่สำคัญยิ่งของการพัฒนา โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เคยเห็นด้วยเลยกับการรณรงค์ให้ซื้อสินค้าไทย ผมว่าบริษัทมีหน้าที่จะต้องทำสินค้าให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้บริโภคอยากซื้อให้ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริโภคที่จะต้องมาช่วยซื้อสินค้าเพื่ออุ้มภาคธุรกิจ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้บริโภคอาจไม่อยากได้สินค้าเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย การช่วยเหลือแบบนั้นอาจกลายเป็นการทำร้ายบริษัทในระยะยาว


ผมเคยได้ยินนักธุรกิจชื่อดังท่านหนึ่งบอกว่าที่จริงแล้วรัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกนโยบายช่วยเหลือภาคธุรกิจใดๆ เลย แค่ไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะรายวัน อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในกับภาคธุรกิจให้มากขึ้นไปอีก แล้วปล่อยให้ตลาดมีการแข่งขันกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา แค่นี้ประเทศก็เดินหน้าได้แล้ว ผมเห็นด้วยจังเลยครับ

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20100615/337756/กบในน้ำอุ่น.html


Create Date : 17 มิถุนายน 2553
Last Update : 17 มิถุนายน 2553 0:21:41 น. 1 comments
Counter : 895 Pageviews.

 


โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 17 มิถุนายน 2553 เวลา:21:37:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.