แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

มะเยาหิน พืชที่น่าจับตามอง มีปลูก ที่ เชียงราย

เทคโนโลยีการเกษตร

การุณย์ มะโนใจ

มะเยาหิน พืชที่น่าจับตามอง มีปลูก ที่ เชียงราย

หลายวันก่อน มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเสถียรภัค นวลกา ดีเจ. คลื่น 107.0 MHz และเป็นเกษตรกรปลูกมะเยาหิน อยู่ที่ เลขที่ 168 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดพะเยา ที่เวทีวิชาการเรื่อง การปลูกมะเยาหินเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มะเยาหิน เป็นพืชในมุมมองใหม่ของพืชที่ให้พลังงานทดแทน นอกเหนือจากสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ข้อมูลว่ามีพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่มีการนำเข้ามาจากทางเหนือของประเทศลาว เรียกว่า "มะเยาหิน" มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า china wood oil หรือ kalo Nut tree

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พืชชนิดนี้มีปลูกกันพอสมควรในลาว มีผลผลิต ปีละ 200-300 ตัน โดยส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศเวียดนาม จากการนำตัวอย่างน้ำมันที่ได้ส่งไปวิเคราะห์คุณสมบัติทางเชื้อเพลิงที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) พบว่า ค่าความร้อนใกล้เคียงกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

คณะวิจัยได้นำเข้ามะเยาหินมาปลูกในประเทศไทย ใน ปี 2551 ด้วยความร่วมมือของศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสหกรณ์พืชพลังงานทดแทน ประมาณ 100 ไร่ และปลูกกระจายในภาคเหนือ ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ ปัจจุบัน แปลงที่มีอายุสูงที่สุด ประมาณ 2-3 ปี และเริ่มให้ผลผลิตในปีแรกแล้ว จากการสำรวจผลผลิตในประเทศลาวพบว่า ให้ผลผลิตสูง ประมาณ 800-1,200 กิโลกรัม ต่อไร่ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า พืชชนิดนี้ นอกจากเมล็ดจะนำมาหีบน้ำมันแล้ว ยังมีร่มเงา และดอกที่สวยงาม มีใบไม่ร่วงในฤดูหนาวเหมือนสบู่ดำ การตัดแต่งกิ่งยังสามารถใช้เป็นชีวมวลได้อีก และยังเป็นไปได้ที่จะปลูกเพื่อขายคาร์บอนเครดิต

ต่อมา ในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยโครงการวิจัยประเภททุนวิจัยนวมินทร์ ด้านพลังงานทดแทน ได้สนับสนุนวิจัยให้ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินโครงการ "การศึกษาศักยภาพ ในการปลูกมะเยาหินเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมแบบครบวงจร และการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคนิคไมโครเวฟ/อัลตราโซนิค"

จากการศึกษาพบว่า มะเยาหิน มีผลผลิตที่สูงกว่าสบู่ดำ เมล็ดนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซล และสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำยาเคลือบไม้ (แล็กเกอร์) กิ่ง ก้าน ให้ร่มเงา และยังใช้เป็นชีวมวล ระบบรากอุ้มน้ำได้ดี เปลือกหุ้มเมล็ดนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นถ่านกัมมันต์ได้ มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมในการปลูกเพื่ออนุรักษ์ดิน น้ำ และใช้พัฒนาเป็นเชื้อเพลิงใช้ในครัวเรือนหรือชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง



ผลการวิจัย

ผลการศึกษาศักยภาพในการปลูกมะเยาหิน เพื่อควบคุมอุณหภูมิแวดล้อมแบบครบวงจร และการผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคนิคไมโครเวฟ/อัลตราโซนิค ซึ่งในการศึกษาโครงการวิจัยนี้ ได้สรุปรายละเอียดผลการศึกษาดังต่อไปนี้



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะเยาหิน หรือ สบู่ดำหิน เป็นไม้ยืน มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ใบจะมีขนาดใหญ่ เมื่ออายุประมาณ 3-6 เดือน มีจำนวน 4-5 แฉก สีเขียวอ่อน และมีอายุเพิ่มมากขึ้นจะมีขนาดเล็กลงและมีสีส้ม ดอกมะเยาหินจะออกเป็นช่อ มีสีขาวอมชมพู เมื่อดอกบานผลมะเยาหินมีลักษณะเกลี้ยงกลมคล้ายลูกมะนาว แยกเป็นพู 3 พู แต่ละพู มีเมล็ด 1 เมล็ด บางลูกจะมีถึง 4 พู ซึ่งผลมะเยาหิน 1 ผล มีส่วนที่เป็นเปลือก 14-20% เมล็ด 53-60%



ศักยภาพการให้ผลผลิต

และการสำรวจสายพันธุ์มะเยาหินในลาว


สายพันธุ์มะเยาหินที่ปลูกในลาว ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Vernicia Montana Lour. โดยมีการปลูกตั้งแต่เมืองแปก แขวงเชียงขวาง ถึงเมืองชำเหนือ เมืองเวียงไชย แขวงหัวพัน โดยแขวงหัวพัน มีทั้งหมด 8 เมือง มีพื้นที่ประมาณ 17,186 ตารางกิโลเมตร ลักษณะการเพาะปลูกต้นมะเยาหินในลาว แบ่งเป็น 4 แบบ

จากข้อมูลการสำรวจสายพันธุ์มะเยาหิน โดยส่วนใหญ่จะปลูก พันธุ์ Vernicia Montana Lour. โดยจากการสำรวจและประเมินศักยภาพด้านผลผลิต พบว่า ที่ช่วงอายุต้นมะเยาหินต่ำกว่า 4 ปี จะให้ผลผลิตเมล็ดมะเยาหิน 360-400 ลูก ต่อต้น หรือ 23-25 กิโลกรัม ต่อต้น และให้ผลผลิตต่อไร่ ที่ระยะการปลูก 4x4 เมตร (100 ต้น) จะให้ผลผลิต 2,300-2,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ระยะ 5x5 เมตร (64 ต้น) จะให้ผลผลิต 1,472-1,600 กิโลกรัม ต่อไร่ และระยะการปลูกที่กำลังได้รับการส่งเสริมในลาว คือ ระยะ 7x7 เมตร (32 ต้น) จะให้ผลผลิต 736-800 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งราคาซื้อขายในกรณีที่ขายทั้งเมล็ดยังไม่แกะเปลือกออกจะเท่ากับ 8-12 บาท ต่อกิโลกรัม และกรณีแกะเปลือกเหลือแต่เมล็ดใน จะมีราคาขาย 12-14 บาท ต่อกิโลกรัม โดยจะมีผู้รับซื้อคือ พ่อค้าคนกลาง และกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)



ศักยภาพการให้ผลผลิต

และการตอบสนองสภาพแวดล้อมของมะเยาหิน จังหวัดเชียงใหม่


การปลูกมะเยาหินในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแปลงปลูกทดสอบอายุ 2-3 ปี พบว่า ส่วนใหญ่จะปลูกสายพันธุ์ Vernicia Montana Lour. โดยมีการเพาะปลูกแบบพืชสวน ที่ระยะการปลูก 4x4 เมตร และ 3x4 เมตร มีความสูงของต้น 5-6 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 3.5-4 เมตร และมีการตัดแต่งกิ่งต้นมะเยาหิน เพื่อให้เกิดยอดของต้นมะเยาหิน และรักษาทรงพุ่มของต้น และรูปแบบการปลูกอีกแบบหนึ่งจะปลูกแซมกับต้นลำไยในจังหวัดลำพูน

การให้น้ำสำหรับต้นมะเยาหิน จะอาศัยน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ส่วนการจัดการเรื่องปุ๋ย และสารเคมี จะมีการให้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรืออาจใส่ปุ๋ยยูเรีย เพิ่ม 46-0-0 ประมาณ 20-30 กรัม ต่อต้น ปริมาณสารอาหารในแปลงทดสอบของโครงการ พบว่า ดินมีความเป็นกรดปานกลาง ในช่วง pH 5.6-6.0 และมีปริมาณสารอินทรียวัตถุ (OM) ต่ำ ซึ่งทำให้ดินขาดแหล่งของธาตุอาหาร 3 ชนิด คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน ปริมาณไนโตรเจนต่ำ เพียงร้อยละ 0.04 ทำให้เกิดการโตช้า ใบมีสีเหลือง และกลายเป็นสีน้ำตาลร่วงหล่น

ส่วนของเรื่องโรคแมลงที่พบว่า มีแมลงมวนปีกแข็ง มวนสบู่ดำ เพลี้ยไฟ หนอนเจาะผล และหนอนม้วนใบ เข้าทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลมะเยาหิน ทำให้ผลของมะเยาหินบิดเบี้ยว ศักยภาพผลผลิตในแปลงทดสอบ และจากการสำรวจแปลงมะเยาหินในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า จะให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 4-8 กิโลกรัม ต่อต้น หรือประมาณ 400-800 กิโลกรัม ต่อไร่ ที่ระยะการปลูก 4x4 เมตร จำนวน 100 ต้น ต่อไร่



การเก็บเกี่ยวผลผลิต

และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว


การเก็บเกี่ยวมะเยาหิน จะเริ่มเมื่ออายุมะเยาหิน 3 ปีขึ้นไป โดยจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษา การใส่ปุ๋ย และการให้น้ำ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งจะใช้วิธีเก็บมะเยาหินโดยใช้ไม้สอยผลมะเยาหินจากต้น และอีกวิธีหนึ่ง คือเก็บผลผลิตที่ตกตามใต้ต้นมะเยาหิน หลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดมะเยาหินแล้วก็จะนำมาผึ่งให้แห้งเพื่อป้องกันเมล็ดเน่าเสีย จากนั้นนำมากะเทาะเอาเปลือกออก ซึ่งในการกะเทาะเอาเปลือกออกจะใช้แรงงานจากคนในการกะเทาะ โดยใช้เหล็กขอกะเทาะเอาแต่เมล็ดในของมะเยาหิน เมื่อได้เมล็ดในแล้วก็นำไปผึ่งตากให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง และใส่ตะกร้าหรือกระสอบป่านเพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ต่อไป



การศึกษาปริมาณน้ำมัน

จากเมล็ดมะเยาหิน


ในการศึกษาและทดสอบปริมาณน้ำมันในเมล็ดมะเยาหิน ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการสกัดน้ำมันด้วยวิธีการ ทางกล ได้แก่ เครื่องสกัดแบบสกรู และเครื่องสกัดแบบไฮดรอลิกและทางเคมี โดยใช้ตัวทำละลายเฮกเซน

ผลการสกัดน้ำมันจากเมล็ดมะเยาหินด้วยเครื่องอัดแบบสกรูและแบบไฮดรอลิก ที่อุณหภูมิเมล็ดเท่ากับอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม พบว่า การสกัดโดยใช้เครื่องอัดแบบสกรูให้ปริมาณน้ำมันสูงสุด 22.16% โดยน้ำหนัก ในขณะที่การสกัดด้วยเครื่องอัดแบบไฮดรอลิกให้ปริมาณน้ำมันสูงสุด 17.79% โดยน้ำหนัก ซึ่งการสกัดทางกล ยังพบว่า ยังมีปริมาณน้ำมันที่ยังคงเหลืออยู่ในถาด ขณะเดียวกันยังพบว่า การให้ความร้อนเมล็ดมะเยาหินก่อนสกัด สามารถเพิ่มปริมาณน้ำมันที่สกัดได้ อย่าง จาก 17.92% เป็น 25.39% เมื่อให้ความร้อนเมล็ดก่อนสกัดจาก 60 องศาเซลเซียส เป็น 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ผลของความร้อนทำให้น้ำมันมีสีเข้มขึ้น

ส่วนการสกัดด้วยวิธีทางเคมีด้วยการใช้สารละลายเฮกเซน พบว่า เวลาที่ใช้ในการสกัดที่เหมาะสม คือไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และที่อัตราส่วนน้ำหนักมะเยาหินต่อปริมาตรตัวทำละลาย 1:12 จะให้ปริมาณน้ำมันสูงที่สุด 33.27%



การประเมินสมรรถนะ

เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก

โดยใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากมะเยาหิน


ผลการทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 5 KWe โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลเล็ก ขนาด 11 แรงม้า พบว่า น้ำมันไบโอดีเซลจากมะเยาหินจะมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจำเพาะ 0.452-0.665 kg/hr ซึ่งใกล้เคียงกับไบโอดีเซลชุมชน ทั้งนี้ จะให้ประสิทธิภาพเชิงความร้อน ในช่วง 11-22% ที่ภาระโหลดการทำงาน 20-60% เมื่อนำมาใช้งานกับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ค่ามลพิษจากไอเสียที่เกิดขึ้น ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และควันดำ มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกรมขนส่งทางบก ส่วนผลการทดสอบความทนทานของเครื่องยนต์โดยทดสอบเครื่องยนต์ต่อเนื่อง ระยะยาว 120 ชั่วโมง โดยวัดปริมาณโลหะในน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ พบว่า ปริมาณโลหะที่ตกค้างในน้ำมันหล่อลื่นประกอบไปด้วย เหล็ก และอะลูมิเนียม ในปริมาณ 60.6 mg/kg และ 8 mg/kg สำหรับน้ำมันดีเซล

และเมื่อใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากมะเยาหินทดสอบ พบว่ามีปริมาณโลหะที่ตกค้างในน้ำมันหล่อลื่นเพิ่มขึ้น 25.74% และ 23.50% ซึ่งมีค่าจากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะตกค้างของเหล็ก และอะลูมิเนียม ในปริมาณ 76.2 mg/kg และ 9.88 mg/kg ตามลำดับ ส่วนโลหะชนิดอื่นจากการตรวจวิเคราะห์ไม่พบในน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องยนต์ทดสอบ



เทคนิคปลูก ของ คุณเสถียรภัค

คุณเสถียรภัค บอกว่า ตนเป็นเกษตรกรที่ไม่ขยัน จึงมองหาพืชที่ปลูกแล้วไม่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลมากนัก จึงเริ่มจากปลูกต้นยูคาลิปตัส แต่ต้นยูคาลิปตัสเมื่อตัดแล้วก็หมดไป จึงค้นคว้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบเรื่องต้นมะเยาหิน เห็นว่าสามารถเก็บเกี่ยวได้ยาวนาน ในขณะที่ปลูกเพียงครั้งเดียว จากนั้นจึงเดินทางไปดูการปลูกมะเยาหิน ของ คุณลุงมูล ไชยเมฆา เกษตรกรที่ปลูกมะเยาหินที่บ้านแม่ป๊าก ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่าน่าสนใจ เพราะในขณะนี้กระแสเรื่องพลังงานทดแทน หรือน้ำมันบนดิน มาแรง รวมถึงเรื่องสภาพแวดล้อมเรื่องโลกร้อน และการปลูกป่าต้นน้ำ

คุณเสถียรภัค เล่าว่า มะเยาหิน เป็นพืชโตเร็ว เมื่อนำมาปลูก พบว่า เป็นต้นไม้ที่โตเร็วมาก เพียงปีเศษต้นมะเยาหินมีความสูง 8-10 เมตร ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นพืชพลังงานทดแทนในอนาคตแล้ว มะเยาหิน ยังใช้เป็นวัตถุดิบ ทำหมึกคอมพิวเตอร์ ใช้ทำหมึกปากกาลูกลื่น หมึกพิมพ์ธนบัตร ทำสีน้ำมันทาไม้ ใช้ทำน้ำมันเงา ใช้ทำน้ำมันหล่อลื่นซึ่งแทนแรงกดได้ถึง 20 ตัน ทำน้ำมันตังอิ้วบริสุทธิ์ส่วนผสมในการทำพระสมเด็จ หัตถกรรมทำร่มที่บ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เคลือบกระดาษที่ใช้ทำร่ม เปลือกใช้ทำถ่านอัดแท่ง คุณสมบัติคล้ายถ่านหิน กิ่ง ก้าน และใบ ใช้ทำเชื้อเพลิงเขียว กากที่เหลือจากการหีบน้ำมันแล้วใช้ทำปุ๋ยหมัก เพราะสามารถตรึงธาตุไนโตรเจนได้อย่างดี ประกอบกับบ้านแม่ขะจาน อำเภอเวียงป่าเป้า เป็นแหล่งต้นน้ำ ทั้งแม่น้ำกวง แม่น้ำลาว ที่ประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

ปัจจุบัน คุณเสถียรภัค เตรียมขยายพันธุ์ให้เพื่อนเกษตรกรนำไปปลูก เนื่องจาก มะเยาหิน เป็นพืชน้ำมัน ทำให้การงอกมีระยะเวลาจำกัด หากทิ้งไว้นานเปอร์เซ็นต์การงอกจะลดลง จนถึงไม่งอกเลย เมื่อเมล็ดแก่แห้งแล้วต้องรีบเพาะ

การเพาะมะเยาหิน ทำโดยนำเมล็ดใส่ถุงแช่น้ำไว้ 2 คืน จากนั้นนำไปตากแดดให้เปลือกกะเทาะออก โดยตากแดดไว้ 4-5 ชั่วโมง เสร็จแล้วบรรจุลงในถุงนำไปแช่น้ำ แล้วนำมาสะเด็ดน้ำ นำพลาสติกสีดำมาปู นำขี้เถ้าแกลบลง ใส่ รดน้ำให้ชุ่มประมาณพอปั้นเป็นก้อนได้ นำเมล็ดที่สะเด็ดน้ำแล้วมาคลุกกับขี้เถ้าแกลบจนทั่ว ให้ใช้พลาสติกสีดำเท่านั้น จากนั้นห่อเมล็ดที่คลุกขี้เถ้าแกลบแล้วนำไปตากแดด ประมาณ 5-6 วัน แล้วเปิดดู เลือกเอาเมล็ดที่งอกและเกือบจะงอกลงถุงเพาะ ได้เลย ขั้นตอนนี้ต้องระวังเมล็ดที่งอก จะหัก แตก หรือช้ำ เป็นอันว่าจบกระบวนการเพาะ จากนั้นรอดูการเจริญเติบโต

มะเยาหิน ชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขัง แต่ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ จึงจะได้ผลดี สามารถปลูกได้ทุกที่ที่มีน้ำ หากได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีหลังการปลูก สามารถให้ผลผลิตได้ภายใน 2 ปี ให้ผลผลิตปีละครั้งเป็นอย่างต่ำ และให้ผลผลิตตลอดอายุต้น 60-70 ปี

หน้า 44




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2557   
Last Update : 17 ธันวาคม 2557 10:25:36 น.   
Counter : 4342 Pageviews.  


"ก๊าซมูลหมู" ในชุมชน แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่สระบุรี

มนตรี แสนสุข


การ นำเอาก๊าซที่เกิดจากการหมักมูลสุกรมาใช้ประโยชน์ทำเป็นก๊าซหุงต้มให้ชาวบ้าน ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนลดค่าใช้จ่าย ค่าก๊าซหุงต้ม อันเป็นแนวทางหนึ่งของ คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" คือลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ สร้างฐานคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

โครงการ ผลิตก๊าซมูลหมูในชุมชนนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ร่วมกับ "มูลนิธิพลังงานสีเขียว" เข้าไปดำเนินการในชุมชนที่บ้านโคกแดง หมู่ที่ 9 ตำบลโคกตูม อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี คุณเติมศักดิ์ แก้วมรกต เกษตรอำเภอหนองแค กล่าวว่า เดิมทีเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงหมู ก่อให้เกิดมลภาวะทางกลิ่น สร้างความรำคาญเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นอันมาก ทางนักวิชาการเกษตรของสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จึงได้จัดทำโครงการผลิตก๊าซมูลหมูในชุมชนขึ้นมา โดยประสานงานกับทางมูลนิธิพลังงานสีเขียวให้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งชาวบ้านทุกครัวเรือนก็สมัครใจให้ความร่วมมือเข้าโครงการมาแล้ว 1 ปี ใช้ก๊าซฟรีมาตลอด เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอหนองแค ที่ลดค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนแก่ทุกครัวเรือนในชุมชน

คุณวิชัย เอกจิตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เป็นผู้เริ่มดำเนินการโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน กล่าวว่า การที่ทำโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชนขึ้นมา ก็เพราะเห็นว่าชาวบ้านที่อยู่ในชุมชน โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้กับฟาร์มเลี้ยงหมูของ คุณลุงบุญส่ง พรหมศาสตร์ เจ้าของฟาร์ม มีปัญหาได้รับผลกระทบจากกลิ่นมูลหมูอย่างต่อเนื่องทุกวันมาหลายปี มีการร้องเรียนถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบกันหลายครั้ง

คุณวิชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ในชุมชนบ้านโคกแดง หมู่ที่ 9 ตำบลโคกตูม นั้น มีผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่อยู่รายเดียวคือฟาร์มของคุณลุงบุญส่ง ในรัศมี 1 กิโลเมตร จากฟาร์มหมูมีบ้านเรือนราษฎรอยู่ 22 ครัวเรือน กับวัดอีก 1 วัด คือ วัดโคกแดง จึงได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนในชุมชน ว่าจะทำโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน ลดปัญหามลภาวะทางกลิ่นลง ซึ่งชาวบ้านทุกครัวเรือนก็พร้อมเข้าร่วมโครงการ

"ผมอยู่ที่กรมส่ง เสริมการเกษตร กรุงเทพฯ เคยทำโครงการนี้มาก่อน จึงได้ติดต่อไปทางมูลนิธิพลังงานสีเขียว แล้วดำเนินการจัดทำโครงการขึ้นมา"

คุณ วิชัย กล่าวและว่า ในขั้นแรกทางมูลนิธิพลังงานสีเขียว มีงบประมาณช่วยเหลือมาประมาณ 370,000 บาท จากนั้นก็ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุกครัวเรือน ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร จากฟาร์หมูของคุณลุงบุญส่ง ซึ่งมีทั้งหมด 22 ครัวเรือน สมทบทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสร้างบ่อก๊าซเพื่อส่งก๊าซเข้าถึงทุก ครัวเรือน เป็นเงินครัวเรือนละ 2,000 บาท

หลังจากนั้น ทางมูลนิธิก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการมาสร้างบ่อผลิตก๊าซมูลหมูที่ฟาร์ม ของคุณลุงบุญส่ง แล้วต่อท่อ พีอี จากบ่อผลิตก๊าซเข้าถึงทุกครัวเรือน หัวท่อก๊าซหุงต้มในครัว ชาวบ้านสามารถใช้ก๊าซที่ผลิตจากมูลหมูในฟาร์มของคุณลุงบุญส่งได้เลย โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2551 มาจนถึงทุกวันนี้ เกือบ 2 ปีแล้ว ชาวบ้านใช้ก๊าซหุงต้มฟรีมาตลอด ประหยัดเงินตราค่าใช้จ่ายซื้อก๊าซหุงต้มได้มากมาย นับว่าเกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

สำหรับคุณลุงบุญส่ง เจ้าของฟาร์มนั้น ถือว่าเป็นผู้เสียสละให้ใช้สถานที่เป็นที่ผลิตก๊าซมูลหมู ประโยชน์ก็เกิดกับคุณลุงบุญส่งเช่นกัน ทำให้โรงเรือนเลี้ยงหมูของคุณลุงไม่ส่งกลิ่นเหม็นไปรบกวนเพื่อนบ้าน การร้องเรียนก็ไม่เกิดขึ้น ทุกคนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ เป็นความเกื้อกูลซึ่งกันและกันในชุมชน

ทางด้าน คุณลุงบุญส่ง พรหมศาสตร์ เจ้าของฟาร์มหมูที่บ้านโคกแดง หมู่ที่ 9 จุดกำเนิดโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน กล่าวว่า ตนเลี้ยงหมูมานานแล้ว เริ่มเลี้ยงหมูตั้งแต่เลี้ยงลูกหมูตัวเดียวจนกลายเป็นฟาร์มใหญ่ขึ้นมา เมื่อครั้งนั้นมีเพื่อนฝูงเอาลูกหมูเหลือนมเป็นลูกหมูเพศเมียมาให้

"เมื่อ เขาให้ลูกหมูมา ผมไม่รู้จะไปให้ใครต่ออีก จำต้องเลี้ยงเอาไว้ พอหมูโตขึ้นก็เอาไปผสมพันธุ์ได้ลูกออกมาเลี้ยงบ้างขายเป็นเงินทุนค่าอาหาร หมูต่อไปบ้าง จากจุดนั้นคือเลี้ยงหมูตัวเดียว ปัจจุบันนี้ ผมมีพ่อแม่พันธุ์หมู ประมาณ 80 ตัว มีลูกหมูทุกขนาด ประมาณ 400-500 ตัว เมื่อก่อนเคยมีพ่อแม่พันธุ์ถึง 140 ตัว ใช้โรงเรือนเลี้ยงหมู 5 โรงเรือนใหญ่"

คุณลุงบุญส่ง กล่าวพร้อมกับเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อมีประชากรหมูเป็นจำนวนมากเกิดปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียจากโรงเรือน เลี้ยงหมูขึ้นมา จนกระทั่งปลายปี 2551 ทางเกษตรก็มาแนะนำให้เข้าร่วมโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน โดยจะใช้สถานที่ฟาร์มของตนทำเป็นบ่อผลิตก๊าซส่งก๊าซไปให้ชุมชนได้ใช้กัน ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งลดปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งมวลด้วย จึงเข้าร่วมโครงการให้ใช้สถานที่ในฟาร์มทำเป็นที่ผลิตก๊าซ

คุณลุงบุญ ส่ง บอกว่า ทางเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิพลังงานสีเขียวเข้ามาทำบ่อหมักมูลหมูเพื่อนำก๊าซ ที่เกิดจากมูลหมูมาใช้ โดยทำเป็นบ่อโดมใหญ่ขุดลงไปใต้ดิน ลึกประมาณ 3 วา กว้าง 4 วา จากนั้นก็ทำรางน้ำต่อจากโรงเรือนเลี้ยงหมูทุกโรงมายังบ่อโดมใหญ่กลางพื้นที่ ท้ายบ่อทำเป็นทางน้ำล้น สามารถดูดกากมูลหมูออกได้

คุณลุงบุญส่ง อธิบายว่า จากโรงเรือนเลี้ยงหมูพอเราทำความสะอาดใช้สายยางฉีดมูลหมูในคอก น้ำล้างมูลหมูแต่ละคอกในโรงเรือนก็จะไหลลงสู่ท่อรางน้ำที่ทำไว้โดยรอบ แล้วไหลลงสู่บ่อโดมใหญ่กลางพื้นที่ เมื่อมูลหมูถูกหมักอยู่ในบ่อใหญ่จะเกิดเป็นก๊าซลอยตัวออกมาเข้าสู่ท่อส่ง ก๊าซเหนือบ่อใหญ่ ก๊าซจะลอยตัวไปตามท่อ พีอี ที่ต่อจากบ่อใหญ่ไปสู่หมู่บ้านในชุมชน จนถึงหัวท่อก๊าซในครัว ทุกบ้านสามารถเปิดใช้เป็นก๊าซหุงต้มได้เลย

คุณลุงบุญส่ง อธิบายต่ออีกว่า สำหรับกากของเสียในบ่อหมักก๊าซบ่อใหญ่จะถูกดันออกมาท้ายบ่อ ต้องใช้สายยางใหญ่สูบเอากากออกมาใส่ในลานตากกากที่ทำเป็นบ่อกว้างไม่ลึกมาก นัก เพื่อตากกากมูลหมูให้แห้ง พอแห้งก็เอาไปใช้เป็นปุ๋ยมูลหมูต่อไป

"ปุ๋ย มูลหมูนี้ ผมใส่กระสอบขาย กระสอบละ 22 บาท รายได้เป็นค่าใช้จ่ายค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เสื่อมสภาพที่ใช้ในการผลิตก๊าซมูลหมู เพราะค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่อยู่ในฟาร์ม ผมต้องออกเองทั้งหมด"

คุณลุง บุญส่ง กล่าวและว่า ปุ๋ยมูลหมูทำออกมาก็ขายไป ส่วนน้ำที่ออกมาจากบ่อหมักก๊าซบ่อใหญ่ทางท่อน้ำล้น ตนเอาน้ำส่วนนั้นมากักเก็บไว้อีกบ่อหนึ่ง เพื่อเอาไปใส่ในนาข้าว โดยการสูบเข้าไปพร้อมกับน้ำที่สูบเข้านาข้าว อัตราส่วนให้น้ำจากแหล่งน้ำมากกว่าน้ำเสียจากบ่อหมัก

"ถามว่า ดีไหม ตอบว่า ผมได้ข้าวดีกว่าเขาก็แล้วกัน ผมเพิ่งจะมาทำนาประมาณ 20 ไร่ ใช้น้ำเสียจากบ่อหมักก๊าซ ครั้งแรกได้ข้าว 85 ถัง ครั้งที่ 2 ได้ 87 ถัง ครั้งที่ 3 ได้เกือบ 100 ถัง ก็เห็นผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกงวดๆ สำหรับปุ๋ยขี้หมูผมไม่เอามาใส่ ใช้น้ำของเสียจากมูลหมูใส่ในนาเดือนละครั้ง ส่วนปุ๋ยสูตรก็มีโรยๆ บ้างตอนข้าวตั้งท้อง ใส่ไร่หนึ่ง 3-4 กิโล เท่านั้น ใช้น้อยมากครับ"

คุณลุงบุญส่ง กล่าวอีกว่า ส่วนรกหมูนั้น ตนนำมาทำฮอร์โมนรกหมูฉีดพ่นทางใบ ได้ผลดีมากๆ ข้าวงามทั่วท้องทุ่ง จะลองทำใช้บ้างก็ได้ สำหรับการติดต่อสื่อสารติดต่อที่ทางเกษตรดีกว่า ทางผมไม่ค่อยสะดวก วันๆ วุ่นอยู่กับการเลี้ยงหมู (หัวเราะ) สำหรับสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแคหาไม่ยาก เลาะริมคลองชลประทาน จากถนนพหลโยธินไปทางซ้ายมือ โทร. (087) 938-2779 ในเวลาราชการขอรับ




 

Create Date : 29 มกราคม 2554   
Last Update : 29 มกราคม 2554 9:20:37 น.   
Counter : 1896 Pageviews.  


เห็ดแชมปิญอง สร้างรายได้ให้เกษตรกร ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง เชียงใหม่

ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์ใจ กัญชนะ



เห็ด แชมปิญอง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดกระดุม เป็นเห็ดเมืองหนาว ลักษณะของสายพันธุ์มีสีขาว สีครีม และสีน้ำตาล ซึ่งที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีอากาศเหมาะสมสำหรับการเพาะเห็ดแชมปิญองที่ได้คุณภาพ ที่ดี และผลผลิตออกจำนวนมาก

คุณสมชาย ปัญญา หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางศูนย์ได้ปลูกเห็ดแชมปิญองพันธุ์สีขาว ลักษณะขาเห็ดจะค่อนข้างเล็กและยาว มีคุณภาพที่ดีทั้งรส กลิ่น เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน ส่วนอีกพันธุ์คือ พันธุ์สีน้ำตาล ลักษณะดอกเห็ดมีสีน้ำตาล กลิ่นหอม เนื้อแน่น ขาเห็ดสั้น ผลผลิตสูง ทนร้อน

สำหรับขั้นตอนการเพาะเห็ด เริ่มแรกต้องเตรียมโรงเรือนให้พร้อม โดยโรงเรือนที่เพาะเห็ดมีลักษณะหลังคาจั่ว มุงด้วยใบตองตึง หรือจาก ด้านในของหลังคากรุด้วยพลาสติคเพื่อช่วยเก็บความชื้น ด้านข้างของโรงเรียนนำใบตองตึงหรือจากมากั้นให้เต็มทั้ง 4 ด้าน พร้อมทั้งทำประตูให้ปิดสนิทเพื่อช่วยเก็บความชื้น ภายในโรงเรือนมีชั้นสำหรับเพาะเห็ด โดยใช้ไม้ไผ่เป็นพื้นในแต่ละชั้น ปกติชั้นที่ทำมีประมาณ 3 ชั้น แต่ละชั้นห่างกัน 50 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ยาว 6 เมตร และรอบๆ ชั้นให้เป็นทางเดินในการดูแล เก็บเห็ด ภายหลังจากการสร้างชั้นเรียบร้อยแล้ว นำปุ๋ยหมักที่หมักจากฟางใส่ในชั้นให้ได้ความหนาประมาณ 15-20 เซนติเมตร พอใส่ปุ๋ยหมักได้ตามความหนาที่กำหนดแล้ว นำไม้แผ่นเล็กๆ ตีเบาๆ ให้ปุ๋ยแน่นพอสมควร ซึ่งปุ๋ยหมักที่อยู่ในชั้น วันที่ 2 จะมีอุณหภูมิค่อยๆ สูงขึ้น และวันที่ 3 และ 4 อุณหภูมิค่อยๆ ลดลง ถ้าอุณหภูมิปุ๋ยหมักลดลงต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส หรือใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง นำเชื้อเห็ดใส่ลงบนปุ๋ยหมักที่เตรียมไว้ โดยวิธีการหยอดคือใช้นิ้วขุดปุ๋ยหมักให้เป็นรูเล็กๆ ลึกประมาณ 3 เซนติเมตร หยิบเชื้อเห็ดลงในรู แล้วเอาปุ๋ยหมักปิดรู้เอาไว้ กดเบาๆ เพื่อให้เห็ดซ่อนตัวอยู่ในปุ๋ยหมักหรือโดยวิธีการหว่าน คือ นำปุ๋ยหมักออกจากชั้นประมาณ 3 เซนติเมตร หว่านเชื้อเห็ดให้ทั่ว จากนั้นเอาปุ๋ยหมักที่นำออกมานั้น มากลับทับอย่างเดิม

หลังจากที่ ใส่เชื้อเห็ดลงไปเรียบร้อยแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้เชื้อเดินประมาณ 2-3 วัน ถ้าผิวหน้าของปุ๋ยหมักแห้งให้พ่นน้ำเป็นฝอยละเอียด ให้ผิวหน้าชื้น ประมาณ 20 วัน เส้นใยเห็ดจะเดินเต็ม ปุ๋ยหมักลักษณะเป็นสีขาว และนำดินร่วนมาทับหน้าเชื้อเพื่อให้เกิดดอก จากนั้นให้รดน้ำทุกวันจนดินชุ่มอยู่ตลอด แต่ไม่ให้ดินแฉะจนเกินไป โดยรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและเย็น ซึ่งภายหลังจากนี้ประมาณ 10-15 วัน จะเกิดตุ่มเห็ด และค่อยๆ ขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมที่เกิดดอกเห็ดประมาณ 15-18 องศาเซลเซียส พร้อมสิ่งที่เป็นปัจจัยร่วมด้วยก็คือความชื้นสัมพัทธ์ในโรงเรือนประมาณ 80-95%

แสงและอากาศ การเกิดดอกเห็ดจะเกิดเป็นชุดๆ ผลผลิตเริ่มจากน้อยๆ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนถึงผลผลิตสูงสุดแล้วผลผลิตค่อยๆ ลดต่ำลงมา (จากจุดที่มีผลผลิตสูงสุดจนถึงผลผลิตต่ำสุด เรียกว่า 1 พลัช) แต่ละพลัชห่างกันประมาณ 7 วัน ระยะเวลาการออกดอกของแต่ละพลัชขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศ อาหารในปุ๋ยหมัก โดยในแต่ละครั้งที่ลงเชื้อเห็ดลงไป เห็ดจะออกดอกได้ประมาณ 3-4 พลัช จึงสามารถเก็บดอกเห็ดได้นานประมาณ 2-3 เดือน ภายหลังจากหมดดอกแล้วสามารถนำปุ๋ยหมักที่เพาะเห็ดไปเป็นปุ๋ยต่อได้อีก ส่วนภายในโรงเรือนจะทำความสะอาดและนำรุ่นใหม่มาลง ซึ่งการปลูกเห็ดตลอดทั้งปี ถ้ามีอุณหภูมิที่เหมาะสม

ส่วนผลผลิตเห็ด ที่เก็บจะเก็บเห็ดที่ยังตูมอยู่ ขอบของหมวกเห็ดเกาะแน่นอยู่กับขาเห็ด ดอกเห็ดในช่วงนี้มีน้ำหนักดีที่สุด ซึ่งเห็ดสีน้ำตาลมีขนาด 4 นิ้ว สีขาวมีขนาด 1.5-2 นิ้ว โดยวิธีเก็บดอกเห็ดใช้ 2 นิ้ว ที่ถนัดจับโคนเห็ดบิดเบาๆ เห็ดจะหลุดออกมา จากนั้นใช้มีดตัดโคนเห็ดที่มีดินติดมาด้วยทิ้งไปและนำดอกเห็ดวางในตะกร้า ลักษณะหงายดอกเอาก้านขึ้น เพื่อป้องกันการช้ำของดอกเห็ด ซึ่งการเก็บจะเก็บวันละ 2 ครั้ง โดยผลผลิตใน 1 โรงเรือน ประมาณ 3 ตัน ราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท

นอกจากทางศูนย์จะทำการวิจัยและเพาะเห็ดแชมปิญองเพื่อจำหน่ายแล้ว ยังส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเห็ดสร้างรายได้กับครอบครัว

ผู้ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกเห็ดแชมปิญองได้ที่ คุณสมชาย ปัญญา หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง โทรศัพท์/โทรสาร (053) 939-10




 

Create Date : 29 มกราคม 2554   
Last Update : 29 มกราคม 2554 9:04:50 น.   
Counter : 6147 Pageviews.  


เทมเพรส และออเร้นฮาร์ท เฮลิโคเนียพันธุ์ใหม่สุดสวย กลุ่มไม้ตัดดอกเมืองร้อนกาญจนบุรี...เขามี

พานิชย์ ยศปัญญา


เป็น เวลา15 ปีแล้ว ที่กลุ่มไม้ตัดดอกเมืองร้อนกาญจนบุรี รวมตัวกันขึ้นมา ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 13 คน พื้นที่ปลูกขณะนี้เกือบ 200 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเฮลิโคเนีย (ธรรมรักษา) ขิงแดง ขิงชมพู กล้วยประดับ ดาหลา งาช้าง ลิ้นมังกร

ก่อนปี 2538 ไม้ตระกูลเฮลิโคเนียได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งดอกเล็ก ดอกใหญ่ ช่อตั้ง ช่อห้อย ช่วงนั้นเฮลิโคเนียถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ แต่เขาก็สวยของเขาจริงๆ

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้จัดสัมมนาขึ้น วันที่ 1 เมษายน 2538 ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

สาเหตุ ที่มีการรวมกลุ่มกันนั้น เนื่องจากว่า ชาวบ้านแถบอำเภอท่าม่วง ท่ามะกา และอำเภออื่นๆ ปลูกไม้ดอกเมืองร้อนแล้วขายไม่ได้ จึงรวมตัวเพื่อสร้างตลาด แรกสุดเมื่อมีผลผลิตก็นำไปเสนอตามร้านที่กรุงเทพฯ

"นำดอกไม้ไปขายที่ กรุงเทพฯ แบกไปฝนก็ตก ไปหลายร้าน เขาไม่รับซื้อ มีอยู่ร้านหนึ่งรับซื้อ ส่งไปหลังๆ ไม่ได้เงิน" คุณอนงค์ วงศ์พัว สมาชิกคนหนึ่งให้ข้อมูล

ถึง แม้ขายผลผลิตไม่ได้ แต่สมาชิกของกลุ่มก็ไม่เข็ด พยายามนำดอกไม้ไปเสนอขาย หรือไปจัดโชว์ งานแต่ง งานบวช งานศพ จนหลังๆ คนเริ่มสนใจ คนรู้จักมากขึ้น

พื้นที่ การผลิตเดิมไม่มากนัก ต่อมามีมากขึ้น การตลาดนั้น 20 เปอร์เซ็นต์ ขายในเมืองไทย ส่วนใหญ่ส่งต่างประเทศ จะมีบริษัทเอกชนมารับไปราว 5 บริษัท ด้วยกัน

ศูนย์รวมการบรรจุจะอยู่ที่บ้าน คุณประเสริฐ ลมพัด แกนนำของกลุ่ม บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รูปแบบการซื้อขายนั้น เมื่อมีออเดอร์มา ทางกลุ่มก็แบ่งกัน อย่างบริษัทสั่งเฮลิโคเนียพันธุ์บิ๊กบัด 500 ดอก ก็จะมีการกระจาย คนละ 100 ดอก 50 ดอก ไม่เท่ากัน ใครมีมากขายมาก ใครมีน้อยขายน้อย บางคราวอาจจะไม่พอ

การรวมกลุ่มในลักษณะอย่างนี้ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สมาชิกมีความสมานสามัคคี จนหน่วยงานต่างๆ ต้องไปศึกษาดูงาน



เฮลิโคเนีย ยังไปได้

แนว ทางการผลิตไม้ตัดดอกเมืองร้อนของเกษตรกรที่นี่ เขาแบ่งผลิตเป็นเอกเทศ พื้นที่การผลิตมีตั้งแต่ 5 ไร่ บางคน 30 ไร่ ชนิดของไม้ที่ปลูก บางคนปลูกเฮลิโคเนียกับขิงแดง บางคนอาจจะมีปลูกทุกอย่าง มากบ้างน้อยบ้าง

เฮลิโคเนีย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังจำหน่ายได้อย่างสม่ำเสมอ

มี การนำเข้าสายพันธุ์เฮลิโคเนียจากต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยจำนวนมาก โดยแบ่งได้หลายขนาด อย่างดอกเล็ก เหมาะปลูกประดับ แต่ปัจจุบันนิยมปลูกดอกขนาดใหญ่เป็นการค้า ทั้งช่อตั้งและช่อห้อยย้อย

ถึงแม้พันธุ์เฮลิโคเนียจะมีมากจริง แต่ที่ปลูกเป็นการค้ามีไม่มากนัก

เฮลิโคเนียปลูกเป็นการค้าและนิยมมากที่สุด ต้องยกให้ "บิ๊กบัด" ช่อตั้ง และช่อห้อยย้อย อย่าง

"เซ็กซี่พิงค์"

อย่างอื่นๆ ก็มี เช่น ไจแอนท์ชี พิชชี่พิงค์ ลอบเตอร์คลอร์ 1 ลอบเตอร์คลอร์ 2 ลอบเตอร์คลอร์ 3 มาคัตพิงค์ อีเด้นพิงค์ อิมพีเรียล

ราคาซื้อขายเฮลิโคเนียค่อนข้างคงที่ อย่างบิ๊กบัด ราคา 18-20 บาท มานานปี เจ้าเซ็กซี่พิงค์ 30 บาท มานานเช่นกัน

ปริมาณ การขายนั้น ระยะเวลา 15 ปี ที่กลุ่มผู้ปลูกผลิตไม้ตัดดอกจำหน่ายพบเห็น มีขึ้นมีลง กราฟสูงสุดนั้นอยู่ในช่วง ปี 2550-2551 แต่จากนั้นมา เพราะการเมือง และทางดูไบมีปัญหา ปริมาณจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สมาชิกก็อยู่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ปลูกเพียงครั้งเดียวแล้วอยู่ได้นาน ปัจจัยการผลิต อย่างปุ๋ยแทบไม่ต้องใส่ให้ แต่เรื่องน้ำสำคัญ หากขาดน้ำผลผลิตลดลงแน่



เทมเพรส และออเร้นฮาร์ท

เฮลิโคเนียพันธุ์ใหม่ สวยมาก

งานผลิตไม้ดอกเมืองร้อนของเกษตรกรที่นี่ เรื่องของสายพันธุ์ เขาศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อย่างดาหลา คุณประเสริฐ มีการเพาะเมล็ดและได้ดอกแปลกใหม่สวยงามไม่น้อย

แต่ ไม้ดอกบางชนิด อย่างเฮลิโคเนีย ไม่สามารถพัฒนาพันธุ์ได้เอง ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาทางกลุ่มซื้อเข้ามาแล้วไม่น้อย อย่างเฮลิโคเนีย เทมเพรส และออเร้นฮาร์ท

เฮลิโคเนียเทมเพรส เป็นเฮลิโคเนียดอกใหญ่ ตรงกลางดอก คือแกนก้านดอกสีขาวนวล ดอกสีแดง มีเหลือบ ขอบดอกสีเขียว อายุการใช้งานราว 7 วัน จุดเด่นอยู่ที่สีสันของดอกแจ่มจ้า สว่างไสว ดอกดกไม่น้อยไปกว่าสายพันธุ์อื่น

ทางกลุ่มสั่งซื้อจากต่างประเทศ ต้นละ 6,000 บาท เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

เฮ ลิโคเนียออเร้นฮาร์ท แกนก้านดอกสีส้มแก่ๆ ดอกสีแดงออกส้ม จุดเด่นอยู่ที่มีความสวยงาม สีสันเจิดจ้า อายุการใช้งาน 7 วัน หมายถึงงามอยู่บนแจกันได้ 1 สัปดาห์ ปริมาณของดอกดก ใกล้เคียงสายพันธุ์อื่น

คุณ ประเสริฐ บอกว่า ทุกวันนี้ทางกลุ่มปลูกบิ๊กบัดเป็นการค้าจำนวนมาก แต่ เทมเพรส และออเร้นฮาร์ท ยังไม่ได้นำเสนอลูกค้า เพราะพื้นที่ปลูกไม่มากนั่นเอง หากขืนเสนอไปแล้ว หากตลาดต้องการจะไม่มีผลผลิต

เรื่องราวของราคาต้นพันธุ์เฮลิโคเนีย ทุกวันนี้ ตกต้นละ 120 บาท โดยเฉลี่ย แต่ เทมเพรส และออเร้นฮาร์ท คุณประเสริฐ บอกว่า ราคาสูงกว่าสายพันธุ์ทั่วไป แต่ไม่ใช่ต้นละ 6,000 บาท เหมือนกับซื้อมาครั้งแรก

คุณประเสริฐ บอกว่า ทางกลุ่มเน้นปลูกเพื่อจำหน่ายผลผลิต ส่วนต้นพันธุ์นั้นมีจำหน่ายบ้าง สำหรับผู้สนใจและพร้อมจริงๆ หากใครไปศึกษาแล้วยังไม่มีความรู้ ยังไม่พร้อม รวมทั้งตลาดไม่แน่นอน ทางกลุ่มไม่แนะนำให้ปลูกมากๆ

"มีคนมาถามเรื่อง ตลาด ผมบอกเขาไปว่า หากปลูกน้อยๆ คนเดียวมีปัญหาเรื่องตลาดแน่ ดังนั้น ต้องปลูกมากๆ อาจจะทำไม่ไหว ควรรวมกลุ่มกัน ตลาดก็หากันในท้องถิ่น เมื่อมาถามซื้อพันธุ์ เราไม่ได้ขายให้เพื่อได้เงินเขามา แต่อยากให้เขาเข้าใจการผลิตจริงๆ จะได้ไม่เสียหายภายหลัง" คุณประเสริฐ กล่าว



ฟังเสียงสมาชิกกลุ่ม

คุณอนงค์ วงศ์พัว ปลูกไม้ดอกเมืองร้อน 10 ไร่ มีหลายชนิดด้วยกัน นอกจากปลูกไม้ดอกแล้ว ยังทำนาอีก 10 ไร่

ราย ได้จากการจำหน่ายผลผลิตของคุณอนงค์ ช่วงที่จำหน่ายได้น้อยสุดอยู่ที่เดือนละ 2.5 หมื่นบาท แต่บางช่วงอาจจะสูงขึ้นกว่าเท่าตัว แล้วแต่สถานการณ์ ในรอบปีหนึ่ง ปริมาณการรับซื้อของบริษัทจะมากช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ก่อนเดือนตุลาคม ปริมาณไม่มากนัก

"เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2538 ไม่เคยหยุดเลย ไม่ค่อยได้โละทิ้งแล้วปลูกใหม่อย่างอ้อย แต่ปลูกแล้วจะขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ไม้ดอกเมืองร้อนยังไปได้ แต่อาจจะมีขึ้นมีลง ราคาไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะอยู่ที่ปริมาณการสั่งซื้อ ผู้ที่เริ่มปลูกใหม่ เวลาปีครึ่งถึงสองปีจึงเริ่มเก็บผลผลิตขายได้ ตอนนี้ยังรับจัดดอกไม้ตามงานต่างๆ ราคามีตั้งแต่งานละ 5,000 บาท ไปจนถึง 10,000 บาท แล้วแต่งานเล็กงานใหญ่ หากงานใหญ่และอยู่ไกล อาจจะ 20,000 บาท ผลผลิตเราเน้นใช้จากกลุ่ม เขาชอบเพราะเป็นไม้แปลกใหม่ สดใส งานที่รับจัดคือ งานแต่งงาน งานจัดซุ้ม งานศพ...สำหรับคนที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ โดยเริ่มต้นใหม่ จะยากสักหน่อย เพราะต้องหาตลาดให้ได้เสียก่อน คุณราตรี (ภรรยาคุณประเสริฐ) ไปเปิดร้านดอกไม้ที่ท่าม่วง ชื่อเหมือนฝันฟลอรีส รับงานจัดดอกไม้" คุณอนงค์ บอก

คุณชูศักดิ์ โรจน์พวง ผู้ปลูกไม้ตัดดอกเมืองร้อนอารมณ์ดี บอกว่า ตนเองมีพื้นที่ผลิต 5 ไร่ แรงงานมีเพียง 2 คน เพราะลูกๆ ไปทำงานที่กรุเทพฯ กันหมด

"ผลผลิต เริ่มขายดี ปี 2542-2543 เป็นอาชีพที่ดี ต้นทุนการผลิตต่ำ ปุ๋ยใส่ให้มากไม่ได้ เพราะใส่ปุ๋ยมาก ดอกจะเหี่ยวไว ปลูกครั้งหนึ่งอยู่ได้เป็น 10 ปี" คุณชูศักดิ์ บอก

ศัตรูอย่างหนึ่ง ของเฮลิโคเนียที่ไม่เคยพบมากก่อนนั้นคือ หนูและกระรอก สัตว์ทั้งสองชนิดจะคอยกินน้ำเลี้ยงที่เกสร เพราะว่าที่เกสรน้ำเลี้ยงหวานมาก บางช่วงหน้าแล้ง เวลาให้น้ำ ต้นของเฮลิโคเนียอวบน้ำ หนูจะมากัดที่ยอดแล้วดูดกินน้ำ สร้างความเสียหายไม่น้อย

บางครั้งเฮลิโคเนีย 1 กอ มี 20 ดอก แต่ตัดจำหน่ายได้เพียงครึ่งเดียว ที่เหลือถูกศัตรูทำลาย

ถามว่า...มีวิธีหาตลาดอย่างไร

"ปลูก น้อยต้องหาที่ส่งเอง เริ่มจากหาตามโรงแรม ปลูกส่งออกต้องมีปริมาณมาก แต่ปลูกคนละเล็กคนละน้อย ต้องรวมกลุ่ม แล้วหาแกนนำกลุ่มให้ได้อย่างคุณประเสริฐ เพราะคุณประเสริฐเขาเสียสละ ไปสัมมนา ไปดูงาน ออกทุนเอง มีออเดอร์มาก็แบ่งเฉลี่ยกันอย่างยุติธรรม คนไทยเรารวมกลุ่มกันยาก เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาแล้วชักเป๋ กลุ่มเราอยู่ได้ไม่เป็นไร มีคนมาถามเรื่องการตั้งกลุ่ม ผมบอกว่า ตั้งได้ แต่ต้องมีคนอย่างคุณประเสริฐ ปลูกไม้ดอกคนเดียวต้องจำนวนมากไร่" คุณชูศักดิ์ บอก

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มนี้หลายครั้งด้วยกัน ไปครั้งใดจะได้เห็นสิ่งแปลกตาอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพราะพัฒนางานไม่หยุดนิ่งนั่นเอง ไม้บางชนิดเขาทำขายกันในระดับอุตสาหกรรม โดยตัดใบขายอย่างเดียว

การนำผู้สนใจเข้าไปชมงาน ในรูปเสวนาเกษตรสัญจร สมาชิกต่างก็ประทับใจ จนพยายามหาซื้อที่ดิน ไร่ละ 6-8 แสนบาท เพื่อปลูกไม้สวยๆ

ผู้ที่สนใจไม้เมืองร้อนก็ถามไถ่กันได้ อาจจะปลูกประดับเล็กน้อย หรือปลูกส่งขายก็ยังมีหนทาง

ถามกันได้ที่ คุณประเสริฐ ลมพัด โทร. (081) 763-1224




 

Create Date : 29 มกราคม 2554   
Last Update : 29 มกราคม 2554 9:04:00 น.   
Counter : 2119 Pageviews.  


เพาะเห็ดตีนแรด เป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้

การุณย์ มะโนใจ


เห็ด ตีนแรด หรือเห็ดตับเต่าขาว เป็นเห็ดสดที่มีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม ภาคเหนือเรียกว่า เห็ดจั่น ส่วนภาคกลางเรียกว่า เห็ดตับเต่าขาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เห็ดตีนแรด จัดได้ว่าเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าเห็ดหลายชนิด นำไปประกอบเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงใส่ผักชะอม ผัดใส่หมู ผัดน้ำมันหอย นึ่งจิ้มน้ำพริกข่า ต้มยำ นำไปประกอบเป็นอาหารเจได้ อนาคตจะเป็นเห็ดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเห็ดได้เป็นอย่างดี

ดอก เห็ดมีสีขาวหม่นหรือสีเหลืองอ่อน หมวกรูปครึ่งวงกลม หรือรูปกระทะคว่ำ ผิวเรียบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-25 เซนติเมตร ดอกอ่อนมีขอบม้วนงอเข้า ดอกแก่แบนลง ขอบหมวกหยักเป็นลอน และมีรอยฉีกขาดบางแห่ง เนื้อหมวกหนามีสีเดียวกันหมด ใต้หมวกมีครีบเป็นแผ่นสีขาวนวล กว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ความยาวของครีบมี 2 ระดับ และเรียงสลับกัน ก้านยาว 6-15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2-2.5 เซนติเมตร โคนโป่งเป็นกระเปาะใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร สีขาวนวล ผิวเป็นร่องขาวโดยรอบหรือเป็นลายตาข่ายตื้นๆ เนื้อภายในก้านเป็นสีขาวหม่น สปอร์ของเห็ดรูปไข่เกือบกลมขนาด 7-8x6-7 ไมโครเมตร

การผลิตถุงเชื้อมีวัสดุเพาะ ประกอบด้วย

1. ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม

2. รำละเอียด 5 กิโลกรัม

3. ยิปซัม 2 กิโลกรัม

4. ปูนขาว 1 กิโลกรัม

5. ดีเกลือ 200 กรัม

เห็ด ตีนแรดสามารถเจริญได้อย่างกว้างขวางในสูตรอาหารอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ฟางแห้งสับผสมกับซังข้าวโพดป่น ซังข้าวโพดป่นล้วน ไส้นุ่นล้วน ฟางสับล้วน ฟางหมักกับขี้ม้าหรือปุ๋ยเคมี และอาจใช้วัสดุหลายอย่างผสมกันในอัตราส่วนต่างๆ เชื้อเห็ดตีนแรดก็ยังคงเจริญได้ดี ถ้าต้องการให้เชื้อเจริญเร็วขึ้นให้เติมรำละเอียด 3% โดยน้ำหนักลงไป

การบรรจุถุง

ใช้ ถุงสำหรับการเพาะเห็ดโดยเฉพาะ ขนาด 6.5x12.5 นิ้ว โดยกรอกวัสดุเพาะที่ผสมเสร็จแล้วลงให้เต็มถุง ใช้มือปาดปากถุงแล้วทุบให้แน่นที่สุด ใส่คอขวดพลาสติคแล้วปิดด้วยจุกสำลี หรือจุกประหยัดสำลี จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งลูกทุ่ง มีความร้อนประมาณ 100 องศาเซลเซียส นาน 3 ชั่วโมง แล้วนำก้อนเชื้อเห็ดออกจากหม้อนึ่งเข้าห้องเขี่ยเชื้อ ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงเขี่ยเชื้อเห็ด

วิธีการเขี่ยเชื้อ

ให้ทำความสะอาดวัสดุทั้งหมดโดยการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ คือ

1. เช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ให้สะอาด

2. ใช้แอลกอฮอล์เช็ดขวดเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างให้ทั่วขวด

3. เขย่าขวดหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างให้เมล็ดแตกออกจากกัน ก่อนที่จะนำไปใส่ในถุงก้อนเชื้อเห็ด

4. เอาขวดเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างที่เขย่าจนแตกและเช็ดแอลกอฮอล์แล้ว ดึงสำลีที่ปิดปากขวดออกแล้วลนปากขวดด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อแล้วจึงเขี่ยเชื้อลงถุงก้อนเชื้อได้ โดยเทหัวเชื้อเห็ดเมล็ดข้าวฟ่างประมาณ 20-30 เมล็ด ต่อถุง แล้วปิดจุกด้วยสำลีทันที และหัวเชื้อที่ใส่ต้องใช้ให้หมด ถ้าเหลือจะทำให้มีเชื้ออื่นปนเปื้อน

การพักเชื้อเห็ด

เมื่อ เสร็จสิ้นกระบวนการเขี่ยเชื้อเห็ดแล้ว จึงนำเอาก้อนเชื้อเห็ดที่เขี่ยแล้วไปพักไว้ในโรงพักเชื้อที่ไม่มีลมโกรกและ สะอาด เพื่อให้เชื้อเห็ดเดินในถุงเพาะเต็มที่ จากนั้นนำเข้าโรงเรือนเพื่อเปิดดอก ซึ่งใช้ระยะเวลาการพักเชื้อประมาณ 50 วัน

วิธีการเปิดถุงให้เห็ดออกดอก

การปิดผิวหน้าก้อน เชื้อ วิธีนี้เป็นการนำถุงก้อนเชื้อที่เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว มาเปิดจุกสำลีแล้วดึงคอขวดออก จากนั้นจึงพับปากถุงจนถึงระดับที่อยู่สูงกว่าผิวก้อนเชื้อ 1-2 เซนติเมตร แล้วใช้มีดกรีดข้างถุงให้ขาดเป็นรอยยาว 1-2 เซนติเมตร 2-4 แห่ง เพื่อไม่ให้น้ำขัง จากนั้นจึงโรยดินกลบผิวหน้าก้อนเชื้อให้หนาประมาณ 0.1 -1 เซนติเมตร พร้อมกับยกเข้าเพาะในโรงเรือนเพาะเห็ด รดน้ำพื้นหน้าดินที่คลุมก้อนเชื้อให้ชื้น ทิ้งไว้ประมาณ 8-12 วัน จะพบตุ่มดอกเห็ดเล็กๆ

การนำก้อนเชื้อไปฝังดิน เพื่อให้ดอกเห็ดเกิดขึ้นคล้ายกับธรรมชาติ โดยการแกะถุงพลาสติคที่หุ้มก้อนเชื้อออกให้หมด และนำไปฝังยังบริเวณที่มีร่มเงา และมีความชื้นสูง ถ้าฝนตกสภาพภูมิอากาศเหมาะสมเห็ดตีนแรดก็จะงอกออกมาให้รับประทานทุกปี เพราะภายในดินมีเชื้อเห็ดชนิดนี้อยู่

การเพาะเห็ดตีนแรดร่วมกับการปลูกผัก

มีขั้นตอนดังนี้

จัด เตรียมพื้นและวัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะ ได้แก่ ดินป่นที่ขุดลึกจากผิวดิน 25 เซนติเมตร ก้อนเชื้อเห็ดตีนแรดที่เส้นใยเดินเต็มถุง (พื้นที่ 1 ตารางเมตร ใช้ก้อนเชื้อ 100 ก้อน) แปลงเพาะที่อยู่ในพื้นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง อากาศไม่หนาวจัดจนเกินไป ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเก่าๆ จัดเตรียมแปลงเพาะให้เหมาะกับการเพาะเห็ด โดยทำเป็นบ่อลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ขนาด 1x4 เมตร ต่อแปลง หรือกว้าง 1 เมตร ส่วนความยาวกำหนดเองตามต้องการ นำก้อนเชื้อเห็ดตีนแรดที่เส้นใยเดินเต็มถุงดีแล้ว มาฉีกเอาถุงพลาสติคออก ให้เหลือแต่ก้อนเชื้อ นำไปเรียงลงในแปลงชิดติดกันอย่างต่อเนื่องจนเต็มแปลงเพาะ (พยายามอัดก้อนเชื้อให้แน่น เพื่อให้เส้นใยของเห็ดแต่ละก้อนเดินประสานกันอย่างรวดเร็วเป็นเนื้อเดียว กัน) แล้วนำดินที่ขุดไว้มากลบบนก้อนเชื้อให้มิด หนาประมาณ 1-3 เซนติเมตร บ่มเชื้อในแปลง เห็ดตีนแรดจะใช้เวลาประมาณ 20-40 วัน ในการเกิดดอก (ถ้าในฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำจะเกิดดอกช้า) หลังจากเกิดตุ่มดอกแล้ว 7-10 วัน จึงจะเก็บผลผลิตได้ โดยขนาดหรือน้ำหนักดอกเห็ดจะขึ้นอยู่กับจำนวนก้อนเชื้อที่ใช้ โดยทั่วไปดอกเห็ดที่ได้จะหนักกว่า 1 กิโลกรัม และบางกลุ่มอาจหนักกว่า 10 กิโลกรัม

การปลูกผัก ให้นำเมล็ดผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ขึ้นฉ่าย มาทยอยปลูกลงในแปลง นำดินกลบบางๆ แล้วใช้ฟางข้าวคลุม รดน้ำให้ชุ่ม และรักษาความชื้นไม่ให้ดินแห้ง ผักที่ปลูกจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลา 40-60 วัน ซึ่งระหว่างนั้นเชื้อเห็ดตีนแรดจะเริ่มเกิดดอก เมื่อเก็บผักรุ่นแรกเสร็จให้ทำร่มเงาในแปลงผัก โดยใช้ตาข่ายพรางแสง 60-80 เปอร์เซ็นต์ ขึงสูงประมาณ 2.5 เมตร หรือใช้ทางมะพร้าวพรางแสงและบังลมแทนก็ได้ สำหรับแปลงผักที่เก็บเกี่ยวแล้วสามารถนำผักชีมาปลูกหรือผักกินใบที่อยู่ใน ร่มก็ได้ โดยนำดินผสมปุ๋ยอินทรีย์โรยก่อนปลูกผัก แล้วนำฟางข้าวคลุม ซึ่งในระหว่างที่ผักรุ่นสองเจริญเติบโต ให้ดูแลรดน้ำและรักษาความชื้นตามปกติ และเห็ดก็จะเจริญเติบโตเก็บดอกได้อีกครั้งประมาณ 40-60 วัน พร้อมกับการเก็บผักควบคู่กันไป สามารถเก็บผลผลิตอยู่ได้นานถึง 8 เดือน

ท่าน ผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ปรีชา รัตนัง สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 50290 โทร. (053) 873-380 ในวันและเวลาราชการ




 

Create Date : 29 มกราคม 2554   
Last Update : 29 มกราคม 2554 9:02:26 น.   
Counter : 1904 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com