In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

สุขนิยมแบบ Epicurus

ใกล้ปีใหม่แล้ว ขอเขียนเรื่องเบาๆ บ้าง เป็นเรื่องเบาๆ แต่ว่าตรงประเด็นกับชีวิตของคนเรามากที่สุด นั่นคือ แนวคิดเรื่องของความสุข

Epicurus เป็นปราชญ์ชาวกรีกโบราณ ผู้ก่อตั้งสำนัก "สุขนิยม" มุมมองเกี่ยวกับคำว่า "ความสุข" ของเขานั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากทีเดียว


Epicurus เชื่อว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตของคนเรานั้นไม่ใช่อะไรอย่างอื่นนอกจากการแสวงหา "ความสุข" อันได้แก่ การทำชีวิตให้มีความสุขมากที่สุดตลอดเวลาที่เราอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ใช่เพื่อชีวิตในโลกหน้า หรือเพื่ออุดมคติอย่างอื่น เพราะ Epicurus เชื่อว่า นามธรรมทุกชนิดล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความสุขและความทุกข์ทั้งสิ้น คนที่บอกว่าตัวเองเกิดมาเพื่อความดีหรือความยุติธรรม แต่วันๆ เอาแต่ปั้นหน้ายักษ์ใส่คนอื่น เพราะยังเป็นคนที่ไม่มีความสุขนั้น Epicurus ถือว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้


อย่างไรก็ตาม แม้ Epicurus จะบอกว่า เป้าหมายชีวิตคือการแสวงหาความสุข แต่เขาก็บอกว่า ความสุขที่แสวงหาต้องเป็นความสุขชนิดที่ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลังเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การดื่มสุราทำให้เรามีความสุขได้ในทันทีที่ดื่ม แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในภายหลัง ดังนั้น คนเราจึงไม่ควรแสวงหาความสุขจากการดื่มสุรา เป็นต้น พูดอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ต้องฉลาดเลือกในการหาความสุขด้วย


สุขนิยมแบบ Epicurus มักถูกนำมาอธิบายแบบผิดๆ แก่คนทั่วไป ว่า เป็นแนวคิดที่สอนให้ทุกคนมุ่งหาความสุขด้านกามารมณ์ คำว่า "Epicure" ในภาษาอังกฤษหมายถึงคนที่อุทิศตัวให้กับการแสวงหาแต่ความสุขในกาม และวิถีชีวิตที่หรูหรา แต่ที่จริงแล้ว Epicurus มองว่า สุขจากกามส่วนใหญ่ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลัง (เช่น กินมากก็อ้วน เป็นต้น) ชีวิตที่มีความสุขมากกว่าจึงได้แก่ ชีวิตที่ต้องพึ่งพาความสุขจากกามน้อยที่สุดต่างหาก Epicurus ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเรียบง่ายมากถึงขั้นสมถะ ซึ่งตรงข้ามกับความหมายของคำว่า Epicure โดยสิ้นเชิง


Epicurus เชื่อว่านอกเหนือจากการทำตัวให้ติดดินแล้ว คนเราควรมุ่งแสวงหาความสุขจาก 3 ด้านของชีวิตเป็นหลัก อันได้แก่ ความสุขจากการมีอิสรภาพ ความสุขจากการมีเพื่อนดี และความสุขจากการมีชีวิตอยู่อย่างคนที่มีความคิดความอ่าน Epicurus มองว่าความสุขทั้งสามอย่างนี้ เป็นความสุขด้านจิตใจ ซึ่งหาได้ง่ายกว่าวัตถุมาก แต่กลับสร้างความสุขให้เราได้มากกว่า และมักไม่ค่อยนำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลังอย่างความสุขทางวัตถุ คนที่ต้องการชีวิตแบบหรูหราแล้ว ทำให้ต้องเครียดตลอดเวลา เพราะทำงานตัวเป็นเกลียวไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาให้ครอบครัว อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่า กำลังหาความสุขตามแนวคิดสุขนิยมอยู่


Epicurus มองว่า ชีวิตในสังคมเมืองอย่างเอเธนส์นั้นยากที่จะมีความสุขตามแนวคิดของเขาได้ เพราะเป็นวิถีชีวิตที่ต้องคอยทำตามความคาดหวังของสังคมทำให้ขาดอิสรภาพ เขาจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ในบ้านของเขาเองมากกว่า และเปิดบ้านและสวนของเขาให้แก่ชาวเอเธนส์ทุกคน ที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายในเมืองให้เข้ามาพักผ่อน เพื่อให้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบกินน้อย ใช้น้อย ได้ผูกมิตร และเสวนาเรื่องปรัชญากับคนอื่น


Epicurus จัดเป็นนักปราชญ์จำพวกสสารนิยม จึงเชื่อว่า เมื่อคนเราตายไปแล้ว จิตก็ตายไปด้วย เราจึงไม่รู้สึกอะไรอีกหลังจากที่ตาย ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงไม่จำเป็นต้องกลัวความตายแต่อย่างใด


ในช่วงที่ Epicurus มีชีวิตอยู่นั้น สำนักสุขนิยมของเขาได้รับความนิยมในวงที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมุมมองของเขาเกี่ยวกับเรื่องศาสนาที่ไม่ค่อยถูกใจคนส่วนใหญ่ บางคนมองว่าเขาเป็นพวกต่อต้านศาสนา แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วหลายร้อยปี แนวคิดของเขาได้ถูกนำมาอ้างถึงโดยนักปรัชญาตะวันตกชั้นนำเป็นจำนวนมากทำให้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และยังกลายเป็นแนวความคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ด้วย


ที่จริงแล้ว Epicurus ไม่ได้ปฏิเสธพระเจ้า เขาเพียงแต่เห็นว่า ถ้าหากเทพเจ้าทั้งหลายมีจริง พวกเขาก็คงสนใจแต่เรื่องของพวกเขาเองเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องมาสนใจมนุษย์ด้วย มนุษย์จึงควรหันมาเน้นการพึ่งพาตนเองจะดีกว่า

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/human-eco/20111228/426686/สุขนิยมแบบ-Epicurus.html




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2554    
Last Update : 28 ธันวาคม 2554 12:54:42 น.
Counter : 584 Pageviews.  

พอร์ตเล็กโตไว

เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า หุ้นตัวเล็ก จะโตเร็วกว่าหุ้นตัวใหญ่ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่ง หรือชีวิตทั้งหลายในโลก

เด็กต้องโตเร็วกว่าผู้ใหญ่ บริษัทเล็กมักโตเร็วกว่าบริษัทใหญ่ ความเสี่ยงของสิ่งที่เล็ก หรือชีวิตที่เล็กสูงกว่าสิ่งที่ใหญ่ หรือชีวิตที่เติบโตขึ้นมาแล้ว ความเสี่ยงที่ว่า คือ หุ้นตัวเล็กหรือชีวิตที่เล็ก อาจง่อยเปลี้ย หรือล้มหายตายจากไปได้ง่ายกว่าหุ้นตัวใหญ่ หรือชีวิตที่โตขึ้นมามากแล้ว ในเรื่องการลงทุน คนที่มีพอร์ต หรือมีเงินลงทุนน้อยนั้น มีทางเลือก หรือมีโอกาสโตเร็วกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ แต่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่ว่า คือ แทนที่พอร์ตจะโตเร็วกลายเป็นพอร์ตขาดทุนเสียหายไปมากมาย คนที่มีพอร์ตเล็กหลายคนอาจจะบอกว่าเขารับได้ เหนือสิ่งอื่นใด เขายังมีรายได้จากแหล่งอื่น ที่จะเข้ามาลงทุนต่อ หรือ "แก้ตัว" ได้ มาดูกันว่า ทำไมพอร์ตเล็กจึงโตไวกว่าพอร์ตใหญ่


ข้อแรก คือ คนที่มีพอร์ตเล็ก ซึ่งผมคิดว่าเงินลงทุนไม่ควรเกิน 10 ล้านบาท ซื้อหุ้นได้เกือบทุกตัวในตลาดหุ้น โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขายนัก หมายความว่า คนที่มีพอร์ตเล็ก มีหุ้นให้เลือกลงทุนได้มากกว่าคนพอร์ตใหญ่ ทำให้หาหุ้นที่อาจจะตัวเล็ก แต่มีโอกาสเติบโตสูงกว่าปกติ แน่นอน คนที่พอร์ตใหญ่ก็ซื้อหุ้นตัวเล็กได้ แต่เขาอาจซื้อได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต แม้หุ้นตัวนั้นจะทำกำไรให้เขาได้เท่าตัวหรือหลายเท่าตัว แต่เม็ดเงินที่ได้ ไม่ทำให้ผลตอบแทนพอร์ตโตขึ้นเท่าไรนัก


ตัวอย่างเช่น นายเล็กมีพอร์ต 1 ล้านบาท ซื้อหุ้น A ซึ่งเป็นหุ้นตัวเล็ก 2 แสนบาท หุ้นขึ้นไป 2 เท่าภายในเวลาเพียง 1 ปี เฉพาะหุ้นนี้เพียงตัวเดียวก็ทำกำไรให้คุณเล็กแล้ว 4 แสนบาท หรือ 40% ของพอร์ต ในเวลาเดียวกัน ถ้านายใหญ่ซื้อหุ้น A เช่นเดียวกันด้วยเงิน 1 ล้านบาท กำไรของคุณใหญ่ 2 ล้านบาทภายในเวลาหนึ่งปี พอร์ตของคุณใหญ่เท่ากับ 100 ล้านบาท ผลตอบแทนที่คุณใหญ่ได้จากการลงทุนหุ้น A คือ 2% ของพอร์ต ซึ่งมีผลน้อยมากต่อผลตอบแทนรวมของเขา


ข้อสอง คนที่มีพอร์ตเล็กสามารถ FOCUS หรือลงทุนในหุ้นน้อยตัวได้มากกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ หลายคนลงทุนหุ้นตัวเดียว หรือสองตัวช่วงเวลาหนึ่ง หุ้นตัวนั้นขึ้นไปสูงมาก เช่น 3-4 เท่าในเวลาหนึ่งปี ผลตอบแทนของเขาในปีนั้น จะเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงกันข้าม คนพอร์ตใหญ่มักมีหุ้นมากตัวกว่ามาก หุ้นแต่ละตัวอาจมีมูลค่าเพียง 5-10% ของพอร์ต แม้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะขึ้นไป 3-4 เท่า แต่หุ้นตัวอื่นๆ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นนัก บางตัวลดลง ด้วยเหตุนั้น ผลตอบแทนรวมของพอร์ตอาจแค่ 30-40% ซึ่งถือว่ามาก แต่ยังห่างไกลจากคนที่มีพอร์ตเล็ก


ข้อสาม คนพอร์ตเล็กหลายคนที่อยากรวยเร็วจากหุ้น สามารถใช้มาร์จิน หรือกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเพื่อซื้อหุ้น ในยามที่เขาซื้อหุ้นได้ "ถูกตัว" คือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ผลตอบแทนจะ "ทวีคูณ" จากร้อยเป็นสองร้อย จากสองร้อยเป็น 400% ในเวลาหนึ่งปี ขณะเดียวกัน คนที่มีพอร์ตใหญ่ ส่วนใหญ่คิดว่าชีวิตตนเองอยู่ในสภาพที่ดีมากอยู่แล้ว เขาไม่อยากเสียมันไป แม้การใช้มาร์จินอาจทำกำไรให้เขามากขึ้น แต่ถ้าพลาด เงินเขาจะสูญไปมาก และนั่นจะเป็นสิ่งที่ "เจ็บปวด" มากกว่า "ความสุข" ที่จะได้จากผลตอบแทนที่จะได้มากขึ้น ชั่งน้ำหนักแล้ว เขาจะใช้มาร์จินน้อยกว่า หรือไม่ใช้มาร์จินเลย


ข้อสี่ คนพอร์ตเล็กที่อยากรวยเร็ว มักเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่าคนพอร์ตใหญ่ เขาสามารถเข้าหรือออกจากหุ้นได้ง่าย เพราะปริมาณหุ้นที่เขาซื้อขายน้อยมาก เมื่อเทียบกับการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน แนวทางของเขาอาจจะ ซื้อหุ้นช่วงต้นๆ ก่อนหุ้นจะมี “Story” หรือเรื่องราวดีๆ แล้วขายเมื่อหุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วและสูง เพราะการเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นของนักเล่นหุ้น เมื่อหุ้นนั้นเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน เขามักจะไม่รอให้ผลประกอบการออกมา เพื่อยืนยันว่าบริษัทนั้นมีพื้นฐานที่ดีจริงๆ หรือไม่ ด้วยวิธีนี้ การทำกำไรจากหุ้นของเขา จะทำได้หลายรอบกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ที่ไม่สามารถ "หมุนหุ้น" ได้หลายๆ รอบในหนึ่งปี จริงอยู่ คนที่มีพอร์ตใหญ่ก็ซื้อๆ ขายๆ เข้าออกหุ้นได้หลายๆ รอบ แต่นั่นก็ทำได้เฉพาะหุ้นขนาดใหญ่มาก เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน พลังงาน สื่อสาร ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะใหญ่เกินกว่าจะมี Story ดีๆ ที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นได้มากนัก


นักลงทุนที่พอร์ตยังเล็กบางคน ค่าที่ต้องการโตรวดเร็วสุดที่จะทำได้ เขาจึงใช้เทคนิค หรือแนวทางทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นคือ ซื้อหุ้นตัวเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำ แต่ก็ไม่น้อยเกินไปสำหรับเขา เขาลงทุนถือหุ้นเพียงตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดที่มี เขาเล่นหุ้นที่จะมีสตอรี่ หรือเรื่องราวดีๆ เช่น อาจเป็นหุ้นที่กำลัง "ฟื้นตัว" หรือบริษัทกำลังมีรูปแบบหรือ "โมเดลการทำธุรกิจใหม่" หรือ วัฏจักรธุรกิจกำลังเป็น "ขาขึ้น" อย่างแรง ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อซื้อแล้วและหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น อาจด้วยเหตุผลที่คาด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาเชื่อว่าหุ้นกำลังจะ "วิ่ง" เขาจะใช้มาร์จินเต็มวงเงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม และถ้าหากว่าหุ้นขึ้นไปอีก จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม รวมถึงผลจากการที่มีเม็ดเงินจากเขาเองเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่ม เขาก็จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มอีกโดยใช้มาร์จินที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่เพิ่ม กระบวนการ "อัดมาร์จิน" แบบนี้ บางครั้งทำให้ราคาหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก วิ่งขึ้นไปแรงมาก หลายๆ เท่าตัวในเวลาอันสั้น เพราะบางครั้ง การ"อัดมาร์จิน" ไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีนักลงทุนรายอื่นเข้ามาเล่นด้วย


ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการมอง หรือวิเคราะห์ด้านหนึ่งที่เป็นด้านที่สดใส เป็นด้านที่ทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น และเป็นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดๆ และทำให้นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนไม่น้อย ทำผลตอบแทนมหาศาล จนกลายเป็นนักลงทุนพอร์ตกลางและพอร์ตใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี ถ้าหันมามองอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนที่มากกว่ามาก ที่ทำการลงทุนแบบเดียวกัน นั่นคือ ลงทุนในหุ้นตัวเล็ก ถือหุ้นเพียงตัวเดียวหรือสองตัวในพอร์ต ใช้มาร์จินซื้อหุ้นเต็มอัตรา และเล่นหุ้นที่มี "สตอรี่" แบบเดียวกัน เพียงแต่กรณีหลังนี้ เขาเข้ามาซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงสุดกู่แล้ว และต้องขายช่วงที่หุ้นตกต่ำลงมา ผลลัพธ์คือ เขาขาดทุนย่อยยับ กลายเป็นนักลงทุนที่ "พอร์ตเล็กเหมือนเดิม" ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี เหตุผลที่เขายังมีพอร์ตลงทุนอยู่ได้คือ เขายังมีแหล่งเงินจากที่อื่นที่จะมาลงทุนได้เสมอตราบที่ยังมีความหวังว่าจะรวยจากตลาดหุ้นได้


คนพอร์ตเล็ก ไม่จำเป็นต้องเดินทางในแนวที่ผมพูดถึง และผมก็ไม่แนะนำให้เดินสาย "รวยเร็ว" แต่มีความเสี่ยงสูงมากอย่างที่กล่าว แน่นอน คนที่สำเร็จและเป็น Role Model ของนักลงทุนพอร์ตเล็กที่รวยเร็วมาก ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่อยากทำตาม หลายคนคิดว่า "ไม่มีอะไรจะเสีย" แต่ผมคิดว่า โอกาสชนะก็น้อยมาก ยังมีแนวทางการลงทุนแบบอื่น ที่อาจให้ผลไม่ต่างกันนักในระยะยาวแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/nives/20111227/426504/พอร์ตเล็กโตไว.html




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2554    
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 14:04:55 น.
Counter : 594 Pageviews.  

Premiums

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมหุ้นบางกลุ่ม หรือบางตัว จึงมีราคาสูงหรือแพงกว่าหุ้นตัวอื่น และดูเหมือนว่าจะแพงกว่า "พื้นฐาน" ที่ควรจะเป็น


ผมคงไม่ตอบคำถามนี้ เพราะเป็นเรื่องยาว และบางทีผมอาจรู้ไม่จริง แต่สิ่งที่ผมอยากพูดถึง ก็คือ หุ้นตัวไหน หรือประเภทไหนที่มีคุณสมบัติแบบนั้น นั่นคือ หุ้นแบบไหนที่มักมีราคาหุ้น "สูงกว่าปกติ" วัดจากค่า PE ค่า PB หรือมูลค่าอื่นๆ ซึ่งส่วนที่สูงเกินจากปกตินี้ ในทางการเงินเรียกว่า "Premium"


Premium ตัวแรกที่จะพูดถึง เพราะเป็น Premium ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา คือ สิ่งที่ผมเรียกว่า "Super Stock Premium" นี่คือ "มูลค่าส่วนเกิน" ที่ตลาดให้กับหุ้นที่เป็น Super Stock หรือเป็นหุ้นของกิจการที่มีคุณภาพ "ดีสุดยอด" ซึ่งหมายถึงกิจการที่มีคุณสมบัติหลายๆ อย่าง เช่น เป็นกิจการขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก มีอำนาจตลาดสูง เพราะลูกค้าไม่เปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งได้ง่าย มียี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง สินค้าไม่ถูกควบคุมด้วยราคา หรือกฎเกณฑ์อื่นๆ มีกำไร หรือมาร์จินจากยอดขายสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน การขายสินค้าหรือบริการเพิ่มไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงลิ่ว ธุรกิจยังเติบโตดี หรือเป็นกิจการแห่งอนาคต


กิจการที่นักลงทุน "ยอมรับ" แล้วว่าเป็นหุ้น Super Stock แทบทั้งหมด จะมี Premium สูง นั่นคือ ราคาหุ้นจะสูงจนทำให้ค่า PE และค่า PB สูงมากจนบางครั้งนักลงทุนที่เป็น VI สไตล์ เบน เกรแฮม ซึ่งเน้นซื้อหุ้นราคาถูก "รับไม่ได้" เพราะเมื่อคำนวณหา "มูลค่าพื้นฐาน" ของหุ้นที่เป็นตัวเลขแล้ว พบว่าดูอย่างไรก็ "Over Value" อยู่ดี


Premium ของซูเปอร์สต็อก ก็ยังอยู่ยาวนานไม่หายไปง่ายๆ ไม่ว่าในหุ้นไทยหรือต่างประเทศ ดังนั้น คนที่วิเคราะห์หามูลค่าที่เหมาะสมของซูเปอร์สต็อก ต้องรู้ว่ามี Premium ส่วนนี้อยู่


Premium ตัวต่อไป โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ผมคงยกให้กับ "Speculation Premium" นี่คือ ราคาหุ้น "ส่วนที่เกินพื้นฐาน" ที่เกิดขึ้น เพราะหุ้นตัวนั้นมี "การเก็งกำไร" สูงกว่าปกติ เหตุผลที่ตลาดให้ราคาหุ้นเก็งกำไรสูงกว่าปกติ เพราะนักเล่นหุ้นจำนวนมากในตลาดหุ้นไทย ชอบเล่นหุ้นที่มีราคาหวือหวาขึ้นลงเร็วมากกว่าหุ้นที่ค่อยๆ เติบโตเรื่อยๆ พวกเขายินดีที่จะจ่าย "Premium" ซึ่งคล้ายๆ กับ "ค่าต๋ง" ในการเล่นการพนันให้กับนายบ่อนเวลาเล่นการพนัน Premium ที่พวกเขาจ่ายคล้ายๆ กับ "ค่าธรรมเนียม" ในการได้เล่นหุ้นที่ขึ้นลงเร็ว และมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมหาศาล ที่ทำให้เขาเข้าหรือออกได้ตลอดเวลา รวมทั้งใช้มาร์จินซื้อขายหุ้นได้เต็มที่ Speculation Premium มักอยู่ไม่ถาวร เมื่อการเก็งกำไรลดลง ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงมาใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาด Speculation Premium ของหุ้นก็อาจจะหายไปได้


Premium ตัวต่อไป คือ “Institution Premium” นี่คือ หุ้นมีราคาเกินพื้นฐาน เพราะการที่หุ้นตัวนั้น แต่เดิมไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบัน กลายเป็นหุ้นที่สถาบันการสนใจซื้อหุ้นลงทุน ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น บริษัทได้รับการจัดอันดับให้เข้าไปอยู่ในดัชนีเช่น MSCI SET50 SET100 หรือกิจการมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการควบรวม หรือขยายตัวรวดเร็วจนเข้าเกณฑ์ที่สถาบันลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศสนใจลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท ผลกระทบจากการนี้ จึงทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปแรงโดยเฉพาะในครั้งแรก


Premium อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ "Owner Premium" หรือราคาหุ้นที่สูงเกินจากพื้นฐานปกติ เพราะ "มีคนยอมจ่ายเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ" พูดแบบนี้อาจทำให้งง เพราะหุ้นทุกตัวมีผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว แต่ความหมายของผม คือ หุ้นนั้นเดิมไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่พอที่จะควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จ แล้วอยู่ๆ ก็มีคนอื่นเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมาก เพื่อให้ได้สิทธิควบคุมบริษัทแทนผู้บริหารเดิม คนที่เข้ามาเพื่อที่จะเทคโอเวอร์บริษัทนั้น เขายอมจ่ายแพงกว่าปกติ เพราะคิดว่าเขาสามารถปรับปรุงพื้นฐานของบริษัทให้ดีขึ้นได้ และทำให้คุ้มค่าที่จะจ่าย หรือบางคนอาจคิดว่าการเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัท ทำให้เขาได้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นการส่วนตัว เช่น "เล่นหุ้น" ตัวนั้นให้ได้กำไร หรือ "กินเงินเดือน" หรือรับประโยชน์อย่างอื่นในบริษัทในฐานะผู้บริหาร ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเทคโอเวอร์บริษัทนั้น ในฐานะคนนอกที่เป็นนักลงทุน ต้องระวังว่า Premium ส่วนนี้อาจหายไปได้ง่ายๆ เมื่อการเทคโอเวอร์จบลง


Premium ตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ "Celebrity Premium" นี่เป็นคำที่ผมเรียกเอง ซึ่งอาจไม่ตรงนัก แต่ความหมายของผมคือ หุ้นมีราคาสูงเกินจากพื้นฐาน เพราะหุ้นตัวนั้นถูกซื้อโดย "เซียน" ที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นเชื่อถือมาก ทำให้นักเล่นหุ้น หรือนักลงทุนคนอื่นแห่เข้าซื้อตาม ผลคือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่มีข่าวว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ราคาหุ้นก็มักวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว และผมเชื่อว่าหลายครั้งราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐาน ส่วนตัวอย่างที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ในอดีตช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กกว่านี้และเรามีแต่ "นักเล่นหุ้น" ถ้ามีข่าวว่า "เสี่ย" คนนั้นคนนี้เข้าไปเล่นหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้น จะวิ่งไปแรงและเร็วมาก ถ้าเป็นช่วงที่ Value Investment กลายเป็น "กระแสหลัก" ถ้ามีข่าวว่ามี "เซียน VI" เข้าไปเล่นกันมาก หุ้นตัวก็วิ่งไปแรงเกินกว่าพื้นฐานได้เหมือนกัน


การหากำไรจาก Premium ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ไปซื้อหุ้นที่มี Premium สูงลิ่วอยู่แล้ว ตรงกันข้าม Premium บางประเภท เมื่อเวลาผ่านไปกลับลดน้อยถอยลง แทนที่จะกำไรอาจจะขาดทุนได้ วิธีทำกำไรจาก Premium เป็นกอบเป็นกำ คือ การมองหาหุ้นที่มีศักยภาพสูงที่จะได้รับ Premium ในอนาคต เพราะหุ้น หรือบริษัทกำลังมีพัฒนาการ จะนำไปสู่การเป็นหุ้นที่มี Premium เช่น บริษัทมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดในที่สุดบริษัทกลายเป็น Super Stock หรือในไม่ช้าบริษัทก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุน หรือบริษัทจะเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ที่จะเกิดขึ้น การซื้อหุ้นโดยมุ่งเน้นแต่ทำกำไรจาก Premium ที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลัก เป็นเรื่องเสี่ยง เพราะ Premium อาจไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย การลงทุนจึงต้องเน้นเรื่องพื้นฐานกิจการเป็นหลัก โดย Premium ควรเป็นผลพลอยได้ ซึ่ง บางครั้งให้ผลตอบแทนยิ่งไปกว่าพื้นฐานหลัก

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20111220/425249/Premiums.html




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2554    
Last Update : 21 ธันวาคม 2554 13:38:05 น.
Counter : 450 Pageviews.  

เศรษฐศาสตร์ของเมือง

ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนค่าเดินทางและขนส่ง คนสมัยโบราณต้องตั้งรกรากอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบเอาไว้ก่อนเพื่อความประหยัด วัตถุดิบที่สำคัญที่สุด

ในการใช้ชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณ ก็คือ น้ำ ด้วยเหตุนี้เมืองทั้งหลายทั่วโลกจึงมักก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำ


เมื่อมองเข้าไปภายในเมือง จุดที่ไปถึงจุดอื่นๆ ในเมืองได้รวดเร็วและสั้นที่สุด ก็คือ ใจกลางเมือง ดังนั้น คนแรกๆ ที่ตั้งรกรากอยู่ในเมืองย่อมเลือกที่จะตั้งรกรากอยู่บริเวณใจกลางเมืองก่อน เพราะเป็นจุดที่ทำให้ประหยัดค่าเดินทางได้มากที่สุด แต่เนื่องมาจากข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ใจกลางเมืองก็แออัดขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างบ้านเพิ่มเติมไม่ได้อีก คนที่มาตั้งรกรากหลังๆ จึงจำเป็นต้องตั้งรกรากในพื้นที่ซึ่งห่างไกลออกไปจากจุดศูนย์กลางของเมืองมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เมืองต้องขยายตัวออกไป


สำหรับทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ง่าย (mobility สูง) ตัวอย่างเช่น เงินทุน หรือเทคโนโลยี ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนของเมือง คุณก็สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านั้นได้โดยมีค่าขนส่งที่แทบไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านี้จึงได้รับผลตอบแทนไม่ต่างกันด้วยไม่ว่าผู้ใช้ทรัพยากรนั้นจะถูกใช้ ณ ที่ใดในเมือง


แต่ตรงข้ามกับทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ยาก ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ ที่ดิน และแรงงาน (คนงานต้องมีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่งถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ จึงไม่สามารถวิ่งทำงานที่ไหนก็ได้ในเมือง แต่ต้องทำงานใกล้บ้านไว้ก่อนเพื่อลดค่าเดินทาง) ผู้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้จึงประหยัดค่าขนส่งได้มากกว่าถ้าหากทรัพยากรเหล่านี้อยู่ใจกลางเมืองซึ่งมีค่าขนส่งต่ำ เพราะฉะนั้น เจ้าของทรัพยากรเหล่านั้นที่อยู่ในเมืองจึงต้องได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ทั้งราคาที่ดินและค่าแรงบริเวณใจกลางเมืองจึงต้องสูงกว่าชานเมือง (อันหลังนี้หมายความว่า คนที่มีบ้านอยู่ใจกลางเมืองต้องเป็นคนที่ทำงานที่ได้ค่าตัวสูงๆ) และการที่เราสร้างบ้านให้สูงขึ้นไปในอากาศมากๆ ที่บริเวณใจกลางเมืองก็เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะใช้ทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ยากเหล่านี้ให้คุ้มค่ามากขึ้น


และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ด้วย รูปแบบการใช้งานของที่ดินบริเวณใจกลางเมืองกับชานเมืองจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย ที่ดินใจกลางเมืองมักถูกใช้ทำกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงแต่ใช้พื้นที่ไม่มาก เช่น สำนักงานของคนที่ทำงานด้วยความคิดหรือด้วยทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ง่าย เช่น เงิน ความรู้ หรือไอเดีย เป็นหลัก ในขณะที่พื้นที่ชานเมืองจะเน้นใช้งานที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มากแต่กลับต้องใช้พื้นที่เยอะๆ เช่น โรงงานผลิตสินค้าราคาถูก คลังสินค้า นาข้าว เป็นต้น


เมื่อใดก็ตาม ที่ส่วนต่างราคาของที่ดินและคนระหว่างในเมืองกับนอกเมืองสูงกว่าค่าเดินทางที่สามารถประหยัดได้ ผู้ประกอบการก็จะตัดสินใจย้ายสถานประกอบการของตัวเองออกไปนอกเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไร เราจึงมักเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้งานพื้นที่ของเมืองไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของเมืองด้วย


ลองสังเกตดูเมืองในชีวิตจริงเช่น กรุงเทพมหานคร ในจุดที่เมืองเริ่มขยายตัวออกไป เรามักจะพบเห็นธุรกิจเต็นท์รถเป็นอันดับแรกๆ เพราะธุรกิจพวกนี้ใจหนึ่งก็อยากอยู่ในเมืองเพราะอยู่ใกล้ลูกค้า แต่เพราะที่ดินมีราคาแพงและเต็นท์รถเป็นธุรกิจที่ใช้พื้นที่เยอะมาก ธุรกิจเหล่านี้จึงมักเป็นธุรกิจแรกๆ ที่บุกเบิกไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่เมืองเพิ่งจะเริ่มขยายตัวออกไปก่อนเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ยังมีราคาไม่แพงเหล่านั้น


และถ้าหากชานเมืองบริเวณนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด เราจะเริ่มเห็นตึกแถวขึ้นมาแทนที่เต็นท์รถเป็นอันดับต่อไป นั่นแสดงว่า ชุมชนเริ่มขยายตัวไปถึงพื้นที่นั้นแล้ว และที่ดินก็จะขยับราคาขึ้นไปอีก


ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่เราอาจมองเห็นได้ในกรุงเทพมหานคร คือ การที่ปั๊มน้ำมันเริ่มหายไปจากกรุงเทพฯ ชั้นในมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราเดาได้เลยว่า ธุรกิจนี้เริ่มทำกำไรได้น้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงหลังๆ และเนื่องจากพวกมันเป็นธุรกิจที่ต้องการพื้นที่ในการประกอบการค่อนข้างมาก พวกมันจึงต้องพากันอพยพออกไปนอกเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ยังได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนในธุรกิจนี้ต่อไปอยู่


ถ้าเราเอาเศรษฐศาสตร์ของเมือง (Spatial Economics) มาจับ เราอาจคาดการณ์ได้ด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าทั้งหลายที่กำลังขยายเส้นทางออกไปถึงนอกเมืองกรุงเทพฯ ทุกทิศทุกทาง น่าจะทำให้ราคาที่ดินในแถบชานเมืองในช่วงต่อไปนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าใจกลางเมืองยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้ gap ของราคาที่ดินระหว่างชานเมืองกับใจกลางเมืองในกรุงเทพฯ แคบลง เพื่อสะท้อนการเดินทางที่สะดวกขึ้นนั่นเอง (ทั้งนี้ทั้งนั้น สมมติว่าปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อราคาที่ดิน เช่น กฎหมายผังเมือง ฯลฯ ไม่เปลี่ยนแปลงด้วยนะครับ)


การที่ต้นทุนค่าขนส่งในแต่ละจุดของเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (เช่น มีการตัดถนนเส้นใหม่ ทำให้ค่าขนส่งในบริเวณนั้นลดลง) นี้ ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ได้ตลอดเวลา อาจกล่าวได้เลยว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ในโลกนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี) เกิดขึ้นได้จากการหาประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าขนส่งมากกว่าสาเหตุอื่นๆ ใด

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0"
//bit.ly/vPLr1F




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2554    
Last Update : 14 ธันวาคม 2554 20:21:19 น.
Counter : 535 Pageviews.  

สภาพคล่องของหุ้น

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุนที่ดูเหมือนว่า Value Investor "พันธุ์แท้" จำนวนมากอาจจะไม่พูดถึงเลย ก็คือ สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น

เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะนี่คือปัจจัยที่ “ไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน” ของกิจการ หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI มีน้อยมากที่จะกล่าวถึง สภาพคล่องของหุ้น คนที่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้นมากที่สุดน่าจะเป็น นักวิเคราะห์ทางเทคนิคที่มองว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันนั้น ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญสุดยอดที่จะบอกว่าราคาหุ้นจะไปทางไหนในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ก็เป็นหุ้นที่นักเทคนิคหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือวิเคราะห์ ว่าที่จริงนักเทคนิคนั้นมองว่าหุ้นประเภทนี้ใช้หลักการทางเทคนิคไม่ได้ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในฐานะของ VI ความเข้าใจในเรื่องของสภาพคล่องน่าจะมีประโยชน์พอสมควร และต่อไปนี้ เป็นมุมมองของผมต่อเรื่องสภาพคล่องของหุ้น


ประเด็นแรก ก็คือ สภาพคล่องของหุ้นนั้นมองได้เป็นสองมิติ นั่นคือ มิติแรก มองจากนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นหรือพูดง่ายๆ มองจากตัวเราเองว่าเรามีเงินลงทุนเท่าไรและจะซื้อหุ้นแต่ละตัวในวงเงินเท่าไร ตัวอย่างเช่น พอร์ตของเรามีอยู่ 10 ล้านบาท และเราจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 2-3 ล้านบาท แบบนี้ เราก็จะต้องดูว่าหุ้นที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณเท่าไร ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายประมาณวันละเพียงหนึ่งแสนบาท นั่นก็แปลว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาในการขายหุ้นให้หมดถึง 20-30 วัน ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้น 2-3 ล้านบาท และสมมติว่าไม่มีคนอื่นขายเลยนอกจากเรา ในสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องถือว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำเกินไป การซื้อหุ้นอาจจะอันตรายถ้าเราคาดการณ์ผิดและจำเป็นต้องขายทิ้ง เพราะในการขายหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวัน จะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การซื้อหุ้นแบบนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่ามากและเราพร้อมที่จะถือมันไว้ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็ต้องถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป นอกจากนั้น ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ มันควรจะมีปันผลให้เราอย่างน้อย 4-5% ต่อปีโดยไม่ลดลงและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


มิติที่สองเกี่ยวกับสภาพคล่อง ก็คือ ปริมาณการซื้อขายของหุ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท นี่เป็นการวัดอย่างคร่าวๆ ว่าคนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น ซื้อแล้วถือไว้นานแค่ไหนโดยเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทหรือเรียกว่า Market Cap . เท่ากับ 1,000 ล้านบาท และหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท นี่ก็แปลว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นของบริษัทไว้นั้น เขาจะทยอยขายหุ้นและใช้เวลาขายหมดภายใน 100 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่าๆ หรือพูดอีกแบบหนึ่ง ก็คือ คนที่ลงทุนในบริษัทนี้ โดยเฉลี่ยแล้วลงทุนเพียง 3 เดือนเศษๆ ก็ขายทิ้งแล้ว ไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นที่ผลประกอบการและรอกินปันผลที่บริษัทอาจจะจ่ายปีละครั้ง


คำถามที่อาจจะตามมา ก็คือ คนที่ลงทุนถือหุ้นนั้น ต้องถือไว้นานเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว คำตอบนั้น ก็คือ มันเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนบอกว่า 3 เดือนถือว่ายาว แต่บางคนบอกว่า 3 ปี ถึงจะเรียกว่ายาว อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดโดยเปรียบเทียบได้ เพราะเรามีค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการถือหุ้นของบริษัททุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดในช่วงนี้ คือ 8.5 ล้านล้านบาท ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะใช้เวลาขายหุ้นหมดเท่ากับประมาณ 340 วันทำการ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ปีกับ 4 เดือน ดังนั้น เราก็สามารถพูดได้ว่า หุ้นตัวไหนที่มีการซื้อขายหุ้นที่ทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปี 4 เดือน ก็ถือว่าหุ้นตัวนั้นมีผู้ถือที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นกว่าค่าเฉลี่ย และหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยและทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยเกิน 1 ปี 4 เดือน ถือว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนนานกว่าค่าเฉลี่ย


ประเด็นของการถือหุ้นสั้นหรือถือหุ้นยาวของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ก็คือ มันเป็นการบอกถึง "ดีกรี" หรืออัตราในการ "เก็งกำไร" ของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว นั่นก็คือ หุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก วัดจากปริมาณการซื้อขายต่อวันเทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท เช่น หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายต่อวันเท่ากับ 100 ล้านบาท ในขณะที่ Market Cap. เท่ากับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนเพียง 10 วันโดยเฉลี่ยก็ขายทิ้งแล้ว แบบนี้ก็ถือว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง ตรงกันข้าม หุ้นบางตัวนั้น ผู้ถือหุ้นถือไว้โดยเฉลี่ยถึง 3 ปี แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีการเก็งกำไรหรืออาจจะบอกว่าเป็นหุ้นที่คนไม่สนใจที่จะซื้อขายเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ


เป็นเรื่องยากที่จะขีดเส้นว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น "เก็งกำไร" และหุ้นตัวไหนไม่มีอาการอย่างนั้น ส่วนตัวผมเอง กำหนดว่า หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายเป็น "หุ้นเก็งกำไร" ยิ่งมากกว่านั้นก็ยิ่งมีการเก็งกำไรสูงเท่านั้น และยิ่งหุ้นมีการเก็งกำไรสูงเท่าไร ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น ดังนั้น โอกาสที่หุ้นเก็งกำไรสูงจะเป็นหุ้น Value จึงมีน้อย ผมจึงมักหลีกเลี่ยงและถ้ามีก็จะขายทิ้ง หุ้นที่เข้าข่ายเก็งกำไรสูงลิ่วกลุ่มหนึ่ง ก็คือ หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายหุ้นใหม่ในตลาดหลังจากการทำ IPO ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงมาก ดังนั้น ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน และถ้าผมได้จองซื้อหุ้นไว้ผมก็มักจะขายทิ้งค่อนข้างเร็ว ถ้าผมสนใจหุ้นเหล่านี้ ผมจะรอจนปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลงจนต่ำกว่า 1% ต่อวันซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าหุ้นไม่มีการเก็งกำไรมากจนเกินไป


กลับมาที่สภาพคล่องของหุ้นเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตหรือการลงทุนของเรา ในอดีตที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ๆ นั้น ปัญหามีน้อยมาก ผมสามารถลงทุนได้ในหุ้นเกือบทุกตัว เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังน้อยมาก


อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำมากก็ทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากผมไม่สามารถลงทุนเป็นเม็ดเงินมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายต่อวันของหุ้นได้ การลงทุนด้วยเงินที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมนั้น ทำให้เราจะต้องหาหุ้นลงทุนจำนวนมากตัวซึ่งจะทำให้พอร์ตของเราไม่ Focus หรือไม่มีจุดเน้นกลายเป็น "เบี้ยหัวแตก" และทำให้ผลตอบแทนของเราต่ำลง เนื่องจากเราจะไม่เอาใจใส่กับมันเท่าที่ควร ดังนั้น ในระยะหลังๆ ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงถ้าหุ้นมีสภาพคล่องน้อยเกินไป และนี่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในหุ้นตัวเล็กๆ ทั้งหลายซึ่งบางครั้งเป็นหุ้นที่ดีและเป็นหุ้น Value หุ้นเหล่านี้บางตัวอาจจะให้ผลตอบแทนได้เป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาอันสั้นได้ และนั่นก็เป็นข้อได้เปรียบของ VI ที่ยังมีพอร์ตไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันการลงทุนเช่นกองทุนรวมที่มีข้อจำกัดมากกว่า และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พอร์ตเล็กนั้นโตวัยกว่าพอร์ตใหญ่เมื่อองค์ประกอบอย่างอื่นเช่นความสามารถในการลงทุนและการกล้ารับความเสี่ยงของนักลงทุนเท่ากัน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
//www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20111213/423919/สภาพคล่องของหุ้น.html




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2554    
Last Update : 13 ธันวาคม 2554 13:15:29 น.
Counter : 496 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.