แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

นิรโทษกรรม ทรท.111 คน ทำได้หรือไม่

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10902

นิรโทษกรรม ทรท.111 คน ทำได้หรือไม่

โดย สุชาย จอกแก้ว





ต่อกรณีที่มีข่าวว่า จะมีการนิรโทษกรรม คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จำนวน 111 คนและจะมีการยกเลิก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้น เนื่องจากมีผู้สอบถามความคิดเห็นมาเยอะมาก

ผู้เขียนในฐานะประชาชนลูกชาวนาตาดำๆ คนหนึ่งที่พอจะมีความรู้กฎหมายกับเขาอยู่บ้าง ก็อยากจะแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นเครื่องประเทืองสติปัญญาแก่ท่านผู้ที่ยังมีความสงสัยและใคร่รู้ทั้งหลาย

ความเห็นที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วนหลายๆ ด้าน ที่นักกฎหมายหรือประชาชนวิญญูชนทั้งหลาย อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ (นานาจิตตัง) ตามหลักสิทธิเสรีภาพแห่งความคิดและเสรีภาพแห่งการแสดงออก ตามระบอบประชาธิปไตย

(ก่อนอื่นก็ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ที่เห็นว่าตนมีส่วนได้เสียเป็นอย่างมาก นั่นคือมีส่วนได้เสียกับประเทศไทย ในฐานะเป็นคนไทย เจ้าของอำนาจอธิปไตย ด้วยคนหนึ่ง)

เพื่อทำความเข้าใจให้ง่ายขึ้น ผู้เขียนขอตั้งคำถาม-คำตอบจำนวน 3 คำถาม พร้อมแสดงเหตุผล ดังต่อไปนี้

คําถาม

การออกกฎหมายนิรโทษกรรม กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน ที่ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด "ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี" นั้น จะทำได้หรือไม่

คำตอบ :

ทำได้ ถ้าฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด หรือฝ่ายนิติบัญญัติออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้ ส่วนจะเกิดปัญหาว่าเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ควร ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังกันอยู่บ้างเหมือนกัน

ในอดีต โดยทั่วไปแล้ว มักมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่อการยึดอำนาจการปกครองโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และบัญญัติไว้ในรูปของ พ.ร.บ.ก็มีบ้าง ดังเช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534

ส่วนการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดต่อกฎหมายในเรื่องอื่นนอกเหนือจากการยึดอำนาจ หรือต่อกรณีที่ศาลหรือองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ทำการพิพากษาหรือวินิจฉัจชี้ขาดแล้ว เท่าที่ผู้เขียนศึกษามายังไม่เคยมีปรากฏ

(ยกเว้นกรณีการพระราชทานอภัยโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ หรือเป็นในกรณีที่กฎหมายลักษณะละเมิด ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรมไว้โดยเฉพาะในมาตรา 449-452 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นเหตุที่จะไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำละเมิด ตามที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ให้เท่านั้น)

เกี่ยวกับปัญหานี้ ผู้เขียนก็ข้อสังเกตเกี่ยวกับ ข้อกฎหมายดังนี้ว่า เนื่องจากประเทศไทยเรายอมรับประเพณีการปกครอง ที่ถือว่า ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารจัดทำขึ้นนั้น เป็นกฎหมาย ดังนั้น จึงถือว่า ประกาศ ของคณะ คมช.และรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว 2549 เป็นกฎหมาย ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ถูกตั้งขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมาย

และประเด็นสำคัญ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถือว่าเป็นที่สุดเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ นั่นคือมีผลผูกพันให้ผู้ที่ต้องถูกคำวินิจฉัยชี้ขาด ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้น โดยที่ไม่สามารถอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นที่สุดเด็ดขาดแล้วด้วยกระบวนการทางกฎหมายต่อไปยังองค์กรอื่นใดได้อีก

ซึ่งในต่างประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญหรือมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ต่างก็มีหลักเกณฑ์และเคารพกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่กรรมการบริหารพรรค ทรท.ดังกล่าว ก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่า ควรหรือไม่ควร ด้วยเหมือนกัน

สำหรับผู้เขียนในฐานะนักกฎหมาย ก็มองในด้านกฎหมายว่า บ้านเมืองเราอาจมีปัญหาในเรื่องของการบังคับคดีตามคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญหรือคำพิพากษาของศาลเป็นแน่

เพราะคำพิพากษาของศาลหรือของตุลาการ อาจไม่เป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังหรือภายภาคหน้าอีกต่อไปได้ แม้โดยหลักปฏิบัติ ศาลหรือตุลาการจะมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่จำต้องถือตามคำพิพากษาในคดีก่อนเหมือนระบบ common Law ก็ตามแต่บางครั้งก็จำต้องยึดหลักหรือถือแนวทางบรรทัดฐานในการพิพากษาคดีให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ และเพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งเพื่อมิให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือมีอคติ ต่อคดีหลังๆ ที่เกิดขึ้นตามมา

ส่วนสังคมเองก็จะทราบถึงแนวทางตัดสินคดีของศาลในแต่ละเรื่องว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เพื่อประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมของสังคมนั่นเอง

กล่าวกันง่ายๆ อีกนัยหนึ่ง ถ้าหากมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยชี้ขาดของตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลที่ถูกตัดสิน หรือทำนองเปลี่ยนผิดเป็นถูก เสมือนหนึ่งทำสีดำให้เป็นสีขาว ฟอกให้สะอาด บริสุทธิ์ อีกครั้ง ก็ย่อมจะส่งผลกระทบกระเทือน หรือสั่นคลอนต่อกระบวนการยุติธรรม และต่อความศักดิ์สิทธิ์ในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยขี้ขาด ชนิดที่ถึงแก่นเลยทีเดียว

แต่ถ้าคนในสังคมต่างฝ่ายต่างยอมรับผลแห่งการกระทำ หรือกฎแห่งกรรม หรือ กฎแห่งกฎหมาย บรรดาเรื่องที่เป็นปัญหาทั้งหลายก็อาจสงบยุติลงไปได้ ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ของรัฐศาสตร์หรือหลักการเมืองการปกครองกับหลักนิติศาสตร์ผสมผสานกันหากเห็นว่า การที่ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นเพราะประกาศของคณะปฏิรูป ฉบับที่ 27 ที่บัญญัติไว้เอาผิดภายหลัง ซึ่งไม่ชอบตามหลักนิติธรรมก็อาจจำต้องพิจารณาถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เพราะนักกฎหมายหรือประชาชนโดยทั่วไปยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่

และหากมองในแง่ของความเท่าเทียมกันตามที่บางฝ่ายเรียกร้อง ทำนองกระทำให้เหมือนกัน เมื่อ คณะ คมช.ได้รับการนิรโทษกรรมจากการยึดอำนาจ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากประกาศ ของคณะ คมช. และคำวินิจฉัยชี้ขาดของตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรมเหมือนเช่นเดียวกัน

ซึ่งก็จะต้องช่วยกันตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย

เพื่อความกระจ่างชัด เกี่ยวกับ ข้อกฎหมายและและข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อำนาจของคณะ คมช.และตุลาการรัฐธรรมนูญดังนี้

เมื่อเราทราบแล้วว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว 2549 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดฉบับชั่วคราวที่ คณะ คมช.จัดทำขึ้น และเป็นกฎหมาย ตุลาการรัฐธรรมนูญ จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายไปโดยปริยาย (จำเป็นต้องทำเพราะคณะ คมช.ซึ่งเป็นองค์รัฐาธิปัตย์ผู้มีอำนาจอธิปไตยบัญญัติรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จึงจำต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงมาว่า บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายที่ถูกฟ้องร้องว่ามีการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2541 และเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเดิมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย แต่เนื่องจาก คณะ คมช.ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และได้โอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมจำต้องมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีพรรคการเมืองที่ถูกฟ้องร้องนั้นแทนศาลรัฐธรรมนูญเดิม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย

ต่อมาเมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งหลายทั้งปวงแล้ว และได้มีมติด้วยเสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงให้ยุบพรรคไทยรักไทย ที่ถูกกล่าวหา (ซึ่งมีอีกหลายพรรคที่ถูกยุบ) ก็เป็นอันฟังยุติได้ว่า พรรคไทยรักไทยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2541 จริง อันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรค (รายละเอียดผลคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ศึกษาได้จาก คำวินิจฉัยที่ 3-5 / 2550 เรื่องพิจารณาที่ 20-22/2549 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 หรือ เว็บไซต์โดยทั่วไปได้)

สำหรับ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่เป็นปัญหานั้น ก็คือ คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ว่า "การให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย มีผลย้อนหลัง" หรือไม่

เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 69 บัญญัติว่า "ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะไม่ดำเนินการ....หรือ กระทำการตามมาตรา 66 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ตามมาตรา 8 อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป"

มีการบัญญัติไว้แต่เพียงเท่านี้ ซึ่งมิได้บัญญัติว่าให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่อย่างใดเลย ดังนั้น การที่ประกาศ ของ คณะ คมช.ฉบับที่ 27 ข้อที่ 3 ที่ว่า "ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำตามต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง" นั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายมาลงโทษย้อนหลังต่อกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ

แล้วเหตุไฉน ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง จึงได้นำเอาประกาศ ของคณะ คมช. ซึ่งบัญญัติไว้ภายหลังการกระทำผิดอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค มาลงโทษต่อคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบซึ่งฝ่ายที่ถูกยุบพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็อ้างว่า เป็นการลงโทษย้อนหลังที่เป็นโทษ ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับผู้กระทำความผิด เพราะว่าในขณะกระทำความผิด ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเอาผิดให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นเลย แล้วจะเอาผิดต่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้อย่างไร ผิดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม และก็ไม่เป็นธรรมสำหรับกรรมการบริหารพรรคอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำอันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรคด้วย

ซึ่งคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย และพรรคอื่นที่ถูกยุบในครั้งนี้ นับว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราเลยทีเดียวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์แก่บรรดานักกฎหมายและประชาชนผู้ใคร่รู้กฎหมายทั้งหลายเป็นอย่างมาก (สำหรับผู้เขียนก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้แล้วศึกษาได้จากบทความกฎแห่งกฎมายกับกฎแห่งกรรม น.ส.พ.มติชนรายวัน วันที่ 7 มิถุนายน 2550 หรือ //www.matichon.com.th)

ส่วนความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ก็ได้ให้เหตุผลว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2541 เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

แม้สิทธิเลือกตั้งจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ ก็ย่อมมิได้

สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย จำนวน 3 เสียง ก็ได้ให้เหตุผลทำนองเดียวกันกับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบข้างต้น ซึ่งโดยหลักกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ได้กำหนดไว้ว่า คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก (ข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2549 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ข้อที่ 16)

และเมื่อมติตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเห็นสมควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบ ก็ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความนั้น

กล่าวคือ ต้องยอมรับกฎหมายว่าด้วยข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้ ว่าเป็นกฎหมาย เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 35 บัญญํติให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีอำนาจออกข้อกำหนดว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาได้

(ซึ่งก็เป็นไปตามกฎกติกาที่วางไว้ และตามที่เรายอมรับจารีตประเพณีการปกครองดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง)

ปัญหาที่ต้องพิจารณากันต่อไป มีว่า เมื่อเรายอมรับผลคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว ถามว่า คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันกับใคร แค่ไหน และเพียงใด

คำตอบ : แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 จะไม่ได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ผ่านมาๆ ก็ตาม แต่กรณีนี้ก็ต้องถือได้ว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดเด็ดขาดแล้ว ไม่สามารถอุทธรณ์โต้แย้งไปยังองค์กรอื่นใดได้อีกเช่นกัน

เป็นไปตามมาตรา 38 แห่งรัฐธรรมนูญฯฉบับชั่วคราว 2549 ที่บัญญัติว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข..."

ซึ่งคำว่าประเพณีการปกครองประเทศไทยฯ ก็หมายถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นเอง

และคำว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ก็หมายความว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเพียงศาลเดียว มีคำวินิจฉัยอย่างไรในคดีใดคดีหนึ่งไปแล้ว ก็ต้องถือว่าเด็ดขาดถึงที่สุด ไม่อาจอุทธรณ์ต่อไปยังองค์กรใดได้อีก

และเมื่อมีคำวินิจฉัยในประเด็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้ว หากมีประเด็นเช่นเรื่องเดียวกันนั้นเกิดขึ้นอีกในภายหลัง ก็หาอาจที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกต่อไปได้ไม่ เพราะถือว่าต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 มาตรา 268)

ต่อปัญหาดังกล่าวนี้ ในต่างประเทศเขาก็มีการบัญญัติหลักเกณฑ์นี้ไว้เช่นเดียวกัน

อย่างเช่น มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส บัญญัติไว้ว่า "บทบัญญัติใดที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่อาจใช้เป็นกฎหมายและไม่อาจมีผลบังคับได้ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมเป็นที่สุดและมีผลผูกพันสถาบันการเมืองแห่งรัฐ ตลอดทั้งองค์กรเจ้าหน้าที่ทั้งในทางบริหารและตุลาการ"

และสำหรับประเทศอื่นๆ ที่มีศาลรัฐธรรมนูญ ดังเช่น ประเทศเยอรมนี อิตาลี ต่างก็มีบทบัญญัติไปในทำนองนี้เช่นเดียวกัน

สรุป คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงองค์กรเดียวหรือศาลเดียวไม่มีลำดับชั้นของศาลเหมือนศาลยุติธรรมที่มี 3 ชั้นศาล หรือศาลปกครองที่อย่างน้อยมี 2 ชั้นศาล

ดังนั้น

เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว คำวินิจฉัยย่อมเป็นที่สุดเด็ดขาดและมีผลบังคับในทางกฎหมายทั้งในทางรูปแบบหรือทางเนื้อหาและในทางปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ได้มีการอ่านคำวินิจฉัยหรือส่งคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีทราบ และส่งผลให้คู่กรณีในคดีหรือองค์กรที่ถูกตัดสินต้องผูกพันต่อคำวินิจฉัย

รวมทั้งผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย ต่างจำต้องถูกผูกพันและต้องปฏิบัติตามผลของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงผลของคำวินิจฉัยนั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นที่สุดเด็ดขาดแล้วด้วยกระบวนการทางกฎหมายต่อไปยังองค์กรอื่นใดได้อีก

แต่อย่างไรดี ถ้าหากมีการนำเอาหลักรัฐศาสตร์มาผสมผสานกันกับหลักนิติศาสตร์เพื่อคลี่คลายปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้น ก็อาจเป็นไปได้ แต่ก็ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ

เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องใคร่ครวญไตร่ตรองกันอย่างลึกซึ้งก่อนแล้ว จึงค่อยทำ

ดังบาลีว่า "นิสมุม กรณํ เสยโย ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงค่อยทำ ดีกว่า"




 

Create Date : 15 มกราคม 2551   
Last Update : 15 มกราคม 2551 7:57:15 น.   
Counter : 1133 Pageviews.  


วิกฤตของชนชั้นนำไทย

ผู้อ่าน 109 คน วันที่ 12 พฤจิกายน 2550 เวลา 14:30:03 น. ส่งข่าว พิมพ์ข่าว - ขนาดข้อความ +



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


คงไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหนในเมืองไทยที่จะกร่อยเท่ากับครั้งนี้ โพลไร้ระบบของผมพบจากการไถ่ถามเพื่อนฝูงหลายคน พบว่าเขาไม่รู้ว่าพรรคไหนรวมกับพรรคไหน และกลายเป็นพรรคอะไร ฉะนั้นอย่าไปพูดเลยว่า พรรคไหนมีนโยบายอะไรบ้าง

ผมยังไม่พบใครสักคนที่คิดว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงครั้งนี้จะให้ความหวังอะไรแก่เขาได้ แม้ทุกคนยอมรับว่ากังวลกับปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ในเวลานี้มาก ซ้ำยังเกรงว่าปัญหาจะลุกลามต่อไปจนเกินกว่าที่เขาจะเยียวยาอะไรได้ พรรคไหนได้เป็นรัฐบาลก็ไม่มีอะไรแตกต่างสำหรับเขา

ความไม่ใส่ใจต่อการเลือกตั้งดังกล่าวนี้ พบได้มากในหมู่คนชั้นกลาง ส่วนคนชั้นล่างนั้น ไม่ใส่ใจต่อผลของการเลือกตั้งมานานแล้ว เพราะไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ไม่กระทบต่อชีวิตของเขาในทางหนึ่งทางใด

ทำไมคนชั้นกลางจึงไม่ใส่ใจต่อการเลือกตั้งครั้งนี้?

จะตอบง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญออกแบบให้ผลการเลือกตั้งต้อง 'กร่อย' มาแต่แรกแล้วก็ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป มีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญอีกมากที่ทำให้การเลือกตั้งมีหรือไม่มีความหมายแก่คนชั้นกลาง

ผมคิดว่าคำตอบที่เห็นกันได้อย่างจะจะเลยก็คือ รัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งไม่มีคำตอบให้แก่ปัญหาที่คนชั้นกลางกำลังวิตกห่วงใยอย่างหนัก

ราคาน้ำมันดิบซึ่งคงไม่ลดลงโดยเร็ว (หรืออาจไม่ลดเลย แต่กลับพุ่งไปถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล) ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ จะแก้หรือบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งของผู้บริโภคและผู้ผลิตอย่างไร หรืออย่างน้อยก็เผชิญกับความเดือดร้อนได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นได้อย่างไร

ตลาดที่ซบเซา - ไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่รวมทั้งโลก - โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของไทย จะแก้ไขอย่างไรให้ผู้ประกอบการไม่ปิดกิจการ และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการปลายน้ำได้อย่างไร นับตั้งแต่ธุรกิจทัวร์ไปถึงแม่ค้ามะพร้าวเผา

ภาวะเงินฝืดเพราะผู้คนไม่ยอมใช้เงิน เนื่องด้วยไม่มั่นใจต่ออนาคต ทำให้สถานการณ์ในตลาดยิ่งย่ำแย่ลง จะสร้างความมั่นใจได้อย่างไร (โดยไม่หลอกลวง)

ยาเสพติดที่กำลังกลับมาใหม่ กำลังกลับมาช่วงชิงบุตรหลานของคนชั้นกลางอีกแล้ว คำสัญญาว่าจะนำเอาสงครามปราบยาเสพติดของทักษิณกลับมาใช้ใหม่ จะทำได้โดยไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่เหลิงอำนาจเกินไปได้อย่างไร รัฐบาลใหม่ที่อ่อนแอจะทนแรงกดดันของนานาชาติในเรื่องการ 'ฆ่าตัดตอน' ได้อย่างรัฐบาลทักษิณละหรือ

ความไม่สงบในภาคใต้ ไม่ว่าการประเมินของอดีตหัวหน้า คมช.จะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคิดว่าซบเซาลงแต่อย่างไร

คนชั้นกลางซึ่งมีสมบัติสำคัญเพียงอย่างเดียวที่จะสืบทอดแก่บุตรหลาน นั่นคือการศึกษา แต่การลงทุนเพื่อการศึกษาของบุตรหลานมีแต่จะแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินกำลังที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่จะสามารถแข่งขันเพื่อประกันความมั่นคงของบุตรหลานได้เสียแล้ว (แค่จบปริญญาตรีกำลังจะไร้ความหมายในตลาดงานไปแล้ว) หลักประกันด้านการศึกษาของบุตรหลานอยู่ตรงไหน

จำนวนสมาชิกผู้สูงอายุของครอบครัวมีเพิ่มขึ้น เป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่ครอบครัวคนชั้นกลางเริ่มรู้สึกอึดอัด จะมีโครงการภาครัฐอะไรที่ช่วยบรรเทาความอึดอัดนี้ได้บ้าง

คิดไปเถิดครับ คนชั้นกลางในปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องการคำตอบจากรัฐมากมาย ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ๆ เกินกว่าจะใช้คำตอบเก่าๆ ได้อีกแล้ว เช่น หากอุดหนุนราคาน้ำมันอย่างไม่ประนีต ก็บักโกรกอย่างที่รัฐบาลทักษิณเคยทำมาแล้วแน่นอน เรียนฟรีระดับปริญญาตรีก็เกินกำลังรัฐ เพราะปัญหาเหล่านี้ผูกโยงกับโลกภายนอก ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

ภาวะอึ้งกิมกี่ ไม่มีคำตอบนี้ ไม่ได้เกิดกับนักการเมืองเท่านั้น แต่เกิดกับชนชั้นนำทั้งหมด และอันที่จริง เราไม่สามารถแยกนักการเมืองไทยจากชนชั้นนำได้ ต่างอาศัยกันและกันจนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปนานแล้ว

หากมีการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ผู้นำกองทัพจะให้คำตอบอะไรแก่ปัญหาเหล่านี้ คำตอบเดิมๆ คือความมั่นคงและราชบัลลังก์ ก็มีความสำคัญนะครับ แต่ไม่ได้ตอบคำถามอะไรของคนชั้นกลางเลย

แม้กองทัพอาจได้ความร่วมมือจากราชการพลเรือน แต่ราชการพลเรือนมีคำตอบอะไรหรือครับ ก็ไม่มีเหมือนกัน ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไรแก่ปัญหาเหล่านี้สักอย่าง ซึ่งนับวันจะยิ่งแหลมคมแก่คนชั้นกลางมากขึ้น แต่กลับถือโอกาสสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, ปลูกพืชจีเอมโอ, เปิดประเทศให้แก่ขยะญี่ปุ่น, ลิดรอนเสรีภาพในสื่ออินเตอร์เน็ต, ฯลฯ จะทำให้ลูกหลานของคนชั้นกลาง มีความมั่นคงในอาชีพการงานได้อย่างไร

เทคโนแครตในสภาโน่นสภานี่หรือครับ ก็แหะๆ เหมือนคนอื่น แม้แต่มองเห็นปัญหายังไม่ทั่ว จะไปพูดถึงคำตอบได้อย่างไร ลองคิดย้อนหลังไปสัก 20-30 ปีเถิดครับ ตอนที่ปัญหามันไม่ยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน เทคโนแครตจะเป็นผู้ชี้ปัญหาและทางออกอยู่เสมอ (แม้ชี้ได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่องก็ตาม)

เถ้าแก่ในวงการธุรกิจ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแสดงอิทธิฤทธิ์ทางทีวีให้คนชั้นกลางได้ฟังวิสัยทัศน์ที่ทำให้ตัวกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีกันอย่างตะลึงลาน บัดนี้ดูเหมือนไม่เหลือเถ้าแก่ที่ใครจะตะลึงตะลานอีกแล้ว ก็มึงไม่ใช่หรือที่มีส่วนทำให้กูเดือดร้อนในทุกวันนี้อยู่ด้วย

เลือกตั้งก็ไม่ใช่ทางออก รัฐประหารก็ไม่ใช่ทางออก คนชั้นกลางรู้สึกว่าทางมันกุดน่ะครับ ไม่ใช่ทางสองแพร่ง และสิ่งที่น่ากลัวในช่วงนี้จากตัวอย่างในสังคมอื่นก็คือ การปรากฏขึ้นมาของ demagogue หรือโฆษปีศาจทางการเมืองเข้ามารวบอำนาจ

ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า ใครในหมู่ชนชั้นนำไทยจะสามารถให้คำตอบที่น่าพอใจแก่คนชั้นกลางได้ คำตอบนะครับ ไม่ใช่คำพูดที่ทำให้ปลาบปลื้มยินดีเฉยๆ เช่น ความสามัคคี, สมานฉันท์, ความรักชาติ, ภาษาของชาติ, ฯลฯ เพราะแม้น่าฟัง แต่ไม่อาจคลายความวิตกไปด้วยความปลาบปลื้มนานหรอกครับ

ชนชั้นนำไทยกำลังเผชิญวิกฤตการนำ ชนชั้นนำไทยนั้นมีลูกค้าสำคัญคือคนชั้นกลางตลอดมา การที่พวกเขาไม่มีคำตอบแก่ลูกค้า จึงนับได้ว่าเป็นวิกฤตของพวกเขา และเหตุที่พวกเขากำลังสูญเสียการนำนั้น ผมคิดว่าเพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยสองอย่าง ซึ่งคำตอบเก่าของเขาไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป

โลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดสภาวะสองอย่างที่บ่อนทำลายการนำของชนชั้นนำไทย หนึ่งคือการแทรกแซงจากภายนอกอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, มาตรฐานทางศีลธรรม, กฏหมาย, ศิลปะ, ความเชื่อ ฯลฯ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชนชั้นนำต้อง 'อธิบาย' สิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนไทยภายใต้การนำของเขายอมรับ ไม่ต่างจากสมัย ร.4-6 ปัญหาอยู่ที่ว่าจารีตทางปัญญาของชนชั้นนำไทยมีพลังเพียงพอจะ 'อธิบาย' ได้หรือไม่ในหนนี้ สองคือการผูกขาดความรู้และความคิดได้หลุดมือชนชั้นนำไปเสียแล้ว แหล่งของความรู้และความคิดแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ ที่ไม่ได้สังกัด 'วงใน' ของชนชั้นนำ อันล้วนเป็นความรู้และความคิดที่ไม่ได้ผ่านการกรองของชนชั้นนำทั้งสิ้น

สถานการณ์อีกอย่างที่เปลี่ยนไปคือ สำนึกใหม่ของประชาชนระดับล่าง ที่รู้สึกว่าตัวมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครอง และท้าทายอำนาจตัดสินใจของชนชั้นนำอยู่บ่อยครั้ง (รวมทั้งคะแนนเสียงท่วมท้นที่พรรค ทรท.ได้รับในการเลือกตั้งสองครั้งหลัง) แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วไม่อาจต้านทานอำนาจตัดสินใจนั้นๆ ได้ แต่ผลก็คือก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำเอง ยังไม่ถึงขนาดขัดแย้งกันก็จริง แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างที่เคยเป็นมาได้หมดไปแล้ว เช่น จะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดี ชนชั้นนำที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงหลีกเลี่ยงที่จะฟันธง บางส่วนคัดค้านต่อต้านด้วยซ้ำ ในระยะยาวแล้ว บทเรียนจากประวัติศาสตร์และจากสังคมอื่นบอกให้รู้ว่า ในที่สุดความแตกแยกกันของชนชั้นนำเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งกันเอง ซึ่งจะยิ่งทำให้ภาวะการนำของพวกเขาอ่อนลงไปอีก

ถึงเวลาที่ชนชั้นนำจะต้องปรับตัว ซึ่งมีหนทางหลายอย่าง นับตั้งแต่โดยสงบไปถึงการนองเลือด (เช่น นโยบาย 66/23 เป็นการปรับตัวโดยสงบ 6 ตุลาฯเป็นการนองเลือด) แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าการกบฏของสมาชิกใหม่หนุ่มสาวในครั้งนั้นเป็นอันมาก ขึ้นอยู่กับชนชั้นนำเองว่าจะเลือกอย่างมีสติได้อย่างไร







 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2550 6:38:47 น.   
Counter : 800 Pageviews.  


เปิดชีวิตพเนจร ยงยุทธ ติยะไพรัช ก่อน-หลัง 19 กันยาฯ

สัมภาษณ์พิเศษ ยงยุทธ ติยะไพรัช คนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพียงแค่มองตาก็รู้ใจ จึงมักได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญเสมอๆ






'ถามว่ารู้ว่าจะมีการรัฐประหารหรือเปล่า ต้องตอบว่ากลิ่นมันออกตั้งแต่ 1 ปีก่อนหน้านั้น ทั้งจากปฏิกิริยาการซุบซิบของทหารบางกลุ่มที่เชื่อมโยงกับแกนนำกลุ่มพันธมิตร การปรับกำลังทหารให้เป็นไปตามที่บางฝ่ายต้องการ และยังมีการเคลื่อนไหวโจมตีด่ารัฐบาลในทางลับเยอะมาก

แต่สัญญาณมาแรงชัดก็ตอนทหารออกคำสั่งยึดปืนของกรมอุทยานฯ ผมเริ่มรู้สึกด้วยตัวเองว่า ถ้าจะมีการชกกัน มันก็ต้องมัดมือมัดเท้ากันก่อน ถึงจะเรียบร้อยทุกอย่าง ก็เลยไปบอกในที่ประชุม ครม.ว่าปืนถูกยึดนี่ สัญญาณไม่ค่อยดีนะ ขอให้ช่วยมอนิเตอร์ (ติดตามสถานการณ์) หน่อย เขาก็ด่าว่าผมเพ้อเจ้อ'

'หลังจากนั้น 2 วัน เพื่อนที่เป็นทหารบอกว่า ไม่เคยมีสักครั้ง ที่เอารถถังมาล้าง อัดจารบี เติมน้ำมัน แล้วไม่มีปฏิวัติรัฐประหาร ผมก็เลยระมัดระวังด้วยการออกไปอยู่ข้างนอก ไม่ได้นอนบ้านเลย ไม่ได้อยู่กับลูก ก็ได้พูดกับลูกๆ ว่าคนอื่นไม่เชื่อ แต่พ่อเชื่อนะว่ามีปฏิวัติจากสัญญาณตรงนี้'

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ 'ยงยุทธ' ต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน..?

'ช่วงเช้าของวันที่ 19 กันยายน เพื่อนที่เป็นทหารโทร.มาบอกว่าเอาแน่ เพราะได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมและกำลังจะเดินทาง อยู่ที่ไหนได้ ก็หลบไปก่อน ผมรู้แล้ว แต่ไม่ได้บอกใคร ก็ปิดโทรศัพท์หมดเพราะเดี๋ยวเขาแอคทิเวท (จับการเคลื่อนไหว) จะรู้ว่าผมอยู่ที่ไหน จากนั้น ก็หลบไปอยู่ที่ปลอดภัย ตกดึกทหารมากันเต็มพรึ่บจริงๆ หมอพรหมินทร์ (เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ท่านเรืองโรจน์ (มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) โทร.มาบอกว่าต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะจะมีการใช้กำลังยึดอำนาจ ผมก็บอกไปว่า รถถังที่มันอยู่ข้างหน้า ข้างหลังส่วนใหญ่มันไม่ใช่พวกเราสักคน ฝั่งปฏิวัติทั้งนั้น ถ้าไปตามคำเชิญ มีหวังโดนจับตัวแหงๆ ก็เลยรอฟังสถานการณ์ จนทุกอย่างจบ'

หลังเหตุการณ์สงบ มีคำสั่ง คปค. ฉบับที่ 9 ให้ 'ยงยุทธ-เนวิน' ไปรายงานตัวและถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนปล่อยตัวออกมา

'ยงยุทธ' บินตรงไปสหรัฐ ทันทีที่ได้รับอิสรภาพ และเข้าศึกษาปริญญาเอกด้านสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐ หลังเรียนในห้องเรียน จนจบคอร์สที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

'ผมไปเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัย เป็นห้องขนาด 4 คูณ 6 เมตร ทำอาหารไทยแบบง่ายๆ กินเอง เช่น จับฉ่าย ต้มไข่ ตุ๋นไข่ หุ่นก็เลยลดลง เอวก็ลดลง เพื่อนฝูงเห็นแล้วเป็นห่วงว่าเกิดอะไรขึ้น

ยอมรับเครียดพอสมควร แต่ไม่ได้แค้นนะ เพราะมันมองไม่เห็นทางออกของบ้านเมือง เมื่อเครียดแล้วก็ระบายออกด้วยการไปวิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยานรอบๆ มหาวิทยาลัย วันละ 10-20 กิโลเมตร แต่ต่อมาจักรยานถูกขโมยไป 2 คันอีก'

'ข้อดี ของที่โน่นคือคนไทยรักกัน ช่วยเหลือกันดีมาก พอวันหยุดก็ทำข้าวหม้อแกงหม้อไปกินกันที่วัด เวลามีข่าวทางเว็บไซต์ว่าผมอยู่ลาว เขาก็ถามกันว่าเอ๊ะ! เรามียงยุทธ 2 คนหรือเปล่า พออ่านข่าวจบก็ยังนั่งหัวเราะ แล้วถามกันว่า ทำไมสื่อบ้านเราเป็นเช่นนี้ ผมบอกว่าอย่าไปโทษสื่อเลย เขาเอามาจากแหล่งข่าว พอเห็นชื่อแหล่งข่าวเท่านั้นแหละ ผมตกใจเลย เพราะแหล่งข่าวกลายเป็น รมว.กลาโหม ที่ชื่อ บุญรอด สมทัศน์'

1 ปีผ่านไป 'ยงยุทธ' ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศอย่างเงียบๆ ก่อนกลับเขาได้เข้าไปลาอาจารย์และเพื่อนฝูง หลายคนทัดทานเพราะห่วงสวัสดิภาพ

กระทั่งทุกวันนี้ 'ยงยุทธ' ก็ยังต้องคอยตอบอี-เมลจากอาจารย์ที่ถามมาว่า 'ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่'..?




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2550 6:18:28 น.   
Counter : 1644 Pageviews.  


คำสารภาพ 'ข้าศึกสมมุติ' ยงยุทธ ติยะไพรัช

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 'ยงยุทธ' เปิดห้องประชุมชั้น 6 อาคารไอเอฟซีที คุยกับ 'มติชน' ถึงความรู้สึกในนาทีแรกที่ได้พบหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมบอกเล่าภารกิจที่รับมาทำ และต้องทำให้ได้


สัมภาษณ์พิเศษ โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ


หากเอ่ยถึงชื่อ ยงยุทธ ติยะไพรัช หลายคนอาจนึกถึงภาพ 'ม็อบ'

ขณะที่อีกหลายคนนึกถึงภาพ 'ตู้เย็น'

แต่ภาพที่ปรากฏตรงกันในสามัญสำนึกของคนทั่วไปคือภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก 'ยงยุทธ' คนนี้คือ 'คนใกล้ชิด' ที่เพียงแค่มองตาก็รู้ใจ จึงมักได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญเสมอๆ

และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาต้องเผชิญวิบากกรรมไม่ต่างจาก 'นายรัก'

แต่ดูเหมือนโชคยังเข้าข้าง 'พ.ต.ท.ทักษิณ' กับ 'ยงยุทธ' อยู่บ้าง เมื่อ 'มือขวา' คนนี้รอดพ้นจากการถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช.) คนที่ 1

ทำให้หลายอดวิตกไม่ได้ว่าเขาจะเข้ามา 'ล้างแค้น' และ 'ทวงคืนอำนาจ' แทน พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่อย่างไร

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 'ยงยุทธ' เปิดห้องประชุมชั้น 6 อาคารไอเอฟซีที คุยกับ 'มติชน' ถึงความรู้สึกในนาทีแรกที่ได้พบหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมบอกเล่าภารกิจที่รับมาทำ และต้องทำให้ได้

ถาม - ภายหลังรัฐประหารได้เจอ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งแรกเมื่อไร

ตอบ - ผมเห็นว่าคนที่น่าสงสารที่สุดคือนายกฯทักษิณ ตอนนั่งประชุมหัวโต๊ะ ครม. คนใกล้ชิดทุกคนยิ้ม พยักหน้า เห็นด้วยทุกเรื่อง บางทีก็ออกหน้าด่าทหาร บางทีไปด่าพันธมิตร แต่พอปฏิวัติเสร็จคนเหล่านี้ กลับหันปากตัวเองมาด่านายกฯทักษิณ แล้วก็ปล่อยเท้งเต้ง ไม่ดูดำดูดีเลย ผมว่าความเป็นมนุษย์มันหายไป

หลังผมออกมาจากที่คุมตัว ก็คิดว่าควรจะไปอยู่เป็นเพื่อนท่าน จึงบอกครอบครัวไปว่า พ่อขอไปทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนที่มีหัวใจให้กันหน่อย ซึ่งทุกคนก็เข้าใจ

ผมเจอท่านครั้งแรกที่สหรัฐ ประมาณ 1 สัปดาห์หลังได้รับการปล่อยตัว ประโยคแรกที่ท่านพูดกับผมคือพี่เสียใจด้วยนะ ที่ทำให้ยงยุทธและครอบครัวเดือดร้อน นี่คือคำพูดแรกที่ท่านพูด ผมทำงานกับหลายคนหลายพรรค ถูกหลอกใช้บ้างอะไรบ้าง แต่กับนายกฯทักษิณ เราเอาหัวใจให้กัน เวลาทำงานผิดไม่มีคำว่า เฮ้ย! คุณอย่างนั้นอย่างนี้ จะหาแนวทางแก้ให้ตลอด ก็เลยเป็นเหมือนครูผม ผมไม่ต้องไปลองผิดลองถูก

นอกจากนี้ ท่านยังบอกว่าคุณหญิงฝากมานะว่า เสียใจที่ทำให้ครอบครัวยงยุทธเดือดร้อน ผมจึงตอบท่านไปว่า ผมและครอบครัวเสียใจยิ่งกว่า เสียใจที่สนับสนุนและทำให้ท่านเกิดวิบากกรรมในชีวิต เพราะถ้าไม่มีพรรค ไม่มี ส.ส. ไม่มีการเล่นการเมือง สิ่งที่แกทำมาตลอดชีวิตก็คงทำให้แกมีความสุขดี

- ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้เจอ พ.ต.ท.ทักษิณกี่ครั้ง

(ครุ่นคิดพักหนึ่ง)..คิดว่า 5 ครั้งนะ มีคนอื่นเจอเยอะกว่าผมอีก ไปประจำเลย... ก็มีท่านมาหาผมที่สหรัฐบ้าง แต่ก่อนตอนอยู่ทำเนียบพอตื่นเช้ามาท่านจะกินไข่ต้ม แล้วก็สั่งงาน พวกเราต้องแอบถามกันว่า เมื่อคืนท่านหลับดีหรือเปล่า ถ้าหลับดี รับรองวันนี้งานตรึมเลย ท่านจะสั่งงานทุกช็อต แต่ถ้าเมื่อคืนท่านไม่ค่อยหลับ แสดงว่าวันนี้งานเบา อันนี้คือเรื่องที่รู้กันในหมู่คนใกล้ชิด (เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม)

ผมเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ท่านฟัง ก่อนถามท่านว่า วันนี้ไม่มีงานทำ ตื่นมาแล้วอึดอัดบ้างหรือเปล่า ท่านบอกว่าคนมันเคยทำงาน พอไม่มีงานทำ พลังงานก็เลยเหลือเฟือ คิดนั่นคิดนี่ ท่านก็เป็นมนุษย์น่ะ เป็นคนน่ารัก วันนี้ไอเดียยังไม่หยุดเลย คิดว่าจะทำมาร์เก็ตติ้ง (การตลาด) ให้ประเทศได้อย่างไร ทั้งๆ ที่บางคนตั้งป้อมจะทำลายท่านอยู่ แทนที่จะคิดว่าตัวเองจะอยู่รอดได้อย่างไร หัวสมองยังไปคิดอีกว่า จะทำให้ประเทศดี ได้อย่างไร เรื่องซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ ก็เรื่องมาร์เก็ตติ้งประเทศนะ ทำโพสสิชั่น (ตำแหน่ง) ให้ประเทศ แต่คนกลับไปมองว่าเอาเงินไปทำอะไร ความจริงตัวเล่นทางการเงินที่ท่านมีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศ มีเยอะแยะ ไม่ใช่เงินที่หากินในประเทศหรอก

- คิดว่าสาเหตุที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกับคุณหญิงพจมานไว้ใจมาก เป็นเพราะอะไร

ต้องไปถามท่านนะ..ผมไม่รู้ว่าไว้ใจหรือเปล่า แต่สิ่งที่ผมทำ มันเป็นเนื้องานจริงๆ ในฐานะที่ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ติดสอยห้อยตามไปก็ยังมีคุยเฮฮากับท่านบ้าง แต่กับคุณหญิงไม่ได้ใกล้ชิดกัน

- แกนนำรัฐบาลไทยรักไทยหลายคนมองว่าท่านคือตัวปัญหา ทำให้รัฐบาลพัง

(หัวเราะ) ก็เขาไม่ได้บอกตัวเองว่าเป็นต้นเหตุ พออำนาจใหม่มา ก็โทษคนอื่น ชี้เป้าให้คนอื่นเป็นเหยื่อ ตัวเองจะได้รอด วิ่งไปบอกว่าไอ้คนที่ต่อต้านท่านไม่ใช่ผมนะ แต่เป็นไอ้คนนี่แหละ (ชี้ตัวเอง) แล้วก็ประจบประแจงเสีย มันไม่มีใครชี้ตัวเองหรอก ถ้าเป็นผม ผมจะอายมากนะถ้าไปพูดอย่างนั้น...

วันนี้ต้องถามว่า ปัญหาที่ผมสร้างไว้คืออะไร คดีทุจริตที่พยายามจะยัดเยียดให้ผมเนี่ย มันมีหรือเปล่า ที่บอกว่าจัดม็อบมาตีกัน ตอนผมอยู่ต่างประเทศก็ยังมีม็อบ การนำชื่อผมไปอ้างในสถานที่ต่างๆ ทำให้ผมเป็นข้าศึกสมมุติเพื่อให้คนเกลียดชังเนี่ย หลายเรื่องเมื่อเวลาผ่านไปจะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นจริง

- รู้ตัวหรือไม่ว่า ถูกแกนนำไทยรักไทยนินทาว่าเป็นแก๊งขันที ไม่ใช่ขุนพล

รู้.. รู้หมด และคนกล่าวหาวันนี้ ก็อยู่ฝั่งตรงข้ามหมด เป็นเรื่องธรรมดา จะบอกว่าผมเป็นคนดีคงไม่ได้หรอก ผมก็ต้องเป็นคนชั่วทั้งๆ ที่ในใจเขาอาจจะเห็นใจผม แต่เขาก็ต้องพูดและทำเช่นนั้นเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ ที่บ้านเมืองแตกแยกในอดีต ที่เปิดประตูเมืองให้ข้าศึกเข้ามา เสร็จแล้วก็ชี้เป้า ไปหลอกผู้มีอำนาจว่าพวกนี้ไง ที่ต่อต้านท่าน เพื่อใช้อำนาจคนอื่นมาจัดการกับคนที่ตัวเองเกลียด อันนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้าเขาชี้เป้าว่าผมเป็นคนชั่ว เขาก็จะกลายเป็นคนดี แต่ถ้าผมเป็นคนดี เขาก็จะกลายเป็นคนชั่ว ผมจึงไม่ให้น้ำหนักตรงนี้ วันนี้เรากำลังมะรุมมะตุ้มอยู่กับปัญหา แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อฝุ่นจางลงก็จะได้รู้ว่าของจริงเป็นอย่างไร ถึงแม้ตายไป ผมก็ยินดีที่จะพิสูจน์ว่าตัวตนที่แท้จริงเป็นเช่นไร

- พ.ต.ท.ทักษิณรับรู้และเข้าใจกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือไม่

ก็เป็นบทเรียนที่มีคุณค่ากับชีวิต ท่านก็พูดอยู่ตลอดว่าผมเนี่ย ยังไม่ทันตายก็เห็นแล้วว่าอะไรเป็นอย่างไร ขนาดท่านเลี้ยงดูคนเหล่านี้มา ให้อำนาจ วาสนา ให้โอกาส ยังเป็นอย่างนี้ กับผมซึ่งไม่เคยให้อะไรคนเหล่านั้น มันจึงเป็นปกติที่โดนเช่นนั้น

- สุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณเหลือมิตรแท้อยู่ไม่กี่คน

อืม... มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ถามว่ามันน้อยลงกว่าเดิมไหม ถึงเวลาวิกฤตมา เรามักจะเห็นความเป็นจริงเสมอในชีวิต

- ความสัมพันธ์กับคุณเนวิน ชิดชอบ เป็นอย่างไร

ผมไม่เคยนัดไปกินข้าวกับท่าน หรือนัดไปนินทาว่าร้ายใคร ไม่เคยนอนด้วยกันในห้องแล้วมาปรึกษาหารือว่าจะทำนั่นทำนี่ แต่เวลามีภารกิจในห้องประชุม ก็คุยกัน แบ่งงานกัน เสร็จแล้วก็กลับบ้านใครบ้านมัน ไม่ได้คุยกันอีก พอเช้าวันรุ่งขึ้นแกจะมาตรงเวลาเลย อันนี้คือเสน่ห์ และแกก็ชอบอ้างถึงผมตลอดเวลา ทำให้ผมกับแกติดกัน แต่จริงๆ ตั้งแต่ผมไปสหรัฐไม่เคยโทร.หาท่านเนวินเลย และแกก็ไม่เคยโทร.หาผมเลย อันนี้คือเรื่องจริง ถามว่าชอบแกตรงไหน ชอบที่เป็นคนพูดคำไหนคำนั้น แต่เรื่องความสนิทส่วนตัว ไปเที่ยววางแผนชั่วร้ายจะทำนั่นทำนี่ ไม่จริง ไม่เคยมี และผมไม่โกหก

- สไตล์ของ พ.ต.ท.ทักษิณคือไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณส่งให้มาทำอะไรหรือไม่

ผมอาจจะดูเหมือนเป็นคนก้าวร้าว เหมือนถูกแต่งตั้งเข้ามาล้างแค้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ คือวันนี้จำเป็นต้องมียงยุทธ เพราะยงยุทธคนนี้ไม่ใช่คนฉลาด ไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนที่มีภาพลักษณ์ดีในสังคม ถ้าท่านจะส่งคนมาแก้แค้นนี่ ไม่ใช่ยงยุทธแน่นอน เพราะยงยุทธมันเป็นเบอร์เดน (ภาระ) ไม่ใช่แอสเซ็ท (สินทรัพย์) แต่เป็นไลน์ อะบิลีตี้ (ผู้รับใช้) ผมรู้ตัวเองครับ ดังนั้นถ้าจะบอกว่าถูกส่งมา จะส่งมาทำไม ไม่ใช่เลย แต่เป็นการอาสาเข้ามาทำให้เกิดความปรองดอง ทำให้คนรักกัน

- แต่ในทางการเมืองเป็นที่รับรู้กันว่ายงยุทธคือสายตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ไม่รู้นะ ใครอยากคุยด้วย ผมก็ไม่ได้รังเกียจ ทหารถ้าอยากเรียกไปคุยก็ไปนะ ถ้ามันมีทางออกที่ดี ทำให้บ้านเมืองสงบสันติ เรียกมาเถอะ แม้แต่คนที่เกลียดขี้หน้าผมที่สุด ผมก็จะไป ถ้าทหารบอกว่าคุณลดตรงนี้หน่อยสิ บ้านเมืองจะได้สงบ รับรองไม่มีปัญหาเลย แต่วันนี้พวกยุและพวกกินส่วนต่างมันเยอะ โดยเฉพาะพวกที่ด่า พวกที่ไป คนกลุ่มนี้น่ากลัว คือยุให้ 2 ข้างแตกกันแล้วตัวเองก็เอาผลประโยชน์ อันนี้มันคู่กันในสังคมไทย

- วันนี้กลายเป็นว่าใครจะทำอะไรใน พปช. ต้องอ้างลอนดอนตลอด จึงจะได้รับการยอมรับ

น่าเห็นใจนะ มันไม่มีหรอก ถ้าเอาเรื่องคนที่อ้างลอนดอน อ้างว่าติดต่อตลอดเวลา ถามว่าอ้าง 100 คน ก็วันละ 100 นาทีแล้ว มันจะต่อสายอย่างไร โทร.ไปลอนดอนอย่างเดียว ไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้ว ที่อ้างๆ กันเป็นเพราะท่านเป็นผู้มีบารมีในพรรคสูง เป็นผู้ก่อตั้งพรรคเก่ามา เลยทำให้คนที่จะทำอะไร แต่กลัวบารมีตัวเองจะไม่พอ ชอบนำมาอ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ขนาดจะรวมกัน 3 พรรคยังอ้างวิญญาณน้าชาติ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา) เลย อันนี้ไม่ใช่กระแนะกระแหน อย่าโกรธนะ แต่ต้องการยกตัวอย่างที่ชัดเจน

- การที่ทุกคนในพรรคมีบารมีเท่าๆ กัน จะทำให้เกิดปัญหาภายในหรือไม่

ไม่ใช่ปัญหา การขับเคลื่อนพรรคให้ไปได้ไม่ได้อยู่ที่บารมีอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าเห็นเป้าหมายตรงกันหรือไม่ อย่างหลายๆ พรรคจะรวมกันเพราะปัจจัยเรื่องทรัพยากรบ้าง ปัจจัยเรื่องคนบ้าง สุดท้ายมีเป้าหมายคนละดวง มันก็อยู่กันไม่ได้

ถามว่าอุดมการณ์ของ พปช.คืออะไร คือการทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข มีความปรองดอง อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า พปช.เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่ ก็ต้องใช้เวลา แรกๆ อาจมีกระจองอแงบ้าง เพราะร้านก๋วยเตี๋ยวมันเพิ่งตั้ง สียังไม่ทันแห้งเลย ก็ต้องเหม็นสีบ้าง คนล้างจานไปไหน เด็กเสิร์ฟไปไหน แต่ตอนนี้รู้หมดแล้ว

- ดูเหมือนคนในจะไม่ค่อยสนใจร้าน แต่ชอบวิ่งไปหาเถ้าแก่คนเก่า

ไม่หรอก มันก็เหมือนน้ำพริกแม่ประนอม ใครเป็นคนคิดตำราขึ้นมา เขาก็ต้องอ้างตำรานั้น แม้แต่พวกที่แตกออกไป วันนี้ก็ยังเอาตำราเก่าไปหากิน จะไปโทษพรรคนี้ได้อย่างไร บางคนนายห้างตราใบห่อเขาสอนมาจนโด่งดังขึ้นมา ก็เลยคิดว่าตัวเองเป็นซาร์สไง คนใส่แว่นตานั่นไง ที่นึกว่าตัวเองเป็นซาร์ส แต่สุดท้ายก๊อบปี้นโยบายไปเกือบหมด เห็นชัดเจนเลย (หัวเราะ) เพราะสุดท้ายมันหนีเจ้าตำรับไม่ได้

- ยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่ได้กำลังใช้ พปช. สู้แทนลอนดอน

ไม่ใช่ สู้เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย เกิดความปรองดอง และความเป็นธรรม

- ก่อนหน้านี้เคยระบุว่า รับออเดอร์จาก พ.ต.ท.ทักษิณมาว่าต้องกลับมาพิสูจน์เรื่องความจงรักภักดีให้ได้

นั่นไม่ใช่ออเดอร์ แต่ผมไปเยี่ยมไปลาท่าน บอกว่าผมจะกลับบ้านแล้วครับลูกพี่ ท่านก็บอกว่าเฮ้ย! กลับบ้านก็ดีแล้ว ต้องไปยืนยัน ไม่ใช่ไปแสดงนะ ไปยืนยันความจงรักภักดี ไปพิสูจน์ตัวพวกเราว่า ไม่ได้ผิดตามที่พวกเขากล่าวหา เพราะวันนี้มันโดนโจมตีจนดูเหมือนเป็นเรื่องจริงไปแล้ว ดังนั้นต้องชัดเจนว่า พปช. ตั้งขึ้นมาไม่ใช่เพื่อมาทำลายสถาบัน หรือประเทศชาติ เราอยากให้เกิดความปรองดอง ทำให้เกิดความสุข ปีนี้ถ้าคนไทยมีความสุข พ่อของเราจะมีความสุข แต่ถ้าทะเลาะเบาะแว้ง ตบตีกันไม่จบสิ้น พ่อเราจะหาความสุขได้อย่างไร

วันนี้ต้องสร้างวัฒนธรรมในสังคมให้เห็นข้อเท็จจริง ทำให้เขารู้ว่าความถูกความผิดคืออะไร บางครั้งเราก็ต้องแหกกฎแหกมารยาทผิดๆ ที่มีอยู่บ้าง เราต้องฝ่าด่าน ต้องเจ็บปวด ต้องมีบาดแผล ถ้าเราไม่ใส่เสื้อแดงเดินกลางถนน จนถูกคนส่วนหนึ่งบอกว่ามันบ้า ไอ้สติเฟื่อง แต่ในเสื้อแดงที่เราใส่มันเป็นจุดเด่น เราต้องบอกว่าไม่เห็นด้วยกับอะไรเพื่อให้คนได้เห็น เพราะถ้าใส่เสื้อเหมือนเขา มันก็อยู่สบาย อยู่ได้อย่างกลมกลืนในสังคม แต่สังคมไม่เห็นอะไรที่แปลก จึงคิดไปว่าวัฒนธรรมนี้ถูกต้อง ดังนั้นการทำตัวแปลกแล้วสังคมหันกลับมามอง แม้มันจะเจ็บปวดบ้าง แต่ก็ทำให้คนได้เห็น

- ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่ต้องทำในฐานะตัวตายตัวแทน

วันนี้เห็นไหมว่า พรรคไหนเป็นนอมินีทหาร พอจะตั้งพรรคแล้วไม่สำเร็จก็เอาตัวแทนเข้าไปอยู่ บางพรรคก็เอาลูกนายทหารใหญ่ใน คมช. ไปลง ส.ส.ก็มี แล้วมาด่าเราเป็นนอมินีทักษิณ นอมินีทักษิณ กับนอมินีทหาร อันไหนจะดีกว่ากันไม่รู้ ไปดูเอาเอง ในระยะสั้นคนอาจกลัว แต่ระยะยาวคนจะเชื่อใครอยู่กับใคร ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก มันไม่มีพลังอะไรที่จะไปทำลายล้างพลังอำนาจของทหารได้เท่ากับพลังประชาชน มันไม่มีหรอก

- หลังจบภารกิจ คิดว่าตัวเองจะยืนอยู่ตรงไหนในทางการเมือง

ไม่ได้คิดอะไร คิดอย่างเดียวคือการจัดองค์กรภายใน เป็นภารโรงช่วยเพื่อนฝูงทุกคนที่เดือดร้อน วันนี้ แม้จะมีชื่อเป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 ก็จริง แต่หน้าที่เป็นเหมือนพนักงานธุรการ คอยประสานงาน และทำให้ช่วงเวลาที่ทุกข์ยากลำบากที่สุดผ่านพ้นไปได้ ผมเคยประกาศเอาไว้แล้วว่าเมื่อบ้านเมืองสงบ และพรรคมันเดินไปได้ ผมก็ต้องลดบทบาทตัวเอง ขอถอยไปเป็นสมาชิกธรรมดา ไม่ได้ทะเยอทะยานทางการเมือง

ดังนั้น ถ้าวันนี้มีอะไรที่ผู้ใหญ่ในพรรค หรือเพื่อนในพรรคไม่สบายใจในการทำงานร่วมกับผม ก็ขอให้ให้อภัยผมด้วย เพราะผมมีภารกิจแค่นี้ หลังจากนั้นผมก็จะขอไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อม




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2550 6:17:35 น.   
Counter : 773 Pageviews.  


สัมภาษณ์พิเศษ-'หมอเลี้ยบ'ดีดลูกคิด พปช.240 ที่นั่ง-'สมัคร'นายกฯ

ถ้าให้ประเมินภาคอีสานได้ไม่ต่ำกว่า 100 จาก 130 กว่า เหนือจาก 70 กว่า น่าจะได้ 40-50 กทม.อย่างน้อยเราน่าจะได้สักครั้งหนึ่ง ภาคกลาง ถ้าคู่แข่งไม่แข็งมากก็อาจจะได้สัก 30-40 แต่ถ้าคู่แข่งแข็งมากก็อาจจะต่ำกว่านั้น ต่ำสุดอยู่ที่ 20


สัมภาษณ์โดย สรกล อดุลยานนท์


ต้องยอมรับว่าพรรคพลังประชาชนมาเหนือเมฆกว่าที่หลายฝ่ายคิด ด้วยระยะเวลาเพียง 6 เดือน หลังจากที่ตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทย

แรกๆ อาคารไอเอฟซีทีที่เคยเป็นที่ทำการพรรคแทบร้างไร้ผู้คน แต่มาวันนี้จากที่เคยตกเป็นฝ่ายตั้ง 'รับ' กลับกลายเป็นฝ่ายเข้า 'รุก' จนสร้างความหวาดผวาให้กับฝ่ายตรงข้ามได้!!!

ภาพของพรรคพลังประชาชนในเวลานี้พรั่งพร้อมไปด้วยต้นทุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ส.ส.เกรดเอ คณะทำงานของพรรค หรือแม้แต่คีย์แมนชั้นเซียนที่เคยทำงานให้กับพรรคไทยรักไทย

มติชน มีโอกาสได้พูดคุยถึงก้าวต่อไปของพรรคพลังประชาชนในห้วงเวลานี้จนถึงหลังการเลือกตั้งกับหนึ่งในยอดขุนพลสำคัญของพรรคพลังประชาชน และบุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้วางใจ 'หมอเลี้ยบ' นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน

- ตอนนี้กระแสของพรรคพลังประชาชนดีขึ้นหรือไม่ เพราะมีการพูดกันว่ายิ่งเศรษฐกิจแย่กระแสยิ่งดี

(หัวเราะยาวและดังมาก) ผมคิดว่าดีขึ้น ดูจากน้ำเสียงของคนที่เคยคุยกันเพื่อนฝูงอะไรต่างน้ำเสียงเหมือนกับรู้สึกว่าภาวะอย่างนี้ต้องการคนมาแก้ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ ตอนนี้มันอาจจะย้อนกลับไปเหมือนปี 2542-2543 ที่รู้สึกว่ามันต้องการใครมาแก้ปัญหา

- ถ้าเลือกตั้งวันนี้ท่านประเมินว่าพรรคพลังประชาชนจะได้ที่นั่งในสภากี่ที่นั่ง

อยู่ที่คู่แข่งบางพื้นที่ถ้าเจอคู่แข่งแข็งๆ โอกาสชนะเราก็น้อยก็ต้องยอมรับ เช่นโคราช ยอมรับเลยว่าถ้าเราชนะต้องถือว่ากระแสแรงมากถึงเอาชนะได้ วันนี้ถ้าให้ประเมินถ้าตัวคู่แข่งไม่ได้เป็นตัวผู้สมัครที่มีความเข้มแข็งในพื้นที่มากจริงๆ ผมคิดว่าในภาคอีสานเราได้ไม่ต่ำกว่า 100 จาก 130 กว่า เหนือจาก 70 กว่า เราน่าจะได้ 40-50 กทม.หวังว่าอย่างน้อยเราน่าจะได้สักครั้งหนึ่ง ถ้าไม่มีอะไรที่ทำให้เราสะดุดขาตัวเองที่เราคาดไม่ถึง

ส่วนภาคกลางอาจจะยังเป็นจุดที่ไม่นิ่งมากที่สุด พรรคชาติไทยเองก็ถือว่าพื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสสูง พรรคอื่นๆ อย่างเพื่อแผ่นดิน รวมใจไทยชาติพัฒนา ผมว่าเขาก็คาดหวังอยู่ พื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครครองพื้นที่ได้เป็นส่วนใหญ่อาจจะแบ่งๆ กันไป ของเราเองถ้าคู่แข่งไม่แข็งมากก็อาจจะได้สัก 30-40 แต่ถ้าคู่แข่งแข็งมากก็อาจจะต่ำกว่านั้น ต่ำสุดอยู่ที่ 20 ก็อาจจะได้

- แล้วใน กทม.เป็นอย่างไร

เขตแข็งๆ ของเราหลายเขตอย่างเช่น พื้นที่ของคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการภาค กทม.พรรคไทยรักไทย) ของคุณศันสนีย์ (นาคพงศ์) ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเยอะ ตรงนี้ก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เราสำรวจกระแสพรรคเมื่อเทียบกับประชาธิปัตย์ก้ำกึ่งไม่เป็นรอง บางพื้นที่ที่เป็นเขตชั้นในเราจะเป็นรอง แต่ในพื้นที่เขตชั้นนอกเราจะเป็นต่อ ฝั่งธนบุรี มีนบุรี เพราะฉะนั้นเมื่อรวมแล้วก้ำกึ่งนี่คือสภาพก่อนหน้านี้

- ถ้าได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งคุณสมัคร (สุนทรเวช หัวหน้าพรรค) จะได้เป็นนายกฯแน่นอน

ก็ต้องเป็นหัวหน้าพรรค (หัวเราะ)

- เตรียมตั้งรับไว้อย่างไรบ้าง กรณีของคุณสมัคร เรื่องรถดับเพลิง ที่คดียังค้างอยู่ที่ คตส. จะมีผลหรือไม่หากพลังประชาชนได้เสียงข้างมาก

มีกรณีที่ว่าคดีเป็นที่สุดก็คือศาลตัดสิน ถ้าคดีไม่สิ้นสุดก็ยังไม่มีผล

- ยังไม่ได้คิดแก้เกมไว้

ยัง เพราะคดีมีจำเลยหลายคน แล้วแต่ละคนก็ต้องสู้คดี

- มีการคาดการณ์ว่าพลังประชาชนจะลดแรงกดดันด้วยวิธีร่วมกับพรรคอื่นแล้วให้พรรคอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี แนวคิดนี้มีหรือไม่

อือ... ตอนนี้ยังไม่มีการคิดแนวคิดนี่เลย ตอนนี้ที่คุยกันในพรรคเอง ทุกคนก็คิดเพียงว่าถ้าหากเราได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหัวหน้าพรรคต้องเป็นนายกฯ แต่ถ้าหากเสียงไม่ถึงต้องจับมือกับพรรคอื่นตรงนั้นยังไม่ได้คิด อย่างที่มีคนพูดเป็นทางออกสมมุติจับมือกับคุณบรรหาร (ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย) ให้คุณบรรหารเป็นนายก ยังไม่เคยมีการคุยกันจริงๆ จังๆ ในพรรคเลย

- หากคะแนนออกมาไม่ถึงกึ่งหนึ่งแต่ได้ ส.ส.เป็นที่หนึ่ง จำเป็นต้องดึงพรรคอื่นเข้ามาร่วม พรรคพลังประชาชนมีโอกาสที่จะใช้ตำแหน่งนายกฯเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือไม่

ครับ คือ ผมคิดว่าพอถึงจุดหนึ่งถ้าหากต้องจับมือการจัดตั้งรัฐบาลวันนั้นมันไม่มีการโดดเดี่ยวพลังประชาชนแน่ๆ หรือทางโน้นจับมือเป็นขั้วถาวรแน่ๆ อย่างน้อยวันนี้เพื่อแผ่นดินก็พูดแล้วว่าไม่ได้เป็นขั้ว เขาก็พูดชัดเจน ผมคิดว่ารวมใจไทยชาติพัฒนาก็คงจะเป็นอย่างนั้น มัชฌิมาธิปไตยผมคิดว่าคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไข

มันอาจจะแตกต่างกับการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งที่แล้วก็คือว่า ส.ส.แต่ละคนมีเอกสิทธิ์ที่จะเลือก ซึ่งหลายๆ ท่านที่คาดหวังไว้สูงแล้วคิดว่าไม่มี ส.ส.แตกแถวอาจจะได้เห็น ซึ่งผมเองคิดว่าบรรยากาศนี้จริงๆ ก็ไม่ดี แต่ก็อาจจะมี

- หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการเลือกตัวนายกฯ ถ้าพรรคขับออก ก็มีสิทธิยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะไปอยู่พรรคอื่น เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้

ถึงมีคนบอกว่าต้องใช้เงิน 40% ก่อนเลือกตั้ง 60% หลังเลือกตั้ง ถึงบอกว่าถ้าไม่ถึงครึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป แต่ก็ยังเชื่อว่าถ้าหากกระแสคนให้มาเยอะมาก 230 โอกาสที่จะบอกว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็คงจะยาก คือถ้าใกล้ 240 มากเท่าไร โอกาสก็น่าจะมากขึ้น แต่ถ้าต่ำกว่า 200 ก็อาจจะพลิกผันได้

- ท่านคิดว่าจะมีแรงกดดันจากกลุ่มผู้มีอำนาจเหมือนสมัยพรรคสามัคคีธรรมหรือไม่

เป็นสิ่งที่เรากังวลอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าบรรยากาศกองทัพภายใต้ ผบ.ทบ.คนใหม่น่าจะดีขึ้นกว่าก่อน เพราะเวลามันเปลี่ยนไปแล้ว มันได้พิสูจน์มาแล้ว หนึ่งปีที่ผ่านมาการที่ทหารออกมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทำให้ภาพลักษณ์ของทหารทั้งหมดหรือภาพลักษณ์ของ ผบ.ทบ.เสื่อม ผมว่า ผบ.ทบ.คงไม่อยากเห็นตัวเองมาใกล้ชิดกับความเสื่อมอย่างนี้อีก ถ้าเราดูยุค พล.อ.สุจินดา (คราประยูร อดีต ผบ.ทบ.และอดีตนายกรัฐมนตรี) ต่อมาเป็น พล.อ.วิมล วงศ์วานิช (อดีต ผบ.ทบ.) ก็ดึงทหารกลับเข้ากรมกอง ผมว่ากรณีของ พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา ผบ.ทบ.) กับ พล.อ.วิมลก็ใกล้เคียงกัน คือ ถ้าไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายทิศทางทหารน่าจะชัดเจนคือกลับเข้าสู่กรมกองมากขึ้น

- หลังเลือกตั้งท่านคือคนที่เข้าไปเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆ

หัวหน้าพรรคอื่นๆ ก็มีโอกาสได้เจอกันในบางที่เวลาไปออกโทรทัศน์ ถ้าต้องมานั่งพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาลคนรู้จักกันก็คงไม่มีปัญหา แต่ว่าตอนนี้มันยังไม่ใช่เวลามานั่งคุยเรื่องนี้ ตอนนี้น่าจะเร็วไป

หัวหน้าพรรคเองเขารู้จักกันหมด คุณสุวิทย์ (คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน) ก็รู้จัก ถ้าถึงเวลาจริงๆ คงไม่ต้องไปคุยกันในเซฟเฮาส์ มันหมดยุคแล้ว เพราะมันไม่ใช่เป็นแบบว่าชิงไหวชิงพริบอะไรกันมากมาย โอเคถ้าห่างกันแค่ 2 แต้ม เวลาการชิงไหวชิงพริบนี่อาจจะได้เปรียบ

ผมเชื่อว่าวันนี้มันไม่ได้ห่างกัน 2 แต้ม มันคงห่างกันพอสมควร เพียงแต่จะห่างแบบโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลที่มีพรรคหนึ่งเสียงเกือบกึ่งหนึ่งมันน่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า หรือว่าถ้าหากไม่ใช่ก็เป็นของพรรคเบอร์สอง ซึ่งเขาก็ห่างจากพรรคเบอร์สามพอสมควร เพราะทางประชาธิปัตย์ผมว่าร้อยกว่าแน่ แต่กว่าเท่าไรเท่านั้นเอง พรรคที่สามอย่างมากก็ 50-60 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องตกปลาในอ่าง

- พรรคพลังประชาชนจะใช้กระแสของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาใช้ในการหาเสียงแค่ไหน

ถ้าพูดในแง่ของกระแสใหญ่ของพรรคเราคงไม่ได้นำเอาคุณทักษิณหรือผู้ที่ถูกตัดสิทธิคนอื่นๆ มาเป็นลักษณะของการชูขึ้นมาเป็นกลยุทธ์สำคัญของพรรค แต่ถ้าถามว่าในพื้นที่ ส.ส.บางคนของพรรคพยายามเชื่อมโยงกับคุณทักษิณหรือว่าผู้ที่ถูกตัดสิทธิบางคนที่อาจจะคิดว่ามีฐานเสียงที่ดีก็อาจจะเป็นไปได้ ก็มีเหมือนกันที่ทำซีดีเน้นให้คนคิดถึงก็มีนำไปแจกจ่ายที่ภาคเหนือ แต่ไม่ใช่ในลักษณะไปเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองเดิม ผมคิดว่าแผนหลักของเรายังคงต้องเน้นตัวบุคลากรปัจจุบันมันถึงจะยั่งยืนมากกว่า ถ้าหากเราไปเชื่อมโยงกับบุคลากรในอดีต สุดท้ายถ้าเกิดเราต้องมาทำงานจริงๆบุคลากรปัจจุบันก็ต้องมาทำ คุณทักษิณก็ทำไม่ได้ คนนั้นก็ทำไม่ได้ หลักยังต้องอยู่กับทีมเศรษฐกิจปัจจุบัน ทีมงานปัจจุบัน ที่จะเดินหน้าพูดนโยบาย มีคนบอกว่าประเทศไทยกำลังจะเลือกตั้งแล้วกำลังจะกลับไปสู่หนทางที่รุ่งเรืองแล้วเกิดต่างประเทศเขาถามมาอย่างเดียวว่ายังขัดแย้งกันอยู่ ถ้าเกิดมีรัฐประหารอีกจะว่ายังไง ไม่มีใครกล้ามาลงทุน ฉะนั้นถึงจะต้องเน้นว่าทำยังไงที่จะชูว่าสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่างที่หลายคนพูด ผมก็พูด คุณสมัครก็พูด เราจะต้องไม่แก้แค้น ประเด็นนี้ต้องชัดเจน จะต้องไม่มีการแก้แค้นใดๆ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เพราะไม่อย่างนั้นไม่มีใครได้อะไรเลย

- เรื่องปัญหาของการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนจะโดนแรงกดดันมากที่สุด จะโดนควบคุมดูแลมากที่สุด สถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ถ้าพูดถึงตอนนี้ยังไม่มีแรงกดดันมากเท่าช่วงโหวตโน ช่วงโหวตโนแรงกดดันมากกว่านี้เยอะ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่มีกฎอัยการศึก 35 จังหวัดที่ยังเข้มแข็ง ยังไม่มีกระแสต้านกฎอัยการศึกที่มากนัก คือรูปธรรมในแง่ของการที่เข้ามามีบทบาทครอบงำของทางราชการที่ชัดเจน แต่วันนี้เรามีรูปธรรมตอนช่วงโหวตโนที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง ตรงนี้ก็จะทำให้การกระทำต่างๆ จะโจ๋งครึ่มเหมือนช่วงสองเดือนที่แล้วไม่ได้

อันที่สองก็คือ ผมเชื่อว่าทางฝ่ายราชการเองก็มีข้าราชการที่เป็นมืออาชีพ ที่เขาต้องรู้ว่าหลังเลือกตั้งมันไม่รู้ใครจะไปใครจะมา ทำตัวให้เป็นมืออาชีพดีที่สุด ซึ่งเราได้เห็นกระแสโหวตโนเยอะมาก ผมคิดว่าความเข้มแข็งของพลังประชาชนส่วนสำคัญจากกระแสนิยมลดลง ทำให้เราฟื้นตัวได้เร็ว

- ตอนนี้พลังประชาชนยังไม่เจอปัญหา

ยังไม่เจอ แต่พอถึงเลือกตั้งเราไม่รู้ พอถึงเวลาตอนนั้นเราเองก็ธรรมดาเวลาคิดถึงสถานการณ์เราก็คิดถึงสถานการณ์ที่มันแย่ไว้ก่อน ถ้าเจอแบบนี้จะทำยังไง ก็เลยจำลองสถานการณ์ช่วงทำโหวตโนจะทำอย่างไร

ช่วงโหวตโนนั้นแรงสุดแล้ว เพราะในขณะนั้นในแง่ของผู้มีอำนาจเอง อำนาจก็ยังเต็มเปี่ยม

- มีการพูดกันว่าบอกว่าโหวตโน คมช.ยังไม่รู้ว่าทางนี้แรง ยังป้องกันไม่เต็มร้อย แต่คราวนี้เห็นเป้าชัดแล้วว่าจุดไหนเป็นของใคร

เป็นสมมติฐานที่ในฝั่งของเราเองเคยคุยเหมือนกันว่าจะเป็นการชี้เป้าหรือเปล่า ซึ่งเราก็มีการวิเคราะห์ความคิดอย่างนี้เหมือนกัน แต่สุดท้ายเราเชื่อว่าถ้าหากเรารณรงค์ผลดีน่าจะมีมากกว่าคือทำให้เกิดขวัญกำลังใจกลับคืนมาแล้วทำให้คนที่เขายังยืนหยัดอยู่ในพื้นที่เขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ในทางกลับกันก็คือว่าสิ่งที่เขาได้เข้ามาครอบงำในช่วงโหวตโนมันก็ทำให้ส่งสัญญาณออกไปว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงทำอย่างไรไม่ให้เกิดอย่างนั้น การที่ไปปิดล้อมหน้าบ้าน ส.ส. การที่ไปจับตัวผู้ใหญ่บ้าน ณ วันที่ลงประชามติ แล้วสิ่งที่ทำในวันนั้นกระแสสากลเองเขาก็ไม่เข้าใจ

- คิดว่ากฎอัยการศึกคงต้องเลิกแน่นอน

ผมคิดว่าต้องเลิกแน่นอน ถ้าคาดหวังในแง่ดีคือก่อนวันรับสมัคร แต่ถ้าหากยังมีการรีรอบทบาทของหน่วยงานที่ได้รับอำนาจจากกฎอัยการศึกคงมีบทบาทในช่วงเลือกตั้ง ก็คงจะต้องมีการรณรงค์กันอีกครั้งหนึ่งว่าคงต้องมีการยกเลิกกฎอัยการศึก

- ท่านกังวลเรื่อง กอ.รมน.ไหมเพราะ พล.อ.สนธิเข้ามาคุมตรงนี้

เฮ้อ (ถอนหายใจ) ผอ.กอ.รมน.คือ ผบ.ทบ. (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ตัว ผบ.ทบ.

- ดูท่านมีความหวังกับตัว พล.อ.อนุพงษ์ค่อนข้างมาก

ผมว่าบุคลิกของท่าน ท่านนิ่ง เชื่อว่าท่านเองก็อยากเห็นบทบาทของกองทัพภายใต้การบังคับบัญชาของท่านเป็นกองทัพทหารอาชีพ เมื่อก่อนท่านอาจจะเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ถ้าหากมีอะไรที่เป็นทิศทางที่ผิดพลาดของกองทัพ แต่เมื่อท่านมาเป็น ผบ.ทบ.แล้วท่านปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แล้วผมเชื่อว่าท่านคงอยากให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่าท่านเป็นทหารอาชีพที่ทุกคนเคารพ

- กล้าที่จะบอกไหมว่าถ้าเป็นรัฐบาลจะไม่มีการโยกย้าย ผบ.ทบ.ไม่มีการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ.

ถ้าท่านทำหน้าที่ของท่านในฐานะ ผบ.ทบ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นทหารอาชีพ เพราะเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น ผบ.ทบ.ทำหน้าที่อย่างนี้ต่อไป

- กลัวไหมที่ พล.อ.สนธิคุมเรื่องความมั่นคงแล้วก็คุมมหาดไทยด้วย เพราะว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง

เรื่องที่วิเคราะห์ว่ารองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงจะสามารถกำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคงให้เป็นไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการทั้งๆ ที่อาจจะไม่ใช่ทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมเชื่อว่าถ้าเราดูจากรัฐบาลหลายๆ ยุคที่ผ่านมา รองนายกฯด้านความมั่นคงถ้าหากสั่งอะไรที่หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่เห็นด้วยไม่ง่าย เมื่อก่อนนี้สมัยรองฯชิดชัย (พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์) ถ้าเราสั่งได้คงไม่มีปฏิวัติ (หัวเราะ) ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงมีบทบาทที่ชัดเจนถ้าหากใครสั่งในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาก็ต้องหาทางออกที่จะไม่ปฏิบัติได้

- มีอะไรจะฝาก พล.อ.สนธิบ้าง

อยากฝากถึง พล.อ.สนธิว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้พิสูจน์คำพูดของท่านว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ จะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเพราะหลายๆ ครั้งที่พูดท่านไม่ได้ทำตามนั้น ท่านบอกท่านไม่ปฏิวัติท่านก็ปฏิวัติ ท่านบอกท่านไม่สืบทอดอำนาจ ท่านก็มีข่าวคราวมาตลอดเวลาว่าจะตั้งพรรคการเมืองบ้าง คิดจะลงเลือกตั้งบ้าง ผมเชื่อว่าเมื่อท่านมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องความมั่นคงรวมทั้งกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งด้วย ผมว่านี่เป็นโอกาสสำคัญที่ท่านจะได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าท่านทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างน้อยมันจะเป็นเกราะป้องกันท่านที่ทำให้ทุกคนรู้สึกทำใจได้ว่าสิ่งที่ท่านพูดมาแล้วไม่เป็นตามที่ท่านพูดในอดีต อย่างน้อยก็มีครั้งนี้ที่ท่านทำในสิ่งที่ท่านพูด




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2550 6:10:06 น.   
Counter : 484 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com