แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

เลี้ยงปูนิ่ม-ปูขุน ตามสไตล์ง่ายๆ ของ วิบูลย์ ลีศิริชัยกุล ที่แม่กลอง

เทคโนโลยีการประมง

ไชย ส่องอาชีพ

เลี้ยงปูนิ่ม-ปูขุน ตามสไตล์ง่ายๆ ของ วิบูลย์ ลีศิริชัยกุล ที่แม่กลอง

บนพื้นที่ 40 ไร่ ณ บ้านเลขที่ 2/5 หมู่ที่ 5 ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ถูกแบ่งเป็นล็อค ล็อคละ 4 ไร่ และขุดเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มีประตูน้ำเข้าและออก

เดิมเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อมีโรคระบาดเข้ามารบกวน ก็เปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงปูทะเล เพื่อขุนขายสู่ท้องตลาด และต่อมาถูกพัฒนาเป็นฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ฟาร์มเลี้ยงปูที่นี่ใหญ่ที่สุดในแถวภาคกลาง เจ้าของชื่อ คุณวิบูลย์ ลีศิริชัยกุล (เล็ก) ซึ่งคนอยู่ในแวดวงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปูทะเลคงรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยว่าเขาคลุกคลีกับงานด้านนี้มายาวนานกว่า 10 ปี นั่นเอง

คุณเล็ก เรียนหนังสือจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นก็เข้าสู่วงการสัตว์น้ำเลย โดยเข้าเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนๆ เพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ช่วงแรกๆ ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อมีโรคระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัด คือสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม กุ้งที่เลี้ยงไว้ในบ่อก็หนีไม่พ้นกับโรคภัยที่มาเยือน ทำให้ตกชะตากรรมเหมือนกับเพื่อนร่วมอาชีพนับร้อยๆ รายที่ต้องสูญเสียทรัพย์ในน้ำไป รวมๆ แล้วจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว

"ผมไม่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงสัตว์น้ำมาเลย อาศัยเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น แต่หลังประสบปัญหาดังกล่าว เพื่อนๆ เริ่มถอยและถอนหุ้น ผมขอเดินหน้าสู้คนเดียว โดยมาศึกษาหาความรู้จากตำราในการเลี้ยงขุนปูทะเลขาย เมื่อเห็นว่ามีช่องทาง ก็ทดลองเลี้ยงปูทันที โดยช่วงแรกซื้อพันธุ์ปูมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นปูที่ลักษณะเนื้อยังไม่แน่น จากนั้นก็นำมาปล่อยเลี้ยงในบ่อกุ้งเดิม และให้อาหารกินทุกวัน เมื่อเลี้ยงครบ 15 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว เนื่องจากเนื้อปูจะแน่น และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวทีเดียว" คุณเล็ก เล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลงของอาชีพ

คุณเล็ก เลี้ยงปูทะเลเพื่อขุนขายสู่ท้องตลาดอยู่หลายปี จนเริ่มมีฐานะการเงินดีขึ้น ก็คิดที่จะพัฒนาอาชีพต่อ โดยการนำปูทะเลส่วนหนึ่งมาเลี้ยงเป็นปูนิ่ม ทั้งนี้ เพื่อสนองความต้องการของตลาดที่เปิดกว้างขึ้นนั่นเอง

"เลี้ยงขุนปูทะเลมันมีข้อกำจัดอยู่เรื่องหนึ่ง คือหากเราจับปูจากบ่อขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องนำออกไปขายในทันที เพราะว่าตลาดต้องการสัตว์เป็น แต่ถ้าเป็นปูนิ่มนั่นเราสามารถเก็บไว้ในตู้แช่แข็งได้นานนับปีเลยทีเดียว ซึ่งถ้าช่วงไหนเรามองว่าราคารับซื้อถูก ก็ไม่ขาย เก็บแช่แข็งไว้ ค่อยๆ ทยอยปล่อยไปเรื่อยๆ ก็ยังได้ โดยที่รสชาติคงเดิม ไม่จำเป็นต้องง้อตลาดก็ได้ พอใจขายก็ขาย ไม่พอใจก็ไม่ขาย นี่เป็นข้อดีของการเลี้ยงปูนิ่ม ที่ตรงกันข้ามกับขุนปูทะเลที่ไม่สามารถนำไปแช่แข็งได้ เพราะว่าตลาดไม่นิยม"

นอกจากนี้ การขุนปูทะเลในบ่อดินนั้น ก็ยังมีความจำเป็นต้องรีบจับขายทุกๆ 15 วัน หรือ 20 วันด้วย เพราะว่าหากเลี้ยงนานกว่านี้ย่อมเกิดความเสียหายขึ้นได้ โดยเฉพาะปูเพศเมียที่มีไข่แก่เต็ม ด้วยว่าธรรมชาติของปูทะเลจะวางไข่หรือออกไข่ที่มีคลื่นทะเลเป็นตัวกระตุ้น ไม่เช่นนั้นมันจะแน่นท้อง และตายไปในที่สุด

แม้ว่าคุณเล็กจะรับรู้ถึงข้อกำจัดเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเลี้ยงขุนปูทะเลขายอยู่ เนื่องจากในการสั่งปูเข้ามาแต่ละครั้งมักมีปูตัวเมียติดมาด้วย ซึ่งถ้านำไปเลี้ยงเป็นปูนิ่มจะใช้เวลานานและไม่ค่อยได้ผลดีเท่าที่ควร

"นอกจากนี้ บางครั้งลูกน้องตรวจเช็คปูนิ่มไม่ทัน หรือดูแลไม่ทั่วถึงก็กลายเป็นปูแข็ง หากนำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่มต่อต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วผมจะนำมาเลี้ยงเป็นปูขุนแทน เพราะว่าใช้ระยะเวลานาน 15-20 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว" คุณเล็ก กล่าว

สำหรับราคารับซื้อหรือขายสู่ตลาดนั้น คุณเล็กบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นปูนิ่มหรือปูทะเลราคาจะใกล้เคียงกัน คือ 250 บาท (ขนาดปู 6 ตัว ต่อกิโลกรัม) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือช่วงเทศกาลด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ฟาร์มเลี้ยงปูของคุณเล็กปัจจุบันนี้จะเน้นเลี้ยงปูนิ่มเป็นหลัก ส่วนขุนปูทะเลนั้นได้กลายเป็นงานเสริมไปแล้ว เนื่องจากมีข้อกำจัดดังกล่าวนั่นเอง



เลี้ยงปูนิ่มต้องลงทุนเพิ่ม

บ่อเลี้ยงปูนิ่มนั้นตรงกลางบ่อคุณเล็กจะลงทุนสร้างศาลาและทางเดินตามแนวกว้างของบ่อทุกบ่อ ทั้งนี้ ไม่เพียงสามารถเดินไปมาได้สะดวกเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการให้คนงานนั่งคัดเลือกและให้อาหารปูนิ่มด้วย

หลังคามุงด้วยหญ้าคา ส่วนทางเดินทำด้วยไม้มะพร้าวปูแนบสนิท สำหรับเสานั้นใช้ไม้ไผ่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนนั่นเอง

"ผมคิดและออกแบบเอง แม้กระทั่งแพและตะกร้าเลี้ยงปูผมต้องค้นคว้าหาข้อดีข้อเสียก่อน จากนั้นจึงประดิษฐ์ออกมา ทุกวันนี้ผมยังพอใจกับผลงานอยู่เลย เพราะว่าใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรมากนัก และที่สำคัญราคาไม่สูงด้วย" คุณเล็ก กล่าว

คุณเล็ก ใช้ท่อ พีวีซี ทำเป็นแพ โดยต่อท่อยาวประมาณ 8-9 เมตร ประมาณ 8 ท่อ วางขนานกันเป็นแนวยาว ซึ่งแต่ละท่อจะมีระยะห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่วางเป็นแนวขวางและใช้เชือกผูกติดกับท่อ พีวีซี

1 บ่อ มีแพอยู่ประมาณ 20 แพ ซึ่งแต่ละแพสามารถนำตะกร้าพลาสติคเพื่อใช้เลี้ยงปูนิ่มได้หลายร้อยตัวเลยทีเดียว

"เมื่อเราทำแพเสร็จแล้ว ก็สั่งทำตะกร้าพลาสติคจากโรงงาน ขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร สูง 20 เซนติเมตร มีฝาปิดเปิดเรียบร้อย นำไปวางไว้บริเวณระหว่างช่องท่อ พีวีซี ซึ่งสามารถเรียงตะกร้าได้จำนวนมากและไม่กลัวว่าจะหลุดหรือร่วงลงสู่พื้นบ่อ เนื่องจากท่อ พีวีซี ที่เราออกแบบไว้นี้จะทำหน้าที่เป็นคานและบีบรัดตะกร้าด้วย" คุณเล็ก กล่าว

ด้านบนของตะกร้าจะถูกออกแบบให้มีรูใหญ่เท่ากับเหรียญ 5 จำนวน 12 รู ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการให้อาหาร และสามารถมองเห็นพฤติกรรมหรือช่วงลอกคราบของปูได้อย่างสะดวกนั่นเอง

"จริงๆ แล้ว ตะกร้าเลี้ยงปูนิ่มนั้น 1 ชุด มันจะมีสองลูก คือส่วนล่างกับบน ส่วนล่างนั้นเราออกแบบให้เป็นรูเล็กๆ เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้สะดวกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นรูใหญ่เหมือนกับด้านบน เพราะว่าทำหน้าที่แตกต่างกัน"

คุณเล็ก บอกว่า เมื่อสั่งซื้อพันธุ์ปูมา เราก็นำมาใส่ไว้ในกระชังหรือตะกร้าดังกล่าว จากนั้นก็หาเชือกมาผูก เพื่อให้ส่วนล่างกับบนตะกร้าประกบติดกัน

"หน้าที่พวกนี้ระยะหลังๆ ผมไม่ได้ทำเอง ส่วนใหญ่จะสั่งงานลูกน้องเกือบ 30 คน เป็นผู้ปฏิบัติ เรามีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเท่านั้น"



เลี้ยงปูนิ่ม ต้องตรวจเช็คทุกๆ 4 ชั่วโมง

ในการดูแลหรือการเลี้ยงปูนิ่มนั้นคุณเล็กบอกว่า ไม่ใช่มีเรื่องอะไรยุ่งยากนั้น เพราะว่าได้วางระบบไว้ค่อนข้างดี คือทุกๆ 4 ชั่วโมง คนงานจะเข้าไปตรวจเช็คการลอกคราบของปู โดยเข้าไปนั่งที่ศาลาหรือตามทางเดิน จากนั้นก็ดึงแพเข้ามาหาตัวเองอย่างช้าๆ สายตามองภายในตะกร้า หากพบว่า มีปูอยู่ 2 ตัว ก็จะยกตะกร้าขึ้น เพราะว่าปูลอกคราบเป็นปูนิ่มแล้ว

"เราให้อาหารกินทุกวันในช่วงบ่าย วันละ 1 ครั้ง โดยประมาณ 15 วัน ปูก็ลอกคราบแล้ว เพราะว่ามันสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งปัจจัยการลอกคราบนี้ ไม่เพียงเรื่องอาหารการกินเท่านั้น ความเค็มของน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย ส่วนใหญ่บ่อเลี้ยงปูนิ่มของผมนั้นความเค็มอยู่ที่ 20-25 พีพีที"

"และหากเราปล่อยไว้โดยไม่ตรวจเช็คการลอกคราบ ก็เป็นการทำให้กำไรหายหมด เพราะว่าปูทะเลพวกนี้ธรรมชาติกำหนดไว้ว่า หลังลอกคราบ 1-2 ชั่วโมง อวัยวะทุกส่วนก็เริ่มแข็งตัวแล้ว โอกาสที่จะเป็นปูนิ่มก็หลุดลอยไป ต้องใช้ระยะเลี้ยงหรือให้อาหารอีก 2-4 สัปดาห์ ถึงจะลอกคราบใหม่อีกครั้งหนึ่ง" คุณเล็ก กล่าว

สำหรับอาหารที่นำมาให้ปูกินนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกลูกปลานิล เพราะว่าราคาถูก โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ ที่ 6 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนปลาอื่นๆ อาทิ ปลาทู ปลาข้างเหลือง ซึ่งเป็นปลาทะเลนั้น ราคาไม่ต่ำกว่า 10 บาท ต่อกิโลกรัม ดังนั้น ที่ฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มของคุณเล็กมักนิยมใช้พวกลูกปลานิลเท่านั้น โดยวันหนึ่งๆ จะใช้ไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม เลยทีเดียว

"ปลานิลพวกนี้มันอาศัยอยู่ในบ่อกุ้งร้างๆ หรือไม่ก็ตามหนอง บึง ธรรมชาติ ชาวบ้านจะจับ แล้วนำมาขาย หากวันไหนมีน้อยหรือไม่มี ผมก็ต้องไปซื้อพวกปลาทู หรือปลาข้างเหลือง จากทะเลมาเลี้ยง ซึ่งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูง แต่ต้องซื้อ ไม่เช่นนั้นปูจะไม่มีอาหารกิน ส่งผลให้หยุดการเจริญเติบโตและยืดระยะเวลาการลอกคราบไปด้วย"

คุณเล็ก บอกว่าในการดูแลนั้น เราไม่เพียงให้อาหารวันละ 1 ครั้ง เท่านั้น แต่ทุกๆ 7 วัน ก็หว่านพวกจุลินทรีย์ อีเอ็ม ทั่วทั้งบ่อ ทั้งนี้เพื่อช่วยในการจำกัดของเสียที่อยู่ตามก้นบ่อ

"การดูแลปูนิ่มนี้แตกต่างกับการเลี้ยงปูขุนอยู่ที่ไม่ต้องเตรียมบ่ออะไรมากนัก เพียงดูดน้ำเข้ามาให้มีระดับความสูง 1 เมตรเศษๆ ก็สามารถเลี้ยงปูติดต่อกันได้หลายๆ รุ่น นานนับปีทีเดียว แต่ถ้าเลี้ยงปูขุนนั้นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย เพราะว่าอาหารที่เราให้นั้นจะใช้วิธีหว่านลงไป ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ พื้นบ่อก็จะสกปรก เป็นสถานที่หมักหมมของเชื้อโรคได้"

"ปูขุนนี้ผมจะใช้เวลาเลี้ยงแต่ละรุ่นนานกว่าปูนิ่ม คือประมาณ 45-60 วัน ถึงเนื้อจะแน่นและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้พื้นบ่อค่อนข้างสกปรก แม้ว่าเราได้จุลินทรีย์ลงไปช่วยแล้วก็ตาม ดังนั้นหลังจากการจับขายทุกครั้งผมจะเปิดน้ำทิ้ง และดันน้ำใหม่เข้ามาแทนที่" คุณเล็ก กล่าว

ที่ฟาร์มเลี้ยงปูของคุณเล็กในแต่ละเดือนจะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดทั้งปูนิ่มและปูขุนไม่ต่ำกว่า 7 ตัน

"เดิมผมซื้อพันธุ์ปูมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช แต่ตอนนี้สองจังหวัดนี้มีปริมาณน้อยลง ก็หันไปสั่งปูจากจังหวัดระยอง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่าผ่านชายแดนเข้ามา และส่วนหนึ่งมาจากบังกลาเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ในการสั่งซื้อพันธุ์ปูนั้น ผมจะไม่ค่อยเหนื่อย เพราะว่าจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาทำหน้าที่แทน เพียงแต่ยกหูโทรศัพท์เท่านั้นก็สั่งซื้อได้แล้ว"

คุณเล็ก บอกว่า เมื่อพันธุ์ปูมาถึงฟาร์ม ก็สั่งให้ลูกน้องคัดเลือกแยกเพศปู ซึ่งมักจะมีปูกะเทยติดมาด้วย แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่หนักใจ เพราะว่าสามารถนำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่มได้เหมือนปูเพศผู้

ส่วนปูเพศเมียนั้น เขาจะเลี้ยงเป็นปูขุนอย่างเดียว เพราะว่าใช้เวลาเลี้ยงนานและไม่ค่อยลอกคราบนั่นเอง

"ปูกะเทย ผมเข้าใจว่า เมื่อมันเจริญวัยหรือตัวโตขึ้นคงจะเป็นตัวเมียมากกว่าตัวผู้ เพราะว่าผมสังเกตที่ปิ้งมันใหญ่ และหากได้รับการผสมพันธุ์ต่อไป มันก็จะกลับกลายเป็นตัวเมียอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม มาถึงที่ฟาร์มผมก็จะสั่งให้เลี้ยงเป็นปูนิ่มทั้งหมด และก็ได้ผลดีเหมือนกัน" คุณเล็ก กล่าว

คุณเล็ก บอกว่า อาชีพการเลี้ยงปูนั้น เมื่อก่อนได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี เพราะว่าซื้อมากิโลกรัมละ 80-90 บาท ขายได้ 250 บาทเศษ และเสียหายหรือปูตายน้อย แต่เดี๋ยวนี้ตายมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน 10,11,12 ปีที่ผ่านมา ปูตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ทำให้ขาดทุน แต่สู้ต่อไป พร้อมกับศึกษาหาสาเหตุและแนวทางป้องกันต่อไป

"เมื่อก่อนได้กำไรดีมาก แต่ตอนนี้ได้น้อย บางครั้งก็ขาดทุน ผมกำลังเร่งหาแนวทางป้องกันอยู่ คิดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะว่าปูเป็นสัตว์ทะเลที่มีความอดทนสูง" คุณเล็ก กล่าว

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้รัฐบาลหรือกรมประมงน่าจะมีการศึกษาลงลึกเหมือนกุ้งกุลาดำบ้าง เพราะว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเหมือนกัน




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 7:45:23 น.   
Counter : 7888 Pageviews.  


อาจารย์ มก. วิจัยและพัฒนาสารเคลือบไข่ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาและยับยั้งแบคทีเรีย


ภราดร เทพพานิช



"ไข่" อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารครบครันถึง 13 ชนิด ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในไข่แดง ในขณะที่ไข่ขาวมีอัลบูเมน ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญและไม่มีไขมัน นอกจากนั้น ยังมีเกลือแร่ต่างๆ ที่สำคัญมากมาย เช่น เหล็ก วิตามินดี และบี 2 และที่สำคัญ ไข่มีแคลอรีต่ำเพียง 75 แคลอรี และมีไขมัน 5 กรัม (ไข่ 1 ฟอง) ไข่สามารถบริโภคในชีวิตประจำวันได้หลายรูปแบบ และยังเป็นผลผลิตที่มีมูลค่าทางการตลาดภายในประเทศสูงมาก จากข้อมูลพบว่า มูลค่าทางการตลาดในปี 2005 ประมาณ 15,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2007 มูลค่าทางการตลาดจะเพิ่มสูงถึง 21,000 ล้านบาท ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้รณรงค์ในการให้ความสำคัญด้านคุณภาพของไข่สดเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการคิดค้นหาวิธีในการช่วยยืดอายุและคุณภาพของไข่ให้สดได้นานยิ่งขึ้น

การสังเกตว่าไข่มีความสดหรือไม่ โดยทั่วไปผู้บริโภคจะใช้วิธีการสังเกตภายนอกคือ นำไข่ไปแช่ในน้ำ หากเป็นไข่ใหม่จะจมน้ำ แต่หากลอยน้ำหรือจมน้ำไม่มากแสดงว่าเป็นไข่เก่า หรือการตอกไข่เพื่อดูภายในโดยไข่แดงจะมีสีสดและอยู่ตรงกลาง ไข่ขาวจะมีลักษณะเป็นเจลขาวข้นและตั้งเป็นก้อน ลักษณะไข่ขาวเหนียว มีกลิ่นหอมไม่เหม็นคาว หรือในกรณีไข่ดาวจะเห็นไข่ขาวเป็นวงเล็ก หากมีลักษณะดังนี้แสดงว่าไข่มีความสดใหม่ แต่หากเวลาเก็บรักษาผ่านไปโปรตีนจะสลายตัว วงไข่ขาวก็จะกว้างขึ้น หากไข่ดาวมีความกว้าง แผ่นใหญ่ แสดงว่าไข่ไม่สด

การคัดเกรดไข่ตามหลักสากล วัดได้จากค่า "ฮอก" (Haugh Unit) คือค่าที่วัดได้จากการคำนวณน้ำหนักไข่และความสูงของไข่ขาวข้น โดยมีมาตรฐานคุณภาพไข่เป็นช่วงระดับคือ เกรดดับเบิ้ลเอ ค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 83-100 เกรดเอ ค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 59-75 เกรดบี ค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 35-51 และเกรดซี ค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 11-21 โดยไข่ที่ออกจากแม่ไก่ใหม่จะมีความสดใหม่และมีคุณภาพอยู่ในช่วงดับเบิ้ลเอ หากเวลาผ่านไปไข่จะมีคุณภาพลดลงตามลำดับ

ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ สรรพกุล อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คิดค้นวิธีช่วยยืดอายุและคุณภาพไข่โดยได้ทำการวิจัยเรื่อง "สารเคลือบบริโภคได้สำหรับไข่สดที่เติมหรือไม่เติมสารแอคทีพ" โดยมีแนวความคิดว่า ไข่ที่เราบริโภคทุกวันนี้ ผู้บริโภคจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไข่มีความสดใหม่และมีวิธีสังเกตอย่างไร โดยทั่วไปไข่ที่มาจำหน่ายในท้องตลาดนั้น ผู้ผลิตจะเก็บรักษาไข่ไว้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 29-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิดังกล่าวทำให้ไข่สูญเสียความชื้น เนื่องจากไข่เปลือกมีรูพรุน เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซและความชื้นได้ ดังนั้น น้ำจะแพร่ผ่านออกไปเรื่อยๆ ทำให้น้ำหนักลดลง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ทำให้ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) สูงขึ้นตามมาด้วย ซึ่งจะส่งผลให้โอวิโอมิวซินในไข่ขาวเกิดการสลายตัว นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนย้ายของน้ำเข้าไปในไข่แดงและปัญหาทางจุลินทรีย์จากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์

"สำหรับในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ไข่สดจะขายได้ราคาดีกว่า โดยไข่ที่นำออกจากฟาร์มแล้ววางขายทันที ราคาขายโหลละ 4-5 เหรียญ หากทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ราคาขายจะลดลงเหลือ 1.5 เหรียญ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเนื่องจากต้องเก็บในตู้แช่เย็นที่มีอุณหภูมิ 16-18 องศาเซลเซียส ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิปกติ ในสัปดาห์แรกยังเห็นเจลไข่ขาวตั้งอยู่ แสดงว่าไข่ยังมีคุณภาพดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ คุณภาพไข่ลดลงเช่นเดียวกัน และยังมีค่าไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายอีกด้วย" ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ กล่าว

จากข้อมูลเหล่านี้เอง จึงเป็นที่มาในการหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาความสดของไข่ไว้ให้ได้นานที่สุด และการเก็บรักษาไข่ในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าในการเก็บรักษาอุณหภูมิไข่ให้คงที่ ด้วยการใช้สารเคลือบไข่

สารเคลือบชนิดนี้สกัดมาจากธรรมชาติ เป็นสารกลุ่มพอลิแซคคาไรด์ จะมีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันความชื้น นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางและเป็นส่วนผสมในอาหาร สามารถใช้บริโภคได้และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ง่าย เป็นสารที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด โดยการนำสารที่มีการใช้อยู่แล้วมาสร้างสูตรใหม่ที่ช่วยลดการสูญเสียความชื้น ทำให้ไข่คงคุณสมบัติทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพได้นานขึ้น

หลักการทำงานของสารเคลือบไข่ ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ เคลือบอยู่บนพื้นผิวของเปลือกไข่ จะช่วยป้องกันการซึมผ่านของความชื้น นอกจากนี้ หากมีการเติมสารต้านจุลินทรีย์ในสารเคลือบดังกล่าว จะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับเปลือกไข่ได้อีกด้วย

ผลจากการวิจัยพบว่า สารเคลือบจะช่วยยืดอายุของไข่สูงถึง 87% ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเปลือกไข่ได้ 67% ผิวไข่หลังการเคลือบดูเป็นธรรมชาติ สามารถลดอัตราการสูญเสียน้ำหนักของไข่ได้ถึงประมาณ 50% เก็บรักษาคุณภาพของไข่ไว้ได้นานขึ้น จากการเปรียบเทียบไข่เพิ่งออกซึ่งมีคุณภาพเกรดดับเบิ้ลเอ เวลาผ่านไปเพียง 4 สัปดาห์ เจลของไข่ขาวเริ่มยุบและแผ่เป็นวงกว้าง คุณภาพลดลงเป็นเกรดบี จากการวัดค่า Haugh Unit มีค่าเท่ากับ 37 แต่ไข่ที่เคลือบสารถึงเวลาผ่านไป 4 สัปดาห์ คุณภาพของไข่ยังอยู่ในเกรดเอ และจากการวัดค่า Haugh Unit มีค่าเท่ากับ 65 ในส่วนของราคาสารเคลือบไข่มีราคาเพียง 1% ของราคาไข่ ต่อฟอง หากไข่มีราคาฟองละ 3 บาท สารเคลือบไข่จะมีราคา 0.03 บาท เท่านั้นเอง

จากที่ได้กล่าวมา ผลงานวิจัยเรื่อง "สารเคลือบบริโภคสำหรับไข่สดที่เติมหรือไม่เติมสารแอคทีพ" เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สามารถช่วยลดการสูญเสียในภาคธุรกิจการผลิตไข่ คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าทางการตลาด ยังช่วยให้ไข่คงคุณภาพความสดได้นานยิ่งขึ้นและมีความปลอดภัยสูง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในการรับประทานไข่สด

"ผมเชื่อว่าหากนำมาใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรมเกษตรจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตรของไทยเป็นอย่างมาก ผู้ใดสนใจภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดีให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่สนใจเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาในกระบวนการผลิตต่อไป" ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ กล่าวปิดท้าย




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2550   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 8:08:42 น.   
Counter : 5206 Pageviews.  


มะแขว่นพันธุ์พื้นเมือง และมะแขว่นพันธุ์ใหม่ พืชพรรณดีเมืองพะเยา

รายงานพิเศษ พะเยา เมืองน่าอยู่

การุณย์ มะโนใจ



มะแขว่น พืชพื้นบ้านที่เป็นเครื่องเทศทางเหนือ ชื่ออื่น ลูกระมาศ หมากมาศ (กรุงเทพฯ) กำจัด กำจัดต้น มะแขว่น (เหนือ) มะแข่น มะข่วน บ่าแข่น หมักข่วง (แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Zanthozylum Limonella Alston วงศ์ส้ม Rutaceae มี 2 ชนิด คือพันธุ์หนัก และพันธุ์เบา มักขึ้นในป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขา เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 6-8 คู่ ใบมีลักษณะยาวรีหรือรูปขอบขนาน ฐานใบไม่เสมอกัน ปลายใบเรียวแหลม ดอกออกเป็นช่อและก้านดอกยาว ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมเขียว เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือดอกเพศเมียและเพศผู้อยู่คนละต้น จะออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน

ผลมีลักษณะแห้งกลม ผิวขรุขระสีน้ำตาล เมื่อแก่ผลจะแตกจนเห็นเมล็ดสีดำกลม ผิวเรียบเป็นมัน มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายผักชี มีรสเผ็ดเล็กน้อย

พะเยา พบในแถบตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง ที่ได้ชื่อว่าเป็นมะแขว่นที่มีคุณภาพดีของภาคเหนือ

มีบทเพลงพื้นบ้านกล่าวถึงมะแข่นว่า "มะแข่นดีปี๋ ไผมีขะใจ๋เอามา คั่วเหียนาใส่ลาบบ่ขื่น" แปลว่า ใครมีมะแข่นกับดีปลี ให้รีบเอามา แล้วคั่วใส่ลาบจะได้ไม่มีรสขื่นมาก นอกจากนี้ ยังนิยมใส่ในยำเนื้อไก่ หลู้ แกงขนุน แกงผักกาด ช่วยทำให้รสชาติของอาหารดีขึ้น และถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้กินแก้สำหรับอาหารจานที่มีเนื้อสัตว์มาก เพราะช่วยย่อยเนื้อได้ ส่วนที่ใช้ในการประกอบอาหารคือ ใบอ่อนและผล ใบและยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ลาบ ยำ ผล เป็นเครื่องเทศที่นิยมในภาคใต้และภาคเหนือ โดยเฉพาะทางภาคใต้ นิยมผสมในเครื่องแกง เช่น แกงฟักทอง แกงปลาไหล เป็นต้น ช่วยให้แกงมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอม

สรรพคุณทางยา แพทย์แผนโบราณใช้รากและเนื้อไม้เป็นยาขับลมในลำไส้ ลมขึ้นเบื้องสูงทำให้หน้ามืดตาลาย วิงเวียน ลดความดัน เป็นยาขับโลหิต ระดูของสตรี แต่ไม่ใช้กับหญิงมีครรภ์ เมล็ดสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหย

มะแขว่น จัดเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด อายุ 3-5 ปี จึงให้ผลผลิต ปัญหาที่พบในการปลูกมะแขว่นในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาปลวกกัดกินรากและโคนต้น ทำให้ต้นกลวงและถูกมดดำเข้าทำลายซ้ำ ทำให้ต้นตาย หรือถูกสัตว์จำพวกตัวตุ่นกัดกินราก ทำให้ยืนต้นตายบางส่วน และที่พบเห็นบ่อยคือถูกไฟป่าเผาทำลาย



วิธีปลูกมะแข่วน

วิธีการปลูกมะแขว่น มี 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนแรก การเพาะเมล็ดมะแขว่น

นำเมล็ดมะแขว่นสด ขูดเอาส่วนของเนื้อหุ้มเมล็ดออกก่อนโดยใช้ทรายถู จากนั้นนำไปเพาะในกระบะทราย คอยรดน้ำเป็นระยะ แต่อย่าให้น้ำขังมากเกินไปเป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือน เมื่อต้นกล้างอกแล้วย้ายลงปลูกในถุงเพาะชำ เพื่อเตรียมย้ายลงแปลงปลูกต่อไป

ขั้นตอนที่สอง การปลูกมะแขว่น

เนื่องจากมะแขว่นเป็นพืชที่ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี และไม่ขังมาก และความสูงของพื้นที่สูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงควรปลูกตามไหล่เขา หรือพื้นที่สูงชัน และการปลูกไม่ควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ย และห้ามรดน้ำมากเกินไป ควรปลูกในฤดูฝน นิยมปลูกสลับกับพืชสวนป่า ระยะห่างของหลุมปลูก ประมาณ 8x8 เมตร

ขั้นตอนการเก็บผลผลิตมะแขว่น

จะเริ่มเก็บผลผลิตเมื่อผลมะแขว่นแก่ โดยจะสังเกตจากสีเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งมะแขว่นจะออกดอกและให้ผลผลิตเมื่อมีอายุได้ประมาณ 3 ปี



กิจกรรมการแปรรูปมะแขว่น

มีวิธีการดังนี้

การนำเอาผลมะแขว่นสดไปตากแห้งเพื่อเก็บเอาไว้ขายนอกฤดูกาล การนำเอาผลมะแขว่นสดดองไว้ในขวดแก้ว วิธีการดองมะแขว่น และการทำมะแขว่นป่น

การเตรียมมะแขว่นเพื่อดอง นำมะแขว่นดิบที่เด็ดจากพวงมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาผึ่งน้ำให้พอหมาด ต้มน้ำเปล่าให้เดือด และต้มน้ำปลาให้เดือดแล้วทิ้งให้เย็น จากนั้นนำขวดแก้วสำหรับบรรจุไปอบหรือนึ่ง

นำมะแขว่นดิบที่เตรียมไว้ลงลวกในน้ำเดือดแล้วนำไปแช่น้ำเย็น จึงตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำ นำน้ำปลาที่เตรียมไว้ เทให้ท่วมผลมะแขว่น บรรจุลงในขวดแก้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วนำมาปิดฝาให้สนิท

การทำมะแขว่นป่น นำมะแขว่นแห้งที่เตรียมไว้ใส่เครื่องบดแล้วบดให้ละเอียด บรรจุมะแขว่นที่บดแล้ว ลงในขวดแก้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว แล้วปิดฝาให้สนิท



มะแขว่นพันธุ์ใหม่

คุณเจริญ หน่อแก้ว เกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ประสบผลสำเร็จผู้ยึดแนวทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่กว่า 20 ไร่ ซึ่งแบ่งพื้นที่ปลูกเป็นส่วนๆ โดยมีพืชที่ปลูก เช่น ไผ่ตงหวาน ออกหน่อตลอดปี ไม้ผล พืชผัก ทำนาข้าว เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาในนาข้าว เป็นต้น สวนเจริญฟาร์ม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 153 หมู่ที่ 8 บ้านสันกว้าน ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา โทรศัพท์ (081) 103-0354 และ (054) 440-862 นับว่าเป็นสวนตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจ

ฟังจากคุณเจริญเล่าและผมได้ไปเยี่ยมถึงสวนพบว่า มีพืชที่ปลูกมากมายแต่ทว่าคุณเจริญได้แยกประเภทของพืชเป็นสามลักษณะคือ พืชเศรษฐกิจในปัจจุบัน พืชเศรษฐกิจในอนาคต และพืชพอเพียง

ซึ่งคุณเจริญได้อธิบายว่า

พืชเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ พืชที่ปลูกแล้วทำรายได้ดี ในตอนนี้ ได้แก่ ไผ่ตงหวาน ออกหน่อตลอดปี สามารถทำรายได้ถึง 50,000 บาท ต่อไร่ ผักไฮ่ยอด เป็นผักใช้กินยอดทำรายได้ไร่ละเป็นหมื่นบาท เลยทีเดียว มะแขว่นพันธุ์ใหม่ เป็นพืชที่อดีตทำรายได้ดี แต่ตอนนี้ก็ยังทำรายได้ให้สวนอยู่ แต่น้อยลง

พืชเศรษฐกิจในอนาคต ได้แก่ ไผ่หวาน มะพร้าว มะข่วง และไม้ประดับ ซึ่งมีปลูกในสวน แต่ตอนนี้ยังไม่ทำรายได้เข้าสวน

พืชเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ลำไย ชมพู่ ชะอม ขนุน มะละกอ พริก มะเขือ นอกจากนี้ ยังเลี้ยงปลา และกบอีกด้วย

ในส่วนของมะแขว่นพันธุ์ใหม่ ต้นกำเนิดอยู่ที่ไต้หวัน โดยคนไทยที่ไปขายแรงงานที่นั่นพบ แล้วนำเมล็ดกลับมาเพาะที่พะเยา ในปี 2540 ซึ่งเพาะแล้วงอกเป็นต้นเพียง 2 ต้น เมื่อปลูกไว้ 2 ปี ก็ติดเมล็ดให้ผลผลิต เป็นที่ฮือฮากันในหมู่บ้าน เพราะเหตุว่าไม่เคยมีมะแขว่นในพื้นที่ราบ ส่วนใหญ่มะแขว่นจะเจริญเติบโตบนพื้นที่สูง

เมื่อติดเมล็ดจึงพากันนำเมล็ดมาเพาะต่อๆ กันมา ซึ่งในปี 2543 เป็นจุดเริ่มต้นของมะแขว่นพันธุ์ใหม่จากไต้หวัน โดยผู้ที่เพาะสำเร็จเป็นคนแรกสามารถเพาะได้เปอร์เซ็นต์ความงอกถึง 60 เปอร์เซ็นต์ คือ คุณพ่อปุก เสธา คนอื่นเพาะแล้วไม่งอกแม้แต่ต้นเดียว

คุณพ่อปุกแนะเทคนิคการเพาะให้กับคุณเจริญ ด้วยวิธีการเพาะแบบโบราณ โดยนำเมล็ดมาใส่ตะกล้าเพาะแล้วใส่ดิน จากนั้นจึงรดน้ำจะงอกดี สาเหตุเนื่องจากท่านได้บอกว่าให้นำเมล็ดที่ออกจากเปลือกใหม่ๆ หมายถึงเมล็ดแก่จัด แต่ยังไม่แห้ง นำลงเพาะในตะกร้าทันที ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงมีการเพาะขยายพันธุ์จำหน่าย

สำหรับประโยชน์ของมะแขว่นนั้นทางภาคเหนือนิยมนำมาเป็นเครื่องเทศประกอบอาหารคาว แปรรูปโดยการดองเป็นเครื่องเคียงอาหารประเภทลาบ ส้า แกงอ่อม ยำต่างๆ ทำเป็นพืชสมุนไพรขับไล่แมลง เป็นยาสมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง

ข้อดีของมะแขว่นพันธุ์ใหม่คือ ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ เมล็ดของมะแขว่นพันธุ์ใหม่มีขนาดโตสม่ำเสมอ ต้นไม่สูงมาก ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่ไม่ชอบน้ำขัง ด้วยความสูงที่ไม่สูงมากนัก ผู้ปลูกสามารถดูและเก็บเกี่ยวเมล็ดที่อ่อนเพื่อนำไปเป็นเครื่องปรุงหรือกินเป็นเครื่องเคียงได้

จากการพูดคุยกับคุณเจริญ

เราถามว่า การปลูกมะแขว่นพันธุ์ใหม่ดีไหม คุณเจริญตอบว่าดี แต่สำหรับคำถามว่า ปลูกมะแขว่นพันธุ์ใหม่เป็นพืชเศรษฐกิจได้หรือไม่ คุณเจริญตอบว่า ไม่ได้ เพราะหากปลูกน้อยจะไม่มีปัญหาเรื่องตลาด แต่ถ้าปลูกมากๆ จะไม่มีตลาดรองรับ เพราะมีผู้บริโภคน้อย โดยเฉพาะมะแขว่นพันธุ์ใหม่ จะขายเป็นมะแขว่นแห้งหรือทำเป็นเครื่องเทศไม่ได้ เพราะไม่อร่อยและไม่มีกลิ่นหอมเหมือนพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งข้อดีของพันธุ์พื้นเมืองคือสามารถตากแห้งทำเป็นเครื่องเทศ ส่วนมะแขว่นพันธุ์ใหม่ เหมาะสำหรับการบริโภคสด และแปรรูปโดยการดอง ลำต้นใช้ปลูกเป็นแนวรั้วและสามารถขับไล่แมลงได้เนื่องจากมีกลิ่นฉุน แมลงไม่ชอบผลอ่อน นำไปดองช่วยเจริญอาหาร ผู้ที่จะปลูกจำเป็นต้องคำนึงถึงตลาดเป็นสำคัญ ตอนแรกๆ ที่ปลูกคุณเจริญบอกว่าเป็นพืชที่ทำรายได้ดีทีเดียว ปลูกเพียง 100 กว่าต้น เฉพาะปีแรก ขายได้ 20,000 กว่าบาท เป็นพืชที่ดูแลง่าย แต่มาตอนนี้ขายไม่ได้มาก แต่ก็ไม่ขาดทุน

มะแขว่นพันธุ์ใหม่ เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถนำไปขายที่ตลาดทุกวัน โดยขายปลีกเองจะทำรายได้ให้ดีกว่าพืชอื่น มะแขว่นพันธุ์ใหม่ มีศัตรูคือ ผีเสื้อยักษ์ และปลวกเท่านั้น แต่คุณเจริญเลยปล่อยมะแขว่นพันธุ์ใหม่เป็นพืชประดับสวนไปแล้ว ใช้บริโภคในครัวเรือนและขายส่งให้กับพ่อค้าและร้านอาหารพื้นเมือง

อย่างไรก็ตาม หากท่านสนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับมะแขว่นพันธุ์ใหม่นี้สอบถามคุณเจริญได้ที่เจริญฟาร์ม โทรศัพท์ (081) 030-0354 และ (054) 440-862 ยินดีแลกเปลี่ยนความรู้และให้คำแนะนำได้




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2550   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 8:07:34 น.   
Counter : 12615 Pageviews.  


ม.เชียงใหม่ รวบรวมและวิจัยข้าวก่ำ พันธุ์พืชสำคัญทางโภชนาการ แต่ใกล้สูญพันธุ์

ธงชัย พุ่มพวง



ข้าว เป็นธัญพืชหลักเพื่อการบริโภคของคนไทยทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า ในอดีตคนไทยนิยมบริโภคข้าวที่ผ่านการสีด้วยวิธีโบราณ เช่น การใช้ครกไม้ ใช้ครกกระเดื่อง จะได้ข้าวสารที่มีสีธรรมชาติ มีจมูกข้าวที่ให้ธาตุอาหารและช่วยป้องกันรักษาโรคบางชนิด

ปัจจุบันข้าวสารที่รับประทานจะได้จากการสีของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งสีข้าวได้รวดเร็วและปริมาณมาก ข้าวสารที่ได้เป็นสีขาว แต่ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้หายไปกับเปลือกข้าว รำข้าว แม้แต่จมูกข้าวต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของปลายข้าว

จะเห็นได้ว่าขณะนี้เริ่มให้ความสำคัญของข้าวจากธรรมชาติ นิยมบริโภคข้าวกล้อง ข้าวที่ไม่ได้ขัดสี แต่ยังมีข้าวอีกชนิดหนึ่งที่บางคนอาจจะลืมไปแล้วว่า เป็นข้าวที่ให้สีออกแดงหรือแดงก่ำ หรือสีม่วงจากธรรมชาติ มีคุณค่าทางอาหารมาก นิยมนำไปประกอบเป็นขนมหวาน ข้าวหลาม ขนมเทียน มากกว่าการบริโภคโดยตรง นั่นคือ ข้าวก่ำหรือข้าวเหนียวดำ

ความเชื่อแต่โบราณว่า เป็นข้าวประกอบพิธีกรรมในการบำบัดรักษา สีของข้าวก่ำออกแดงม่วง เป็นธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ในการป้องกันโรคและแมลง โดยถือว่าข้าวก่ำเป็นพญาข้าวที่สามารถสังเคราะห์และปล่อยสารที่ช่วยป้องกันแมลงและโรคให้แก่ข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกใกล้เคียงกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการปลูกข้าวก่ำแทรกในการปลูกข้าวอื่นๆ

ดร.ดำเนิน กาละดี หัวหน้าหน่วยวิจัยข้าวก่ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดตั้งเป็นหน่วยวิจัยข้าวก่ำ ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวก่ำพื้นเมืองของไทยมาตั้งแต่ปี 2539 ปฏิบัติงานด้านการรวบรวมและวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด

คณะผู้วิจัยได้เพียรพยายามรวบรวมพันธุ์ข้าวก่ำพื้นเมืองจากแหล่งปลูกข้าวต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 42 พันธุ์ จากการดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้การยอมรับและขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่คือ ข้าวเหนียวดำ พันธุ์ก่ำดอยสะเก็ด และพันธุ์ก่ำอมก๋อย ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 นอกจากนี้ ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ อันเนื่องมาจากผลงานวิจัยข้าวก่ำ ในชื่อผลิตภัณฑ์ว่า กรรมวิธีผลิตข้าวก่ำมอลล์ กรรมวิธีผลิตข้าวก่ำมอลล์เฟลกค์ ข้าวก่ำมอลล์เอกแพน หรือเอกซ์ทรูด และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวิธีนี้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549

หัวหน้าวิจัยข้าวก่ำ เล่าต่อว่า ผลงานวิจัยสำคัญได้นำเสนอเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการคือ คุณประโยชน์เชิงโภชนาการศาสตร์เกษตร คือข้าวก่ำมีสารต้านอนุมูลอิสระ แอนโทไซยานิน และแกมมาโอซานอล ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีผลที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเส้นเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ในด้านการเป็นสมุนไพรที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือคือ ใช้เป็นสมุนไพรสำหรับหญิงที่ตกเลือดในขณะคลอดบุตร ใช้ทำเป็นข้าวหลามรักษาโรคท้องร่วง ใช้ข้าวก่ำผสมกับดินประสิว ช่วยรักษาโรคหิด ฯลฯ

ในอนาคต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะสามารถผลิตข้าวก่ำที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านโภชนาการศาสตร์เกษตร ด้านโภชนาการสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการอนุรักษ์ข้าวก่ำ ข้าวพื้นเมืองของไทยที่มีคุณภาพ เป็นการพัฒนาข้าวก่ำให้สามารถแข่งขันในตลาดเสรีได้อย่างภาคภูมิใจ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยวิจัยข้าวก่ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. (053) 944-045 งานประชาสัมพันธ์ (084) 043-3806




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2550   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 8:06:35 น.   
Counter : 1469 Pageviews.  


เลี้ยงแพะเนื้อ ที่ปากช่อง ราคาดี ต้นทุนต่ำ

เทคโนโลยีปศุสัตว์

อ.สุจิณณา กรรณสูต sujinna.k@ku.ac.th



ฟาร์มแพะศรีเจริญ เป็นอีกหนึ่งฟาร์มที่บ่งบอกถึงการทำการเกษตรแบบพอเพียงที่พึ่งพาตนเอง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโนนอารี อำเภอปากช่อง โดยมี คุณชูชาติ ศรีเจริญ เป็นเจ้าของฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มที่ทำกันภายในครอบครัว ปัจจุบันเลี้ยงมาได้ 3 ปี นับตั้งแต่ 2548 พันธุ์ที่เลี้ยงมี 2 ลักษณะ คือ แพะพันธุ์มีเขาและไม่มีเขา แพะเนื้อในฟาร์ม เลี้ยงไว้เกือบ 40 ตัว จับขายอย่างต่อเนื่อง อดีตก่อนหน้าที่จะหันมาเลี้ยงแพะเนื้อ เมื่อก่อนเลี้ยงโคนม เกิดปัญหาขาดทุนปีละ 5-6 แสน เนื่องจากดูแลยาก ลูกวัวที่คลอดออกมามีแต่ตัวผู้ ตายบ่อย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเห็บ เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับป่าจึงเสียค่ายาและค่ารักษาสูงมาก โดยปัญหาเหล่านี้ผู้เลี้ยงบางรายในละแวกใกล้เคียงเจอปัญหาคล้ายกัน จึงหันมาเลี้ยงแพะกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น หมู่บ้านหนองตาแก้ว อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ก็มีการปลูกน้อยหน่าและผักกาดด้วย แต่ไม่ต้องการทำการเกษตรที่ต้องดูแลมากและไม่ต้องการแข่งขันกันขายผลผลิต ทำให้ราคาตกต่ำ จึงสนใจเลี้ยงแพะมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ฟาร์มนี้แม่พันธุ์ออกลูก 2 ครั้ง ต่อปี ตั้งท้อง 6 เดือน โดยสังเกตแพะที่ตั้งท้อง นมมีลักษณะบวม ถ้าไม่ท้อง นมมีลักษณะห้อยปกติ แพะออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตอนนี้มีแม่พันธุ์ 27-28 ตัว ต่อพ่อพันธุ์ 1 ตัว ที่เลี้ยงในคอกขณะนี้ จากช่วงแรกซื้อแม่พันธุ์มาทั้งหมด 4 ตัว ในราคาตัวละ 3,000-4,000 บาท ส่วนพ่อพันธุ์ซื้อมา 1 ตัว ราคาตัวละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะไม่มีเขา ตอนนี้พ่อพันธุ์อายุ 4 ปีแล้ว

การจำหน่ายมีพ่อค้าแขกขายเนื้อที่ตลาดเทศบาลปากช่องมารับซื้อที่ฟาร์ม ขายเป็นตัว ราคากิโลกรัมละ 48-50 บาท โดยประกันราคารับซื้อและขายเฉพาะแพะตัวผู้ซึ่งจะแยกคอกไว้ต่างหากตอนนี้เตรียมขายประมาณ 7 ตัว แต่พ่อค้าที่มารับซื้อจะเหมาครั้งละ 10 ตัว โดยตัวผู้ 1 ตัว มีน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม จึงขายได้ประมาณ 1,500 บาท ต่อตัว ดังนั้น การเหมารับซื้อแต่ละครั้ง 10 ตัว จะมีรายได้ประมาณ 15,000 บาท ส่วนตัวเมียไม่ขายเนื่องจากเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป

จากที่เลี้ยงมาปัญหาเรื่องโรคไม่พบ แต่ต้องคอยถ่ายพยาธิ อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นกระถินที่หาได้ในท้องถิ่น จึงไม่ต้องซื้อหัวอาหารเลี้ยง และแขวนก้อนแร่ธาตุให้แพะเลียกินในคอกด้วย กรณีให้หัวอาหารจะให้เพียงลูกแพะช่วงที่หนัก 1-2 ขีด เท่านั้น ดังนั้น การเลี้ยงแพะจึงประหยัดต้นทุนค่าอาหารและค่ายารักษาเป็นอย่างมาก จึงนับว่าเป็นจุดเด่นของการเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ โดยปกติในช่วงฤดูหนาวแพะเจริญเติบโตได้ดี หากเลี้ยงแบบปล่อยแพะจะเจริญเติบโตเร็วกว่า แต่เนื่องจากที่ฟาร์มมีพื้นที่ไม่มากจึงจำเป็นต้องเลี้ยงภายในคอก

ส่วนปัญหาการเลี้ยงที่พบและต้องระมัดระวังคือ การแท้งลูก เนื่องจากฟาร์มที่นี่เลี้ยงรวมกันในคอกแพะจึงวิ่งชนกัน บางครั้งทำให้ลูกแพะหลุดออกมาเป็นตัวปนเลือด แต่สามารถหายได้เองเป็นการฟื้นฟูอาการแท้งตามธรรมชาติ ที่ผ่านมาที่ฟาร์มเคยพบการแท้ง ประมาณ 4-5 ครั้ง นอกจากนั้น อีกปัญหาหนึ่งคือ แม่แพะที่ออกลูกหลายครั้งไม่สนใจลูกของตัวเองจึงต้องหานมวัวให้ลูกแพะกินในช่วงให้นม ดังนั้น ช่วงที่แพะใกล้คลอด ห้ามจับแม่แพะแยกจากฝูงขณะที่จะคลอดเนื่องจากแม่แพะจะร้องมากและไม่เบ่งลูก ซึ่งตามธรรมชาติแพะเป็นสัตว์ที่อยู่เป็นฝูงทำให้แม่แพะเครียดได้ อย่างไรก็ตาม ต้องคอยสังเกตดูอาการของแม่แพะจะร้องและมีเมือกที่ปากช่องคลอด เมื่อคลอดแล้วให้นำลูกไว้ในคอกร่วมกับแม่แพะทันทีเพื่อความคุ้นเคยต่อลูกและแม่แพะจะให้นมลูกได้เอง

การเลี้ยงแพะเนื้อเป็นอีกทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในปัจจุบันที่น่าจะเป็นทางออกสำหรับเกษตรกร เนื่องจากโรคน้อย ต้นทุนค่าอาหารต่ำ ไม่ต้องดูแลมาก ขายได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ที่ฟาร์มแห่งนี้ยินดีให้คำแนะนำการเลี้ยงแก่ผู้สนใจเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ (084) 497-4254 หรืออาจเดินทางไปที่ฟาร์มก็ได้ ซึ่งการเดินทางไปฟาร์มมีความสะดวกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวกับสำนักปฏิบัติธรรม "แสงธรรมส่องชีวิต" สาขาปากช่อง จึงมีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางแวะเวียนไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เจ้าของฟาร์มเลี้ยงแพะแห่งนี้ยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงแก่ผู้สนใจทั่วไป




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2550   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 8:05:09 น.   
Counter : 13362 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com