แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

′ไฟแนนเชียลไทมส์′ วิเคราะห์ "น้ำท่วมไทย" กระเทือนซัพพลายเชน "ทั่วโลก" (ตอน 2)

ไฟแนนเชียลไทมส์ ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในประเทศไทยต่อระบบซัพพลายเชนโลก โดยเบน แบลนด์และโรบิน กว่อง สองผู้เขียนบทความ "ซัพพลายเชนหยุดชะงัก: จุดหมายที่จมอยู่ใต้บาดาล" แผ่นดินไหวญี่ปุ่นและวิกฤติน้ำท่วมไทยกระเทือนชิ้นส่วนการผลิตทั่วโลก ("Supply chain disruption: sunken ambitions" Fallout from Japanese quake and Thai floods is causing global parts shortages) โดยชี้ว่า



หลังภัยพิบัติทั้งสองครั้งซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ และหลังจากที่ความกังวลถึงภาวะโลกร้อนซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีจำนวนถี่ขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องตกอยู่ในภาวะกดดันในการหาวิธีใหม่ของการผลิตและจัดส่ง


สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้บริษัททั้งหลายควรจะต้องได้รับคำเตือนจากทางการอย่างน้อย24ชั่วโมงก่อนที่น้ำจะมาถึง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเหล่านี้ได้รับคำเตือนล่วงหน้าเพียง 2 หรือ 3 ชั่วโมงเท่านั้น นาย เซ็ทซุโอะ อิอุชิ ประธานของเจโทร ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการค้าของโตเกียวกล่าว


บริษัทเหล่านั้นทำอะไรไม่ได้มากนักแม้แต่จะเก็บเอกสารและคอมพิวเตอร์ให้พ้นน้ำ อย่าว่าแต่จะขนย้ายเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่ส่วนมากมักติดตั้งถาวรอยู่กับพื้น


นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไปไกลกว่านั้น บริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรงอย่าง "ฟอร์ด" บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน รวมทั้งบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ทั่วโลกต่างเสียหายจากการขาดชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งล้วนผลิตขึ้นในไทย


เช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น อุทกภัยครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง อันเนื่องมาจากการตั้งโรงงานที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันไว้ในบริเวณเดียวกัน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและเอื้อให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกัน


การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รวมไปถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งช่วยยกระดับฐานะการเงินของประเทศให้กลายมาเป็นประเทศที่มีฐานะปานกลาง แต่เมื่ออุตสาหกรรมเหล่านั้นต้องประสบกับอุทกภัย มันก็ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทั้งบริษัทและต่อความได้เปรียบดังกล่าวของไทย


"บริษัททั้งหลายจำต้องหันมาทบทวนโมเดลธุรกิจที่เน้นการรวมศูนย์การผลิตเสียใหม่"ริชาร์ด ลิตเติ้ล นักวิชาการด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียกล่าว "แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะมีข้อดี แต่มันก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงให้แก่อุตสาหกรรมทั้งระบบ ถ้าโรงงานทั้งหมดของคุณตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น คุณจะเสียผลประโยชน์ทั้งหมดที่คุณได้จากการรวมศูนย์การผลิต"


ตอนนี้ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายรายได้ประมาณการไว้ว่า ยอดขายในไตรมาสที่ 4 จะถูกกระทบอันเนื่องมาจากการขาดแคลนส่วนประกอบ เอเซอร์ได้คาดว่าผลกำไรในไตรมาสที่ 3 จะลดลง 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และในขณะนี้ ราคาฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ได้เพิ่มสูงขึ้น 5-10 เปอร์เซ็นต์แล้ว


การฟื้นฟูอุตสาหกรรมรผลิตฮาร์ดไดรฟ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์รายใหญ่ของโลกอย่างบริษัท"เวสเทิร์นดิจิตอล" เท่านั้น ทว่ายังต้องขึ้นอยู่กับบริษัทผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดรฟ์จากไต้หวันด้วย ทั้งนี้ โรงงานทั้ง 2 แห่งของบริษัท Min Aik Technology ของไต้หวัน ได้สูญเงินกว่า 90 ล้านดอลลาร์เมื่อโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วม


เจ ที หว่าง ประธานของเอเซอร์ออกมาแสดงความกังวลว่า การตั้งโรงงานอยู่ในบริเวณเดียวกันทำให้ความเสี่ยงมีมากขึ้น "ระบบซัพพลายเชนควรจะต้องมีการกระจายตัวมากกว่านี้" เขากล่าว


โจนาธาน กูเย็ตต์ รองประธานฝ่ายซัพพลายเชนของดีเคเอสเอชเห็นตรงกัน อุทกภัยที่เกิดในประเทศไทยและเหตุการณ์สึนามิในญึ่ปุ่นจะส่งผลให้การออกแบบระบบซัพพลายเชนต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกันการบริหารจัดการซัพพลายเชนก็ยังต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า ซัพพลายเออร์ และต้องเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐบาลด้วย


นอกจากนี้ ผู้ผลิตก็ต้องตกอยู่ภายใต้ความกดดันในเรื่องลูกค้า คู่แข่ง และนักลงทุน โดยต้องประหยัดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด


และแม้ว่าบริษัทที่เสียหายเหล่านี้จะมีประกันภัยอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรจะมารับประกันได้ว่า พวกเขาจะมีสินค้าป้อนสู่ตลาดหรือไม่


เช่นเดียวกับเหล่าบริษัทประกันภัยเอง ที่อาจยกเลิกการประกันภัยความเสี่ยงดังกล่าว หากพวกเขาไม่ได้เห็นแผนการป้องกันความเสี่ยงของน้ำท่วมจากรัฐบาล


บริษัทผู้ผลิตจะลงทุนเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดด้วยตนเองหรือไม่?ลิตเติ้ลกล่าวว่า รัฐบาลไม่อาจบังคับให้บริษัทเหล่านี้ลงทุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติเอง เนื่องจากบริษัททั้งหลายต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ การทำให้ผู้ถือหุ้นหันมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและลูกจ้างก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก "ระบบตลาดไม่เคยให้รางวัลแก่ผู้ที่ระแวดระวัง นักลงทุนจะไม่สนใจบริษัทที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มิหนำซ้ำ พวกเขาจะลงโทษบริษัทพวกนั้นด้วยซ้ำ" ลิตเติ้ลกล่าว




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2554   
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2554 7:19:38 น.   
Counter : 1522 Pageviews.  


′ไฟแนนเชียลไทมส์′ วิเคราะห์ "น้ำท่วมไทย"กระเทือนซัพพลายเชน"ทั่วโลก" (ตอน 1)

ไฟแนนเชียลไทมส์ ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในประเทศไทยต่อระบบซัพพลายเชนโลก โดยเบน แบลนด์และโรบิน กว่อง สองผู้เขียนบทความ "ซัพพลายเชนหยุดชะงัก: จุดหมายที่จมอยู่ใต้บาดาล" แผ่นดินไหวญี่ปุ่นและวิกฤติน้ำท่วมไทยกระเทือนชิ้นส่วนการผลิตทั่วโลก ("Supply chain disruption: sunken ambitions" Fallout from Japanese quake and Thai floods is causing global parts shortages) ชี้ว่า


มหันตภัยน้ำท่วมซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปีคราวนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งชีวิตของผู้คนและระบบเศรษฐกิจ คนมากกว่า 400 คนเสียชีวิต คนอีกนับแสนต้องอพยพย้ายที่อยู่ พื้นที่ปลูกข้าว 1 ใน 4 ของประเทศซึ่งส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไทยถูกน้ำท่วมเสียหาย นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 7 แห่งจมน้ำ ซึ่งยังผลให้ประชากรกว่า 7 แสนคนต้องไร้งานทำ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นช่วยให้เห็นความสำคัญของบรรดาประเทศในเอเชีย ที่กำลังกลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตโลก อันเนื่องมาจากปริมาณอุปสงค์ที่สูงขึ้นในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงการเป็นแหล่งผลิตราคาถูก




"โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายแห่งต้องจมอยู่ในน้ำซึ่งท่วมสูงประมาณ 2 เมตร ผู้ผลิตหลายรายต่างพยายามจ้างนักประดาน้ำเพื่อกู้เครื่องจักรที่มีราคาแพงและยากแก่การเปลี่ยน"

แม้ว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เรื่อยไปถึงโรงงานผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มล้วนมีแผนรับมือกับภัยธรรมชาติและความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อันเห็นได้จากการที่คำว่า "การบริหารความเสี่ยงของระบบห่วงโซ่อุปทาน" (“supply chain risk management”) ได้ถูกบรรจุลงในคลังคำศัพท์ของวิชาการบริหาร อย่างไรก็ดี โรงงานมากกว่า 1,000 แห่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงถึงเพียงนี้

"ไม่มีใครเคยนึกถึงความเป็นไปได้ของการเกิดความเสียหายในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด" สมบูรณ์ ประสิทธิ์จุตรากุล ประธานบริษัท ดีเคเอสเอช ประเทศไทย จำกัด กล่าว

แหล่งผลิต 3 แห่งของดีเคเอสเอชในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมทั้งหมด ทั้งโรงงานผลิตกางเกนยีนส์ยี่ห้อลีวายส์ โรงงานผลิตยา และศูนย์กระจายสินค้าที่มีขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 3 สนาม ซึ่งทำหน้าที่จัดส่งสินค้าให้ผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ "ในอนาคต เราจำเป็นต้องทบทวนเรื่องความเสี่ยงจากอุทกภัยเสียใหม่ เราต้องกลับมาพิจารณาว่า ควรจะยกพื้นที่ตั้งโรงงานให้สูงขึ้น หรือควรจะไปหาทำเลที่ตั้งโรงงานซึ่งมีการป้องกันภัยพิบัติที่ดีกว่านี้แทน" สมบูรณ์กล่าว

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆด้วย "ไม่กี่ปีที่แล้ว คนที่เป็นผู้จัดการซัพพลายเชนอาจจะแค่เดินเข้าไปหาหัวหน้า และอธิบายว่าวิกฤติน้ำท่วมในไทย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการได้ล่วงหน้า และเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ทุกวันนี้ คุณไม่สามารถอ้างเหตุผลดังกล่าวได้อีกต่อไปแล้ว" เดเนียล คอร์สเตน ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนของสถาบันสอนธุรกิจไออีในมาดริดกล่าว




คอร์สเตนกล่าวต่อว่า บริษัทจะถูกมองว่าเป็นจำเลยจากการกระทำที่ "ไร้ความรับผิดชอบ" ในสายตาลูกค้าและผู้ถือหุ้นของบริษัทถ้าหากว่า "บริษัทเหล่านั้นไม่มีการเตรียมการเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด"

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ที่ตั้งของโรงงานผลิตเหล่านั้นกระจุกอยู่รวมกันในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ที่ตอนนี้แลดูเหมือนทะเลสาบขนาดยักษ์

ไล่มาตั้งแต่ "ฮอนด้า" โรงงานผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นซึ่งจมอยู่ใต้บาดาลมาตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่อยมาถึง "เอเซอร์" บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ซึ่งมีโรงงานผลิตฮาร์ดดิสส์ไดรฟ์ในประเทศไทย และบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อื่นๆซึ่งได้ประมาณการไว้ว่า ยอดขายและผลกำไรของบริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยพิบัติในครั้งนี้ จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนทำให้ฮอนด้าต้องลดจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ไล่ไปถึงเมืองสวินดอนในสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ช่วงเวลาของการเกิดภัยพิบัติก็ช่วยซ้ำเติมความเสียหายให้สาหัสขึ้นไปอีก อุทกภัยครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 6 เดือน ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศ ขณะเดียวกัน บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นก็มีสัดส่วนการลงทุนจำนวนมากในประเทศไทย บริษัทเหล่านี้ต้องรับกับความเสียหายอีกครั้ง จากการที่โรงงานมากกว่า 450 โรงจากทั้งหมด 2,000 โรงถูกน้ำท่วม




และน้ำจะยังไม่หายไปไหนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำที่มองใน "แง่บวก" ที่สุด ส่งผลทำให้ผู้บริหารยังไม่สามารถประมาณการตัวเลขความเสียหายทั้งหมด รวมถึงเงินทุนที่จะต้องใช้สำหรับการฟื้นฟูโรงงานได้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ว่า วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อจีดีพีมากกว่า 1.7 เปอร์เซ็น เทียบกับความเสียหาย 0.3 เปอร์เซ็นของจีดีพีเมื่อช่วงเหตุการณ์สึนามิของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2547 และมูลค่าความเสียหาย 0.1 เปอร์เซ็นของจีดีพีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ นักลงทุนชาวต่างชาติจะย้ายการลงทุนออกนอกประเทศไทยหรือไม่? บรรดาผู้ผลิตจะเปลี่ยนแผนธุรกิจจาก "โมเดลการผลิตที่เน้นต้นทุนต่ำ" ในปัจจุบัน ที่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และลูกค้าอยู่บริเวณใกล้กันทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเปลี่ยนจากการผลิตแบบ "ทันเวลาพอดี" หรือ "just-in-time production" [หมายเหตุ การผลิตแบบ "just-in-time" (JIT) โรงงานจะทำการผลิตสินค้าให้เสร็จและจัดส่งออกไปเมื่อมีการขายเกิดขึ้นเท่านั้น และวัตถุดิบ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้า ก็จะถูกนำมาผลิตและประกอบตามจำนวนความต้องการของลูกค้า วัตถุดิบและวัสดุต่าง ๆ ก็จะถูกสั่งซื้อเข้ามาก็ต่อเมื่อมีความต้องการเท่านั้น] ไปยังแผนธุรกิจที่เน้นการกระจายความเสี่ยงกว่านี้หรือไม่? บริษัทควรจะหันมาลงทุนเพื่อการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งใช้เงินลงทุนมหาศาล หรือจะเพียงแค่ก้มหน้ายอมรับว่า ภัยพิบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อาจคาดการณ์ได้?




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2554   
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2554 7:17:56 น.   
Counter : 632 Pageviews.  


ความผิดพลาดสามัญ 19 ประการ ที่นักลงทุนส่วนมากกระทำ

ความผิดพลาดสามัญ 19 ประการ ที่นักลงทุนส่วนมากกระทำ
(Nineteen CommonMistakes Most Investors Make)
จาก How to Make Money in Stocks ของ William J. O Neil

1. รั้นที่จะถือขาดทุนไว้เมื่อเป็นจำนวนเล็กน้อยและสมเหตุสมผล
(Stubbornly holding onto losses when they are small and reasonable.)
ข้อนี้เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมากเป็นอันดับหนึ่ง
(นาย O Neil มีกฏให้ทำ Cut loss ทันทีเมื่อขาดทุนไป 7-8%)
2. ซื้อตอนหุ้นตก นั่นคือการตอกย้ำความลำเค็ญ
(Buying on the way down in price, thus ensuring miserable results.)
หุ้นที่กำลังตกลงมาถูกกว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนดูท่าว่าถูกดี
แต่ จะจ้องรับกริชที่กำลังหล่นไปไย
3. ซื้อเฉลี่ยตอนลงมากกว่าตอนขึ้น
(Averaging down in price rather than up when buying.)
นี่คือการเอาเงินดีไปปนเงินเลว
เป็นกลยุทธแบบมือสมัครเล่นที่จะนำไปสู่การขาดทุนหนักๆ
4. ซื้อหุ้นราคาต่ำจำนวนมาก แทนที่จะซื้อหุ้นราคาสูงจำนวนน้อย
(Buying large amounts of low-priced stocks
rather than smaller amounts of higher priced stocks.)
หุ้นคุณภาพดีราคาไม่มีต่ำ
(ลองเทียบ PTT/340++ กับ TMB/1.20++)
ควรซื้อหุ้นที่ดีที่สุด (ไม่ใช่ถูกที่สุด)
5. อยากรวยเร็วไม่อยากออกแรง
(Wanting to make a quick and easy buck.)
โลภมากใจร้อนจี๋ มีโอกาสใจด่วนโดดเข้ากองไฟ
แล้วเสียดายไม่อยาก Cut loss เมื่อพลาด
6. ซื้อตามเขาว่า
(Buying on tips, rumors, split announcements,
and other news hear from supposed market experts on TV.)
หรืออีกนัยหนึ่ง เอาเงินที่ตนสะสมมาอย่างยากเย็นไปเชื่อตามคนอื่น
แทนที่จะใช้เวลาฝึกศึกษาให้รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร
7. เลือกหุ้นชั้นรองเพราะได้ปันผลหรือ P/E ต่ำ
(Selecting second-rate stocks because of dividends
or low price-earnings ratios.)
มีปัจจัยข้อมูลอื่นๆอีกมากที่สำคัญกว่า เงินปันผล หรือ P/E
(เช่นอัตราการเติบโต)
8. ไม่ยอมถอยแม้จะเลือกผิดและไม่รู้จริง
ในการหาบริษัทที่พบความสำเร็จ
(Never getting out of the starting gate properly
due to poor selection criteria and not knowing exactly
what to look for in a successful company.)
หลายคนหลงอยู่กับหุ้นปลายแถวที่มีข้อมูลคลุมเครือ
9. ซื้อหุ้นที่คุณคุ้นชื่อ
(Buying old names you're familiar with.)
แค่ที่คุณเคยทำงานการบินไทย
ไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุให้เป็นหุ้นดีที่คุณควรซื้อ
มีหุ้นดีๆเกิดใหม่ขึ้นมาได้เสมอ
10.ไม่มีปัญญาจดจำทำตามข้อมูลคำแนะนำที่ดี
(Not being able to recognize
(and follow) good information and advice.)
ญาติ มิตร โบรกเกอร์ และ การบริการให้คำแนะนำต่างๆ
อาจเป็น -ต้นตอ- ของคำแนะนำที่เลว
มีนักกีฬามืออาชีพเพียงน้อยนิดที่โด่งดังโดดเด่นจริงๆ
11. ดูกราฟไม่เป็นและไม่กล้าซื้อเมื่อเป็น "new high"
(Not using charts and being afraid to buy stocks
that are going into new high ground in price.)
คนมากกว่า 98% คิดว่าราคาที่ new high แพงไป...แล้วก็ตกรถ
12. ชอบขายหมูแต่ชอบกอดของเน่า
(Cashing in small, easy-to-take profits while holding the losers.)
อีกนัยหนึ่ง ควรทำตรงกันข้าม คือ ให้โอกาสเวลา
เพื่อทำกำไรและรู้จัก cut loss
13. เป็นกังวลเกินไปกับค่าภาษีและค่าคอม
(Worrying too much about taxes and commissions.)
(บ้านเราคงไม่เป็นนักเพราะไม่แพงอย่างเขา)
14. จดจ้องรู้แต่ตอนซื้อแต่ไม่รู้ตอนขาย
(Concentrating your time on what to buy
and once the buy decision is made,
not undetrstanding when or under
what conditions the stock must be sold.)
ส่วนมากทำการบ้านแค่ครึ่งเดียว
15. ไม่เข้าใจความสำคัญของการซื้อหุ้นคุณภาพ
และการดูทางเท็คนิคเพื่อปรับปรุงการเลือกของตน
(Failing to understand the importance
of buying quality companies
with good institutional sponsorship
and the importance of learning
how to use charts to significantly
improve selection and timing.)
16. ชอบเก็งกำไรหนักๆ พวก W/C
เพราะเชื่อว่าเป็นทางลัดรวยเร็ว
(Speculating too heavily in options or futures
because they're thought to be a way to get rich quick.)
(คนที่ชนะคงค้าน -แต่มีกี่คนไม่รู้)
17. ไม่ค่อยทำตามตลาดแต่ชอบเคาะเพดาน
(Rarely transacting "at the market"
and preferring to put price limits on their buy and sell orders.)
(เลยชวดขายชวดซื้อ)
18. ละล้าละลังไม่รู้เวลาลงมือ
(Not being able to make up your mind
when a decision needs to be made.)
(หลายคนไม่รู้เวลาจะซื้อ จะขาย จะถือ ดูกระทู้ในสินธรก็ท่วมไปหมด)
19. ซื้อหุ้นอย่างไม่มีเป้าหมาย
(Not looking at stocks objectively.)ชอบซื้อตัวที่ชอบแล้วนั่งภาวนา แทนที่จะสนใจศึกษา




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 27 กรกฎาคม 2552 17:38:28 น.   
Counter : 865 Pageviews.  


ตอนที่ 21 ตลาดแบบไหน "เล่นแล้วได้ตังค์"

ตอนที่ 21 ตลาดแบบไหน "เล่นแล้วได้ตังค์"

กูรูหุ้นพันล้าน : วิชัย วชิรพงศ์
การอ่านอารมณ์ตลาด ถ้า "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว "ฝรั่ง" ไม่เข้า บอกได้เลยว่า เล่นหุ้นไม่ได้ตังค์ ถ้าจะเล่นหุ้นให้ได้กำไร รายย่อยต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรแห่กันเข้ามาเล่นตามน้ำ ตลาดแบบนี้ "ได้ตังค์"

ตลาดหุ้นแบบไหนที่เล่นหุ้นแล้วไม่ค่อยได้ตังค์...? (น่าเบื่อ)

"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ บอกว่า กรณีที่ "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว และ "ฝรั่ง" ไม่เข้า ตลาดหุ้นช่วงนั้นจะเงียบเหงา (ไม่น่าเล่น) บอกได้เลยเล่นหุ้นไปก็ไม่ได้เงิน อยู่นิ่งๆ ดีที่สุด ถ้าคิดให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ อธิบายได้ว่า เพราะเงินไม่มีมาหมุน "ทำกำไรยาก"

"ถ้าจะเล่นหุ้นแล้วได้เงิน "รายย่อย" ต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรต้องตาม (น้ำ) กันแหลก! หุ้นมันจะวิ่งจู๊ด หรือ ขึ้นไปทำนิวไฮ (จุดสูงสุดใหม่) ได้"

เสี่ยยักษ์ อธิบายว่า ช่วงที่หุ้นขาขึ้น มันจะมีจังหวะ "พักตัว" จากนั้นให้สังเกตว่า มักจะมีข่าวดีมา "หนุน" จังหวะสอง ที่ทุกคนมองว่า ราคามันวิ่งขึ้นไปทำ "นิวไฮ" ช่วงนี้แหละ นักเก็งกำไรจะแห่ตามกันแหลก!!

ทั้งนี้ สำหรับช่วง "พักตัว" ในหุ้นพื้นฐานดีๆ จะใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่ค่อยรีบร้อนขึ้น (จะตรงกันข้ามกับหุ้นปั่น ที่รีบร้อนขึ้น) ยกตัวอย่าง หุ้น ปตท. เวลาเขาจะทำหุ้นตัวนี้ เขาจะต้องค่อยๆ เก็บ บีบให้เหลือแต่คนที่ "ใจถึง" จริงๆ พอทุกคนหมดแรง มันก็จะ "วิ่ง"

"ยิ่งหุ้นตัวใหญ่ ถ้าเขารู้ว่าตอนไอพีโอ มีคนไปแย่งกันจอง (หุ้นไม่พอขาย) พอเข้าตลาดมาปั๊บ! เขาจะพยายามกดราคา เพื่อกดลงมารับต่ำๆ ถ้าวันแรกเปิดมาสูง เขาก็จะเทรดให้หุ้นต่ำลงมาก่อน

...แต่คุณดู พอมันเก็บของ (สะสมหุ้น) ได้พอแล้ว สังเกตว่า "วอลุ่มพีค" (เก็บของได้แล้ว) ราคาปรับตัวลงมาเสร็จ คราวนี้ ปริมาณซื้อขายจะไม่ได้เยอะ สภาพคล่องจะเริ่มตึงขึ้น ราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้นช้าๆ บางทีก็เล่นไซด์เวย์อยู่นาน จนคนซื้ออึดอัด ใครทนไม่ไหวก็ "คืนของ" ให้เขา แต่พอเขารวบรวมหุ้นได้เต็มที่แล้ว พอ MACD (ระยะเดือน) ตัดขึ้น ทีนี้ มันวิ่งขึ้นเร็วมาก"

เสี่ยยักษ์ อธิบายว่า ส่วนตัวชอบใช้กราฟ MACD ระยะเดือน (Month) เป็นดัชนีชี้นำหลัก สำหรับการลงทุน "รอบใหญ่ๆ" ที่ผ่านมาก็ใช้ได้ผลดีมาตลอด แต่ถ้ามาถามรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี "ผมไม่รู้"

แต่รู้ว่า ถ้า MACD ทะลุ "ศูนย์" ลงไปเลย "ไม่ดี" แต่ถ้า MACD อยู่ต่ำกว่าศูนย์ มันจะขึ้นมาที่ศูนย์ก่อน จากนั้นหุ้นจะปรับตัวลงอีกรอบ คือ มีการพักตัวรอบใหญ่ แล้วถ้ามันกลับมาที่ "ศูนย์" อีกที บีบตัวแล้ว "ตัดขึ้น" คราวนี้หุ้นจะเป็นขาขึ้น "รอบใหญ่"

เสี่ยยักษ์ บอกว่า ระหว่างการ "ก่อตัว" ของหุ้น จากประสบการณ์ ดูกราฟราคาเราจะรู้เลยว่าถ้าใครดูเป็น (รู้จริง) กราฟไม่มีหลอก อย่างเช่น หุ้น ATC ถ้าจับจุดถูก MACD ระยะเดือน ตัดขึ้นชัดเจนช่วงปลายปี 2545 สัญญาณดีมาก แต่ก็ต้องทำการบ้านด้านปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้ารีบเข้าไปซื้อ

"ตอนนั้นทั้งกราฟและข้อมูลพื้นฐาน ยืนยันในทิศทางเดียวกัน เรารู้เลยว่าหุ้นตัวนี้มันจะ "เทิร์นอะราวด์" พอวงจรปิโตรเคมีมันมา (ปี 2546) หุ้นขึ้นมหาศาลเลย"

หรืออย่างหุ้น ปตท. ตัว MACD ระยะเดือน มันตัดลงมาตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้ว หุ้น ปตท.ค่อยๆ ลงมาจาก 270 บาท ลงมา 200 บาท ช่วงนี้รู้เลยว่ามันกำลังพักตัว (หลังจากขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน 3 ปี ช่วงปี 2546-2548)

"ช่วงที่ MACD ของหุ้น ปตท. ตัดลงมา ทั้งสองเส้นมันยัง "ถ่าง" กันอยู่เยอะ ผมก็รอให้ MACD มันบีบ พร้อมที่จะตัดขึ้นก่อน เราถึงจะมีจุดมั่นใจเข้าซื้อ (เพื่อเล่นรอบใหม่) เรารู้ว่าพื้นฐานของหุ้นดีมากอยู่แล้ว แต่หุ้นทุกตัวจะต้องมีระยะพักตัว บางครั้งอาจจะกินระยะเวลานานหลายเดือน บางครั้งครึ่งปี บางตัวนาน 2-3 ปี"

เสี่ยยักษ์ อธิบายถึงระยะพักตัวของหุ้นเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่หุ้นบางตัว "พักตัวนาน" แสดงว่า มี "คนเจ็บ" กับหุ้นตัวนั้นเยอะ มันต้องใช้เวลา "รอ" ผลการดำเนินงาน หรือ ข่าวดี หุ้นถึงจะมีแรงกลับมาสู้ใหม่ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ "กำไรดี" อยู่แล้ว ระยะพักตัวก็อาจจะไม่นานมาก

วิธีการในการวิเคราะห์หุ้นระดับ "ลึก" ของเซียนหุ้นรายนี้ มีขั้นตอนอย่างไร

"สมมติ ผมจะวิเคราะห์หุ้น ปตท. เรารู้ว่ากำไรสุทธิปีนี้ ไม่น่าจะหนี หุ้นละ 30-35 บาท เทรดกันที่ค่า พี/อี ต่ำแค่ 6-7 เท่า เราก็ประเมินว่า ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่สูงอย่างนี้ไปอีกหลายปี หุ้นปตท. ยังไงก็ต้องดี แต่หุ้นลงมาเหลือ 210-220 บาท คราวนี้เราก็รอเวลาให้กราฟ MACD ยืนยันการ "ตัดขึ้น" ก่อน เราค่อยเข้าไปซื้อ เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงก็จะไม่สูง ระยะเวลา "รอ" ราคาวิ่งขึ้นก็ไม่นานด้วย"

มันเป็นสูตรวิธีคิดว่า การที่ MACD มันบีบ แล้ว "รอ" ตัดขึ้นเหนือ "ศูนย์" ราคาหุ้นอยู่ในเขต "Oversold" คือ อยู่ในเขตขายมากเกินไป จนข่าวร้ายไม่มีผลต่อราคา ไม่มีทางร้ายไปกว่านี้แล้ว คนที่ติดหุ้นอยู่ จะให้ขายก็ไม่อยากขายขาดทุนมาก จะให้บุ่มบ่ามรีบซื้อ ก็ยังไม่กล้าซื้อ นิ่งๆ เฉื่อยๆ ชาๆ

"จุดนั้น คือ จุดที่อันตรายที่สุด แต่เป็น...จุดที่ปลอดภัยที่สุด คือประมาณ ตี 5 ถึง ตี 5 ครึ่ง จ่ายกับข้าวสบายๆ ไม่ต้องแย่งกับใคร ถ้าอยากจะรวย คุณต้องรอจังหวะนี้ให้ได้"




 

Create Date : 25 กันยายน 2550   
Last Update : 25 กันยายน 2550 10:38:29 น.   
Counter : 924 Pageviews.  


ตอนที่ 22 รู้จักคำว่า "รอคอย"

ตอนที่ 22 รู้จักคำว่า "รอคอย"

กูรูหุ้นพันล้าน : วิชัย วชิรพงศ์
ถ้าเราเทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด การตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคยืนยัน แล้วทุกคนเริ่มกลัวกันหมด ตรงนั้น คือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้

ความสำเร็จที่ยากที่สุด อาจไม่ใช่การเดินทางเพื่อค้นหา "กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ" เพราะพื้นฐานแห่งความสำเร็จ แท้ที่จริงแล้ว คือ การเอาชนะจิตใจของตัวเองให้ได้เสียก่อน

ในตลาดหุ้น การ "รู้เขา" อย่างเดียว มิอาจไปถึงเป้าหมายได้ ต้อง "รู้เรา" อย่างถ่องแท้ด้วย ไม่เช่นนั้นเงินที่กลาดเกลื่อนอยู่ในตลาดหุ้น ก็ไม่สามารถ "หยิบ" ขึ้นมาเชยชมได้

คำจำกัดความสั้นๆ ที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เน้นย้ำ ก็คือ ถ้าอยากจะเล่นหุ้นให้รวย ต้องรู้จักคำว่า "รอคอย" (อดทน) ต้องรอจังหวะ รอรอบของมันให้ได้ แล้วทำไม! จะรอมันไม่ได้ คุณต้องนิ่ง คุณต้องใจเย็นๆ

"ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จในอาชีพเล่นหุ้น คุณต้องเป็นมืออาชีพให้ได้ คุณถึงจะอยู่รอด"

เสี่ยยักษ์ บอกว่า "หุ้นในดวงใจ" ไม่ได้มีกันทุกๆ เดือน บางทีต้องรอคอยนานเป็นปี ถึงจะเจอ "รอบใหญ่" สักตัว

สมัยก่อน รายย่อยเป็นใหญ่ในตลาดหุ้น "หุ้นเก็งกำไร" ครองเมือง วางมาร์จิน 30% เล่นหุ้นได้ 100% เล่นกัน "มันส์" สุดๆ แต่สมัยนี้ฝรั่งคุมตลาดหุ้นเราหมดแล้ว ของเรา 100 หัวสมอง เล่นหุ้นไม่ตรงกันเลย แต่ของเขา 10 หัวสมอง เล่นหุ้นตัวเดียวกัน เขาคิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ยุคนี้ต้องเล่น "หุ้นพื้นฐาน" ถึงจะมีโอกาส

เสี่ยยักษ์ เล่าว่า วิธีการเล่นหุ้นสมัยก่อน รายใหญ่จะใช้วิธีการ "อมหุ้น" แล้ว "ลาก" ขึ้นยาวๆ ไม่มีตก แล้วเล่นกันทั้งกระดาน รายย่อยจะ "เล่นรอบ" ได้ตลอดเวลา พอออกจากตัวนี้ ถ้าตัวไหนยังไม่ขึ้น ก็เข้าตัวนั้นดักทางไว้ก่อน

ผิดกับยุคสมัยนี้ เล่นหุ้นแบบเดิมไม่ได้แล้ว พฤติกรรมของตลาดเปลี่ยนไปหมด หันมา "เลือกตัวเล่น" (ฝนตกไม่ทั่วฟ้า) ยกตัวอย่างเช่น ถ้า BAY-W1 ขึ้น หุ้นวอร์แรนท์จะขึ้นกันทั้งกระดาน ปาเป้าตัวไหนก็ถูก ผิดกับตอนนี้ BAY-W1 ขึ้นตัวเดียว ตัวอื่นลงหมด เป็นต้น

ในสมัยก่อน ถ้า "เจ้าของหุ้น" อยากให้หุ้นของตัวเองขึ้น เขาจะลากขึ้นไปให้ถึงจุดสุดยอดเลย (เล่นยาว) แต่เดี๋ยวนี้ เปล่า! เจ้าของหุ้นมันคิดแบบว่า จะ "ถอนทุนคืน" เร็วๆ เขาคิดว่า หุ้นอยู่ในกระเป๋าตัวเอง ขายแล้วได้ตังค์เลย จะ (โง่) ถือนานไปทำไม!

พอเอาหุ้นเข้าตลาด (ขายไอพีโอ) เสร็จ ก็ทยอยปล่อยหุ้นขาย รวยอยู่คนเดียว ใครไปซื้อหุ้นอย่างนี้ ก็ "ซวย" !!! สำหรับหุ้นที่ดี "ผู้บริหาร" หรือ "เจ้าของ" จะต้องไม่เอาเปรียบผู้ถือหุ้น คือ ไม่มีพฤติกรรมทุจริต และต้องดูแลหุ้นของตัวเอง หุ้นอย่างนี้จะมี "รอบเล่น"

เสี่ยยักษ์ กล่าวว่า คนเล่นหุ้นทุกคน จะต้องเคยมีประสบการณ์ "เฉียดรวย" (เจอหุ้นขึ้นรอบใหญ่) มาหมด แต่ทำไม! หลายคนเล่นหุ้นแล้วไม่ได้ตังค์ หรือได้กำไรน้อย

สาเหตุที่คุณไม่ชนะ เพราะเจอแบบไม่มีกลยุทธ์ กล้าๆ กลัวๆ อ่านตลาดไม่ขาด จะซื้อตามก็ไม่กล้า (จะรอให้มันปรับฐานราคาก่อน...สุดท้ายก็ไปซื้อแพง) หุ้นขึ้นนิดหน่อยก็รีบขายตัดกำไรทิ้ง เท่าที่สังเกต...พฤติกรรมอย่างนี้ จะเกิดกับคนที่เทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด เพราะการตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย ข้อเสียอีกอย่าง คือ ใจไม่นิ่ง

ถ้าจะเล่นหุ้นให้รวย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคมันพร้อม (ตัดขึ้นก่อน) พื้นฐานหุ้นรองรับ จุดสำคัญ...ถ้าตลาดหุ้นช่วงไหนคนเริ่มกลัวกันหมด "แหยงตลาด" ตรงจุดนั้น คือ "จุดที่ปลอดภัยที่สุด" ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้เลย "นี่คือ..เคล็ดลับ"

เมื่อสอบถาม เสี่ยยักษ์ ถึง ประสบการณ์ "เฉียดตาย" และ "เฉียดรวย"

"ส่วนใหญ่จะ "เฉียดตาย" (รอด) มากกว่า ยกตัวอย่าง หุ้นธนายง สมัยก่อน 600-700 บาท แล้ววันนี้เป็นยังไงเหลือ "บาทกว่า" หุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปิดกันหมด ดัชนี SET ลงมาเหลือ 200 จุด ถ้าใคร Cut Loss ไม่เป็น ฟันธงเลยว่า "ตาย" หมด"

เพราะฉะนั้น การเล่นหุ้น เราต้องมี "เป้า" ในใจตลอดเวลาว่า ถ้าราคาลงมาเท่าไร? คุณต้องขาย ยกตัวอย่าง วันที่เกิดเหตุการณ์ ตึกเวิลด์เทรดถล่ม (11 กันยายน 2544) วันเดียวโดนไป 26% เรามองว่าเรื่องมันคงไม่จบง่ายๆ ต้องมีการแก้แค้น

"เวลาที่เกิดเหตุการณ์ช็อก! ตลาด ผมจะประเมินว่า จากนี้ไปสถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้มากมั้ย! ถ้าคำตอบ คือ "ไม่มีทาง" นั่นหมายถึงว่า เราต้องยอมขาย (ขาดทุน) ผมมีคติว่า ถึงคราว "แพ้" ก็ต้องยอมแพ้ ต้องกล้าขาดทุน พอเปิดตลาดมาดัชนีดิ่งลงเหว ผมก็รอให้มันรีบาวด์ แล้วก็ขายล้างพอร์ตหมด จำได้ว่าตอนนั้น ขาดทุนไป 20-30 ล้านบาท"

เสี่ยยักษ์ บอกว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนาน ไม่มีใครที่ซื้อหุ้น "ถูกตัว" หมดทุกครั้ง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น อาชีพเราต้องมอง "โอกาส" และ "ความเสี่ยง" อยู่ตลอดเวลา ถ้าลงมาถึงตรงไหน คุณต้องตัดสินใจเด็ดขาด

"คนที่พลาดมักจะเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเด็ดขาด ไม่เด็ดเดี่ยว แล้วชอบอ้างเหตุผลมากลบเกลื่อนความผิดพลาดของตัวเอง...ลองไปคิดดูว่าจริงอย่างที่พูดหรือไม่"

----------------------------------------------




 

Create Date : 25 กันยายน 2550   
Last Update : 25 กันยายน 2550 10:35:04 น.   
Counter : 877 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com