In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

งานประจำของ VI

การที่จะเป็น Value Investor ที่ดีนั้นเราจะต้องทำอะไร? ถ้า VI ไม่ค่อยซื้อขายหุ้นหรือตามราคาหุ้นแล้ว วันๆ เขาจะทำอะไร?

คำ ตอบของผมก็คือ งานของ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุนและการเพิ่มความสามารถในการเลือกหุ้นและการจัดการการ ลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่มีความเสี่ยงไม่มาก และต่อไปนี้ก็คือ งานบางอย่างที่ผมคิดว่า VI ที่มุ่งมั่นควรทำเป็นประจำ

เรื่องแรกคือ การหาความรู้เรื่องการลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว Value Investment และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การอ่านหนังสือการลงทุนที่เขียนโดยนักวิชาการหรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงและ ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในสายงานของตน หนังสือการลงทุนนั้นมีมากมายมหาศาลยากที่จะอ่านได้หมด ดังนั้น อย่างน้อยเราควรอ่านเดือนละเล่มโดยเฉลี่ย และเนื้อหาของหนังสือนั้นควรจะครอบคลุมกว้างขวางในทุกด้านของทฤษฎีและปรัชญา การลงทุน ข้อแนะนำเพิ่มเติมของผมก็คือ นอกจากหลักการของ Value Investment แล้ว อย่างน้อยเราควรจะต้องอ่านและเข้าใจทฤษฎี “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ” หรือ Efficient Market ของนักวิชาการที่บอกว่าการลงทุนให้ได้กำไรมากกว่าปกติในระยะยาวนั้นแทบเป็น ไปไม่ได้ไม่ว่าคุณจะใช้หลักการอะไร เหตุผลก็เพราะมันจะเป็นเครื่องเตือนใจเราตลอดเวลาว่า การลงทุนเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” อย่าประมาท

งานประจำอย่างที่สองก็ยังเป็นการอ่านหนังสือ แต่ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการลงทุน เหตุผลก็คือ การลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ อีกมาก ว่าที่จริงควรจะพูดกลับกันนั่นก็คือ สิ่งต่างๆ นั้นมีผลกระทบต่อการลงทุน ดังนั้น เราควรจะมีความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่ามันคืออะไร วิธีของผมก็คือ ผมจะพยายามเรียนรู้เรื่องหรือทฤษฎีหรือปรัชญาสำคัญๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ สงครามและการปฏิวัติครั้งใหญ่ๆ ของโลก จิตวิทยาและสังคมวิทยาของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกในยุคต่างๆ ทฤษฎีการจัดการต่างๆ ทั้งการตลาดการบริหารและการเงินที่เป็น “Break Through” หรือเป็นหนังสือที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการ เป็นต้น ผมพบว่ายิ่งอ่านผมก็ยิ่งสนุก แม้จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามันช่วยในการตัดสินใจลงทุนตรงไหน ลองอ่านดู อย่างน้อยเดือนละเล่มเช่นกัน

งานประจำอย่างที่สามก็คือการพบปะพูดคุยกับนักลงทุนที่เป็น VI ด้วยกันอย่างน้อยสักสองสามเดือนต่อครั้ง นี่ก็เป็นการช่วยให้เราได้ข้อมูลหรือตัวหุ้นที่น่าสนใจที่เราจะกลับไป “ทำการบ้านต่อ” นั่นก็คือ ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะหาหุ้นที่ดีที่เราจะลงทุน ประเด็นสำคัญก็คือ อย่า “ลอกการบ้าน” คือซื้อหุ้นตามเพื่อนโดยที่เราไม่ได้ศึกษาเอง การพบปะกับเพื่อน VI นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการ “มีสังคม” ด้วยโดยเฉพาะคนที่เป็น VI อาชีพที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว

งานประจำอย่างที่สี่นั้นคล้ายๆ และบ่อยครั้งปนๆ กับงานอย่างที่สามนั่นคือ การพบปะผู้บริหารหรือเยี่ยมเยือนบริษัทจดทะเบียน นี่คือการเรียนรู้บริษัทและหุ้นที่เราสนใจลงทุนอย่างลึกซึ้งขึ้น สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีโอกาสพบกับผู้บริหารเป็นการส่วนตัวหรือเยี่ยมบริษัท งาน Opportunity Day หรืองานผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำนั้น เป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกในการทำงานนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่านักลงทุนควรใช้เวลากับเรื่องนี้อย่างน้อยสัก 2-3 เดือนต่อครั้ง

งานประจำอย่างที่ห้าก็คือ การติดตามผลการดำเนินงานประจำไตรมาสของบริษัทจดทะเบียน งานนี้เราต้องทำปีละ 4 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาวันละหลาย ๆ ชั่วโมงในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังวันประกาศผลประกอบการ บ่อยครั้งที่ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ผมตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น เพราะตัวเลขผลประกอบการเป็นสิ่งที่ “บอกอะไรบางอย่าง” เกี่ยวกับความเชื่อของเราต่อตัวบริษัท

งานประจำอย่างที่หกนั้นเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน นั่นก็คือ การอ่านหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ นี่คือการติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจ ธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนทั่วๆ ไปและบางครั้งก็เกี่ยวกับหุ้นที่เราลงทุนอยู่หรือกำลังพิจารณาลงทุน ถ้าเราไม่อ่านเราจะไม่เห็นภาพว่าอะไรเกิดขึ้นในวงการธุรกิจและภาพใหญ่ของ เศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าเราจะเป็น VI ผมคิดว่าเราควรอ่านหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจอย่างน้อยวันละหนึ่งฉบับ

งานประจำอย่างที่เจ็ดที่ผมจะพูดถึงก็คือ การสังเกตและคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนหรือหุ้นเมื่อเราทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่เราควรทำให้เป็นนิสัย ทุกครั้งที่เราไปจ่ายตลาดเราควรสังเกตว่าสินค้าอะไรเป็นที่นิยม ทุกครั้งที่เราใช้สินค้าหรือบริการเราควรคิดว่ามันดีไหมเราชอบไหม บริษัทไหนเป็นเจ้าของ เราควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงของสินค้าหรือบริการที่ อยู่ในตลาด เช่นเดียวกันเราควรสังเกตสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมและคิดไปถึงผลกระทบของมันต่อบริษัทและหุ้นที่อยู่ใน ตลาดหลักทรัพย์ ทุกอย่างนี้ถ้าเราทำจนติดเป็นนิสัยแล้วเราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นงาน แต่มันเป็นเรื่องสนุกและจะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น

งานประจำอย่างสุดท้ายที่จะต้องพูดถึงก็คือ การวิเคราะห์ การตัดสินใจและสั่งซื้อขายหุ้น และการทำรายงานพอร์ตการลงทุน นี่ถือเป็นงานการลงทุนโดยตรง แต่จริงๆ แล้วสำหรับผมก็ไม่ได้ใช้เวลามากมายอะไรนักถ้าเราไม่ได้ซื้อขายบ่อย การวิเคราะห์หุ้นนั้นเป็นเรื่องที่บอกเป็นจำนวนครั้งที่ต้องทำยากขึ้นอยู่ กับพอร์ตของแต่ละคนและการวิเคราะห์ว่าทำละเอียดแค่ไหน ส่วนการติดตามความเคลื่อนไหวของการลงทุนนั้น ผมทำเกือบทุกวันแต่เป็นเรื่องของการเปิดดูจอคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ขณะทำงานอื่น เช่นการอ่านหนังสือ ส่วนการทำรายงานการลงทุนนั้นผมทำสัปดาห์ละครั้งเพื่อดูสถานะของพอร์ต งานนี้ใช้เวลา Update ข้อมูลเพียงไม่กี่นาทีต่อสัปดาห์ ประเด็นสำคัญของการ “ดูราคาหุ้น” นั้นก็คือ การมองหา “โอกาส” ที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะเพื่อการซื้อขายเก็งกำไรในระยะเวลาสั้นๆ

งานทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้นดูเหมือนว่าจะมากเกินกว่าที่คนที่ยังทำงาน ประจำจะสามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีมากในปัจจุบัน VI ที่ยังทำงานประจำก็สามารถทำงานการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงพอสมควร และถ้าเขาทำงานหนักหลังเวลางาน เขาก็อาจจะทำได้ดีไม่แพ้ VI อาชีพเช่นเดียวกัน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/nives/20100817/348215/%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-VI.html




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2553    
Last Update : 17 สิงหาคม 2553 23:54:32 น.
Counter : 455 Pageviews.  

สัญญาณแห่งความรุ่งเรือง

ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาแต่ละไตรมาสนั้น มีประโยชน์น้อยในการพิจารณาการลงทุน

เหตุผลก็เพราะมันเป็น สิ่งที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนต้องการรู้ว่าอนาคต หรือการประกาศตัวเลขในไตรมาสที่จะถึง เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรมากกว่า

การที่จะรู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรนั้น บ่อยครั้งผมจะดูจาก "สัญญาณ" ที่เกิดขึ้น จากสิ่งที่ผมเห็นและสัมผัสในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ในช่วงนี้ผมรู้สึกว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยคงจะรุ่งเรืองพอสมควรทีเดียว เพราะผมได้เห็นและรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเรื่อง ต่างๆ ต่อไปนี้

สัญญาณแรก ซึ่งผมเริ่มรู้สึกเล็กน้อยมาได้หลายเดือนแล้ว ก็คือ ร้านสะดวกซื้อมีคนเดินหยิบสินค้าและเข้าคิวจ่ายเงินมากขึ้น ร้านสะดวกซื้อนั้น จริงๆ แล้ว เป็นสัญญาณที่ไม่แรงหรือเป็นสัญญาณอ่อน เพราะจำนวนคนในแต่ละช่วงเวลานั้นมีไม่มาก การรอจ่ายเงินก็ไม่นาน

อย่างไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่ผมเห็นทุกวัน บางวันเห็นมากกว่าหนึ่งครั้ง และส่วนใหญ่เห็นหลายร้าน เนื่องจากในซอยบ้านผม มีร้านสะดวกซื้อหลายร้านที่ผมต้องเดินผ่านเกือบทุกวัน การมีคนเข้าร้านสะดวกซื้อมากขึ้น เป็นสัญญาณว่าคนชั้นกลาง-ล่าง มีเงินมากขึ้นในการซื้อสินค้า เครื่องดื่มและอาหารบริโภคในชีวิตประจำวัน ดังนั้น นี่เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าน่าจะดีขึ้น

สัญญาณที่ สอง ที่ผมเห็น ก็คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กที่ให้บริการคนใน “ท้องถิ่น” และคนชั้นกลางที่เป็นพนักงานออฟฟิศ ที่มาต่อรถแถวๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยปกติผมจะเป็น “ลูกค้าประจำ” เพราะต้องเดินจากบ้านไปรับประทานอาหารเย็นสัปดาห์ละหลายๆ วัน หรือแม้แต่ช่วงกลางวัน บ่อยครั้งผมต้องแวะไปรับประทานอาหารและซื้อสินค้าจิปาถะ พูดง่ายๆ นี่แทบจะเป็น “ห้องครัว” ของผม ก่อนหน้านี้ ผมสามารถเลือกร้านอาหารและไม่ต้องรอนานกว่าจะได้รับประทาน เพราะคนมีไม่มาก แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมเริ่มรู้สึกว่า ร้านอาหารที่มีอยู่หลายร้านต่างเริ่มมีคิว เมื่อสั่งอาหารแล้วก็ต้องรอนานขึ้นกว่าที่อาหารจะมาเสิร์ฟ นอกจากนั้น ในช่วงเกือบบ่ายสองโมง ซึ่งในอดีตมักจะเป็นช่วงที่ร้านมักจะว่างก็กลายเป็นว่าคนก็ยังเต็มร้านอยู่ นี่เป็นสัญญาณว่าคนชั้นกลางมีเงินมากขึ้น และอาหารเป็นสิ่งแรกที่พวกเขาจะใช้เงินเพิ่ม

สัญญาณที่ สาม ที่ผมเห็น ก็คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และหรูหรากลางเมือง นี่คือสถานที่ที่ผมจะต้องเข้าไปซื้อหาสินค้าและอาหาร เพื่อที่จะรับประทานตลอดสัปดาห์ ดังนั้น ผมต้องเข้าไปจับจ่ายสินค้าและหา “ความบันเทิง” สัปดาห์ละครั้ง และแน่นอน ผมต้องสังเกตว่าอะไรเป็นอะไร

สิ่งแรกที่ผมเริ่มรู้สึก ก็คือ เรื่องที่จอดรถ ก่อนหน้านี้ การหาที่จอดรถก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น การหาที่จอดรถก็ยากขึ้นเรื่อยๆ บางวันต้องถูกปัดให้ไปจอดรถในจุดที่อยู่ใกล้เคียงเนื่องจากที่จอดรถเต็มเกิน ไป สร้างความยุ่งยากให้กับผมที่ต้องขนอาหารจำนวนมากในแต่ละครั้ง และนี่เป็นสัญญาณว่า “คนรวย” กำลังใช้จ่ายมากขึ้น

ไม่ใช่เฉพาะห้างสรรพสินค้าหรูเท่านั้น ที่ผมรู้สึกว่าคนมีรายได้สูงจะเข้าใช้บริการมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนระดับสูงที่ผมใช้บริการอยู่เป็นประจำ และผมต้องไปตรวจสุขภาพทุก 2-3 เดือน ก็มีคนเข้าใช้บริการหนาตาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เดี๋ยวนี้ การใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนนั้นคงไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของความเจ็บป่วยเพียง อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เป็น “ทางเลือก” มากขึ้น นั่นก็คือ ถ้ามีรายได้ดีขึ้น คนก็จะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ในขณะที่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีพวกเขาอาจจะไปโรงพยาบาลน้อยลง ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ผมเห็นในช่วงเร็วๆ นี้

สัญญาณที่ผมเริ่มเห็นล่าสุด และผมคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่แรงมาก มันเป็นสัญญาณที่ ผมเคยเห็นเมื่อสมัยก่อนปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตสูงมาก ก็คือ “รถป้ายแดง” ที่วิ่งอยู่ในท้องถนน ในยุคนั้น รถป้ายแดงที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีจำนวนมากจนเป็นที่สังเกตได้ชัดเจน

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ยอดขายรถใหม่ก็ลดลงจนเราไม่รู้สึกว่ามีรถป้ายแดงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นเวลา นับสิบปี จวบจนกระทั่งถึงช่วงนี้ที่ผมรู้สึกว่ามีรถป้ายแดงมากขึ้นจนรู้สึกได้ รถป้ายแดงเป็นสัญญาณที่ บอกว่าคนมีรายได้สูงและคนชั้นกลางระดับสูง มีความมั่นใจและมีเงินหรือมีปัญญาที่จะซื้อรถมาใช้ได้มากขึ้น นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจกำลังร้อนแรง และก็คงเติบโตสูงมากอย่างที่มีการคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจจะโตถึงเกือบ 10% ได้

สัญญาณสุดท้าย ที่ผมไม่ได้สัมผัสด้วยตนเองแต่ก็เริ่มมานานพอสมควร ก็คือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม นี่เป็นสัญญาณที่แรงมากในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ที่มีการซื้อขายเก็งกำไรและราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่ในช่วงหลังนี้ อาจจะเป็นเพราะความต้องการบ้านจริงๆ ของคนไทยอาจจะไม่สูงมาก เนื่องจากการเกิดที่น้อยลงและสต็อกบ้านเก่ามีมาก ดังนั้น สัญญาณทาง ด้านการซื้ออสังหาริมทรัพย์จึงไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านและคอนโดก็อยู่ในระดับที่ดีมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเป็นการแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแรงดี คนระดับกลางและสูงมีเงินและพร้อมที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและ ลงทุนจำนวนมาก

สัญญาณทั้ง หลายที่กล่าวมาดูเหมือนว่าจะสอดคล้องและยืนยันอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ค่อนข้างจะดีมาก และน่าจะดีต่อไปอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง หน้าที่ของเรา ก็คือ หาหุ้นที่จะได้ผลดีจากภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

แน่นอน กิจการจำนวนมากหรือส่วนใหญ่น่าจะได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะต้องมีผลประกอบการดีขึ้น ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า การที่เศรษฐกิจดีไม่ใช่เงื่อนไขของการเข้าลงทุน มันเป็นเพียง “โบนัส” ที่ผมจะได้จากการลงทุนในหุ้นของกิจการที่อยู่และเติบโตได้แม้ว่าเศรษฐกิจจะ ไม่ดี เพราะผมคิดว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจจะดี แต่ปีหน้า ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนได้ สำหรับนักลงทุนระยะยาวแบบที่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดชีวิต ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการลงทุนในบริษัทที่ “อยู่ได้ในทุกฤดูกาล”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20100810/347308/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87.html




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2553    
Last Update : 10 สิงหาคม 2553 17:47:19 น.
Counter : 538 Pageviews.  

คนเหมือนกันทั้งโลก

ในการวิเคราะห์เรื่องการลงทุนนั้น แนวความคิดที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่ผมยึดถือก็คือความคิดที่ว่า "คนนั้นเหมือนกันทั้งโลก"

ความแตกต่างของพฤติกรรมที่เราเห็นจากคนในแต่ละสังคม หรือแต่ละประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดจากความแตกต่างของรายได้

นั่นคือ สังคมที่รวยกว่า จะมีพฤติกรรมในการบริโภค และการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนในสังคมที่จนกว่า แต่ในสังคมที่รวยพอๆ กันก็จะประพฤติหรือบริโภคสิ่งที่คล้ายๆ กัน

พูดง่ายๆ คนไม่ได้แตกต่างกันเพราะเชื้อชาติ สีผิว หรือแม้แต่วัฒนธรรม แต่คนแตกต่างกัน เพราะมีรายได้ไม่เท่ากัน แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องชัดเจนก็คือ แท้ที่จริงแล้ว คนเรานั้นชอบหรืออยากทำอะไรเหมือนๆ กัน เพียงแต่คนคนหนึ่งอาจจะมีรายได้มากพอที่จะทำในสิ่งที่ต้องการได้ ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งทำไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน

จากแนวความคิดดังกล่าว ทำให้เราสามารถคาดการณ์ว่า ประเทศไทยหรือสังคมไทยจะเคลื่อนไหวไปทางไหน สินค้าหรือบริการอะไรจะขายได้หรือขายดีในอนาคต

วิธีการก็คือ ศึกษาจากประเทศหรือสังคมที่รวยกว่าเรา ดูว่าเคยเป็นอย่างไรและปัจจุบันเป็นอย่างไร ใช้ผลิตภัณฑ์อะไรมากน้อยแค่ไหน จากนั้นหันมาดูเมืองไทยว่า เราจะเดินตามแบบเดียวกับเขาเมื่อไร หัวใจสำคัญก็คือ ดูว่าเมื่อไรรายได้ของคนไทยจะเพิ่มขึ้น หรือราคาของสินค้า จะลดลงจนทำให้คนไทยมีปัญญาใช้สินค้านั้นได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ เรื่องโทรศัพท์มือถือ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ถ้ายังจำกันได้ การใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น คนใช้ยังมีจำนวนน้อยมาก แต่ละปีจะมีผู้ใช้รายใหม่เพียงไม่กี่แสนราย

ในขณะที่ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย เกือบทุกคนแม้แต่เด็กเล็กก็ใช้กันแล้ว เหตุผลของความแตกต่างก็คือ ราคาของการใช้โทรศัพท์มือถือในเมืองไทย ยังแพงเกินกว่าที่คนไทยส่วนใหญ่จะสามารถใช้ได้ แต่แล้ว ราคาค่าเครื่องและค่าบริการการใช้โทรศัพท์มือถือ ก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนคนไทยส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ ผลก็คือ การใช้ในประเทศไทยก็พุ่งขึ้นจนปัจจุบันคนไทยเกือบทั้งหมดต่างก็ใช้โทรศัพท์ มือถือเหมือนกับประเทศเจริญแล้ว

บางคนอาจจะบอกว่า เรื่องการบริโภคหรือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ คนอาจจะทำตามกันเมื่อมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ในเรื่องของความเชื่อ รสนิยม ความคิดทางสังคมหรือการเมือง แต่ละสังคมหรือแต่ละประเทศน่าจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ ละกลุ่ม

แต่ผมเองคิดว่า ความแตกต่างเหล่านั้น น่าจะเป็นเรื่องของ "รายละเอียด" ในภาพใหญ่แล้ว ผมยังคิดว่า "คนเราเหมือนกันทั้งโลก" ถ้าพวกเขามีรายได้หรือความมั่งคั่งใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้น ในทางการเมือง ก็จะเป็นประเทศที่ยึดหลักเสรีประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนเป็นประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ยากจนอาจจะมีระบอบการปกครองเป็นเผด็จการได้ แต่เมื่อใดที่พวกเขารวยขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็ต้องเป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะหัวใจของเรื่อง ก็คือ มนุษย์ทุกคนในโลกต้องการมีเสรีภาพ แต่บางครั้งเขาเลือกไม่ได้เมื่อเขายังจนอยู่ แต่เมื่อรวยขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะต้องเรียกหาและได้เสรีภาพและประชาธิปไตยในที่สุด

ผมเองชอบย้อนรำลึกถึงความหลังในสมัยที่ยังเด็ก ถึงวันนี้ผมรู้สึกทึ่งกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่ น่าเชื่อ ในสมัยก่อนนั้นผมรู้สึกว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะที่ไม่ใช่คนเอเชีย

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการได้รับการสอนหรือพร่ำบอกผ่านสื่อต่างๆ ว่าประเทศไทยจะต้องเป็นหรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนไทยเป็นคนที่มีค่านิยมอย่างนั้นอย่างนี้ที่ "ดี" กว่าคนอื่น แต่พอถึงวันนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมหาศาลและคนไทยเริ่มรวยขึ้นพอสมควร

ผมก็เริ่มเห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะที่พ่อแม่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงขึ้นนั้น ได้เปลี่ยนค่านิยมไปมากมาย นั่นคือ พวกเขามีความคิดและค่านิยมเหมือนๆ กับฝรั่งและชาวต่างชาติอื่นๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า ความ "เป็นไทย" ดูเหมือนจะเป็นเรื่องในอดีตและไม่น่าที่จะมีใครสามารถ "หมุนเข็มนาฬิกา" กลับคืนไปได้

ดังนั้น สิ่งที่ผมทำก็คือ พยายาม "ปรับตัว" และ "ปรับใจ" เพื่อรับกับ "สังคมใหม่" ที่มาพร้อมกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของสังคมไทย และไม่ไปตัดสินว่าสิ่งเหล่านั้นดีหรือไม่ดี

ผมพูดมายืดยาวและดูเหมือนว่า จะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการลงทุนนัก แต่ที่จริงมันเกี่ยวกับการวิเคราะห์หาแนวโน้มในอนาคตของประเทศไทย อนาคตของเศรษฐกิจไทย และอนาคตของบริษัทไทย

สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการลงทุนระยะ ยาว ที่เราจำเป็นต้องรู้ว่าอนาคตมันจะไปถึงจุดไหน ในระยะสั้นๆ นั้น บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่า จะเกิดขึ้นอาจจะยังไม่เกิด และหลายครั้งกลับเดินไปในทิศตรงกันข้ามทำให้เราไม่มั่นใจและอาจจะคิดไปว่า "เมืองไทยไม่เหมือนที่อื่นเพราะ…"

แต่ในความเห็นของผมหลังจากที่ผ่านประสบการณ์มานานพอสมควรในชีวิต ผมคิดว่า "คนเหมือนกันทั้งโลก เพราะเรามียีนแบบเดียวกัน" การเป็น "คนไทย" เป็นเรื่องของ "รายละเอียด" ที่ไม่สามารถจะไปเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ที่ธรรมชาติได้กำหนดมาแล้วสำหรับ มนุษย์ทุกคน

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ถ้าผมเห็นว่า เทรนด์หรือแนวโน้มของโลกที่เจริญแล้วไปทางไหน ไม่ช้าก็เร็ว ประเทศไทยก็จะพัฒนาไปทางนั้น ไม่มีข้อยกเว้น เราต้องมั่นใจและตัดสินใจลงทุนได้แม้ว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจจะไม่เป็น เช่นนั้นหรือชี้ไปในทิศตรงกันข้าม

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20100803/346093/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.html




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2553    
Last Update : 3 สิงหาคม 2553 22:02:44 น.
Counter : 581 Pageviews.  

ทำเงินก้อนโต

Value Investor นั้นก็เหมือนกับคนในวงการอื่นๆ ที่มีทั้งนักลงทุนประเภท Aggressive หรือพวกที่ “ก้าวร้าว” กล้าได้กล้าเสีย ทำงานหนัก

หนุ่มแน่น ซึ่งในบางช่วงบางสถานการณ์ อย่างเช่นในช่วงนี้ สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในเวลาไม่นาน กับอีกกลุ่มหนึ่งหรือที่จริงควรเรียกว่าอีกปีกหนึ่งที่เป็น VI ประเภท Conservative หรือนักลงทุนแนวอนุรักษนิยมที่เน้นความปลอดภัยในการลงทุนเป็นหลัก ไม่ชอบอะไรที่หวือหวาและอันตราย คนในกลุ่มนี้ชอบลงทุนในกิจการที่มีความแน่นอนของผลประกอบการของบริษัทแม้ว่า กิจการจะโตช้าและหลายกิจการอาจจะใกล้ที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมตะวันตกดิน เกือบทั้งหมดชอบหุ้นถูกแม้ว่ามันจะถูกมานาน พวกเขามักจะเป็นคนที่มีอายุมากกว่าพวกแรกและหลายคนมีเงินไม่มากและเหลือเฟือ ที่จะกล้าเสี่ยง ผลตอบแทนการลงทุนของพวกเขาดูเหมือนว่าจะไปแบบเนิบๆ ไม่หรูหราและอาจจะไม่เลวร้ายไม่ว่าในสถานการณ์ไหน

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปก็คือ ถ้าเราจะเป็น VI แบบ Aggressive นั้น หุ้นประเภทไหนที่เราจะเล่น หุ้นอะไรที่จะ “ทำเงินก้อนโต” ให้เราได้

หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นของกิจการที่มีผลประกอบการที่เป็นวัฏจักรรุนแรง นี่คือผู้ผลิตหรือให้บริการสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ เช่น ปิโตรเคมีต่างๆ การเดินเรือและการบิน ผลิตภัณฑ์การเกษตรโดยเฉพาะที่หาสินค้าทดแทนได้ยากเช่น ยางพาราและไก่ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ไม่ได้เป็นโภคภัณฑ์แต่ก็มีวัฏจักรที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าคงทนที่คนสามารถเลื่อนการซื้อออกไปได้เช่น รถยนต์และบ้าน เป็นต้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรนี้ เราต้องรู้ว่าวัฏจักรกำลังเป็น “ขาขึ้น” ในขณะที่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนภาวะที่กำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าการคาดการณ์ในเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย แต่ถ้าทำได้ถูกต้อง บ่อยครั้งจะได้กำไรงดงาม บางทีหุ้นขึ้นไปหลายเท่าในเวลาไม่กี่เดือน ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ทำให้ VI ที่เน้นการลงทุนในหุ้นวัฏจักรร่ำรวยไปหลายคน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการลงทุนนั้น อะไรที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว คนที่มา “ทำซ้ำ” อาจจะช้าเกินไป

หุ้นกลุ่มที่สองคือ หุ้นเล็กที่ไม่มีใครเหลียวแล บางคนเรียกว่า “หุ้นเงา” นี่คือหุ้นที่มีขนาดค่อนข้างจะเล็กคืออาจจะมี Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทไม่ถึงพันล้านบาท แต่เป็นกิจการที่มีผลประกอบการที่กำลังดีขึ้นอย่างมากในระยะอาจจะสองสามปี ข้างหน้า และบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำอยู่ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ หุ้นเหล่านี้ที่จะวิ่งพรวดได้นั้นมักจะต้องมี “สปอนเซอร์” หรือถ้าจะใช้ภาษาการแข่งม้าก็คือ จะต้องมี “จ๊อกกี้” ที่จะ “กระตุ้น” ให้หุ้นวิ่งไปได้มากๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมักจะต้องรวมถึงเจ้าของบริษัทที่จะต้องออกมา “เชียร์” หุ้นสม่ำเสมอ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นเงาแบบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากผลประกอบการแล้ว จะต้องดูว่าในที่สุดจะมีใครเป็น “คนนำ” ในการขับเคลื่อนหุ้น

หุ้นกลุ่มที่สามก็คือ หุ้น “นางฟ้าตกสวรรค์” นี่คือหุ้นที่เคยเป็น “นางฟ้า” ของนักลงทุน เป็นหุ้นที่เคยร้อนแรง ราคาปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาอันสั้นและเหตุผลที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก นั้นเป็นเพราะบริษัทกำลังมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นและเติบโตมาก นักลงทุนคาดหวังบริษัทไว้สูงมากและให้ราคาหุ้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผลการดำเนินงานกลับไม่เป็นไปตามที่คาดด้วยเหตุผลต่างๆ นานา สร้างความผิดหวังและทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นทิ้งอย่าง “บ้าคลั่ง” เช่นเดียวกับในตอนที่เข้าซื้อหุ้น ผลก็คือ ราคาหุ้นตกต่ำมาติดดิน ประเด็นสำคัญในการซื้อหุ้นนางฟ้าตกสวรรค์ก็คือ เราจะต้องเห็นว่าบริษัทจะกลับมาเป็น “นางฟ้า” มีผลงานโดดเด่นได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิมและราคาหุ้นนั้นต่ำมาก เราไม่ต้องการซื้อหุ้นเพียงเพราะราคามันตกลงมามาก เราไม่ต้องการนางฟ้าที่ “ตกนรก” ไปแล้ว

กลุ่มที่สี่ หุ้นฟื้นจากภาวะล้มละลายหรือปัญหารุนแรงทางการเงินและธุรกิจ และจะต้องมีมูลค่าหุ้นต่ำมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินหรือขนาดของกิจการ การที่จะทำเงินก้อนโตจากหุ้นกลุ่มนี้นั้น จะต้องมั่นใจว่าเจ้าหนี้พร้อมที่จะยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้และบริษัทมีคน สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมเพื่อกอบกู้บริษัท การเล่นหุ้นในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนถ้าคาดการณ์ได้ถูกต้องก็สูงมากเช่นเดียวกัน

กลุ่มที่ห้า หุ้นบลูชิพที่มีราคาตกต่ำลงมากเนื่องจากปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นครั้ง เดียว หรือตกต่ำลงเพราะปัญหาของภาพรวมเศรษฐกิจการเงิน นี่คือหุ้นของกิจการที่ใหญ่โต มั่นคง เก่าแก่ ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องยาวนาน มีฐานะทางการตลาดที่มั่นคงมาช้านานและแทบไม่มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาแข่ง ขัน หุ้นเหล่านี้มักจะโตช้าๆ แต่จ่ายปันผลในอัตราที่น่าพอใจ ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่หุ้นตกลงมาอย่างแรงเช่น อาจจะ 30-40% จากราคาปกติ การลงทุนในหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนมากด้วยความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์แบบนี้ก็มีไม่มากนัก

กลุ่มที่หก หุ้นซูเปอร์สต็อก นี่คือการลงทุนในหุ้นที่มีคุณสมบัติ “สุดยอด” ในเกือบทุกด้านในขณะที่จุดอ่อนมีน้อย นั่นก็คือ เป็นกิจการที่เติบโตเร็วและจะเติบโตขึ้นไปอีกมากจากจุดที่เห็น การเติบโตนั้นเป็นการเติบโตที่หาคู่แข่งมาขัดขวางได้ยาก เส้นทางการเติบโตนั้นชัดเจนและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำได้ ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเช่นเดียวกับการตลาดที่มีความได้เปรียบอย่างยั่งยืน หรือมี Durable Competitive Advantage หุ้นซูเปอร์สต็อกนี้ ถ้าเลือกถูกต้องแล้ว ก็สามารถทำเงินก้อนโตได้ยาวนาน แต่ผลตอบแทนจะดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นถ้าสามารถซื้อได้ในช่วงต้นๆ ที่คนยังไม่ได้ตระหนักถึงสถานะของบริษัทหรือซื้อในช่วงที่มันประสบปัญหา บางอย่างทำให้ราคาหุ้นต่ำกว่าปกติ

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงหุ้นบางกลุ่มที่สามารถทำเงินก้อนโตให้กับ VI ได้ อย่างไรก็ตามแต่ละกลุ่มที่กล่าวถึงนั้นก็มี “ดีกรี” การทำเงินมากน้อยต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งก็ยังแบ่งออกเป็นสองด้านคือ ความเสี่ยงที่การวิเคราะห์อาจจะผิดพลาดและความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะตกลงมามาก หรือน้อยถ้าเราวิเคราะห์ผิดหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป ดังนั้น คนที่รักหรือเลือกที่จะเป็น VI ที่ Aggressive จะต้องระมัดระวังและจะต้องประเมินศักยภาพหรือฝีมือของตนเองให้ดีว่าเราจะ เลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มไหน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/nives/20100727/344804/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95.html




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 27 กรกฎาคม 2553 23:42:18 น.
Counter : 596 Pageviews.  

10 วลีทรงพลัง เพื่อคนคิดบวก (จบ)

ข้อเขียนในครั้งที่ ผ่านมา ผมได้นำหนังสือ Ten Powerful Phrases for Positive People ในชื่อภาษาไทย "10 วลีทรงพลังเพื่อคนคิดบวก"

มาถ่ายทอด เพราะเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ ริช เดอโวส ผู้ก่อตั้งธุรกิจขายตรงแอมเวย์ ซึ่งยอมรับว่าการ "คิดบวก" คือ ที่มาของความสำเร็จในธุรกิจขายตรงที่เขาปลุกปั้นมากับมือ รวมถึงช่วยให้ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิต โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในวัย 71 ปี ซึ่งถือว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก

ครั้งที่ผ่านมา ผมนำเสนอวลีที่ทรงพลังนี้ไปแล้ว 5 ข้อ คือคำว่า 1. "ฉันผิดเอง" (I am wrong) 2. "ฉันขอโทษ" (I am sorry) 3. "คุณทำได้" (You can do it) 4. "ฉันเชื่อมั่นในตัวคุณ" (I believe in you) และ 5."ฉันภูมิใจในตัวคุณ" (I am proud of you) แต่ละข้อล้วนสนับสนุนให้เกิดการคิดบวกทั้งสิ้น เหลืออีก 5 ข้อที่เราจะมาพูดกันต่อในฉบับนี้

6. คำว่า "ขอบคุณ" (Thank you) ริช ระบุว่า เป็นคำที่ทุกๆ คนอยากได้ยิน และทุกคนสามารถกล่าวได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง เรากล่าวคำขอบคุณกับผู้ให้บริการ หรือผู้ที่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เรา กล่าวกับผู้ที่ชมเชยเรา ผู้ที่มีน้ำใจ หรือมีเมตตาต่อตัวเรา แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ริช เดอโวส ตั้งข้อสังเกตว่า บ่อยครั้งที่เราใช้เวลานานมากกว่าจะเปล่งคำคำนี้ออกมาสักครั้ง แต่ใช้เวลาเดี๋ยวเดียวในการต่อว่าผู้อื่น บางทีเรามัวแต่นึกถึงและยุ่งอยู่กับตัวเอง จนลืมขอบคุณผู้อื่น

7. "ฉันต้องการคุณ" (I need you) เป็นอีกคำที่มีอานุภาพยิ่งสำหรับคนคิดบวก เพราะบ่งบอกถึงการยอมรับในความสามารถผู้อื่น เป็นคำที่สำคัญมากสำหรับผู้นำ จะเห็นว่าผู้นำหลายๆ คน เมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้นเพียงใดยิ่งมองไม่เห็นความสำคัญของผู้มีตำแหน่งต่ำ กว่า ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่มีทางที่เราจะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้โดยลำพัง เมื่อคุณกล่าวคำคำนี้ออกมา จะเป็นการสร้างบรรยากาศเชิงบวกให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือที่ทำงาน

8. "ฉันวางใจในตัวคุณ" (I trust you) ความสำเร็จที่ได้รับขึ้นอยู่กับเราได้มอบความไว้วางใจให้กับใครสักคน ว่า จะสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมาย และไว้ใจได้ว่าจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ เราจำเป็นต้องไว้วางใจเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว รวมไปถึงชุมชน ในสังคมที่ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ความไว้วางใจเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้นำเช่นกัน เมื่อมีคุณสมบัตินี้ ใครๆ ก็อยากเป็นเหมือนคุณ อยากเป็นเพื่อนคุณ อยากปฏิบัติตามคุณ อยากทำธุรกิจหรือร่วมลงทุนกับคุณริช ระบุไว้ในหนังสือว่า กฎทองของคำคำนี้ คือ จงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับคุณ

9. "ฉันเคารพคุณ" (I respect you) คุณจะได้รับความเคารพกลับมาก็ต่อเมื่อให้ความเคารพผู้อื่น "ฉันเคารพคุณ" จึงเป็นคำพูดที่ทั้ง "ให้" และ "รับ" จากผู้อื่น การเคารพยังเป็นการแสดงออกที่ซ่อนเร้นได้ยาก และสามารถรับรู้ได้โดยสัญชาตญาณ

ริช กล่าวว่า ในช่วงที่เป็นผู้นำองค์กรเขาคิดว่าการเคารพผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความรู้พื้นฐานทางธุรกิจและวิธีการดำเนินองค์กรจะมีค่าน้อยทันที หากคุณไม่เคารพคนที่คุณทำงานด้วย ถ้าพวกเขาไม่เคารพคุณ เท่ากับคุณไม่ใช่คนที่เป็นผู้นำ "เราทุกคนล้วนต้องการเป็นที่เคารพ ถ้าคุณต้องการความเคารพ ผมแนะนำให้คุณเริ่มต้นด้วยการเคารพผู้อื่นก่อน" ริช เดอโวส ระบุเอาไว้

10. "ฉันรักคุณ" (I love You) เป็นคำพูดทรงพลังที่โอบกอดทุกคนไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกต่อคนรัก ครอบครัว หรือหมู่เพื่อนสนิท เป็นคำพูดที่ผู้ฟังรู้สึกอบอุ่นมากกว่า "ฉันวางใจในตัวคุณ" หรือ "ฉันเชื่อมั่นในตัวคุณ" เป็นคำที่ใช้พูดกับคนที่คุณรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ การพูดว่า "ฉันรักคุณ" เป็นย่างก้าวสำคัญสำหรับทุกๆ คน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีคำคำไหนที่ตัวผมใช้มากที่สุด คำว่า "ขอโทษ" เป็นคำที่ใช้ทั้งส่วนตัวและชีวิตประจำวัน แต่ถ้าในการทำงานในแอมเวย์ ประเทศไทย มีทั้ง I trust you ที่แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจในเพื่อนร่วมงาน หรือ I am proud of you ที่บ่งบอกถึงความภูมิใจ และใช้กันบ่อยๆ ในโลกขายตรง

ข้อสังเกตของผม ก็คือ คนไทยมักไม่ค่อยเอ่ยคำว่า I love you เหมือนสังคมตะวันตก ทั้งที่เป็นคำที่มีความหมายล้ำลึกยิ่ง เพราะความรักไม่ได้จำกัดเฉพาะสามีภรรยา คนหนุ่มสาว เพื่อนร่วมงาน ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่เราสามารถแสดงซึ่งความรักได้ ไม่ว่าจะเป็นความรักต่อแผ่นดินเกิด หรือความรักที่มีต่อประเทศชาติ

นี่ถ้าเรารักผืนแผ่นดินเกิด รักประเทศไทยของเรามากกว่านี้ คงไม่ต้องมานั่งเสียใจ ไม่ต้องมาสร้างความปรองดองเหมือนที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ปรีชา ประกอบกิจ
กรรมการผู้ จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคนส่วนใหญ่ยอมรับและถือว่าเป็นบริษัทแรกๆที่รุกเข้ามาบุกเบิกตลาดขายตรง แบบหลายชั้น( MLM)
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/preecha/20100721/344091/10-%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%81-%28%E0%B8%88%E0%B8%9A%29.html




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 21 กรกฎาคม 2553 22:59:24 น.
Counter : 655 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.