In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

Apple VS Exxon

สัปดาห์ก่อนมีข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับหุ้นที่น่าสนใจและน่าจะเรียกได้ว่าเป็นหุ้น "สุดยอดแห่งทศวรรษ" ของโลก นั่นก็คือ หุ้นของบริษัท Apple Inc.

ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยี่ห้อแม็ค ไอโฟน ไอแพด และอื่นๆ ที่ครองใจผู้ใช้ทั้งโลก สินค้าหลายชนิดของบริษัทนั้นเป็นที่นิยมขนาดที่คนต้อง "เข้าคิวซื้อ" และคนที่ได้ครอบครองสินค้าในมือนั้นมีความรู้สึกภาคภูมิใจและอยากจะอวดกับเพื่อนฝูง มันเป็นสินค้าที่ทำให้คนดูทันสมัยและ "มีระดับ" ในสังคม ข่าวที่ว่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แต่เป็นข่าวที่ว่าหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐนั้นมีราคาปรับตัวขึ้นจนทำให้มันมีมูลค่าสูงที่สุดและเอาชนะหุ้นของบริษัท Exxon Mobil หรือที่คนไทยรู้จักกัน ก็คือ เอสโซ่ บริษัทน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐและในโลกมาช้านาน


ลองมาดูกันว่าบริษัทแอ๊ปเปิ้ลมีผลประกอบการดีอย่างไร และทำไมหุ้นจึงเติบโตมาได้ขนาดนี้เทียบกับบริษัทเอสโซ่ที่ทำธุรกิจน้ำมันและพลังงานที่ก็น่าจะโดดเด่นสุดยอดเหมือนกัน เพราะเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจที่โลกกำลังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบัน


พูดถึงมูลค่าหุ้นในตลาดของแอ๊ปเปิ้ลและเอ็กซอนนั้น ขณะนี้ ก็อยู่ที่ประมาณ 350 พันล้านดอลลาร์เท่าๆ กันหรือคิดเป็นเงินไทย ก็คือ ประมาณ 10 ล้าน ล้านบาท หรือพอๆ กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยทั้งปี และใหญ่กว่ามูลค่ารวมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท พูดอีกทางหนึ่ง ก็คือ หุ้นแอ๊ปเปิ้ลตัวเดียวนั้นก็ใหญ่กว่าหุ้นไทยทั้งตลาดแล้ว


ดูทางด้าน ทรัพย์สินว่าบริษัทมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ปรากฏว่าแอ๊ปเปิ้ลมีทรัพย์สินเพียงประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็คือ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่เนื่องจากทรัพย์สินประมาณ 8 แสนล้านบาทนั้นเป็นเงินสดที่บริษัทเก็บไว้ไม่ได้จ่ายปันผลออกมานาน ดังนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานของบริษัทนั้นน่าจะมีเพียงประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทเท่านั้น ส่วนของเอ็กซอนนั้น มีทรัพย์สินถึงประมาณ 300 พันล้านดอลลาร์ หรือใหญ่เป็น 3 เท่าของแอ๊ปเปิ้ล หรือคิดเป็นเงินไทย ก็คือ 9 ล้าน ล้านบาท เอ็กซอนมีเงินสดอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาทแต่มีหนี้อยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่แอ๊ปเปิ้ลนั้นไม่มีหนี้เลย ดังนั้น ถ้าจะพูดอย่างคร่าว ๆ ก็คือ เอ็กซอนนั้นใช้ทรัพย์สินเพื่อดำเนินงานประมาณ 4 เท่า ของแอ๊ปเปิ้ล


มองทางด้านรายได้ แอ๊ปเปิ้ลมียอดขายต่อปีประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเท่ากับ 3 ล้านล้านบาท ในขณะที่เอ็กซอนมียอดขายสูงกว่ามาก คือ ประมาณ 400 พันล้านหรือคิดเป็น 4 เท่าของแอ๊ปเปิ้ล หรือคิดเป็นเงินไทยถึง 12 ล้านล้านบาท มากกว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของไทย พูดง่ายๆ บริษัทเอ็กซอนบริษัทเดียวขายน้ำมันทั้งปีมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศผลิตในเวลาเดียวกัน


ถ้ามองจากทรัพย์สินและยอดขายก็จะเห็นว่าบริษัทเอ็กซอนนั้นมีทรัพย์สินมากกว่าแอ๊ปเปิ้ล 4 เท่าและมีรายได้หรือยอดขายต่อปีมากกว่าแอ๊ปเปิ้ล 4 เท่าเหมือนกัน ดังนั้น เราอาจจะพูดได้ว่าถ้าเปรียบเทียบโดยขนาดของบริษัทแล้ว แอ๊ปเปิ้ลนั้นเล็กกว่าเอ็กซอนถึง 3 เท่าหรือ แอ๊ปเปิ้ลนั้นมีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของเอ็กซอนเท่านั้น แต่มูลค่าตลาดของหุ้นของทั้งสองบริษัทกลับใหญ่เท่าๆ กัน อะไรทำให้มันเป็นอย่างนั้น หุ้นของแอ๊ปเปิ้ลมีราคา "เวอร์" เกินความเป็นจริงหรือเปล่า


ผลการดำเนินงานหรือกำไรของแอ๊ปเปิ้ลในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 23.6 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ในขณะที่ของเอ็กซอนเท่ากับ 37.9 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท คิดแล้วมากกว่าประมาณ 60% อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของแอ๊ปเปิ้ลดูเหมือนจะสูงกว่าของเอ็กซอนมาก เพราะอัตราส่วนกำไรต่อยอดขายของแอ๊ปเปิ้ลเท่ากับประมาณ 24% ในขณะที่ของเอ็กซอน เท่ากับประมาณ 10% เท่านั้น พูดง่ายๆ การขายสินค้าไฮเทคที่สุดทันสมัยของแอ๊ปเปิ้ลแต่ละเครื่องนั้น กำไรดีกว่าการขายน้ำมันทุกบาร์เรลที่เหมือนๆ กันทุกบริษัท


กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งถือว่าเป็นกำไรที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับนั้น ของแอ๊ปเปิ้ลสูงมากถึง 42% และถ้าหากไม่นับเงินสดที่แอ๊ปเปิ้ลมีมากเกินความจำเป็นแล้ว กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของแอ๊ปเปิ้ลจริงๆ อาจจะสูงถึง 50-60% ทีเดียว ในขณะที่ของเอ็กซอนนั้นอยู่ที่ 25% ซึ่งถ้าจะพูดไปก็สูงมากอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงสามารถพูดได้ว่ากิจการของเอ็กซอนนั้นทำกำไรได้ดีมากและของแอ๊ปเปิ้ลนั้นน่าจะ "ดีสุดยอด" ในแง่ของการทำกำไร


ในด้านของการเติบโตของกำไรนั้น การเพิ่มขึ้นของกำไรไตรมาสนี้เมื่อเปรียบเทียบกับของปีที่แล้วก็พบว่าแอ๊ปเปิ้ลโตขึ้นถึง 125% ในขณะที่เอ็กซอนโตขึ้นถึง 41% เช่นกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าหุ้นสองตัวนี้ต่างก็เป็น "ดารา" ทั้งคู่ เพียงแต่แอ๊ปเปิ้ลนั้นเป็น "ซูเปอร์สตาร์" ที่มาแรงจริงๆ


มาดูทางด้านของความถูกความแพงของหุ้นกันบ้าง แอ๊ปเปิ้ลนั้นมีค่า PE เท่ากับ 14.8 เท่า และค่า PB เท่ากับ 4.9 เท่า หรือถ้าเราหักเงินสดที่มากเกินออกไปซึ่งจะทำให้มูลค่าทางบัญชีหรือค่า B ลดลง ค่า PB ก็น่าจะอยู่ในหลักประมาณ 8 เท่า ในส่วนของเอ็กซอนนั้น ค่า PE เท่ากับ 9.5 เท่า ในขณะที่ค่า PB เท่ากับ 2.2 เท่า ดูไปแล้วราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทก็ไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐและแม้แต่หุ้นไทย ว่าที่จริงอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้น Value หรือหุ้นเน้นคุณค่าด้วยซ้ำ เหนือสิ่งอื่นใด แอ๊ปเปิ้ลนั้นน่าจะ เป็น "ราชัน" ของหุ้นไฮเทค


ส่วน เอ็กซอนนั้นก็น่าจะเป็นราชันของหุ้นพลังงาน ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมต่างก็กำลังร้อนแรงและเติบโตกันทั้งคู่ แต่เหตุที่หุ้นมีราคาถูกนั้นอาจจะเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นของอเมริกาตกต่ำก็เป็นได้ และนี่ก็อาจจะเป็นช่วง เวลา "ซื้อ" สำหรับคนที่ชอบหุ้นประเภทซูเปอร์สต็อก


สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือเรื่องของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผ่านมาในระยะยาว ผมมองย้อนหลังไปประมาณ 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นแอ๊ปเปิ้ลยังไม่ได้ไปไหนนิ่งๆ มานานนับสิบปีและเป็นช่วงที่ สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอ คนปัจจุบันเริ่มกลับเข้ามาบริหารบริษัทใหม่หลังจากที่ถูกไล่ออกไปหลายปี ในขณะนั้นหุ้น แอ๊ปเปิ้ลมีราคาประมาณ 7 ดอลลาร์ ในเวลาเดียวกัน หุ้นเอ็กซอนมีราคาประมาณ 34 ดอลลาร์ นั่นคือ ช่วงกลางปี 2003 พอถึงกลางปี 2008 หุ้นแอ๊ปเปิ้ลขึ้นไปถึง 187 ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นไปเป็น 95 ดอลลาร์ ในเวลา 5 ปี แอ๊ปเปิ้ลขึ้นไป 25.7 เท่าและหุ้นเอ็กซอนขึ้นไปเพียง 1.79 เท่า ในช่วงวิกฤติปลายปี 2008 หุ้นแอ๊ปเปิ้ลตกลงมาเหลือ 80 ดอลลาร์ต้นๆ หรือลดลงถึง 56% ส่วนหุ้นเอ็กซอนตกลงมาเหลือประมาณ 62 ดอลลาร์ หรือลดลง 35% แต่หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันหุ้นแอ๊ปเปิ้ลก็ปรับตัวขึ้นมาเป็นประมาณ 374 ดอลลาร์หรือขึ้นมา 3.5 เท่า ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นมาเป็น 72 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเพียง 16% และยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ โดยสรุปแล้วในช่วงประมาณ 8 ปี หุ้นแอ๊ปเปิ้ลขึ้นมาประมาณ 52 เท่า ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นมาประมาณ 1.1 เท่า


ข้อสรุปรวบยอดของผม ก็คือ ในช่วงเวลา 8 ปี หุ้นแอ๊ปเปิ้ลซึ่งเคยเป็นหุ้นที่ค่อนข้างเล็กมีมูลค่าตลาดประมาณ 2 แสนล้านบาท ได้เติบโตมหาศาลกลายเป็นหุ้น 10 ล้าน ล้านบาท เท่ากับหุ้นเอ็กซอนซึ่งเป็นหุ้นยักษ์ใหญ่ระดับต้นของโลก หุ้นเอ็กซอนเองนั้นเมื่อ 8 ปีก่อนก็น่าจะเป็นหุ้นระดับต้นของโลกที่มีมูลค่าถึง เกือบ 5 ล้านล้านบาท คนที่ลงทุนในหุ้นเอ็กซอนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ผลตอบแทนที่ไม่เลวเฉลี่ยประมาณปีละ 10% แต่ถ้าใครลงทุนและถือหุ้นแอ๊ปเปิ้ลผ่านร้อนผ่านหนาวและวิกฤติเศรษฐกิจมาถึงวันนี้ ก็อาจจะกลายเป็นเศรษฐีโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย


และนี่ก็คือ ความแตกต่างระหว่างหุ้นบลูชิพอย่างเอ็กซอน กับหุ้นซูเปอร์สต็อกอย่างหุ้นแอ๊ปเปิ้ล

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20110816/404887Apple-VS-Exxon.html




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2554    
Last Update : 16 สิงหาคม 2554 15:06:59 น.
Counter : 579 Pageviews.  

กฎของการอยู่รอด

หลายคนถามผมเสมอถึงการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส สำหรับผมแล้วมันคือกฎของการอยู่รอดครับ

ธุรกิจหลายอย่างมักเลือกที่จะชะลอตัวเวลาสถานการณ์ต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย หลายบริษัทโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ เลือกที่จะลดจำนวนพนักงาน หยุดโฆษณา หยุดทำโปรโมชั่น ปิดไฟ ปิดร้าน รัดเข็มขัดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดเพื่อพยายามรักษากำไรในกระเป๋าเอาไว้

แต่สำหรับผมแล้วช่วงเวลาเหล่านั้นคือเวลาทองครับ เพราะในเวลาที่ร้านอื่นเลือกที่จะปิดให้บริการเร็วกว่ากำหนด ร้านของผมจะขยายระยะเวลาการเปิดให้ยาวนานขึ้น เพื่อคอยให้บริการลูกค้าที่ต้องการเข้ามาใช้บริการในเวลาที่ร้านอื่นปิดไปแล้ว เปิดไฟสว่างขึ้นท่ามกลางความมืดของร้านข้างเคียง

แม้ว่าภาพรวมตลาดจะเท่าเดิมหรือชะลอตัวลงในช่วงเวลานั้น แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าในวิกฤติมักจะมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับโอกาสของการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามในภาวะที่ทุกอย่างนิ่งสนิทแต่เสียงธุรกิจของเรากลับดังขึ้น

จริงๆ แล้วบางทีเสียงของเราก็ดังเท่าเดิมนั่นล่ะครับ แต่ในจังหวะที่คนอื่นเงียบ ก็ดูเหมือนว่าเสียงของเราจะดังสะท้อนไปได้ไกลกว่าปกติเสียอีก

ในวันที่ปัจจัยธุรกิจต่างๆ รุมเร้า น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น เศรษฐกิจโลกชะงักงัน สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นปัญหาที่กระทบต่อการค้าขายก็จริง แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดกับเราคนเดียวแต่เกิดกับคนทั่วโลก แทนที่จะจิตตก มัววิตกเอาสมองไปคิดกังวล

ถ้านำปัญหานั้นมาขบคิด คิดออก และคิดเป็น แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ต้นทุนของเราก็มีโอกาสลดลงได้ จากความกดดันที่ปลุกสัญชาตญาณการเอาตัวรอดให้เกิดการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพให้เอาชนะเหนืออุปสรรคขึ้นไปอีกขั้น

เชื่อไหมครับว่า...หลายปีก่อนสมัยวิกฤติน้ำมันแพง ปัญหาค่าขนส่งสินค้าที่แพงขึ้นกลับกลายเป็นโอกาสช่วยให้ธุรกิจของเราสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าเดิม เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเรียงสินค้าแบบใหม่ สมัยนั้นเราเคยใช้รถคอนเทนเนอร์ 50 คัน คันหนึ่งขนส่งได้ 20 เพลเลต เพลเลตหนึ่งซ้อน 8 ชั้น ชั้นหนึ่งเรียงได้ 8 ลัง

ผมถามว่าทำไมต้องเรียงแบบนี้ วันนี้น้ำมันแพง หาวิธีเรียงใหม่ได้ไหม ลองคิดใหม่ทำไมต้อง 8 ชั้น ลองดู 9 ชั้นได้มั้ย ถ้าสินค้าเราไม่หนัก น้ำหนักไม่เกินก็เรียงได้แล้ว แค่เรื่องเล็กๆ เปลี่ยนวิธีเรียงใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 ชั้น ตอนนั้นน้ำมันขึ้น 3 เท่า แต่ค่าขนส่งรวมทั้งหมดแล้ววิธีใหม่ต้นทุนกลับลดลงกว่าเดิม

ถ้าลองเปิดช่องดิสคัฟเวอรี่ดูเรื่องชีวิตสัตว์โลก สิงโตกับกวาง ก็จะเห็นกฎแห่งการอยู่รอดของธรรมชาติข้อนี้เหมือนกัน

กวางอ่อนแอกว่าสิงโต ทุกวันที่ตื่นขึ้นมามันจะคิดเสมอว่าทำยังไงมันจะมีชีวิตอยู่รอดต่อไป มันคิดเสมอว่ามันเป็นเหยื่อที่ถูกล่า ถ้าจะเอาชีวิตให้รอดมันต้องไม่คิดอะไรเลย นอกจากคิดเพียงว่าจะต้องวิ่งให้เร็วที่สุด ให้เร็วมากกว่าเมื่อวาน

กลับกันสิงโตที่แข็งแรงกว่าตื่นเช้าขึ้นมามันก็กดดันพอๆ กับกวาง เพราะถ้ามันวิ่งช้ากว่ากวางมันก็อดกิน อดเข้าหลายๆ วันสุดท้ายก็ตายเหมือนกันครับ

สังคมของเราก็เป็นแบบเดียวกันมีทั้งคนอ่อนแอ คนแข็งแรง คนเก่ง คนไม่เก่ง แต่ความเป็นจริงคือไม่มีใครมั่นคงกว่าใครเลย ทุกคนมีสิทธิ์แพ้ถ้าคุณวิ่งสู้เขาไม่ได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจหรือพนักงานธรรมดา คุณจะเก่งกาจขนาดไหน ขอให้รู้ว่ามีคนพร้อมจะแทนที่คุณได้เสมอ

ว่างๆ ลองแวะไปที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทคุณสิครับจะเห็นว่ามีคนนั่งรอสมัครงานอยู่เพียบ พร้อมจะเสียบแทนที่ตลอดเวลาถ้าคุณหยุดวิ่งหรือแม้เพียงแค่คุณวิ่งช้าลง

ทางเดียวที่จะอยู่รอดได้คือต้องวิ่งต่อไป และอย่ากลัวปัญหาครับ

ตัน ภาสกรนที
วิถีตัน
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/tan/20110815/404556/กฎของการอยู่รอด.html




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2554    
Last Update : 16 สิงหาคม 2554 5:16:08 น.
Counter : 643 Pageviews.  

เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง

เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าตลอดชีวิตคนเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง

ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันจะใช้จ่ายเงินไปกับที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือ ราว 22% ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดชีวิต (ได้แก่ ค่าซื้อบ้าน ค่าเช่าบ้าน รวมทั้งภาษีที่เกี่ยวข้อง)


ส่วนค่าอาหารนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ตามด้วยค่าขนส่ง ได้แก่ ค่าน้ำมันรถ ค่าซื้อรถยนต์ หรือค่าโดยสารต่างๆ รวมกันประมาณ 13%


ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกันชีวิต และเงินสมทบบำนาญต่างๆ นั้น มีมูลค่ารวมกันประมาณ 11% ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ได้แก่ ค่าหมอ ค่ายา ค่าประกันสุขภาพ นั้น รวมกันประมาณ 6%


ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส และค่าโทรศัพท์ รวมกันประมาณ 6% ค่าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวทั้งหลาย 3.4% ดูเหมือนคนอเมริกันส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจซื้อของแบรนด์เนมเท่าไรนักนะครับ


ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องบันเทิงและสันทนาการต่างๆ เช่น ทีวี เครื่องเสียง ตั๋วหนัง ตั๋วคอนเสิร์ต รวมกันประมาณ 3% ส่วนที่เหลือจากนี้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา


จะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตคนเราจ่ายเงินไปกับที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือ ราว 1 ใน 5 ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกันมากกับตัวเลขที่สำรวจได้ ในประเทศจีนและอินเดีย (สำรวจโดย Credit Suisse) อาจกล่าวได้ว่า คนทั่วโลกใช้จ่ายไปกับค่าที่อยู่อาศัยมากที่สุดประมาณ 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายตลอดชีพ


ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคาดตามความคิดส่วนตัวของผม คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งสูงพอๆ กับค่าอาหารเลยทีเดียว ผมว่าถ้าหากรัฐจัดหาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและราคาประหยัดให้กับพลเมืองได้ จะเป็นวิธีเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของพลเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว ในขณะที่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้นกลับเป็นรายจ่ายที่ไม่มากนักของคนเราโดยทั่วไป


ผมไม่มีตัวเลขเหล่านี้สำหรับคนไทยโดยเฉลี่ย แต่หากดูจากตัวเลขที่สำรวจทั่วโลกโดยธนาคารโลกจะพบว่า ยิ่งคนมีรายได้น้อยเท่าไรก็จะยิ่งใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ไปกับอาหารและที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนที่มากเท่านั้น ชาวโลกที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อปี (หรือที่ธนาคารโลกจัดว่าเป็นคนยากจน) จะหมดเงินไปกับค่าอาหารมากกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่ 14% อย่างคนอเมริกันโดยเฉลี่ย


ในช่วงเวลาที่ราคาอาหารพุ่งสูง คนที่เดือดร้อนมากที่สุดจึงได้แก่คนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกด้วย


ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนค่าใช้จ่ายของคนเราจะเปลี่ยนไปเมื่อเรามีรายได้สูงขึ้น คนที่ยิ่งมีรายได้สูงเท่าไรก็จะยิ่งใช้จ่ายไปกับสามหมวดต่อไปนี้ ได้แก่ เรื่องสุขภาพ สันทนาการและค่าเดินทางในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมากขึ้นเท่านั้น (เรื่องนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสุขภาพเป็นของฟุ่มเฟือยมากกว่าของจำเป็น เพราะยิ่งคนมีเงินมากเท่าไรก็จะยิ่งจ่ายเงินเพื่อสุขภาพมากเท่านั้น หรือแปลว่าคนเราเลือกที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้)


ค่าเดินทางที่สูงขึ้นของคนรวยนั้นมาต้นเหตุมาจากค่าขนส่งทางอากาศเป็นสำคัญ เพราะยิ่งคนเรารวยเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะขึ้นเครื่องบินบ่อยเท่านั้น และการเดินทางด้วยเครื่องบินก็เป็นรูปแบบการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และยังปลดปล่อยคาร์บอนในอัตราที่สูงมากด้วย


บทวิเคราะห์การลงทุนของโกลด์แมน แซคส์ ยังแนะนำด้วยว่า ถ้าคุณกำลังมองหาหุ้นอุปโภคบริโภคเพื่อการลงทุนในระยะยาว ลองมองหาหุ้นของบริษัทชั้นนำที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร การรักษาสุขภาพ และพวกนิวมีเดียต่างๆ เพราะชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้เงินในกระเป๋าของคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ เทมายังสินค้าและบริการในหมวดเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20110810/403862/เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง.html




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2554    
Last Update : 10 สิงหาคม 2554 14:34:17 น.
Counter : 522 Pageviews.  

เปลี่ยน VS ไม่เปลี่ยน

ในการลงทุนของ "เซียน" หรือนักลงทุนที่ "มุ่งมั่น" ดูเหมือนว่า จะมีความคิดเกี่ยวกับอนาคตของกิจการ 2 แนวทาง

กลุ่มของเซียนที่กล้าได้กล้าเสีย อายุน้อยกว่า กระตือรือร้นกว่า และมีสปิริตของ "นักเก็งกำไร" มากกว่า จะชอบการลงทุนในบริษัทที่กำลังมีการ"เปลี่ยนแปลง" ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง จะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของกิจการเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นเป็นโอกาสที่เขาจะทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว


นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอายุมากกว่า อนุรักษนิยมกว่า เป็นพวกที่เน้นความปลอดภัยสูง และมีสปิริตของ"นักลงทุน" มากกว่าการเทรดหุ้น พวกเขาชอบการลงทุนในบริษัทที่มีความแน่นอนของผลประกอบการ และชอบกิจการที่ "ไม่เปลี่ยนแปลง" ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ


พวกเขาเชื่อว่ากิจการที่มีความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายๆ จะทำให้เขาประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้แม่นยำ ดังนั้นการซื้อหุ้นลงทุน จึงผิดพลาดน้อยกว่ากิจการที่มี หรือเปลี่ยนแปลงสูง คนกลุ่มนี้คิดว่า ผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นมากๆ อยู่ที่การเติบโตของกิจการในอนาคตจากผลิตภัณฑ์เดิมๆ ของบริษัท


พูดง่ายๆ พวกเขาเชื่อว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการเติบโตของยอดขายและกำไรของบริษัท ดังนั้นวิธีทำเงิน ก็คือ ซื้อหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าวแล้วถือยาว โดยไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ จำแนกเป็นหลายๆ กลุ่ม


กลุ่มแรก พบได้มากที่สุด จะเป็น เรื่องของบริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทที่เคยมีปัญหาในการดำเนินงานและกำลัง "ฟื้นฟู" กิจการ โดยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกลุ่มใหม่ การที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้การเปลี่ยนแปลงแบบ "พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ" ทำได้ง่าย


วิธีการ ก็คือ เพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่แล้ว ประกาศเปลี่ยนธุรกิจ จากธุรกิจเดิมเป็นธุรกิจที่ "มีโอกาส" ทำกำไรได้รวดเร็ว เพราะผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เคยทำธุรกิจนั้นอยู่ หรืออาจจะเป็นธุรกิจที่กำลัง "ร้อนแรง" และการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย หรือถ้าเป็นบริษัทด้านบริการ อาจหันไปจับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบันเทิง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและอินเทอร์เน็ตต่างๆ เป็นต้น


การเปลี่ยนแปลง "พื้นฐาน" ของกิจการ เพราะการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์อย่างสิ้นเชิง ถ้าว่ากันตามทฤษฎีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ จริงอยู่ ในระยะยาวอาจมีกำไร และทำให้บริษัทที่เคยมีปัญหาฟื้นตัวได้ แต่หากกำไรที่ทำได้ เป็น"กำไรปกติ" ที่เหมาะสมกับ "เงินลงทุน" ที่ใส่เข้าไป ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอาจเท่ากับ 10% ต่อปีในระยะยาว


ถ้าเป็นแบบนี้ มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท และราคาหุ้นไม่น่าจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว ความหมาย คือ ใส่เงินใหม่เข้าไปเท่าไร ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเท่านั้นในระยะยาว


ในระยะสั้นราคาหุ้นย่อมขึ้นอยู่กับ "ความเชื่อ" ของนักเล่นหุ้น ถ้า"สปอนเซอร์" หรือคนที่เข้ามาเปลี่ยนกิจการ โน้มน้าวให้คนเชื่อว่า บริษัททำกิจการใหม่มีกำไรได้รวดเร็ว และสูงเหมือนกับกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน คนก็จะเข้ามาซื้อหุ้น และทำให้ราคาขึ้นรวดเร็ว และคนที่เข้าไปเปลี่ยนกิจการ ก็ขายหุ้นทำกำไรได้มากและรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ


กลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของกิจการที่เป็นบริษัทใหญ่ขึ้นมา และไม่มีปัญหาการดำเนินงาน น่าจะเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงในวิธี หรือกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการ เทคโอเวอร์กิจการ ที่เป็นคู่แข่ง และหรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของตน และในกระบวนการนั้น ทำให้เกิดความได้เปรียบ เพราะขนาดหรือทำให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในสายตาของลูกค้า ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นชัดเจน เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่จ่ายไป ลักษณะนี้จะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นมั่นคง และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นรับกับ "พื้นฐานใหม่" คนที่เข้าไปซื้อหุ้นไว้ก่อนในราคาต่ำได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ


เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นอาจขึ้นไปทันที เพราะนักเล่นหุ้นเชื่อว่าสิ่งที่บริษัททำจะเป็นจริง ในระยะยาวแล้ว ผลประกอบการที่ประกาศออกมา จะเป็นตัวกำหนดพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป ดีขึ้นหรือเลวลง และราคาหุ้นจะสะท้อนพื้นฐานนั้น


คนที่ "หากิน" กับการเปลี่ยนแปลงของกิจการ บ่อยครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นฐานระยะยาวจริงๆ พวกเขามองหาการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และมีผลดีต่อผลการดำเนินงานบริษัท เช่น บริษัทหรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ถ้าราคาสินค้าหรือบริการกำลังปรับตัวขึ้น และเขาคิดว่าด้วยความไม่สมดุลของการผลิต และการบริโภคที่เกิดขึ้น จะทำให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นไปอีกมาก แบบนี้ การซื้อหุ้นไว้ก่อนก็จะทำให้ได้กำไรมหาศาล คนที่คาดการณ์ได้จริงๆ ก็หาได้ยาก โอกาสผิดพลาดมักจะมีสูง


การเล่นหุ้นที่กำลังมีการ "เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ" จึงเป็นเรื่องน่าเร้าใจ บ่อยครั้งไม่จำเป็นต้องคาดถูก หรือผิดด้วยซ้ำ เพียงแต่คาดถูกต้องว่า "คนอื่นเชื่ออย่างไร" เพราะราคาหุ้นในระยะสั้น อยู่ที่ความเชื่อไม่ใช่ความจริง ผลตอบแทนของการคาดการณ์ถูกต้องนั้นสูงมาก เช่นเดียวกัน ผลตอบแทนจากการคาดผิดก็เลวร้ายได้ไม่แพ้กัน


คนเล่นเกมนี้ ต้องเข้าใจว่า มีบางคนได้เปรียบกว่าคนอื่น อย่างน้อย "สปอนเซอร์" ก็รู้ดีกว่าคนนอก ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีพลังการซื้อ และการชี้นำสูงได้เปรียบรายย่อยที่เป็นฝ่ายรับข้อมูลมากกว่า


กลับมาในกลุ่มคนที่หากินกับการ "ไม่เปลี่ยนแปลง" นี่คือ ยุทธศาสตร์การลงทุนที่ "น่าเบื่อ" เพราะตัวธุรกิจที่บริษัททำอยู่ มักเป็นธุรกิจที่ไม่ใคร่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือเป็นธุรกิจ "รูทีน" ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นมานาน ส่วนใหญ่อาจนับสิบๆ ปี


หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าข่ายเป็นกิจการที่ "แข็งแกร่ง" หรือ "ยิ่งใหญ่" ทั้งด้านการตลาดและการเงิน เมื่อเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ผลประกอบการ มักจะคาดการณ์ได้ แต่เติบโตขึ้นหลายสิบหรือร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาสั้นๆ ตัวหุ้นเองก็มักจะไม่ปรับตัวขึ้นหรือลงหวือหวา


ดังนั้นถ้าคนชอบมีชีวิตการลงทุนมั่นคง และไม่ต้องการความกังวลใจกับการลงทุน นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ และในระยะยาว ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอาจไม่แพ้การลงทุน ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพพอๆ กัน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20110809/403873/เปลี่ยน-VS-ไม่เปลี่ยน.html




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2554    
Last Update : 9 สิงหาคม 2554 14:21:41 น.
Counter : 484 Pageviews.  

จาก"วินมอเตอร์ไซค์"สู่เซียนหุ้น VI'ทิวา ชินธาดาพงศ์'

เปิดตัว 'เซียนหุ้น VI''สิงห์มอเตอร์ไซค์รับจ้าง' จบการศึกษาแค่ ม.3 เคยล้มเหลวมาแล้วหลายอาชีพ วันนี้ผันตัวเองสู่เจ้าของพอร์ตหุ้นตัวเลข 9 หลัก

น้ำแข็งเกิดจากน้ำ แต่แข็งกว่าน้ำ ผู้ที่รู้ตัวว่าชีวิตเกิดมาต้องต่อสู้ดิ้นรน จึงหมั่นฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็ง "มี่" ทิวา ชินธาดาพงศ์ เด็กหนุ่มที่ "ใจถึงจนถึงใจ" เขาไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองและชีวิตเต็มไปด้วยโอกาสเหมือนกับใครหลายๆ คน

ชายหนุ่มอารมณ์ดีวัย 30 กว่ามองย้อนกลับไปในชีวิตเบื้องหลังความสำเร็จ วันแห่งความลำบากยากแค้นผุดขึ้นเป็นฉากๆ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” วลีนี้อาจต้องถูกลบทิ้งไป คนเดินดิน กินข้าวแกง (ข้างถนน) อย่างเขา ใครจะเชื่อว่าวันนี้จะ "ร่ำรวย" เป็นเจ้าของพอร์ตหุ้น "ตัวเลข 9 หลัก"

ครอบครัวชินธาดาพงศ์ เข้าข่ายเป็นชนชั้น "รากหญ้า" ของสังคมเมืองหลวงที่ชีวิตต้องปากกัดตีนถีบ แม่ยึดอาชีพขายบะหมี่ป๊อกๆ หาเช้ากินค่ำ ส่วนพ่อทำงานบริษัทเอกชนทั่วไป หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา ย่านถนนประชาสงเคราะห์ ทิวาตัดสินใจไม่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เหมือนเพื่อนๆ ส่วนใหญ่
เขาคลุกตัวอยู่ในสมุดประชาชนย่านซอยรางน้ำ อ่านหนังสือ "ฮาวทู" ที่สอนเกี่ยวกับ "วิธีคิด" หนา 250 หน้าเล่มหนึ่งจนจบ ชีวิตเด็กหนุ่มมีกำลังใจขึ้นราวปาฏิหาริย์ พร้อมทั้งตั้งปณิธานแน่วแน่กับตัวเองว่า "ชีวิตนี้กูต้องรวยให้ได้"

อาชีพแรกของเด็กหนุ่มเริ่มจากอาชีพขับ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" เพื่อนสนิทมาชักชวนโดยบอกว่า "เงินดีมาก" ได้เดือนละ 30,000 บาท เขาจึงฝันต่อว่าถ้าได้เดือนละ 30,000 บาท ปีหนึ่งก็ 360,000 บาท “กูรวยแน่” เพราะในชีวิตอย่าว่าแต่เงินหมื่นเงินแสนเลย แค่เงินหลักพันยังแทบไม่เคยได้จับ

ช่วงนั้นแม่ของทิวากลุ้มใจมากที่ลูกจบแค่ชั้น ม.3 ไม่ยอมเรียนต่อ ทุกคนในบ้านมองไม่เห็นอนาคตของเขาที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย ขณะที่น้องสาวและน้องชายเรียนหนังสือเก่งทั้งสองคน ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ไม่กี่เดือนก็ต้องเลิกเพราะพ่อแม่ซึ่งมาจากครอบครัวคนจีนอับอายเพื่อนบ้านที่ลูกชายคนโต "ไม่เอาถ่าน"

ทุกอย่างในชีวิตเหมือน "ฝันสลาย" พ่อตัดสินใจส่ง “มี่” ในวัย 14 ย่าง 15 ปี ไปเรียนภาษาจีนกลาง ณ โรงเรียนกวางโจวตั๋วหวี่เหวี่ยนเหว่นฮั่ง เมืองกวางโจว ประเทศจีน เป็นเวลา 2 ปี โดยให้ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายต่างมารดาของพ่อที่ไปปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองจีนกับภรรยาและลูก 2 คน หวังให้ลูกชายได้ภาษาจีนและกลับมายึดอาชีพเป็น "ไกด์นำเที่ยว" ที่เมืองไทย การเดินทางไปกวางโจว ประเทศจีนได้เปลี่ยนชีวิตของทิวาจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 2 ปีครึ่ง

"หลังกลับมาจากเมืองจีน ผมก็ไปทำอาชีพไกด์นำเที่ยวสมใจคุณพ่อ แต่ทำได้แค่ 1 เดือน ก็ตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกไม่ใช่ทางของเรา ต้องตื่นมาทำอะไรซ้ำซาก ไปในที่เดิมๆ พูดเหมือนกันทุกวันน่าเบื่อมาก"

หลังจากนั้นก็ไปทำอาชีพเซลส์แมนขายเครื่องเสียงตามร้านคาราโอะ ทำได้ 1-2 สัปดาห์ ก็ลาออกอีก ระหว่างนั้นได้ไปอ่านหนัง How to เล่มหนึ่ง เขาพูดถึงวิธีการทำอย่างไรจึงจะ “รวย” หนึ่งในนั้นเขาแนะนำให้ไปทำอาชีพ "ขายตรง" หรือ "ขายประกัน"

อ่านจบก็รีบไปสมัครเป็นพนักงานขายประกันชีวิต "เอไอเอ" ทันที ทำได้ 2 ปี ลาออกอีกรู้สึกว่าต้องไปง้อให้คนมาซื้อประกัน..มันขายยาก แต่ชีวิตก็ยังวนเวียนอยู่ในอาชีพเซลส์ "ลงแรง ไม่ต้องลงทุน" คราวนี้ไปเป็นพนักงานขายรถยนต์ยี่ห้อ "มิตซูบิชิ" แถวสามย่าน ไม่มีเงินเดือนมีแต่ค่าคอมมิชชั่นถ้าขายรถได้

ช่วงนั้นคิดว่าจะยึดอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันที่ไปทำงานเขาจะทะเยอทะยานมองหัวหน้างานแล้วบอกตัวเองว่า ทำงานอีก 10 ปี ก็จะได้ไปยืนตำแหน่งเดียวกับเขา มีเงินเดือนกิน 30,000 บาท บวกค่าคอมเข้าไปอีกเกือบ 50,000 บาท สุดท้ายทำไปทำมาก็รู้สึกว่างานนี้ไม่ใช่ทางของเราอีก

"ผมลาออกจากเซลส์ขายรถมิตซูบิชิ ไปขายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ตอนนั้นรู้สึกว่ารักอาชีพนี้มาก ส่วนตัวชอบอะไรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ตื่นไปทำงาน แต่ก็ทำได้แค่ 5 เดือน เพราะเจ้าของร้านจำเป็นต้องปิดกิจการ หลังประสบปัญหาส่วนตัว"

ทิวาเริ่มมองเห็นโอกาสทางการค้า และอยากเปลี่ยนสถานะตัวเองจาก "ลูกจ้าง" มาเป็น "เจ้าของร้าน" เลยไปขอให้แม่ช่วยตีเช็คล่วงหน้าให้เจ้าของร้านเพื่อสวมสิทธิทุกอย่างในร้านเดิม เหตุผลที่สนใจทำธุรกิจขายคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เพราะเห็นว่ามี "กำไรดีมาก" โทรศัพท์ 1 เครื่อง จะได้กำไร 5,000-8,000 บาท สมัยนั้นโทรศัพท์ขายเครื่องละ 30,000 บาท ตอนนั้นกิจการรุ่งเรืองมากมีเงินเข้าร้านเดือนละ "หลายแสนบาท"

แต่แล้วทรัพย์สินเงินทองที่ไหลมาเทมาอย่างไม่ทันตั้งตัวก็มลายหายไปอย่างรวดเร็ว ทำธุรกิจได้ 2 ปี ก็เจอวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บวกกับช่วงนั้นเขาใช้เงินเกินตัว

"สุภาษิตจีนบอกว่า “ใครรวยก่อนอายุ 30 ไม่มีความมั่นคง แต่ถ้าเลย 30 เจริญแน่นอน” ผมจึงตัดสินใจปิดกิจการ ได้เงินมาหลักล้านบาท ก็นั่งคิดเอาเงินไปทำอะไรดี"

ยอมรับว่าช่วงนั้น "คิดสั้น" ได้ยินมาว่า “เล่นพนันบอล” แล้วจะ “รวย” เล่นไป 5 เดือน "หมดตัว" เพราะเล่นหนักมากจากแทงหลัก "หมื่นบาท" ต่อคู่หลังๆ แทงหลัก "แสนบาท" ปิดพ่อแม่ไม่ให้รู้ แต่ภรรยาที่แต่งงานแบบไม่จดทะเบียนรับรู้พฤติกรรมตลอด

"เชื่อมั้ย! หมดตัวถึงขนาดเหลือเงินติดกระเป๋า 100 บาท จะกินข้าวต้องมานั่งคำนวณกับภรรยาว่าจะพอหรือไม่ ชีวิตกลับมาตกต่ำอีกครั้ง เมื่อหมดตัวก็มานั่งคิดจะทำอะไรดีที่ใช้ทุนน้อยๆ พอดีช่วงนั้นภรรยาชอบไปเดินเซ็นเตอร์วัน ก็ไปเห็นธุรกิจระบายสีตุ๊กตาปูนปั้น ซึ่งขายดีมาก ผมจึงไปยืมเงินญาติมาลงทุนใช้เงินแค่ 10,000-20,000 บาทก็ทำได้แล้ว ตอนนั้นโชคดีมากกิจการดีวันดีคืน มีเงินเข้ากระเป๋า 50,000-60,000 บาทต่อเดือน จึงตัดสินใจขยายอีก 1 สาขา ไปเปิดที่บิ๊กซี ลาดพร้าว"

วันหนึ่งไปเดินเล่นข้างล่างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เห็นมีร้านอินเทอร์เน็ตลูกค้าแน่นร้าน กลับบ้านมานั่งทบทวนในเมื่อตัวเองชอบเรื่องเทคโนโลยี และมีเครื่องคอมพิวเตอร์นอนนิ่งอยู่ที่บ้าน 8 เครื่อง ทำไม! ไม่นำมาทำให้เกิดประโยชน์

"ผมเลยไปเช่าพื้นที่เปิดร้านอินเทอร์เน็ต ช่วงนั้นอิมพีเรียล ลาดพร้าว กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ปล่อยค่าเช่าได้ถูกมากเดือนละ 2,000 บาท กิจการรุ่งเรืองมาก เลยขยายอีก 5-6 สาขา เรียกว่า "ยึดหัวหาด" ในย่านลาดพร้าว มีเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 100 เครื่อง ภายใน 2-3 ปี"

ช่วงนั้นเกม Ragnarok Online กำลัง “ฮิต” เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 9 ปี ก็ปิดกิจการได้เงินสดมา "หลายล้านบาท" จากนั้นก็ไปช่วยกิจการของครอบครัวภรรยาขายแหนมและหมูยอ ตรา "ธัญรัตน์" (ชื่อแม่ยาย) ขายตามตลาดนัด "ขายดีมาก" ระหว่างที่ไปช่วยงานแม่ยาย ตัวเองก็รับซื้อขายแลกเปลี่ยนพวกคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือไปด้วย ทำอาชีพนี้อยู่อีก 1-2 ปี

ทิวา เล่าว่า ในช่วงที่ทำร้านเกม ก็ได้ยินเรื่องตลาดหุ้นแต่ภาพที่รับรู้คือ “เล่นหุ้นเหมือนเล่นการพนัน และเป็นกิจกรรมเฉพาะของคนรวยคนจนหมดสิทธิ” ขณะนั้นก็เลยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตลาดหุ้น แต่ถึงแม้รู้สึกไม่ดีก็เอาตัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเพราะเห็นโอกาสทำกำไร เพื่อนสมัยเรียนมัธยมมาเล่นเกมที่ร้านมาชวนให้เล่นหุ้น เขาเป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่ที่ บล.เอเซียพลัส

"เขาบอกว่าจะจัดการให้หมดทุกอย่าง เอาเงินมาอย่างเดียว จำได้ว่าช่วงนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้แค่ว่าเพื่อนเอาเงินไปลงทุนหุ้นการบินไทย สุดท้ายขาดทุนไป 70,000 บาท ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ในใจคิดแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ตอนนั้นรู้สึกเข็ด"

แต่โชคชะตาก็ทำให้เขาเข้าสู่วงจรตลาดหุ้น ทิวา ผู้ใช้นามแฝง "SAI" ในเว็บบอร์ด Thaivi ชีวิตก่อนจะมาเป็น “เซียนหุ้น VI” ประมาณปี 2551 ด้วยความบังเอิญ ตัวเขา ภรรยาและลูกสาววัย 3 ขวบ ไปเดินเล่นที่ห้างเอสพลานาดย่านรัชดา เดินผ่าน “ห้องสมุดมารวย” ของตลาดหลักทรัพย์ ได้ยิน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กำลังพูดเรื่องการลงทุน มีคนนั่งฟังประมาณ 20 คน

"ผมสะดุดคำที่อาจารย์นิเวศน์พูดขึ้นว่า การเล่นหุ้นมันคือการซื้อธุรกิจ มีเงินเอาไปลงทุนหุ้นดีๆ อีก 20 ปี เงินจะเติบโตเป็นตัวเลข "หนึ่งหลัก" เท่ากับว่าถ้าเราใส่ไป 1 ล้านบาท 20 ปี ได้ 10 ล้านบาท นอกจากผมจะตาลุกวาวแล้ว สมองก็ยังคิดต่อว่า ทำไม! ไม่มีใครบอกแบบนี้เลยนะ...ดร.นิเวศน์ ทำให้ทัศนคติการเล่นหุ้น และชีวิตของผมเปลี่ยนไป" เขายกย่องอย่างชื่นชม

หลังจากนั้น ทิวา รีบไปหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับตลาดหุ้นมานั่งอ่านประมาณ 20-30 เล่ม ใช้เวลาอ่าน 1-2 เดือนก็อ่านจบทั้งหมด แล้วคิดในใจว่าเล่นหุ้น “ง่ายจัง”

"รุ่งขึ้นผมเดินไปตลาดหุ้น เพื่อไปขอเปิดพอร์ตลงทุน ก็ไม่รู้ว่าต้องไปเปิดที่ไหน เจ้าหน้าที่บอกต้องไปเปิดที่โบรกเกอร์ค่ะ ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเลยจริงๆ ตัดสินใจตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์ PANTIP แล้วก็มีมาร์เก็ตติ้ง บล.กิมเอ็ง สาขานครราชสีมา ชวนผมไปเปิดพอร์ตกับเขา ด้วยเงินก้อนแรก 500,000 บาท"

เจ้าของนามแฝง SAI (มาจากตัวการ์ตูนเรื่อง ฮิคารุเซียนโกะ) เล่าต่อว่า เทคนิคการลงทุนช่วงนั้น เน้นเล่นตามดร.นิเวศน์ เห็นอาจารย์ถือหุ้น 9-10 ตัว ด้วยความศรัทธาคิดว่า "เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด" และคิดว่าอาจารย์นิเวศน์ "คงไม่ขาย" บวกกับมีนักลงทุน VI นามแฝง “กาละมัง” บอกว่า “อย่ากลัวจงสั่นสู้..อย่าสั่นหนี” ก็เลยตัดสินใจ "ซื้อตาม ดร.นิเวศน์"

จำได้ตอนนั้นซื้อหุ้น โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) หุ้น ไว้ท์กรุ๊ป (WG) หุ้น อิโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) (IRC) หุ้น อุตสาหกรรมถังโลหะไทย (TMD) หุ้นไอที ซิตี้ (IT) และหุ้น เอสวีโอเอ (SVOA)

สุดท้ายติดนิสัย “แมลงเม่า” เห็นราคาหุ้นขึ้นดีใจเลยขายออกบางตัว เหลือติดพอร์ตแค่หุ้น HMPRO, IT และ SVOA แล้วเอาเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่นตามคำแนะนำของคนเก่งๆ ในเว็บไซต์ Thaivi ก็มีซื้อหุ้น เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) และหุ้น โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL

"ระหว่างนั้นผมก็ทยอยใส่เงินเข้าไปอีก 5 ล้านบาท สุดท้ายเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 (ซับไพร์ม) ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะขาลงรุนแรง ผมขาดทุน "หลักล้านบาท” มันเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับชีวิตผม แต่ก็ไม่ขายนะ เอาแต่นั่งเครียด ไปขุดหนังสือทุกเล่มมาอ่านใหม่ เปลี่ยนทฤษฎีการลงทุนใหม่ยกแผง พร้อมทยอยใส่เงินเพิ่มในช่วงที่ดัชนีลงต่ำ 300-400 จุด ในช่วงปลายปี 2551 อีกประมาณ 2-3 ล้านบาท"

เทคนิคการลงทุนแบบไหนที่ทำให้พอร์ตลงทุนของ ทิวา ชินธาดาพงศ์ จากเงินไม่กี่ล้านบาท วันนี้ทะยานสู่เลข "เก้าหลัก" ติดตามต่อใน "สัปดาห์หน้า" บอกได้คำเดียว คนจบ ม.3 แต่ฝีมือ "ระดับเซียน"

//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20110809/403957/จากวินมอเตอร์ไซค์สู่เซียนหุ้น-VIทิวา-ชินธาดาพงศ์.html




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2554    
Last Update : 9 สิงหาคม 2554 14:20:44 น.
Counter : 851 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.