Possible Lives ไขว่คว้าในความเวิ้งว้าง
Possible Lives ไขว่คว้าในความเวิ้งว้าง
พล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 11 พฤศจิกายน 2550
หลังขาดการติดต่อกับ ลูเซียโน สามีนักธรณีวิทยาซึ่งเดินทางไปทำงานยังที่ราบสูงปาตาโกเนีย พื้นที่ห้อมล้อมด้วยเทือกเขาสูงทางใต้ของอาร์เจนตินา คาร์ลา ผู้เป็นภรรยาจึงตัดสินใจขับรถจากบัวโนส ไอเรส ไปที่นั่นตามลำพัง เธอแจ้งแก่ตำรวจท้องที่ให้ช่วยสืบหา แต่ตำรวจแทบจะไม่ให้ความหวังอะไรแก่เธอ
คาร์ลาเข้าพักที่ห้องในโรงแรมซึ่งสามีของเธอจองไว้แต่ไม่มาปรากฏตัว ที่นี่เธอได้พบกับ หลุยส์ ตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์ที่หน้าตาละม้ายลูเซียโนจนคาร์ลาไม่อาจตัดความคิดว่าเขาไม่ใช่สามีของเธอ แม้จะมีหลักฐานและผู้คนยืนยันว่าหลุยส์อาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ 6 ปีก่อน และตัวหลุยส์เองก็ไม่มีท่าทีพิรุธใดๆ เมื่อพบคาร์ลา
คาร์ลาเข้าหาหลุยส์โดยอ้างว่าต้องการหาซื้อบ้านพัก ทั้งยังตามหลุยส์ไปที่บ้านจนพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับภรรยาไม่สู้ดีนัก นั่นจึงเป็นช่องว่างให้คาร์ลาขยับเข้าใกล้ชิดบุคคลที่เธอคิดว่าเป็นสามีมากขึ้นเรื่อยๆ
ท่ามกลางความเวิ้งว้างหนาวเหน็บและเทือกภูขาวโพลน คล้ายว่าคาร์ลากำลังดิ่งลึกลงไปใต้ทะเลสาบความรู้สึก ยิ่งลึกยิ่งหลงทางสู่ความมืดมิด กระทั่งเธอต้องการแค่เพียงแสงสว่างรำไร โดยไม่สนใจว่าแสงนั้นมิได้มาจากเหนือผิวน้ำซึ่งนำพาให้เธอหลุดพ้น
แม้เมื่อความจริงเปิดเผยแล้วก็ตาม...
Possible Lives หรือ Las Vidas posibles หนังอาร์เจนติน่า ปี 2006 เป็นผลงานเรื่องที่สามของผู้กำกับฯหญิง ซานดรา กูกลิออตตา ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ New Argentine Cinema หรือกลุ่มผู้สร้างหนังคลื่นลูกใหม่ของอาร์เจนตินา ที่รวมตัวกันช่วงปลายทศวรรษ 90 ผู้เขียนยังไม่เคยชมผลงานเรื่องก่อนๆ ของเธอ แต่หากวัดจาก Possible Lives แล้ว ถือว่าเธอผู้นี้ฝีมือไม่ธรรมดา
ช่วง 10 นาทีแรกของหนังถูกนำเสนอแบบไม่ปะติดปะต่อเรื่องราว ภาพที่ผู้ชมได้เห็นประกอบด้วยชาย 2 คนซึ่งมีหน้าตาเหมือนกัน(แสดงโดยคนเดียวกัน) ต่างกันที่คนหนึ่งมีหนวดเคราครึ้มกว่า ผมยาวกว่า มีหญิงสาวคนหนึ่งนอนร่ำไห้บนเตียง และหญิงสาวอีกคนร่วมรักอย่างเร่าร้อนกับชายหนุ่มที่หน้าตาสะอาดสะอ้านกว่า ชายคนหนึ่งเดินออกจากบ้าน ชายอีกคนเดินออกจากบ้านเช่นกัน แล้วขับรถออกไป
การนำเสนอแบบไม่ปะติดปะต่อตั้งแต่แรกเช่นนี้มีผลอย่างไรบ้าง... อย่างแรกคือมีผลโดยตรงต่อผู้ชมที่ติดตามเรื่องราวว่าด้วยภาวะสับสนสงสัยของคาร์ลาต่อบุคคลที่มีหน้าตาเหมือนกัน แทนที่หนังจะเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงโดยให้ผู้ชมพบลูเซียโนก่อน แล้วจึงพบหลุยส์พร้อมๆ กับคาร์ลา การนำทั้งสองคนมาปรากฏตัวพร้อมกันในช่วงเปิดเรื่องจึงสร้างความสับสนสงสัยแก่ผู้ชมตั้งแต่เริ่มต้น และจะเกิดคำถามในใจว่า ใช่คนเดียวกันหรือไม่ ไปจนจบเรื่อง
ส่วนการร่วมรักเร่าร้อนเปี่ยมด้วยอารมณ์รักใคร่ระหว่างหญิงสาวซึ่งก็คือ คาร์ลา กับ ลูเซียโน ชายหนุ่มที่มีหน้าตาสะอาดสะอ้านกว่า สามารถบ่งบอกเพียงพอถึงแรงผลักที่ทำให้คาร์ลาอยากจะทึกทักเอาว่าหลุยส์คือสามีของเธอ
ขณะเดียวกัน การร่ำไห้ของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งรู้ภายหลังว่าเป็นภรรยาของหลุยส์ และสีหน้าครุ่นคิดเหม่อลอยของหลุยส์ในฉากเปิดเรื่อง ถูกปล่อยทิ้งไว้เพื่อสร้างความคลุมเครืออีกชั้นหนึ่ง กระทั่งฉากจบแบบห้วนๆ โดยไม่ให้คำอธิบายชัดเจนราวกับหนังพาผู้ชมขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้วปล่อยให้ตกลงมาแบบทันทีทันใด กลายเป็นการจบอันยอดเยี่ยมที่สร้างความอึงคะนึงในความคิดและความรู้สึกของผู้ชม จนเมื่อตั้งหลักได้แล้วนั่นล่ะ จึงค่อยๆ ทบทวนความเชื่อมโยงเพื่อค้นหาคำตอบตามแต่ใครจะคิด
ระหว่างคืบเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้าเพื่อติดตามคาร์ล่ากับการหาคำตอบว่าหลุยส์คือลูเซียโนหรือไม่ หนังเว้นจังหวะช่องว่างจำนวนมาก ทั้งระหว่างบทสนทนา ระหว่างการกระทำ และระหว่างฉากหนึ่งไปอีกฉากหนึ่ง แล้วเติมด้วยสีหน้าครุ่นคิดกังวลของคาร์ลา กับเสียงประกอบสั่นสะท้อนอึงอลดั่งดังก้องในอก สอดรับกันอย่างได้ผล
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพภูมิประเทศร้างผู้คนของปาตาโกเนีย ถนนทอดยาวสุดตา อากาศหนาวเหน็บ เทือกเขาแอนดีสยืนสงบห้อมล้อม ผิวน้ำทะเลสาบเรียบนิ่ง ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่กับสภาวะเศร้าซึมหม่นหมองภายใต้ใบหน้าเรียบเฉยซึ่งพยายามกลบซ่อนความหวาดหวั่นของคาร์ลา กระทั่งที่ราบสูงปาตาโกเนียอันเป็นฉากหลังถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องราวรองจากตัวละครเลยทีเดียว
การที่คาร์ลาอ้างว่ากำลังหาซื้อ บ้าน เพื่อจะได้เข้าถึงตัวหลุยส์ สื่อความหมายถึงวัตถุประสงค์ของเธอว่าอยากได้ ครอบครัว ของเธอคืน แม้จะต้องโกหกใครต่อใคร รวมไปถึงตนเอง
แม้หนังไม่ได้ให้บทสรุปชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่สิ่งที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้คือภาพของคนที่ไม่ยอมรับและละวางความรู้สึกสูญเสีย แล้วเลือกไขว่คว้าสิ่งทดแทนมาเยียวยาตนเอง แม้การกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลเสียต่อคนอื่นแบบเดียวกับที่ตนต้องเผชิญมาก่อนก็ตาม
ใช่หรือไม่ว่าเราต่างก็เคยคิดและทำเช่นนี้กันทั้งนั้น...
การนำช่วงเวลายากลำบากเพียงช่วงสั้นๆ ของใครคนหนึ่ง มาขยายให้ใหญ่และสร้างแรงสั่นสะเทือนได้รุนแรง แม้จะทำได้ยอดเยี่ยมเพียงใด แต่เพราะเนื้อหาอันจำกัดอยู่กับความรู้สึก รวมทั้งเรื่องราวว่าด้วยการจากไป(หายตัว) และกลับคืนของคนรักชวนให้นึกถึงหนังหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Sommersby(จอน เอมีล, 1993) Birth(โจนาธาน เกลเซอร์, 2004) หรือ Under the Sand(ฟรังซัวส์ โอซง, 2000) ส่วนแก่นสารก็ไปไม่ไกลกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคล น่าจะเป็นเหตุผลที่หนังไม่โดดเด่นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
แต่บอกได้เลยว่านี่คือหนังที่น่าประทับใจที่สุดเรื่องหนึ่ง...ที่ผู้เขียนได้ชมในปี 2550
Create Date : 25 เมษายน 2551 |
|
15 comments |
Last Update : 25 เมษายน 2551 17:48:41 น. |
Counter : 1952 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: nanoguy IP: 125.24.86.0 26 เมษายน 2551 6:19:30 น. |
|
|
|
| |
โดย: ม่วน IP: 125.24.2.48 26 เมษายน 2551 6:31:30 น. |
|
|
|
| |
โดย: ม่วน IP: 125.24.185.195 27 เมษายน 2551 8:03:22 น. |
|
|
|
| |
โดย: unsa 27 เมษายน 2551 14:10:20 น. |
|
|
|
| |
โดย: ม่วนน้อย 27 เมษายน 2551 19:06:36 น. |
|
|
|
| |
โดย: ม่วนน้อย 27 เมษายน 2551 19:07:47 น. |
|
|
|
| |
โดย: wayakon IP: 58.9.94.158 28 เมษายน 2551 23:55:32 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]
|
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................
พญาอินทรี
ศราทร @ wordpress
|
|
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|