In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

ศึกชิงเท้า

สิ่งที่ผมต้องทำในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็คือ อย่างน้อยหนึ่งวันผมต้องไป "จ่ายตลาด" เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เพื่อหาอาหารมากิน

ระหว่างสัปดาห์ต่อมา นอกจากซื้ออาหารและของใช้ประจำวันแล้ว ผมจะถือโอกาสเดินดูและ "ชอปปิง" สิ่งที่ "ไม่จำเป็น" แต่ผมอยากได้ เช่น หนังสือดีๆ หรืออะไรต่างๆ  ที่ผมเผอิญพบในห้างสรรพสินค้า หรือมอลล์ทั้งหลาย ที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล การ "เดินห้าง" เป็นส่วนหนึ่งของ "ชีวิต" ของผม และผมเชื่อว่าจะเป็นชีวิตของคนในเมืองในไทยอีกไม่น้อย เหนือสิ่งอื่นใด เมืองไทยเป็นเมืองร้อน จะมีที่ไหนที่ดีไปกว่าห้างติดแอร์ในยามที่คุณต้องการพักผ่อนอย่างสบายในวันหยุด

ผมมีศูนย์การค้าประจำ ที่ผมมักจะไปใช้บริการบ่อย เพราะสะดวก อยู่ใกล้บ้าน และมี "ของครบ" ตามที่ผมต้องการ ผมมักจะไปเยี่ยมเยือน "มอลล์" แทบจะทุกแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศเป็นครั้งคราว และแน่นอนว่า นอกจากจะเป็นเรื่องความบันเทิงแล้ว ผมจะถือเป็นโอกาส "วิเคราะห์หุ้น" เพื่อการลงทุนด้วย

เพราะผมคิดว่า ที่ที่คนไป และใช้จ่ายเงิน เป็นแหล่งสำคัญที่จะเรียนรู้ว่า ธุรกิจอะไรดีและธุรกิจอะไรจะแย่ เทรนด์การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคจะไปทางไหน นอกจากธุรกิจที่มีห้างร้านอยู่ในมอลล์แล้ว ธุรกิจสำคัญอีกธุรกิจหนึ่ง คือ ธุรกิจ "ศูนย์การค้า" และนี่คือ สิ่งที่ผมจะพูดถึงในวันนี้

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ เรียกได้ว่าเป็นช่วง "บูม" ของศูนย์การค้า เหตุผลเพราะว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมาจนถึงจุดที่คนจำนวนมาก มีรายได้มากพอที่จะเดินเข้าห้างร้านสมัยใหม่ และสังคมของเราคงก้าวมาถึงจุดที่การบริโภค กลายเป็นตัวนำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การเดินเข้าห้างของผู้คน จึงเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ทำให้ห้างร้านเต็มไปด้วยผู้คน คนที่ทำธุรกิจศูนย์การค้าอยู่เดิม สามารถเพิ่มค่าเช่า และทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ 

ดังนั้น พวกเขาก็ขยายห้างไปยังทำเลอื่นๆ ซึ่งมักจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แม้แต่ศูนย์ที่เคย "เจ๊ง" ไปแล้ว ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านค้าย่อยและตัวสินค้าจน "กู้" ให้ศูนย์กลับมามีชีวิตชีวาและทำกำไรได้ใหม่ ธุรกิจห้าง จึงดูเหมือนว่าจะเป็นธุรกิจที่ดีมาก เป็นธุรกิจ "ดารา" ที่ทำเงินดี และเสี่ยง "ต่ำ" และนี่ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าวงการกันมากมาย ห้างใหม่ๆ ที่เปิดขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน และดึงดูดห้างใหม่จากผู้เล่นรายเดิมและผู้เล่นรายใหม่เข้ามาอีก ศึก "ชิงเท้า" กำลังเกิดขึ้นแล้ว!

ไม่ว่าจะเป็นห้างประเภทไหน การเปิดขึ้นมาใหม่ ก็จำเป็นต้องหาคนมาเดิน-และซื้อสินค้าหรือบริการ คนที่เข้ามาใช้บริการหลักๆ คือ คนที่อาศัย หรือทำงานอยู่ในบริเวณนั้น และน่า จะมีสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ใคร่เข้า หรือเดินห้างเพราะอยู่ห่างจากห้างสมัยใหม่ และรายได้ยังไม่สูงนัก  และ กลุ่มที่สอง คือคนที่เดินห้างอื่นๆ อยู่แล้ว ในความคิดของผม คือ  ลูกค้าหลักที่จะมาเดินห้างใหม่ คือ กลุ่มที่สอง

ประเด็นสำคัญ คือ จำนวนคน หรือเท้าของคนกลุ่มที่สอง ไม่น่าจะเดินห้างมากขึ้นนัก หรือเดินห้างเท่าเดิม ดังนั้น เขาก็จะลดการเดินในห้างเดิม เพื่อมาเดินห้างใหม่ ผลคือ ห้างเดิมน่าจะมีคนเดินน้อยลงจากการเปิดห้างใหม่

ภาพการแข่งขันของห้าง หรือศูนย์การค้า ไม่ใช่แค่ต้องเป็นศูนย์การค้าประเภทเดียวกันถึงจะแข่งขันกัน ห้างอะไรก็ตาม ที่ดึงดูดผู้บริโภคสมัยใหม่ให้มาใช้บริการ ผมคิดว่าแข่งขันกันหมด ตัวอย่างเช่น คอมมูนิตี้มอลล์ ก็ดึงดูดให้คนที่อยู่ใกล้ๆ มากินอาหาร หรือซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทำให้คนที่มาลดการไปศูนย์การค้าใหญ่ๆ ที่เป็นมอลล์ลง เช่นเดียวกัน เมกะมอลล์ ก็อาจดึงดูดคนที่ใช้บริการห้างในเมือง กรณีที่เขาต้องการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ หรือมากรายการในบางครั้ง ดังนั้นในสงคราม "ศึกชิงเท้า" นี้  จึงไม่น่าที่จะมีห้างที่ไม่ถูกกระทบ

ห้างที่มีฐานเดิมแน่นหนา น่าจะรักษา "เท้า" ของตนเองไว้ได้พอสมควร เพราะความสามารถและชื่อเสียงที่มีมานาน การที่จะเติบโต และทำกำไรได้เพิ่มขึ้นโดดเด่น อย่างที่เป็นก่อนสงครามจะเริ่ม ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย จริงอยู่ กำไรอาจเพิ่ม เพราะการขยายสาขาออกไปมาก แต่กำไรที่ได้มา   เกิดขึ้นจากการที่ต้องลงทุนไปมาก ซึ่งทำให้เป็นกำไรที่มีคุณภาพไม่สูง แต่กำไรคุณภาพสูง ที่จะเพิ่มขึ้น เพราะเพิ่มราคาค่าเช่าพื้นที่ในห้าง อาจไม่ได้เป็นไปตามคาดหากจำนวน "เท้า" ของคนเข้าห้างไม่ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนห้างใหม่ๆ ของผู้เล่นใหม่ๆ หรือผู้เล่นที่ไม่ได้เป็นผู้นำในธุรกิจ ผมคิดว่า อาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สดใสนัก โดยเฉพาะห้างที่ไม่ได้มีทำเล หรือมี "แม่เหล็ก" ที่โดดเด่นจริงๆ จริงอยู่ ในช่วงที่เปิดห้างใหม่ๆ เราอาจจะยังไม่เห็นปัญหาชัด เนื่องจากคนอาจจะยัง "เห่อ" กับห้างใหม่ ผู้เช่า บางทีอาจจะยังต้องประคองตัวในช่วงแรก แม้จะขายสินค้าไม่ได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป และพบว่าห้างไม่ใคร่ประสบความสำเร็จ นั่นจะเป็นเวลาที่เห็นว่าในศึก หรือสงครามครั้งนี้ ใครชนะและใครแพ้ แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนอาจจะเป็นไปได้ว่า เสียหายหรือเจ็บกันหมด

ปัญหาของธุรกิจศูนย์การค้า คือ เป็นธุรกิจที่ไม่มี Barrier to Entry นั่นคือ เป็นธุรกิจที่ทุกคนเข้ามาเล่นได้ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือ ทำเล ทำเล และทำเล ซึ่งไม่มีใครยึดได้คนเดียว และคนจำนวนมากสามารถที่จะมีทำเล ที่ "สุดยอด" ได้ ดังนั้น คนจำนวนไม่น้อย จึงเข้ามาแข่งในธุรกิจได้ โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินในทำเลที่ดี และเป็นคนที่มีเงินมากพอที่จะทำ ซึ่งบังเอิญมักเป็นคนเดียวกัน เพราะคนมีเงินมักจะเก็บที่ดินไว้เป็นสมบัติด้วย

เช่นเดียวกัน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่ขายบ้านและคอนโดมิเนียมบางแห่ง เมื่อเห็นว่า ธุรกิจทำศูนย์การค้าทำกำไรได้งดงาม แถมเป็นรายได้สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้หุ้นของบริษัทมีค่ามากขึ้น ก็เข้ามาทำธุรกิจศูนย์การค้าเป็นรายได้เสริมด้วย กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ แม้จะไม่ใช่ "มืออาชีพ"  จริงๆ ในธุรกิจทำศูนย์การค้าและไม่สามารถ "ทำลาย" ผู้นำในวงการได้ แต่บางช่วงบางตอนที่พวกเขาเข้ามามากๆ และรวดเร็วอย่างที่เกิดขึ้นช่วงนี้ จะทำให้ทุกคน "เหนื่อย" ได้เหมือนกัน

ตลาดของศูนย์การค้าที่พอจะยังเติบโต หรือยัง มี "เท้า" ของคนที่ยังไม่ได้เข้าห้างมากนัก คือ ตลาดในหัวเมืองในต่างจังหวัด ประเด็นชี้ขาด ก็คือ กำลังซื้อของคนในจังหวัดนั้นเพียงพอที่จะ "เข้าห้าง" มากน้อยแค่ไหน ประเด็น คือ ห้างต้องมีตำแหน่งทางการตลาดที่เหมาะสมกับรายได้ของผู้คนในท้องถิ่น มิฉะนั้น ศูนย์การค้า อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ และทั้งหมด ก็คือ ภาพของธุรกิจศูนย์การค้าที่ดูเหมือนว่าจะดีและบูมมาก แต่ดูเหมือนว่า จะมีคนเข้ามาแข่งขันกันมากมายจนกำลังจะกลายเป็น "สงคราม" ที่ทุกคนเสียหายกันหมด 


//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120619/457361/%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2.html




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2555    
Last Update : 21 มิถุนายน 2555 2:54:49 น.
Counter : 1073 Pageviews.  

ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น

"เงิน 1 ดอลลาร์ ที่เก็บได้บนถนนนั้น ให้ความพึงพอใจแก่คุณมากกว่าเงิน 99 ดอลลาร์ ที่คุณได้จากการทำงาน และเงินที่คุณเล่นได้จากวงไพ่


หรือในตลาดหุ้น ก็สอดแทรกเข้าไปในหัวใจคุณในแบบเดียวกัน" นั่นคือ คำกล่าวของ มาร์ก ทเวน  นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน

ความสุขและความพึงพอใจจากเงินที่ได้จากการพนัน ซึ่งในสายตาของ มาร์ก ทเวน หรือคนทั่วไป รวมถึงการเล่นหุ้นนั้น ช่างมากมายเสียเหลือเกิน และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่คนจำนวนไม่น้อย ที่มีเงินพอสมควร และคนที่มีเงินมาก ต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นนิจศีล

แต่ความพึงพอใจที่ "ได้เงิน" เท่านั้น หรือที่ทำให้คน "ติด" อยู่กับการเล่นหุ้น ทำไมคนจำนวนมากที่วนเวียนเล่นหุ้นมายาวนาน แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้กำไร บางคนขาดทุนด้วยซ้ำ แต่พวกเขาเหล่านั้น ก็ไม่เลิกเล่น อะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากเล่นหุ้นจริงๆ นอกเหนือจากเรื่องเงินที่จะได้ คำตอบ ก็คือ "ความสุขและความพึงพอใจจากการเล่นหุ้น"

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องของ ความสุขและความพึงพอใจ ของคนเรา น่าจะอธิบายพฤติกรรมของคนที่ชอบ "เล่นหุ้น" ซึ่งในความหมายของผม คือ คนที่ชอบ "เก็งกำไร" นั่นคือ ซื้อๆ ขายๆ หุ้นในระยะเวลาอันสั้นได้ ลองมาดูกันว่าเป็นอย่างไร

การศึกษาเรื่องของความสุข หรือความเพลิดเพลิน หรือความพึงพอใจของคนเรา พบว่ามันเกิดขึ้นใน "สมอง" นั่นก็คือ เวลาที่เรามีความสุข ร่างกายของเราก็จะหลั่งสารบางอย่างไปจับกับตัวจับที่ต่อเข้ากับสมอง เราจะรู้สึก "ชอบ" และ "อยากทำ" อีก  เพราะมัน "มีความสุข"

การดื่มน้ำ การกินอาหาร การมีเซ็กซ์ หรือการออกกำลังกาย เหล่านี้ ร่างกายก็จะ "ส่งสัญญาณ" ผ่านเคมีบางอย่างไปที่ตัวจับเพื่อบอกสมองว่า นี่คือ "ความสุข" และคุณจะอยากทำอีก นี่เป็นเรื่องจำเป็นทางชีววิทยา เพื่อความอยู่รอดของชีวิต และสายพันธุ์ของมนุษย์

ยาเสพติดเช่น กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ เหล่านี้ มีสารที่ก่อให้เกิด "ความสุข" สูงมาก และเมื่อคนเสพเข้าไปแล้ว ก็จะรู้สึกดีมาก บางครั้งคล้ายจะ "หลุดโลก" นักวิจัยคนหนึ่งเคยทดลองเสพเฮโรอีน เพื่อดูความรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาถึงกับบอกว่าเหมือนกับการ "ถึงจุดสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์พันครั้ง" ซึ่งทำให้คนอยากเสพอีก ปัญหา ก็คือ เมื่อเสพไปเรื่อยๆ ความรู้สึกสุดยอดก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะตัวจับเคมีอาจจะ "ด้าน" ต้องใช้ยาเพิ่มขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่ง "ความสุข" จากการเสพ ก็แทบจะหมดไป ความ "ชอบ" ก็ไม่มีเหลือ เหลือแต่ "ความต้องการ" คือ ถ้าไม่ได้เสพก็จะ "ลงแดง" ถึงจุดนี้ ความ "หายนะ" ก็จะเกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ บางคนต้องก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้เงินมาซื้อยา

กิจกรรมบางอย่างของคนเรา ก็ก่อให้เกิดความสุข หรือความพึงพอใจได้ไม่น้อยและบางครั้งและ/หรือบางคนก็ "ติด" ได้เช่นเดียวกัน เช่น การดื่มสุรา การดื่มกาแฟ การเล่นการพนัน เช่น ในบ่อนกาสิโน การเล่นพนันบอล การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือแม้การออกกำลัง หรือการมีเซ็กซ์ ทั้งหมดนี้ พิสูจน์ได้จากการตรวจสอบสารเคมีในสมองของคนที่กำลังทำ ประเด็นสำคัญคือ คนที่ "ติด" ก็คือคนที่ร่างกายมีสารเคมี หรือตัวรับที่ผิดปกติจากคนธรรมดา ที่ทำให้พวกเขาต้องทำมากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะมีความสุข หรือความพึงพอใจเท่ากัน ในกรณีต่างๆ เหล่านี้ ยกเว้นสุราแล้ว คนจำนวนไม่น้อยก็สามารถ "เลิก" ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ยา หรือปรึกษาแพทย์ พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง ไทเกอร์ วู้ดส์ นักกอล์ฟชื่อก้องโลกที่เคยบอกว่าเขาเป็นโรค "ติดเซ็กซ์"  และต้องได้รับการบำบัด ทำให้ผมนึกต่อไปว่า คนที่ "ติด" ในเรื่องเหล่านี้ นอกจากเป็นเรื่องของร่างกายแล้ว ต้องอาศัย "สภาวะแวดล้อม" ที่ว่า คุณสามารถเข้าถึงมันได้ง่าย หรืออยู่ใกล้ตัวคุณมาก คุณมีกำลังซื้อพอ และไม่ผิดกฎหมาย ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

การศึกษาที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่ง คือ "ผลตอบแทน" นั่นคือ การทำอะไรก็ตาม โดย "ธรรมชาติ" มนุษย์น่าจะทำเพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อร่างกายและสืบเผ่าพันธุ์ แต่การทดลองพบว่า ความสุข หรือความพึงพอใจนั้นเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่มีผลตอบแทนอะไรมา "ล่อ" พูดง่ายๆ สมองมีการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันเวลาที่เราทำบางสิ่งบางอย่างทั้งๆ ที่ไม่ได้มีผลตอบแทนอะไรเลยเช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การทดลองยังพบว่า คนเรานั้น ชอบ "ลุ้น" นั่นก็คือ เราชอบเล่นกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะถ้าเรามีส่วนจะก่อให้เกิดผลตามที่เราต้องการ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ความสุข หรือความพึงพอใจที่จะเล่นหวย หรือลอตเตอรี่ จะเพิ่มขึ้นถ้าเรามีสิทธิเลือกเบอร์ที่จะแทง และเรื่องผลลัพธ์ก็มีส่วนต่อความสุข หรือความพึงพอใจที่เกิดขึ้น  

ถ้าผลลัพธ์ออกมาถูกต้อง แน่นอน เราจะมีความสุขมากและอยากเล่นอีก ถ้าผลลัพธ์ "ห่างไกล" ความพึงพอใจก็น้อย แต่ถ้าผลลัพธ์ใกล้เคียงกับตัวที่เราเลือก ซึ่งเราเสียเงินเท่ากัน แต่ผลทางสมองจะแตกต่างกัน เคมีที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าคงไม่ใช่ตัวเดียวกับเคมีความสุขแต่ก็ใกล้กันมาก และทำให้เรา "อยากแทงอีก" พูดภาษาชาวบ้านผมคิดว่า น่าจะเป็นเรื่องความรู้สึก "เจ็บใจ" และเราอยาก "เอาคืน" 

และนั่นทำให้ผมนึกถึงเรื่องการเล่นหุ้น ซึ่งผมคิดว่า เข้าข่ายก่อให้เกิดความสุข หรือความพึงพอใจให้แก่คนเล่นไม่น้อย ข้อแรก คือ เป็นเกมที่มีความไม่แน่นอนสูง ข้อสอง มีผลตอบแทนที่เป็นเงิน "เดิมพัน" ข้อสาม คนเล่นสามารถเลือกหุ้น หรือมีส่วนกำหนดผลลัพธ์ที่จะออกมาได้ในระดับหนึ่ง ที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเกมอื่นๆ ข้อสี่ ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ กำไร หรือขาดทุนในหุ้นแต่ละตัว หรือแต่ละครั้ง หรือแต่ละช่วงเวลานั้น จะเป็นเรื่องการผิดพลาดที่ "ใกล้เคียง" กับที่ "แทง" ไว้ ความหมาย คือ  ในยามปกติ นักเล่นหุ้นจะมีได้มีเสียในบางตัว ผลตอบแทนมักจะกลับไปมาตามภาวะของตลาดหุ้น เวลาของการ "ลุ้น" มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ใคร่ที่จะมีช่วงเวลาที่เล่นหุ้นแล้วเสียทุกตัว และพอร์ตมีแต่ลดลงต่อเนื่องยาวนาน ยกเว้นในช่วงวิกฤติครั้งใหญ่ ดังนั้น คนเล่นหุ้น แม้จะขาดทุน ก็ยังอยากกลับมาเล่นใหม่อีกเสมอๆ เพราะเขาคง "เจ็บใจ" และอยาก "เอาคืน"

ความสุขที่เกิดจากการ "เล่นหุ้น" ดังที่กล่าวนั้น น่าเสียดายที่ในระยะยาวแล้ว คนเล่นมักจะขาดทุน เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้ หรือความสามารถ ที่จะควบคุมผลลัพธ์ที่จะออกมาได้จริง เขาเพียงคิดว่าเขารู้เขาคุมได้ ดังนั้น ในระยะยาว เขาจะต้องเสียค่าคอมมิชชั่น ในการซื้อขายและขาดทุนในส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขาย นั่นคือ เวลาซื้อเขาจะต้องซื้อแพงขึ้นเล็กน้อย และเวลาขาย เขาจะขายได้ถูกลงเล็กน้อย แต่ผลจากการซื้อๆ ขายๆ จำนวนมาก เขาจะขาดทุน และนี่คือ ความทุกข์ของการ  "เล่นหุ้น" หนทางหลีกเลี่ยง "กับดัก" นี้ คือ เราต้องเปลี่ยนการเล่นหุ้นเป็น "การลงทุน" ซึ่งจะต้องใช้แนวความคิดอีกชุดหนึ่งของความสุข และความพึงพอใจของคนเรา


//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120612/456173/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%8C-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99.html




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2555    
Last Update : 16 มิถุนายน 2555 2:19:58 น.
Counter : 1249 Pageviews.  

กฎของชีวิต-กฎของการลงทุน

ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “กฎของชีวิต” (The Rules of Life) เขียนโดย Richard Templar แล้วก็นึกไปถึงเรื่องของการลงทุน

 เพราะกฎหลาย ๆ  ข้อนั้น   ผมคิดว่ามันนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้เป็นอย่างดี  ลองมาดูกันทีละข้อ

ข้อแรกที่ผมคิดว่านักลงทุนควรนำมาใช้ก็คือ  “รู้ว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญ”   ผมคงไม่พูดในเรื่องอื่น ๆ  ของชีวิต  แต่ในเรื่องของการลงทุนแล้ว  นี่คือสิ่งที่จะทำให้เราชนะหรือแพ้ได้  ยกตัวอย่างเช่น  เราคิดว่าการอยู่รอดของเศรษฐกิจกรีซนั้นสำคัญต่อการทำกำไรหรือผลประกอบการระยะยาวของบริษัทหรือหุ้นที่เราลงทุนอยู่ไหม?  ถ้าเราคิดว่าไม่  ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปกังวลว่ากรีซจะแก้ปัญหาของตนเองได้หรือไม่  ในความเป็นจริง  สิ่งที่สำคัญในเรื่องของการลงทุน  ก็เช่นเดียวกับในเรื่องของชีวิต  คือมันมีอยู่ไม่มาก  และเราก็ควรจะต้องรู้  อย่าสนใจหรือทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่สำคัญมากนัก

ข้อสอง   “ถ้าคุณจะกระโดดลงคลอง  ก็ขอให้แน่ใจว่าคุณรู้ว่าน้ำนั้นลึกเท่าไร”  นี่ก็เป็นเรื่องของการรู้ว่าความเสี่ยงของชีวิตและในกรณีของเราก็คือ  การลงทุน  เป็นอย่างไร  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเราซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดและใช้มาร์จินด้วยโดยที่เราคิดว่าหุ้นตัวนั้นดีเยี่ยมและถูกมากและมันจะทำให้เรารวยไปเลย  เราก็อาจจะพลาดและเกิดหายนะได้  ดังนั้น  ในการลงทุนทุกครั้งและตลอดเวลา  เราจะต้องรู้ว่า  “น้ำนั้น  ลึกแค่ไหน”  ประเด็นก็คือ  เราจะเสี่ยงอะไรก็ตาม  ตรวจสอบและวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนที่สุด  ดูว่าถ้าพลาดร้ายแรง  เราจะยังอยู่รอดได้และไม่เสียหายมากเกินไป

ข้อสาม  ซึ่งผมจะรวมกฎสามข้อเข้าด้วยกันก็คือ  “มีระบบความเชื่อของตนเอง”    “มีความมั่นคงและยึดมั่นในสิ่งที่ทำ”  และ  “มีศรัทธาต่อสิ่งนั้น”  นี่คือกฎที่จะทำให้เราไม่วอกแวก   และความคิดและการกระทำของเราจะเป็นระบบที่ถูกต้องและสอดคล้องกันในระยะยาว  แต่สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวเพิ่มเติมก็คือ  ระบบความเชื่อของเรานั้นจะต้องเป็นระบบที่ถูกต้องที่มีการพิสูจน์มาช้านาน  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเรามีความเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นนั้น  ก็คือการเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของธุรกิจ  วิธีที่จะชนะในระยะยาวก็คือ  การถือหุ้นหรือบริษัทที่ดีเยี่ยมในราคาที่ยุติธรรมให้ยาวที่สุด  เราก็จะต้องเชื่อและทำแบบนั้น  อย่ากลับไปกลับมาโดยการขายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่างที่เราอาจจะกลัวเกินเหตุหรือคิดว่าราคาหุ้นอาจจะสูงเกินไปแล้วชั่วคราว

บางคนอาจจะสงสัยว่า  “ระบบที่ถูกต้อง”  ที่ผมพูดถึงในข้อสามนั้น  มีเพียงระบบเดียวหรือ?  และใครจะเป็นคนบอกว่าระบบความคิดไหนเป็นระบบที่ดีและถูกต้องที่สุด  คำตอบของผมก็คือ  คงไม่มีใครบอกได้  มีระบบมากมายที่มีคนคิดและเสนอขึ้นมา  เราเองจะต้องเป็นคนเลือกที่จะเชื่อ  บางคนอาจจะบอกว่าวิธีการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนสูงที่สุดก็คือการซื้อหุ้นในยามที่มันมีราคาถูกและขายเมื่อมันมีราคายุติธรรมหรือแพงแล้ว  การคิดถึงหุ้นเราไม่ควรคิดว่าเราเป็นเจ้าของธุรกิจเพราะเราไม่ได้มีอำนาจอะไรเลยในการควบคุมกิจการ  นี่ก็เป็นระบบความเชื่ออีกแบบหนึ่งซึ่งผมก็บอกไม่ได้ว่าดีกว่าแบบแรกหรือไม่  บางทีมันอาจจะดีกว่าในบางตลาดหุ้นและแย่กว่าในบางแห่ง  ประเด็นของผมก็คือ  ถ้าคุณเชื่อแบบไหน  คุณก็ควรจะทำแบบสม่ำเสมอและสอดคล้องกันทุกอย่าง- ด้วยความศรัทธา   อย่างเริ่มต้นซื้อหุ้นด้วยความคิดหนึ่งแต่ขายหุ้นด้วยความคิดอีกชุดหนึ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้าม

ข้อสี่  “อยู่ข้างเทพ  อย่าอยู่ข้างมาร”  นี่ก็เป็นกฎที่น่าจะมีคำถามตามมาว่า  ข้างไหนคือเทพและข้างไหนคือมาร?  คำตอบก็คือ  เราก็ต้องเป็นคนที่คิดและเลือก  ว่าที่จริง  คงไม่มีใครเลือกที่จะเป็นมารหรืออยู่ข้างมาร  เขาคิดว่าฝั่งที่เขาเลือกคือเทพ  สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่านักลงทุนนั้นจะต้องเลือกข้าง  “ผู้ชนะ”  ซึ่งก็คือ  ข้างเทพ  เพราะผู้ชนะนั้นจะเป็นคน  “เขียนประวัติศาสตร์”  และแน่นอน  เขาจะต้องเขียนว่าเขาเป็นฝ่ายเทพ  ความหมายของผมก็คือ  ในการลงทุน  เราควรเลือกบริษัทที่อยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงของการเติบโต  เป็นธุรกิจที่กำลังมี  “กระแส”  หรือมี  “ลมพัดมาทางข้างหลัง”  เป็นอุตสาหกรรม “เทพ”  นอกจากนั้น  เราควรเลือกบริษัทที่กำลังเป็น  “ผู้ชนะ”  เป็นบริษัท “เทพ”   วิธีที่เราจะเลือกได้ถูกต้องนั้น  นอกจากการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง  ซึ่งบ่อยครั้งจะต้องมองไปถึง  “กระแสระดับโลก”  ที่อาจจะมาก่อนแล้ว    เรายังต้องพยายามตัดอคติและความรู้สึกส่วนตัวที่มีออกให้มากที่สุด  เพราะนั่นมักทำให้เรามีความลำเอียงจนทำให้วิเคราะห์ผิดไปได้

ข้อห้า  “คุณจะไม่มีวันเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้”  ว่าที่จริงผมคิดว่าคนเราอาจจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งเฉพาะในบางเรื่องเท่านั้น  เรื่องส่วนใหญ่นั้นเราไม่ค่อยจะเข้าใจหรอกแต่เราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจ  กฎข้อนี้เพื่อที่จะเตือนใจเราให้รู้ว่ายังมีเรื่องที่เราไม่เข้าใจอีกมาก  และถ้าเราไม่เข้าใจแต่เราตัดสินใจลงทุน  เราก็อาจจะพบกับความผิดหวังได้ง่าย ๆ  วิธีการของผมก็คือ  ถ้าเรายังไม่ค่อยจะเข้าใจหุ้นตัวไหน  ก็อย่าไปลงทุนหรืออย่าลงทุนมาก  ถ้าเราลงทุนก็จะต้องรู้ว่ามันคือการ  “เก็งกำไร”  และโอกาสเสียก็มีไม่น้อย   โดยส่วนตัวผมแล้ว  ผมจะพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของโลกในวงกว้าง  ทั้งเรื่องการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  วิทยาศาสตร์  ปรัชญา  และอื่น ๆ  อีกร้อยแปด  ผมพยายามที่จะเข้าใจ  “ภาพใหญ่”  ของสิ่งเหล่านี้  ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องที่ผมสนใจเป็นพิเศษ  เช่น  การลงทุน  ผมก็จะพยายามศึกษาให้มากเพื่อที่จะได้  “รู้จริง”  โชคดีที่ว่า  ในการลงทุนนั้น   การมีความรู้ในเรื่องของโลกอย่างกว้าง  สามารถที่จะช่วยทำให้การลงทุนดีขึ้นมาก

ข้อหก  “รักษาคุณธรรมและจริยธรรมให้สูงเข้าไว้”  นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับชีวิตเช่นเดียวกับการลงทุน   เป็นเรื่องธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงคนจะต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด  บางครั้งก็เกิดการ  “แย่งชิง”  ทรัพยากรกัน   การที่เราจะมีชีวิตที่ดีได้  เราต้องยึดถือคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีตลอดเวลาเพราะนี่คือ  “กติกา”  ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับและยกย่อง  ถ้าเราทำผิดเราจะไม่ได้รับความเชื่อถือไปนานหรือตลอดไป   และนั่นจะทำให้ชีวิตในอนาคตของเราตกต่ำลงและยากที่จะแก้ไขได้  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  ก็เช่นเดียวกัน  อย่าใช้วิธีการที่ไม่มีคุณธรรมในการลงทุนหรือเล่นหุ้นแม้ว่ามันจะทำให้เราได้กำไรเร็วและมาก  อะไรคือคุณธรรมในการลงทุนนี่ก็เป็นประเด็นอยู่เหมือนกัน  แน่นอน  การทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะถูกจับได้หรือไม่ก็ต้องถือว่าไม่มีคุณธรรมแน่นอน  แต่การกระทำอย่างอื่นที่ทำให้นักลงทุนคนอื่นเสียหายโดยที่เราได้ประโยชน์   ตัวอย่างเช่น  เราแนะนำให้เขาซื้อหุ้นตัวหนึ่งแต่ในเวลาเดียวกันเราขาย  แล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นก็ตกต่ำลงมามากเนื่องจากข้อมูลที่เรารู้อยู่ก่อนแล้ว   แบบนี้ก็อาจจะถือว่าเราไม่ได้มีคุณธรรมที่สูงพอ  แม้จะยอมรับกันว่า  ในเรื่องของการลงทุน  ทุกคนต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

สุดท้าย   สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนจนทำให้มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตแบบเศรษฐี  หรือแม้แต่คนที่มุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วจากการลงทุนก็คือ  “รู้ว่าความสุขที่แท้จริงมาจากไหน”  เรื่องนี้ผมขอตอบเองว่า   เงินนั้นก่อให้เกิดความสุขได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น  เงินที่มากขึ้นจากนั้นจะสร้างความสุขเพิ่มขึ้นได้น้อยลงและน้อยลงเรื่อย ๆ   ดังนั้น  การมุ่งที่จะหาความสุขจากเงินมากเกินไปรังแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน  เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น  ผมว่าอยู่ในใจเสียมากกว่า     

//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120605/454896/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99.html




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2555    
Last Update : 8 มิถุนายน 2555 13:44:40 น.
Counter : 1439 Pageviews.  

Multi-domestic Industry

เวลาพูดถึง AEC เรามักจินตนาการถึงบริษัทข้ามพรมแดนที่จะใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ผลิตสินค้าจากประเทศเดียวในภูมิภาค


เพื่อให้ได้วอลุ่มมากๆ แล้วส่งสินค้าไปขายยังทุกประเทศในอาเซียน

อันที่จริงนั่นอาจจะไม่ใช่ภาพส่วนใหญ่ที่เราจะได้เห็นหลังจากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ได้ จะว่าไปแล้ว ภูมิภาคนี้ถือเป็นภูมิภาคที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านภาษา ศาสนา ภูมิหลัง รสนิยม หรือวิธีคิดของผู้คน ฯลฯ ภาษีหรือมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ จึงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกำแพงเท่านั้น ส่วนใหญ่ของกำแพงยังคงอยู่เหมือนเดิม

ตอนที่ผมเรียน MBA อยู่ที่ University of Maryland ผมได้มีโอกาสเรียนวิชาเกี่ยวกับ Global Business ที่สอนโดย Professor Anil K. Gupta ผู้ที่ติดตามความเป็นไปของบริษัทข้ามชาติในโลกมาโดยตลอด

อาจารย์บอกว่า ยังมีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีลักษณะเป็นเหมือน Global Business ในแบบที่เรานึกๆ กันเลย เพราะบริษัทเหล่านี้อยู่ใน อุตสาหกรรมที่มีเหตุผลเฉพาะในตัวของมัน ที่ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด การประหยัดจากขอบเขต (Economy of Scope) หรือ การถ่ายทอดโนว์ฮาวข้ามพรมแดน ไม่มากนัก

อาจเรียกธุรกิจพวกนี้ว่า Multi-Domestic Company มากกว่า Global Company เพราะแม้จะมีธุรกิจอยู่ทั่วโลกแล้ว แต่กลับยังดูเหมือนเป็นแค่ Local Business หลายๆ ประเทศ ที่เอามาผูกรวมกันไว้ให้ดูเป็นบริษัทเดียวเท่านั้น

อันที่จริงบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ล้วนอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็น Global กับ Multi-domestic ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเอียงไปทางฝั่งไหนมากกว่ากัน

ตัวอย่างของธุรกิจที่เอียงไปทาง Global มากๆ เลย คือ ผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ อาทิเช่น อินเทล หรืออาร์ม เป็นต้น โรงงานผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงๆ นั้น ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นมหาศาลจึงต้องการยอดขายจำนวนมาก เพื่อให้คุ้มเงินลงทุน อีกทั้งไมโครโปรเซสเซอร์เองก็เป็นสินค้าที่มนุษย์ทั่วโลกใช้งานเหมือนกัน ไม่ต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปตามวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของแต่ละประเทศ (อันนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต Device หรือ App ที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์มากกว่า) เหตุผลเหล่านี้ล้วนเอื้อต่อบริษัทที่จะได้รับประโยชน์ จากการเป็น Global บริษัทเหล่านี้จะสร้างโรงงานให้ใหญ่ที่สุดเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เพื่อผลิตชิพที่เหมือนๆ กันป้อนตลาดทั่วโลก

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นธุรกิจที่เอียงไปทาง Multi-Domestic มากกว่า ด้วยเหตุผลเรื่องการอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ และเรื่อง lead time ผู้ผลิตที่ต้องการขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลกมักต้องไปตั้งฐานการผลิตในทุกประเทศ ที่ต้องการเจาะตลาด แทนที่จะผลิตจากประเทศเดียวแล้วส่งไปขายทั่วภูมิภาค หรืออย่างมากที่สุดก็ต้องแปรรูปให้เก็บได้นานขึ้น แล้วส่งไปขายแค่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเลือกประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดหรือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ จึงดูเป็น Multi-Domestic มากกว่า

เมื่อก่อน แมคโดนัลด์เคยใช้ภาพลักษณ์ว่า "แมคโดนัลด์รสชาติเหมือนกันทั่วโลก" เป็นจุดขาย แต่เดี๋ยวนี้ แมคโดนัลด์เลือกที่จะปรับเมนูเพื่อให้ถูกปากคนแต่ละประเทศมากขึ้น อาหารประจำชาติเริ่มถูกใส่เข้าไปในเมนูของแต่ละประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลมากกว่า

ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่เอียงไปทาง Multi-Domestic สูง เพราะค่าขนส่งปูนซีเมนต์ข้ามประเทศนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของสินค้า การผลิตปูนจากประเทศเดียวแล้วส่งไปขายทั่วโลก จึงแข่งขันเรื่องราคาไม่ได้ ผู้ผลิตในประเทศจึงยังคงไม่ได้ผลกระทบหลังจากเปิดเสรีการค้าเท่าไร อย่างมากคู่แข่งขันข้ามชาติก็ขนเงินมาลงทุนสร้างโรงงานปูนในประเทศเพื่อแข่งขันได้ง่ายขึ้น แต่นั้นก็เป็นเกมที่สูสีกันมากแล้ว

ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าเมื่อกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งหมดถูกเอาออกไป ทุกธุรกิจจะได้รับประโยชน์หรือได้รับผลกระทบเท่าเทียมกันหมด แต่จะมากน้อยต่างกันไปแล้วแต่ลักษณะเฉพาะตัวของอุตสาหกรรมนั้นๆ อุตสาหกรรมที่มีความเป็น Global มาก การเปลี่ยนแปลงจะมากและรวดเร็วกว่าอุตสาหกรรมที่มีความเป็น Multi-domestic

ในแง่กลยุทธ์ในการ "Go Inter" ก็แตกต่างกันด้วย กลยุทธ์แบบ one-size-fit-all อาจใช้ได้ผลกับอุตสาหกรรมที่มีความเป็น Global มากหน่อย แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมแบบ Multi-domestic การปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและตัวธุรกิจไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศอาจเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมมากกว่า และรวมไปถึงการที่จะต้องคิดพิจารณาข้อดีข้อเสียเปรียบเทียบกันระหว่างการมีฐานการผลิตที่ประเทศเดียวแล้วกระจายสินค้าไปขายทั่วภูมิภาค หรือว่าจะต้องมีฐานการผลิตในทุกประเทศที่ไปเพื่อประหยัดค่าขนส่งและลด Lead time เรื่องพวกนี้บางทีก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะฟันธงกันได้ง่ายๆ เพราะ Logistic เป็นเรื่องของการ trade off

ยุทธศาสตร์เพื่อต้อนรับ AEC มีเรื่องให้นักธุรกิจต้องขบคิดกันไม่น้อยเลยทีเดียว

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"

//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20120530/454073/Multi-domestic-Industry.html




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 31 พฤษภาคม 2555 1:38:55 น.
Counter : 1221 Pageviews.  

หุ้นพันธบัตร

หุ้นที่ผมมักถือรวมอยู่ในพอร์ตแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในยามที่หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมีราคาไม่ถูกแล้วก็คือ หุ้นที่ผมเรียกว่า "หุ้นพันธบัตร"

นี่คือหุ้นที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กับพันธบัตรนั่นก็คือมันให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้าง "มั่นคง" และผลตอบแทนที่ได้ต่อปีอยู่ในระดับที่ "พอใช้ได้" วัดจากอัตราเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาที่ซื้อ ซึ่งในภาวะปัจจุบันก็ไม่ควรต่ำกว่า 4-5% ต่อปี นอกจากนั้น เงินปันผลต้องไม่ลดลงในอนาคตและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของระบบเศรษฐกิจ  

ส่วนผลตอบแทนที่เกิดจากราคาหุ้น หรือ Capital Gain ผมจะไม่นำมาคิดในช่วงที่ซื้อหุ้น เป็นไปได้ว่าราคาหุ้นอาจจะเพิ่มขึ้นทำให้ผลตอบแทนรวมสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หุ้นอาจปรับตัวลงทำให้ผลตอบแทนรวมลดลง หรือแม้แต่ขาดทุนได้ ผมเชื่อว่าราคาหุ้นไม่น่าจะปรับตัวลงมาแรงนักเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นๆ เหตุผลก็เพราะเงินปันผลของบริษัทน่าจะยังดีเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้ Yield หรือผลตอบแทนเงินปันผลสูงขึ้นถ้าราคาหุ้นลดลง และนั่นทำให้นักลงทุนบางกลุ่มสนใจ ที่จะเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น และด้วยเหตุผลเดียวกัน คนที่ถือหุ้นอยู่ก็จะไม่อยากขาย ดังนั้นราคาหุ้นอาจจะไม่ลงมามากนัก

ฟังอย่างผิวเผินบางคนอาจจะบอกว่านี่คือหุ้น  Defensive หรือหุ้นที่ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดี เวลาเราพูดถึงหุ้น Defensive เรามักนึกถึงหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรม ที่ยอดขายไม่ใคร่ถูกกระทบมากนักโดยภาวะเศรษฐกิจไม่ว่าจะทางดีหรือร้าย เช่น อุตสาหกรรมอาหารหรือกลุ่มสาธารณูปโภค เป็นต้น หุ้น Defensive ยังต้องประสบกับการแข่งขันที่เข้มข้น ต้องต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดเสรี เช่นเดียวกับที่ต้องควบคุมหรือประสบกับปัญหาด้านต้นทุนของสินค้าที่ผลิต ดังนั้น แม้ยอดขายโดยรวมของอุตสาหกรรมจะมั่นคงสม่ำเสมอ แต่ยอดขายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรของแต่ละบริษัท อาจผันผวนได้ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัท แต่หุ้นพันธบัตรในความหมายของผม ต้องมีความสม่ำเสมอและมั่นคงมากกว่านั้น และการที่บริษัทจะมีผลประกอบการแบบนั้นได้ ควรต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ดังต่อไปนี้

ข้อแรก คือ ควรอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ Defensive ซึ่งยอดขายโดยรวมไม่ผันผวนมากนักตามภาวะเศรษฐกิจ สินค้าหรือบริการเป็นสิ่ง "จำเป็น" ในชีวิตของผู้คน ถ้ายอดขายมีความผันผวน หรือมีความไวต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือปัจจัยแวดล้อมมากๆ ป็นเรื่องยากที่กิจการจะมีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอได้

ข้อสอง คือ ผลประกอบการของบริษัท ไม่ควรที่จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหรือปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะในปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้มากนัก เช่น ไม่ควรขึ้นอยู่กับความต้องการหรือ Demand ของสินค้า หรือไม่ควรขึ้นอยู่กับเรื่องคู่แข่ง หรือผู้ให้บริการรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามา หรือถ้าจะพูดไป คือ บริษัทอาจจะไม่ได้อยู่ในตลาดของการแข่งขันเสรีเนื่องจากเหตุผลต่างๆ ซึ่งอาจจะรวมถึงเรื่องของกฎระเบียบ  สัมปทาน  สัญญาหรือข้อตกลงที่มีการลงนามและผูกพันในระยะยาว หรือแม้แต่เรื่องที่เป็นการผูกขาดตามธรรมชาติของธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนั้น ผลประกอบการของบริษัทก็ไม่ควรต้องขึ้นอยู่กับต้นทุน สำคัญที่ไม่อยู่ในการควบคุมของกิจการด้วย  เพราะอาจทำให้ผลประกอบการของบริษัทถูกกระทบได้มาก ซึ่งหมายถึงว่า ราคาสินค้าหรือบริการของบริษัทสามารถปรับตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ข้อสาม ผมคิดว่ามีความสำคัญมากที่สุดข้อหนึ่ง ที่จะบอกว่าเป็นหุ้นพันธบัตรหรือไม่ ก็คือ ความสำเร็จหรือผลประกอบการของบริษัทน่าจะขึ้นอยู่กับ Operation หรือการดำเนินงานบางอย่างเท่านั้น เช่น ถ้าบริษัทสามารถผลิตหรือให้บริการตามที่ตกลงหรือตามที่กำหนดเป็นภารกิจของบริษัทได้แล้ว บริษัทก็จะสามารถทำกำไรได้ในระดับที่น่าพอใจ และกิจกรรมหรืองานที่บริษัททำนั้นไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ที่ทำได้ยาก แต่เป็นการทำงานตามปกติของบริษัท โอกาสที่บริษัทจะทำไม่ได้หรือเกิดการผิดพลาดมีน้อย และนี่ทำให้บริษัทมีกำไรและจ่ายปันผลได้ในอัตราที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ

ข้อสุดท้าย ที่ผมจะต้องกล่าวถึงคือ ขณะที่หุ้นพันธบัตร สามารถให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมั่นคงมาก แต่มีข้อเสียเช่นเดียวกันในแง่ที่ว่า กำไรที่ดีผิดปกติ มักจะไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เหตุผลก็เพราะว่าบริษัทที่มีคุณสมบัติแบบนี้มักจะ "ถูกล็อก" ไม่ให้ทำกำไรเกินควรจากรัฐบาล หรือหน่วยงานควบคุม เพราะอาจมีอำนาจในการผูกขาด หรือเป็นเรื่องของสัญญาที่ผู้ให้สัญญาต้องเป็นผู้จ่ายเงิน ดังนั้น หุ้นพันธบัตรจึงมีลักษณะคล้ายๆ พันธบัตรนั่นคือ  ความเสี่ยงต่ำในแง่ของผลประกอบการ  แต่ผลตอบแทนก็มักจะไม่สูงโดยเฉพาะถ้ามองจากมุมของตัวกิจการเอง

เงื่อนไขในการลงทุนในหุ้นพันธบัตรของผมเองก็คือ ผลตอบแทนที่ผมคาดจะได้จากหุ้นพันธบัตร ต้องดีกว่าการถือพันธบัตร นั่นก็คือ ผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปีของหุ้นจะต้องดีกว่า หรืออย่างน้อยเท่ากับดอกเบี้ยที่ผมจะได้จากการถือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5% ต่อปี และบริษัทควรที่จะเติบโตของยอดขายและกำไรอย่างน้อยเท่ากับอัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี โดยรวมแล้ว อย่างต่ำผมควรได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 8% ต่อปี โดยวิธีหาหุ้นที่จะเข้าข่ายก็ทำได้อย่างง่ายๆ โดยดูที่กำไรปีล่าสุดว่าเป็นเท่าไรและปันผลเป็นเท่าไร ต่อมาดูว่ากำไรและปันผล บริษัทน่าจะรักษาระดับอยู่ได้รวมถึงสามารถเติบโตได้อย่างน้อย 3-4% ขึ้นไป  ตัวอย่างเช่น บริษัทมีกำไรปีละ 5 บาทต่อหุ้น กรณีแบบนี้ ผมจะยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อหุ้นที่ราคาไม่เกิน 100 บาทซึ่งจะทำให้ผมได้เงินปันผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ซึ่งดีกว่าการถือพันธบัตร เพราะการถือหุ้น ผมน่าจะได้กำไรจากราคาหุ้นด้วย เพราะหุ้นตัวนั้น จะเติบโตจากกำไรและปันผลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

การถือหุ้นพันธบัตร ผมจะไม่ถือจำนวนมากในพอร์ต ผมจะถือไว้เพื่อ "ถ่วง" ไม่ให้พอร์ตหวือหวาเกินไป เช่นเดียวกัน ในยามที่หาหุ้นที่ดี และราคาถูกยากแต่ก็ไม่ใช่เวลาขายหุ้นอย่างในช่วงนี้ ผมก็ไม่อยากเก็บเป็นเงินสด หรือลงทุนในพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนน้อย ดังนั้น หุ้นพันธบัตรก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เหนือสิ่งอื่นใด ทุกครั้งที่จะลงทุนในหุ้นพันธบัตร ผมก็หวังจะ "โชคดี" ในแง่ที่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน ที่จะทำให้กำไรและปันผลสูงขึ้นมากกว่าปกติมาก ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าที่คาด แต่ไม่ว่าในกรณีใด ผมต้องมั่นใจพอสมควรว่า ในเวลา 2-3 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนที่ผมจะได้จากหุ้นพันธบัตรจะต้องไม่แพ้พันธบัตรแน่นอน


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20120529/453856/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3.html




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 31 พฤษภาคม 2555 1:37:04 น.
Counter : 1103 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.