‘ศรีบูรพา’ รำลึก : ‘ข้างหลังภาพ’ บนแผ่นฟิล์ม




ศรีบูรพา รำลึก
ข้างหลังภาพ บนแผ่นฟิล์ม

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 3 เมษายน 2548


31 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 100 ปี ชาตกาล “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ ผู้สร้างสรรค์ผลงานมากมายฝากไว้บนบรรณพิภพ ทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทความ บทวิจารณ์ เรื่องแปล ในหลากหลายนามปากกา ที่รู้จักคุ้นเคยกันมากที่สุดคือนามปากกา “ศรีบูรพา”

กระนั้น “กุหลาบ สายประดิษฐ์” มิใช่โดดเด่นเพียงเพราะอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ หากเพราะอุดมการณ์และความกล้าหาญในการเรียกร้องสันติภาพและความเป็นธรรมในสังคม จนตนเองต้องสูญเสียอิสรภาพ ต้องจากแผ่นดินเกิดจวบจนเวลาสุดท้ายของชีวิต

*เป็นคุณูปการยิ่งใหญ่บนความเสียสละอันใหญ่หลวง

ในบรรดางานประพันธ์ของศรีบูรพา เรื่องที่ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากที่สุดคือ “ข้างหลังภาพ” ด้วยเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจของ ม.ร.ว.กีรติ ตัวละครหญิงที่โด่งดังที่สุดตัวละครหนึ่งในโลกวรรณกรรมไทย กับประโยคทองในบทอวสานว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

ข้างหลังภาพตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในประชาชาติรายวัน เมื่อปี 2479 ก่อนจะรวมเล่มในปีถัดมา จัดว่าเป็นกึ่งไพรัชนิยาย เพราะครึ่งเรื่องแรกใช้ฉากประเทศญี่ปุ่น ศรีบูรพาเขียนเรื่องนี้หลังจากเดินทางไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่นั่นในปี 2479 ได้ไปเที่ยวพักผ่อน ณ ภูเขามิตาเกะ ซึ่งกลายมาเป็นฉากสำคัญในนิยาย

แก่นสารของข้างหลังภาพคือการให้ภาพชีวิตของชนชั้นสูง โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งต้องอยู่ในกรอบเคร่งครัด และความขัดแย้งแตกต่างระหว่างหญิงสาวในสังคมเก่า (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง) กับชายหนุ่มในโลกปัจจุบัน (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

สำหรับหนังที่สร้างจากบทประพันธ์ข้างหลังภาพมีอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรกปี 2528 กำกับฯโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ เขียนบทโดย วิศณุศิษย์ อีกฉบับหนึ่งออกฉายวันที่ 30 มีนาคม 2544 กำกับฯโดย เชิด ทรงศรี ถ่ายทอดเป็นบทภาพยนตร์โดย ธม ธาตรี (นามปากกาที่เปิดเผยของ เชิด ทรงศรี)

เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่ในนิยายเป็นบทพรรณนาโวหาร สลับกับบทสนทนาระหว่าง นพพร กับ ม.ร.ว.กีรติ บนพื้นฐานของเรื่องเล่าย้อนหลัง จึงแทบจะไม่มีรายละเอียดอื่นๆ นอกสายตาของผู้เล่าอย่างนพพร การดัดแปลงเป็นบทหนังทั้ง 2 ฉบับ จำเป็นต้องเพิ่มเติมฉากและบทสนทนาให้มีมิติมากขึ้น ท่านเจ้าคุณและคนอื่นๆ ที่นพพรเพียงกล่าวถึงในนิยายจึงมีบทบาทรับ-ส่งเรื่องราวกันตามสมควร

หากเปรียบเทียบกันแล้วฉบับของเปี๊ยก โปสเตอร์ มีความใกล้เคียงกับบทประพันธ์มากกว่า ทั้งโครงสร้างของเรื่องราวและบทสนทนา ขณะที่ฉบับของเชิด ทรงศรี จะเห็นได้ถึงความตั้งใจของผู้สร้างในการขยับขยายกรอบของบทประพันธ์ให้กว้างขึ้น โดยไม่ต้องถูกเหนี่ยวรั้งด้วยข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกในประเทศญี่ปุ่น ผู้สร้างหยิบเพียงบางบทบางตอนมาเล่าใหม่ให้มีสีสันมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการเดินคุยโต้ตอบกันด้วยคารมคมคายไปเรื่อยเช่นในนิยาย

ดังนั้น ผู้ที่ประทับใจบทพูดอันไพเราะ คมคาย เฉลียวฉลาดของพระ-นาง น่าจะชอบฉบับของเปี๊ยก โปสเตอร์ มากกว่า ขณะที่ฉบับของเชิด ทรงศรี ดูจะมีสีสัน มีอารมณ์สนุกสนาน ชนิดที่ผู้อ่านข้างหลังภาพไม่เคยนึกจินตนาการมาก่อน

*อย่างไรก็ตาม แม้จะยึดอิงบทประพันธ์มากกว่าแต่ฉบับแรกก็มีข้อด้อยตรงที่นักแสดงนำ โดยเฉพาะ อำพล ลำพูน ซึ่งจัดว่าเป็นดาราหน้าใหม่ในขณะนั้น ไม่ถนัดกับภาษาและโวหารย้อนยุค หางเสียงสั้นๆ แบบสมัยใหม่ เช่นคำว่า “เนียะ” (นี้) จึงหลุดออกมาเป็นระยะ ยังไม่พูดถึงบุคลิกของอำพลซึ่งผู้เขียนมองว่าไม่เหมาะกับนพพร หนุ่มผู้ดีนักเรียนนอกผู้มีจิตใจอ่อนไหว ในส่วนนี้ ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ในฉบับหลังทำได้ดีกว่า แต่บางจังหวะก็ดูเหมือนกับว่านพพรของเชิด ทรงศรี แสดงออกมากเกินพอดี ไม่มีเก็บอาการข่มความรู้สึก หรือนึกถึงความผิดชอบชั่วดีใดๆ

ส่วนบท ม.ร.ว.กีรติ ทั้ง นาถยา แดงบุหงา และ คารา พลสิทธิ์ นับว่าทำหน้าที่ได้ดีและเหมาะสมด้วยกันทั้งสองคน

ที่น่าพูดถึงอีกจุดหนึ่งคือ ฉบับเชิด ทรงศรี นอกจากจะขยับขยายกรอบของบทประพันธ์แล้ว ยังเพิ่มเติมเรื่องราวรายละเอียดลงไปพอสมควร เช่น ความรู้สึกของท่านเจ้าคุณต่อความสนิทสนมระหว่างนพพรกับกีรติ ซึ่งในนิยายไม่อาจกล่าวถึงได้เพราะเป็นมุมมองของนพพรเพียงด้านเดียว หรือการเปลี่ยนเรื่องราวให้ “เป็นเหตุเป็นผล” มากขึ้น ด้วยการให้ท่านเจ้าคุณเสียชีวิตด้วยวัณโรค มิใช่ไตพิการ จน ม.ร.ว.กีรติต้องติดโรคไปด้วย เพราะต้องปรนนิบัติดูแลสามี

นอกจากนี้ ผู้สร้างได้บอกกล่าวช่วงเวลาอันเป็นฉากหลังและมีความสำคัญต่อแก่นสารซึ่งนิยายได้ละไว้ในฐานที่เข้าใจ โดยให้กีรติพูดคำว่า “ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

ที่น่าชมเชยคือภาพวัฒนธรรมการสวมหมวกและภาพทหารญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อนพพรได้กลับมาพบกีรติอีกครั้ง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ศรีบูรพาไม่อาจล่วงรู้ได้ขณะเขียนเรื่องนี้ในปี 2479

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อเด่นข้อด้อยแตกต่างกัน แต่หนัง “ข้างหลังภาพ” ทั้ง 2 ฉบับ ต่างประสบความสำเร็จตรงจุดเดียวกัน คือการสร้างอารมณ์สะเทือนใจต่อชะตากรรมของ ม.ร.ว.กีรติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความตายของเธอเป็นอมตะ ตรึงใจผู้คน

เรียกว่าเป็นความเศร้าที่อิ่มเอม เสมือนบทอวสานของข้างหลังภาพ แม้จะผ่านกาลเวลามากว่า 60 ปีแล้วก็ตาม




 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2551
10 comments
Last Update : 7 พฤษภาคม 2551 0:11:55 น.
Counter : 4485 Pageviews.

 


วันก่อน (5 พ.ค.) โมเดิร์นไนน์ฉาย "ข้างหลังภาพ" ฉบับเชิด ทรงศรี
นึกถึงบทความนี้ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2548 ในวาระ 100 ปี ชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์




----------

ชวนร่วมรำลึกถึง สุริยฉัตร ชัยมงคล ที่นี่ ครับ


 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 7 พฤษภาคม 2551 2:10:23 น.  

 



ได้มีโอกาสนั่งดูหนังข้างหลังภาพทางช่อง 9
เปิดมาพอดีเจอฉากที่
ฉากคุณหญิงทราบข่าวการแต่งงานของนพพร
ก็เลยได้นั่งดูจนจบค่ะ

 

โดย: อุ้มสี 7 พฤษภาคม 2551 6:58:59 น.  

 

เคยอ่านหนังสือเรื่องข้างหลังภาพ
แต่ยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้สักที
คงต้องหาดูบ้างละ

 

โดย: yawaiam IP: 125.25.246.119 7 พฤษภาคม 2551 8:00:19 น.  

 

เคยดูตอนยุคที่ อำพลกับนาถยา แสดงค่ะ

เคยตัดเก็บภาพโฆษณาหนังจากหนังสือไว้ด้วย
อารมณ์ประมาณตามภาพนี้แต่เป็นขาวดำ



ส่วนเวอร์ชั่นใหม่ เคนและคาร่า ไม่ได้ดูค่ะ

 

โดย: renton_renton 7 พฤษภาคม 2551 8:38:41 น.  

 

มารำลึกด้วยคนครับ
แต่วันนั้นไม่ได้ดูอะ

 

โดย: haro_haro 7 พฤษภาคม 2551 11:35:58 น.  

 

วันก่อน ก็ดู ข้างหลังภาพเวอร์ชัน คาร่า+เคน
ทางทีวีช่องหนึ่ง

แต่ ...
ไม่รู้สิ ผมชอบเวอร์ชันที่เป็นหนังสือมากกว่าอ่ะ

 

โดย: Commencer 7 พฤษภาคม 2551 12:37:42 น.  

 

ผมดูตอนกว่า 5 ปีก่อน จำได้ว่ามีฉากที่พรรณนาระหว่างต้นหญ้ากะต้นไม้ใหญ่อะไรประมาณนั้นด้วยครับ ผมชอบมากๆ

 

โดย: ดนย์ 7 พฤษภาคม 2551 12:51:13 น.  

 

เคยดูเวอร์ชั่นคุณหนุ่ยกะคุณกุ๊กก็ว่าชอบแล้ว...วันก่อนได้ดูคาร่ากะเคน...เคนน่ารักแต่คุณค่าร่าเล่นเหมือนเล่นละครเวทีเลยอ่ะ...
คนดีของฉัน...คนดีของฉัน...มันฟังไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าไหร่

แต่ยังไง ๆ ก็สู้หนังสือไม่ได้อยู่แล้ว

 

โดย: แม่ไก่ 7 พฤษภาคม 2551 16:22:07 น.  

 

จำได้ว่าได้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลาตอน ม.6 ครับ ค่อนข้างชอบ ส่วนหนังได้ดูแต่เวอร์ชั่นของคุณเชิด ชอบการแสดงของคุณคาร่ามาก

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.126.174 7 พฤษภาคม 2551 17:45:35 น.  

 

รักนิยายเรื่องนี้มาก
ชอบหนังที่อำพล-นาถยาแสดง กำกับโดยคุณเปี๊ยก
ส่วนเวอร์ชั่นคุณเชิด ยังไม่ได้ดูเลยไม่รู้ว่าจะชอบกว่าเวอร์ชั่นเก่าหรือเปล่า

คิดว่านิยายที่ดี ไม่ว่าใครทำออกมาก็สามารถส่องแสงแห่งความงามออกมาได้ทุกมุมค่ะ
แต่ข้างหลังภาพ the musical ละครเวทีของคุณบอย คงต้องรอดูผลงานกันอีกที...

 

โดย: Petit :-Dream IP: 58.8.15.142 24 มิถุนายน 2551 12:12:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
7 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.