To Each His Cinema เพราะรักใน‘ภาพยนตร์’




To Each His Cinema
เพราะรักใน‘ภาพยนตร์’

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 16 ธันวาคม 2550


ในยุคนี้ที่หนังสั้นมีสถานะชัดเจนขึ้น ผ่านการจัดทำ จัดฉาย เผยแพร่ในช่องทางหลากหลาย และการประกวดซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายระดับ แต่ถึงกระนั้นคนเสพหนังโดยทั่วไปก็ยังเปิดพื้นที่ให้หนังสั้นไม่มากนักเพราะยังเคยชินกับการชมหนังยาวในรูปแบบปกติ

โปรเจ็คต์รวมหนังสั้นหลายเรื่องไว้ในชุดเดียวกันซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่มีออกมาเป็นระยะ จึงช่วยให้ผู้ชมวงกว้างมีโอกาสได้ลองสัมผัสกับหนังสั้นมากขึ้น งานรวมหนังสั้นในคอนเซ็ปต์ “ความรักในปารีส” เรื่อง Paris, I Love You คือตัวอย่างของความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เมื่อได้เข้าฉายในโปรแกรมปกติในหลายประเทศ รวมทั้งในบ้านเรา

อีกหนึ่งโปรเจ็คต์ที่น่าสนใจออกมาช่วงกลางปีที่ผ่านมา To Each His Cinema เป็นงานรวมหนังสั้นที่จัดทำขึ้นเพื่อฉลองวาระ 60 ปี เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โดยเชิญผู้กำกับฯชั้นนำ 35 คน ทำหนังสั้นความยาว 3 นาที จำนวน 33 เรื่อง (มี 2 เรื่องที่ร่วมกำกับฯ 2 คน) ภายใต้คอนเซ็ปต์ว่าด้วยประสบการณ์หรือความประทับใจในภาพยนตร์


ผู้กำกับฯที่ได้รับเชิญล้วนแต่เคยโฉบเฉี่ยวในสายการประกวดหลักที่เมืองคานส์ หลายคนเป็นเจ้าของรางวัลสูงสุดที่นี่ แม้ในแง่ของ “เทศกาล” หรือ “รางวัล” จะอยู่นอกเหนือความสนใจของคนทั่วไป แต่ผู้กำกับฯอย่าง หว่อง กา ไว พี่น้องโจล-อีธาน โคเอน หรือจาง อี้ โหมว ก็ “ป๊อป” จนน่าจะดึงดูดผู้ชมได้

ถ้าเขยิบกลุ่มเป้าหมายมาเป็นผู้ชมที่ติดตามแวดวงหนังโลกอย่างใกล้ชิด รายชื่อผู้กำกับฯเกือบทั้งหมดล้วนแต่เชื้อชวนให้อยากดูทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ทาเคชิ คิตาโน่, โหว เสี่ยว เสียน, อเลคานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตูร์, เจน แคมเปียน, อะตอม อีโกยาน, อากิ เคาริสมากิ, โอลิวิเยร์ อัสซายาส, ไฉ้ หมิง เลี่ยง, ลาร์ส วอน เทรียร์, กัส แวน แซนต์, โรมัน โปลันสกี้, เดวิด โคเนนเบิร์ก, อับบาส เคียรอสตามี, วอลเตอร์ ซาลเลส, วิม เวนเดอร์ส, เฉิน ข่าย เกอ รวมไปถึง เคนโลช

ถึงจะเป็นเพียงหนังสั้น แต่เห็นชื่อผู้กำกับฯแล้วคอหนังตัวจริงคงปฏิเสธไม่ลง ที่สำคัญรายชื่อที่ยกมานี้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น!

ด้วยโจทย์ที่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อความคิดสร้างสรรค์ รวมหนังสั้นชุดนี้จึงมีความหลากหลายพอสมควร เป็นแต่ละ 3 นาที ที่มีทั้งงานเชิงชีวประวัติ งานตลกร้าย ขำขัน ล้อเลียนตนเอง ดราม่า สะท้อนสังคม ตามแต่การสร้างสรรค์ของผู้กำกับฯ

น่าแปลกตรงที่แม้จะมีความหลากหลาย แต่ละเรื่องก็ต่างคนต่างทำ แต่หนังของผู้กำกับฯชาวจีนไม่ว่าจะเป็น จาง อี้ โหมว, เฉิน ข่าย เกอ, โหว เสี่ยว เสียน และไฉ้ หมิง เลี่ยง กลับทำออกมาในแนว “ถวิลหา” (nostalgia) คล้องจองกันโดยบังเอิญ ยกเว้นเพียงหว่อง กา ไว ซึ่งเล่าเรื่องอดีตเช่นกัน แต่เป็นอดีตอันใกล้และนำเสนอต่างแนวทางออกไป

บางเรื่องมีลายเซ็นของผู้กำกับฯชัดเจนจนสามารถระบุได้ อย่าง Movie Night ของ จาง อี้ โหมว ซึ่งมีกลิ่นอายแบบ The Road Home อากิ เคาริสมากิ กับเรื่อง The Foundry องค์ประกอบภาพทั้งสีสดๆ การจัดวางอุปกรณ์ประกอบฉาก ตัวละครหน้าตายซึ่งเป็นคนงานในโรงงาน บอกยี่ห้อเคาริสมากิได้อย่างดี เรื่องราวขำๆ ตามสไตล์พี่น้องโคเอน ในเรื่อง World Cinema (ไม่รวมอยู่ในดีวีดี) เกี่ยวกับหนุ่มลูกทุ่ง(จอช โบรลิน) ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกดูหนังเรื่องไหน หรือเรื่อง It's a Dream ที่พอเห็นหน้า หลี่ คัง เซิง ปุ๊บก็รู้ทันทีว่าเป็นผลงานของ ไฉ้ หมิง เลี่ยง


อย่างไรก็ตาม ยังมีหนังสั้นของผู้กำกับฯอีกจำนวนไม่น้อยที่สร้างความเซอร์ไพรส์เล็กๆ เพราะฉีกไปจากผลงานหนังยาวที่ผ่านมา เหมือนเป็นอีกแง่มุมของพวกเขาที่เราเพิ่งเคยเห็น เช่น อารมณ์ขันโหดของ ลาร์ส วอน เทรียร์ ในเรื่อง Occupations ที่ให้ตัวละคร(วอน เทรียร์ แสดงเอง) ใช้ค้อนทุบหัวคนพูดมากในโรงหนัง หนังตลกร้ายเรื่อง Cinema Erotique ของ โรมัน โปลันสกี้ เกี่ยวกับ “เสียงคราง” ระหว่างฉายหนังอีโรติก หรือ เจน แคมเปียน กับ The Lady Bug เรื่องราวแฟนตาซีเกี่ยวกับแมลงสาวที่หลงใหลในภาพยนตร์

ในจำนวนหนังสั้น 33 เรื่อง มีอยู่ 2-3 เรื่องที่ผู้เขียนชอบและอยากพูดถึงเป็นพิเศษ เรื่องแรก The Foundry ของ อากิ เคาริสมากิ ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ หนังเริ่มต้นด้วยภาพการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม พอนาฬิกาบอกเวลา 6 โมงตรง คนงาน 4- 5 คน หยุดทำงาน เดินเรียงแถวเข้าไปนั่งดูหนังในห้องเล็กๆ

น่าสนใจตรงที่หนังที่ฉายอยู่นั้นเป็นเรื่อง Workers Leaving The Lumiere Factory หรือในชื่อดั้งเดิมว่า La Sortie des usines Lumiere หนังภาพเคลื่อนไหวปี 1895 ของ หลุยส์ ลูมิแอร์ ซึ่งมักจะถูกอ้างถึงว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่มีการสร้างและออกฉายต่อสาธารณะ ตัวหนังเป็นการบันทึกภาพคนงานเดินออกจากโรงงานลูมิแอร์(ตามชื่อเรื่อง) ความยาว 50 วินาที

การที่เคาริสมากิอ้างอิงถึง “หนังเรื่องแรก” ซึ่งเกี่ยวกับคนงานเลิกงานแล้วเดินออกจากโรงงาน โดยให้คนงาน(ในหนังของเขา) เลิกงานแล้วมานั่งดูหนังเรื่องนี้ นอกจากจะมีลักษณะของการยกย่องแล้ว ยังเป็นการให้ความสำคัญต่อ “ชนชั้นแรงงาน” อันเป็นกลุ่มคนซึ่งอยู่ในหนังของเคาริสมากิเสมอ นัยว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์อย่างแท้จริง

เรื่องหนึ่งที่โดดออกมาจากเรื่องอื่นเป็นของ เดวิด โครเนนเบิร์ก ในแง่ที่ว่าขณะที่เรื่องอื่นๆ ออกแนวฟีลกู้ดอย่างกับโฆษณามือถือ แต่สำหรับหนังสั้นของโครเนนเบิร์กเชื่อว่าคนบางกลุ่มดูแล้วคงออกอาการอึดอัดกระอักกระอ่วนมากกว่า

At the Suicide of the Last Jew in the World in the Last Cinema in the World คือชื่อเรื่องที่แสดงความแสบสันต์ไว้ตั้งแต่แรก หนังเป็นภาพขาว-ดำถ่ายต่อเนื่องช็อตเดียว มีโลโก้ตรงมุมจอแสดงให้รู้ว่าเป็นภาพที่กำลังถ่ายทอดทางโทรทัศน์ บุคคลในภาพ(แสดงโดยโครเนนเบิร์กเอง) กำลังถือปืนเหมือนกำลังตัดสินใจว่าจะฆ่าตัวตายอย่างไรดี มีเสียงบรรยายว่าเขาเป็นยิวคนสุดท้ายหลบมาฆ่าตัวตายในโรงหนังโรงสุดท้าย วิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา น้ำเสียงเต็มไปด้วยความแปลกใจ แต่ไร้ความเห็นใจ

เป็นงานเสียดสีชั้นดี แต่ถ้ามองว่าผิดที่ผิดทางก็ได้เช่นกัน


อีกเรื่องที่ดีมากเป็นของ เคน โลช ผู้กำกับฯอาวุโส ในชื่อเรื่อง Happy Ending เกี่ยวกับพ่อ-ลูกต่อแถวซื้อตั๋วดูหนังแต่ตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะดูเรื่องอะไรจนถูกคนอื่นโวย สุดท้ายสองพ่อลูกล้มเลิกแผนดูหนังแล้วไปดูเกมฟุตบอลแทน เชื่อว่าโลชต้องการสื่อถึงหนังในปัจจุบันที่หาดีได้ยากเต็มที ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากสถานการณ์หนังของบ้านเรา

เรื่องอื่นที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม คือ Artaud Double Bill ของ อะตอม อีโกยาน และ Anna ของ อเลคานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตูร์ ส่วน 5,557 Miles From Cannes ของ วอลเตอร์ ซาลเลส และ The Last Dating Show ของ บิลล์ ออกัสต์ ก็ดูสนุกและน่าสนใจ สำหรับเรื่องที่แย่ที่สุดคงเป็น 47 Years Later ของ ยูเซฟ ชาฮีน ซึ่งเป็นเพียงการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจส่วนตัวต่อรางวัลและการได้รับการยกย่องในอดีต

จุดที่คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นจุดด้อยของรวมหนังสั้นชุดนี้คือ หลายเรื่องได้อ้างอิงถึงหนังชั้นครูในอดีต ถ้าเพียงฉายในจอหนังโดยไม่เกี่ยวกับเนื้อหาโดยตรงคงไม่ใช่ปัญหานัก แต่บางเรื่องมีเนื้อหาเกาะเกี่ยวกับหนังที่อ้างอิงจนทำให้คนที่ไม่รู้จักงงงวยได้ เช่นเรื่อง Three Minutes ของ ธีโอ เอนเจโลพูลอส ซึ่งให้ ฌานน์ มอโร กลับมาใช้บทพูดคล้ายกับบทพูดคลาสสิคจากหนังเรื่อง La Notte (1961) ของ มิเกลันเจโล อันโตนิโอนี เพื่อรำลึกถึง มาร์เชลโล่ มาสโตรยานนี ผู้ล่วงลับ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองว่ารวมหนังสั้นชุดนี้ช่วยให้เราทำความรู้จักหนังดีๆ เพิ่มขึ้น...ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายอะไร




 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2551
8 comments
Last Update : 28 พฤษภาคม 2551 6:06:58 น.
Counter : 2059 Pageviews.

 


อีก 2-3 วัน จะมา ดู-อ่าน-ฟัง : เมษายน นะครับ
เลทมาเยอะแล้ว



--------------

หนังเรื่องล่าสุดที่ดูแล้วชอบมาก คือ

Lars and the Real Girl



 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 16 พฤษภาคม 2551 14:11:53 น.  

 

^
อยากดูเหมือนกันครับ
ส่วนหนังสั้น ที่ว่ารวมๆ เป็น 1 หนังยาว
paris ,I Love You ทำเอายากหาหนัง
สั้นๆ มาดู ต่อเลยฮะ

 

โดย: haro_haro 16 พฤษภาคม 2551 15:12:07 น.  

 

อยากดูหนังสั้นมาก ๆ เลย
แต่เปิดดูไม่ได้สักที
คงจะไม่ดีอยู่ 2 อย่างคือ
คอมฯไม่ดี (เก่า)
กับคนไม่ดี (ใช้คอมฯไม่เป็น)
อย่างเช่นเรื่อง Father and Daughter
ที่คุณแนะนำไว้
อยากจะดู พยายามอย่างมากแล้ว
แต่ยังเปิดดูไม่สำเร็จ
เลยต้องหยุดความพยายามไว้ก่อน
เดี๋ยวค่อยพยายามต่อ

 

โดย: yawaiam IP: 118.172.165.28 17 พฤษภาคม 2551 7:42:22 น.  

 

ผกก.แต่ละคนฝีมือหายห่วงเลย น่าดูมาก
หนังของ Lumiere แม้จะดูในตอนนี้แต่ก็ยังรู้สึกตื่นตาตื่นใจอยู่นะครับ

 

โดย: wayakon IP: 58.9.100.146 17 พฤษภาคม 2551 20:17:25 น.  

 

อยากดู Lars and the Real Girl มากครับ
ส่วนหนังฮิตช์ค็อก เพิ่งเห็นออก box ชุดที่สามมา มีแต่หนังขึ้นหิ้ง (psycho, rear window, the birds และ vertigo)

ต่างกับสองชุดแรก ที่ดังสู้ไม่ได้
ตอนนี้อีกเรื่องที่เล็งจะยืมมาดูคือ rebecca ครับ

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.114.6 17 พฤษภาคม 2551 20:29:37 น.  

 

ม่วนกลับมาแว้ว


ม่วนอยากดู BEN X

 

โดย: ม่วนน้อย IP: 125.24.219.70 18 พฤษภาคม 2551 13:12:33 น.  

 

ชอบ Happy Ending ของลุงเคน มากกกก
หนังเรื่องไหนไม่โดนจริง..ก็เอาเวลาไปดูบอลดีกว่า...555

อยากดู Lars and the Real Girl

 

โดย: renton_renton 18 พฤษภาคม 2551 16:04:16 น.  

 



 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 19 พฤษภาคม 2551 22:02:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.